http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-20

รัฐธรรมชาติบนท้องถนน, คำหยาบและความรุนแรง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

บทความเก่าปี2553 แต่ยังสดใหม่ต่อภูมิรู้

รัฐธรรมชาติบนท้องถนน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1542 หน้า 25


ขณะที่ผมกำลังขับรถกลับบ้านในเชียงใหม่วันหนึ่ง แม้ว่าผมขับอยู่ในเลนขวาสุดของถนนที่มีเกาะกลางกั้นระหว่างจราจรสองทาง ก็ยังมีมอเตอร์ไซค์ที่แซงซ้ายแซงขวา และแฉลบเข้ามาในเลนขวาสุดอยู่หน้ารถผมเป็นครั้งคราว ผมไม่แน่ใจว่าเขาเห็นรถผมหรือไม่ จึงกดแตรให้เขารู้ตัวหนึ่งครั้ง (สั้นๆ)

จากนั้นเป็นต้นมา เขาก็ขี่รถเบียดเข้ามาใกล้ๆ แล้วกดแตรของเขาบ้าง ผมรู้ว่าเขาไม่พอใจ และคงกดแตรเพื่อท้าทาย จึงขับต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจ แต่เขาก็ยังคงเบียดเข้ามาบีบแตรอยู่เช่นนั้นไปอีกสักกิโลสองกิโล

ผมจึงให้สัญญาณเปลี่ยนเลนมาทางซ้ายเพื่อจอดชิดขอบถนน จะได้พูดคุยกับเขา จนในที่สุดก็หาที่จอดข้างถนนได้ เขาขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดข้างหน้าผมห่างไปสัก 10 เมตร แต่แปลกที่เขาไม่ยักกะเดินมาหาผม จึงทำให้ผมต้องเปิดหน้าต่างแล้วกวักมือเรียกเขามาคุยด้วย

ผมถามเขาว่า ผมบีบแตรเพื่อเตือนให้คุณระวังรถหลัง มันผิดหรือไม่ดีตรงไหน ชายหนุ่มที่ปล่อยผมยาวอย่างไม่สละสลวย ในเครื่องแต่งกายที่ไม่รัดกุมนักและออกจะซกมก แถมยังเมานิดๆ บอกผมว่าเขาไม่ชอบให้ใครบีบแตรใส่เขา ผมจึงอธิบายว่าอันนั้นผมไม่ทราบ แต่จะเตือนเขาด้วยการตะโกนบอกคงใช่ที่ จึงต้องใช้แตรเพราะหากเขาไม่ระวังรถหลัง ก็จะเป็นอันตรายต่อตัวเขา

ผมปิดท้ายคำพูดด้วยการแสดงปาฐกถาว่าด้วยความปลอดภัยในการจราจรว่า เราทุกคนผู้ใช้ถนนร่วมกันควรมีหน้าที่ช่วยป้องกันอุบัติเหตุให้แก่กันและกันด้วย

เขายกมือขึ้นไหว้ แล้วพยายามแก้ตัวว่า เขาไม่ชอบให้ใครบีบแตรใส่เขาจริงๆ แล้วเขาก็เชิญให้ผมออกรถไปเถิด

ส่วนหนึ่งของ "อำนาจ" ที่ผมมีเหนือเขาคงเป็นความแก่ เพราะเมื่อจอดรถพูดคุยกับเขานั้น เขาคงเห็นถนัดขึ้นว่าอ้ายหมอที่บีบแตรใส่เขานั้นแก่ขนาดที่เสียศักดิ์ศรีอย่างมากหากจะทำร้ายทางกาย แต่เขาก็อาจทำร้ายทางวาจาก็ได้ เช่น อ้ายแก่เอ๊ย ระวังมึงจะตายไม่สวย ขืนบีบแตรอย่างนี้

