http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-22

จ.เจตน์ และ "ข้อเสนอใหม่" อยู่ใน "สื่อเลือกข้าง" ดีไหม? "กวีไกร" คลั่ง-ทุบรถวอยซ์ทีวี

.
บทความพิเศษ - ออเคสตราธรรมดา โดย วีระ ทรรทรานนท์
คอลัมน์ แนวโน้ม - วาทกรรม อนุสรณ์ ธรรมใจ : ต้องการให้ สถาบันมั่นคง
คอลัมน์ แนวโน้ม - ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ทหารที่กลายเป็นพลเรือน

______________________________________________________________________________________________________

จ.เจตน์ และ "ข้อเสนอใหม่" อยู่ใน "สื่อเลือกข้าง" ดีไหม? "กวีไกร" คลั่ง-ทุบรถวอยซ์ทีวี
คอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 78


ต้นเดือนมีนาคม เป็นวาระสำคัญของวงการสื่อ
นอกจากวันที่ 5 มีนาคม เป็น "วันนักข่าว" แล้ว ยังเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับวงการข่าวหลายเรื่องราวด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นกรณี คนเสื้อแดงประมาณ 20 คน นำโดย "จ.เจตน์" หรือ จิรปาณ ศรีเนียน พิธีกรในรายการเอเชียอัพเดต ไปพบ นายกนก รัตน์วงศ์สกุล แห่งเครือเนชั่น พิธีกรข่าวขวัญใจคนเสื้อเหลืองที่ตอนหลังมีศัพท์เฉพาะว่า "สลิ่ม" ถึงสำนักงานใหญ่ของ อ.ส.ม.ท. ในคืนวันที่ 2 มีนาคม

กรณีของนายกนก ยังบานปลายออกไปอีก เมื่อ นายนภพัฒน์จักร อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่นด้วยกัน เขียนสนับสนุนการพูดคุยทำความเข้าใจ เกิดการตอบโต้ สุดท้ายต้องยอม "ขอโทษ" นายกนก

อีกเหตุการณ์ ได้แก่กรณี นายกวีไกร โชคพัฒนาเกษมสุข ใช้ท่อนเหล็กทุบรถยนต์ข่าวของสถานีวอยซ์ทีวี ที่จอดอยู่ด้านหลังอาคารลีลาศ สวนลุมพินี ระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม โดยนายกวีไกรกล่าวว่า ทำเพื่อความสะใจ


วอยซ์ทีวี เป็นสื่อที่กำลังเติบโตด้วยการนำเสนอข่าวในทิศทางประชาธิปไตย และมีพิธีกรนักวิจารณ์การเมืองที่มีทัศนะแหลมคม
ศาลแขวงปทุมวัน พิพากษาเมื่อ 12 มีนาคม ให้จำคุกนายกวีไกร 2 เดือน รอลงอาญา 1 ปี คุมประพฤติ 3 เดือน ปรับ 2,000 บาท

น.ส.มินตรา โสรส อายุ 44 ปี สตรีเสื้อแดงที่ถูกนายกวีไกรกระชากผม ได้แสดงตนขออายัดตัวนายกวีไกรไปดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกาย
หลังศาลแขวงปทุมวันพิพากษาคดีเสร็จ ตำรวจ สน.ดินแดง ได้นำตัวนายกวีไกร ไปฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตโดยทันที

ศาลแขวงดุสิตพิพากษาจำคุก 1 เดือน ไม่รอลงอาญา โทษจำคุกเปลี่ยนเป็นกักขัง 15 วัน โดยนำไปกักขังที่สถานกักขังกลาง คลองหก

กรณีของนายกวีไกร ยังเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ทำร้าย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ธรรมศาสตร์ โดยนายกวีไกร เป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับหนึ่งในแฝดที่รุมชกนายวรเจตน์



กรณีของนายกนก กับ "จ.เจตน์" ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
เว็บไซต์ข่าว ไทยอีนิวส์ และเว็บต่างๆ อาทิ www.go6tv.com รวมถึง Youtube นำคลิปการสนทนาระหว่าง จ.เจตน์ กับ นายกนก มาเผยแพร่

