http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-06

วิกฤตหมอกควัน โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง/ ชุมชนท่าสะแล เรียนรู้เรื่องหมอกควันไฟป่า

.
บทเสนอ - "เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ" คำตอกย้ำที่มีนัยขัดขวางกระบวนการเป็นประชาธิปไตย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ธเนศวร์ เจริญเมือง: วิกฤตหมอกควัน
จาก www.prachatai.com/journal/2012/03/39510 . . Mon, 2012-03-05 10:23


ธเนศวร์ เจริญเมือง
ที่มา: โพสต์ในเฟซบุควันที่ 5 มี.ค. 55 โดยผู้เขียนอนุญาตให้ประชาไทเผยแพร่ต่อ

วิกฤตหมอกควันที่ต่อเนื่องนับเกือบสามสัปดาห์ สะท้อนให้สภาวการณ์สังคมไทยที่มีปัญหาใหญ่หลายประเด็น

1. รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเพียงชนะคะแนน แต่กุมอำนาจรัฐราชการไม่ได้ และต้องพะวงกับฝ่ายค้านในสภาและนอกสภา ทั้งพะวงเรื่องข่าวลือต่างๆ กระทั่งการชกใต้เข้มขัดของฝ่ายค้านและพวกสีเหลือง จึงพยายามทำงานระดับชาติให้ได้อยู่รอด แต่ยากที่จัดเวลามาทำงานในระดับท้องถิ่น

2. รัฐรวมศูนย์ที่มีมานานมาก แต่งตั้งคนไปเดินไปเดินมาในต่างจังหวัด รับเงินเดือนหลายหมื่น แต่ไม่แก้ไขปัญหาใดๆ กวาดแทบทุกปัญหาเข้าใต้พรม แล้วก็ย้าย ย้าย ปัญหาก็เลยไม่เคยได้แก้ไข ผมถามว่าวันนี้ ผู้ว่าฯ อยู่ไหน ทำอะไร นายอำเภอแต่ละอำเภอทำอะไร ควันเต็มบ้านเต็มเมือง พวกเขาทำอะไรกัน ใครรับผิดชอบบ้างตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไปที่ไหน ก็เห็นแต่ควัน มีแต่คนเผาาาาาาา ใครทำอะไร

3. นายก อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) หาเสียงจะมีเลือกตั้งใหม่ เดือนพฤษภาคมนี้ เคยพูดไหมว่าจะทำอะไร แน่นอน ในที่สุด นี่ก็คือ ความทับซ้อนของระบบผู้ว่าฯ แต่งตั้งกับนายกฯ อบจ. เลือกตั้ง แล้วตกลงใครรับผิดชอบปัญหาเหล่านี้ ก็โยนกันไปๆ มาๆ

และสุดท้าย 4. ภาคประชาสังคม อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ชาวบ้าน ชนชั้นกลาง สื่อ ก็เห็นกันอยู่ว่าควันเต็มเมือง ออกจากบ้านเห็นใครเผาอะไร เคยแวะลงไปดูไหม เคยถามไหม ถ่ายรูปไหม ทำเป็นข่าวไหม นายอำเภอ กำนัน ผญบ. ชมรมองค์กรต่างๆ ตำรวจ ครู พระสงฆ์ มหาวิทยาลัยต่างๆ หอการค้า กลุ่มผู้รักชาติ รักศาสนาต่างๆ ฯลฯ ตกลงมีใครค้นพบสาเหตุไหมครับว่า เราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร ไม่มีใครดับไฟตามข้างทางทั้งหลายได้เลยหรืออย่างไร คนรับผิดชอบปัญหาเหล่านี้คือใคร อยู่ที่ไหนบ้าง หรือจะต้องทำอย่างที่ รมว.สาธารณสุขว่า คือ อพยพออกไปจากจังหวัดนี้ เมืองนี้ ถ้าทุกฝ่ายไม่ช่วยกัน ในที่สุด ก็จะต้องทำแบบนี้ คือสำลักควันพิษที่เต็มเมือง แล้วล้มตายกันทั้งในบ้านและนอกบ้าน แล้วก็หนีกันอลหม่าน ซึ่งก็มีทางหนีทางเดียว ดังที่ได้พูดไปแล้วเมื่อคืน


วิกฤตควันพิษคลุมเมือง ทำร้ายประชาชนในช่วง 3 สัปดาห์มานี้ คือผลพวงของการทับซ้อนของหน่วยงาน ซึ่งไม่มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าใครต้องรับผิดต่องานนี้ ดีแต่สร้างภาพกันไป ขอคนนั้นมาช่วย คนนี้มาช่วย เป็นลูกคนช่างขอส่วนกลางมาช่วย ทั้งๆ ที่คนเผากันทั้งบ้านทั้งเมือง ควันลอยเต็มหมู่บ้าน ไม่เห็นมีใครทำอะไรได้ เรื่องนี้ ไม่เห็นต้องไปขอใครมาช่วย ก็ขนาดเราด้วยกัน ยังไม่ยอมแก้ไขปัญหาอะไรเลย ก็เผากันอยู่ทุกวัน ก็เห็นๆ กันอยู่นี่ เรายังไม่ทำอะไรเลย

ฉะนั้น 1. เราถึงต้องช่วยกันยกเลิกระบบราชการภูมิภาค ที่ไม่เคยรับผิดชอบต่อปัญหาใดๆ ให้ได้ เราจะย้ายเขาก็ไม่ได้ จะถามอะไร เขาก็ไม่เคยมาตอบเรา
2.
เหลือไว้แต่ระบบท้องถิ่นที่ผู้บริหาร อบจ. และเทศบาล และ อบต. มาจากการเลือกตั้ง ไปและมาโดยอำนาจของประชาชน ถ้ามีหมอกควันแบบนี้ แล้วแก้ไม่ได้ ไม่ยอมลงโทษคนเผา ไม่ออกมาจัดการปัญหาภายในสองสัปดาห์ ก็ออกไป เราก็หาคนใหม่มาทำงาน ระบบการจัดการปัญหาบ้านเมือง ต้องมีคนรับผิดชอบ และประชาชนจะต้องมีอำนาจเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ทนอยู่กันแบบนี้ แล้วก็บ่นๆ แซวกันไปมา เรื่องว่าจะต้องอพยพออกจากเมืองเมื่อใด จะไปตายกันที่ไหนได้บ้าง



++

รายงาน : เรียนรู้ชุมชนท่าสะแล เรียนรู้เรื่องหมอกควันไฟป่า
โดย ภู เชียงดาว ข้อมูลประกอบ : มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ใน www.prachatai.com/journal/2012/03/39532 . . Tue, 2012-03-06 21:17


