http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-17

ทราย: โลกไลก์/ ศิลา: ผลกระทบธรรมดา..

.
คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก - โซลอีตเตอร์ เล่ม 1 ว่าด้วยแท็บเล็ตและเด็กนักเรียน โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

โลกไลก์
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 80


ชุดข่าวที่มีความน่าสนใจต่อเนื่องกันมาในช่วง 2-3 อาทิตย์นี้สำหรับฉันก็คือข่าวหรือคดีความต่างๆ อันมีเหตุที่มาเนื่องจากโลกไซเบอร์

ไล่ตั้งแต่ข่าวที่ว่าการมีอยู่ของเฟซบุ๊กทำให้เกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันพร้อมจะรับผิดชอบในวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แปลกอะไรหรอก

สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในประเทศเราก็มักจะถูกมองเป็นผู้ร้ายในข้อกล่าวหาใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับวัยรุ่นอยู่แล้ว


หรือข่าวที่มีสาวน้อยวัยนักศึกษาคนหนึ่งคิดฆ่าตัวตายประชดความจริงของชีวิต หลังจากหนุ่มที่เธอหมายมั่นปั้นมือมาค้นพบว่าเธอไม่ได้สวยเหมือนรูปที่เธอบรรจงอวดไว้ในเฟซบุ๊ก (ภาษาในข่าวบรรยายไว้ได้โหดร้ายประหารใจอย่างยิ่ง ว่าหนุ่มน้อยคนนั้นระบุว่า พอเจอตัวจริงแล้วปรากฏว่าทั้งอ้วนทั้งดำ ไม่เห็นสวยเหมือนในเฟซบุ๊ก จนฉันแอบคิดว่าน่าจะมีใครไปสัมภาษณ์สาวเจ้าบ้างว่าไอ้หนุ่มหล่อในรูปกับตัวจริงนั้นมันต่างกันขนาดไหน เพราะที่ตลกร้ายก็คือ, ไอ้หนุ่มนั่นก็ไม่ได้ใช้รูปจริงเหมือนกัน)

และสำหรับฉัน ความย้อนแย้งอย่างยิ่งของเรื่องนี้ก็คือ, สำหรับเธอที่รู้อยู่แก่ใจว่ารูปที่ใช้นั้นไม่ใช่ตัวเธอจริงๆ เธอจะไปหวังผลลัพธ์เลิศลอยอะไรจากคำโกหกที่เธอได้สร้างขึ้นมา?
ตัวเธอย่อมรู้ดีแก่ใจว่ามันไม่ใช่ เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเธอ ครูบาอาจารย์
หรือพ่อแม่พี่น้องของเธอก็ย่อมรู้เช่นกัน
ตกลงเธอหลอกใครกันแน่?
และเธอสามารถเชื่อในสิ่งที่เธอสร้างขึ้นมาได้สนิทใจขนาดนั้นเชียวหรือ?

เธอแยกร่างได้อย่างไรระหว่างโลกที่เธอเป็นเธอ ใช้ใบหน้าของเธอพบปะผู้คน ใช้จมูกของเธอหายใจ ใช้ปากของเธอจำนรรจา กับโลกในรูปที่เธอเลือกใช้พบปะคนที่ไม่เคยเจอ



มันอาจดูเป็นปัญหาเรื่องศักดิ์ศรีและการนับถือตนเอง แต่มันก็เป็นปัญหาที่น่าสนใจในโลกไซเบอร์

มันคือการหลอกลวงในระดับคนต่อคน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เราไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดตรงไหน

คนหลายคนที่ฉันรู้จัก (แน่นอน, รู้จักจากเฟซบุ๊กนั่นแหละ จะอะไรเสียอีก ฉันมันก็ทันสมัยเหมือนกันนะ แม้จะไม่ได้ร่วมสมัยขนาดนัดมีเพศสัมพันธ์ผ่านระบบออนไลน์นี้เหมือนที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้เขาห่วงกันก็ตาม) ต่างก็มีปัญหากับมนุษย์ในโลกเสมือนกันทั้งนั้น

และปัญหาก็แพร่ลามเข้าสู่ความจริงในชีวิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่เรื่องความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกัน ถ้อยคำวาจาจาบจ้วงเกินทน

