.
การปรับเปลี่ยนที่น่าจับตา ในโลกอาหรับและตะวันออกกลาง
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1610 หน้า 40
การลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับที่นิยมเรียกชื่อว่าฤดูใบไม้ผลิอาหรับ (Arab Spring) นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนโลกอย่างหนึ่ง เป็นสัญญาณว่า ระเบียบโลกเก่าไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ ในขณะนี้จึงเกิดการต่อสู้ทั้งในด้านการรักษาระเบียบโลกเดิม และการผลักดันให้เกิดระเบียบโลกใหม่ขึ้น ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและรุนแรงมาก ถึงขั้นเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามใหญ่ในโลกได้
มีการปรับเปลี่ยนที่น่าจับตาหลายประการในโลกอาหรับและมหาตะวันออกกลางดังนี้
การลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับกับอิทธิพลกลุ่มอัลกออิดะห์
มีนักวิจารณ์หลายคนเห็นพ้องกันว่าการลุกขึ้นสู้นี้ ทำให้อิทธิพลโดยเฉพาะทางอุดมการณ์ของกลุ่มอัลกออิดะห์ลดลง บางคนกล่าวว่า ฤดูใบไม้ผลิอาหรับก็คือฤดูใบไม้ร่วงของอัลกออิดะห์ ในความหมายว่าโลกอาหรับได้ก้าวพ้นอิทธิพลของอัลกออิดะห์หรือกลุ่มหัวรุนแรงและสงครามจีฮัดไปได้แล้ว
ก่อนหน้านั้นดูเหมือนว่าอัลกออิดะห์เป็นผู้เดียวที่ให้คำตอบและแนวทางปฏิบัติให้พ้นจาก "การปกครองรวบอำนาจ ฉ้อฉลและสนับสนุนโดยสหรัฐ"
แต่บัดนี้ได้มีแนวทางใหม่แล้วที่ดูได้ผลและไม่ใช้ความรุนแรง มีบางบทความเสนอไว้ดังนี้
(1) การล้มระบอบปกครองอาหรับที่มากด้วยคอร์รัปชั่นจะกระทำได้ด้วยความรุนแรงเท่านั้น ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ปรากฏว่าไม่ได้ผลในประเทศอาหรับใดเลย ขณะนี้ขบวนเคลื่อนไหวของมหาชนอย่างสันติปราศจากอาวุธสามารถล้มระบอบปกครองที่มีความมั่นคงมากที่สุดถึง 2 แห่งคือตูนิเซียและอียิปต์
(2) กลุ่มอัลกออิดะห์เสนอว่าถ้าจะสร้างกระแสข่าวได้ก็มีแต่ต้องอาศัยการก่อการร้ายขนาดใหญ่เท่านั้น รวมทั้งการเข่นฆ่าประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่การลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับสามารถเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกโดยที่ไม่ต้องทำเช่นนั้น
(3) กลุ่มอัลกออิดะห์อ้างว่า กระทำไปในนามของชาวอาหรับและมุสลิมที่ถูกกดขี่ แต่ขบวนการมหาชนอาหรับที่ประกอบด้วยคนหนุ่มสาว เน้นเรื่องเสรีภาพ ศักดิ์ศรี และประชาธิปไตย ไม่ได้เรียกร้องให้จัดตั้งรัฐอิสลามแบบอัลกออิดะห์ ที่ต้องการนำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และเป็นสงครามต่อต้านตะวันตก ขณะที่ขบวนการประชาชนประกอบด้วยภาคส่วนที่หลากหลาย ทั้งเป็นโลกวิสัยและจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม มีสตรีที่เข้าชุมนุมประท้วงสวมกางเกงยีนและที่สวมผ้าคลุมศีรษะ
(4) กลุ่มอัลกออิดะห์แบ่งโลกเป็น 2 ส่วน คือที่เป็นพวกเราและไม่ใช่พวกเรา การปฏิวัติอาหรับชี้ว่าโลกนี้ไม่จำต้องแบ่งเป็น 2 ขั้วเท่านั้น สื่อตะวันตกบางครั้งก็ยืนอยู่ข้างชาวอาหรับและชาวมุสลิมที่ยืนขึ้นประท้วงได้ (ดูบทความของ Khaled Hroub ผู้นี้เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางสื่อในอ่าวอาหรับและโครงการสื่ออาหรับ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชื่อ The Arab Spring and Al Qaeda 's Irrelevance ใน commongroundnews.org 100511)
อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นว่ากลุ่มอัลกออิดะห์อาจปรับตัวให้เข้าสถานการณ์และยังคงรักษาอิทธิพลทางอุดมการณ์ของกลุ่มต่อไปได้
อนึ่ง มีข่าวว่ากลุ่มติดอาวุธอัลกออิดะห์ได้เข้ายึดเมืองสำคัญทางตอนใต้ของเยเมนคือเมืองซินจิบาร์ไว้ได้ (รายงานข่าวชื่อ Al Qaeda Group Said to Take Over Major Yemeni City ใน latimes.com 300511) ทิศทางอยู่ที่การขยายตัวของชาตินิยมอาหรับผสมอิทธิพลศาสนา
บทบาทโดดเด่นของสตรีอาหรับ
สตรีอาหรับนั้นมีภาพลักษณ์เป็นช้างเท้าหลังภายใต้การปกครองของชาย สาละวนอยู่แต่กิจการในบ้านเรือน ไม่รู้เรื่องของการเมือง จำนวนมากไม่รู้หนังสือ ถูกกีดกันอย่างหนักไม่ให้ออกไปทำงานนอกบ้าน
แต่การลุกขึ้นสู้อาหรับได้เปลี่ยนภาพลักษณ์เหล่านี้ไป เมื่อสตรีอาหรับได้กลายเป็นพลังที่เข้มแข็งยิ่งในการต่อสู้
ในประเทศที่มีการเปิดเสรีแก่สตรีอย่างเช่นที่ตูนิเซีย สตรีที่ได้รับการศึกษาสูงได้เป็นกลุ่มแรกที่แสดงความไม่พอใจ และเป็นแกนสำคัญในการลุกขึ้นสู้
ที่บาห์เรน สตรีเป็นคลื่นลูกแรกที่รวมตัวชุมนุมที่จตุรัสมุก (Pearl Square) กลางนครหลวง บางคนไปพร้อมกับลูก เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง
ที่อียิปต์ หน่วยสตรีเป็นกำลังสำคัญในการยึดจตุรัสตาห์รีร์เป็นศูนย์กลางการชุมนุมประท้วง
ที่ลิเบีย สตรีได้เป็นหน่วยกำลังสำคัญในการลุกขึ้นสู้ที่เมืองเบงกาซี และต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางของฝ่ายกบฏ
ในซีเรียและเยเมนที่ค่อนข้างเป็นแบบอนุรักษ์ ต้องใช้เวลานานหน่อย กว่าสตรีจะเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เมื่อประธานาธิบดีซาเลห์ ประกาศว่าสตรีไม่ควรเข้ามาร่วมประท้วงกับชายเนื่องจากผิดกฎอิสลาม ก็ปรากฏว่ามีสตรีนับจำนวนพันออกสู่ในท้องถนนเพื่อแสดงว่าประธานาธิบดีผิด
สตรีที่เข้าร่วมการต่อสู้นี้ปฏิบัติหน้าที่หลายประการ ได้แก่ การช่วยรักษาพยาบาล นำผู้ได้รับบาดเจ็บไปดูแลที่บ้านเนื่องจากกลัวได้รับอันตรายหากไปรักษาตามโรงพยาบาล ทำหน้าที่หุงหาอาหาร หาผ้าห่ม ร้องเพลง ขึ้นปราศรัย
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การมีบทบาทสูงในการลุกขึ้นสู้ ไม่ได้หมายความว่าจะก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศขึ้นมาได้ เนื่องจากการลุกขึ้นสู้นี้ เนื้อหาใจกลางไม่ได้อยู่ที่เพศภาวะ (ดูบทความชื่อ Arab Women Take Centre Stage ใน gulfnews.com 240411)
ถึงกระนั้น บทบาทที่สูงเด่นและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมทำให้ฐานะทางการเมืองของสตรีดีขึ้นไม่มากก็น้อย และกล่าวกันว่าสิทธิสตรีย่อมเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งของความเป็นประชาธิปไตย
สตรีที่เข้าร่วมการต่อสู้ต้องเผชิญกับการขัดขวางและถูกกลั่นแกล้งอย่างรุนแรง แม้กระทั่งจากชายที่ร่วมประท้วง พวกเธอถูกเจ้าหน้าที่ ทุบตี ยัดเข้าคุก และมีจำนวนหนึ่งหายสาบสูญไป
มีข่าวว่าทหารอียิปต์มีการนำสตรีที่จับได้จากการเข้าร่วมประท้วง ไปตรวจเยื่อพรหมจรรย์ว่ายังบริสุทธิ์หรือไม่ อ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าถูกข่มขืน ทั้งมีข่าวว่าเธอถูกบังคับให้เปลื้องผ้าและให้ทหารชายถ่ายภาพ