จ.เจตน์ ได้กล่าววิจารณ์บทบาทของนายกนก อย่างตรงไปตรงมา ว่า ไม่ได้ทำหน้าที่พิธีกรอย่างเป็นกลาง ในฐานะพิธีกรของสื่อฟรีทีวีที่ประชาชนทุกแนวคิดต้องรับชม หากเป็นอย่างนี้ นายกนก ควรจะไปอยู่ใน "สื่อเลือกข้าง" ที่สังกัดกลุ่มการเมืองชัดเจนเลยจะดีกว่าไหม

โดยเฉพาะในยุคที่ผู้มีความเห็นต่างเริ่มทำร้ายและใช้ความรุนแรงต่อกัน อาทิ กรณีฝาแฝดบุกทำร้าย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ การวางตัวอย่างนายกนก ไม่น่าจะเป็นผลดีกับใคร

ส่วนท่าทีของนายกนก เว็บบอร์ดไทยอีนิวส์ 3 มีนาคม ขึ้นหัวข่าวว่า "หนกซีดเจอคิดต่างไม่คิดต่อย" อย่างไรก็ตาม ทั้งนายกนก และ จ.เจตน์ ต่างกล่าวถึงการพบปะครั้งนั้นในแง่ดีว่า "พูดกันรู้เรื่อง"

ปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์วันที่ 2 มีนาคม เป็นไปตามความคาดหมาย กลุ่มหนึ่งระบุว่า เป็นการคุกคามสื่อ ขณะที่อีกกลุ่มเห็นว่า เป็นการใช้สิทธิผู้บริโภคสื่อ ที่จะเข้าไปพบปะสนทนากับผู้ทำหน้าที่ในเรื่องข่าวสาร

พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาร่วมวงไพบูลย์ด้วย โดยระบุว่าเป็นพฤติกรรมคุกคามสื่อ และนำภาพถ่ายนายจิรปาณ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาแสดงด้วย


นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์ของเนชั่นทีวี ต้นสังกัดของนายกนก ที่ตั้งประเด็นคุกคามสื่อ ว่า
ขอดูรายละเอียดก่อน กรณีนี้ก้ำกึ่งพอสมควร ต้องขอดูเทป ที่ผ่านมา กรรมการสมาคมได้พูดคุยกันว่า ยังไม่ชัดเจนพอจะสรุปได้ว่าคืออะไร จะต้องหาข้อมูล อาทิ การเข้าพบ มีการประสานงานก่อนหรือไม่ หลายคนห่วงว่าการเปิดให้คนไม่เห็นด้วย เข้าไปในที่ทำงาน อาจเป็นการข่มขู่คุกคาม ถ้ามีการประสานงานก็เป็นอีกเรื่อง การพูดคุยฉันมิตรก็ย่อมทำได้

พิธีกรเนชั่นทีวีถามว่า ตอนขอพบบอกว่า เป็นผู้ฟังรายการ ต่อมาทราบว่าเป็นผู้ดำเนินรายการของโทรทัศน์เอเชียอัพเดต มีความเหมาะสมหรือไม่ นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ฯ ตอบว่า ข้อมูลไม่พอสรุปได้ เบื้องหน้าเบื้องหลังไม่ปรากฏชัดเจนนัก

เนชั่นทีวีถามอีกว่า จะนำไปสู่การข่มขู่คุกคามที่มากขึ้นหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ต้องดูสถานการณ์ ขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อพอสมควร



จ.เจตน์ ให้สัมภาษณ์มติชนทีวีไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ว่า เป็นคนเสื้อแดงที่มาจากภาคประชาชนจริงๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการนำ

ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา เห็นการทำงานของสื่อในช่องหลักหลายคนที่มีทัศนคติชัดเจน ในสภาวะที่สังคมมีความแตกแยก 2 ความคิด จะรีบไปชี้ว่าข้างใดข้างหนึ่งถูกผิดทันทีผ่านสื่อหลัก เห็นว่าไม่สมควร น่าจะไปอยู่ในสื่อเลือกข้าง จะง่ายกว่าอยู่ในสื่อกลาง

ที่เริ่มรู้สึกว่าน่าจะไปหานายกนก เริ่มจากอาจารย์วรเจตน์ ถูกทำร้าย รู้สึกว่าคล้ายๆ กับสมัย 6 ตุลาคม 2519 พอมีใครเห็นต่างก็เริ่มทำร้ายร่างกาย จุดเริ่มต้นมาจากอะไร? ก็มาจากสื่อสมัยนั้น ทำให้คนเกลียดชัง จากเหตุการณ์อาจารย์วรเจตน์ คนข้างหนึ่งของสังคมเขาเจ็บปวด ภาพคนร้ายแถลงข่าวกับตำรวจ แล้วก็เหมือนกับไม่เกรงกลัวอะไรเลย ภาพคนร้ายบอกว่าเขาสามารถทำร้ายนักข่าวได้ด้วย แล้วพอหลังจากที่เขากลับไป คนร้าย 2 คนกลายเป็นฮีโร่ของสังคมข้างหนึ่ง ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น?
เลยนึกขึ้นได้ว่า การสะสมการทำงานของสื่อเลือกข้างที่อยู่ในช่องทางหลักมันทำให้สังคมเอียงมานานแล้ว
เราก็เลยมานึกถึงว่า นายกนกเป็นคนหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นแบบนั้น เลยไปหาเขา เอาความรู้สึกพื้นฐานไปบอกเขาหน่อย ว่าเหตุการณ์มันลุกลามมาจนถึงจุดนี้แล้วนะ

ที่สำคัญ คือเหตุการณ์ธรรมศาสตร์ ห้ามนิติราษฎร์ใช้สถานที่เคลื่อนไหว มีศิษย์เก่าวารสารศาสตร์สนับสนุน มีชื่อนายกนกไปพัวพันต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์ นายกนกนั้นมีชื่อเสียงอยู่ในช่องหลัก การมีชื่อไปพัวพัน ทำให้คนเอียงตามเขาได้ง่าย เราก็เลยไป

นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการสื่อเมื่อต้นเดือนมีนาคม

และทำให้เกิดคำถามหลากหลาย ต่อการทำงานของสื่อในยุคนี้



+++

ออเคสตราธรรมดา
โดย วีระ ทรรทรานนท์
บทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 84


ขอเกริ่นไว้เป็นอารัมภบทตรงนี้เสียก่อนเลยว่า ออเคสตราที่จะผ่านสายตาต่อไปนี้ เป็นเพียงออเคสตราธรรมดา

ที่หากจะมีความพิสดารอันเป็นธรรมดาแฝงเพิ่มเข้ามาก็มีบ้างนิดหน่อยในตอนจบตบท้ายเท่านั้น

ออเคสตรา คือวงดนตรีประเภทหนึ่งในหลายๆ ประเภท สามารถบรรเลงได้โดยนักดนตรีผู้เล่น จะเป็นบทเพลงแนวแจ๊ซหรือคลาสสิค ถ้าเป็นแจ๊ซ อาจเป็นวงดนตรีร็อก ออเคสตรา (Rock Orchestra) ถ้าเป็นคลาสสิค โดยทั่วไปเรียกวงดนตรีเชมเบอร์ ออเคสตรา (Chamber Orchestra) ที่มีจำนวนผู้เล่นน้อยกว่าวง ซิมโฟนี ออเคสตรา (Symphony Orchestra) ที่มีจำนวนหลายสิบคนไปจนถึงกว่าร้อย หรืออีกนัยหนึ่ง แล้วแต่ว่าออเคสตราวงนั้นจะบรรเลงเพลงแนวเชมเบอร์หรือซิมโฟนี สำหรับ B.B.C. เรียกชื่อวงดนตรีของตนว่า คอนเสิร์ต ออเคสตรา

