http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-13

รับ80 ปี“รธน.”- “การเมือง”เรื่อง“คนธรรมดา” โดย ชัชชล อัจนากิตติ

.
บทความเพิ่ม - การแก้ไข‘รัฐธรรมนูญ’ ศึกษาจาก 18 ฉบับ จาก พ.ศ.2475 ถึง 2555

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

รับ80 ปี“รัฐธรรมนูญ” รัฐศาสตร์วิชาการ มธ. “การเมือง”เรื่อง“คนธรรมดา”
โดย ชัชชล อัจนากิตติ
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:46:16 น.


24 มิถุนายน พ.ศ.2475 "คณะราษฎร" ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และต่อมา วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้ประกาศใช้"พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย 
นับเป็นหลักหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ระบอบใหม่ที่ยึดหลักนิติรัฐ

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นเพียงฉบับ "ชั่วคราว" ที่บังคับใช้ได้เพียงไม่กี่เดือน ก่อนที่ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475" ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ "ถาวร" ฉบับแรก ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการต่อรองจากชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ จะถูกประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 
จากวันนั้นถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 80 ปีแต่ประเทศของเรากลับมีรัฐธรรมนูญทั้งหมดถึง 18 ฉบับ
ทั้งหมดเป็นผลมาจาก "วงจรอุบาทว์" คือ การทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญและร่างใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า


ล่าสุด การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการ "รัฐประหาร 19 กันยา" ยังคงเป็นประเด็นร้อนในสังคมอย่างต่อเนื่อง 
แต่หากพิจารณาให้ดี ตลอด 80 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยยังวนเวียนอยู่กับ "วงจรอุบาทว์" เป็นเพราะระบบการเมืองที่โฟกัสอยู่ที่การเดินเกมของตัวละครทางการเมืองระดับ "ชนชั้นนำ" แต่เพียงด้านเดียว ขณะที่บทบาทของ "คนธรรมดา" ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก 
ทั้งๆ ที่การเมืองของ "คนธรรมดา" มีความสำคัญและเป็นพลังที่สามารถยุติ "วงจรอุบาทว์" ได้ 

สอดคล้องกับที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานรัฐศาสตร์วิชาการ ครั้งที่ 20 ในหัวข้อ "การเมืองเรื่องคนธรรมดา"ขึ้นที่อาคารคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 
โดยกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ การนำเสนอบทความวิชาการจากนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ได้รับการคัดเลือก โดยคณะกรรมการจากคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นก้าวใหม่ของการจัดกิจกรรมทางวิชาการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความรู้ความสามารถ

หนึ่งในหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ ได้แก่ "การเมืองไทยการเลือกตั้ง มายาคติกับความจริง" โดยมีผู้นำเสนอผลงานทั้งหมด  3 คน ที่ร่วมกันสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองไทยกับคนธรรมดาในแง่มุมต่างๆ  
อนุพงษ์ จันทะแจ่ม เจ้าของผลงาน "มองชายแดนใต้ผ่านไผ่ พงศธร" กล่าวว่า เพลงในฐานะ "วัฒนธรรมป๊อป" มีบทบาทกับผู้คนในสังคมร่วมสมัยอย่างยิ่ง จึงต้องการศึกษาการทำงานของบทเพลงในรูป "วัฒนธรรมป๊อป" โดยเฉพาะในบทเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้  
"เพลง ทบ.2 ลูกอีสาน ของไผ่ พงศธร เป็นเพลงลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมมาก เนื้อหาของเพลงพูดถึงชีวิตทหารเกณฑ์ที่มาปฏิบัติหน้าที่ในกลไกระดับล่างของรัฐ ท่อนหนึ่งของเพลงนี้กล่าวว่า "สังเวยชีวิตแยกดินแบ่งฟ้า" สื่อว่าเหตุที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มก่อความไม่สงบเพียงอย่างเดียว การกล่าวแบบนี้เป็นการเหมารวมปัญหามากเกินไป... 
"เพราะถ้าไปดูสถิติจากงานวิชาการจะเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีที่มาจากหลายๆ ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมืองท้องถิ่น ปัญหาการใช้อำนาจ การค้าอาวุธ หรืออาชญากรรม ไม่ต่างกับพื้นที่อื่นๆ" อนุพงษ์กล่าว

นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า นอกจากเพลง ทบ.2 ลูกอีสาน แล้ว อีกเพลงหนึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายคือ เพลง "ขวานไทยใจหนึ่งเดียว" ของ ยืนยง โอภากุล หรือ "แอ๊ด คาราบาว" กล่าวถึงมุมมองด้านประวัติศาสตร์และเชื้อชาติ โดยเน้นย้ำการดำรงอยู่ของรัฐชาติไทยว่ามีมาอย่างยาวนานและมีความต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาตั้งแต่อดีต 
อุดมการณ์ข้างต้นแฝงความเป็นชาตินิยมและไม่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 
"เพลงเหล่านี้ถูกนำเสนอในฐานะวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นสื่อร้อนที่เสพได้รวดเร็ว นำเสนออย่างฉาบฉวย ตื้นเขิน แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง แต่ภายใต้สังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย เราควรจะไตร่ตรองสักนิดก่อนรับฟัง" อนุพงษ์กล่าว

จากนั้น ณสดมภ์ ธิติปรีชา เจ้าของผลงาน "ความเป็นธรรมดา" กับการจัดการ "ชุดความจริง" ภายใต้ร่มเงาของ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" นำเสนอให้เห็น "มายาคติ" จาก "ความเป็นไทย" ที่ไม่ได้สร้างปัญหาเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น 
ณสดมภ์กล่าวว่า การเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน  พ.ศ.2549 ข่าวลือและเรื่องเล่าต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลต่อวิธีคิดและการรับรู้ในสังคมการเมืองไทยอย่างมาก โดยเฉพาะอิทธิพลของโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้เกิดการตัดต่อภาพ ตัดต่อคลิป สร้างความจริงแต่ละแง่มุมมานำเสนอเพื่อสร้างฐานมวลชน 
"ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่าชุดความจริงที่รัฐเคยมีอำนาจในการสร้างแก่สาธารณะถูกสั่นคลอน ไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นพ้องต้องกันในสิ่งที่รัฐนำเสนอ มีความพยายามจากหลายกลุ่มทางการเมืองเข้ามาจัดการ นิยามความจริงให้กับสาธารณชนรับรู้ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งกระบวนการสร้างข่าวลือ เรื่องเล่าต่างๆ นี้ดำรงอยู่ในฐานะความจริงที่ถูกจัดการให้เป็นอาวุธชนิดหนึ่งของคนธรรมดา" ณสดมภ์กล่าว

ณสดมภ์กล่าวกล่าวอีกว่า งานวิจัยของ อ.สายชล สัตยานุรักษ์ ชี้ว่าสังคมไทยมีความจริงใดบ้างที่ถูกสร้างให้เป็นเรื่องธรรมดา โดยสามารถสรุปได้ 6 ประเด็น ได้แก่ 1.ผู้นำที่ดี ต้องมีคุณธรรม 2.สิทธิเสรีภาพแบบไทยๆ ไม่ใช่สำนึกเสรีภาพในฐานะพลเมือง 3.ผู้นำมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ 4.สังคมต้องมีความสงบสุข ความสามัคคี และมีระเบียบ 5.การรู้จักที่ต่ำที่สูง ยอมรับโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำเพื่อแบ่งระดับคนในสังคม 6.เมืองไทยนี้ดีที่สุดในโลก 
"จุดมุ่งหมายของความจริงทั้งหมดที่ความเป็นไทยได้สร้างโดยสังเขปคือ ต้องการให้เกิดความนิ่งเงียบทางการเมือง และแปรความนิ่งเงียบให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งสุดท้ายจะเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นนำ

"ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งเป็นการผสมหลักการสากล เช่น ระบอบประชาธิปไตยกับบริบทเฉพาะของสังคมไทย เป็นคำอ้างสากลที่สังคมไทยฉวยใช้เพื่อทำให้เรื่องผิดปกติตามหลักประชาธิปไตยกลายเป็นเรื่องธรรมดา เช่น การรัฐประหาร การสลายการชุมนุม" นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์กล่าว 
ผลงานทั้ง 2 ชิ้นข้างต้น ต่างชี้ให้เห็นปัญหาทางการเมืองและมายาคติที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตทางการเมืองของผู้คนภายในรัฐไทยอย่างแยบยล คอยบงการผู้คนในระดับความคิดจิตสำนึก