แต่เขาก็ไม่ได้ทำ ทั้งทางกายหรือทางวาจา

แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญกว่าของ "อำนาจ" ของผม มาจากการที่ผมดึงเขาให้ออกมาจากท้องถนน แล้วกลับมาสู่สังคมไทย ที่ "อำนาจ" ของผู้คนถูกกระจายไปตามสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งแตกต่างกันอย่างละเอียดอ่อน

อันที่จริงผมไม่ได้นึกถึงข้อนี้เมื่อตอนจอดรถข้างถนนเพื่อเรียกเขามาพูดคุยด้วย ผมคิดแต่เพียงว่าผมแก่เกินกว่าที่เด็กหนุ่มคนใดจะลากลงมากระทืบข้างถนนแล้วเท่านั้น หากทว่า หลังจากได้พูดคุยกับเขาแล้ว โดยมีสติที่จะพูดกับเขาอย่างไม่ยอมรับการ "หาเรื่อง" ของเขา ผมจึงนึกออกว่าการพูดเรียบๆ อย่างมีสติเช่นนั้น เป็นการดึงเขาหรือสติของเขาให้กลับมาสู่สังคมที่ไร้ความเท่าเทียม ทำให้เขาเกิดสำนึกที่เป็นจริงในชีวิตที่เขาคุ้นเคย นั่นคือเขาเป็นเพียงคนเล็กๆ ที่ไร้ "อำนาจ" และต้องยอมรับการกระทำของคนอื่นที่มี "อำนาจ" มากกว่า ไม่ว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบการกระทำนั้นก็ตาม

ผมนึกถึงเรื่องนี้ในขณะที่ขับรถกลับบ้านต่อไป และคิดว่าทำให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมของผู้คนบนท้องถนนในประเทศไทยขึ้นอย่างมาก

ท้องถนนในประเทศไทยนั้น ในแง่หนึ่งก็แปลกกว่าท้องถนนในบางสังคมที่ผมพอรู้จัก เพราะคนไทยแบกสถานภาพที่แตกต่างกันลงมาสู่ท้องถนนอย่างเต็มที่ เราพอจะนึกถึงชีวิตของคนที่นั่งอยู่บนพาหนะชนิดต่างๆ บนท้องถนนได้ออกหมด คุณนายที่สวมแหวนเพชรเม็ดวาวคนนั้นขับรถเบนซ์ เธอคงเพิ่งออกจากคฤหาสน์ของเธอแถบนั้นแถบนี้ เธอไม่น่าจะเป็นเมียน้อยของเสี่ยคนใด เพราะอายุของเธอมากเกินกว่าที่เสี่ยคนใดจะเลี้ยงดู ชายหนุ่มบนปิ๊กอัพคันที่ขัดเงาวาววามคนนั้น คงจะทำงานบริษัท หนุ่มเสียจนต้องเดาว่าคงเป็นรถคันแรกของเขา มอเตอร์ไซค์ที่ขวางหน้าเขาอยู่มี "เด็ก" ส่งของขับขี่ นี่ก็ปลายเดือนแล้ว คงต้องเบิกเงินล่วงหน้าไปซื้อนมเลี้ยงลูกกระมัง

ความแตกต่างทางสถานภาพบนพาหนะเช่นนี้ มองเห็นไม่ถนัดนักในลอนดอน, เมืองในสหรัฐ หรือในญี่ปุ่นนะครับ โบร๊กเกอร์ตลาดหุ้นอาจจอดรถพอร์ชไว้ที่บ้าน แล้วนั่งรถเมล์หรือรถไฟร่วมไปกับกรรมกรก่อสร้าง ลูกชายผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคอมพิวเตอร์ อาจชอบชีวิตลุยๆ จึงขับแต่ปิ๊กอัพอยู่เป็นประจำ ฯลฯ