การล้อเลียนเสียๆ หายๆ ที่ลงว่าถ้าเจอกันเมื่อไหร่คงไม่แคล้วต้องมีการฟาดปากกันบ้าง

ไปจนถึงการให้ยืมเงินกันเพราะเชื่อในตัวตนของเฟซบุ๊กเพียงเพื่อจะมามีปัญหากับตัวตนในโลกจริงว่าอีกฝ่ายนอกจากจะไม่ยอมคืนเงินแล้ว ยังหนีหายไปง่ายๆ ทั้งจากในโลกจริงและโลกเสมือน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของเด็กน้อยหรือวัยรุ่นไม่ประสีประสา

แต่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่อย่างเราๆ คนที่โตๆ กันแล้ว มีอาชีพการงานมั่นคงนี่แหละ

บทจะพลาดก็พลาดกันได้ง่ายๆ ดื้อๆ เลยเหมือนกัน



มีบ้างบางคนที่สันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคติดไลก์ (Like) อาจเพราะชีวิตประจำวันไม่มีเวลา ไม่มั่นใจหรือไม่สะดวกใจจะพูดหรือแสดงความเห็นในหลายๆ เรื่องราว
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการเมือง (กรณีสมมติ) แต่ครั้นมาโพสต์ความเห็นในเฟซบุ๊กกลับพบว่าตัวเองมีคนมาแสดงความนิยมชมชื่น เห็นด้วย และเข้าอกเข้าใจผ่านการกดไลก์อย่างมากมายท่วมท้นมหาศาล เลยเกิดอาการติดว่าโพสต์อะไรก็ขอให้แรงไว้ก่อน
เรื่องอะไรในโลกหล้านี้ไม่มีความสำคัญเท่ากับความคิดเห็นอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวในประเด็นการเมืองอีกแล้ว เป็นต้น

ตกลงโลกไหนกันหนอคือโลกจริงของเรา?
โลกที่เราสร้างเองกับมือผ่านทางเฟซบุ๊ก ผ่านรูปที่เราเลือก สถานที่ที่เรากดเช็กอินว่าเราไปเยือน หรือคนจริงๆ กับสถานที่จริงๆ ที่แม้ไม่ได้น่าสนใจหรือเก๋ไก๋นัก แต่เราก็อยู่กับมันทุกวัน

โลกไหนมีค่าสมควรแก่การรักษาและให้ความสำคัญมากกว่ากัน
"เราจะทำสงครามด้วยความหลอกลวง" ตัวละครหนึ่งในหนังสือนวนิยายนักสืบที่ฉันชอบอ่านได้กล่าวไว้
เขาคือผู้นำองค์กรที่ปกครองสายลับนักจารกรรมที่พร้อมจะทำอะไรก็ตามแบบไม่เกี่ยงวิธีเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ


ถ้าแม้แต่บุคคลเล็กๆ เช่น พวกเรายังไหวสะเทือนและให้ความสำคัญต่อโลกเสมือนในไซเบอร์ได้ขนาดนี้ คงมิพักต้องเทียบเคียงกับโลกในระดับใหญ่กว่าให้เสียเวลา ว่าเครืองมือแห่งข่าวสารไซเบอร์จะเรืองฤทธิ์ทรงอิทธิพลได้มากถึงเพียงไหน

ขณะนี้โลกเราเป็นเช่นนี้แล้ว วิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จในวัตถุประสงค์มีมากขึ้น เราผู้เคยซัดกันด้วยหมัดต่อหมัด ดาบต่อดาบค่อยๆ เลือนลางจางหายไป

คงเหลือไว้แต่นักรบในโลกไซเบอร์ ผู้พร้อมจะฟาดฟันกันด้วยทุกความจริง ความลวง ความเสมือนจริง และสิ่งที่สร้างมาเพื่อประหัตประหารทางอารมณ์


* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"สงครามไซเบอร์" ( Cyber War) เขียนโดย ริชาร์ด เอ. คลาร์ก และ โรเบิร์ต คเนก แปลโดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์มติชน กุมภาพันธ์ 2555