การปฏิรูปที่อืดอาด
หลังภาวะปั่นป่วน มักต้องการความสงบเรียบร้อยกลับคืนมา การรักษาความสงบเรียบร้อยกล่าวในด้านหนึ่งก็คือการรักษาสถานะเดิม ซึ่งไม่เอื้อต่อการปฏิรูปนัก
ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนว่าชนชั้นนำอาหรับที่ยังกุมกลไกรัฐ เครือข่ายทางเศรษฐกิจ และสื่อมวลชน ก็ดูไม่เร่งร้อนในการปฏิรูปทางการเมืองเท่าใดนัก
เช่น การเลือกตั้งในตูนิเซียที่กำหนดในเดือนกรกฎาคมก็เลื่อนไปเดือนตุลาคม ทั้งยังมีข่าวสร้างกระแสขึ้นว่า ฝ่ายทหารคงยอมรับไม่ได้ถ้าหากกลุ่มเคร่งศาสนาจะได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล แม้จะมีการปฏิเสธภายหลังก็ตาม
ส่วนที่อียิปต์นั้น ดูเป็นที่เห็นชัดขึ้นทุกวันว่านอกจากประธานาธิบดีมูบารักออกจากตำแหน่งแล้ว ทุกอย่างก็เหมือนเดิม การร่างรัฐธรรมนูญยังอืดอาด
ซ้ำยังเกิดปัญหาต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟเพื่อช่วยกู้เศรษฐกิจอีก
สงครามกลางเมือง
ในเยเมน ลิเบีย และซีเรีย
การลุกขึ้นสู้อย่างสันติได้แปรสู่สงครามกลางเมืองในหลายประเทศคือ เยเมน ลิเบีย และซีเรีย ซึ่งทั้งสามกรณีพบว่าสหรัฐ-นาโต้ มีปฏิบัติการที่ต่างกันไป
โดยที่ลิเบียสหรัฐ-นาโต้ เข้าร่วมฝ่ายกบฏอย่างออกหน้าออกตาเพื่อโค่นล้มระบอบกาดาฟี
ที่ซีเรียใช้ไม้แข็งทำนองเดียวกันแต่ไม่แรงเท่า ทั้งรัสเซียขัดขวางไว้ เนื่องจากไม่พอใจปฏิบัติการของสหรัฐ-นาโต้ ในกรณีลิเบีย
ส่วนที่เยเมนนั้นมีลักษณะปล่อยให้กลุ่มรัฐอ่าวอาหรับเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ เพราะสหรัฐ-นาโต้ได้ร่วมกับประธานาธิบดีซาเหล์แห่งเยเมนในการต่อสู้กลับกลุ่มอัลกออิดะห์สาขาเยเมนมาหลายปี
ในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ก็ยังมีข่าวสหรัฐใช้โดรนล่าสังหารผู้นำอัลกออิดะห์คนสำคัญในเยเมน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์บานปลายไปทุกที ก็เริ่มมีความหวั่นเกรงว่าความปั่นป่วนนี้จะขยายวงเข้าไปสู่ซาอุดีฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบสูงต่อการผลิตน้ำมัน
กรณีลุกขึ้นสู้ในเยเมนนั้นมีความขัดแย้งใหญ่อยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นการต่อสู้แย่งอำนาจภายในชนชั้นนำโดยมีซาเลห์ซึ่งเป็นตระกูลที่คุมอำนาจบริหารอยู่ กับอัล-อาห์มาร์ซึ่งเป็นอีกตระกูลหนึ่งที่คุมอำนาจทางรัฐสภาและเศรษฐกิจ
อีกส่วนหนึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการคนหนุ่มสาวเพื่อประชาธิปไตยดังที่เกิดขึ้นในประเทศอาหรับอื่น การต่อสู้ 2 กระแสนี้ เดิมร่วมกัน ภายหลังแยกจากกันและดูเหมือนว่าความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำจะกลายเป็นเรื่องหลัก ทั้ง 2 ฝ่ายนี้อยู่ในชนเผ่าฮาซิดที่ถือนิกายชีอะห์ ขณะที่ชาวเยเมนส่วนใหญ่ถือนิกายซุนหนี่
ดังนั้น แม้ว่าซาเลห์จะเสียอำนาจไปเนื่องจากบาดเจ็บจากระเบิด แต่การต่อสู้ของขบวนการหนุ่มสาวเพื่อประชาธิปไตยยังคงดำรงอยู่ (ดูบทความของ Gwynne Dyer ชื่อ Yemen: After Saleh, What? ใน commondreams.org 050611)
สำหรับลิเบียนั้น การลุกขึ้นสู้ทางสังคมได้กลายเป็นการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ เริ่มแรกก็เกิดจากการขัดแย้งในชนชั้นนำ โดยกลุ่มที่กุมกำลังทหารตำรวจส่วนหนึ่ง ไปตั้งเป็นเหมือนรัฐบาลอิสระที่เมืองเบงกาซีทางด้านตะวันออกของประเทศที่มีสำรองน้ำมันมาก
