http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-27

พระภูมิเจ้าที่ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

พระภูมิเจ้าที่
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 28


ท่านอาจารย์เจ้าคุณอนุมานราชธน กล่าวถึงประเพณีนับถือพระภูมิของคนไทย (คงจะเป็นภาคกลาง) ว่า ในตำราพระภูมิเจ้าที่ มีพระภูมิเจ้าที่อยู่ถึง 9 องค์ นับตั้งแต่บ้านเรือน, ประตูและหัวกระได, เรือนหอ, โรงงัวควาย, ยุ้งข้าว, นา, ลาน และวัด

นี่คือพื้นที่สำคัญในชีวิตของชาวชนบททั้งนั้น ผมอยากจะเดาต่อด้วยว่า พระภูมิไม่ได้ทำหน้าที่ปกปักรักษาดูแลเฉพาะพื้นที่เท่านั้น แต่คงดูแลไปถึงพฤติกรรมของคนเหนือพื้นที่เหล่านั้นด้วย เช่น จะไปขุดดินปลูกต้นไม้เหนือลานไม่ได้ ไปเจาะยุ้งข้าวให้หนูเข้าไปกินข้าวก็ไม่ได้

สรุปก็คือพระภูมิเจ้าที่เป็น "ระเบียบ" หรือกฎเกณฑ์สำหรับควบคุมพฤติกรรมของคนในบ้านเรือนของตนเอง และด้วยเหตุดังนั้น นอกจากพระภูมิแล้ว จึงยังมีผีอื่นๆ ในความเชื่อของคนไทยอีกหลายอย่าง เพื่อกำกับพฤติกรรมของคน เพราะคนไม่ได้อยู่แต่ในบ้านเรือน ยังต้องมีชีวิตอีกส่วนใหญ่ทีเดียวที่ต้องนอกบ้านเรือน เช่น ผีที่คอยดูแลสมบัติสาธารณะต่างๆ เช่น บ่อน้ำ, ป่า, เขา, ท้องทะเล, ฯลฯ

แม้แต่ในบ้านเรือนเองยังมีผีบรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่าผีเรือน ไว้คอยดูแลส่วนอื่นๆ ซึ่งพระภูมิเจ้าที่ไม่ได้ดูแล



ผมเพิ่งกลับมาจากบาหลีและได้เห็นการนับถือผี (หรือเทพ) นานาชนิด จนเหมือนได้เดินกลับไปสู่สังคมก่อน-สมัยใหม่ที่ฝากการกำกับพฤติกรรมไว้กับกฎหมายและตำรวจหมด

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า บาหลีนับถือศาสนาฮินดู แต่ก็เป็นฮินดูที่ถูกทำให้สอดคล้องกับศาสนาผีในท้องถิ่น หรือถูกกลืนให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพื้นเมืองอย่างสนิทแล้ว ซ้ำเป็นแหล่งวัฒนธรรมใหญ่ซึ่งไม่ถูกกระทบด้วย กระบวนการเปลี่ยนศาสนาครั้งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 (เป็นต้นมา) ฉะนั้น จึงไม่ได้เป็นทั้งพุทธเถรวาทสายลังกา และไม่ได้เป็นทั้งอิสลาม

ในทุกบ้านเรือนของชาวบาหลี ล้วนมีศาลสำหรับเจ้าที่ตั้งอยู่และได้รับการถวายเครื่องบูชาต่างๆ ทุกวัน นอกจากศาลเจ้าที่ของบ้านเรือนแล้ว ยังมีศาลเจ้าที่ของสวนและนาอีกด้วย ก็คือพระภูมิบ้านเรือน, พระภูมิสวน, พระภูมินา เหมือนตำราเก่าของไทยนั่นเอง

แต่เพราะนับถือพระเจ้าในศาสนาฮินดูเป็นเทพสูงสุด ทุกบ้านเรือนจึงมี "โบสถ์พราหมณ์" ของตนเอง (ฝรั่งเรียกว่า temple แต่ไม่มีนักบวชอยู่ประจำในนั้น เหมือนโบสถ์พราหมณ์ทั่วไป และเหมือนเขตพุทธาวาสในวัดพุทธก็ไม่มีพระสงฆ์อยู่เหมือนกัน) เป็นอาณาบริเวณต่างหากในบ้านเรือน