++

ผลกระทบธรรมดา...
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 65


ข่าวเลดี้กาก้า จะเปิดแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทย โดยใช้สนามราชมังคลากีฬาสถานเป็นเวทีรองรับคลื่นมหาชน ประดาผู้คลั่งไคล้ ชื่นชมในความเก่ง กล้า บ้าบิ่น ของสุดยอดศิลปินแห่งยุค
ช่างมาได้ถูกที่ ถูกเวลา
เพราะผมว่า ใครต่อใครคงกำลังวิตกถึงอนาคตของสนามชามอ่างยักษ์ อาจจะร้างหรืออยู่ในสภาพโหรงเหรง หากจะใช้แข่งขันฟุตบอลระดับชาติ หลังจากทีมชาติไทยล้มเหลวไม่เป็นท่าที่ประเทศโอมาน
กับฟุตบอลโลกนัดวัดอนาคตแบบชี้เป็นชี้ตาย

วิลฟรีด เชเฟอร์ โค้ชชาวเยอรมัน เชื่อมั่นมั่นว่าโอกาสน่าจะเป็นของเรา
โอกาสที่ไม่แน่ว่า อีกเมื่อไหร่ถึงจะมีปัจจัยเอื้อให้เช่นนี้ได้อีก
โอกาสซึ่งหลุดลอยไปแล้ว เพราะสิ่งที่นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า เป็นปัญหาปลีกย่อยที่ส่งผลกระทบสำคัญ...
กระทบต่อศรัทธาของคนรักฟุตบอล ที่กำลังหรี่มอดจนอาจจะดับสนิทได้

ด้วยปัญหาปลีกย่อยในความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกของนายกสมาคมฯ ก่อเกิดและดำรงอยู่ยืดเยื้อยาวนาน กระทั่งเรื้อรังจนยากเยียวยา นำไปสู่ความล้มเหลวต่อเนื่องและซ้ำซาก
จากซีเกมส์ที่เวียงจันทน์ ถึงซีเกมส์ปาเล็มบัง จากเอชี่ยนเกมส์ปักกิ่ง ถึงฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน และถึงฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก
นั่นเป็นเวลา 5-6 ปีเข้าแล้ว

ทุกคราวล้มเหลวแบบไม่เป็นท่า ชนิดไม่ต้องพูดถึงเป้าหมายหรู ผลงานขี้เหร่
หากอยู่ในระดับต่ำสุด สูสีเสมอทีมมัลดีฟส์ และต้องตามตีเสมอทีมชาติลาว

ปัญหาปลีกย่อยซ้ำซากคือไม่พร้อม ไม่มีเวลาเตรียมความพร้อม ไม่บริหารจัดการให้เกิดความพร้อม กระทั่งโค้ชชื่อดังต้องเผ่นหนีอุตลุด ตั้งแต่ ปีเตอร์ รีด ไบรอัน ร็อบสัน กระทั่ง วิลฟรีด เชเฟอร์ ที่อยู่ในสภาวะหมิ่นเหม่พร้อมจะหันหลังให้

ผลอันเป็นความล้มเหลวขั้นนี้ ผู้คนโดยทั่วไปเขาต่างคิดและเชื่อว่า เป็นปัญหาใหญ่ ทำใจให้ยอมรับได้ยาก เป็นเรื่องอันควรละอาย



ท่านนายกสมาคมฯ มีคำอธิบายง่ายๆ ราบเรียบว่า ปัจจุบันลีกของเราโตขึ้นมาเร็ว ดังนั้น ย่อมมีผลกระทบถึงทีมชาติเป็นธรรมดา จากนี้เราต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบสากล...

ดูเหมือนท่านจะไม่เห็นว่า ปัญหาของความไม่พร้อม อยู่ที่การพยายามโดดเข้าไปอยู่ในเปลือกของความเป็นสากล ทั้งที่ฟุตบอลอาชีพเพิ่งก่อกำเนิดอยู่ในภาวะลองผิดลองถูก ดิ้นรนให้อยู่รอดและค่อยๆ พัฒนา กลับจัดรายการการแข่งขันมากมาย จนแทบไม่มีช่องว่างให้มีเวลาพักฟื้น ทบทวน สรุปและปรับปรุง นอกจากลีกซึ่งเป็นหลัก ยังมีฟุตบอลถ้วยสารพัด โปรแกรมชุกแบบยัดทะนาน