ก่อนที่ ต่อศักดิ์ สุขศรี นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน "การเลือกตั้งกับสังคมการเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน : พลวัตรและเหตุปัจจัยอันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในฐานะเครื่องมือของ คนธรรมดา" จะลงมือวิเคราะห์ "การเลือกตั้ง"ในฐานะความหวังของคนธรรมดาในการแก้ปัญหาทางการเมือง 
ต่อศักดิ์กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีพลวัตรในแต่ละช่วงเวลา และท่ามกลางความขัดแย้งในปัจจุบัน การเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งกลับมามีความสำคัญ ได้แก่

1.การเปลี่ยนย้ายอำนาจ ตั้งแต่การลุกขึ้นสู้ 14 ตุลา 2516-พฤษภาประชาธรรม 2535 มีผลทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยในรัฐสภาซึ่งต้องมีการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองหยั่งรากมากขึ้น ประกอบกับข้อเสนอทางการเมืองที่ผ่านมา อาทินายกฯ พระราชทาน การรัฐประหาร หรือการใช้ความรุนแรง ซึ่งตอนแรกถูกทำให้เข้าใจว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน กลับนำไปสู่ปัญหาอื่นที่หนักและร้าวลึกขึ้นกว่าเดิม 

2.รัฐธรรมนูญปี 2540 ถือกำเนิดขึ้นด้วยกระแสปฏิรูปการเมืองสร้างความต่อเนื่องของระบบการเมือง เพิ่มความเข้มแข็งให้นายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหาร พรรคการเมือง นำไปสู่เสถียรภาพของรัฐสภา ทำให้การเลือกตั้งมีความสำคัญขึ้น 

3.พรรคไทยรักไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นปัจจัยที่ประจวบเหมาะพอดีกับการปฏิรูป ปี พ.ศ.2540 กลุ่มทุนที่รอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ นำโดยทักษิณ ตระหนักว่าต้องเข้าไปในการเมืองด้วยตัวเอง เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายของภาครัฐให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจของตน และเล็งเห็นว่าคนกลุ่มไหนจะเป็นฐานเสียง จึงดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่แนวสังคมเพื่อปรับรับมวลชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง

4.การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางใหม่ งานวิจัยของ อ.อภิชาติ สถิตนิรามัย และคณะ ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่ทศวรรษ 2530 สังคมไทยพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการบริการโตนำหน้าภาคการเกษตรอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้คนที่เคยอยู่ในภาคเกษตรได้รับผลกระทบต้องออกมาสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจแบบใหม่ และคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นใหม่มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ทำให้พวกเขาตระหนักว่าการเลือกนโยบายของภาครัฐจะส่งผลกระทบต่อชีวิต

"ถ้าการเลือกตั้งสำคัญมากขึ้น ข้อดีคือทำให้ระบอบการเมืองแบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง ช่องทางอื่นที่ไม่ใช่การเลือกตั้งก็จะลดความสำคัญลง แต่การให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งจนสุดโต่ง จนละเลยหลักนิติรัฐ หรือละเลยการจำกัดอำนาจรัฐในด้านอื่นๆ อาจจะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เสรี" ต่อศักดิ์ทิ้งท้าย


ทั้งหมดนี้คือ ความคิดความเห็นที่ผ่านการคิดวิเคราะห์ตามหลักวิชาการด้านรัฐศาสตร์โดยคนรุ่นใหม่

เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นปัญหาที่แทรกซึมอยู่ในวิธีคิดและจิตสำนึกของผู้คน ก่อนจะวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหาตามกลไกประชาธิปไตยที่ยึดหลักกฎหมายเป็นใหญ่และอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ยังไร้หลักประกันว่า "รัฐธรรมนูญ" ที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบจะได้รับการสถาปนาโดยสมบูรณ์



+++

การแก้ไข‘รัฐธรรมนูญ’ ศึกษาจาก 18 ฉบับ จาก พ.ศ.2475 ถึง 2555
คอลัมน์ การเมือง ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:40:14 น.


