.
บทความเมื่อกลางปี 2554
สัญญาณวิกฤตเงินเฟ้อและแนวทางแก้ไข
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 39
มีนักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าหากราคาทองคำเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์แล้ว น่าจะถือเป็นสัญญาณว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่น่าวิตก ต้องเตรียมรับมืออย่างจริงจัง ตอนนี้ราคาทองคำยืนอยู่เหนือ 1,500 ดอลลาร์มาระยะหนึ่งแล้ว แม้จะปรับตัวลดลงบ้าง ก็น่าจะกล่าวถึงปัญหานี้ดู เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่กำลังเกิดในประเทศของเราด้วย โดยเฉพาะในด้านราคาอาหารและเชื้อเพลิง
เราจะดูกันว่า ...เงินเฟ้อเป็นอย่างไร เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยใด และใครเป็นคนก่อ และมีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร
ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องข้างต้นพูดกันไปต่างๆ บางทีถึงกับเป็นตรงกันข้าม เช่นในปัญหาเดียวว่าใครเป็นต้นตอให้เกิดสัญญาณวิกฤติเงินเฟ้อ ก็มีการกล่าวโทษกันไปมา ตะวันตกโทษตะวันออกโดยเฉพาะจีนเป็นผู้ส่งออกเงินเฟ้อ ตะวันออกโทษตะวันตกว่าพิมพ์ธนบัตรเข้าสู่ระบบมากจนเกิดเงินร้อนไหลบ่าไปทั่วโลกและกระตุ้นเงินเฟ้อขึ้น
อย่างไรก็ตาม พบว่าภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน ไม่สามารถศึกษาอยู่แต่ในวงหรือโมเดลทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ต้องนำเอาเหตุปัจจัยทางการเมืองและสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
ลักษณะสัญญาณวิกฤติเงินเฟ้อครั้งนี้เป็นอย่างไร
เงินเฟ้อนั้นเป็นของคู่กับระบบทุนนิยม ในระบบเงินตราทั่วโลก เมื่อนำมาเทียบกับความสามารถในการซื้อในสกุลเงินตนเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา ก็จะพบว่าลดลงเป็นอันมาก และจะเกิดภาวะเงินเฟ้อจนน่ากังวลในที่บางแห่งบางเวลาโดยตลอด
ภาวะเงินเฟ้อทั้งหลายมีลักษณะร่วมกันว่ามีปริมาณเงินมากเกินกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
แต่ภาวะเงินเฟ้อแต่ละครั้งก็มีลักษณะเฉพาะตัวบางประการ สำหรับลักษณะเฉพาะของสัญญาณเงินเฟ้อครั้งนี้น่าจะได้แก่
1. เป็นเงินเฟ้อในขอบเขตทั่วโลก เกิดขึ้นทั้งในประเทศตลาดเก่าที่พัฒนาแล้ว และในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังพัฒนา ไม่ใช่เป็นวิกฤติของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แสดงว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีส่วนในทางหนึ่งทางใดในการทำให้วิกฤตินี้เกิดขึ้น
โดยทั่วไปประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญย่อมมีบทบาทสูงในการก่อวิกฤตินี้ ในอีกด้านหนึ่งน่าจะแสดงว่ามีเหตุปัจจัยบางประการที่ทรงพลังมาก จนสามารถก่อให้เกิดวิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลกได้
2. เป็นภาวะเงินเฟ้อที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงทางกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) หรือทางคุณภาพ นั่นคือเศรษฐกิจโลกนับแต่นี้ ได้ปรับฐานเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างเห็นได้ชัดและถาวร มีนักวิเคราะห์การลงทุนที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งชี้ว่าเป็นเวลา 102 ปีมาจนถึงปี 2002 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จาก 33 ตัวอย่าง มีเช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก และนิกเกิล เป็นต้น มีราคาเฉลี่ยลดลงร้อยละ 1.2 ต่อปี เมื่อลดลงต่ำสุดในปี 2002 ก็ได้ทะยานสูงขึ้นอย่างไม่มีแววว่าจะลดลง
อนึ่ง สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละตัวมีพฤติกรรมต่างออกไป โดยเฉพาะน้ำมันที่ได้เริ่มผันผวนมากตั้งแต่ทศวรรษ 1970 (ดูบทความของ Jeremy Grantham ชื่อ Time to Wake Up : Days of Abundant Resources and Falling Prices are Over Forever ใน gmo.com เมษายน 2011 ...GMO Capital เป็นกองทุนขนาดใหญ่มีเม็ดในความดูแลกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์)
3. เป็นเงินเฟ้อใหญ่ในหมวดอาหารและพลังงานเป็นสำคัญ ทั้ง 2 หมวดนี้จำเป็นแก่การดำรงชีพโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และวิถีแห่งโลกที่ศิวิไลซ์ในประเทศอุตสาหกรรม สินค้าหมวดอื่นยังขึ้นน้อย เช่นในสหรัฐราคาบ้านยังทรงตัว บางข่าวว่ายังทรุดตัวลงอีก
4. เป็นภาวะเงินเฟ้อที่คล้ายกับว่าก่อตัวในประเทศพัฒนาแล้ว แต่มาออกดอกและช่อในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างเช่นจีนและอินเดีย นั่นคือ มีการพิมพ์ธนบัตรปริมาณมากเพื่อไถ่ถอนสถาบันการเงินและบรรษัทใหญ่รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศตะวันตก ได้แก่ สหรัฐ และอียู เป็นต้น เงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งไหลไปเก็งกำไรในประเทศตลาดเกิดใหม่ เมื่อผสมกับการทุ่มเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ ทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาวะเงินเฟ้อที่เห็นได้ชัด
อาจกล่าวได้ว่าวิกฤติเงินเฟ้อนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากสงครามเงินตรา ซึ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กหรือประเทศใดๆ ที่ไม่ได้เตรียมตัว จะเสียหายมาก