ชาวบ้านท่าสะแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่ารวม 10,447 ไร่
ย้ำรักษาผืนป่าตึงผืนสุดท้ายเอาไว้ เพราะคือป่าอุดมสมบูรณ์ ชุมชนหาอาหารจากป่าได้ตามฤดูกาล และใบตองตึง ยังเป็นรายได้สร้างเศรษฐกิจชุมชนมหาศาล

ในขณะที่รัฐบาลรวมทั้งภาคประชาสังคมหลายภาคส่วนกำลังถกปัญหาเรื่องหมอกควันและไฟป่าที่กำลังก่อมลภาวะในหลายๆ พื้นที่ของภาคเหนือของไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว


ผศ.ดร.สุทธินี ดนตรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงสาเหตุสำคัญของปัญหาหมอกควัน ในเวทีแลกเปลี่ยนเรื่องการหาแนวทางการจัดการไฟป่าลดปัญหาหมอกควัน ห้องประชุม อาคารเครื่องกล2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า งานศึกษาวิเคราะห์สภาพอากาศและเฝ้าระวังการเกิดมลพิษทางอากาศ เมื่อปี 2551 โดยเจียมใจ เครือสุวรรณ และคณะ พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กใน จ.เชียงใหม่มีแหล่งกำเนิดจากไฟป่าและการเผาพื้นที่การเกษตรประมาณร้อยละ 50-70 จากเครื่องยนต์ดีเซลประมาณร้อยละ10 ที่เหลือเป็นฝุ่นละอองที่ถูกพัดพาจากแหล่งกำเนิดภายนอกเชียงใหม่ เช่นอุตสาหกรรมครัวเรือน ฝุ่นละอองจากถนน ยังไม่รวมถึงหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านในลาว พม่า เป็นต้น

ผศ.ดร.สุทธินี ดนตรี ยังกล่าวอีกว่า ผลการศึกษาพบว่า ปี2550 มีพื้นที่ร่องรอยการเผาสะสม 2,652,285 ไร่ และในพ.ศ.2553 มีพื้นที่ร่องรอยการเผาสะสม 2,962,329 ไร่ ส่วนพ.ศ.2554 มีภาวะลานิญ่า ทำให้ฝนตกมากกว่าปกติ การเผาไหม้จึงลดลงมาก ในปีที่พบสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันรุนแรงในปี2550และ2553เมื่อเปรียบเทียบลักษณะการกระจายตัวของพื้นที่เผาจากทั้งสามปี พบว่ามีรูปแบบการกระจายตัวที่คล้ายกัน โดยเฉพาะตามอำเภอที่มีภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง มีการใช้ที่ดินเป็นป่าผลัดใบและพืชไร่จำนวนมาก เมื่อนำร่องรอยการเผาทั้งสามปีมาซ้อนทับกันด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พบว่า มีอำเภอที่มีสัดส่วนพื้นที่เผามากที่สุดเฉลี่ยร้อยละ40 ของพื้นที่อำเภอขึ้นไป 9 แห่ง ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม ฮอด เชียงดาว อมก๋อย จอมทอง ดอยเต่า ฝาง แม่อาย และไชยปราการ

อำเภอฝาง ก็เป็นอีกหนึ่งอำเภอที่ถูกรายงานว่า กำลังก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

แน่นอนว่า ไม่ว่าพื้นที่ใดที่ถูกเปิดเผยจากทางการ หรือจากสื่อ ย่อมถูกมองไปในทางลบต่างๆ นานา

แต่เมื่อหันไปมองอีกมุมหนึ่ง กลับพบว่า ในความเป็นจริง ในหลายๆ พื้นที่ถูกกล่าวหานั้น หลายๆ ชุมชนเขากำลังเรียนรู้และป้องกันปัญหาหมอกควันและไฟป่ากันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับชาวบ้านชุมชนบ้านท่าสะแล ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่กำลังได้รับการยกย่องและกล่าวถึงในเชิงบวก...


เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ชาวบ้านชุมชนบ้านท่าสะแล ได้ร่วมมือกันทำแนวกันไฟ ที่ชุมชนร่วมกันจัดการดูแลรักษาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน รวม 10,447 ไร่ จากพื้นที่ครอบคลุมเขตปกครอง 14,447 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 2,000 ไร่ พื้นที่ทำกิน 3,800 ไร่ ทั้งนี้พื้นที่ป่าท่าสะแล มีแนวเขตติดต่อกับพื้นที่ ชุมชน หมู่บ้านใกล้เคียง ทิศเหนือติดต่อบ้านป่าแดงวิวัฒน์ (ชนเผ่าอาข่า) อ.แม่อาย ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่ที่ 12 บ้านโป่งถืบนอก (ลาหู่) ต.เวียงหวาย ทิศใต้ติดติดต่อกับบ้านหนองบัวคำ ตำบลแม่คะ อ.ฝาง ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลสันทราย อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่


ดูแลผืนป่าตึงผืนสุดท้าย นอกจากป้องกันไฟป่า ยังสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน
นายไตรภพ เปรื่องการ ชาวบ้านท่าสะแล และเป็นสมาชิกสภาอบต.เวียง อำเภอฝาง กล่าวว่า ด้วยสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่ของบ้านท่าสะแล เป็นพื้นที่ป่า ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าพลวง (ป่าตึง) ที่สมบูรณ์ที่สุดผืนหนึ่ง และคิดว่า คงเหลือแห่งเดียวของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนท่าสะแลและชุมชนใกล้เคียงในอีกหลายๆชุมชน ในการเข้ามาหาอาหารจากป่าตามฤดูกาล และใช้ประโยชน์ เช่น การเก็บเห็ด หน่อไม้ ผักป่า หาฟืน ไม้ใช้สอย ที่สำคัญการอาศัยผืนป่า เป็นแหล่งรายได้ในการเก็บใบตองตึงมา แปรรูป จักรสาน ที่เรียกว่า ไพตองตึง

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าพลวง ที่เหลือเพียงเดียวในเขตลุ่มน้ำฝาง เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งทุกปี ชุมชนบ้านท่าสะแล ทุกหลังคาเรือนรวม 95 ครัวเรือนช่วยกันในการทำแนวกันไฟ ป้องกันไฟป่า เพราะเราเห็นความสำคัญของป่าผืนนี้

นางหลง สายคำอ้าย ชาวบ้านบ้านท่าสะแล ที่มาร่วมทำแนวกันไฟครั้งนี้ กล่าวว่า มาทำแนวกันไฟทุกปี ปัญหาไฟป่าลดลงบ้าง ปัญหาหมอกควัน หมอกควันก็มาก หากถามว่า สาเหตุมาจากไฟป่าหรือไม่ คงมีบ้าง หากไม่จัดการดูแลรักษาป่า ผืนป่าก็คงจะเสียไป อย่างน้อยชาวบ้านที่นี่มีอาชีพในการเก็บใบตองตึง

