http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-15

บาทก้าว ยุติธรรมฯ/..สู่"ปรองดอง"?ใครสร้าง-ใครจ้องทำลาย/ โรคติดต่อจากมวลชน"คลั่ง"

.
มีบทความ - " หรือต้องอยู่อย่างนี้กันอีกนาน " โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

บาทก้าว ยุติธรรม เหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 การบริหาร จัดการ
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 13:00:11 น.


ต้องยอมรับว่าการที่ศาลอาญานัดพิจารณา 4 จาก 16 สำนวนคดีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ในวันที่ 12 มีนาคม

เป็นบาทก้าว 1

4 สำนวนนั้นประกอบด้วย 1 คดี นายชาญณรงค์ พลศรีลา อายุ 45 ปี คนขับแท็กซี่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553

2 คดี พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตที่บริเวณอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553

3 คดี นายพัน คำกอง ถูกยิงหน้าคอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553

4 คดี ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ ถูกยิงเสียชีวิตที่ซอยโรงภาพยนตร์โอเอ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553

เป็นบาทก้าว 1 อันเริ่มจากคดี นายชาญณรงค์ พลศรีลา

จากวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ที่เสียชีวิตผ่านวันที่ 15 พฤษภาคม 2554 เป็นเวลา 1 ปี เหลืออีก 2 เดือนจะเต็ม 2 ปี

เป็นบาทก้าว 1 ของการแสวงหาความยุติธรรม


ถึงแม้ว่าจากวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2554 อันอยู่ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังไม่มีความแจ่มชัด

ไม่มีความคืบหน้า

ไม่เพียงแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่สามารถสรุปสำนวนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องร้องได้

หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ ไม่มีความแจ่มชัด

ไม่มีความแจ่มชัดว่า นายชาญณรงค์ พลศรีลา ตายจากกระสุนของใคร ไม่มีความแจ่มชัดว่า พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ตายจากกระสุนของใคร นายพัน คำกอง ตายจากกระสุนของใคร ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ ตายจากกระสุนของใคร

โยนกันไปโยนกันมา ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ทั้งระหว่างการโยนกันไปโยนกันมานั้นก็มีความพยายามจะสร้างเรื่องโดยเฉพาะคดีของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ให้กลายเป็นเรื่องของปืนอาก้า ถึงกับลากดึงอดีตนายตำรวจซึ่งเกษียณจากราชการไปแล้วให้เข้ามามีบทบาท

แม้จะมีการอ้างถึง "ชายชุดดำ" แต่จากเดือนเมษายน 2553 จนถึงเดือนเมษายน 2554 ก็ไม่เคยจับ "ชายชุดดำ" ได้แม้แต่รายเดียว

เส้นทางเดินของความยุติธรรมในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงช้าอย่างยิ่ง


ต่อเมื่อผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 นั้นหรอก การสอบสวนสืบสวนในคดี 16 ศพจึงเริ่มคลี่คลาย

คลี่คลายโดยชุดสอบสวนสืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล

นี่ย่อมสะท้อนการประสาน 2 ฝ่าย นั่นก็คือ ฝ่ายหนึ่ง เป็นในด้านของรัฐบาลใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฝ่ายหนึ่ง เป็นในด้านของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาลชุดใหม่

มีคำตอบปรากฏมาเด่นชัดว่าการตายของ 16 ศพ เป็นการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทำให้สามารถทำสำนวนส่งสำนักอัยการสูงสุดได้

สำนักอัยการสูงสุดนำสำนวนฟ้องร้องถึงศาลอาญา และศาลอาญากำหนดนัดไต่สวนครั้งแรกในวันที่ 12 มีนาคม 2555

ถือเป็นความสำเร็จขั้น 1


เป็นความสำเร็จอันแตกต่างไปจากยุคของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แทบไม่มีอะไรคืบหน้าตลอด 1 ปี อย่างน้อยที่สุดก็สามารถตีฝ่าบทสรุปซึ่งไม่มีการพิสูจน์ในเรื่อง "ชายชุดดำ" มาเป็นเรื่องการตายระหว่างการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ

เป็นการปฏิบัติเพื่อขอคืนพื้นที่และกระชับพื้นที่

ไม่ว่าในที่สุดการไต่สวนของคดี 16 ศพจะมีข้อยุติอย่างไร แต่ทุกคนก็ต้องยอมรับคำตัดสิน พิพากษา

การหาข้อมูล ความเป็นจริง ต่างหากที่เป็นความปรารถนา ในอีกด้านหนึ่งเท่ากับสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการ สะสางและทำให้คลุมเครือหายไปภายใต้กระบวนการยุติธรรม

ตรงนี้คือความต่างระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ



++

2 พันล้าน-เยียวยา"ทุกสี" บันไดแรกสู่"ปรองดอง" ? ใครสร้าง-ใครจ้องทำลาย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 11


มีความคืบหน้า 2-3 เรื่อง เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

เรื่องแรก กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน ต่อผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2548 ถึงเดือนพฤษภาคม 2553

ทั้งสิ้น 2,369 คน แยกเป็นผู้เสียชีวิต 102 ราย คือ เสียชีวิตในเหตุการณ์ปี 2551 จำนวน 2 ราย เสียชีวิตในปี 2552 จำนวน 2 ราย

และเสียชีวิตในปี 2553 จำนวน 98 ราย รวมถึง นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น และ นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี

เป็นผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพ 2,267 คน

เป็นความคืบหน้าอันมีต้นทางจากข้อเสนอแนะสร้างความปรองดองสมานฉันท์และฟื้นฟูประชาธิปไตย ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน

ผ่านการพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาโดยคณะกรรมการประสานงาน และติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) มี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธาน

กระทั่งได้รับอนุมัติเห็นชอบจาก"รัฐบาลยิ่งลักษณ์"ในที่สุด

การจ่ายเงินแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ เงินเยียวยาจิตใจ 3,000,000 บาท ส่วนนี้รัฐบาลจะจ่ายทันที ส่วนที่สอง เงินช่วยเหลือเยียวยาตามหลักมนุษยธรรม 4,500,000 บาท

ภายใต้วงเงินงบประมาณทั้งสิ้นราว 2,000 ล้านบาท ครอบคลุมผู้บาดเจ็บเล็กน้อย บาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส ทุพพลภาพ และเสียชีวิตของ"คนทุกสี"


ขณะที่รัฐบาลประกาศพร้อมจ่ายเงินเยียวยาทันที พรรคประชาธิปัตย์ ก็ประกาศเดินหน้าคัดค้านทันทีเช่นกัน ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หลังจากมีมติ ครม. ดังกล่าวออกมา พร้อมยื่นคำร้องไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราว

ให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาว่าการจ่ายเงินเยียวยาเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย และเสมอภาคเป็นธรรมหรือไม่

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ แกนนำ นปช. กล่าวถึงการกระทำของประชาธิปัตย์ ครั้งนี้ว่า เป็นความต้องการล้มทุกขั้นบันไดของการสร้างความปรองดอง

เพราะแทนที่จะเห็นว่าสิ่งที่ คอป. เสนอแล้วรัฐบาลชุดนี้รับมาปฏิบัติ คือบันไดปูทางไปสู่การสร้างความปรองดอง และเยียวยาความสูญเสียของประชาชนและประเทศชาติ

แต่กลับยื่นศาลปกครองสั่งระงับ



ยังมีความคืบหน้าสำคัญอีกหนึ่ง คือกรณีการสอบสวนคดีชันสูตรพลิกศพ 16 ศพ ที่คาดว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ในเหตุการณ์ชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เผยว่า หลังจากพนักงานสอบสวนส่งมอบสำนวนคดีต่ออัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล

ล่าสุด ศาลกำหนดนัดไต่สวนแล้ว 4 สำนวน

1. สำนวนคดี นายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 บริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ศาลกำหนดไต่สวนวันที่ 12 มีนาคมนี้

2. สำนวนคดี พลทหารณรงฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 บริเวณอนุสรณ์สถาน ย่านดอนเมือง ศาลกำหนดไต่สวนวันที่ 19 มีนาคม