ท้องถนนในประเทศไทยจึงจำลองสถานภาพอันสลับซับซ้อนของสังคมลงไว้เต็มพื้นที่



แต่ในขณะเดียวกัน ท้องถนนในประเทศไทยกลับเป็นพื้นที่ของความเสมอภาค ความแตกต่างด้านสถานภาพไม่กำกับพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างในชีวิตจริง มอเตอร์ไซค์โทรมๆ ไม่ต้องย่อตัวลงติดพื้นเมื่อจะแซงรถเบนซ์ หากจะเฉี่ยวชนกัน บริษัทประกันก็จะเจรจาบนพื้นฐานของกฎหมายจราจร ถึงรถไม่มีประกัน คนขับก็คล่องแคล่วกับกฎหมายจราจรจนกระทั่งอาจถกเถียงกับคู่กรณีได้อย่างไม่ต้องลดละ ไม่ว่าคู่กรณีจะขับรถหรูแค่ไหนก็ตาม

ความสัมพันธ์บนพื้นฐานของกฎหมายที่ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน พูดไปก็เหมือนความฝันในสังคมไทยนะครับ แต่ความฝันนี้เป็นจริงบนท้องถนน

ถนนจึงเป็นพื้นที่แห่งความเสมอภาคอยู่พื้นที่เดียวในประเทศนี้ ซ้ำร้ายความไม่สะดวกต่างๆ ในการจะพึ่งรัฐเพื่อระงับข้อพิพาทบนท้องถนน ยังทำให้การต่อรองบนท้องถนนต้องอาศัย "เขี้ยว" ของคู่กรณีมากขึ้น และ "เขี้ยว" นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ลูกสาวนายธนาคารซึ่งขับเบนซ์สปอร์ต อาจถูก "เขี้ยว" ของแทกซี่ซึ่งเฉี่ยวชนบังคับให้เป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้ทั้งแก่รถของเธอและรถแท็กซี่

ถนนจึงเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพด้วย หากเป็นเสรีภาพที่มีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความ "เขี้ยว" ของแต่ละคน นี่แหละครับคือรัฐธรรมชาติขนานแท้และดั้งเดิมเลยทีเดียว

ในสังคมที่ผู้คนไม่ได้สัมพันธ์กันอย่างเท่าเทียม เสรีภาพของแต่ละคนขึ้นอยู่กับสถานภาพของตนเอง ท้องถนนจึงเป็นที่ระบายความอึดอัดขัดข้อง, ความเจ็บปวด, ความไร้ศักดิ์ศรี, ความไร้ความหมายแห่งตัวตน, และความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าของผู้คน

(และในทางตรงกันข้าม ก็อาจเป็นที่ทดสอบความมีสถานภาพอันสูงนอกท้องถนนด้วยก็ได้ กูใหญ่ในชีวิตจริงและกูจะใหญ่ในท้องถนน)

ท้องถนนในประเทศไทยจึงถูกบ่นว่าไร้ระเบียบไร้วินัย ก็ระเบียบและวินัยในสังคมไทยนั้น ถึงที่สุดแล้วก็ยังขึ้นอยู่กับสถานภาพอยู่ดี ภาษิตรัสเซียที่ว่ากฎหมายเหมือนไยแมลงมุมนั้นใช้ได้ดีในเมืองไทยโดยทั่วไป ยกเว้นอยู่ที่เดียวคือท้องถนน จอดรถเข้าข้างทางเมื่อไร เราก็กลับมาสู่สังคมแห่งความไม่เท่าเทียม ไผเป็นไผกำกับพฤติกรรมของเรามากกว่าระเบียบหรือวินัย หรือรัฐธรรมชาติบนท้องถนน

ผมจึงคิดว่า ผมเข้าถึงจิตใจของมอเตอร์ไซค์ หรือปิ๊กอัพหรือแท็กซี่หรือแม้แต่รถเบนซ์ที่โฉบเฉี่ยวอย่างน่าหวาดเสียวบนท้องถนนดี นี่คือความสะใจในพื้นที่ส่วนหนึ่งของชีวิต อันเป็นชีวิตที่ศักดิ์ศรีและความนับถือตนเองเกิดขึ้นได้เฉพาะจากสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจเท่านั้น และบ่อยครั้งสถานภาพนี้ก็ได้มาจากกำเนิด ก็พ่อเป็นนายธนาคาร จะให้ลูกเป็นซาเล้งได้อย่างไร จึงเป็นเงื่อนไขที่กำหนดเองไม่ได้