ถ้าจะให้ดูขลังและมีความหมายกระชับยิ่งขึ้น บางทีเรียกว่า วงดุริยางค์ ฟิลฮาร์โมนิก ออเคสตรา ก็ได้ เช่น วงดุริยางค์ไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิกออเคสตรา ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ออเคสตราคือวงดนตรีขนาดใหญ่ ใช้เครื่องดนตรีและผู้เล่นจำนวนมาก แบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องสาย, กลุ่มเครื่องเป่าลมไม้, กลุ่มเครื่องเป่าทองเหลือง และกลุ่มเครื่องประกอบจังหวะ


ออเคสตรา มาจากภาษากรีก เดิมหมายถึงพื้นที่ด้านหน้าของเวทีกรีกโบราณ ที่สงวนไว้สำหรับนักร้องและนักดนตรีชาวกรีก ในยุคกรีกโบราณ หมายถึงช่องระหว่างการประชุมและเวทีนอกม่านตอนหน้าของพวกนักดนตรี หรือหมายถึงสถานที่เต้นรำก็ได้

สำหรับ "ฟิลฮาร์โมนิก" (philharmonic) มิได้แสดงถึงลักษณะพิเศษของวงดนตรีแต่ประการใด มีความหมายว่า "รักในดนตรี" (fond of music) มาจากภาษากรีกเช่นเดียวกัน หมายถึง "มิตรต่อเสียงประสาน" (friendly to harmony) หรือ "รัก" บวกกับ "เสียงประสาน" นำไปใส่เป็นชื่อวงดนตรี เช่น วงฟิลฮาร์โมนิก ออเคสตรา, วงลอนดอนฟิลฮาร์โมนิกออเคสตรา ฯลฯ เริ่มมีใช้กันเมื่อปี ค.ศ.1543 ในประเทศอิตาลี โดยวงดนตรีอัคคาเดมีอาฟีลาโมนิคา แห่ง เวโรนา (Accademia filarmonica of Verona)

ออเคสตรา มีประวัติศาสตร์พัฒนาการมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เริ่มต้นจากพวกขุนนางเศรษฐีเงินจ้างบรรดานักดนตรี ให้มาร่วมกันบรรเลงในเทศกาลโอกาสต่างๆ เช่น ในงานพิธีฉลองอภิเษกสมรส, งานพิธีปลงศพ ฯลฯ เป็นต้น

ในศตวรรษที่ 17 มีการเปลี่ยนสถานที่การแสดงดนตรี เช่น อิตาลี, ฝรั่งเศส และอังกฤษ ชอบกลุ่มเครื่องสาย ขณะที่ในเยอรมันชอบเครื่องเป่ามากกว่า เริ่มตั้งแต่เมืองบรุนสวิก (Brunswick) เมืองแรกที่จ้างนักดนตรีในศตวรรษที่ 13 เมื่อ ค.ศ.1227 ต่อมาเช่นเดียวกันในเมืองฟลอเรนซ์ที่อิตาลี และเมืองอีเปรสในเบลเยียม ค.ศ.1291 และ 1297 ตามลำดับ

ต่อมา ออเคสตราได้มีพัฒนาการติดต่อกันเรื่อยมาตามยุคตามสมัยของดนตรี คือ
บาโรค ออเคสตรา (Baroque Orchestra) ค.ศ.1600-1750
คลาสสิค ออเคสตรา (Classical Orchestra) ค.ศ.1750-1830
โรแมนติก ออเคสตรา (Romantic Orchestra) ค.ศ.1830-1910
จนถึงปัจจุบันคือ ซิมโฟนี ออเคสตรา (Modern Symphony Orchestra)

จะเห็นได้ว่า วงดนตรีออเคสตรา หรือ วงซิมโฟนี ออเคสตรา หรือฟิลฮาร์โมนิก ออเคสตรา ได้สืบทอดความเป็นมาอย่างยืดยาวติดต่อกันในแต่ละยุคของดนตรี เริ่มตั้งแต่สมัยกรีกโบราณมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน อันเป็นวิวัฒนาการธรรมดา