บางรายการยืดเยื้อเยิ่นเย้อ กว่าจะจบสิ้นได้ชูถ้วย นักฟุตบอลอยู่ในภาวะเดนตายสิ้นสภาพทุกคราไป

โดยเฉพาะดาวดังมักเดี้ยงเป็นทิวแถว

ในระยะการก่อเกิดและตั้งไข่ ควรยืนอยู่กับความเป็นจริงอันเหมาะสม สิ่งที่ต้องมุ่งเน้นจัดการให้เกิดขึ้นโดยเร็วไวคือ ฟุตบอลอาชีพต้องการความเป็นมืออาชีพ บุคลากรตัวหลักเช่นนักเตะจะต้องเข้าถึงให้ได้เป็นอันดับแรก
ผลักดันให้เกิดความพร้อมทั้งจิตสำนึกและสภาพร่างกาย
เพราะมีแต่คนแกร่ง ฟิตถึง จึงจะยืนระยะรับงานหนักต่อเนื่องยาวนาน ที่สำคัญความฟิตสมบูรณ์พร้อม จะช่วยลดทอนอาการบาดเจ็บจากการต้องเข้าปะทะ

ทัวร์นาเม้นต์ที่มีชุกและต่อเนื่อง ควรเป็นของระดับเยาวชน และรุ่นที่กำลังสร้างเสริมพัฒนา เพื่อยกระดับขึ้นมาใช้งานในลีกสูงสุด
พร้อมทุกด้านเมื่อไหร่ ค่อยปรับเพิ่มให้มีรายการแข่งขัน มากเทียบเท่าประเทศที่เขาพัฒนาฟุตบอลอาชีพ มาต่อเนื่องยาวนาน อยู่ในวิถีชีวิต
กระทั่งงอกงามกลายเป็นวัฒนธรรม


ในบางมุมของความล้มเหลวซ้ำซาก บางทีอาจมองได้ว่า เป็นแค่สิ่งปกติธรรมดา ความเป็นไปของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เป็นภาพย่อด้านหนึ่งของประเทศ

มาตรฐานของฟุตบอล อาจบอกถึงมาตรฐานของประเทศ

แต่เก่าก่อนภาพลักษณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของเราในฐานะของประเทศที่รอดพ้นจากเงื้อมมือมหาอำนาจนักล่าอาณานิคม เป็นหลักเป็นฐาน มีเกียรติภูมิ อยู่เหนือเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่วุ่นอยู่กับปัญหาสารพัน

เพราะขยับตัวอืดอาดเชื่องช้า บางคราวย่ำเท้ากับที่ จมอยู่ในปัญหาเดิมๆ ขณะประดาเพื่อนบ้านมุ่งมั่นพัฒนาจริง ค่อยขยับแซงหน้าขึ้นไปทีละชาติสองชาติ
กระทั่งไม่รู้ว่าจะอยู่ในสภาพไหน เมื่อถึงเวลาการรวมเป็นประชาคมชาติอาเซียน

เช่นเดียวกับฟุตบอลทีมชาติไทย ที่เคยยืนโดดเด่นมั่นคงในฐานะเจ้าอาเซียน ยาวนาน เป็นตัวเต็งของทุกรายการ นักเตะกลายเป็นสินค้าออก ได้รับความเชื่อถือในความสามารถ
หลายปีที่จมอยู่กับความผิดพลาดเดิมๆ คือไม่อาจบริหารจัดการให้เกิดความพร้อม ผันเปลี่ยนไปเป็นพร้อมจะถูกเขี่ยตกรอบแรกแบบไม่มีลุ้น

ภาพลักษณ์อันเคยเป็นที่ยำเกรง ไม่อาจข่มใครได้อีก

สิ่งนี้เป็นผลกระทบธรรมดา แต่เกิดจากปัญหาสำคัญและใหญ่เกินกว่าจะทำแค่ปลอบใจตัวเอง



+++

โซลอีตเตอร์ เล่ม 1 ว่าด้วยแท็บเล็ตและเด็กนักเรียน
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 75