เกิดมาในสถานภาพอันต่ำต้อย ก็ต้องทนรับความขมขื่นปวดร้าว และความไม่เท่าเทียมไว้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยากตลอดไป ขอเท่าเทียมและมีเสรีภาพเสมอกับคนอื่นบนท้องถนนสักครั้ง

มึงจะเบนซ์, มึงจะพอร์ช, มึงจะโรลสลอยซ์ หรืออะไรก็ตามที หากไม่เคารพซูซูกิของกูแล้ว มึงเสร็จ



คิดได้อย่างนี้แล้ว ผมก็เกิดความเข้าใจประสบการณ์ของแท็กซี่กรุงเทพฯ คนหนึ่งได้ดีขึ้น เขาเล่าให้ฟังเมื่อหลายเดือนมาแล้วว่า ในการจราจรอันคับคั่งของกรุงเทพฯ นั้น วันหนึ่งเขาพยายามจะเปลี่ยนเลนไปช่องที่รถวิ่งได้สะดวกกว่า แต่รถเบนซ์ห้าร้อยที่ทิ้งระยะห่างไว้ กลับไม่ยอม รีบบึ่งขึ้นมาเบียดกันเขาไม่ให้เปลี่ยนเลน เขารู้สึกถึงความไร้น้ำใจของคนขับเบนซ์อย่างแรง

แต่แล้วเลนที่เขาวิ่งอยู่กลับเดินได้สะดวกกว่าเลนที่รถเบนซ์วิ่ง รถเบนซ์ใหม่เอี่ยมอ่องนั้นจึงจะเบนเข้าสู่เลนของเขา และนั่นคือทีของเขาบ้าง เขาเร่งเครื่องไปกันไว้ แต่เบนซ์คันนั้นก็ยังเบี่ยงเข้าเลนอยู่นั่นเอง เขาจึงพุ่งเข้าชน ครูดรถเบนซ์ตลอดครึ่งหน้าไปเป็นแนวยาว

เจ้าของรถเบนซ์ลงจากรถ แล้วถามเขาว่ารู้หรือไม่ว่าเบนซ์คันนั้นราคากี่ล้าน เขาบอกว่าเขาไม่รู้และไม่สนใจจะรู้ด้วย เรียกตำรวจดีกว่า เจ้าของเบนซ์บอกราคาและประมาณค่าซ่อมเบนซ์ให้ฟังว่าจะตกสักเท่าไร แท็กซี่ตอบว่าเขาไม่สนใจหรอกว่ารถจะมีราคาหรือค่าซ่อมเท่าไร เพราะไม่ว่าจะชนเบนซ์หรือชนซาเล้ง หากเขาผิดเขาก็ต้องเสีย 2,500 บาทสำหรับค่าซ่อมเท่าๆ กัน ที่เหลือบริษัทประกันเป็นผู้ออก แต่หากเขาไม่ผิด เขาไม่ต้องเสียเงินสักแดงเดียวด้วย

และกรณีนี้เขามั่นใจว่าเขาไม่ผิด เจ้าของรถเบนซ์ก็คงรู้เหมือนกันว่าเขาไม่ผิด จึงได้แต่ต่อว่าเขาว่าเขาเป็นคนไม่มีน้ำใจ เขาจึงตอบกลับว่า ก็คุณเองไม่มีน้ำใจเหมือนกัน เพราะเมื่อเขาเบี่ยงขอเข้าเลนเมื่อตะกี้ คุณกลับเบียดไว้ไม่ยอมให้เข้าเหมือนกัน จากนั้นเขาก็เลกเชอร์คนขับรถเบนซ์ว่า จะขี่รถแพงแค่ไหน ก็ไม่มีสิทธิ์จะเรียกร้องน้ำใจจากคนอื่น หากตัวเองไม่มีน้ำใจให้แก่ใคร และอื่นๆ อีกมาก