สงครามนี้กลายตัวไปเมื่อสหรัฐ-นาโต้เข้าข้างฝ่ายกบฏอย่างเปิดเผย โดยใช้เรื่องมนุษยธรรมและประชาธิปไตยเป็นข้ออ้าง แต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเรื่องของน้ำมันและเงินจำนวนมหาศาลของกาดาฟี
มีนักข่าวประเภทเจาะลึกเคยได้รับรางวัลพูลลิตเซอร์ของสหรัฐชี้ว่า กาดาฟีทำให้บรรษัทน้ำมันตะวันตกหัวปั่น เพราะการทำสัญญาน้ำมันทุกครั้งกาดาฟีจะเรียกเงินร้อยละ 20 ของมูลค่าสัญญา ซึ่งซัดดัมแห่งอิรักตอนเรืองอำนาจยังเรียกเพียงร้อยละ 10 (ดูคำสัมภาษณ์ชื่อ Seymour Hersh: Despite Intelligence Rejecting Iran as Nuclear Threat, U.S. Could Headed for Iraq Redux ใน democracynow.org 030611)
ไม่ทราบว่าข่าวเจาะนี้จะเป็นจริงเพียงใด แต่ทั้งหมดก็ดูจะเป็นในทำนองว่าเกิดจากเงิน ส่วนการสู้รบในซีเรียนั้นฝ่ายรัฐบาลดูยังจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และการแทรกแซงจากภายนอกคือสหรัฐ-นาโต้ น่าจะกระทำได้ยากกว่ากรณีลิเบีย
การที่การลุกขึ้นสู้ทางสังคมอย่างสันติได้ผันแปรเป็นสงครามกลางเมืองได้ถึง 3 ประเทศ สะท้อนถึงความอ่อนแอของรัฐบาลในภูมิภาคนี้ ในการทนทานต่อการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอก และการลุกขึ้นสู้จากมวลชนภายในสถานการณ์การเมืองในภูมิภาคนี้จึงค่อนข้างล่อแหลมมาก
การลุกขึ้นสู้อาหรับ
กับการผลิตน้ำมันของโลก
น้ำมันแพงดูเป็นสิ่งที่รัฐบาลโลกกังวล การลุกขึ้นสู้อาหรับยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีก เช่น ในเฉพาะหน้าการผลิตน้ำมันวันละ 1.3 ล้านบาร์เรลที่ลิเบียต้องหยุดไป แต่นั้นก็นับว่าไม่มากเมื่อเทียบกับซาอุดีฯ ที่ผลิตได้วันละราว 8.7-8.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบหากการลุกขึ้นสู้ยังลามต่อไป มี 2 ประเด็นที่น่าติดตามในเรื่องนี้ก็คือ
1) เพื่อที่จะขยายการผลิตน้ำมัน ซาอุดีฯ จำต้องลงทุนเป็นเม็ดเงินมหาศาลในการขุดเจาะน้ำมันชนิดหนัก ที่คุณภาพไม่ดีนัก (Heavy Oil) ที่ยังคงเหลืออยู่ แต่สืบเนื่องจากการลุกขึ้นสู้ ดูเหมือนว่า ซาอุดีฯ น่าจะนำเงินไปใช้เพื่อสร้างงานในโครงการรัฐต่างๆ หรือใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเพิ่มผลประโยชน์แก่ผู้ตกงาน รวมทั้งสร้างบ้านราคาถูกสำหรับผู้คนทั่วไป รวมทั้งไปซื้ออาวุธ มากกว่า
2) ซาอุดีฯ ดูจะมีอิทธิพลลดลงในกลุ่มโอเปก ดูได้จากการประชุมกลุ่มโอเปกในต้นเดือนมิถุนายน 2011 พบว่า
(ก) กลุ่มซาอุดีฯ มีกาตาร์ คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่รับรองฝ่ายกบฏในลิเบีย แต่ก็ไม่สามารถนำฝ่ายนี้เข้ามาเป็นตัวแทนของประเทศลิเบีย แทนรัฐบาลกาดาฟีได้
(ข) ซาอุดีฯ ไม่สามารถโน้มน้าวให้สมาชิกโอเปกอื่น ยอมรับการเพิ่มการผลิตน้ำมันได้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีฯ กล่าวว่า "มันเป็นการประชุมที่ย่ำแย่ที่สุดที่เราเคยมีมา" (chinadaily.com 100611)
การเปลี่ยนแปลงในโลกอาหรับและตะวันออกกลางย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-การเมืองโลกอย่างลึกซึ้ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