การแตะต้อง หรือความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปแล้ว
ความคิด ความเห็น ทรรศนะ รวมถึงโพลต่างๆ ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความขัดแย้ง
จนอาจจะกลายเป็นวิกฤตทางการเมือง


รัฐธรรมนูญแตะต้องไม่ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องต้องห้ามและมีอันตรายจริงหรือ


ประเทศไทยเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 
มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก เรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ2475" เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2475 
มี 39 มาตรา ผู้ยกร่าง คือ "คณะกรรมการราษฎร" และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ 
นั่นถือเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว

วันที่ 10 ธ.ค.2475 จึงมีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรสยาม พ.ศ.2475" 
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ยกร่างเสนอสภาผู้แทนฯให้ความเห็นชอบ และทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้
รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกนี้ มี 68 มาตรา อายุการบังคับใช้ 13 ปี 4 เดือนเศษ 
มีการแก้ไข 3 ครั้ง จึงถูกยกเลิก เนื่อง จากล้าสมัย และประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489" เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2489 
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้อยู่เพียง 1 ปี 6 เดือน ก็ถูกยกเลิกด้วยประกาศคณะรัฐประหาร 
ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เมื่อ 8 พ.ย.2490

เปิดฉาก "โมเดล" ของการทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ที่จะดำเนินต่อไปอีกยาวนาน
ผ่านยุค 2500 ลากยาวไปจนถึงรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 
อันเป็นรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 
และเป็นบ่อเกิดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่มีความพยายามจะแก้ไข และยกร่างใหม่อยู่ในขณะนี้




รัฐธรรมนูญไทยนับจากฉบับ 27 มิ.ย. 2475 มาจนถึงฉบับ พ.ศ.2550 รวมแล้ว มีทั้งสิ้น 18 ฉบับ 
ประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญ บอกข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่แก้ไข ปรับเปลี่ยน แม้กระทั่งยกเลิกได้" 

แม้กระทั่งการนำเอารัฐธรรมนูญเก่ามาปัดฝุ่นใช้ใหม่ ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

หลังจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำรัฐประหารในปี 2494 
แล้วนำเอารัฐธรรมนูญปี 2475 หรือฉบับ 10 ธันวาฯ มาให้สภาผู้แทนฯแก้ไขเพิ่มเติม แล้วประกาศใช้ในปี 2495 
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใช้ต่อมาอีก 6 ปี 7 เดือน จึงถูกฉีกทิ้งอีกครั้ง 
โดยรัฐประหาร 20 ต.ค.2501 ภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


จากนั้นเข้าสู่ยุคของการใช้ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502" 
เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเพียง 20 มาตรา 
ให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้อย่างสูง นายกรัฐมนตรีมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 17 
สั่งประหารชีวิตได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม 
เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับนานถึง 9 ปี ไปยกเลิกในปี 2511

แล้วมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2511 โดยรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร 
ใช้อยู่ 2 ปีเศษ จอมพลถนอมปฏิวัติตัวเองในปี 2514 ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งอีก 
แล้วนำธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2515 ที่มีเพียง 23 มาตรา และให้อำนาจพิเศษแก่ นายกฯเหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์มาใช้

ความไม่พอใจของประชาชน ที่สะสมจากยุค 2490 สะสมจากยุครัฐธรรมนูญ 20 มาตรา กลายเป็นระเบิดที่ปะทุรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 
เข้าสู่ยุคที่ประชาชนตระหนักในพลังของตนเอง ที่สามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้




ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่ปรับ เปลี่ยนแก้ไขได้ 
และได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไข และยกเลิกมาแล้วหลายยุคหลายสมัย 
ในอดีตการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของอำนาจระดับสูง ที่เข้ามาฉีกทิ้ง ร่างใหม่ ฯลฯ

บัดนี้ประชาชนเจ้าของอำนาจตัวจริง จะเข้ามาแก้ไขและยกร่างบ้าง

กลายเป็นเรื่องวิกฤตที่อาจนำไปสู่ "วันสิ้นโลก" เลยทีเดียว



.