ผมได้ยินเสียงความสะใจของเขาอย่างชัดเจน ตอนนั้นผมยังคิดแต่ว่าเป็นความสะใจที่ได้สอนบทเรียนแก่คนรวยแล้งน้ำใจเท่านั้น แต่เมื่อเกิดความเข้าใจถึงรัฐธรรมชาติบนท้องถนนแล้ว ผมคิดว่าเขาสะใจมากกว่านั้นด้วยตรงที่รถซึ่งเขาครูดเป็นทางยาวนั้นคือเบนซ์สุดหรูแพงระยับ หากเป็นแค่ปิ๊กอัพส่งของ เขาคงลืมไปแล้ว

ระเบียบและวินัยในการจราจร หรือในเรื่องอื่นๆ นั้น จะเป็นที่เคารพเชื่อฟัง ไม่ใช่เพราะประชาชนเป็นคนดีหรือคนเลวเท่านั้น ที่สำคัญกว่าคือระเบียบและวินัยนั้นตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมหรือไม่ต่างหาก



++++

คำหยาบและความรุนแรง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1544 หน้า 25


ผมเห็นข่าวทางทีวีว่า เกิดความวิตกห่วงไยกันขึ้นว่า เด็กและวัยรุ่นนิยมภาษาแห่งความรุนแรง ผู้ที่ออกมาแสดงความวิตกห่วงไยมีทั้งผู้ใหญ่ในกระทรวงวัฒนธรรมไปจนถึงนักจิตวิทยาอิสระ และแน่นอนที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ อาจารย์มหาวิทยาลัย

ผมออกจะสนใจเป็นพิเศษ เพราะผมรู้สึกเสมอมาว่าผู้ใหญ่ไทยก็มักจะใช้ภาษาแห่งความรุนแรงมากอยู่แล้ว แต่เด็กและวัยรุ่นกลับใช้มากกว่าเสียอีก คงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่น่าวิตกแก่สังคมไทยจริง

แต่ฟังท่านเหล่านั้นพูดแล้ว กลับปรากฏว่า ตัวอย่างที่ท่านยกหรือส่อให้เห็น ล้วนเป็นคำพูดหรือวิธีพูดที่สมัยหนึ่งเราเรียกว่าใช้ "คำหยาบ" นั่นเอง

ผมคิดว่า คำหยาบ กับภาษาแห่งความรุนแรง เป็นสองอย่างที่ไม่เหมือนกัน แม้จะมีการเหลื่อมซ้อนกันอยู่บ่อยๆ ก็ตาม

เช่นคำว่า "เหี้ย" มักใช้กันในหมู่ผู้ใกล้ชิดอย่างเอ็นดู แม้ว่าคำเดียวกันนี้อาจใช้เพื่อเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งให้สิ้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ได้ ซึ่งนั่นก็คือภาษาแห่งความรุนแรง

ความต่างไปอยู่ที่ "บริบท" ของการใช้ ไม่ใช่ตัวคำ



อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง "บริบท" แล้ว ยิ่งยุ่งขึ้นไปใหญ่ เพราะแม้แต่ที่เรียกว่าคำหยาบนั้น ก็หยาบในบริบทหนึ่งและไม่หยาบในบริบทหนึ่งเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อสังคมเปลี่ยนไป

ผมยอมรับว่า เด็กและวัยรุ่นไทยสมัยนี้ใช้คำที่คนรุ่นก่อนเห็นว่า "หยาบ" ออกจะเป็นปรกติ แต่ก็ไม่ใช่เพราะเด็กและวัยรุ่นสมัยนี้มีมารยาททรามลงกว่าแต่ก่อน หากเป็นเพราะสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว และความเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็นว่ามีผลกระทบต่อภาษาไทยอย่างมากนั้น มีสองอย่าง