หากไฟป่าลุกลามเข้ามา ชาวบ้านก็ช่วยกันพากันไปดับไฟ นำโดย สสอ.และร่วมกับชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวัน กลางคืน การมาทำแนวกันไฟครั้งนี้ มีการจัดแบ่งกันเป็นหมวดหมู่ กระจายไปตามผืนป่าที่ชาวบ้านดูแล


ในขณะที่นายรัตน์ บุญชาญ ประธานประธาน สสอ. และส.อบต.บ้านท่าสะแล ได้กล่าวถึงที่มาของการทำแนวกันไฟว่า ที่ผ่านมา เป็นฤดูกาลทำแนวกันไฟ ห้ามชาวบ้านไม่ให้เผาป่า ปีนี้อบต.สนับสนุนค่าอาหารและน้ำดื่ม ชาวบ้านระดมกันทำทุกปี

การที่มีหมอกควันในขณะนี้ คงจะเกิดไม่แต่ชาวบ้านเท่านั้น เพราะช่วงนี้ชาวบ้านยังไม่ได้เผาอะไรเลย อาจจะเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ อย่างพื้นที่ป่าไม้ที่ดูแลทุกวันนี้ ไม่มีการเผา มีการตั้งเวรยามคอยดูแล จัดกลุ่มอาสาสมัครรักษาป่าลาดตะเวน เฝ้าระวัง เพราะช่วงนี้ ชาวบ้านเก็บเกี่ยวผลผลิตตองตึงไปไพตอง และเป็นรายได้ของชุมชน” นายรัตน์ บอกเล่าให้ฟังถึงเรื่องปัญหาหมอกควัน

นายรัตน์ยังเผยอีกว่า การเก็บใบตองตึงมาเป็นรายได้ จะช่วยลดปริมาณใบไม้ที่หล่นลงมา ซึ่งหากทับถมมากขึ้นก็อาจกลายเป็นเชื้อไฟไหม้ป่าเพิ่มมากขึ้น

การเก็บใบตองตึงไปทำไพตองนั้นจะลดปริมาณใบไม้ที่หล่นลงมาในเขตป่าตองตึง ลดไฟได้ระดับหนึ่ง เพราะปีหนึ่งๆไพตองตึงขายออกไปจากหมู่บ้านปีหนึ่งๆเป็นล้านๆไพ สร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชน ไม่เพียงแต่เฉพาะหมู่บ้านท่าสะแลเท่านั้น รวมไปถึงหมู่บ้านใกล้เคียง ชาวบ้านได้ประโยชน์จากป่าอย่างมาก ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีความหวงแหน หากไฟเกิดขึ้นที่ไหน ชาวบ้านร่วมกันดับ ไม่ให้ลุกลามไปที่อื่น หากลุกลามไป จะทำให้สูญเสียเศรษฐกิจของชุมชนในการเก็บใบตองตึงมาไพขาย” นายรัตน์ บอกเล่าให้ฟังจนเห็นภาพและความสำเร็จของการดูแลป่าผืนนี้ได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม มักมีเสียงสะท้อน ประเด็นคำถามที่สังคมไทยมักตั้งคำถาม โดยเฉพาะคนในเมือง ที่มักตั้งคำถามและบางคนถึงกับฟันธงว่า คนดอยคือตัวปัญหา ทำให้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

ที่คนในเมืองอาจจะมองว่า มาจากพี่น้องบนดอย พี่น้องที่อาศัยอยู่กับป่าเผาป่า แต่ถ้ามาเห็นจะรู้ว่าชาวบ้านได้เฝ้าระวังเต็มที่ ไม่ให้เกิดขึ้น ณ วันนี้ พี่น้องชาวบ้าน คณะกรรมการร่วมกันจัดทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า แบ่งออกเป็น 3 ชุดเพราะพื้นที่รับผิดชอบมีมากถึง 10,000 กว่าไร่ ระยะทางไม่ต่ำกว่า 5 กม. โดยใช้เส้นถนนเป็นแนวกันไฟ ถนนเป็นแนวที่เฝ้าระวัง ทุกวันต้องเปลี่ยนเวรยามป้องกันไฟป่า มาทำกิจกรรมร่วมกัน


นอกจากนั้น หลายคนชอบตั้งคำถาม การที่ชาวบ้านมาร่วมกันทำแนวกันไฟ จะช่วยลดปัญหาไฟป่าได้หรือไม่

นายรัตน์ บุญชาญ ประธานประธาน สสอ. และส.อบต.บ้านท่าสะแล บอกย้ำอย่างจริงจังว่า “การทำแนวกันไฟ จะช่วยลดปัญหาไฟป่าได้มาก ดูได้จากพื้นที่ป่าหมื่นกว่าไร่ที่เราดูแลกันในขณะนี้ ยังไม่เป็นปรากฏการณ์ ไฟป่าเกิดขึ้น พี่น้องที่เข้าไปในป่า หาตองตึง เฝ้าระวังในตัวอยู่แล้ว รวมทั้งพี่น้องที่เข้าไปเลี้ยงสัตว์ในป่า ก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาส่วนหนึ่ง และนอกจากนั้น ในช่วงเย็นๆ เราจะมีขบวนคาราวานรถจักรยาน เมื่อเห็นไฟ ก็จะแจ้งกับทางคณะกรรมการหมู่บ้านและร่วมกันไปดับไฟ

ตัวแทนชาวบ้านท่าสะแล ยืนยันอีกว่า แม้ว่าในขณะนี้ผืนป่าที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลยังไม่เกิดไฟป่า แต่ถึงอย่างไร ทุกคนก็พร้อมจะช่วยกันเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในช่วงเดือนก.พ.ไปจนถึงเดือน เม.ย. และพี่น้องเข้าไปใช้ประโยชน์เก็บใบตองตึงในการนำตองไปแปรรูปตองตึงเพื่อนำไปคลุมต้นสตอเบอรี่

ย้ำหากทุกชุมชนทำแนวกันไฟจะช่วยลดปัญหาหมอกควันได้
ตัวแทนชาวบ้านท่าสะแล บอกอีกว่า หากมีการทำแนวกันไฟทุกหมู่บ้าน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่กับป่า จะช่วยลดปัญหาหมอกควันลงมาอย่างมาก และหากทำพร้อมกันทุกพื้นที่ จังหวัด ที่มีป่าชุมชนก็จะสามารถลดปัญหาหมอกควันลงได้เช่นกัน จึงขอฝากทางจังหวัด ซึ่งมักจะไม่เข้าใจว่า ชาวบ้านเผา แท้จริงชาวบ้านไม่ได้เผา แต่ร่วมกันจัดการดูแลรักษา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อาจจะสภาพดิน ฟ้าอากาศ หรืออุณหภูมิที่ต่ำลง