บทความก่อนหน้านี้ของ อนุช ที่กล่าวถึง เหตุหนึ่งที่ทำให้กระแสฯปะทุ คือ วิกฤติเงินเฟ้อ,ขาดแคลนอาหารและน้ำมันแพง อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/anu-spr.html
++
สงครามที่ลิเบีย : การเบียดขับระหว่างสหรัฐและจีน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 39
สงครามที่ลิเบียมีผู้เล่นหลายฝ่าย กล่าวได้ว่าทั่วโลกร่วมแสดงด้วย ตั้งแต่สหรัฐ-นาโต้ ไปจนถึงรัสเซีย จีน อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ ตุรกี กลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ ไปจนถึงองค์กรข้ามชาติอย่างเช่น สหภาพแอฟริกาและสันติบาตอาหรับ
เรื่องจึงมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ซับซ้อนมาก และมีคำอธิบายเหตุการณ์นี้หลายชุดตามจุดยืนของผู้แสดง
เช่น สหรัฐ-นาโต้ เห็นอย่างหนึ่ง รัสเซีย-จีนเห็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น
ก่อให้เกิดความสับสนเป็นอันมาก ว่าคำอธิบายชุดไหนถูกต้อง จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะค่อนข้างเด็ดขาด เพราะว่าเรามักใช้คำอธิบายของผู้ชนะเป็นหลัก
ซึ่งคงต้องใช้เวลาไม่น้อย เพราะแม้ขับ กาดาฟี ผู้นำลิเบีย ออกไปได้ตามประสงค์ของสหรัฐ-นาโต้ ก็ไม่ใช่ว่าฝ่ายสหรัฐจะสามารถมาบงการควบคุมภูมิภาคนี้ได้เด็ดขาด
เนื่องจากสงครามที่ลิเบียมีผู้แสดงจากทั่วโลก มีคู่ความขัดแย้งหลายคู่ แต่ในทางสากลปัจจุบันมักให้ความสนใจความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ที่กำลังมีข่าวว่าจะผงาดขึ้นมาแทนที่สหรัฐ
เช่น กล่าวกันว่าขนาดเศรษฐกิจของจีนจะใหญ่เท่าหรือใหญ่กว่าของสหรัฐในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้เอง
และการเบียดขับระหว่างสหรัฐกับจีนที่ลิเบีย และตลอดจนถึงทั้งทวีปแอฟริกาก็ดูเป็นเรื่องจริงและน่าจับตาไม่น้อย เมื่อนางคลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้นำคณะใหญ่เยือนหลายประเทศเมื่อแอฟริกาเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2011
การวิจารณ์ของ ดร.โรเบิร์ตส์
มีนักวิจารณ์หลายคนที่กล่าวในทำนองคล้ายกันว่า เบื้องลึกของสงครามที่ลิเบียนั้นเป็นการเบียดขับชิงอิทธิพลกันระหว่างสหรัฐ-จีนในประเทศนี้และรวมไปถึงทั่วทวีปแอฟริกา
แต่ที่ดูจะได้รับความสนใจสูงน่าจะเป็นของ ดร.โรเบิร์ตส์ (Paul Craig Roberts เกิด 1939) เนื่องจากเขียนสั้นตรงไปตรงมา ทั้งยังเป็นนักเขียนลายคราม มีผลงานเป็นหนังสือหลายเล่ม
พื้นฐานการศึกษามาทางเศรษฐศาสตร์ แต่สนใจทางการเมืองด้วยเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสมัยประธานาธิบดีเรแกน และได้ชื่อว่าเป็นคนสำคัญที่คิดเศรษฐกิจแบบเรแกนขึ้น (Reaganomics) ถือได้ว่าเข้าถึงวงในของการเมืองสหรัฐ
เคยทำงานในหนังสือพิมพ์กระแสหลักทางเศรษฐกิจอย่างเช่นวอลสตรีตเจอนัล และบิสสิเนสวีก
เป็นผู้ต่อต้านการทำสงครามอิรักของประธานาธิบดีบุชอย่างแข็งขัน
ผลงานในระยะใกล้ จึงออกในสื่อของฝ่ายค้านและฝ่ายก้าวหน้า
ที่จะนำมาอ้างเป็นการให้สัมภาษณ์แก่โทรทัศน์เพรส ทีวี (Press TV) ที่เป็นของอิหร่าน ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2011 หลังคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติออกมติ "เขตห้ามบิน" ในลิเบียแล้ว