อย่างแรก คือความสัมพันธ์ทางสังคมมีลักษณะเป็นลำดับขั้น (hierachical) น้อยลง ผู้คนสัมพันธ์กันในลักษณะเท่าเทียมมากขึ้น ดังนั้น ภาษาไทย "ผู้ดี" อันเป็นมาตรฐานที่ใช้สอนภาษาสุภาพกันมานั้น เป็นภาษาแห่งลำดับขั้นเป็นอย่างยิ่ง จึงมักไม่ค่อยถูกใช้ เขาพากันไปใช้ภาษา "ไพร่" อันเป็นภาษาที่ไม่ค่อยแสดงลำดับขั้นของผู้พูดและผู้ฟัง

ความแปรเปลี่ยนตรงนี้เห็นได้ชัดในการใช้สรรพนาม เช่น คำนับญาติ กลายเป็นสรรพนามที่ถูกใช้มากที่สุด เหมือนคนชนบทใช้คำนับญาติแทนสรรพนามเป็นปรกติ

จากความสัมพันธ์ห่างๆ แต่เท่าเทียมกัน โดยแสดงออกด้วยการใช้คำนับญาติเป็นสรรพนามนี้ ก็อาจพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกันมากขึ้นได้ ด้วยการแซมคำที่เคยถูกถือว่า "หยาบ" เข้าไปในการสนทนา จนในที่สุด ก็อาจเปลี่ยนสรรพนามเป็น "กู-มึง" ได้ในบางกรณี

กู-มึงนั้น เป็นสรรพนามประหลาดในภาษาไทย เพราะหารากเหง้าของลักษณะลำดับขั้นทางสังคมไม่เจอ ไม่เหมือนสรรพนามอื่นๆ เช่น "ผม" มาจากเกล้ากระผม คือเอาหัวหรือผมของผู้พูดไปคู่กับตีนของผู้ฟัง ผมเคยพบในเอกสารเก่าของภาคใต้ใช้สรรพนามแทนตัวว่า "ข้าพ่เจ้า" คือเป็นข้าหรือทาสของ "พ่อเจ้า" และกลายเป็น "ข้าพเจ้า" ในปัจจุบัน

แต่รากคำของ "กู-มึง" ไม่มีนัยะของลำดับขั้นทางสังคมเลย มาจากไหนก็ไม่ทราบ บางคนบอกว่ากูมาจาก "อากู" ในภาษามลายู (อันเป็นภาษาของพ่อค้าและแสดงลำดับขั้นทางสังคมน้อยที่สุดในบรรดาภาษาหลักๆ ของอุษาคเณย์) อีกทั้งเป็นสรรพนามที่ "ไพร่" ใช้ในความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมระหว่างกันมานาน (ในขณะที่กู-มึงในภาษา "ผู้ดี" ใช้สำหรับคนที่มีอำนาจสูงกว่าแก่คนที่มาพึ่งพิง มันจึงหยาบในภาษา "ผู้ดี" สมัยหลัง เพราะเป็นการยกตนข่มท่าน)

ผมคิดว่าคำที่เคยถูกถือว่าหยาบทั้งหลาย ที่แซมอยู่ในคำสนทนาของเด็กและวัยรุ่นปัจจุบัน ล้วนสะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้นทั้งนั้น ที่เคยคิดว่า "หยาบ" ก็กลายเป็น "ละเอียด" มากขึ้น



ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างที่สองก็คือสำนึกถึงความเป็นผู้หญิงที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะในหมู่ผู้หญิงนะครับ แต่เปลี่ยนไปในหมู่ผู้ชายด้วย

จะอธิบายตรงนี้ว่าสำนึกถึงสิทธิเท่าเทียมระหว่างเพศมีแพร่หลายมากขึ้นก็ได้ แต่ก็จะเกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดสำนึกในสิทธิเสมอภาคจะต้องนำผู้หญิงไปสู่ความเป็นผู้ชายด้วย เช่น ทำให้เด็กผู้หญิงใช้คำว่ากู-มึงหรือเหี้ย-ห่าได้คล่องปากเท่าเด็กผู้ชาย