ส่วนการห้ามเผา ทางหมู่บ้านได้รณรงค์ร่วมกับอบต. ในการทำป้ายรณรงค์ และทำป้ายตามระเบียบกติกาของชุมชน ห้ามเผา หากพบเห็น ก็จะมีปรับตามระเบียบของชุมชน ส่วนการรณรงค์ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อโปสเตอร์ และมีป้ายไว้เป็นจุดๆ ตามสามแยก สี่แยกของชุมชน

เผยชาวบ้านเฝ้าระวังเต็มที่ ไม่ให้มีการเผาป่า
พื้นที่เกษตร ยังไม่ฤดูกาลที่จะเตรียมพื้นที่ จะเลยช่วงเมษายนไป ส่วนใหญ่พื้นที่จะไม่ค่อยมีการเผา เนื่องจากเป็นพื้นที่เดิม ที่ราบลุ่มน้ำ การเผาเบาบาง ไม่รุนแรง อาจจะไม่เหมือนพื้นที่อื่นๆ เพราะป่าอนุรักษ์กับพื้นที่ทำกิน ได้จัดทำกันเขตชัดเจนแล้ว ไม่มีการบุกรุก หากมีการบุกรุกจะมีการจับกุม ป้องปรามกันไว้

ขอให้พี่น้องในเมือง เบาใจได้ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากไฟป่า หรือการเผาพื้นที่เกษตร เพราะช่วงนี้ยังไม่มีการเผา แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร ประเทศใกล้เคียงเราหรือไม่ ที่พัดพาเข้ามา หรือปรากฏการณ์ทางอากาศ นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องถกกันต่อไป แต่ขอยืนยันว่า พื้นที่ป่าชุมชนเวียงด้ง 6 หมู่บ้าน ที่มีผืนป่าขนาดใหญ่ ช่วงนี้ไม่มีการเผา ยังคงดูแลรักษา เฝ้าระวังกันอยู่” ตัวแทนชาวบ้านท่าสะแล ยืนยัน

ในขณะนายพรมพิริยะ รัตนมงคลชัย ตัวแทนชาวบ้านสันทรายคองน้อย และเป็นสมาชิกสภาอบต. หมู่ที่ 6 ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงที่มีผืนป่าติดกับบ้านท่าสะแล ก็ได้มีโอกาสไปร่วมทำแนวกันไฟกับพี่น้องบ้านท่าสะแล ได้กล่าวว่า บ้านสันทรายคองน้อย มีการแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นโซนพื้นที่ และกระจายออกไปในการจัดการ โดยเฉพาะคนที่มีแนวเขตพื้นที่ทำกินติดกับพื้นที่ป่า จะทำแนวกันไฟของตนเอง แต่พื้นที่ป่าที่ป่าส่วนรวม ซึ่งมีพื้นที่ป่า 600 ไร่ ทางคณะกรรมการป่าจะร่วมกันออกไปทำแนวกันไฟ ซึ่งเป็นวิธีการแบ่งการจัดการ ไม่ได้ทำเฉพาะคณะกรรมการ แต่สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน จิตสำนึกให้รักพื้นที่ป่า ร่วมกับพื้นที่ทำกินของตนเองควบคู่ไปด้วย พื้นที่ทำแนวกันไฟ รวม 200 ไร่ แต่พื้นที่ป่ามีมากถึง 700 ไร่ ปีที่ผ่านมาไฟป่าเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ เนื่องจากมีการกันไว้บางส่วน บางพื้นที่ เจ้าของพื้นที่ก็มีการชิงเผาไปก่อนนี้แล้ว

การทำแนวกันไฟ จะช่วยลดปัญหาไฟป่าได้มาก เมื่อทำแนวกันไฟแล้ว คนที่ไปเสาะว่าหากินในป่าก็ช่วยเป็นหูเป็นตา รวมทั้งคนที่มีไร่ สวนติดกับพื้นที่ป่า ช่วยในการสอดส่องดูแลด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องกฎระเบียบ อาศัยกฎระเบียบกฎหมาย หรือคำสั่งที่ออกมา ส่วนกฎที่ควบคุมในหมู่บ้านไม่มีโดยตรง และได้ผลน้อยอยู่” นายพรมพิริยะ บอกเล่าให้ฟัง

สาเหตุหนึ่ง ปัญหาหมอกควันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
ตัวแทนชาวบ้านสันทรายคองน้อย บอกอีกว่า อีกสาเหตุหนึ่งของหมอกควันที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เกิดจากสาเหตุไฟป่า จากประเทศเพื่อนบ้าน ตามแนวเขตติดต่อจากประเทศพม่า บริเวณอำเภอแม่อาย เมื่อมีลมพัดพาเข้ามาในเขตไทยอากาศไม่สามารถไปไหนได้ มีส่วนอยู่บ้าง และเกินความสามารถของชุมชนที่จะแก้ไขได้


ต่อกรณีที่คนในเมืองมักกล่าวหาคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเป็นตัวก่อปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

นายพรมพิริยะ กล่าวว่า คนในเมืองจะโทษคนอยู่กับป่า ฝ่ายเดียวก็คงไม่ใช่ เพราะคนอยู่ในเมืองก็มีส่วนเหมือนกันและ เกิดขึ้นได้มาก และทำให้ก่อมลพิษเป็นประจำด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นถนน ควันพิษ หรือธูปเทียนจากพิธีการต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องรถยนต์

ในพื้นที่อำเภอฝางเช่นกัน เริ่มมีการใช้รถมากขึ้น ฉะนั้น อยากเสนอว่า การใช้รถ อยากให้ปรับปรุงระบบการเผาไหม้เครื่องยนต์ให้ดีขึ้น สมรรถภาพรถดีขึ้น การเผาธูปเทียน ปรับเปลี่ยนลดลง เช่นในงานศพ จุดธูปเทียนมีทุกวัน ทำเป็นประจำ ไปเห็นบางพื้นที่กำลังจะปรับเปลี่ยนอยู่บ้าง ในเรื่องของการแจกธูปโดยไม่มีไฟ แต่ก็ไม่มากนัก

ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านอำเภอฝาง ได้มีข้อเสนอทางนโยบาย เรื่องการจัดการไฟป่า ว่า ทางบ้านเมืองต้องเอาจริงจัง ลงมาเข้าถึงชุมชน ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่อย่างจริงจัง มากำหนด วางแผนร่วมกับชุมชนว่าจะทำอย่างไร โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น เพราะทั้งสองส่วน มีทั้งอำนาจและงบประมาณ

ในส่วนของท้องถิ่นมีบทบาทในการสนับสนุน การรณรงค์ไฟป่า ปีที่ผ่านมา ก็มีการให้งบประมาณในการจัดการไฟป่า 7 หมู่บ้าน และการอบรม ให้ความรู้ทุกปีแก่คณะกรรมการหมู่บ้าน ในส่วนของฝ่ายปกครอง ทางอำเภอรู้สึกว่า จะไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก แต่ก็มิได้หมายความว่า ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะทำโดยลำพัง ทุกส่วนต้องร่วมมือกัน ในเรื่องไฟป่า หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ส่วนแนวทางจากนี้ไปของเครือข่ายเวียงด้ง คือ เราจะต้องทำแนวเขตให้ชัดเจน ว่าแต่ละหมู่บ้าน แนวเขตถึงไหน เพราะจะได้แบ่งเขต แบ่งความรับผิดชอบในการจัดการได้ดียิ่งๆ ขึ้น”ตัวแทนชาวบ้านอำเภอฝาง กล่าวถึงการหาทางออกของปัญหาร่วมกัน.



