http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-15

ทุนใหญ่VSทุนsme เปิดสงครามตัวแทนฯ โดย ศัลยา ประชาชาติ

.
บทความก่อนหน้า - ปลดล็อก 3G กดปุ่มชิงเค้กแสนล้าน จุดพลุสงครามแข่งขันยักษ์มือถือ โดย ศัลยา ประชาชาติ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ทุนใหญ่ VS ทุนSMEs เปิดสงครามตัวแทน ศึกชิง ปธ.สภาอุตสาหกรรม
โดย ศัลยา ประชาชาติ  คอลัมน์ บทความพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1687 หน้า 13 


หลังจากที่เวลาผ่านไป 1 เดือน ศึกแย่งตำแหน่ง ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) มีทีท่าจะยังไม่จบสิ้น เมื่อฝ่าย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนปัจจุบันยังคงยืนกราน "ไม่ยอมลาออก" จากตำแหน่ง
ขณะที่ฝ่าย "ไม่เอา" นายพยุงศักดิ์ ก็ยังคง "กดดัน" ให้นายพยุงศักดิ์ลาออกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดประชุมสมาชิก สอท. นอกรอบอย่างถี่ยิบ
เรียกร้องให้มีการเปิดประชุมคณะกรรมการประจำเดือน (กส.) เพื่อ "โหวต" หาประธานคนใหม่ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้


ปฐมเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นน่าจะมาจาก 3 สาเหตุด้วยกันคือ

1. ผลประโยชน์ใน สอท. ที่กลายเป็นช่องทางในการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับรัฐบาล ในฐานะ 1 ใน 3 ขององค์กรภาคเอกชนที่เสียงดังที่สุด 
นอกจากนี้ ตัวประธาน สอท. เองยังเป็นกรรมการชุดต่างๆ โดยตำแหน่งมากกว่า 50 ชุด แน่นอนว่า ข้อมูล "Inside" กับการ "Lobby" นโยบายสำคัญของรัฐบาลสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาผ่านช่องทางเหล่านี้

2. ความไม่พอใจของสมาชิก สอท. ในกลุ่มผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (SMEs) กับ กลุ่มสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ที่มองว่า การบริหารสภาอุตสาหกรรมฯ ในปัจจุบันถูก "ครอบงำ" โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย, กลุ่มบริษัท ปตท., กลุ่มสหพัฒน์ และ ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น 
ส่งผลให้ตำแหน่งบริหารภายในสภาถูกจัดสรรให้กับพรรคพวก ในขณะที่กลุ่ม SMEs ถูกละเลย เหมือนต้องยืมจมูกกลุ่มทุนใหญ่หายใจ

ความไม่พอใจนี้ปะทุออกมาอย่างเห็นได้ชัดคราวการเลือกตั้งประธาน สอท. บนขั้นบันไดศูนย์สิริกิติ์ (26 พฤศจิกายน 2555) ซึ่งครั้งนั้นปรากฏ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ได้รับการโหวตจากสมาชิกกลุ่มที่ไม่เอาพยุงศักดิ์ ขึ้นเป็นประธาน สอท. ซ้อนกันขึ้นมาอีกคน 
แต่สุดท้ายก็ยื่นใบลาออกในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อถูกกดดันจากเครือสหพัฒน์ โดย นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ยืนยันที่จะอยู่ข้างนายพยุงศักดิ์ ต่อไป 
พร้อมๆ กับ "ใบปลิว" ที่ถูกเผยแพร่ว่อนสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวโจมตี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย แสดงให้เห็นร่องรอยของความร้าวฉานที่เกิดขึ้นจากการถูกครอบงำดังกล่าว

และ 3. ความไม่พอใจของกลุ่มสมาชิก SMEs กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ที่นายพยุงศักดิ์ "ไม่ใส่ใจ" ในข้อเรียกร้องให้ชะลอการขึ้นค่าแรง 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศออกไปก่อน รวมไปถึง การ "ถอด" วาระมาตรการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูจากผลกระทบการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ออกจากการประชุมร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.)
โดยการถอดวาระมาตรการช่วยเหลือนี้ ทางกลุ่มกล่าวหาว่า เป็นฝีมือของนายพยุงศักดิ์ ที่ต้องการเอาใจรัฐบาล โดยมองว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศนั้น "เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้"



ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ กลุ่มไม่เอาพยุงศักดิ์ ได้เคลื่อนไหวกดดันประจานการทำงานของประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนปัจจุบันต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง 
ในขณะที่กลุ่มนายพยุงศักดิ์พยายามที่จะอิงแอบนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกกระทรวงการคลัง หรือ นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนา ด้วยการ "สร้างภาพ" เข้าพบ พร้อมกับยื่นให้ตีความการถอดถอนนายพยุงศักดิ์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ว่า ถูกต้องตาม พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ 2530 หรือไม่ 
กลายมาเป็นช่องโหว่มโหฬารให้กลุ่มไม่เอาพยุงศักดิ์ หยิบขึ้นมาโจมตีด้วยข้อกล่าวหาใหม่ล่าสุดที่ว่า นายพยุงศักดิ์ พยายามนำการเมืองเข้ามาในสภาอุตสาหกรรมฯ 
ประกอบกับความเป็นจริงที่ ฝ่ายนิติกร กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า กระทรวงไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแทรกแซงกระบวนการประชุมคณะกรรมการ สอท. เป็นเรื่องที่สมาชิก สอท. จะต้องแก้ไขปัญหากันเอาเอง ส่งผลให้การออกมาให้ความสนับสนุนนายพยุงศักดิ์ ทั้งของนายกิตติรัตน์ กับนายประเสริฐ ค่อยๆ เงียบเสียงลง
ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น


ในขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็โชว์พลังด้วยการระดมสมาชิกในกลุ่มที่สนับสนุนตนเองเข้าประชุม พร้อมกับการประกาศสนับสนุนจากกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ กลายมาเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่แผงหลังของนายพยุงศักดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ 
ขณะที่แผงหลังของ กลุ่มไม่เอาพยุงศักดิ์ เต็มไปด้วยตัวแทนภาค กลุ่ม SMEs และ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ
เผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียดพร้อม "สาดโคลน" เข้าหากันอย่างเมามันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาอุตสาหกรรมฯ ขณะนี้ก็คือ เมื่อ "การเมือง" ถอยห่างออกจากการถูกดึงเข้าสู่วังวนของความขัดแย้ง จากการออกตัวของ รมต.อุตสาหกรรม ที่ต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายประนีประนอมหาข้อยุตินั้น กลุ่มนายพยุงศักดิ์ จะทำอย่างไร 
ในเมื่อสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ของนายพยุงศักดิ์ ในปัจจุบัน มีสมาชิก สอท. กลุ่มหนึ่ง "ไม่ยอมรับ" การบริหารงานของนายพยุงศักดิ์ นั้นหมายความว่า ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ไม่สามารถประสานผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกด้วยกันเองให้ลงตัวได้
มิหนำซ้ำการระดมพลสู้เพื่อ "ปกป้อง" ตำแหน่งของตัวเองกลับกลายเป็นผลร้ายที่ช่วย "ตอกย้ำ" สถานการณ์ในปัจจุบันที่ว่า คณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมฯ ชุดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แล้วจะเอากลุ่ม SMEs ไปยืนอยู่ตรงไหน

การสาวไส้กันไปมาระหว่างกันในศึกชิงประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ครั้งนี้จึงกลายเป็นเรื่องน่าละอายสร้างความมัวหมองให้กับองค์กรที่มีอายุยาวนานมากว่า 25 ปีแห่งนี้ 



++

ปลดล็อก 3G กดปุ่มชิงเค้กแสนล้าน จุดพลุสงครามแข่งขันยักษ์มือถือ
โดย ศัลยา ประชาชาติ  คอลัมน์ บทความพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1686 หน้า 11


เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่า ประชาชนคนใช้บริการโทรศัพท์มือถือเมืองไทย รอคอยบริการใหม่ 3G มานานเกินกว่า 2 ปีแล้ว หากนับตั้งแต่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ดำเนินการประมูลใบอนุญาตใหม่บนคลื่น 2.1 GHz แต่มีเหตุให้ล้มคว่ำลงไปจากการฟ้องร้องของ บมจ.กสท โทรคมนาคม 
ล่วงเลยมาจนกระทั่งมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ามาเดินหน้าจัดกระบวนการประมูลใบอนุญาตใหม่อีกครั้งเมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา 
อันที่จริงบ้านเรามีแนวคิดเรื่องการพัฒนาบริการโทรศัพท์มือถือระบบ 3G มานานนับสิบปี จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง จนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงแซงหน้าไปเกือบหมดแล้ว