เหตุปัจจัยของภาวะเงินเฟ้อคืออะไร
เหตุปัจจัยของสัญญาณเงินเฟ้อที่กล่าวถึงทั่วไปได้แก่
1. การขาดแคลนและการเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือการการแคลนน้ำมันหรือกล่าวให้ถูกยิ่งขึ้นคือน้ำมันราคาแพง กดดันให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาวะวิกฤติจนต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจนกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อ
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ 6 ครั้งนับแต่ทศวรรษ 1970 ทั้งหมดยกเว้นเพียงภาวะถดถอยในปี 2001 เท่านั้นที่ไม่ได้สัมพันธ์หรือถูกกระตุ้นโดยราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูง
แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยปี 2008 นี้หนักหนาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นทั้งวิกฤติราคาน้ำมันและราคาอาหารสูงขึ้นมาก และจุดพลิกเปลี่ยน (Tipping Point) ซึ่งก็คือเมื่อค่าใช้จ่ายของน้ำมันสูงร้อยละ 6 ของรายจ่ายครัวเรือน นั่นเป็นจุดที่ฉุดให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (ดูบทความของ Christina Cheddar Berk ชื่อ Killer Combo of High Gas, Food Prices at Key Tipping Point ใน cnbc.com 210411)
สำหรับในด้านอาหารราคาแพงมีรายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบีว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2010-กุมภาพันธ์ 2011 ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 40.4 โดยน้ำตาลมีราคาสูงขึ้นร้อยละ 85.9 ธัญพืชร้อยละ 67.9 และน้ำมันพืชร้อยละ 65.9 และว่าหากราคาอาหารเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ในปี 2011 ก็จะทำให้ประชากรราว 64 ล้านคนต้องตกอยู่ใต้เส้นแห่งความยากจน
2. การที่ประเทศสหรัฐและยุโรปตะวันตกอัดฉีดเงินจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ "ใหญ่เกินกว่าจะล้ม" และอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลายระลอก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวอย่างเห็นได้ชัด มีข่าวว่าในเดือนสิงหาคม 2010 ราคาน้ำมันอยู่ที่ราว 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หลังจากธนาคารกลางสหรัฐใช้มาตรการเพิ่มปริมาณเงินให้คล่องตัวครั้งที่สองแล้ว เมื่อถึงปลายเดือนเมษายน 2011 ราคาน้ำมันที่ตลาดนิวยอร์กเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 112 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (เอพี 280411)
3. วิกฤติหนี้ในประเทศตะวันตกหลายประเทศที่มากเกินกว่าจะชำระได้ เช่นที่ กรีซและโปรตุเกส และอาจเกิดขึ้นอีกที่สเปน อิตาลีและอังกฤษ แม้กระทั่งสหรัฐก็ยังมีผู้สงสัยว่าจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ประเทศเหล่านี้ต้องอาศัยการกู้เงินหรือพิมพ์ธนบัตรมาใช้หนี้ พร้อมกับลดค่าใช่จ่ายของรัฐบาล ซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันของประชาชนผู้ใช้แรงงานที่ไม่พอใจอย่างสูง ทำให้เกิดความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจ-สังคมในระดับที่แน่นอน
4. การอัดฉีดเงินปริมาณมหาศาลของประเทศตลาดเกิดใหม่ มีจีนเป็นต้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกันมีการขึ้นค่าแรงคนงาน ผสมกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้ทำให้ราคาสินค้าที่ส่งออกจากจีนมีราคาสูงขึ้น และเนื่องจากจีนเป็นประเทศโรงงานโลก ดังนั้น จึงกลายเป็นเหมือนส่งออกภาวะเงินเฟ้อดังที่ตะวันตกวิจารณ์
อนึ่ง ในจีนเองที่เซี่ยงไฮ้มีคนขับรถบรรทุกนับพันก่อการชุมนุมประท้วงราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นเป็นต้น ทางการจีนประกาศงดส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป
ผลกระทบของวิกฤติเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อนั้นเป็นโจรไร้น้ำใจ ปล้นทั้งคนจนและคนรวย แต่คนจนที่มีทรัพย์สินน้อยย่อมได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มเศรษฐี ผลกระทบหลักน่าจะมี 3 ประการได้แก่
1. ทำลายชนชั้นล่างและชนชั้นกลางทั่วโลก ทำให้สังคมแยกขั้วชัดเจนขึ้นอีก
2. ก่อให้เกิดความปั่นป่วนจลาจล วิเคราะห์กันว่าการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในอียิปต์และตูนิเซียมีเหตุปัจจัยหนึ่งจากการที่น้ำมันและอาหารราคาแพง ผสมกับการว่างงานและความหงุดหงิดใจที่ไม่มีปากเสียงในการปกครองประเทศ
3. อาจนำมาสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจรุนแรงอีกครั้ง ที่เรียกว่า "ทวิเศรษฐกิจถดถอย" (Double-dip Recession) เป็นภาวะถดถอยเนื่องจากเงินเฟ้อ ซึ่งจะมีผลย้อนกลับทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดต่ำลง
4. น่าจะนำไปสู่สงครามทรัพยากรธรรมชาติ (Resource War) ขนาดใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
จะทำอย่างไรดี
การแก้ปัญหาสัญญาณวิกฤติเงินเฟ้อนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่หนึ่ง ดูเหมือนเป็นเชิงรุกหรือมองโลกในแง่ดี แต่เป็นเชิงรุกหรือการมองแง่ดีเพื่อรักษาสถานะเดิม ผู้ที่ใช้วิธีนี้ได้แก่ รัฐบาล สถาบันการเงินใหญ่ และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในระบบ และสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่เป็นต้น ตามแนวคิดนี้เห็นว่า