+++

"เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ" ตัวการขัดขวางกระบวนการเป็นประชาธิปไตย
โดย นายปฐมพงศ์ มโนหาญ นักศึกษาปริญญาโทภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในเว็บไซต์ ประชาไท . . Sun, 2012-03-04 15:22


ชุดความรู้คำอธิบายต่อปัญหา “หมอกและควัน” ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีของทุกปี มักจะมีคำอธิบายเดิมๆ ซ้ำๆ เช่นไฟป่าตามธรรมชาติ[1] ไฟจากน้ำมือมนุษย์ และแน่นอนว่าปรากฏการณ์ไฟจากน้ำมือมนุษย์น่าจะเป็นชุดความรู้คำอธิบายที่เกิดขึ้นหลังจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชนบท ซึ่งอย่างน้อยก็เข้มข้นและหนักหน่วงขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา[2] ชุดความรู้คำอธิบายจากช่วงเวลาดังดังกล่าวก็อาจมาจาก “วาทกรรมการพัฒนา”[3] ด้วย ที่ได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้ผู้คนในสังคมเป็น 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่ม “คนในเมือง” ซึ่งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมหรือพื้นที่เจริญกว่าคนอีกกลุ่มคือ “คนชนบท” ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เกษตรกรรม

ภาคเหนือและภาคอีสานกลายเป็นพื้นที่ๆ ถูกจัดวางไว้ในเขตชนบท แม้ว่าปัจจุบันชนบทจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม แต่ในจินตนาการของ “คนชั้นกลางในเมือง” ชนบทก็ยังเป็นชนบทแบบในละครอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ในความเป็นจริงถึงแม้ว่าพื้นที่ในภาคเหนือและภาคอีสานจะเป็นเขตเกษตรกรรม แต่ก็ไม่ใช่การทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม (ที่ทำเพื่อยังชีพ) เพราะพวกเขาที่เป็นเกษตรกรจะต้องข้องเกี่ยวกับทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนต้องคำนวณต้นทุนอย่างเป็นระบบ และอีกอย่าง พืชเงินสด (cash crops) ทั้งหลาย ที่ปลูกกันในภาคเหนือภาคอีสานก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่สะท้อนความต้องการบริโภคแบบสังคมสมัยใหม่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในการผลิตโปรตีนจากสัตว์ และน้ำตาลก็เป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอาหารอีกหลากหลายชนิดที่ตอบสนองต่อความต้องการการบริโภคแบบสมัยใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงบอกได้ว่าภาคเหนือและภาคอีสานคือพื้นที่รองรับการผลิตอาหารเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของ “คนในเมือง” ที่ไม่สามารถผลิตอาหารเองได้

“การเผา” เพื่อผลิตพืชเงินสดทั้งหลาย ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการตอบสนองการบริโภคแบบสังคมสมัยใหม่ที่คำนวณต้นทุนการผลิตอย่างดีแล้วว่า “คุ้มค่า” มากที่สุด อย่างน้อยก็ในระบบคิดของเกษตรกรซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับระบบคิดของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป

“คนชั้นกลางในเมือง” ที่อ่อนไหวต่อปัญหานี้ตามหลักสากล หรือไม่ก็อ่อนไหวเพราะรู้สึกว่าขาดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไป 2 พื้นที่ หรือพวกเขาแกล้งลืมไปว่าพวกเขาก็เป็นต้นตอของปัญหา ซึ่งพวกเขาเป็นแหล่งกำเนิดของอุปสงค์ต่อสินค้าที่สนองตอบต่อรูปแบบการบริโภคสมัยใหม่ จึงทำให้พวกเขาหลับหูหลับตาและเชื่อว่าสาเหตุหลักของการเกิดหมอกควันคือเป็นเพราะชาวบ้าน “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ว่าเป็นสาเหตุหลัก

“เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ช่างเป็นคำอธิบายถึงสาเหตุควันไฟที่ดูถูกวิถีชีวิตของคนเหนือและอีสานจริงๆ ในที่นี้ไม่แน่ใจว่าคำกล่าวอ้างนั้นเป็นจริงหรือไม่ แต่ดูโดยเหตุผลแล้วมันไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดหมอกควันได้เลยเพราะจากรูปที่1 ภาพถ่ายแสดงพื้นที่ไฟป่าปีพ.ศ.2545 – 2550

รูปที่ 1 ภาพถ่ายแสดงพื้นที่ไฟป่าปี พ.ศ.2545 – 2550[4]
จากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวในระยะเวลาห่างกัน 5 ปีการเกิดไฟป่ากินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมากจากปีพ.ศ.2545 – 2550 จึงทำให้เกิดคำถามว่า ในเมื่อสังคมใน 5 ปีมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การบริโภคแบบสมัยใหม่ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น แล้วการบริโภคในรูปแบบสมัยใหม่เข้มข้นขึ้นมันจะกระตุ้นอุปสงค์ต่อของป่าอย่างผักหวานและเห็ดเผาะให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร? จนทำให้ชาวบ้านเกษตรกรซึ่งก็มีรูปแบบการผลิตที่ใช้ทุนเข้มข้นขึ้นทุกวันรู้สึกว่าการเผาเพื่อหาของป่านอกฤดูทำนามันคุ้มค่าได้อย่างไรในเมื่ออุปสงค์ต่อรูปแบบการบริโภคสมัยใหม่เพิ่มขึ้น? คำตอบในขั้นต้นคือ อุปสงค์ต่อของป่าน่าจะลดลงตามความเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง ดังนั้น “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” จึงไม่น่าจะใช่สาเหตุหลักแน่นอน แต่การเผาเพื่อผลิตพืชเงินสดเช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยยังจะฟังมีเหตุผลมากกว่า

ดังนั้นจึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วทำไมคำอธิบายว่า “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” เป็นสาเหตุหลักของหมอกควันในปีพ.ศ.2555 จึงยังคงมีน้ำหนักอยู่? ดังเช่นคำอธิบายที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นจากแหล่งข่าวหนึ่งว่า