และจากนี้เขายังได้ให้สัมภาษณ์และเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกหลายครั้ง
การวิเคราะห์เกี่ยวกับสงครามที่ลิเบียของ ดร.โรเบิร์ตส์อาจสรุปได้ดังนี้
1. การลุกขึ้นสู้ในลิเบียต่างกับการลุกขึ้นสู้ในประเทศอาหรับอื่นที่มีลักษณะสันติ และก็ไม่ได้เกิดขึ้นที่นครหลวง หากเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกของประเทศ เป็นการลุกขึ้นสู้ด้วยความรุนแรงมีการจับอาวุธมาตั้งแต่ต้น และหน่วยงานซีไอเอ ก็มีส่วนตั้งแต่แรก
2. สหรัฐต้องการโค่นกาดาฟีที่ลิเบียและประธานาธิบดีอัสซาดที่ซีเรียเพื่อที่จะขจัดอิทธิพลจีนและรัสเซียออกจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ประเทศจีนได้มีการลงทุนทางด้านพลังงานจำนวนไม่น้อยทางด้านตะวันออกของลิเบีย ทั้งยังพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากลิเบีย รวมทั้งแองโกลาและไนจีเรียด้วย
นี่จึงเป็นความพยายามของสหรัฐที่จะทำให้จีนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงาน เหมือนดังที่สหรัฐและอังกฤษกระทำต่อญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1930
3. สงครามที่ลิเบียเป็นมากกว่าเรื่องน้ำมัน แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจีนที่พยายามแทรกเข้ามาในแอฟริกาเพื่อที่จะหาแหล่งพลังงานที่ต้องการ
โรเบิร์ตส์ชี้ว่า ไอเอ็มเอฟเองก็มีรายงานว่า ยุคของอเมริกาสิ้นสุดแล้ว และเศรษฐกิจของจีนจะใหญ่เกินหน้าสหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า
ดังนั้น วอชิงตันจึงต้องพยายามขัดขวางอย่างเต็มที่ โดยใช้แสนยานุภาพทางทหารและความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการเข้าถึงแหล่งพลังงาน เพื่อจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนช้าลง
4. มี 3 เหตุผลสำคัญที่ทำให้สหรัฐวางเป้าโค่นล้มกาดาฟี คือ
ก) กาดาฟีปล่อยให้จีนเข้ามาลงทุนอย่างเต็มที่ และสหรัฐต้องการให้จีนถอนตัวไปทั้งหมด ซึ่งจีนมีคนงานกว่า 3 หมื่นคนในลิเบีย และก็ต้องอพยพออกนอกประเทศลิเบียไป
ข) กาดาฟีปฏิเสธที่จะร่วมมือกับสหรัฐในการสร้างกองบัญชาการสหรัฐที่แอฟริกา (US African Command หรือ AfriComm) ในปี 2008 โดยกาดาฟีกล่าวว่าเป็นการกระทำของจักรวรรดินิยมเพื่อที่จะซื้อแอฟริกาทั้งทวีป
ค) ลีเบียและซีเรียตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
5. การที่นาโต้เข้าร่วมสงครามที่ลิเบียก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ที่จะต้องฟื้นอิทธิพลตะวันตกในแอฟริกาอีกครั้ง ซึ่งอาจลุกลามเป็นสงครามใหญ่ ระหว่างสหรัฐ-นาโต้ และรัสเซีย-จีนได้
การวิเคราะห์ของ ดร.โรเบิร์ตส์ข้างต้นมีข้อที่น่าจะสรุปได้ว่า คงจะมีการเบียดขับกันระหว่างสหรัฐ-จีนในระดับหนึ่ง
ส่วนในรายละเอียด เช่น ซีไอเอมีส่วนในการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธในลิเบียตั้งแต่เริ่มต้น เป็นสิ่งที่ควรติดตามตรวจสอบต่อไป
สำหรับการคาดว่า สงครามลิเบียและซีเรียอาจขยายไปสู่สงครามใหญ่ระหว่างสหรัฐ-นาโต้ และรัสเซีย-จีนนั้น คงไม่เกิดขึ้นง่าย เนื่องจากแม้สหรัฐ-นาโต้มีด้านที่เบียดขับกับรัสเซีย-จีน แต่ก็มีด้านที่ต่อรองร่วมมือกันเพื่อประคับประคองโครงสร้างเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันไว้ด้วย
