http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-29

ประชามติ (2)..แก้รัฐธรรมนูญ..แก้ปัญหาประเทศ อย่ากลัวคำขู่จนทะเลาะกันเอง (จบ) โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
บทความตอนแรก - ประชามติ (1)..แก้รัฐธรรมนูญ..แก้ปัญหาประเทศ อย่ากลัวคำขู่จนทะเลาะกันเอง โดย มุกดา สุวรรณชาติ
อ่านที่
http://botkwamdee.blogspot.com/2012/12/m-rfrndum1.html

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประชามติ...แก้รัฐธรรมนูญ...แก้ปัญหาประเทศ อย่ากลัวคำขู่จนทะเลาะกันเอง (จบ)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1689 หน้า 20


พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
การลงประชามติมาตรา 9
งูพิษ...ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 ตามใบสั่ง


แผนจงอางหวงไข่ ดั้งเดิมคือ ใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ การลงประชามติ มาตรา 9 มาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างเสร็จแล้ว แต่แผนถูกเร่งเวลาให้เร็วขึ้น ในกลางปี 2555 เมื่อฝ่ายเพื่อไทยเดินเกมแก้รัฐธรรมนูญในสภา ก็มีใบสั่งใหม่ ด่วนมาก ออกมาให้ลุยต่อต้านและถ่วงเวลา แต่ก็ดึงเกมในสภาไม่อยู่ ผ่านไปถึงวาระ 2 
เมื่อรู้ว่าสภาสู้ไม่ได้ ก็มีการให้คนไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำการยับยั้ง แถมยังจะเอาผิด ส.ส. ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

แต่กระแสต้านกลับของฝ่ายประชาชนแรงมาก ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ออกมาในรูปที่ว่า...ทำได้..ไม่ผิด... แต่ควรลงประชามติก่อนแก้ทั้งฉบับ มิฉะนั้น ต้องแก้รายมาตรา แต่วันนี้ถ้าทำตามคำแนะนำของศาล ก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ...

การออกเสียงประชามติ (1) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง (2) หรือเป็นการออกเสียง เพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

...

หลักเกณฑ์และการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติ ระยะเวลาดำเนินการและจำนวนเสียงประชามติ เพื่อมีข้อยุติ

ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ การลงประชามติ มาตรา 9 ซึ่งออกมาในปี 2552 ว่าไว้ดังนี้...
การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น 
การออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ
ในที่สุดรัฐธรรมนูญ GMO 2550 ก็ฟักไข่ออกเป็นตัวในปี 2552 เป็นงูพิษมาตรา 9 ที่สามารถกัดคนที่จะเข้าไปล้วงไข่ที่เหลือของมันให้ถึงตายได้ การลงประชามติเที่ยวนี้จึงยากกว่าสมัยปี 2550 เยอะ



ย้อนดูการลงประชามติ 
รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550


จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็ผ่านได้แล้ว จะมา 5 ล้านคน 10 ล้านคน ก็ใช้ได้ ไม่ต้องถึงครึ่งของผู้มีสิทธิตามมาตรา 9 แถม คมช. ยังขู่ว่า ถ้าไม่เห็นชอบ คมช. จะพิจารณานำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้แทนก็ได้ และรัฐมนตรีกลาโหมสมัยนั้นได้ระบุว่า "การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้รับประชามติ ถ้าหากไม่รับก็จะวุ่นวายต่อเนื่องไม่จบง่ายๆ (แต่ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่า รับไปแล้ว มันจะยุ่งขนาดฆ่ากันกลางเมือง) 
นอกจากนั้น ยังออก พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ระบุว่าความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี สำหรับผู้ที่ก่อความวุ่นวายหรือจูงใจหรือใช้อิทธิพลคุกคาม ให้คนไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง ขัดขวางการส่งซึ่งหีบบัตรออกเสียงหรือบัตรออกเสียง ฯลฯ