“อธิบดีกรมคบคุมมลพิษชี้สาเหตุคนเผาป่าภาคเหนือเพื่อหาเห็ดเผาะและเก็บผักหวาน หากไม่เผาผักหวานจะไม่แตกยอด เผยปัญหาหมอกควันเริ่มลดลง แต่นิ่งนอนใจไม่ได้ กำชับผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดกวดขันเต็มที่”[5]

ข้อความจากแหล่งข่าวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคำอธิบาย “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” อาจเกิดขึ้นในหัวของเจ้าหน้าที่รัฐหรือเป็นสมมติฐานเบื้องต้นที่เชื่ออย่างสนิทใจว่าชาวบ้านเกษตรกรเป็นตัวปัญหาเนื่องจากพวกเขาไม่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่มีความรู้ในเรื่องการเกษตร และไม่คิดถึงผู้อื่นหรือคิดแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นต้นดังข้อความจากแหล่งข่าวหนึ่งดังนี้

“…มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลและป้องกันไฟป่าในเขตภาคเหนือมาให้ความรู้ว่า สาเหตุที่เกิดไฟไหม้ป่าหลายจุดทั่วไปในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง มีสาเหตุหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักมาจากคนท้องถิ่นบุคคลเหล่านี้ทำมาหากินอยู่กับการทำไร่ทำนาที่ติดกับป่าเขา เมื่อหมดหน้าไร่นาย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง คนเหล่านี้จะออกหาของป่ามาขายอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านต้องการคือยอด ผักหวาน ที่เกิดขึ้นตามความเชื่อของชาวบ้าน คือภายหลังจากไฟไหม้ป่า... แต่ในความเป็นจริงนั้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าแม้ไม่มีไฟไหม้ป่าผักหวานก็ถอดยอดเมื่อมีฝนตกหลังฤดูแล้งอยู่ดี แต่ความรู้นี้บอกให้ตายก็ยังถอนความเชื่อผิดๆ ออกจาสมองชาวบ้านไม่ได้ จนเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่รู้จะทำยังไง ก็ได้แต่ระวังป้องกันและให้ความรู้กันต่อไปจนกว่าความรู้เรื่องผลเสียหายของการเผาป่าจะเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน…”[6]

ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะทำลายความเชื่ออัน “หนักแน่น” ดังกล่าวได้ ยิ่งคำอธิบายนั้นๆ ออกมาจากปากของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นผู้ที่มี “ความรู้” และ “ใกล้ชิดกับปัญหา” นอกจากนั้นคำอธิบายในหัวของ “คนชั้นกลางในเมือง” พวกเขาก็ยิ่งเชื่ออย่างสนิทใจว่า พวกคนชนบทชอบเผา เมื่อผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมปีพ.ศ.2553 ที่มีเหตุการณ์เผากลางเมือง ด้วยอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจต่อคนชนบทเดิมที่มีอยู่แล้วว่าเป็นพวก “โง่ จน เจ็บ” ป่าเถื่อน และ ไร้ “วุฒิภาวะทางการเมือง” ก็ยิ่งทำให้พวกเขาพร้อมที่จะโยนความผิดให้กับคนเหนือและอีสานว่าเป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศ

ประกอบกับหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคมปี พ.ศ.2554 ได้มีการแสดงความคิดเห็นในเครือข่ายเฟสบุคของนักศึกษาระดับปริญญาเอกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษต่อผลการเลือกตั้งผ่านรูปภาพเปรียบเทียบระหว่าง GDP ต่อหัว หรือ (GDP per capita) กับจำนวนที่นั่ง ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมปีพ.ศ.2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส.เป็นเสียงข้างมากดังรูปที่2 GDP ต่อหัวเปรียบเทียบกับจำนวนที่จำนวนที่นั่ง ส.ส. (หมายเหตุ: สีแดงคือพรรคเพื่อไทย สีฟ้าคือพรรคประชาธิปัตย์ และสีน้ำเงินเข้มคือพรรคภูมิใจไทย)


รูปที่ 2 GDP ต่อหัวเปรียบเทียบกับจำนวนที่นั่ง ส.ส.[7]

จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยเท่ากับพื้นที่ๆ มี GDP ต่อหัวต่ำ นั่นก็คือพื้นที่ภาคเหนือกับภาคอีสาน หากนำรูปที่1 กับรูปที่2 มาเทียบกันก็จะเห็นว่าพื้นที่ๆ เกิดไฟป่ากับพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยคือพื้นที่ๆ เดียวกัน จึงทำให้มีถ้อยคำแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดของเสรีไทย (webboard.serithai.net) ในหัวข้อชื่อกระทู้ “เชียงใหม่ วันนี้” โดย 1[8] 26 กุมภาพันธ์ 2555 20:07 ซึ่งมีคำอธิบายเกี่ยวกับหมอกควันเชื่อมโยงกับ “อคติทางการเมือง” เข้าด้วยกันดังข้อความที่จะยกมาต่อไปนี้

“1 : พอดีมีธุระด่วนที่เชียงใหม่ เกี่ยวกับผักของโครงการ ได้เห็นสภาพของป่าไม้ นั่งดื่มกาแฟกับเพื่อนที่ริมเขื่อนแม่กวง เห็นไฟไหม้ป่า จึงถามมันว่าไฟมาจากไหน ชาวบ้านเผา เพราะต้องการให้หวานมันแตกยอด เพราะคิดอย่างนี้จึงเลือกทักษิณ... คิดแต่ผลประโยชน์สั้นๆ วันนี้ แต่วันหน้าต้องแลกกับอะไรไม่สนใจ

1 : ชาวบ้านอีสานก็คิดเหมือนกัน ป่าสงวนที่เป็นป่าเต็งรังที่ชาวบ้านเข้าถึงโดนเผาก็เพราะเหตุผลนี้ ต้นไม้ในป่าเต็งรับโดนไฟลวกจะใบร่วงแล้วแตกใบใหม่ ไม้พื้นล่างของป่า ส่วนใหญ่จะเป็นต้นเพ็ก (เหมือนต้นไผ่แต่สูงประมาณเอว) พอไหม้เตียนแล้วจะเดินหาของป่าสะดวก

2 : ตายห่ายกจังหวัดเลยก็ได้ครับ ผมจำได้ม่ะเหตุการณ์เผาเมือง ผมเรียนอยู่เค้าเดินถือขวดเอ็ม 150 มาพร้อมน้ำมัน มาหน้าตึกเรียนพิเศษแล้วยามถามว่ามาจากไหนกันเนี๊ย เค้าบอกว่ามาไกลจากเชียงใหม่แน่ะ เค้าบอกว่ามาเพื่อความยุติธรรม ผมล่ะเห้อสมองเน้อ สมอง