นอกจากนี้ วิกฤติเศรษฐกิจโลกหนักๆ ที่ทำให้ประเทศต่างๆ หาทางเอาตัวรอด อาจเป็นเหตุปัจจัยของสงครามใหญ่อย่างคาดไม่ถึงก็ได้
ความบาดหมางระหว่างกาดาฟีกับผู้นำซาอุฯ
มติคณะมนตรีความมั่นคงที่ 1973 (ลงมติ 170311) ให้สร้างเขตห้ามบิน (No-fly Zone) และใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองพลเมืองโดยไม่ใช้กำลังภาคพื้นดินต่างชาติเข้ายึดครองนั้น ปรากฏว่าได้รับแรงผลักดันอย่างมากจากสันนิบาตอาหรับที่มีประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นแกน ร่วมกับสมาชิกในกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดถึงการแตกแยกในสันติบาตอาหรับและความอ่อนแอของลัทธิรวมอาหรับในปัจจุบัน
มีความบาดหมางลึกๆ ระหว่างกาดาฟีกับผู้นำซาอุฯ ที่แสดงออกหลายครั้ง ที่เป็นข่าวดังก็ในการประชุมสุดยอดสันนิบาตอาหรับปลายเดือนมีนาคม 2009 ที่เมืองโดฮาประเทศกาตาร์ เจ้าของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราอันมีชื่อเสียง กาดาฟีโจมตีผู้นำซาอุฯ ว่าเป็น "ผลผลิตของอังกฤษ และเป็นพันธมิตรของอเมริกัน"
กาดาฟีได้เคยปะทะคารมกับผู้นำซาอุฯ มาครั้งหนึ่งแล้วในการประชุมสุดยอดสันนิบาตอาหรับก่อนหน้านี้ ในกรณีสหรัฐรุกรานอิรัก
ผู้นำกาตาร์ผู้จัดประชุมพยายามไกล่เกลี่ยให้เรื่องสงบแต่ดูไม่ได้ผล (ดูบทความชื่อ Gaddafi Storms Out Of Arab Summit, Slams Saudi King For Pro-Americanism ใน huffingtonpost.com 300309)
ลำพังการพูดจาก็คงไม่ทำให้เกิดบาดหมางได้มาก แต่กาดาฟีน่าจะมีปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในการชิงการนำจากซาอุฯ ทั้งในโลกอาหรับและในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ
เหตุใดจีนและรัสเซียจึงไม่ยับยั้งมติของคณะมนตรีความมั่นคง
จีนและรัสเซียเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งสามารถใช้สิทธิวีโต้ทำให้มตินั้นตกไปได้ เหตุใดจีนกับรัสเซียจึงไม่ทำเช่นนั้น นี่เป็นประเด็นที่มีการอธิบายกันไปต่างๆ ทั้งในเชิงการทูตและทฤษฎีสมคบคิด พอสรุปได้ดังนี้คือ
ก) จีนและรัสเซียอาจมีความเกรงใจต่อซาอุฯ และรวมทั้งแอฟริกาใต้ที่เป็นแกนของสหภาพแอฟริกาที่เรียกร้องให้มีมติเขตห้ามบินในลิเบียขึ้น โดยเฉพาะซาอุฯ ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ทำให้จีนและรัสเซียไม่ต้องการจะขัดใจผู้นำชาวอาหรับและแอฟริกา ทั้งยังต้องการสร้างภาพลักษณ์ว่าต้องการจะช่วยแก้ปัญหาความปั่นป่วนวุ่นวายในโลก ไม่ใช่เป็นผู้ขัดขวาง
ข) เห็นว่า ถึงมตินี้ไม่ผ่าน สหรัฐ-นาโต้ก็อาศัยปฏิบัติการลับหรือกระทั่งอย่างเปิดเผยดังที่เคยทำแล้วในครั้งสงครามโคโซโว ซึ่งทั้งรัสเซีย-จีนก็ได้แต่ทำตาปริบๆ การงดออกเสียงแล้วมาตลบหลังว่าไม่ได้ปฏิบัติตามมติอาจได้ผลกว่า
ปฏิบัติการของจีน
จีนได้แทรกเข้ามาในแอฟริกาอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1990 นี้เอง เมื่อถึงปี 2000 ได้ตั้งสมัชชาว่าด้วยความร่วมมือจีน-แอฟริกาขึ้น ถึงราวกลางปี 2007 ประมาณว่ามีคนงานจีนมากกว่า 750,000 คน ทำงานในประเทศต่างๆ ในแอฟริกา
แอฟริกาที่เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกได้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในระยะหลังมานี้
ในปี 2010 ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของโลก 10 ประเทศ ปรากฏว่าอยู่ในทวีแอฟริกาถึง 6 ประเทศ