1) เรื่องเงินเฟ้อนั้นยังไม่ร้ายแรงถึงขั้นวิกฤติ ปัญหาใหญ่ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เคลื่อนตัวไปอย่างมั่นคง ในสหรัฐมีการวิเคราะห์ว่าที่สุดธนาคารกลางสหรัฐอาจกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3
นอกจากนี้ ยังมักออกข่าวอีกว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแรง ดูได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 3 ปี และถึงแม้จะเกิดวิกฤติจริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องตื่นตระหนก เพราะในระบบทุนก็เกิดปัญหานี้หลายครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งก็ผ่านมาได้ พร้อมกับอัตราการขยายทางเศรษฐกิจต่อไปอีก
2)ระบบเศรษฐกิจมีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างสูงต่อเนื่องมาราว 200 ปีแล้ว ทำให้สามารถผลิตอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ใช้พลังงานและวัตถุดิบน้อยลง มีของเสียจากการผลิตและการใช้ลดลงหรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในด้านเทคโนโลยีพลังงาน มีการพัฒนาเทคนิคการสำรวจขุดเจาะที่สามารถหาแหล่งใหม่ได้เพิ่มขึ้น หรือใช้ประโยชน์จากแหล่งเดิมได้สูงขึ้น หรือใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อการผลิตพลังงาน เช่น การผลิตก๊าซจากหินดินดาน (Shale Gas) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน ที่สำคัญคือพลังลม พลังแสงแดด และคลื่นได้อีก ทำให้การพึ่งพาแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมลดลง
3) การพัฒนาระบบตลาดและการค้าให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น เพราะระบบตลาดและการค้านั้นเป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงและนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ทุกซอกทุกมุม ส่งเสริมการแบ่งงานกันทำทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่งคั่งและความไพบูลย์ขึ้น
4) การบำรุงรักษาโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้ดี เช่น การพัฒนาระบบพลังงาน ระบบการขนส่ง ระบบคลังสินค้า และประกันให้สายโซ่อุปทานนี้ไม่สะดุดขาดไป ซึ่งแม้ต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่น การทำสงครามอัฟกานิสถานและอิรัก และในระยะใกล้ ได้แก่ การวางกำลังป้องกันโจรสลัด การบุกโจมตีหวังล้มระบอบกาดาฟีที่ลิเบีย ซึ่งกล่าวกันว่าเนื่องด้วยน้ำมัน รวมทั้งปฏิบัติการที่สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ เพื่อรักษาโซ่อุปทานโกโก้ของโลก
กลุ่มที่สอง เป็นการปรับตัวและรับมือในระบบ พบการแนะนำแก่นักลงทุนรายย่อย เช่น อย่าถือเงิน ให้ถือทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่น ที่ดิน ทองคำ และเงิน เป็นต้น
และดูเหมือนว่าบรรดาขาใหญ่ เช่น รัฐบาลจีนและอินเดียก็ดูเหมือนจะปฏิบัติในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะจีนที่ไม่ต้องการถือเงินดอลลาร์มากเกินไป และมีข่าวว่ามีเป้าหมายจะซื้อทองคำสำรองให้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่รับมือนอกระบบหรือพึ่งพาระบบเดิมให้น้อยที่สุด ผู้มีแนวคิดในกลุ่มนี้มีตั้งแต่นักกระต่ายตื่นตูม ไปจนถึงกลุ่มก้าวหน้าและนักเคลื่อนไหวที่เห็นว่าระบบที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันยากที่จะดำเนินต่อไปได้อย่างเคย และกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ระบบใหม่ การเตรียมรับมือมีหลากหลาย เช่น
1) การตุนอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ในบ้าน
2) สร้างชุมชุนที่มั่นคงเพื่อรับวิกฤติ
3) ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนผ่าน
ในทั้งสามกลุ่มนี้ กลุ่มแรกเป็นกระแสหลัก พรั่งพร้อมทั้งกำลังเงินทุน ทรัพยากรบุคคล กลไกทางเศรษฐกิจ-การเมือง ตลอดจนการควบคุมสื่อมวลชน
ดังนั้น มองด้านความสงบราบรื่นก็ต้องภาวนาให้การแก้ปัญหาของกลุ่มแรกนี้ประสบความสำเร็จ หาไม่แล้ว จะเกิดการจลาจลปั่นป่วนและสงครามไปทั่วโลก ขณะที่แนวทางแก้ปัญหาสองกลุ่มหลังที่เป็นกระแสรอง จะมีพลังขึ้น
+++
กรณีลุกขึ้นสู้ที่ตูนิเซียและอียิปต์ : เหตุปัจจัยและผู้แสดงสำคัญ
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1607 หน้า 42
ตูนิเซียและอียิปต์เป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกันนานหลายพันปี
ก่อนคริสตกาลและก่อนมีศาสนาอิสลาม ดินแดนที่เป็นประเทศตูนิเซียปัจจุบันเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรคาร์เธจ ที่เป็นศูนย์กลางการค้าของโลกในสมัยโบราณ และเป็นคู่แข่งสำคัญของจักรวรรดิโรมัน แต่พ่ายแพ้ในการศึก ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิโรมันยาวนาน
สำหรับอียิปต์ยิ่งเก่าแก่ไปกว่านั้นอีก เป็นที่ตั้งจักรวรรดิโบราณตั้งแต่ก่อนสมัยกรีกและโรมันรุ่งเรือง เมืองท่าชื่ออเล็กซานเดรียของอียิปต์ มีความสำคัญต่อการค้าโลกต่อเนื่องกันมาหลายพันปี