สําหรับเมืองไทยเรา ออเคสตราที่ไม่ธรรมดาก็พอมีอยู่ เรามีวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากร, วงดนตรีบางกอกซิมโฟนี หรือเรียกกันว่า บี.เอส.โอ. ที่มีมาตรฐานดีพอจะอวดใครเขาได้, วงดุริยางค์ไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิกออเคสตรา, วงดุริยางค์ของสี่เหล่าทัพ, วงออเคสตราเยาวชนยะลาน้องใหม่

สามวงหลังนี้ได้ร่วมกันเดินเข้าไปแสดงถึงในทำเนียบรัฐบาลในรายการ "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" เป็นครั้งแรก โดยใช้ผู้อำนวยเพลงสองคน ซึ่งไม่ใช่ธรรมดา ที่มีผู้บอกว่า รัฐเคยใช้นิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ คราวนี้รัฐใช้ดุริยางคศาสตร์นำ ซึ่งทำนองไพเราะจากบทเพลงต่างๆ เพลงแล้วเพลงเล่ายังกังวานอยู่ในใจ และสามารถเทียบเชิญอดีตนายกฯ ที่ชอบเล่นเปียโนและร้องเพลงมาเป็นประธานได้ด้วย เข้านั่งชมพร้อมกันกับนายกฯ ปัจจุบัน จนมีการ์ตูนหนังสือพิมพ์เขียนล้อว่า "นายกฯ สองคนเป็นสองคอนดักเตอร์"

ความไม่ธรรมดาของออเคสตราเดินทางมาจนถึงภาพปกหน้าของมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1644 ที่สีดูเหมือนจะยังหมาดๆ อยู่ ปรากฏคำ "ออเคสตรา" ประดับไว้ จะพิฆาตหรือไม่พิฆาตนารีก็ตาม

เป็นความไม่ธรรมดาที่ทำให้หลายคนอมยิ้มได้โดยอัตโนมัติ



+++

วาทกรรม อนุสรณ์ ธรรมใจ : ต้องการให้ สถาบันมั่นคง
คอลัมน์ แนวโน้ม ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 47
ที่มา : The Multiple-Perspective Man ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, บุญเอก อรุณเลิศสันติ, GM, กุมภาพันธ์ 2555


ในโลกศตวรรษที่ 21 ถึงที่สุดแล้ว เราควรจะให้มีเสถียรภาพในการคิด การพูด ถ้าเสรีภาพดังกล่าวไม่ได้ไปสร้างปัญหาทางสังคมหรือไม่ได้มีเจตนาร้าย
ผมเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่ปฏิรูปกฎหมายเหมือนอังกฤษ
เพราะถ้าจะว่ากันตามจริง สถาบันกษัตริย์อังกฤษก็มั่นคงแล้ว ยังเป็นประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์เป็นประมุขซึ่งเขาก็อยู่ได้

หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเอาแบบของญี่ปุ่น คือไม่ต้องให้มีการพูดถึงเลย แล้วสถาบันอยู่เหนือทุกอย่าง คือเวลาที่จักรพรรดิญี่ปุ่นจะให้ความเห็นอะไรต้องมีคนรับรอง คือต้องให้แยกออกไป เพราะความเห็นตรงนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาจากการตีความว่าเข้าข้างฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้

คนที่ต่อสู้เรียกร้องผลักดันให้มีการแก้มาตรา 112 ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่เอาเจ้า
ในทางกลับกันแล้ว เขาอาจจะเป็นคนที่เอาเจ้าอย่างยิ่งเลยก็ได้ สิ่งที่เรียกร้องเพียงแค่ต้องการทำให้สถาบันกษัตริย์มั่นคง
ให้สามารถอยู่ไปได้อย่างยาวนาน สามารถสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ก็เป็นแนวปฏิรูป อย่าง อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ท่านเองก็เป็นรอยัลลิสต์ที่รักเจ้าโดยไม่มีประโยชน์แอบแฝง ท่านเป็นคนรักเจ้าที่กล้าวิจารณ์เจ้า ผมเชื่ออย่างที่อาจารย์สุลักษณ์พูดว่า การวิจารณ์อย่างมีวิจารณญาณจะทำให้สถาบันมั่นคงขึ้น ผมถึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขในด้านของการพิจารณาคดี