ผลการลงประชามติ "รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มีผู้มีสิทธิลงคะแนน 45,092,955 คน ผู้มาใช้สิทธิกว่า 25,978,954 คิดเป็นร้อยละ 57.61 (ไม่มีการบอยคอต)
เห็นชอบ 14,727,306 ไม่เห็นชอบ 10,747,441 เสียง 
จะเห็นว่า กลุ่มอำนาจเก่ารณรงค์ให้ ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ทั้งหลอก ทั้งบีบ ทั้งขู่ ยังรู้สึกว่าลำบาก แต่พอนำไปใช้ก็ยังแพ้เลือกตั้งต่อพรรคพลังประชาชน จึงต้องทำการตุลาการภิวัฒน์และเปลี่ยนขั้วอำนาจในค่ายทหารในปี 2551

คนกลุ่มนี้คาดว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 แน่ จึงวางหมากกล ไว้ให้ผู้ที่ต้องการแก้ไข มีความยากลำบากในการแก้ยิ่งกว่าโดยแอบออก พ.ร.บ.ประกอบฯ เรื่องประชามติมาตรา 9


พลิกตำรา สู้กับใบสั่งปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับ GMO

เมื่อฝ่ายคนเสื้อแดงและประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยมา เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย ทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง กลายเป็นแรงบีบที่พรรคเพื่อไทยต้องอยู่ตรงกลางระหว่างใบสั่งปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 กับประชาชนที่ต้องการแก้

หลังจากถูกถ่วงเวลาในสภา ถูกยับยั้งโดยศาล และเจอกับม็อบแช่แข็งในถนน พรรคเพื่อไทยก็คิดออกว่า เรื่องอะไรพรรคเพื่อไทยจะยืนอยู่ตรงกลาง ใครอยากจะรบกับประชาชน ก็ควรจัดให้ จึงพลิกสถานการณ์เป็นเกมลงประชามติโดยประชาชน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ 
นี่คือการท้าพิสูจน์พลังของฝ่ายประชาชน กับพลังที่สนับสนุนอำนาจรัฐประหาร

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มของการถกเถียงกันโดยหวังว่าจะหาทางแหวกวงล้อมทางกฎหมาย เพื่อแก้รัฐธรรมนูญแบบสันติให้ได้ ถึงวันนี้ เพิ่มเป็น 4 แนวทาง

แนวทางที่ 1 ยอมลงประชามติ ก่อนสภาโหวตวาระ 3 โดยคิดว่า...หมูมาก...เพราะกุมอำนาจรัฐอยู่ และคนเสื้อแดงหนุน ประชาชนอยากแก้ไข จึงมีทางชนะและจะมีผู้มาร่วมเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ 48 ล้านคนคือเกิน 24 ล้านคน

แนวทางที่ 2 หนุนให้สภาโหวตวาระ 3 เลย แล้วให้ประชาชนเลือก ส.ส.ร. โดยมีเหตุผลว่าในเมื่ออำนาจการแก้รัฐธรรมนูญเป็นของสภา กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องลงประชามติก่อน จึงมีสิทธิโหวตวาระ 3 ได้เลย จะไปทำตามกับดักมาตรา 9 ก่อนทำไม

แนวทางที่ 3 มีบางคนเสนอให้ใช้การออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้แค่เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โอกาสผ่านแน่ๆ จากนั้นสภาก็ค่อยมาโหวตวาระ 3

แนวทางที่ 4 แก้รายมาตราแบบ ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ โดยเลือกมาตราที่มีปัญหามาแก้ไข


วิเคราะห์ความเป็นไปได้


แนวทางที่ 1 ติดกับดักทันที แม้มีคนคิดว่าเลือกตั้ง 2554 เพื่อไทยยังได้ 15.7 ล้านเสียง ทำไมจะหาเพิ่มไม่ได้ แต่คนที่ค้านบอกว่ายากมาก...ให้เหตุผลว่าไม่เหมือนกับ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปี 2554 ที่มีผู้มาลงคะแนนสูงถึง 35 ล้านคน และได้ 15.7 ล้าน เพราะในการเลือกตั้ง 2554...ทั้งสองฝ่ายเดิมพันกันด้วยอำนาจรัฐและชีวิตของผู้คน ต่างฝ่ายก็ต่างระดมสรรพกำลังทั้งคน เงิน อำนาจ อย่างเต็มที่ มีนโยบายเกี่ยวข้องที่เป็นผลได้ผลเสีย ต่อคนจำนวนมาก มีความรัก ความเกลียด ความแค้น มีสินจ้าง รางวัล เป็นแรงจูงใจ 
ทั้งสองฝ่ายใช้กำลังคนจำนวนมากเคลื่อนไหว ปลุกประชาชนให้ออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง มีกลไกย่อยๆ จากพรรคผ่านผู้สมัคร ผ่านกลไกรัฐ ผ่านหัวคะแนนเละผู้สนับสนุน จึงทำงานอย่างแข็งขัน

แต่การลงประชามติครั้งนี้ไม่มีตำแหน่ง ส.ส. เป็นเดิมพัน การแพ้ชนะไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาล ไม่มีนโยบายอื่นจูงใจนอกจากเรื่องรัฐธรรมนูญ 
ถ้าฝ่ายคัดค้านการแก้ไขไม่ออกมาลงประชามติ แม้ฝ่ายสนับสนุน ออกแรงเต็มที่ เสียงสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญมาจากฐานเสียงของพรรครัฐบาล ประมาณ 17 ล้าน และหาเพิ่มจากคนกลางๆ หรือผู้ไม่เคยออกเสียง อีก 3-4 ล้าน รวมแล้วมีความเป็นไปได้สูงสุด ที่ 20-21 ล้าน การลงประชามติก็จะไม่ผ่านเพราะไม่ถึง 24 ล้าน ติดกับดักมาตรา 9 ไปไม่รอด

แนวทางที่ 2 ทั้ง ส.ส.ร. และรัฐธรรมนูญใหม่จะถูกคว่ำหมด เพราะถึงจะให้สภา ลุยลงมติวาระ 3 แต่อาจไม่ผ่านถ้า ส.ส. และ ส.ว. บางส่วนเกิดกลัวว่าไปละเมิดคำสั่งศาล เสียงอาจไม่ถึง
แต่ถ้าหากผ่านด่านนี้ไปได้ดำเนินการตั้ง ส.ส.ร. และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เสร็จ ก็ต้องจัดการให้มีการลงประชามติรับรองร่างใหม่ แต่จะผ่านได้ ก็ต้องมีคนมาใช้สิทธิเกิน 24 ล้านเสียง
ถ้าทำไม่ได้ นั่นก็คือการจบด้วยติดกับดักมาตรา 9 เช่นกัน

แนวทางที่ 3 ติดกับดัก เหมือนแนวทางที่ 2 แต่ยุ่งยากกว่า เพราะต้องทำประชามติสองรอบ รอบแรกแบบให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้แค่เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง อาจชนะ 15 ล้านต่อ 10 ล้าน แต่พอร่างเสร็จ ตอนลงประชามติรับร่างใหม่ ต้องใช้มาตรา 9 พวก 10 ล้าน ที่คัดค้านจะไม่มาออกเสียง ดังนั้น อย่าว่าแต่ 24 ล้านเลย 20 ล้านก็หายาก

แนวทางที่ 4 แม้ยอมเสียเวลาแก้รายมาตรา แต่มาตรา 9 จะถูกดึงมาใช้จนได้ การแก้รายมาตราดูคล้ายจะไปได้เรื่อยๆ ช้าแต่ชัวร์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ถ้าเริ่มแตะต้อง มาตราที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหรือการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ศาล วุฒิสภา รับรองว่าจะถูกต้านทั้งในและนอกสภา พอวุ่นวาย ก็จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน และจะเสนอให้ต้องลงประชามติทุกมาตราที่กระทบอำนาจ จึงต้องติดกับดักมาตรา 9 อีกเหมือนเดิม

สรุปว่าทุกแนวทาง ติดกับดัก พ.ร.บ.ประกอบการลงประชามติ มาตรา 9



ต้องทำลายกับดัก พ.ร.บ.ประกอบฯ
การลงประชามติ มาตรา 9 
ก่อนเดินหน้า


ใครจะมีอำนาจไปบังคับให้ประชาชนไปลงมติออกความเห็น ถ้าเขาคิดว่าเขาไม่พร้อม ไม่เข้าใจ หรือไม่อยากไปยุ่งในความขัดแย้ง ถ้าคิดว่าไม่มีสิทธิไปบังคับประชาชนได้ ก็ต้องยกเว้น ไม่นำคนเหล่านั้นมานับรวมในการตัดสินปัญหา ควรใช้เฉพาะความเห็นของคนที่มาลงประชามติ

กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการลงประชามติมาตรา 9 สรุปได้ว่ามีไว้เพื่อแช่แข็งรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ถ้าหากไม่แก้ไข จะสร้างปัญหาต่อไปและอาจจะลุกลามไปสู่ปัญหาอื่นที่จำเป็นต้องขอมติมาจากประชาชน เพราะบางฝ่ายจะใช้เงื่อนไขการที่ต้องมีเสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ มาล้มการลงประชามติในทุกเรื่อง มีข่าวว่าเพื่อไทยเคยถกเรื่องนี้กันแล้วแต่ไม่กล้าแก้กลัวจะถูกโจมตีว่าสร้างเงื่อนไขให้ชนะ

สรุปสถานการณ์วันนี้ ดูคล้ายฝ่ายรัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง โดยใช้ยุทธศาสตร์การระดมกำลังที่เหนือกว่าเข้าตีโดยไม่สนใจกับดักหลุมพราง คิดว่าตัวเองเป็นกระทิงลุยเหยียบงูพิษให้แหลกได้ ถูกกัดก็แค่ เจ็บเล็กน้อยแต่ได้ 25 ล้านเสียงแน่ และชนะ 
แต่วันนี้ประชาชนทั้งเสื้อแดงและไม่แดงก็มีความคิดของตนเอง ถ้ามีแค่บางส่วนไม่ขยับตัวตามจะมีบทเรียนแบบการเลือกตั้งปทุมธานีเกิดขึ้นได้อีก

ถ้าระดมคนได้น้อย และยังทะเลาะกัน อาจได้แค่ 15 ล้านเสียงและแพ้ ถ้าไม่มั่นใจ ทำไมไม่ปลดกับดักก่อน เพราะไปเล่นตามกฎเกณฑ์ ที่อีกฝ่ายหนึ่งวางกับดักไว้ เหมือนไปแข่งฟุตบอลที่คู่แข่งกำหนดให้พวกเขามี 11 คน พวกแก้รัฐธรรมนูญมี 8 คน แถมกรรมการอยู่ฝ่ายเขา จะชนะได้ยังไง คงทำได้แค่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามวางกับดักอยุติธรรมไว้อย่างไร

ทีมวิเคราะห์รวมความเห็นจากผู้รู้หลายท่าน เสนอมาดังนี้ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขเป็นสิ่งถูกต้อง แต่ควรทำทุกแผนคือ...

1. แก้รายมาตราที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 และกฎหมายประกอบการลงประชามติให้ ยุติธรรมและเหมาะสม

2. ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งการร่วมศึกษาและออกเสียง เพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี

3. ให้สภาโหวตวาระ 3 ที่ค้างอยู่ เลือก ส.ส.ร. และร่างรัฐธรรมนูญใหม่

4. จัดให้มีการลงประชามติรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จแล้ว ตามกติกาที่เหมาะสมซึ่งแก้ไขแล้ว



ถ้าเพื่อไทยยอมรับอำนาจจากการรัฐประหารได้โดยยอมถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ยอมรับการแทรกแซงอำนาจสภาจากศาลได้โดยไม่โหวตวาระ 3 ถ้ายอมรับแม้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เป็นงูพิษได้ ก็เท่ากับยอมเล่นตามกฎเกณฑ์ ที่อีกฝ่ายหนึ่งวางกับดักไว้

ถ้าวันนี้กลัวคำขู่จนยอมทุกเรื่องจะไปดิ้นรนเร่งแก้รัฐธรรมนูญแบบไม่สำเร็จไปทำไม แถมยังต้องมาทะเลาะกันเองอีก ใจเย็นๆ รวมความกล้า รวมกำลังแล้วหาช่องทางบุกใหม่



.