คนจนจะสร้างโบสถ์พราหมณ์ในบ้านเรือนของตนได้อย่างไร เพราะต้องลงทุนสูง ไกด์ตอบว่า หากไม่มีเงินก็ให้กันบริเวณที่จะสร้างโบสถ์พราหมณ์ไว้ แล้วเอาต้นไม้ชนิดหนึ่งมาปลูกสี่ต้นแทนก็ได้ มีเงินเมื่อไรค่อยสร้างโบสถ์พราหมณ์ขึ้นแทนต้นไม้

และที่อยู่ในเขตเมืองซึ่งมีบ้านเรือนหนาแน่น ไม่สร้างเลยก็ยังได้ เช่น ตัวเขาเองอยู่ในเมือง ก็ไม่มีโบสถ์พราหมณ์ประจำบ้านเรือน แต่บ้านพ่อของเขาในชนบทนั้นมี ซึ่งเขายังกลับไปทำพิธีสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัวของเขาอยู่

เพื่อรักษาสัมพันธภาพไว้ เราจึงไม่ได้ถามต่อว่า คนที่ไม่มีโบสถ์พราหมณ์ของพ่อในชนบทเล่า จะทำอย่างไร เพราะตัวไกด์เป็นคนในวรรณะกษัตริย์ จึงอาจมาจากครอบครัวที่มีฐานะก็เป็นได้


อย่างไรก็ตาม เราได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมบ้านเรือนสไตล์บาหลีขนานแท้และดั้งเดิม ซึ่งไม่ได้มีอะไรเหมือนบ้านบาหลีซึ่งโฆษณาขายในโครงการบ้านจัดสรรของไทยเลย

บ้านเรือนของเขามีรั้วรอบขอบชิด สร้างด้วยหินภูเขาไฟซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในท้องถิ่น จนอาจกล่าวได้ว่าบาหลีเป็นเมืองหิน สร้างอะไรก็เป็นหินเสียเป็นส่วนใหญ่ มีไม้และปูนซีเมนต์น้อย (ยกเว้นในเขตเมือง) ตัวเรือนสำหรับอยู่อาศัยเล็กนิดเดียว ซ้ำในห้องนอนยังมีเตียงใหญ่ถึงสองเตียง แปลว่านอนได้สี่คนในห้องเล็กๆ นั้น แม้แต่ศาลาไว้รับแขกและผู้เข้าร่วมงานพิธีต่างๆ ก็ยังใหญ่กว่า

ชีวิตในบ้านเรือนของชาวบาหลี จึงเหมือนชีวิตในบ้านเรือนของคนไทยในชนบทสมัยโบราณ กล่าวคือมีชีวิตอยู่นอกตัวเรือนเสียมากกว่า เพียงแต่ว่าพื้นที่นอกตัวเรือนของคนไทยเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ (เช่น ใต้ถุนเรือน) หรือสาธารณะมากกว่า (เช่น บ่อน้ำหรือลานบ้าน) แม้กระนั้น เนื่องจากชาวบาหลีทำพิธีกรรมในชีวิตมาก ต้องเชิญแขกเหรื่อเข้ามาร่วมในบ้านเรือนซึ่งมีรั้วรอบขอบชิดอยู่เสมอ พื้นที่นอกตัวเรือนจึงเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะอยู่นั่นเอง

บริเวณใหญ่สุดในบ้านเรือนคือโบสถ์พราหมณ์ของครอบครัว ในโบสถ์พราหมณ์มีเทวาลัยใหญ่อยู่เกือบตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเทวาลัยย่อยหรือหอผีอีกหลายหลัง ซ้ำยังมีศาลาสำหรับทำพิธีอีกด้วย ไกด์แนะว่า หอสำหรับผีหรือเทพรวมทั้งเทวาลัยด้วยนั้น หลังคาจะเป็นสีดำ ส่วนศาลาสำหรับให้คนใช้ หลังคาจะเป็นสีขาวหรือสีธรรมชาติของเยื่อตาล (อันนี้เดาเอานะครับ เขาบอกแต่ว่าเป็นเยื่อของต้นปาล์มชนิดหนึ่ง)

น่าแปลกที่พระผู้เป็นเจ้าอันเป็นเทพสูงสุดของฮินดูคือพระศิวะ, วิษณุ, พรหม ไม่ได้อยู่ในเทวาลัยใหญ่ แต่เขาสร้างหอไว้ต่างหาก มีประตูสามบาน ด้านขวาสุดคือที่อยู่ของบรรพบุรุษที่เป็นชาย ซ้ายสุดเป็นหญิง ส่วนบานกลางเป็นที่สถิตของพระเจ้า