อาจกล่าวได้ว่า 3G เมืองไทยมาช้ากว่าที่ควรจะเป็นไปมากแล้ว
ช้ามากกระทั่งเริ่มกระทบกับบริการเดิม ทำให้คุณภาพเครือข่ายการให้บริการโทรศัพท์มือถือมีปัญหา เนื่องจากคลื่นความถี่ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการใช้งานด้านดาต้าที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากจากกระแสความนิยมในการใช้สมาร์ทดีไวซ์ ทั้งสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เพื่อต่อเชื่อมเข้าสู่โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ 
ประชาชนคนใช้บริการต้องร้องเพลงรอบริการใหม่ ขณะที่ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรอคอยการมาถึงของระบบใบอนุญาตใหม่เพื่อพัฒนาบริการบนคลื่นใหม่ เพราะสัมปทานที่มีอยู่ใกล้จะหมดอายุเต็มที


เมื่อ "กสทช." จัดประมูลใบอนุญาตบนความถี่ใหม่ 2.1GHz สำเร็จลุล่วงลงไปเมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา เท่ากับเป็นการกดปุ่มเดินเครื่องบริการ 3G แต่ด้วยเงื่อนไขการประมูลที่เปิดให้มีผู้เข้าประมูลได้เพียง 3 รายเท่าจำนวนใบอนุญาตทำให้การประมูลชิงคลื่นความถี่ใหม่ ใบอนุญาตใหม่ ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันด้าน "ราคา" จนเป็นเหตุให้เม็ดเงินที่ได้จากการประมูลดูน้อยมากในสายตาคนทั่วไป 
เพราะค่ายมือถือจ่ายเพียงรายละหมื่นล้านบาทเศษ เมื่อมีการนำไปเทียบกับเม็ดเงินที่ภาครัฐเคยได้จากระบบสัมปทานแบบเดิมด้วยแล้ว ย่อมทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า การจัดการประมูลของ "กสทช." ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่ควรได้ไปมหาศาล

หลังการประมูลจบลง ข้อครหา "ฮั้วประมูล" ดังกระหึ่มทั่วสารทิศ จนมีคดีความฟ้องร้อง ล่าสุด เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นฟ้อง สำนักงาน กสทช. ว่าจัดการประมูลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลปกครองชะลอการให้ใบอนุญาต  
แม้ผู้ชนะการประมูลจะจ่ายค่าประมูลงวดแรกเป็นเงิน 50% ของมูลค่าที่ประมูลได้แก่ "กสทช." ไปแล้วเรียบร้อย แต่กระบวนการให้ใบอนุญาตก็มีอันต้องสะดุดหยุดลง เพื่อรอการตรวจสอบกรณี "ฮั้ว" และรอฟังคำตัดสินของศาลปกครอง 

หลายฝ่ายโดยเฉพาะ กสทช. และค่ายมือถือต่างตกอยู่ในอาการหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะถึงจะยืนยันแข็งขันว่าได้ดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ 
จนเมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งด้วยมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ให้จำหน่ายคดีออกจากระบบเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา 
กระบวนการให้ใบอนุญาตบริการ 3G ของ "กสทช." ก็เดินหน้าต่อทันที โดยระบุว่าจะเร่งออกใบอนุญาตให้ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ส่วนเรื่อง "ฮั้ว" ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะทำงานที่ตั้งโดย "กสทช." ต่างสรุปผลการตรวจสอบออกมาแล้วว่า ไม่พบว่ามีการฮั้วประมูลแต่อย่างใด
เท่ากับเป็นการกดปุ่มเดินหน้าบริการ 3G อีกครั้ง



"พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โต้โผใหญ่ในการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G มั่นใจอย่างยิ่งว่า จากนี้ไปไม่น่าจะมีอะไรมาหยุดการเปิดบริการ 3G ได้อีก 
"คาดว่าจะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2.1GHz เพื่อให้บริการ 3G ได้ราวสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ขณะนี้รอให้ 3 บริษัทที่ชนะการประมูลส่งข้อมูลการลดค่าบริการของผู้ประกอบการตามที่ กทค. ได้แถลงไว้ว่าจะทำให้ค่าบริการ 3G ลดลงจากปัจจุบัน 15?20%"

"ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช. พูดถึงแผนการลดค่าบริการของเอกชน ว่า ทั้ง 3 บริษัทได้ขอเลื่อนเวลาการส่งข้อมูลออกไปก่อน แต่สำนักงาน กสทช. จะไม่รอข้อมูลจากเอกชน และได้ให้สำนักงาน กสทช. คำนวณราคาเฉลี่ยของค่าบริการในตลาดทั้งบริการเสียงและข้อมูล เพื่อเสนอที่ประชุม กทค. ในวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคมนี้ โดยจะกำหนดเป็นเงื่อนไขที่ กทค. จะใส่แนบท้ายใบอนุญาต โดยเฉพาะเงื่อนไขการลดราคาค่าบริการให้ทั้ง 3 ค่าย ต้องให้บริการในราคาที่ลดลง 15% จากราคาเฉลี่ยของตลาดตามตัวเลขที่สำนักงาน กสทช. เสนอ 
และเมื่อกระบวนการออกใบอนุญาตเสร็จสิ้น สำนักงาน กสทช. จะผลักดันการออกประกาศการใช้โครงข่ายร่วมกัน (อินฟราแชริ่ง) รวมถึงประกาศลดค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) สำหรับบริการเสียงให้เหลือนาทีละ 50 สตางค์ และเร่งกำหนดค่า IC สำหรับบริการดาต้าด้วย


แม้ค่ายมือถือจะไม่ปลื้มกับเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต เกี่ยวกับการบังคับให้ลดค่าบริการลง 15-20% แต่เชื่อว่าทุกเจ้าจะยอมอ่อนข้อเพื่อแลกกับการให้ได้มาซึ่งใบอนุญาต เพราะในระหว่างรอคอยใบอนุญาต ต่างเตรียมความพร้อมในการติดตั้งระบบ 3G ไปก่อนล่วงหน้าแล้ว 
พร้อมถึงขนาดที่ว่า บางรายอาจสามารถเปิดบริการ 3G หลังได้รับใบอนุญาตเพียง 3-4 เดือนข้างหน้า หรือก่อนไตรมาส 2 ปีหน้าด้วยซ้ำไป

"ปรัธนา ลีลพนัง" ผู้บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ยอมรับว่า เตรียมการเรื่องการติดตั้งโครงข่าย 3G บนคลื่น 2.1 GHz มาเป็นปีแล้ว ถึงวันนี้เสร็จไปแล้ว 60-70% ทั้งชุมสาย และระบบสื่อสัญญาณ เรียกว่ามีความพร้อมในการให้บริการ เพียงรอให้ กสทช. ออกใบอนุญาตก็นำอุปกรณ์ออกอากาศสัญญาณบนคลื่น 2.1GHz เข้ามาได้ในทันที 
"เชื่อว่าทุกรายคงแข่งทำตลาดเพื่อชวนลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการของตนเองอย่างรุนแรง และคงทำตลาดกันเต็มที่ เหมือนมีสินค้าใหม่ในตลาด คล้ายกับช่วงที่เปิดระบบดิจิตัลแทนอะนาล็อกในอดีต ปีหน้าจะมีแพ็กเกจบริการที่หลากหลายโดยเฉพาะด้านดาต้ามากขึ้น โดยจะเจาะจงเฉพาะเรื่องมากขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้า"

สอดคล้องกับค่ายทรู "อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข" ผู้บริหารกลุ่มทรู ระบุว่า จะเร่งขยายโครงข่ายเพื่อให้บริการดีที่สุด เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในบริการ 3G แม้ทุกค่ายจะมีคลื่นใหม่ก็เชื่อว่าจะไม่ทำให้ความน่าเชื่อถือในแบรนด์ทรูมูฟ เอช ลดลงแต่อย่างใด
"ราคาอาจไม่ใช่ปัจจัยที่ทุกค่ายลงมาแข่ง เพราะต้นทุนของทุกเจ้าเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้การกำหนดแพ็กเกจแตกต่างกัน แต่จะคึกคักและมีสีสันขึ้นอีกครั้งแน่นอน ผู้ให้บริการจะออกแคมเปญดึงดูดลูกค้า ทั้งที่เข้าใจเทคโนโลยีอยู่แล้ว และกลุ่มที่ยังใช้ 2G มาใช้ 3G ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่จะเริ่มเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงข่าย ดังนั้น ใครพร้อมก่อนย่อมได้เปรียบ"

ฟากดีแทคก็ไม่ต่างกัน โดยยังคงแผนเปิดให้บริการ 3G ในไตรมาส 2 ปีหน้า ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนขยายโครงข่ายครอบคลุม 50% ของประเทศภายใน 1 ปี

3 ค่ายมือถือต่างไม่มีใครยอมใคร เรียกว่า นับถอยหลังรอเปิดศึกชิงเค้ก 3G กันเต็มเหนี่ยวแน่นอน



.