ผมจึงขออธิบายอย่างนี้แทนครับ ผมคิดว่าระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้หญิงและผู้ชายในวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางและสูงนั้น เป็นระบบที่แตกต่างกันสองระบบ ทั้งนี้ ผมหมายถึงความสัมพันธ์ภายในระหว่างหญิงด้วยกันเอง ก็ต่างจากชายด้วยกันเอง และความสัมพันธ์ระหว่างเพศก็ถือเกณฑ์มาตรฐานที่ต่างกันระหว่างมาตรฐานของชายและมาตรฐานของหญิง

ผู้หญิงในหมู่คนชั้นกลางและสูงในสมัยก่อนนั้น มีโลกที่ค่อนข้างแคบ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต อย่างน้อยก็ไม่ได้มีส่วนโดยตรง ชีวิตจึงถูกเตรียมและถูกฝึกให้เก่งในการจัดความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด นับตั้งแต่สามีไปจนถึงเครือญาติ และอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของบุคคลที่ผู้หญิงต้องไปจัดความสัมพันธ์นั้น ล้วนมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ดังนั้น ผู้หญิงจึงถูกฝึกให้จัดความสัมพันธ์โดยไม่ใช้วิธีของอำนาจ อันเป็นวิธีจัดความสัมพันธ์ที่ผู้ชายถนัด

ความเก่งตรงนี้ของผู้หญิงนี่แหละครับ ที่เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องจัดความสัมพันธ์นอกครอบครัว เช่นในสังคมปัจจุบัน ผู้หญิงจึงอาจ "บริหาร" ความสัมพันธ์ที่เป็นประชาธิปไตยได้เก่งกว่าผู้ชาย (ไทย)

(จึงอยากเตือนนักเขียนนวนิยายและคนทำละครทีวีด้วยว่า ความเป็นผู้หญิงในวัฒนธรรมไทยนั้นมีอะไรดีๆ อยู่ไม่น้อย และความเสมอภาคระหว่างเพศ คือผู้หญิงได้เป็นผู้หญิง ไม่ใช่จะเสมอภาคได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงกลายเป็นผู้ชายไป)

อย่างไรก็ตาม ระบบความสัมพันธ์ของผู้หญิงไทยปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว เป็นระบบความสัมพันธ์ที่ไม่แยกแตกต่างระหว่างหญิงหรือชาย การเตรียมผู้หญิงหรือผู้ชายเข้าสู่ระบบความสัมพันธ์นี้ จึงไม่ต่างอะไรกัน ความเหมือนตรงนี้สะท้อนออกมาในภาษาที่เด็กและวัยรุ่นหญิงใช้ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากชายเลย ไม่ว่าจะเป็นกู-มึง, เหี้ย-ห่า หรือคำด่าแม่

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในภาษาอื่นๆ ทั้งโลก ดูหนังฮอลลีวู้ดปัจจุบัน คำซึ่งสมัยหนึ่งไม่กล้าแม้แต่จะพิมพ์ กลายเป็นคุณศัพท์ประจำในภาษาพูดของตัวละครทั้งหญิงและชาย

คำหยาบจึงไม่ใช่เรื่องของความรุนแรงเสมอไป ตรงกันข้ามกับคำด่าหยาบๆ คายๆ ซึ่งใช้ในเวลาวิวาทกันด้วยซ้ำ ผมคิดว่าภาษาไทยปัจจุบันเป็นภาษาที่เกลื่อนความรุนแรงให้หมดความแหลมคมได้เก่ง เสียจนกระทั่งคนไทยกลืนความรุนแรงลงพุงไปได้อย่างสะดวกสบาย

เราเรียกการประหารชีวิตว่า "ปุ-ปุ" แต่การประหารชีวิตคือการฆ่านะครับ เพียงแต่ฆ่าโดยรัฐเท่านั้น ปุ-ปุ เป็นแต่เพียงเสียงที่กลบเกลื่อนการฆ่า จนเราไม่ต้องถามว่าเหตุใดรัฐจึงต้องฆ่า

เราเรียกการยิงทิ้งว่า "ตัดตอน" ดูสะอาดขึ้นแยะเลยนะครับ เพราะมองไม่เห็นเลือดสักหยด
"จองกฐิน" คือยิงเอ็ม 79 เข้าใส่ฝูงชน
ซ้อมผู้ต้องหาหรือนักโทษ เรียกว่า "ซ่อม"
โทรมหญิงเคยเรียกว่า "ลงแขก"
ลักพาตัวเรียกว่า "อุ้ม"

ฯลฯ

ความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐหรือทำกันเองในสังคม ถูกทำให้เนียนเสียจนทุกคนยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยังไม่พูดถึงความรุนแรงชนิดต่างๆ ในสังคมไทยซึ่งมีมากมาย ทั้งในเชิงกายภาพ และเชิงโครงสร้าง การทำความรุนแรงให้ไม่ทิ่มตำเกินไปก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราอยู่กับมันได้

ภาษาแห่งความรุนแรง-หากมีความหมายที่ต่างจากคำหยาบ-ดังที่ผมกล่าวนี้ มีมากในภาษาไทยจริง แต่ไม่จำกัดอยู่กับเด็กและวัยรุ่น หากใช้กันทั่วไปหมด ก็เราต่างอยู่ในสังคมแห่งความรุนแรง ภาษาของเราก็เป็นภาษาที่สะท้อนความรุนแรงออกมาเป็นธรรมดา

หากเราห่วงไยความรุนแรงในสังคมไทยมากกว่าภาษา ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสองเรื่องที่เราควรพิจารณา



เรื่องแรกคือควรเลิกกลบเกลื่อนความรุนแรง ไม่ว่าจะกลบเกลื่อนด้วยภาษา หรือกลบเกลื่อนด้วยการกล่าวเท็จ (ซึ่งเป็นการทำความรุนแรงอีกรูปหนึ่ง) หรือกลบเกลื่อนด้วยวัฒนธรรมหลงเงาตัวเอง เราควรตระหนักเสียทีว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรุนแรง-ทั้งตัวปัญหาและวิธีแก้ปัญหา-การยอมรับความจริงอย่างตรงไปตรงมา เป็นบันไดขั้นต้นที่จะทำให้เราแก้ปัญหาได้

เรื่องที่สองคือ กลไกแก้ไขความขัดแย้งโดยสงบที่เคยมีมาในวัฒนธรรมไทยนั้นใช้ไม่ค่อยได้เสียแล้ว สังคมไทยเปลี่ยนตั้งแต่ระดับครอบครัวขึ้นมาถึงสังคมใหญ่ กลไกเหล่านั้นใช้ได้เฉพาะในเงื่อนไขของชุมชนเล็กๆ ที่ทุกคนแทบจะรู้จักกันหมด แต่ใช้ในปัจจุบันไม่ได้

แค่แย่งน้ำกันในหน้าแล้ง ก็ไม่มีทางออกอื่น นอกจากใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน

ฉะนั้น เราต้องคิดถึงการสร้างกลไกระงับความขัดแย้งอย่างใหม่ ไม่ว่าจะนำเข้าจากต่างวัฒนธรรม หรือพัฒนาขึ้นใหม่จากของเดิม อันจะเป็นกลไกที่ใช้งานได้ในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน ไม่ใช่อยุธยา

และอย่างไรเสีย ก็ต้องยอมรับเถิดว่า ก่อนที่กลไกใหม่ๆ เหล่านั้น จะตั้งมั่นลงในวัฒนธรรมได้ ความขัดแย้งทั้งหลายมีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย ไม่ใช่เพราะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชั่ว แต่เพราะเป็นความขัดแย้งในสังคมสมัยใหม่ที่ปราศจากกลไกระงับความขัดแย้งอย่างสันติในวัฒนธรรม



.