เมื่อเกิดศาสนาอิสลาม ทั้งสองประเทศได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมุสลิมอาหรับและออตโตมาน ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมสมัยใหม่ได้เข้ามาครอบครองประเทศทั้งสองนี้
อียิปต์ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญโดยเฉพาะหลังจากขุดคลองสุเอซแล้ว อังกฤษได้พยายามแทรกตัวเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ตูนิเซียและอียิปต์ได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญในตอนเหนือของแอฟริการะหว่างฝ่ายสหรัฐ-อังกฤษ กับ เยอรมนี-อิตาลี
เมื่อได้เอกราชค่อนข้างสมบูรณ์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตูนิเซียซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กมีประชากรปัจจุบัน 10 ล้านคนเศษ มุ่งเน้นในการพัฒนาประเทศ
ส่วนอียิปต์ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ ปัจจุบันมีประชากรกว่า 84 ล้านคน แสดงบทบาทเป็นมหาอำนาจของภูมิภาค สร้างแนวทางชาตินิยมอาหรับและลัทธิรวมชาติอาหรับ แต่ได้ผลอย่างจำกัด
ที่สำคัญ เกิดจากพ่ายแพ้แสนยานุภาพของสหรัฐ-อิสราเอล ต้องหันมาสังกัดค่ายสหรัฐและมหาอำนาจตะวันตก
ตูนิเซียและอียิปต์ปัจจุบัน มีความเหมือนและความต่างในการทิศทาง ระดับการพัฒนาและนโยบายระหว่างประเทศที่สำคัญดังนี้ คือ
1. ทั้งสองเป็นแบบโลกวิสัย (Secular) ไม่เน้นการเคร่งศาสนาอย่างที่ปฏิบัติในประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น โดยเฉพาะในตูนิเซียที่ผู้นำประเทศได้ต่อสู้กับกลุ่มเคร่งศาสนาอย่างเฉียบขาด จนกลุ่มเหล่านี้มีอิทธิพลบทบาทน้อย
สตรีตูนิเซียได้รับสิทธิเสรีภาพแบบสตรียุโรปค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น เป็นชาติแรกในรัฐอาหรับที่สตรีมีสิทธิเลือกตั้ง สิทธิในการทำแท้ง การห้ามชายมีภรรยาหลายคน อัตราการรู้หนังสือของสตรีตูนิเซียสูงถึงร้อยละ 71 (ดูบทความของ Katrin Bennhold ชื่อ Woman"s Rights a Strong Point in Tunisia ใน nytimes.com 220211)
2. ทั้งสองพัฒนาทุนนิยมแบบตะวันตก ตูนิเซียดูจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปอย่างทั่วถึงกว่า เนื่องจากมีประชากรน้อย การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
3. ตูนิเซียและอียิปต์มีนโยบายต่างประเทศเป็นแบบเอียงข้างตะวันตก ตูนิเซียเป็นแบบฝรั่งเศส ส่วนอียิปต์เป็นแบบสหรัฐ
4. ทั้งสองประเทศอยู่ในระบอบรวบอำนาจเป็นเวลานาน ตูนิเซีย 23 ปี ส่วนอียิปต์ราว 30 ปี
5) การใช้อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือในตูนิเซียค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของโลก ส่วนในอียิปต์ก็เพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่การใช้อินเตอร์เน็ตก็ยังไม่สูงเท่าอัตราเฉลี่ยของโลก
การที่ประชาชนชาวอาหรับได้รับข่าวสารที่มากและรวดเร็ว ช่วยทำให้เปิดหูตากว้าง และกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวทั่วถึงขึ้น แต่การให้ความสำคัญถึงขั้นว่าเป็นการปฏิวัติจากเฟซบุ๊กและวิกิลีกส์ก็น่าจะเกินเลยไป เหตุปัจจัยพื้นฐานน่าจะได้แก่ระบอบปกครองเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ได้ยากลำบากและขาดความชอบธรรมน่าเชื่อถือ
ที่กล่าวมา เป็นเรื่องการเปรียบเทียบประเทศตูนิเซียกับอียิปต์ ต่อไปจะกล่าวถึงบางหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลุกขึ้นสู้ใน 2 ประเทศนี้ คือดัชนีการกบฏของชาวอาหรับ เหตุปัจจัย และผู้แสดงสำคัญ
ดัชนีการปฏิวัติชาวอาหรับ
เมื่อการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในประเทศตูนิเซียและอียิปต์ ระบาดไปยังประเทศอาหรับอื่น ทั้งในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ก็ได้มีผู้คิดสร้างดัชนีการปฏิวัตินี้ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง พร้อมกับถ่วงน้ำหนักเพื่อจะทำนายล่วงหน้าว่าการต่อสู้ในประเทศเหล่านั้นจะดุเดือดรุนแรงเพียงใด
พบดัชนีและการถ่วงน้ำหนักที่สำคัญดังนี้คือ
1. สัดส่วนของประชากรที่อายุต่ำกว่า 25 ปีสูงมาก ได้รับน้ำหนักถึงร้อยละ 35
2. จำนวนปีของรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ ได้รับน้ำหนักร้อยละ 15
3. ดัชนีคอร์รัปชั่น (ดูได้จาก Transparency International) น้ำหนักร้อยละ 15
4. ดัชนีความไม่เป็นประชาธิปไตย (ดูจาก eiu.com) น้ำหนักร้อยละ 15
5. จีดีพีต่อหัว ได้รับน้ำหนักร้อยละ 10
6. ดัชนีการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน ได้รับน้ำหนักร้อยละ 5 (ดูจาก Freedom House)
และ 7. จำนวนจริง (ไม่ใช่คิดเป็นสัดส่วน) ประชากรอายุต่ำกว่า 25 ได้รับน้ำหนักร้อยละ 5
เมื่อนำดัชนีและการถ่วงน้ำหนักมาประมวลกันแล้ว ผลออกมาว่าประเทศที่มีเงื่อนไขที่จะเกิดการก่อกบฏสูงสุดที่ประเทศเยเมน ตามด้วยลิเบียและอียิปต์ ส่วนตูนิเซียอยู่อันดับ 11 แต่กลายเป็นจุดก่อชนวนการลุกขึ้นสู้ในโลกอาหรับขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้ดัชนีนี้มีรายละเอียดกว่านี้อีกมาก (ดูบทความของ Jason ชื่อ Arab Revolution-Economist Shoe-thrower"s Index ใน globalsherpa.org ผู้สร้างเว็บนี้เคยเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ สร้างดัชนีขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการพิจารณาในการลงทุน)
เหตุปัจจัยของการลุกขึ้นสู้และผู้แสดงสำคัญ
การลุกขึ้นสู้ในตูนิเซียและอียิปต์นั้นมีเหตุปัจจัยใหญ่ 4 ประการได้แก่
1. ความขัดแย้งพื้นฐานระหว่างชนชั้นนำและประชาชน โดยมีกลุ่มสหรัฐ-นาโต้เป็นผู้สนับสนุนระบอบปกครองประเทศแบบรวบอำนาจที่สนับสนุนตะวันตกมาหลายสิบปี โดยประธานาธิบดีไซน์ เบน อาลี แห่งตูนิเซีย ครองอำนาจตั้งแต่ปี 1987-2011 (ไม่นับประธานาธิบดีคนก่อนหน้า) และประธานาธิบดีมูบารัคที่ครองอำนาจตั้งแต่ปี 1981
โดยที่ประธานาธิบดีก่อนหน้านั้นคือซาดัด (1970-1971) ได้เดินนโยบายสนับสนุนตะวันตกมาก่อนหน้านั้นแล้ว ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอิสระเสรี ให้ทั้งประเทศและตัวเขาเองสามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี
เมื่อชาวอียิปต์เริ่มลุกขึ้นสู้ โจ ไบเดน รองประธานาธิปดีสหรัฐให้สัมภาษณ์ว่า "มูบารัคเป็นพันธมิตรเราในหลายเรื่อง และเขามีบทบาทสำคัญต่อผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้ของสหรัฐ การที่เขาพยายามจะสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง และการที่อียิปต์ฟื้นฟูสัมพันธภาพกับอิสราเอล ผมไม่เห็นว่าเขาเป็นผู้เผด็จการ"
ไบเดนยังเห็นว่ามูบารัคไม่จำเป็นต้องออกจากตำแหน่ง (ดูบทรายงานชื่อ Joe Biden Says Egypt"s Mubarak no Dictator, He Shouldn"t Step Down ใน csmonitor.com 270111)
2. การพัฒนาประเทศแบบไม่ได้สมดุล ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก เช่นกล่าวกันว่า ประชากรอียิปต์ถึงราวร้อยละ 40 ยังชีพด้วยรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน จำนวนผู้ว่างงานโดยเฉพาะที่เป็นคนหนุ่มสาวก็สูงมาก สำหรับกรณีประเทศตูนิเซียไม่รุนแรงเท่า ความเหลื่อมล้ำเพิ่มความไม่พอใจให้กลายเป็นความเคียดแค้น นั่นคือผสมด้วยความสิ้นหวังมองไม่เห็นทางออกในการแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าภายในระบอบเดิมได้อย่างไร
3. วิกฤติเศรษฐกิจ อาหาร และน้ำมันแพง ตั้งแต่ปี 2008 ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไปทุกข์ยากขึ้นเป็นอันมาก จนไม่อาจจะทนอยู่แบบเดิมได้อีกต่อไป ขณะที่ทางการรัฐบาลเองก็ดูเหมือนประเมินกำลังของตนเองสูงไป และกำลังของประชาชนต่ำไป ไม่ได้เข้ามาเยียวยาแก้ไขอย่างทันการณ์
4. อิทธิพลของสหรัฐ-นาโต้ ตกต่ำลง เนื่องจากติดหล่มในสงครามที่ไม่อาจชนะได้ในอิรักและอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ ยังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เกิดความแตกแยกไม่พอใจรุนแรงในประเทศสหรัฐ-นาโต้เอง
หนังสือพิมพ์ฮาเรตซ์ของอิสราเอลซึ่งบางคนเทียบชั้นว่าเป็นเหมือนนิวยอร์ก ไทมส์ ของสหรัฐ ได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์ว่า การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์คล้ายกับการลุกขึ้นสู้ของชาวปาเลสไตน์ในปี 1987 ซึ่งจะเปลี่ยนตะวันออกกลางไปอย่างมาก
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายที่ไม่เหมาะสมของตะวันตก ที่ทำให้ไม่สามารถเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้อีก (ดูบทความชื่อ The Arab Revolution and Western Decline ใน haaretz.com 030211)
สำหรับผู้แสดงสำคัญก็มี 2 ซีกด้วยกันคือ ซีกชนชั้นนำที่สนับสนุนโดยสหรัฐ-นาโต้ และซีกประชาชน
สำหรับฝ่ายประชาชนยังประกอบด้วย 4 กลุ่มใหญ่ ใช้การลุกขึ้นสู้และการชุมนุมประท้วงอย่างสันติและกว้างขวางทั่วประเทศ เช่น ทั้งไคโรและเมืองอเล็กซานเดรียเป็นเครื่องมือสำคัญ ในที่นี้จะใช้กรณีประเทศอียิปต์เป็นตัวอย่าง
ฝ่ายประชาชน 4 กลุ่มในอียิปต์ ได้แก่
1. เยาวชน นักศึกษาคนหนุ่มสาวที่มีจำนวนมาก
2. คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นหัวหอกของการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ ตามข่าวปรากฏมักให้ความสำคัญแก่กลุ่มคนหนุ่มสาว แต่แท้จริงหากไม่มีการต่อสู้ของคนงานกรรมกรที่ลุกลามและกระทบต่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าของกลุ่มทุนและชนชั้นนำอย่างสูงจนบีบให้มูบารัคยอมลงจากอำนาจ ใน 2 กลุ่มแกนนี้กลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวภายหลังการล้มระบอบมูบารัคได้ ก็รวมตัวจัดตั้งกัน สำหรับกลุ่มคนงานกรรมกรนั้น มีกลุ่มและพรรคสังคมนิยมที่ยังคงมีอิทธิพลในอียิปต์ทำหน้าที่เป็นแกน
3. กลุ่มศาสนาที่สำคัญและปรากฏเป็นข่าวมากได้แก่ กลุ่มภราดรภาพมุสลิม จัดอยู่ในปีกขวา ไม่ได้เป็นพลังปฏิวัติที่เข้มแข็ง กลุ่มนี้สามารถสร้างพันธมิตรกับกลุ่มอื่นๆ ได้ดี มีการจัดตั้งที่เข้มแข็ง
4. กลุ่มทุนขนาดเล็กและขนาดกลางรวมทั้งชนชั้นกลาง ซึ่งประสบเคราะห์กรรมจากวิกฤติเศรษฐกิจและข้าวของแพง ขณะที่ก็ต้องการให้บ้านเมืองสงบเพื่อให้กลับมาทำมาหากินได้ต่อไปในบรรยากาศที่มีความหวังมากขึ้น
ฝ่ายชนชั้นนำในอียิปต์ เห็นได้ว่ามีความหวั่นไหวเมื่อเผชิญกับการลุกขึ้นสู้ขนาดใหญ่แบบไม่คาดฝันมาก่อน การหวั่นไหวที่สำคัญอยู่ที่สหรัฐ-นาโต้ที่มีอิทธิพลครอบงำภูมิภาคนี้ ซึ่งน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัย 3 ประการได้แก่
1. ความจำกัดของแสนยานุภาพจนต้องติดหล่มสงครามถึง 2 แห่ง
2. เกิดวิกฤติเศรษฐกิจถึงขั้นหนี้สินล้นพ้นตัว อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้