3. สำนวนคดี นายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 บริเวณหน้าคอนโดมิเนียมไออีโอ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ ศาลกำหนดไต่สวนวันที่ 23 เมษายน

4. สำนวนคดี ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 บริเวณซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ศาลกำหนดไต่สวนวันที่ 28 พฤษภาคม

ในกำหนดไต่สวนของศาล ญาติผู้ตายสามารถตั้งทนายร่วมการไต่สวน โดยพนักงานอัยการจะซักถามในศาลว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร ใครเป็นคนสั่ง

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตามกฎหมายหากเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา

แต่คดีนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ โดยเฉพาะคนสั่งการ

กระบวนการไต่สวนของศาลในคดีชันสูตรพลิกศพ 16 ศพ หากผลออกมาว่าเป็นการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจริง จะเป็นก้าวสำคัญในการเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง

หาตัว"คนสั่งการ"มารับผิดทางอาญาต่อไป



คดี"แผนผังล้มเจ้า"ยังเป็นอีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจ ความคืบหน้าในคดีนี้คือความไม่คืบหน้า

กล่าวคือ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เวลาผ่านมาเกือบ 2 ปียังไม่สามารถสอบสวนหาความชัดเจนได้ว่าแผนผังล้มเจ้ามีที่มาอย่างไร

อีกทั้งรายชื่อบุคคลซึ่งบรรจุอยู่ในผังจำนวน 39 คน ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้นเรื่องในฐานะผู้ร้องไม่สามารถระบุได้ว่าแต่ละคนใน 39 คน กระทำความผิดที่ไหน อย่างไร

ล่าสุด พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษก ศอฉ. พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ทหารสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และนายทหารอีก 2 นาย ยังได้ปฏิเสธการเข้าให้ปากคำเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดี กล่าวว่า ดีเอสไอจะเรียกนายทหาร 4 นายดังกล่าว อีกครั้งกลางเดือนนี้

ให้มายืนยันว่าไม่มีข้อมูลใดๆ เพิ่มเติมจากที่เคยเข้าชี้แจงก่อนหน้านี้ และยังยืนยันคำให้การเดิมหรือไม่

หากผู้ร้องคือ ศอฉ. ไม่สามารถให้ความชัดเจนได้ พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องสรุปคดีตามพยานหลักฐานที่ไม่มีความชัดเจน ทำความเห็น"สั่งไม่ฟ้อง"ต่อไป


ทั้งนี้ ไม่ว่าแนวโน้มการสั่งไม่ฟ้องในคดี"แผนผังล้มเจ้า" หรือการเดินหน้ากระบวนการยุติธรรมค้นหาความจริงในคดี 16 ศพ อันเป็นส่วนหนึ่งของคดี 91 ศพ รวมถึงการที่รัฐบาลมีมติอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้กับ"คนทุกสี"

จะเป็นบันไดทอดไปสู่ความปรองดอง อย่างที่รัฐบาลเพื่อไทยและคนเสื้อแดงกล่าวอ้างจริงหรือไม่

แต่อีกด้านหนึ่ง คือ มีบางพรรคการเมืองทุรนทุรายกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้นทั้งในเวลาอันใกล้และไกล จึงต้องเร่งหาทางระงับยับยั้ง

กระทั่งทำลายบันไดนี้ให้จงได้



++

สถานการณ์ รุนแรง ลัทธิ เอาอย่าง โรคติดต่อ จากมวลชน "คลั่ง"
จากข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:00 น.