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกาประมาณว่าชนชั้นกลางในแอฟริกาอาจเพิ่มจำนวนสูงมากกว่า 300 ล้านคน การค้าระหว่างจีน-แอฟริกาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 ในปี 2010 มูลค่ารวม 126.9 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ทวีปแอฟริกาตกเป็นอาณานิคมของยุโรปมานานนับร้อยปี อิทธิพลและการลงทุนจากตะวันตกน่าจะยังเป็นหลักอยู่ เพียงแต่ว่าการแทรกเข้ามาอย่างรวดเร็วของจีน น่าจะทำให้เจ้าถิ่นเดิมตระหนกตกใจบางทีจนเกินไป
นักวิชาการชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่งให้ทัศนะว่า "จีนเป็นเพียงตลาดทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจีนจะเข้ามากลืนกินทุกอย่างของแอฟริกา" (ดูบทความชื่อ US "Concerned" about China Business Practices in Africa ใน economictimes.indiatimes.com 110611)
ที่ลิเบีย จีนได้เริ่มเข้าไปลงทุนหลังจากที่สหประชาชาติและสหรัฐเลิกการแซงก์ชั่นในปี 2003-2004 ลงทุนหนักในด้านพลังงานและการก่อสร้าง มีคนงานจีนที่ลิเบียราว 35,000 คน ซึ่งต้องอพยพกลับไปทั้งหมด ทิ้งเครื่องจักรไว้เบื้องหลัง ซึ่งมีข่าวว่าถูกปล้นไปบ้างก็มี นับว่าจีนต้องโดนหางเลขได้รับความเสียหายไม่น้อย
ปฏิบัติการของจีนในกรณีนี้กล่าวได้ว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อแก้เกมและรักษาที่ยืนของตนในลิเบียและแอฟริกาต่อไป
นั่นคือยอมรับความเสียหายต่างๆ ทั้งหมด ไม่ตีโพยตีพาย และดำเนินการทูตในหลักการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิถีทางการเจรจาทางการเมือง และต่างชาติไม่ควรใช้กำลังเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น
มีปรากฏการณ์ที่น่าติดตามคือ ผู้นำประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นแกนของสหภาพแอฟริกา ได้เคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาลิเบียทางการเมือง โดยการหยุดยิงก่อน แม้ความพยายามนี้จะไม่สำเร็จ แต่ก็ได้สร้างกระแสในการแก้ปัญหาลิเบียอีกแบบหนึ่งนอกจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐ-นาโต้
ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐ-นาโต้ในลิเบียนั้นว่าไปแล้วมีความสุ่มเสี่ยงไม่น้อย โดยที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะบรรลุอะไร ในกรอบเวลาเท่าใด แต่ที่ตัดสินใจทำไปก็คงเนื่องจากเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องฟื้นอิทธิพลของตนในแอฟริกาขึ้นมาอีก กับทั้งอาจเห็นว่าลิเบียเป็นเนื้อชิ้นเล็ก ประชากรน้อยเพียงราว 6 ล้านคน กินคำเดียวก็คงหมด แต่ว่าเรื่องไม่ใช่ง่ายเช่นนั้น จากสถานการณ์สู้รบในปัจจุบันเห็นกันว่า ถ้าหากไม่ใช้ปฏิบัติการภาคพื้นดิน สงครามที่ลิเบียน่าจะยืดเยื้อออกไปอีก ความเสียหายและค่าใช้จ่ายของสหรัฐ-นาโต้ที่ลิเบียนี้น่าจะมากกว่าของจีนหลายเท่า
สำหรับจีนคงจะได้รับบทเรียนว่าการลงทุนและการค้าในแอฟริกานับแต่นี้คงจะไม่สะดวกดายเหมือนเดิม เนื่องจากเจ้าอาณานิคมเดิมเกิดความหวาดระแวงสูงและพยายามขัดขวางด้วยวิธีต่างๆ
จีนต้องใช้ความพยายามมากขึ้นอีก จึงจะสามารถแทรกเข้ามามีบทบาทใหญ่ขึ้นในทวีปนี้ได้
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย