http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-04

ข่าวสารล้นเกิน กับความจำกัดของอารยธรรมอุตสาหกรรม โดย อนุช อาภาภิรม

.

ข่าวสารล้นเกิน กับความจำกัดของอารยธรรมอุตสาหกรรม
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 39


ข่าวสารล้นเกินเป็นปัญหาใหญ่ของอารยธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันในตัว กล่าวคืออารยธรรมอุตสาหกรรมเองได้สร้างยุคข่าวสารขึ้น แต่แล้วยุคข่าวสารกำลังกลายเป็นขีดจำกัดของอารยธรรมอุตสาหกรรมเอง
ปัญหานี้ดูจะหนักหนามากในวงการบริหารองค์กรธุรกิจและการผลิต ที่ต้องจัดการข่าวสารให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและการแข่งขัน และการเพิ่มกำไร (สำหรับผู้คนทั่วไปนั้นดูจะไม่เป็นปัญหามากเท่า และต้อนรับข่าวสารที่เข้ามาอย่างเป็นโอกาสมากกว่าเป็นปัญหา)

นอกจากนี้ ยังพบว่าเป็นปัญหาในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ในมุมมองของการเป็นปัญหามีประเด็นที่ควรกล่าวถึงคือ


อาการข่าวสารล้นเกินเป็นอย่างไร

อาการข่าวสารล้นเกินหรือกล่าวภาษาปากว่า ขยะข่าวสาร อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

1. บังเกิดข้อมูลข่าวสารมากเกินไปจนไม่สามารถประมวลผลได้
ความมากมายของข่าวสารดูได้จากการสื่อสารในอินเตอร์เน็ต ประมาณว่าในปัจจุบัน ทุก 60 วินาทีมีการส่งอีเมล 168 ล้านชิ้น มีการค้นหาในกูเกิ้ล 694,445 ครั้ง มีการอัพเดตในเฟซบุ๊ก 695,000 ครั้ง มีการโทรศัพท์ทางสไกป์ 370,000 ครั้ง ส่งทวิตเตอร์ 98,000 ทวิต มีบล็อกใหม่เกิดขึ้น 1,500 บล็อก 
นอกจากนี้ ยังมีกล้องดูดาวที่ส่งออกไปในอวกาศและส่งข้อมูลปริมาณมากมายกลับมาทุกวินาที โดยที่นักดาราศาสตร์ตามประมวลข้อมูลไม่ทัน 

หน่วยวัดข่าวสารขยายใหญ่ขึ้นทุกทีจากเมกะไบต์เป็นกิกะไบต์ (1 กิกะไบต์เท่ากับ 1 พันเมกะไบต์) ในขณะนี้ใช้หน่วยวัดเป็นเอกซาไบต์ (1 เอกซาไบต์เท่ากับ 1 พันล้านกิกะไบต์) 
และคาดว่าในไม่อีกกี่ปี่ข้างหน้าปริมาณข่าวสารที่ส่งกันในโลกจะต้องคิดเป็นเซตตาไบต์ (1 เซตตาไบต์เท่ากับ 1 พันเอกซาไบต์)

2. การต้องใช้เวลานานขึ้นในการรับ-ส่งข่าวสาร 
เช่น จากระดับปริมาณข่าวสารทั้งหมดที่รับส่งกัน พบว่าชาวอเมริกันทุกคนต้องใช้เวลา 12 ชั่วโมงต่อวันในการบริโภคข่าวสาร โดยเฉลี่ยชาวอเมริกันคนหนึ่งบริโภคข่าวสารคิดเป็นจำนวน 100,500 คำในรูปของอีเมล ข่าวสารในเครือข่ายสังคมออนไลน์ จากเว็บค้นหา หรือจากที่ใดๆ ที่เป็นเชิงดิจิตอล 
ถ้าให้ชาวอเมริกันนอนวันละ 7 ชั่วโมง ก็จะพบว่าเวลา 3 ใน 4 ของที่ตื่นอยู่จะใช้ในการบริโภคข่าวสาร แต่การบริโภคข่าวสารอาจทำพร้อมกันหลายสื่อ เช่น เล่นคอมฯ พร้อมกับเปิดทีวี ทำให้เวลาบริโภคสื่อมากกว่าวันละ 24 ชั่วโมงได้ (ดูบทความของ Alex Hudson ชื่อ The age of information overload ใน bbc.co.uk 140812)

3. เกิดเสียงอึกทึก (Noise) ได้แก่เสียงโทรศัพท์มือถือดังรบกวนแทรกขึ้นเป็นต้น ทำให้ต้องหันเหความสนใจจากที่ทำอยู่

4. การทำให้สื่อสารผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้แสดงและมีส่วนได้เสียเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายได้มาก เช่นการสื่อสารผิดระหว่างหอบังคับการกับนักบิน หรือการสื่อสารผิดในการทำธุรกรรม

5. เกิดภาวะต้องทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันไม่ดีต่อสุขภาพ และประสิทธิภาพในการทำงาน



ข่าวสารล้นเกินมีผลต่อสมรรถนะองค์กรธุรกิจอย่างไร

ข่าวสารล้นเกินสามารถส่งผลกระทบต่อทั้งบุคคลทุกระดับ ไปจนถึงต่อตัวองค์กรธุรกิจเอง ในด้านบุคคล ที่บ่นกันมาก ได้แก่ ด้านผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพรวมทั้งผู้บริหารที่ถูกโจมตีต่อเนื่องด้วยข่าวสารจากทุกทิศทุกทาง เช่น ช่วงหนึ่งจากเพื่อน อีกช่วงหนึ่งจากวิกฤติหนี้ในกรีซ จนเกิดความกังวลและความผิดปรกติของการคิด  
ซึ่งบางคนเรียกว่า "อาการล้าจากข่าวสาร" (Information Fatigue Syndrome)

สำหรับคนงานก็ตกอยู่ในหมอกข้อมูล (Data Fog) ที่หนาขึ้นอย่างไม่มีทางบรรเทา เพราะคนงานจำนวนมากก็ต้องทำงานหลายแห่งเพื่อเลี้ยงชีพ หลายบริษัทที่ต้องการผลงานจากคนงานให้มากที่สุดจึงไม่ยอมจ้างคนงานเพิ่ม เนื่องจากเกรงว่าไม่คุ้มค่าจ้าง สถานการณ์จึงยิ่งเลวร้ายจนหมอกข้อมูลอาจกลายเป็นหมอกพิษได้ 

ทั้งนี้ กล่าวขยายความได้ว่าเกิดมีภัยจากข่าวสารล้นเกิน 3 ประการทั้งต่อผู้เชี่ยวชาญและคนงานดังนี้

1. ข่าวสารล้นเกินก่อให้เกิดความกังวลและความรู้สึกว่าไร้อำนาจ  
โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าผู้รับภาระงานหลายชิ้นทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียดสูง มีบางงานศึกษาพบว่า เมื่อสมองต้องเผชิญกับภาระงาน 2 ชิ้น สมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่คิดเหตุผลก็จะแบ่งออกเป็น 2 ซีก เพื่อเพ่งความสนใจไปยังงานแต่ละชิ้น ซึ่งสมองก็ยังสามารถสลับกันทำงานทั้ง 2 ชิ้นนี้ได้ 
แต่เมื่อเกิดมีภาระงานชิ้นที่ 3 ขึ้น สมองก็ไม่สามารถจะสั่งงานได้พร้อมกัน ทำให้ความแม่นยำของสมองลดลง

และเกิดผลเสียบางประการดังนี้ 
ก) การไม่สามารถกรองข่าวสารที่ไม่เกี่ยวข้องออก และกลับไม่เลือกข่าวสารนอกประเด็นมาก 
ข) เกิดความยากลำบากในการดึงความจำทั้งระยะสั้นและระยะยาวมาสู่ความจำเพื่อการทำงาน และความลำบากในการเปลี่ยนสมองจากงานหนึ่งมาอีกงานหนึ่ง (ดูบทความชื่อ Digital Stress and Your Brain ใน businessinsider.com 020812 )

2. การรับข่าวสารล้นเกินเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์ 
มีนักวิจัยเรื่องนี้พบว่า การมีสมาธิ (Focus) กับความคิดสร้างสรรค์นั้นเกี่ยวข้องกัน คนจะมีความคิดสร้างสรรค์ก็ต่อเมื่อได้เพ่งความสนใจไปที่เรื่องหนึ่งเป็นเวลานานพอสมควรโดยไม่ถูกรบกวน 
แต่หากถูกรบกวนอยู่เสมอ หรือถูกบังคับให้ต้องเข้าประชุมก็จะทำให้ความคิดริเริ่มลดลง 
งานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ร้อยละ 30 ของคนอายุต่ำกว่า 45 ระบุว่า สมาร์ทโฟน เซลล์โฟน และคอมพิวเตอร์ ทำให้รวมสมาธิได้ยาก

3. ข่าวสารล้นเกินทำให้คนงานมีประสิทธิภาพการผลิตลดลง 
มีการศึกษาพบว่าเมื่อคนงานต้องทำงานหนัก 2 ชิ้นให้เสร็จพร้อมกัน ก็จะใช้เวลาทำงานมากขึ้น หรือมีความผิดพลาดสูงขึ้น กว่าคนงานที่ทำงานให้เสร็จทีละชิ้น 


สำหรับทางแก้ไขนั้น มีการเสนอไว้ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่  
1. ใช้เทคโนโลยีในการกรองข้อมูลข่าวสาร เช่น เว็บค้นหา จะพยายามค้นเรื่องให้ตามความต้องการของบุคคล หรือมีโปรแกรมที่ตัดการสื่อสารผ่านเว็บในบางช่วง 

2. ใช้ความอดกลั้น ซึ่งต้องฝึกพลังจิตระดับหนึ่ง โดยปิดโทรศัพท์มือถือและ อินเตอร์เน็ตเป็นช่วงๆ 

3. การฝึกฝนทางสมาธิ ได้แก่ 
ก) หาเวลาสร้างสมาธิ เรียกร้องให้คนงานสนใจกรอบวัตถุประสงค์ของงานเฉพาะหน้า กรองสิ่งอื่นที่ไม่เกี่ยวกับภาระงานออกทั้งหมด 
ข) พยายามลืมเรื่องงานเสียบ้างเมื่อทำได้ 
ค) ให้หัดถามตนเองว่าสิ่งที่ตนทำเป็นการสร้างสรรค์หรือเป็นเพียงกิจกรรรม ถ้าหากทำไปเหมือนเป็นงานประจำแล้วก็ต้องสนใจคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

(ดูบทความชื่อ Too much information- How to cope with data overload ใน economist.com 300611)



ภาระทางสังคมของการมีข่าวสารมากเกิน

มีวงจรการผลิตที่มีการป้อนกลับเชิงบวกและดำรงมาราว 200 ปีเศษที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ วงจรของการผลิตแบบอุตสาหกรรม-การแบ่งงานกันทำ-การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ-ความมั่งคั่ง-การบริโภคและกำไร-ข่าวสารความรู้ ซึ่งมีการหมุนรอบในทำนองนี้คือ การผลิตแบบอุตสาหกรรมอันได้แก่การผลิตโดยใช้เครื่องจักรกล ไม่ได้ใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์  แบบครั้งการเกษตรแบบดั้งเดิม ทำให้สังคมเกิดการก้าวหน้าและความซับซ้อนขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 
จากนี้ทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำที่ซับซ้อนตามไปด้วย จนในปัจจุบันได้เกิดอาชีพและผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆ จำนวนมาก 
เช่น ในหมวดวิศวกรรมศาสตร์ก็มีการแตกแขนงออกไปนับร้อยสาขา พร้อมกันนั้นก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่บริเวณขั้วโลกใต้ไปจนถึงขั้วโลกเหนือ ตั้งแต่บนดินจนถึงใต้ดิน ทั้งในแหล่งน้ำไปจนถึงอากาศและอวกาศ จากการแบ่งงานกันทำที่ละเอียดลออและใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลืองขึ้น ก่อให้เกิดความมั่งคั่ง

ความมั่งคั่งทำให้เกิดการบริโภคที่มากขึ้น ทั้งเป็นการบริโภคต่อหัวและจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การบริโภคที่มากขึ้น กระตุ้นให้มีการสร้างข่าวสารความรู้เพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาการผลิตแบบอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น หมุนเวียนแต่ละรอบก็ทำให้ข่าวสารความรู้เพิ่มขึ้นโดยลำดับ 
จนกระทั่งในปัจจุบันเริ่มเกิดความรู้สึกว่าข่าวสารที่ล้นเกินกลายเป็นปัญหาทางธุรกิจ ก่อความสับสนในสมองคน และเป็นภาระทางสังคม

การที่การเพิ่มพูนของข่าวสารความรู้ดำเนินไปควบคู่กับความก้าวหน้าและความเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงได้เกิดความคิดร่วมกันในระดับหนึ่งว่า เมื่อเกิดปัญหาอะไรก็แล้วแต่ทางแก้ก็อยู่ที่การปฏิรูปการศึกษา

มีการทุ่มเทงบประมาณให้แก่การศึกษามากขึ้น และการปรับปรุงการบริหารและการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพขึ้น 
เช่น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ก็มีรายงานชิ้นหนึ่งจากเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่ถือว่ามีการศึกษายอดเยี่ยมของโลกประเทศหนึ่งระบุว่า สังคมที่ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างพอเพียงแก่เยาวชนทำให้เศรษฐกิจยากที่จะขยายตัว 
โดยชี้ว่ามากกว่า 1 ใน 5 ของเด็กที่อายุ 15 ปี ในเยอรมนีมีการศึกษาที่ไม่พอเพียง (Inadequate Education) มีทักษะทางคณิตศาสตร์และการอ่านอยู่ในระดับประถม ซึ่งจะมีปัญหาในการหาตำแหน่งสำหรับฝึกงาน ที่นำมาสู่การได้งาน