แม้จะมีปฏิกิริยา "นอกเส้น" จากเสื้อเหลืองเกรียนบางคน แต่ต้องถือว่าการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัดแรกที่สวนลุมพินี

เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นงานเป็นการ

ถูกต้องแล้วที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ประกาศลอยแพปฏิบัติการทุบรถวอยซ์ทีวีของ นายกวีไกร โชคพัฒนเกษมสุข อย่างเฉียบขาด
ทั้งยังเปิดโปงด้วยว่า
"เบื้องต้นชายคนดังกล่าวเจตนาสร้างสถานการณ์เพื่อใส่ร้ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้ได้รับความเสียหายว่าเป็นการชุมนุมที่เน้นความรุนแรง ทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอเรียกร้องให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด"

เฉียบขาด มั่นคง ตรงไปตรงมา
เท่ากับเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมมิให้ปฏิบัติการก่อกวนแบบ 2 แฝดจากปทุมธานี แพร่ระบาดไหม้ลามออกไป

มีความแจ่มชัดเป็นอย่างยิ่งว่า ปฏิบัติการในแบบของ 2 แฝดจากปทุมธานี และรายล่าสุดกรณีของ นายกวีไกร โชคพัฒนเกษมสุข
ไม่เวิร์ก

สังคมไม่ตอบสนอง แม้พิธีกรบนเวทีการชุมนุมกลุ่มสยามสามัคคีก่อนหน้านี้จะเคยกล่าวถึงพร้อมกับความสะใจ
แต่แทนที่จะได้แต้ม กลับไม่ได้


หากทบทวนประวัติ คนเหล่านี้ล้วนชมชอบความรุนแรงอยู่แล้ว อย่าง นายกวีไกร โชคพัฒนเกษมสุข ก็เคยถูกศาลตัดสินจำคุกมาแล้วในคดีทำร้ายร่างกาย และเมื่อปี 2552 ก็เคยก่อเหตุกระชากผมหญิงเสื้อแดง

คำถามอยู่ที่ว่า ความเคียดแค้น ชิงชัง ความรุนแรงอย่างนี้มีมูลเชื้อมาอย่างไร

คําตอบของคำถามเหล่านี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ สามารถตอบได้เป็นบทความขนาดยาวและมีเหตุมีผล

1 มาจากการก่อกระแสของนักวิชาการบางส่วน

1 กระแสเหล่านี้จุดติดได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับพวกเกรียนที่นิยมชมชอบความรุนแรงอยู่แล้วโดยพื้นฐาน

ดังที่ 2 แฝดไปรุมชก นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดังที่ นายกวีไกร โชคพัฒนเกษมสุข กระหน่ำด้ามเหล็กค้ำฝากระโปรงรถยนต์เข้าใส่รถของนักข่าววอยซ์ทีวี แตกกระจาย

ขนมจึงพอสมกับน้ำยาด้วยประการฉะนี้


ถึงแม้ศาลยุติธรรม ถึงแม้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะพยายามสกัดเพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพวกเกรียนๆ

กระนั้น ก็เชื่อได้เลยว่าการแสดงออกด้วยความรุนแรง บ้าคลั่ง จะยังเกิดขึ้นอีก จากมวลชนที่เคลื่อนไหวและไม่ได้สมกับความปรารถนา สมกับที่นักพูดบนเวทีปลุกระดมและเรียกร้อง

มิใช่ความสะใจ หากแต่ต้องระมัดระวัง



+++

สุชาติ ศรีสุวรรณ : หรือต้องอยู่อย่างนี้กันอีกนาน
คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:00:00 น.


การเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นที่รู้กันอยู่ว่า เป้าประสงค์อยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศภายหลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งทำให้ธุรกิจข้ามชาติของญี่ปุ่นในไทยเสียหายไปมหาศาล

ทำอย่างไรให้นักลงทุนจากแดนอาทิตย์อุทัยไม่ถอดใจจนถึงขั้นตัดสินใจย้านฐานการผลิต

ความสำเร็จวัดกันที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในฐานะผู้นำประเทศ ทำตามเป้าหมายนั้นสำเร็จหรือไม่

ความสนใจควรจะมุ่งไปที่นักธุรกิจญี่ปุ่นจะยังเชื่อมั่นลงทุนในประเทศไทยอยู่หรือเปล่า

นั่นเป็นเรื่องที่น่าจับตาเพราะเป็นสาระความเป็นความตายของประเทศ


แต่กลายเป็นว่าเรื่องที่เป็นกระแสสร้างความตื่นตา ตื่นใจมากกว่ากลับเป็นเรื่องที่สื่อต่างชาติ "วอล สตรีท เจอร์นัล" รายงานเรื่องนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวต่อที่ประชุมหอการค้าญี่ปุ่นด้วยภาษาไทย โดยไม่มีล่ามแปล สร้างความมึนงงให้กับนักข่าวและผู้เข้าร่วมฟังบางกลุ่ม