3 : แรงไปครับ อย่างเหมารวมดิครับเชียงใหม่ฉลาดๆ ก็มีนะครับ

4 : แดงควายเยอะ ถนัดเรื่องเดียว เรื่องเผา อ้ายโปก อยากตาย

1 : ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม้วเนรมิตทีมบอลเชียงใหม่ให้ (ทั้งที่มันทำแมนซิร่อแร่ คิดดู) ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม้วโยกเงินมาลงทุนรถไฟไปเมืองจีนให้ (ระวังจะเหมือนโครงการถมทะเล ป่านนี้ไปลงหลุมไหนแล้วล่ะ) ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม้วจะสร้างความเจริญทดแทนให้ (ทุ้ยยยย) เบื่อจะเคลียร์ อ่อนเพลียจะพูด หน้าผมเป็นตรูดทุกครั้งที่พูดถึงไอ้แม้วมัน

5 : ต้องขอโทษคนเหนือที่ยังเป็นคนอยู่ ผมและครอบครัวหลงใหลเชียงใหม่และภาคเหนือ ปีหนึ่งๆ ต้องไปไม่ต่ำกว่าสี่ครั้ง แต่ละครั้งจะพักหลายวันเพราะมีที่พักดีๆ เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วไม่ได้ไปเลย เพราะไม่ชอบแนวความคิดนิยมเผาบ้านเผาเมืองและเห็นการจาบจ้วงสถาบันฯ อย่างเปิดเผย คนที่เคยหลงใหลภาคเหนือเป็นเหมือนผมหลายคน คงมีคนนิยมเผาฯ หลายคนพูดว่าไม่เห็นต้องง้อให้ผมไปเที่ยวเชียงใหม่เลย ซึ่งผมก็ว่าไม่ผิดอะไรเพราะเป็นท้องที่ของท่าน แต่ที่อยากจะฝากบอกคือเงินที่มันได้มาง่ายๆ มักหมดเร็ว ไม่ว่าจะมีบางตระกูลหยิบยื่นให้เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือการลงทุนเผาป่าให้ได้ผักหวานและให้เดินเข้าไปเก็บของป่าโดยสะดวกที่จะหมดไปพร้อมเงินคือความรู้ผิดชอบชั่วดี ถึงตอนนั้นจะไม่มีใครสงสารเห็นใจ”[9]


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแม้แต่คำอธิบายที่ว่า “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ก็ได้กลายเป็นสาเหตุหลักของหมอกควันซึ่งเต็มไปด้วยความรู้สึกเหยียดหยามราวกับว่าประเทศเรายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตหาของป่าล่าสัตว์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และนอกจากนั้นคนกลุ่มดังกล่าวยังเป็นฐานเสียงให้กับพรรคการเมืองที่พวกเขา (คนชั้นกลางในเมือง) “ไม่รัก

อคติทางการเมืองเหล่านี้ใช่หรือไม่? ที่ทำให้เรายังไม่เข้าใจกันและเป็นตัวการสำคัญในการกลบเกลื่อนปัญหาที่แท้จริงของหมอกควันอันจะทำให้ภาครัฐและสังคมเข้าใจและร่วมกันแก้ปัญหาอย่างตรงจุด อีกทั้งปัญหาหมอกควันจากการชุดความรู้คำอธิบาย “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ยังเป็นคำอธิบายที่ตลกร้ายซ่อนนัยขัดขวางความเป็นประชาธิปไตยซึ่งควรจะเป็นสังคมที่มนุษย์มองมนุษย์ด้วยกันอย่างมีคุณค่าเท่าเทียม


* * * * * * * * * * * * * * * *

[1] เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากสภาพอากาศในช่วงต้นปีค่อนข้างจะแห้งประกอบกับป่าไม้สะสมเชื้อเพลิงไว้ในตัวเองในระดับ แต่สาเหตุนี้เหมือนกับว่าถูกลืมไป และถูกกลบเกลื่อนด้วยคำอธิบาย “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ”
[2] โปรดดู ผาสุก พงษ์ไพจิตร คริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่: ซิลค์วอร์ม. 2546, หน้า 65 ตารางแสดงเนื้อที่ปลูกพืชไร่แยกรายภาคปีพ.ศ.2493 – 2542 แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเนื้อที่ปลูกไร่เช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปลูกอ้อยในภาคเหนือและภาคอีสาน ขยายตัวในอัตราที่ก้าวหน้าหากเทียบกับภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปีพ.ศ.2523/2524 เป็นต้นมาถึงปีพ.ศ.2542 ในที่นี้ไม่มีตัวเลขใกล้เคียงกับปัจจุบันแต่คาดว่าอาจมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น
[3] วาทกรรมการพัฒนาของไทยเกิดขึ้นในทศวรรษ 2500 เป็นต้น ซึ่งมีผู้ผลิตคำอธิบายและเริ่มจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้กับคนในสังคมเป็น 2 กลุ่มดังกล่าวคือพระยาอนุมานราชธนวิเคราะห์จากงาน สายชล สัตยานุรักษ์. ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สกว. 2550, หน้า 309 - 455
[4] ไฟมา-ป่าหมด ไฟป่าปี 50 รุนแรงที่สุด...มีหลักฐาน [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/84281 (3 มีนาคม 2555)
[5] แฉสาเหตุใหญ่เผาป่าภาคเหนือหวังหาเห็ด-ผักหวาน (จริงไหมครับ?) [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา Chttp://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=191754.0 (3 มีนาคม 2555)
[6] ฤาจะเผาป่าเพียงเพราะให้ได้ผักหวาน !!!! [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=409798 (3 มีนาคม 2555)
[7] จากเฟสบุคของนักศึกษาระดับปริญญาเอกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการแชร์ลิงค์กันหลังผลการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคมปีพ.ศ.2554
[8] นามสมมติ
[9] เชียงใหม่ วันนี้ [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา เสรีไทย (3 มีนาคม 2555)


....................................................................................

อ่านต้นฉบับ ที่ www.prachatai.com/journal/2012/03/39505
ซึ่งมีข้อความ-ความคิดเห็นท้ายบท ...ตัวอย่าง

Submitted by ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ (visitor) on Sun, 2012-03-04 18:06.