3. ไม่สามารถแสดงบทบาทนำทางโลกได้เหมือนเดิม จากนี้ทำให้นโยบายของสหรัฐ-นาโต้ ต่อการลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับมีลักษณะเลือกปฏิบัติตามสถานการณ์แต่ละพื้นที่
เช่น ที่อียิปต์ เมื่อสถานการณ์บานปลาย ผู้นำสหรัฐเรียกร้องให้มูบารัคก้าวลง ที่บาห์เรนซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือใหญ่ของสหรัฐ ก็ดูเหมือนจะเข้าข้างฝ่ายชนชั้นนำ รวมทั้งการยอมให้ซาอุดีอาระเบียส่งกองกำลังเข้าไปหนุนช่วย
ต่อลิเบียที่มีสำรองน้ำมันมากที่สุดในทวีปแอฟริกามีลักษณะเอาเป็นเอาตาย ต่อเยเมนประเทศอาหรับที่ยากจนมาก ออกไปในทางนิ่งดูดาย
สำหรับภายในชนชั้นนำของตูนิเซียและอียิปต์ การหวั่นไหวแสดงออกที่เกิดการแตกขั้วระหว่างรัฐบาลที่อ่อนปวกเปียกกับกองทัพที่เป็นกลไกรัฐที่เข้มแข็งที่สุด มีบทความชี้ว่าสหรัฐเองเป็นผู้เลือก ตันตาวี (Mohamed Hussein Tantawi) รัฐมนตรีกลาโหมและประธานสภาทหารของอียิปต์ให้ขึ้นสู่อำนาจในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2011 แต่ผู้นำทหารท่านนี้ก็ดูปฏิบัติไม่ได้ผลในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยตามกระแสความต้องการของประชาชน
ในบทความนี้ยังกล่าวถึงผู้นำอื่นที่สหรัฐเลือกมาและล้มเหลว (ดูบทความชื่อ When Washington"s Handpicked Leaders Fail ใน nytimes.com 020511) ส่วนกรณีตูนิเซียยังไม่ได้พบข่าวเหมือนเช่นนี้
โลกอาหรับจะหันเหไปทางไหน และการปฏิวัติอาหรับจะก้าวต่อไปอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าติดตามต่อไป
+++
โลกอาหรับ : เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1609 หน้า 44
โลกอาหรับในปัจจุบันระเบียบเก่าได้แตกกระจายไปแล้ว นั่นคือระเบียบของการปกครองแบบรวบอำนาจ ที่เกือบทั้งหมดได้รับการสนับสนุนค้ำจุนจากสหรัฐ-นาโต้
โลกอาหรับนี้แท้จริงมีความหลากหลายแตกต่างกันมาก มีลักษณะร่วมที่สำคัญเพียง 2 ประการ คือพูดภาษาอาหรับและถือศาสนาอิสลาม
แต่ในหลายประเทศอาหรับก็มีการใช้ภาษาของเจ้าอาณานิคมเดิมด้วย เช่น ตูนิเซียใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาต่างประเทศแรก
และบางประเทศก็ใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาแห่งชาติ เช่น แอลจีเรียที่ใช้ภาษาเบอร์เบอร์ (Berber) ซึ่งเป็นภาษาตระกูลเอเชียแอฟริกาใช้ในหลายประเทศแถบแอฟริกาตอนเหนือ
โลกอาหรับมีระบอบปกครองแบบรวบอำนาจ แต่พ้นจากนั้นแล้วก็ต่างกันออกไป เช่น ซีเรียกับอิรัก อิงพรรคการเมืองแบบชาตินิยมอาหรับ
ลิเบียและอาจรวมเยเมน อิงอิทธิพลชนเผ่า
ซาอุดีอาระเบียและรัฐอ่าวอาหรับอิงศาสนา
อียิปต์และตูนิเซีย อิงการพัฒนาแบบตะวันตก
ในโลกอาหรับยังมีความแตกต่างกันทั้งขนาดและจำนวนประชากรมีตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋ว เช่น บาห์เรนที่มีประชากร ราว 1.2 ล้านคน และขนาดใหญ่ เช่น อียิปต์มีประชากรกว่า 80 ล้านคน และบางประเทศยากจน เช่น เยเมน บางประเทศร่ำรวยจากน้ำมัน
โลกอาหรับอาจแบ่งเป็น 2 ศูนย์กลางใหญ่ ศูนย์ซาอุดีฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ต้องเผชิญกับการขยายอิทธิพลของอิหร่านที่ถือนิกายซีอะห์ สามารถรวบรวมกลุ่มไว้ได้แน่นแฟ้นพอสมควร ในระยะหลังมีข่าวว่าประเทศจอร์แดนจะเข้าร่วมกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับอีก
อีกศูนย์หนึ่ง คืออียิปต์ ในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ แต่กล่าวได้ว่าเป็นศูนย์เนื่องจากขนาดและความเก่าแก่ของตัว ประเทศอาหรับในแอฟริกาตอนเหนือต่างมีแนวทางการพัฒนาของตนเอง ไม่ได้เหลียวมองอียิปต์มากนัก
ว่าไปแล้วระเบียบเก่าที่แตกกระจายนั้นปรากฏเห็นชัดในบริเวณแอฟริกาตอนเหนือที่ไม่มีสำรองน้ำมันมาก ยกเว้นประเทศลิเบีย ส่วนในประเทศอาหรับตะวันออกกลางที่มีสำรองน้ำมันถึงราวครึ่งหนึ่งของโลกนั้น ยังพอคุมสถานการณ์ได้ ยกเว้นที่เยเมนอันเป็นประเทศที่ค่อนข้างยากจน
แต่ไม่ว่าระเบียบเก่าจะถูกกระทบอย่างหนักหรืออย่างเบาก็กล่าวได้ว่าระเบียบนั้นได้แตกกระจายไปแล้ว ชนชั้นนำไม่สามารถปกครองในรูปแบบเดิม โดยไม่มีการปฏิรูปหรือแก้ไขปัญหาสำคัญที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ-การเมืองและสังคมต่อไปได้อีก
ในด้านประชาชนชาวอาหรับเองก็เพิ่งเข้าสู่เวทีการเมือง ขาดทั้งกำลังทางจัดตั้งและแนวนโยบายในการต่อสู้ที่เป็นเอกภาพ ไม่อาจฉกฉวยชัยชนะได้มากกว่าความแข็งแกร่งที่มีอยู่ของตน กลายเป็นศึกยืดเยื้อที่ทำให้ทั้งภูมิภาคคุกรุ่น
การกล่าวคาดคะเนว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปให้ได้เห็นภาพ น่าจะใช้วิธีหยิบยกบางกรณีที่สำคัญหรือเป็นตัวแทนของเหตุการณ์ขึ้นมากล่าว น่าจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
ซึ่งจะเริ่มต้นจากสหรัฐที่เป็นผู้แสดงที่ทรงอิทธิพลที่สุดก่อน
สหรัฐต้องการสร้างประชาธิปไตย
ในโลกอาหรับจริงหรือไม่
ประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐได้พยายามแสดงตัวหลายครั้งว่า เห็นด้วยกับการลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ (นิยมใช้ศัพท์ว่า Arab Spring) ต้องการผลักดันให้มีการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นในภูมิภาคนี้ แต่ก็เหมือนไม่บังเกิดผลอะไรมากนัก แม้ประเทศพันธมิตรสหรัฐอย่างอิสราเอลและซาอุดีฯ ก็ไม่ได้เชื่อถือ นี่นับเป็นความยากลำบากมากอย่างหนึ่งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ
ถ้าสหรัฐจะประกาศนโยบายต่างประเทศของตนอย่างตรงไปตรงมาว่าเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ โดยไม่ต้องมีอะไรต่อท้าย ก็จะไม่มีปัญหามาก เพราะชาติไหนๆ ก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศทำนองนี้ แต่สหรัฐที่แสดงบทบาทเป็นอภิมหาอำนาจและตำรวจโลก จำต้องแต่งองค์ให้ดูสวยและเกิดความน่ายำเกรง เพื่อแสดงการเป็นผู้นำและชี้แนวทางของโลก เช่นเป็นประทีปแห่งเสรีภาพ ป้อมปราการแห่งเสรีประชาธิปไตย
ซึ่งในทางปฏิบัติกระทำได้ยากมาก เพราะเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติบางทีก็ต้องการพันธมิตรเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย บางทีก็ต้องการที่เป็นเผด็จการ จนกล่าวกันว่าในกิจการต่างประเทศไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร
ดังนั้น สหรัฐจึงผิดสัญญาเรื่องการเป็นประทีปแห่งเสรีภาพมาโดยตลอด นับแต่ต้นทศวรรษที่ 1950 ทางการสหรัฐมีส่วนรู้เห็นในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสรีและสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทั่วโลก กรณีท้าย ได้แก่ การสนับสนุนคณะนายทหารก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลเซลายาที่ฮอนดูรัสในปี 2009
สำหรับผลประโยชน์แห่งชาติสหรัฐที่สำคัญในตะวันออกกลางก็คือน้ำมัน เมื่อประธานาธิบดีบุชโหมกลองศึกเพื่อบุกยึดครองอิรักในปี 2003 ได้อ้างเหตุต่างๆ ที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ ประธานาธิบดีซัดดัมนั้นเป็นผู้ปกครองที่กดขี่เข่นฆ่าปราบปรามประชาชน ต้องเข้าไปปลดปล่อยและสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้น
แต่ผู้คนก็ไม่ยอมเชื่อ คงเห็นว่าบุกเข้าไปเพราะน้ำมันโดยเฉพาะอิรักที่มีสำรองน้ำมันมากเป็นที่สองของโลก
ในที่สุด อลัน กรีนสแปน นักการเงินผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐกลายเป็นผู้ตัดสินเมื่อเขาเขียนหนังสือระลึกความทรงจำ โดยกล่าวว่า "ผมรู้สึกเสียใจในความไม่สะดวกทางการเมือง (คือการยอมรับของเขาสามารถก่อความไม่สะดวกทางการเมืองแก่ชนชั้นนำสหรัฐได้) ที่จะต้องยอมรับอย่างที่ทุกคนทราบว่า สงครามอิรักส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของน้ำมัน" (จากหนังสือของ อลัน กรีนสแปน ชื่อ The Age of Turbulence : Adventures in a New World, 2007)
เมื่อประธานาธิบดีโอบามานำนิยายเก่าเรื่องปฏิรูปประชาธิปไตยมาขายอีกครั้งก็ดูไม่มีใครเชื่อมากนัก บางคนชี้ว่าหากลิเบียเป็นประเทศปลูกกล้วยหอมส่งออก สหรัฐ-นาโต้คงไม่ไปทิ้งระเบิดกรุงทริโปลี
บางคนชี้ไปถึงว่าสหรัฐไม่ได้ปรารถนาจะสร้างประชาธิปไตยในโลกอาหรับ เพราะว่าชาวอาหรับเห็นต่างกับนโยบายของสหรัฐ กล่าวคือขณะที่สหรัฐกล่าวว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาค จากการสำรวจประชามติชาวอาหรับกลับเห็นว่าสหรัฐเป็นภัยคุกคาม
ทั้งชาวอาหรับส่วนใหญ่ยังเห็นว่าภูมิภาคนี้จะมีความมั่นคงขึ้น หากอิหร่านมีระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งในประเทศอียิปต์ผู้ที่เห็นเช่นนี้มีถึงร้อยละ 80 มีชาวอาหรับจำนวนน้อยในภูมิภาคนี้คือราวร้อยละ 10 เห็นว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคาม (ดูบทสัมภาษณ์ของ Noam Chomsky ชื่อ U.S. And Its Allies Will Do Anything to Prevent Democracy in the Arab World ใน democracynow.org 110511)
เรื่องทั้งหมดก็ดูจะสรุปลงอย่างที่ทุกคนทราบว่า ประชาธิปไตยย่อมเกิดจากการยืดหยัดต่อสู้ของประชาชน ไม่มีผู้ใดมาประสิทธิประสาทให้ โลกอาหรับจะผลิบานเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ที่สำคัญอยู่ที่ชาวอาหรับเอง ไม่ได้อยู่ที่อื่น
ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดีฯ
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับประเทศซาอุดีฯ นั้น มองจากภายนอกจะเห็นความสัมพันธ์อันดี เช่น ซาอุดีฯ เป็นผู้ยืนหยัดต่อต้านอิทธิพลอิหร่าน เช่น เป็นแกนก่อตั้งกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ เปิดทางให้สหรัฐเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ในช่วงหนึ่งถึงกับให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศของตน เป็นแกนให้การซื้อขายน้ำมันอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และคอยดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันไหวตัวจนเกินไป
รวมทั้งเป็นผู้ช่วยออกเงินสำคัญในปฏิบัติการร่วมกับสหรัฐ เช่น การตั้งกองกำลังนักรบทางศาสนาเพื่อต่อต้านการยึดครองของสหภาพโซเวียต และเป็นลูกค้าอาวุธสงครามรายใหญ่ของโลก
แต่ก็มีส่วนที่ปีนเกลียวกัน นั่นคือซาอุดีฯ ก็ต้องการสร้างบทบาทเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคและในโลกอาหรับและโลกมุสลิม ได้ให้เงินช่วยเหลือจำนวนมากแก่ประเทศมุสลิม เช่น ในการสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม เงินช่วยเหลือนี้เป็นไปได้ว่าบางส่วนอาจพลัดเข้าสู่กลุ่มก่อการร้าย