โซลอีตเตอร์ ผลงานของ อัตสึชิ โอคุโบะ ลิขสิทธิ์ของสยามอินเตอร์คอมิกส์ วันนี้ออกถึงเล่ม 18 แล้ว เป็นเรื่องยาวและทำท่าจะยาวนานอีกเรื่องหนึ่ง
เล่าเรื่องทีมนักล่าวิญญาณ 3 ทีม มีภารกิจตามล่าวิญญาณ 99 ดวง และวิญญาณแม่มด 1 ดวง หากครบแล้วจึงจะได้เลื่อนชั้น
จะเห็นว่านี่คือพล็อต "โหล" ของการ์ตูนญี่ปุ่นสำหรับเด็กผู้ชาย นั่นคือต่อสู้ ต่อสู้ และต่อสู้เพื่ออัพเกรดคะแนน เลเวล และเก็บโบนัส คือโลกจำลองของเกม
แต่ไม่รู้ยังไง พวกเขาเขียนได้เขียนดีมีซับพล็อตน่าติดตามเสมอ


การ์ตูนแต่ละเรื่องยาวเกือบร้อยเล่มและแตกแขนงออกเป็นเรื่องราวข้างเคียงทั้งในรูปแบบของมังงะ อะนิเมะ มูฟวี่ และเกม หลายครั้งยังเขียนเนื้อเรื่องรับส่งกันระหว่างสื่อต่างๆ เหล่านี้อีกด้วย

ทีมที่หนึ่งคือเด็กหญิงมากะผู้ใช้เคียวและเคียวปิศาจโซลอีตเตอร์ มากะเป็นนักล่า โซลอีตเตอร์เป็นอาวุธของมากะ ทั้งสองทำงานเป็นทีมอย่างใกล้ชิดเพื่อเก็บเกี่ยววิญญาณตามออเดอร์

ทีมที่สองคือเด็กชายแบล็กสตาร์ผู้ใช้ศาสตรามืดและศาสตรามืดสาวเซ็กซ์สึบากิ

ทีมที่สามคือเดธเดอะคิดและปืนปิศาจสองสาวพี่น้องแพ็ทตี้กับริส เดธเดอะคิดนี้เป็นถึงลูกชายท่านยมทูตมีอาการย้ำคิดย้ำทำกับสรรพสิ่งที่สมมาตร

ดังนั้น เขาจึงหงุดหงิดกับสองสาวฝาแฝดที่ไม่เหมือนกันและเต้านมไม่เท่ากันเสมอๆ



หนังสือเล่มแรกเปิดตัวทีมนักล่าทั้งสามอย่างสนุกสนานทะลึ่งตึงตังตามขนบการ์ตูนญี่ปุ่น เหมาะสำหรับอายุ 15 บวก นี่คือเรื่องราวของอาวุธที่มีชีวิตและผู้ใช้อาวุธ โดยทั่วไปเรามักคิดถึงผู้ใช้อาวุธและอาวุธ แต่ถ้าอาวุธมีชีวิตเหมือนการ์ตูนชุดนี้จะพบว่าทั้งสองต่างใช้กันและกัน นักล่าใช้อาวุธขณะเดียวกันอาวุธก็ใช้นักล่าด้วย

แนวคิดเรื่องอาวุธใช้คนเป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้ว มีดและดาบกำหนดความคิด อารมณ์และพฤติกรรมของผู้ใช้ รวมถึงกำหนดศักดิ์ศรีและจริยธรรมของนักรบด้วย ปืนและปืนกลทำงานในลักษณะเดียวกัน ระเบิดมือและระเบิดปรมาณูก็เช่นกัน อาวุธเปลี่ยนไปใจคนใช้เปลี่ยนตาม

แนวคิดแบบนี้ไม่จำกัดเพียงเรื่องอาวุธแต่รวมถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทุกชนิดด้วย ก่อนโลกมีโทรศัพท์ มนุษย์ติดต่อกันด้วยจดหมาย ความเชื่องช้าของจดหมายนำมาซึ่งความละเมียดละไมของเนื้อหาในจดหมายและน้ำใจของบุรุษไปรษณีย์ บุรุษไปรษณีย์ในชนบทจะรู้ตัวดีว่ากำลังทำหน้าที่นำความรักความคิดถึงของผู้คนส่งผ่านหากัน

ต่อมาโลกจึงมีโทรศัพท์แบบมีสายและตู้โทรศัพท์สาธารณะ หากใครจะโทรทางไกลหาคนรักต้องแลกเหรียญเป็นกำๆ ไปยืนรอคิว

แล้วโลกก็มีสมาร์ทโฟนที่สามารถสื่อสารถึงคนรักได้หลากหลายวิธี คิดถึงโทร.ทันที หรือส่งเอสเอ็มเอส หรือแช็ตผ่านเฟซบุ๊กหรือวอตซ์แอปป์ ประเด็นคือสมาร์ทโฟนนั้นเองที่เปลี่ยนเรา แม้กระทั่งแบบฟอร์มทำงาน แบบฟอร์มทำงานสามารถเปลี่ยนสมองของผู้ใช้แบบฟอร์มด้วย แพทย์พยาบาลแผนปัจจุบันเป็นตัวอย่างหนึ่ง แพทย์พยาบาลใช้แบบฟอร์มในการซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกาย บันทึกผลตรวจเลือด เอ็กซเรย์ และอื่นๆ เราจึงรู้จักผู้ป่วยเพียงแค่ข้อมูลในแบบฟอร์มแต่เราไม่รู้จักทุกข์ผู้ป่วยเพราะไม่มีแบบฟอร์มให้กรอกความทุกข์ รวมทั้งความทุกข์ของคนรักของผู้ป่วย

เมื่อแพทย์พยาบาลใช้แบบฟอร์มเหล่านี้ทำงานไปนานๆ ในที่สุดสมองก็เลิกคิดถึงผู้ป่วยในฐานะที่เป็นคนหรือมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ จิตใจ ปูมหลัง ชุมชน และความยากลำบากที่เกิดจากการเจ็บป่วยหรือกระบวนการตรวจรักษาอีกต่อไป เพราะอะไรทั้งหมดที่ว่ามาไม่มีปรากฏในแบบฟอร์ม แบบฟอร์มก็ไม่อนุญาตให้เรารู้หรือทำงานโดยอาศัยข้อมูลอื่นด้วย

อะไรที่เราจับเราใช้ล้วนมีชีวิตของตนเองและสามารถบงการผู้ใช้ได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว



โซลอีตเตอร์นำเรื่องอาวุธที่มีชีวิตและผู้ใช้อาวุธมาเป็นแก่นของเรื่อง จะเห็นว่าอาวุธของนักล่าวิญญาณเป็นจุดสนใจมากกว่าตัวนักล่าเองเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นโซลอีตเตอร์ ศาสตรามืด หรือปืนปิศาจสองสาวก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อใครทำคะแนนได้ร้อยแต้มก็จะได้เป็น เดธไซส์ คืออาวุธของยมทูตอีกด้วย

ถ้าเด็กนักเรียนเป็นนักล่าความรู้ แท็บเล็ตที่ทุกคนกำลังจะได้ถือก็เป็นอาวุธ แท็บเล็ตเป็นอาวุธที่มีชีวิต หากเด็กๆ และแท็บเล็ตสามารถทำงานกลมกลืนประสานเป็นหนึ่งเดียว เด็กๆ จะพบว่าที่ทุกคนจะได้ มิใช่ "ความรู้" ซึ่งเรียนอย่างไรก็ไม่มีวันหมด ท่องอย่างไรก็ไม่ได้อะไรดีขึ้น แต่แท็บเล็ตจะนำทุกคนไปสู่ประตูแห่งการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด
ใช้แท็บเล็ตพัฒนาตนเองไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง


ท้ายเล่มหนึ่ง ยมทูตมีบัญชาให้มากะและโซลอีตเตอร์ กับแบล็กสตาร์และบาสึกิ ไปเก็บวิญญาณของซอมบีครูซิดและด๊อกเตอร์ (แฟรงเกน) สไตน์ หากทำไม่สำเร็จจะต้องถูกไล่ออกจากโรงเรียนนักล่าวิญญาณ เด็กๆ นักล่าเหล่านี้ยังต้องเรียนหนังสือและให้นำอาวุธไปเรียนหนังสือได้