ในฐานะที่ดิฉันเป็นคนจุดประกายให้มีการแก้ไขเรื่องคุณภาพอากาศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ทำวิจัยและรณรงค์อย่างเข้มข้นมาในช่วง พ.ศ. 2547-2550 ขอชี้แจง เืพื่อให้เข้าใจโดยทั่วกัน ดังนี้

ในอดีต มีการเผาในที่โล่งทั้งในเมืองและชนบท แต่ตอนนี้ การเผาในเขตเทศบาลต่างๆนับว่าดีขึ้นมาก
เพราะมีการออกเทศบัญญัติ ปรับและดำเนินคดีผู้เผาขยะ และใบไม้กิงไม้ในเขตเมือง

เมื่อ พ.ศ. 2548 มีคนพยายามเผาป่าแถวแม่เหียะ เืพื่อให้เป็นป่าเสื่อมโทรม จะได้ขอเอกสารสิทธิ์ได้ง่าย ซึ่งไม่แน่ใจว่า เป็นออเดอร์ของใครหรือเปล่า และปีก่อนหน้านั้น มีชายคนหนึ่ง อยากจับเขียดแลว จึงเผาป่าดอยสุเทพเสียโชติช่วง

แต่ยังมีปัญหาการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่ชนบท ไม่ใช่เฉพาะในเชียงใหม่และภาคเหนือ
ในปีนี้ มีการเผาในภาคเหนือตอนล่าง เช่น ที่กำแพงเพชร จำนวนกว้าง เคยมีกรณีที่พิษณุโลเผาพื้นที่เกษตรจำนวนหลายร้อยไร่ใช้เวลา 3 วันกว่าหมอกควันจะลอยมาถึงเชียงใหม่ ถ้าดู hot spot ในช่วงเวลานี้ (ข้อมูลที่ใช้ พ.ศ. 2550 เก่ามากไป) จะเห็นจุดสีแดงทั้งในและนอกประเทศ จุดนี้ กินพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร คิดดูก็แล้วกันว่าื เป็นพื้นที่มากมายมหาศาลเพียงใดที่ถูกเผาทำลาย

บริเวณชายขอบของประเทศก็มีการเผาอย่างดุเดือด เหตุการณ์นี้เริ่มรุนแรงขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เมื่อมีการรณรงค์ให้ปลูกพืชน้ำมันเืพื่อทำไบโอดีเซล ผู้ประกอบการชาวไทย (ไม่รู้ว่าสังกัดพรรคไหน แต่เป็นบริษัทใหญ่มาก) ก็ไปส่งเสริมให้คนในชนบท และเพื่อนบ้าน ทั้งพม่าและลาวเผาป่า เปิดพื้นที่เืพื่อปลูกพืชน้ำมัน

รัฐบาลพม่าเองก็ส่งเสริมให้ปลูกสบู่ดำ เส้นทางจากแม่สายถึงเชียงตุง (บริเวณอื่นๆคงมีอีก แต่ไม่ได้ไปเห็นกับตา) จึงมีแต่ร่องรอยของการเผาป่าเพื่อเปิดพื้นที่ ทั้งหมดนี้ เืพื่อสนองความต้งอการของผู้ดีในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ขับรถยนต์ และคิดว่าตัวเอง "สีเขียว" (Green) เสียเต็มที่ ในการหันมาใช้แกสโซฮอล หรือไบโอดีเซล แต่หารู้ไม่ว่า ตนเป็นผู้เร่งให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆมากมาย

การเผาในพื้นที่ป่า อาจมาจากความสะเพร่าของคนในเมืองเองก็ได้ เมื่อหลายวันก่อน มีรายงานว่า เกิดไฟไหม้กองใบไม้บริเวณหลังคณะสื่อสารมวลชน ใน มช กว่้าเจ้าหน้าที่จะไปดับไฟใช้เวลานานมาก ไฟลุกลามขึ้นไปบนดอย กว่าจะดับ ใช้เวลา 3 วัน ทำให้เมืองเชียงใหม่ทั้งเมืองเต็มไปด้วยหมอกควัน

แต่ที่เกิดขึ้นทุกปี และมีคนตั้งข้อสังเกตก็คือ มีการเผาเื่พอให้ได้งบดำเนินการ ไปทางแม่ริม เชียงดาว ฝาง ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พื้นที่ที่ถูกเผาบางทีอยู่ข้างถนน ซึ่งไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่กันไฟ เพราะมีถนนกันอยู่แล้ว แต่จะถูกเผานานมาก และดูชั้นความสูงของพื้นที่แล้ว ไม่ใช่พื้นที่ที่ผักหวานกับเห็ดถอบจะขึ้นได้ ดังนั้นการกล่าวหาชาวบ้านเรื่องเผาเอาเห็ดเอาหน่อในขณะนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์
เพราะเมื่อกลางเดือนที่แล้ว ไปฝาง มีการเผาทั้งวันทั้งคืน เห็นอนาคตชัดเจนว่า ต่อไปคงเป็นสวนส้ม เพราะละแวกนั้นเป็นสวนส้มหมด ไม่มีเห็ดถอบให้เก็บแน่นนอน

อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การเผาเอาเห็ดเอาผักหวานนั้นมีจริง แต่เป็นระดับชั้นความสูงที่ไม่มาก เป็นลักษณะป่าแพะ ไม่ใช่ป่าทึบ เขาไม่ได้เผาเพื่อให้เห็ดขึ้น แต่เพื่อเข้าไปเก็บง่าย เพราะพื้นที่โล่งดี แต่เนื่องจากเห็ดมีราคาแพง จะเผาเฉพาะแห่งก็จะเป็นที่สังเกตของคนอื่น จึงเผาเป็นบริเวณกว้าง เราอย่าทำเป็นว่าเหตุการณ์อย่างนี้ไม่มีเลย เมื่อมันเป็นอย่างนี้ ก็เป็นหน้าที่ที่คนในเมืองต้องหาทางเพาะเห็ดถอบให้ได้ จะได้ไม่ต้องไปคอยของป่า

การเผาป่าเพื่อทำเกษตรของชาวบ้านก็ไม่ใช่ไม่มี แต่เขาจะเผาเมื่อฝนเริ่มโปรยแล้ว เพราะถ้าเผาตอนหน้าแล้งก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น ก่อนจะประนามชาวบ้านก็ต้องหาข้อเท็จจริงให้แน่ชัดก่อน ไม่ใช่เหมารวม

แต่ที่แน่ๆ มลพิษทางอากาศ ซึ่งสะสมเป็นหมอกควันเวลานี้ มาจากการเดินทางด้วยเครื่องบินจำนวนมาก ที่ร่อนลงเชียงใหม่ และเมืองอื่นๆในภาคเหนือ หากจะช่วยกันลดปัญหา ก็งดการมาเถอะค่ะ ข้าราชการ และนักการเมือง ทั้งหลายก็ไม่ต้องมาช่วงนี้บ่อยหรอกค่ะ มาทำให้ปัญหาเพิ่มเปล่าๆ

องค์กรที่รับงบมารณรงค์เพื่อแก้ปัญหา ก็กรุณาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพนะคะ มันมาจากภาษีของประชาชนทั้งนั้น และโปรดจำไว้ว่า ทุกลมหายใจเข้าออกของพวกเรา ก็ถูกบั่นทอนให้อายุสั้นลงจากมลพิษเหล่านี้แหละค่ะ

ฯลฯ



.