นี่เป็นเรื่องของรูปแบบที่ไม่ถูกใจ

แม้กระทรวงการต่างประเทศของไทยจะพยายามชี้แจงว่า การปราศรัยดังกล่าวเป็นเรื่องของข้อตกลงร่วมกัน ในการประชุมที่มีเวลาน้อย

ต่างฝ่ายต่างพูดภาษาของตัวเอง โดยมีคำแปลเป็นเอกสารให้ผู้เข้าร่วมล่วงหน้าแล้ว

แต่นั่นเป็นคำชี้แจงดูเหมือนว่าฝ่ายที่โจมตีไม่ใส่ใจจะรับฟัง


ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผลการไปเยือนของผู้นำไทยเที่ยวนี้

หลังจากได้พบปะหารือกับผู้บริหารบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง ปรากฏว่าไม่เพียงบริษัทเหล่านี้จะไม่ถอนการลงทุน หลังจากฟังคำชี้แจงเรื่องมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศไทยแล้ว นักลงทุนเหล่านี้ได้พร้อมใจกันเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยเราอีกกว่าแสนล้านบาท

นอกจากนั้น ในเชิงพิธีการอื่นทางการของประเทศญี่ปุ่นให้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทยอย่างให้เกียรติสูงยิ่ง

ถ้าวัดความสำเร็จกันที่สาระ ย่อมต้องถือว่าการไปเยือนญี่ปุ่นของคณะรัฐบาลไทยเที่ยวนี้ได้ผลกว่าที่ตั้งเป้าไว้

แน่นอนว่า รูปแบบในเรื่องการไม่มีล่ามแปลภาษาอาจจะเป็นความผิดพลาดให้ตำหนิได้
ทว่าเมื่อเทียบกับความสำเร็จจากเรื่องที่เป็นสาระแล้ว เรื่องรูปแบบนั้นย่อมเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างยิ่ง
ยิ่งเป็นเรื่องของข้อตกลงในเรื่องรูปแบบการเจรจาด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่สามารถมองข้ามไปได้ไม่ยากเย็น
เพียงแต่ว่า อารมณ์ของผู้คนท่ามกลางความคิดที่แตกแยก และไม่ยอมรับ

"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่พูดภาษาไทยโดยไม่มีล่ามให้สื่อต่างชาติฟังรู้เรื่องกลายเป็นประเด็นใหญ่ ถึงขนาดคนไทยบางกลุ่มบางพวกถึงขั้น "อับอาย จนรับไม่ได้"
ในยามที่ประเทศชาติโดยรวมมีภารกิจเฉพาะหน้า แทบจะเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องช่วยกันฟื้นฟูความเชื่อมั่น
แต่ดูเหมือนความแตกแยกภายในประเทศไม่อนุญาตให้เป็นอย่างนั้น

แม้สาระของการไปเยือนญี่ปุ่นเที่ยวนี้ของรัฐบาลไทยจะถือว่าเป็นความสำเร็จเกินเป้าหมาย
แต่ความผิดพลาดในเชิงรูปแบบเพียงน้อยนิด ซ้ำยังเป็นเรื่องที่อธิบายได้ กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกคนไทยด้วยกันขยายความจากสื่อต่างชาติขึ้นมาโจมตี ด้วยท่าทีเหมือนกับว่าจะอยู่ร่วมโลกกับนายกรัฐมนตรีที่ทำให้ต้องอับอายไม่ได้


ฤทธิ์แห่งความแตกแยกภายในคนไทยด้วยกัน รุนแรงถึงขั้นก้าวข้ามที่จะมองถึงผลประโยชน์ในภาพรวมของประเทศไปแล้ว

ขอให้มีเรื่องที่พอจะทำลายกันได้ แม้แต่น้อยนิด ต้องรีบขยายความให้โหญ่โต

ด้วยอารมณ์ที่เอาแต่สะใจ



.