นี่คือหอผีเรือนนั่นเอง แม้ว่ามีพระเจ้าอยู่ตรงกลางก็ตาม เพราะถึงอย่างไร ชาวบาหลีก็หวังว่าบรรพบุรุษจะกลับไปอยู่ร่วมกับพระเจ้าอยู่แล้ว มีธรรมเนียมว่า เมื่อมีคนตายและนำไปเผา (ในบริเวณอันเป็นที่เผาศพของหมู่บ้าน )แล้ว ลูกหลานก็จะนำเอาดอกไม้จากงานศพหนึ่งหรือสองสามดอกกลับมาฝังไว้หลังหอเทพ-ผีที่กล่าวถึงนี้

ชาวบาหลีจึงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผีบรรพบุรุษ หรือผีเรือนของไทย และก็คงจะถูกผีบรรพบุรุษกำกับพฤติกรรมโดยเฉพาะเรื่องเพศอย่างเดียวกับผีเรือนของไทย


ไกด์เล่าว่า หากเขาตาย ลูกหลานก็จะนำเอาดอกไม้กลับไปฝังที่โบสถ์พราหมณ์ของพ่อเขาในชนบท ตราบเท่าที่เขาไม่สามารถสร้างโบสถ์พราหมณ์ในบ้านเรือนของเขาเองได้ แต่หากเขาสามารถสร้างได้ ลูกหลานก็จะฝังดอกไม้ไว้ที่หอเทพ-ผีในโบสถ์พราหมณ์ของเขาเอง นั่นแปลว่าตระกูลได้ขาดจากกันไป เกิดตระกูลใหม่ขึ้นแล้ว

และเพราะเป็นฮินดู การสืบสายของตระกูลจึงต้องสืบผ่านลูกชาย การมีลูกชายจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากไม่มี ก็จะไม่มีคนรับสืบโบสถ์พราหมณ์ของตระกูลไว้ดูแล ในกรณีเช่นนี้ ครอบครัวบาหลีจึงมักรับเด็กชายมาเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อทำหน้าที่นี้ต่อไป

ผมออกจะสงสัยว่า ความสำคัญของโบสถ์พราหมณ์ประจำตระกูลนั้น ไม่ได้อยู่ที่พระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม เท่ากับหอเทพ-ผีบรรพบุรุษ เหมือนกับคนทางเหนือที่ต้องสืบทอดเก๊าผีของตระกูลไว้สืบไป เพราะเก๊าผีกำหนดสิทธิ, สถานะ และทรัพย์สินของตระกูล จึงต้องสร้าง "ระเบียบ" ที่ขาดไม่ได้สำหรับกลุ่มคนที่เรียกว่าตระกูล

ฮินดู, พุทธเถรวาท หรือแม้แต่อิสลาม ก็เหมือนกัน จะตั้งมั่นในหมู่ประชากรของอุษาคเนย์ได้ ก็ต้องยอมถูกศาสนาผีกลืนไปเป็นส่วนหนึ่ง ได้เห็นการนับถือ "ผี" นานาชนิดในบาหลีแล้ว (แต่ไกด์ไม่ได้เรียกผี หากเรียกว่า gods ซึ่งมีหลายระดับ ไม่รู้จะแปลไทยว่าอะไร) ทำให้รู้สึกเหมือนกลับมาอยู่ในสังคมไทยก่อนจะเปลี่ยนเข้าสู่ความทันสมัย

ผมคิดว่านอกจากกลองมโหระทึกอันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมร่วมของอาเซียนแล้ว น่าจะมีผีนั่งอยู่บนกลองอีกสักตนด้วยซ้ำ เพราะในระดับลึกสุดของระบบความเชื่อของชาวอาเซียนก็คือผีนี่เอง



กลับมาเรื่องพระภูมิเจ้าที่ ก็ไม่ต่างจากของไทย คือมีผีคอยรักษาพื้นที่ต่างๆ ถ้าเป็นพื้นที่ในครอบครองของคน ก็มีนับตั้งแต่ผีบรรพบุรุษ, ผีประจำบ้านเรือน, ประตู ไปจนถึงเรือกสวนไร่นา ถ้าเป็นพื้นที่ของส่วนรวม ก็มีผีป่า, ผีเขา, ผีทะเล ฯลฯ ซึ่งมีอยู่ทั่วไป

ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือท่านหนึ่งเคยบอกว่า ศาลพระภูมิที่บ้านเรือนไทยมักสร้างไว้เสมอนั้น น่าจะรับมาจากจีนซึ่งก็คือตี้จู๊เอี้ย ซึ่งจีนในเมืองไทยมักสร้างเป็นศาลวางไว้ติดดิน แต่ข้อมูลจาก ท่านอาจารย์ถาวร สิกขโกศล กลับเป็นว่า ในเมืองจีน บ้านเรือนมักไม่มีตี้จู๊เอี้ย จีนในเมืองไทยเท่านั้นที่มี เพราะเมื่ออพยพมาอยู่แรกๆ ต้องเช่าบ้านเขาอยู่ไม่มีบ้านของตนเอง จึงต้องตั้งศาลแสดงความเคารพต่อเจ้าที่เจ้าทางประจำบ้านเช่านั้นๆ ส่วนเจ้าที่จีนแท้ๆ นั้นคือเจ้าที่ซึ่งดูแลปกปักรักษาหมู่บ้านทั้งหมด (เรียกว่าโท้ตี้หรือทู้ตี้) ไม่ใช่เฉพาะบ้านเรือนเป็นหลังๆ ไป (ซึ่งของไทยก็มีเหมือนกัน และมักตั้งศาลไว้ใกล้โขลนทวารทางเข้าหมู่บ้าน)

ดังนั้น พระภูมิเจ้าที่จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอุษาคเนย์ เพราะว่ากันว่าในกัมพูชาก็มีเหมือนกัน และลักษณะเด่นของคติอุษาคเณย์คือแบ่งพื้นที่ซอยย่อยออกไปมากกว่าจีน (และอินเดียด้วยกระมัง) จึงทำให้ต้องมีผีประจำพื้นที่แยกย่อยออกไปมาก แค่ก้าวข้ามจากเขตบ้านเรือนไปสู่เรือกสวนไร่นา ก็มีผีคุ้มครองอีกตนหนึ่งแล้ว

แต่ถามว่า เขตพื้นที่ของบ้านเรือนกับเรือกสวนไร่นาอยู่ตรงไหน ก็ตอบไม่ได้ เพราะสองพื้นที่นี้เหลื่อมซ้อนกันอยู่ เช่นเดียวกับในเมืองไทย บนเรือนมีผีเรือน แต่เรือนซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้น กลับมีผีเจ้าที่, ผีประตูและหัวบันได, กับผีเรือนหอกำกับอยู่ด้วย แบ่งพื้นที่ออกจากกันไม่ได้

ผมจึงออกจะสงสัยว่า ความคิดที่ว่าในหนึ่งพื้นที่ย่อมมีหนึ่งอำนาจนั้น เป็นความคิดสมัยใหม่ที่เอามาจากฝรั่ง และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องพัฒนาระบบที่ประชาชนสามารถควบคุมอำนาจนั้นได้ ซึ่งเราเรียกว่าประชาธิปไตย แต่ในความคิดของอุษาคเนย์ ในหนึ่งพื้นที่ย่อมมีอำนาจทับซ้อนกันอยู่หลายอำนาจ และเพราะมีหลายอำนาจ มันจึงคะคานอำนาจกันเองอยู่ตลอดเวลา ประชาชนได้แต่นั่งอยู่บนภู เพื่อคอยหลบหลีกมิให้อำนาจกัด

แต่พัฒนาการของรัฐแถบนี้จนกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ ซึ่งพยายามสถาปนาอำนาจให้เหลือเพียงหนึ่งในพื้นที่เดียวของรัฐชาติ ทำให้ประชาชนไม่มีภูสำหรับนั่งหลบภัย เหลือทางรอดอยู่ทางเดียว คือพัฒนาระบบที่จะทำให้ประชาชนสามารถควบคุมอำนาจเดี่ยวนั้นได้ แต่จนถึงนาทีนี้ก็ยังไม่มีรัฐอุษาคเนย์รัฐใดที่สามารถพัฒนาระบบดังกล่าวได้สำเร็จอย่างยั่งยืนจริงสักแห่ง



.