ถ้าหากจัดการศึกษาให้พอเพียง คาดหมายว่าในปี 2090 จะสร้างผลตอบแทนถึง 2.81 ยูโร (ดูบทความของ Dr. Ludgar Woessmann และเพื่อน ชื่อ What Inadequate Education Costs Society ใน Bertelsmann-stiftung.d)

ความเข้าใจดังกล่าวก็มีส่วนถูก แต่ทุกอย่างนั้นมีความจำกัด การศึกษาก็เช่นเดียวกัน เมื่อพัฒนาไป ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงทั้งในภาครัฐและภาคประชาชน เป็นภาระทางสังคมที่หนักขึ้น

จากบทความในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ปี 1987 กล่าวถึงผลกระทบที่ค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมว่า เป็นเวลา 7 ปีต่อเนื่องกันที่ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าเงินเฟ้อ
ในปัจจุบัน (ค.ศ.1987) ค่าเล่าเรียนและค่าหอพักในมหาวิทยาลัยเอกชนสูงกว่า 17,000 ดอลลาร์ต่อปี ถ้าหากรวมค่าเดินทาง หนังสือ และของใช้อื่น ค่าใช้จ่ายจริงก็จะสูงเกือบ 20,000 ดอลลาร์ สำหรับค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยของรัฐอยู่ที่ 6,000 ดอลลาร์หรือกว่านั้น 

นี่เป็นสิ่งที่แตกต่างกันมากกับบรรยากาศทางสังคมในช่วงปี 1862 ในยุคการจับจองที่ดินของสหรัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มีการขยายตัวและเปิดโอกาสทางการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของการปฏิวัติทางการเกษตรและเครื่องจักรกล (เมื่อถึงยุคติจิตัล) เงินช่วยเหลือการศึกษาแก่นักศึกษาที่ขาดแคลนจากรัฐบาลกลางตกปีละ 2,300 ดอลลาร์ สำหรับนักศึกษาจำนวนมาก เพื่อที่จะหาเงินมาเรียนก็ต้องใช้การกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ใช่ถูก 
การจ่ายเงินกู้หลายหมื่นเหรียญหลังจากจบการศึกษานั้นบางคนก็ง่าย แต่บางคนก็ยาก เช่น ผู้เรียนวิชาชีพครูหรืองานด้านสังคม (ดูบทความของ Fred M. Hechinger ชื่อ Rising College Costs : Harsh Prospect for Society ใน nytimes.com 080987)



การศึกษานั้นเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรมาก แต่ก็เป็นความจำเป็นในการผลิตซ้ำคนงานของสังคม ในสังคมที่ไม่ซับซ้อน การศึกษาก็ไม่ต้องใช้เวลานาน 
เช่น ในสังคมเก็บของป่า-ล่าสัตว์ เมื่อเด็กอายุ 10 ขวบก็ได้รับการศึกษาพอหาอยู่หากินได้แล้ว
และในอารยธรรมอุตสาหกรรมอายุขนาดนั้นเพิ่งอยู่ชั้นประถมต้น และต้องเรียนรู้อีกมากกว่าจะสามารถเข้ามาอยู่ในสังคมและประกอบอาชีพได้

สำหรับชนชั้นกลางในเมืองเดี๋ยวนี้ก็ต้องการให้ลูกของตนจบการศึกษาปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย
เรียนกันตั้งแต่ชั้นอนุบาลอายุ 3 ขวบจนถึงจบปริญญาตรีราวอายุ 21-22 ปี และก็เริ่มพบว่ามันก็ยังไม่พอ เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น ต้องเรียนต่อถึงระดับปริญญาโท

เหล่านี้เป็นภาระต่อรัฐและครัวเรือนเป็นอันมาก จนปัจจุบันอยู่ในภาวะที่เกือบแบกรับต่อไม่ไหว เช่น ในประเทศตะวันตกที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ต่างพากันเดินนโยบายอดออม ตัดงบทางการศึกษาอย่างหนัก จนเกิดการประท้วงใหญ่โต ภาคครัวเรือนที่ต้องกู้หนี้มาเรียน เผชิญกับปัญหาการว่างงาน ปัจจุบันยอดหนี้การศึกษาของนักศึกษาสหรัฐสูงถึงราว 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงขึ้น ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัว

แน่นอนว่ายังมีช่องทางในการปฏิรูปการศึกษาให้ดีกว่านี้ได้ แต่ไม่ควรตั้งความหวังให้มาก เพราะว่าสังคมและบุคคลมีเวลาที่จำกัด มีทรัพยากรที่จำกัด มีงบประมาณที่จำกัด และมีสมองที่จำกัด



.