ซอมบีครูซิดเคยเป็นคุณครูมาก่อนแต่กลายเป็นซอมบีไปเสียแล้วเพราะไม่รู้จักพัฒนาตนเอง โลกมาถึงศตวรรษที่ 21 แล้วแต่คุณครูยังคงสอนบนกระดานดำหน้าห้องเรียน สอนด้วยวิธีมอบความรู้ให้นักเรียนท่องมากๆ จดจำมากๆ ไปสอบปรนัย ซึ่งเป็นการศึกษาที่ล้มเหลวและนำไปสู่ความล้มเหลวของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยมทูตจึงสั่งให้เด็กๆ นำแท็บเล็ตไปปราบครูซอมบีเสียให้สิ้นซาก

แท็บเล็ตคืออาวุธที่จะช่วยให้เด็กๆ พัฒนาทักษะของศตวรรษที่ 21 ทั้งสามด้านคือทักษะการเรียนรู้ (learning skil) ทักษะชีวิต (life skill) และทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT skill)

อธิบายง่ายๆ ว่าแท็บเล็ตต้องไม่ใช่อุปกรณ์บรรจุแบบเรียนทุกเล่ม แต่มีไว้ให้นักเรียนสามารถค้นหาข้อมูลได้จากทุกแหล่งทั่วโลกจากทุกสถานที่และเวลา

เด็กๆ จะทำได้เมื่อได้คุณครูที่เข้าใจว่าแท็บเล็ตทำอะไรได้บ้าง ครูที่ไม่ยอมเข้าใจจะกลายเป็นซอมบีรอให้นักล่าล่าวิญญาณ

คุณครูสมัยใหม่มีหน้าที่มอบโจทย์ปัญหาให้เด็กๆ ได้ทำงานเป็นทีม แยกย้ายกันค้นหาข้อมูลแล้วนำมาถกเถียงกันเอง ถกเถียงกับครู ถกเถียงกับทุกคน ก่อนที่จะสรุปเป็นคำตอบซึ่งไม่มีผิดหรือถูก

ที่สำคัญกว่าผิดหรือถูกคือกระบวนการหาคำตอบ กระบวนการทำงานเป็นทีมและกระบวนการนำเสนอผลงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำได้ด้วยแท็บเล็ตทั้งสิ้น



เวลาเด็กๆ ถกเถียงกันเองหรือถกเถียงกับครูจะเป็น learning skill ที่มีค่า การท่องจำได้แต่ความรู้ การลงมือทำเองจึงจะเกิดปัญญา การถกเถียงยิ่งขยายปัญญา เราควรรื้อห้องเรียนและกระดานดำออกเพื่อให้นักเรียนได้เรียนนอกสถานที่ในชีวิตจริงด้วยการทำงานเป็นทีมจะช่วยให้เด็กมี life skill ที่ดีคือรู้จักมองอนาคต วางแผน แก้ปัญหา แก่งแย่งชิงดี เจรจาต่อรอง ประสานการทำงาน รู้จักยืดหยุ่นและรับผิดชอบ

นอกจากนี้ เด็กจะต้องฝึกการใช้ IT skill ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่รู้จักเสพข้อมูลข่าวสาร รู้จักไม่เชื่อและตั้งคำถาม ไปจนถึงรู้จักวิธีค้นหาข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายแล้วนำมาหลอมรวมเป็นคำตอบใหม่นำเสนอต่อสาธารณะด้วยเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ ทักษะสามประการนี้ทำได้ด้วยแท็บเล็ต

แท็บเล็ตจึงเป็นอาวุธของนักล่าที่กระจายอยู่ทุกโรงเรียนเต็มแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ภารกิจแรกของนักล่าคือครูซอมบี เพราะครูซอมบีเป็นครูพ้นสมัยที่ต้องกำจัดทิ้ง เบื้องหลังครูซอมบียังมีด็อกเตอร์สไตน์ซึ่งเป็นนักการศึกษาล้าหลังแต่กุมอำนาจ เหล่านักล่าต้องประสานการทำงานเป็นทีมเพื่อปราบเสียให้สิ้น

โซลอีตเตอร์เล่มหนึ่ง เริ่มต้นแล้ว


______________________________________________________________________________________________________




.