ส่วนกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องไม่ให้มีการแก้ไขก็เช่นกัน อาจจะไม่ใช่คนที่เอาเจ้าก็ได้ ดูเหมือนเจตนาดีแต่ประสงค์ร้ายก็มี ส่วนกลุ่มคนที่ผมใช้คำว่าพวกคลั่งเจ้าที่เราเรียกว่า Ultra Royalist ความตั้งใจโดยสุจริตของเขาบางครั้งอาจจะไปเข้าทาง และอาจจะเป็นแนวร่วมมุมกลับในทางหนึ่งกับกลุ่มคนที่อยากล้มเจ้าก็ได้ในบางครั้ง

อธิบายให้ชัดก็คือหวังดี รักมากเกินไป จนกระทั่งกลายเป็นเงื่อนไขที่ไม่เป็นบวกกับสถาบันกษัตริย์จนเป็นประโยชน์กับพวกล้มเจ้า



+++
ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ทหารที่กลายเป็นพลเรือน
คอลัมน์ แนวโน้ม ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 101
ที่มา : ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ คอลัมน์ไครซิส วอตช์ เมื่อวิกฤตไล่ล่าเรา "พม่าพรมแดนสุดท้ายของทวีปเอเชีย", โพสต์ทูเดย์, 6 กุมภาพันธ์ 2555


นายเต็ง เส่ง เกิดเมื่อปี 2488 จบการศึกษาจากสถาบันป้องกันประเทศ รับราชการทหารส่วนใหญ่ในตำแหน่งทางด้านเสนาธิการ
เคยเป็นผู้บัญชาการทหารในพื้นที่ชายแดนติดต่อกับจีน ไทย และลาว

นายเต็ง เส่ง ไม่ได้เป็นทหารระดับสูง แต่จากการที่นายทหารอาวุโสหลายคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อปี 2544 ทำให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว กระทั่งได้เป็นนายพล
เมื่อ พล.อ.อาวุโส โซวิน ล้มป่วยเป็นมะเร็งในเม็ดโลหิตขาว นายพลเต็ง เส่ง จึงได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 เป็นต้นมา
เมื่อ พล.อ.อาวุโส โซวินเสียชีวิตจึงเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเมื่อเดือนตุลาคม 2550

หลังการเลือกตั้งทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2553 รัฐธรรมนูญกำหนดรูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดี ทำหน้าที่ทั้งประมุขทางพิธีการและหัวหน้ารัฐบาล นายเต็ง เส่ง ซึ่งลาออกจากราชการทหาร จึงได้รับการลงมติให้เป็นประธานาธิบดีเมื่อต้นปี 2554

จากนั้น ได้พยายามสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ เป็นต้นว่า เชิญ นางออง ซาน ซูจี ไปพบเพื่อหารือกัน ปล่อยนักโทษนักการเมือง
เปิดเจรจาอย่างสันติกับกลุ่มชนชาติส่วนน้อย ทั้งกะเหรี่ยง ไทยใหญ่ เป็นต้น

ตรงนี้เองทำให้ผู้นำระดับสูงจากหลายประเทศเดินทางเข้าพม่า ไม่ว่าจะเป็น นางฮิลลารี ตลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ นายสยูคิโอะ อิดาโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น

พม่ามีประชากรเกือบ 60 ล้านคน เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก

ทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหนังสือพิมพ์โยมิอูรี ชิมบุน แห่งญี่ปุ่นจึงขนานนามพม่าว่าเป็น

พรมแดนสุดท้ายของทวีปเอเชีย



.