ยิ่งเมื่อเกิดวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นชาวซาอุดีฯ สัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ซาอุดีฯ ก็ยิ่งไม่ราบรื่น
หลังจากบุกอิรักในปี 2003 ที่ซาอุดีฯ ไม่เห็นด้วย และเมื่อสหรัฐติดหล่มในสงคราม 2 แห่ง ซาอุดีฯ เริ่มการทูตแบบคบหลายฝ่าย เช่น มีผู้นำประเทศเดินทางไปเยือนรัสเซียและจีน เป็นต้น นอกจากนี้
บทบาทของซาอุดีฯ ในการตรึงราคาน้ำมัน และซื้อขายน้ำมันในสกุลดอลลาร์ก็อ่อนลงโดยลำดับ ก็ยิ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างมาทบทวนนโยบายต่างประเทศของตนกันใหม่
กรณีการลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับที่สหรัฐพลิกไปเข้าข้างฝ่ายชาวอาหรับและเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมูบารักลาออกนั้น กล่าวกันว่าสร้างความขุ่นเคืองให้แก่ผู้นำแห่งซาอุดีฯ เป็นอันมาก มีข่าวถึงขั้นว่าหากสหรัฐงดการช่วยเหลืออียิปต์ ซาอุดีฯ ก็จะออกเงินช่วยเหลือเอง นอกจากนี้
ซาอุดีฯ ยังส่งกองกำลังเข้าไปช่วยรัฐบาลบาห์เรนรักษาสถานการณ์ จนกระทั่งค่อยๆ ฟื้นตัวสู่สภาพปรกติ
กรณีนายกรัฐมนตรีคาเมรอนแห่งอังกฤษได้ปูพรมแดงเชิญเจ้าชายแห่งบาร์เรนไปเยือนที่ทำเนียบรัฐบาลที่ถนนดาวนิง (The Guardian 200511) เป็นสัญญาณแสดงว่าทั้งสหรัฐและซาอุดีฯ ยังต้องการกันและกัน และก็น่าที่จะพยายามรักษาสัมพันธไมตรีนี้ไว้
ความสัมพันธ์สหรัฐ-อิสราเอล
กล่าวได้ว่านับแต่สมัยประธานาธิบดีทรูแมนของสหรัฐ (ดำรงตำแหน่งระหว่าง 1945-1953) สหรัฐ-อิสราเอลได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันที่แน่นแฟ้นขึ้นโดยลำดับ จนเมื่อถึงสมัยประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1953-1961) ก็ได้กลายเป็นความสัมพันธ์พิเศษ ที่อิสราเอลทำหน้าที่คล้ายเป็นนายอำเภอรักษาความสงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่วนสหรัฐทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองโดยยอม "เสียค่าใช้จ่ายทุกอย่าง" ให้เงินช่วยเหลือและติดอาวุธ
กล่าวอีกนัยหนึ่งคืออิสราเอลได้กลายเป็นทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการช่วยควบคุมภูมิภาคนี้
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก ทั้งสหรัฐและอิสราเอลไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม ทั้งสองต่างไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการรักษาความสงบและควบคุมภูมิภาคตะวันออกกลาง
กล่าวคือสหรัฐไม่ประสบความสำเร็จในการยึดครองอิรักทั้งยังติดหล่มในสงครามอัฟกานิสถาน ไม่สามารถปิดล้อมทางการทูตต่ออิหร่าน
ข้างฝ่ายอิสราเอลไม่ประสบความสำเร็จในการกดการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ลงไปได้ โดยปาเลสไตน์มีพันธมิตรเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก
ที่สำคัญคือตุรกีที่เคยเป็นมิตรกับอิสราเอล ต้องการแสดงตัวเป็นมหาอำนาจท้องถิ่น และเข้ามาสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์อย่างเต็มที่
ขณะที่พันธมิตรของอิสราเอลลดลง จนแทบกล่าวได้ว่า ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว
ในสถานการณ์ใหม่เช่นนี้ได้มีนักวิชาการและนักยุทธศาสตร์สหรัฐหลายคนเริ่มมาทบทวนว่าอิสราเอลในปัจจุบันเป็นทรัพย์สินหรือหนี้สินกันแน่
การโอบอุ้มอิสราเอลต่อไปอาจทำให้สหรัฐต้องเสียมิตรในหลายประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา สูญเสียตุรกี เพิ่มความชอบธรรมแก่อิหร่าน
และที่สำคัญที่สุดผลักไสชาวอาหรับหลายร้อยล้านคนให้ไปอยู่ขั้วตรงข้าม
โดยการเล็งเห็นเช่นนี้ประธานาธิบดีโอบามาจึงได้กดดันให้อิสราเอลเปิดเจรจาสันติภาพกันปาเลสไตน์ตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง แต่ก็ไม่เป็นผล และกลับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-อิสราเอลย่ำแย่ที่สุดในรอบ 35 ปี เมื่อเกิดการลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ
โอบามาได้แถลงนโยบายใหม่ในปลายเดือนพฤษภาคมเกี่ยวกับตะวันออกกลางว่าจะยึดหลัก 2 รัฐคืออิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยยึดเส้นพรมแดนก่อนสงครามปี 1967 ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศในละตินอเมริกาเสนอ
เมื่อนายเนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลได้ยินเข้าก็ควันออกหู จับเครื่องบินไปวอชิงตัน เข้าพบและเล็กเชอร์ให้ประธานาธิบดีโอบามาฟังอยู่นานถึงประวัติความเป็นมาของชาติยิว ความสำคัญและความมั่นคงของอิสราเอลที่มีต่อสหรัฐ
ภาพการแถลงข่าวร่วมของผู้นำทั้งสองปรากฏอาการห่างเหินมึนตึง ไม่มีภาพความสัมพันธ์พิเศษหลงเหลืออยู่เลย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศต่างยังคงต้องการกันและกัน และพยายามไม่ขยายความขัดแย้งให้บานปลายไปกว่านี้
สำหรับในโลกอาหรับนั้นเห็นว่าอิสราเอลควรยอมรับความเป็นจริง โดยยอมให้มีรัฐปาเลสไตน์ตามเงื่อนไขของชาวปาเลสไตน์ (ดูบทความชื่อ Arab World Boos for Obama-Netanyahu Meeting ใน israelnationalnews.com 052211)
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มีบทความที่เกี่ยวข้องและเคยเสนอแล้ว ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/blog-post_07.html
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย