http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-15

จำนำข้าว..สัมพันธ์กับ ค่าแรง 300 บาท ชี้ขาดอนาคตรัฐบาล โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
โพสต์เพิ่ม - youtube “ คุยจริงใจ สไตล์หมอชัย Tape 38 On Air 16 Dec 2012 ”

_________________________________________________________________________________________

จำนำข้าว...สัมพันธ์กับ ค่าแรง 300 บาท ชี้ขาดอนาคตรัฐบาล 
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1687 หน้า 19  


ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต้องประกาศใช้ทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2556 การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็จะเกิดขึ้นในช่วงนั้น 

แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มิได้ชี้ขาดอนาคตรัฐบาล
ถ้าพรรคเพื่อไทยกำหนดนโยบายที่ช่วยคน กทม. ได้จริง และส่งผู้สมัครที่ไม่มีแผล มีความสามารถพอควร ก็พอจะสู้กับคู่แข่งได้ไม่ยาก 


ที่ชี้ขาดอนาคตการเมืองของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยในระยะยาว ขณะนี้มี 3 เรื่องที่หาเสียงไว้ คือ 
1.การแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550  
2.โครงการดันราคาข้าวด้วยการรับจำนำ  
3.การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ทั้ง 3 เรื่อง พลาดแม้แต่เรื่องเดียวก็เป็นปัญหา




ค่าแรง 300 บาท 
สัมพันธ์โดยตรงกับการจำนำข้าว 
ตามทฤษฎี 2 สูง


เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี เสนอทฤษฎี 2 สูง ด้วยหลักการที่เข้าใจได้ง่ายๆ คือ... การปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรที่ผลิตโดยคนส่วนใหญ่ขึ้นสูง เกษตรกรในประเทศจะได้มีรายได้สูง แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องปรับค่าจ้าง เงินเดือนให้สูงตาม เพื่อให้มีความสมดุลกัน 
"ในโลกประเทศที่เจริญแล้วไม่แทรกแซงสินค้าเกษตรให้ถูกลง มีแต่เอาเงินไปแทรกแซงให้สูงขึ้นอาหารมนุษย์ถูกกว่าอาหารเครื่องจักร (น้ำมัน) ได้อย่างไร ถ้าถูกกว่าก็หมายความว่าผู้บริหารประเทศมีปัญหาแล้ว"

นโยบายรับจำนำข้าวราคาสูงของรัฐบาลเป็นประเด็นการเมืองและเรื่องเศรษฐกิจที่ทุกคนจับตามองว่าไปรอดหรือไม่  
การมีเรื่องทุจริตในขั้นตอนต่างๆ เป็นเรื่องปกติของประเทศนี้ ต่อให้ประเด็นทุจริตเป็นเรื่องเล็ก แต่กระบวนการรับจำนำข้าวราคาสูง จนกระทั่งขายออกเป็นเรื่องยาก จะทำได้สำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ ยังไม่มีใครแน่ใจ 

พ่อค้าหลายคนบอกว่าดูจากสภาพตลาดแล้ว ไม่น่ารอด แต่นั่นเป็นทัศนะของพ่อค้าที่เน้นเรื่องกำไรขาดทุน 
แต่ในทางการเมืองไม่มองแค่กำไร แต่ต้องมองผลสำเร็จของโครงการว่าได้ตามเป้าหมายหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ 
สมควรเดินต่อแบบเดิม หรือต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง


การปรับตัวของชาวบ้าน...
เมื่อการเปลี่ยนแปลงตามทฤษฎี2 สูงมาถึง


แต่วันนี้ค่าแรง 300 บาท และราคาจำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาท มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทุกคนต้องปรับตัวและตัดสินใจเลือกเพราะโอกาสเปิดแล้ว 
ถ้าค่าแรงสูงอย่างเดียว ผู้คนก็จะละทิ้งเรือกสวนไร่นา เข้ามาหารับจ้างทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรม 
แต่เมื่อราคาพืชเกษตรสูงขึ้นและสามารถทำเงินได้มากเช่นกัน หลายคนจึงลังเล

คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน อย่างไรก็ต้องทำงานรับจ้าง เพียงแต่จะเข้าเมือง หรือจะอยู่แถวบ้านรับจ้างทำงานภาคเกษตรซึ่งต่อไปจะมีรายได้ใกล้เคียงกัน 
คนที่มีที่ดินบ้างเล็กน้อยอาจเลือกอยู่ที่บ้านเพื่อทำนาของตนเองและหารับจ้างเสริมเพื่อหารายได้ตลอดทั้งปี 
คนที่มีที่ดินมากหน่อย ก็อาจจะเลือกทำด้านการเกษตร ไม่ว่าจะปลูกข้าวหรือปลูกยาง เพราะสามารถเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ได้สบาย นโยบายการลดคนหลั่งไหลเข้าทำงานเมืองใหญ่เริ่มได้ผล

แอน เด็กบ้านนอกจากมหาสารคามเข้ามาทำงานใน กทม. ทิ้งลูกไว้ให้ยายเลี้ยง ปีนี้ข้าวราคาสูง ต้องลางานกลับไปช่วยเกี่ยวข้าว ระบบปลูกข้าวสมัยใหม่ที่จ้างรถไถจนถึงรถเกี่ยวข้าวเป็นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว 
แต่ปีนี้เนื่องจากราคารับจำนำข้าวที่สูงมากทำให้มีคนปลูกข้าวเยอะขึ้น ข้าวสุกเหลืองพร้อมกันเกือบทั้งจังหวัด รถเกี่ยวข้าวมีไม่พอ ค่าแรงเกี่ยวข้าวแม้ขึ้นถึง 300 บาทต่อวันก็ยังหาคนรับจ้างยากมาก เจ้าของนา ต้องกลับไปเกี่ยวเอง 
นา 7-8 ไร่ หลังจากเก็บไว้กินก็มีเหลือขายเล็กน้อย พอเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะกลับมาทำงานต่อ ค่าแรง 300 ยังพอเหลือเงินเก็บส่งกลับบ้านนอกได้


ชิต และ อร อยู่ กทม. มา 6 ปี ปีนี้กลับอุดรฯ แล้วและจะไม่ย้อนกลับมา กทม. อีก เพราะสวนยางพาราแถวบ้านโตจนพอกรีดได้น้ำยางแล้ว รายได้แต่ละวันมากกว่ารับจ้างทำงานในกรุงเทพฯ 

ประกาศรับสมัครงาน...ด่วน 300 บาท/วัน พร้อมอาหารฟรี ของร้านก๋วยเตี๋ยว กระดาษเก่าแล้วยังไม่ได้คนงาน ลูกที่จบปริญญาตรีต้องมาช่วยเตี่ยขาย

นี่เป็นตัวอย่าง แต่ในการพัฒนาที่ดีก็สร้างปัญหาตามมาคือเรื่องแรงงาน คาดว่าจะมีแรงงานจำนวนหนึ่งย้อนกลับไปสู่ภาคการเกษตร ดังนั้น การขึ้นค่าแรง 300 บาทที่บางกลุ่มอ้างว่าสูงเกินไป ในความเป็นจริงของปี 2556 เงิน 300 ต่อวันไม่น่าจะสามารถจ้างแรงงานคนไทยได้ การใช้แรงงานต่างชาติจึงยังเป็นเรื่องจำเป็น  


ถ้ารัฐบาลช่วยกลุ่มทุน 
ใครได้มากใครได้น้อย


มติคณะรัฐมนตรี ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 เริ่มมีกระแสคัดค้านจากกลุ่มทุนพร้อมมีข้อเสนอแนวทางการช่วยจากรัฐบาลเข้ามา พร้อมๆ กันทันที 
ไม่ว่าจะเสนอให้ชะลอการปรับค่าจ้างออกไปเพราะประเทศไทยยังไม่พร้อม เพราะจะทำให้ธุรกิจ SME อยู่ไม่ได้อาจจะต้องปิดตัวลง

ความเห็นต่างๆ ออกมาจากนักวิชาการ นักลงทุน สภาอุตสาหกรรมก็กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งกันขึ้นมา จากคณะกรรมการที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งลุกลามไปจนถึงขั้นปลดประธานสภาอุตสาหกรรม 
แต่จะเปลี่ยนประธานอีก 3 คน ก็ยังต้องจ่าย 300 ยกเว้นจะทำกันเองในครอบครัว  
บางธุรกิจก็จ่ายค่าจ้างเกิน 300 บาทอยู่แล้ว การขอความช่วยเหลือของรัฐบาล เช่น การลดภาษี, กองทุนช่วยเหลือ 50,000 ล้าน หรือการเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างจากค่าจ้างปัจจุบัน เป็นแนวทางที่มีโอกาสได้ แต่จะมากน้อยยังไม่รู้ 

งานนี้นายทุนที่จ่ายค่าจ้างเกือบ 300 บาทอยู่แล้วได้กำไรเพิ่มแน่นอน 
การช่วยเหลือนายจ้างจากรัฐบาล ควรมีการตรวจสอบด้วยว่า ช่องว่างรายได้ของผู้บริหารกับพนักงานธรรมดาห่างกันกี่เท่า จ่ายภาษีเต็มรายได้หรือไม่  
มีการปรับแต่งบัญชีหรือไม่


ลูกจ้าง คนงาน ต้องการอะไร?

การขึ้นค่าแรง 300 บาทในทัศนะของคนงานเป็นปัจจัยที่สำคัญแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ในชีวิตจริง สิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไรบ้าง  ฟังความเห็นของ คุณจิตรา คชเดช ผู้มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวเรื่องแรงงานวิเคราะห์ปัญหาการขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ... 

การปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศใน 70 จังหวัดซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2556 นี้ ในฝ่ายแรงงานเข้าใจว่ารัฐบาลทำตามนโยบายและเล็งเห็นคุณค่าของคนงานมากขึ้น แต่ทางคนงานยังมีปัญหาอีกหลายอย่าง เช่น 

1. การที่รัฐจะทำให้คุณภาพชีวิตคนงานดีขึ้น ควรจัดให้มี สถานเลี้ยงดูลูกๆ ของคนงาน สถานรับเลี้ยงเด็ก และเรียนฟรีอย่างแท้จริง 

2. ควรส่งเสริมให้คนงานมีฝีมือทักษะการทำงานเพิ่มขึ้นให้เข้ากับระบบสามแปดอย่างแท้จริง ไม่ใช่การดำรงชีพของคนงานอยู่ได้ด้วย การทำงานล่วงเวลา ที่สำคัญบางคนทำงานมา 20-30 ปีเพิ่งจะได้ปรับค่าจ้าง 300 บาท ค่าฝีมือแรงงานของพวกเขาที่ควรจะได้รับตามความเป็นจริงมันอยู่ตรงไหน
ดังนั้น รัฐบาลต้องมีกำหนดตรวจวัดทดสอบฝีมือแรงงานในการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำ จะทำให้คนงานมีโอกาสได้พัฒนาฝีมือแรงงาน จะนำมาซึ่งมีแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น และได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนงานในอนาคตเมื่อมีการย้ายโรงงานหรือย้ายฐานการผลิต

3. ควรควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น สำหรับคนงาน เช่น นมผงเด็ก ส่วนอาหาร โรงงานควรมีอาหารราคาถูกให้กับคนงาน และสามารถซื้อกลับบ้าน

4. นโยบายรัฐบาลคือให้สิทธิการรวมตัว มีสหภาพแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO มาตรา 78, 98 ที่พูดถึงเรื่องสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง

5. ช่วงต้นของการเดินนโยบายนี้รัฐไม่มีมาตรการรองรับคนงาน ถ้าบริษัทปิดกิจการ การตกงานหมายถึง ที่อยู่อาศัย ลูกเรียนหนังสือ อาหาร การดูแลพ่อแม่ซึ่งเป็นภาระหลัก คนงานจะทำไม่ได้ ถ้าไม่มีทางเลือกลูกจ้างก็ต้องยอมนายจ้าง เพราะกลัวตกงาน

ส่วนธุรกิจ SME ที่ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการจ้างงานวันละ 300 บาท รัฐต้องส่งเสริมให้คนงานรวมกลุ่มกันสร้างธุรกิจ SME ขึ้นมาเองโดยให้ทุกคนเป็นเจ้าของเพื่อทดแทนธุรกิจที่ปิดกิจการ นี่เป็นทางหนึ่งที่สามารถทำให้คนมีงานทำได้อย่างต่อเนื่อง 

คุณจิตราสรุปว่าสุดท้ายปัญหาที่จะพบหลังจากปรับค่าจ้างแล้ว จะกลายเป็นปัญหาของลูกจ้าง เช่น การหาช่องว่างจากนายจ้างที่ไม่ปรับให้อย่างเต็มที่โดยเอาค่าครองชีพหรือเงินได้อื่นๆ มารวมให้ครบ 300 บาท  
การที่รัฐบาลมีมติให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ รัฐบาลมาถูกทางแล้ว ผ่านแน่ เพราะเป็นนโยบายหาเสียงและได้คะแนนท่วมท้นก็มาจากผู้ใช้แรงงานเกือบทั้งหมด ที่เห็นว่าเป็นนโยบายที่พวกเขาจะสามารถลืมตาอ้าปาก และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และเป็นนโยบายที่จับต้องได้อย่างแท้จริง

ข้อพิสูจน์คือการปรับค่าจ้าง 300 บาท 7 จังหวัดนำร่องทั้งกิจการใหญ่ และ SME ก็ยังเดินหน้าต่อไป ไม่มีข่าวว่าปิดตัวอย่างมหาศาลอย่างที่เคยประเมินไว้ 
รัฐบาลจึงต้องยืนหยัดรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน



การปรับตัวเพื่อบรรลุนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ทีมวิเคราะห์มองความยากของการนำนโยบายไปปฏิบัติ พบว่า...  
นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคสมัยนายกทักษิณมีลักษณะที่ค่อนข้างนิ่ง รัฐเป็นผู้กำหนด ทำง่ายทำแล้วคงสภาพและประโยชน์ได้นาน


นโยบายค่าแรง 300 บาท เป็นนโยบายที่เคลื่อนไหวช้าผู้กำหนดมี รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง มีการปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพ แต่มีระยะเวลาเป็นปี ช่วงเวลานี้การดันค่าแรงขึ้น ทำไม่ยากเพราะไทยอยู่ในสภาพขาดแคลนแรงงาน ต้องพึ่งแรงงานต่างชาติมานานแล้ว


ส่วนการรับจำนำข้าวราคาสูงมีผลทำให้ราคาข้าวของชาวนาสูงขึ้นจริง แต่รายละเอียดในการปฏิบัติ ตั้งแต่การรับจำนำ การเก็บรักษา จนถึงการขายออก รัฐและชาวนาเป็นผู้กำหนดเฉพาะการซื้อ แต่มีคนที่เกี่ยวข้องมากมาย ส่วนการขายต้องพึ่งตลาดโลก เรื่องที่ประชาชนต้องการความโปร่งใส ชาวนาต้องการความสะดวก เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน แต่ราคาข้าวจะดันให้สูงในขณะที่ข้าวยังเต็มตลาดโลกทำไม่ง่าย ไม่มีใครเก่งขนาดกำหนดราคาข้าวล่วงหน้าได้ 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นการดันราคาขึ้นหรือกดลง เพราะนานไปกองข้าวในโกดังจะถล่มลงมาทับคนรับผิดชอบ จมดิน

หัวใจของนโยบายนี้คือ...ราคา เพราะไปกำหนดไว้ ตั้งแต่เป็นนโยบาย, การรับจำนำจริง แต่ในการขายกำหนดไม่ได้ ซึ่งราคาคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขายได้มากหรือน้อย และราคาก็เคลื่อนไหวตลอด การรับจำนำข้าวถ้าปรับราคา ซื้อและขาย ให้เคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม ควรมีรายละเอียดให้สอดคล้องกับสภาพการซื้อและขาย โอกาสที่จะเดินนโยบายต่อจะง่ายขึ้น

นโยบายไม่ใช่ของตายตัว ทำไมจะปรับปรุงไม่ได้ แม้นโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท รัฐบาล ยังปรับเลื่อนเวลามา 1 ปี นโยบายการรับจำนำข้าวถ้าจะให้มีผลดีอย่างยั่งยืน มิใช่จะปรับปรุงครั้งเดียวยังจะต้อง ปรับไปตามสภาพตลาด และอุดรูรั่วอีกหลายครั้ง

ถ้าทฤษฎี 2 สูงทำได้สำเร็จหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในการกระจายรายได้ของไทย ซึ่งจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับคนชั้นล่างและสร้างความมั่นคงทางการเมืองให้กับรัฐบาล


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

โพสต์เพิ่ม ( ขอขอบคุณ www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P13076505/P13076505.html โดย เฮียไช้ )

คุยจริงใจ สไตล์หมอชัย Tape 38 On Air 16 Dec 2012
www.youtube.com/watch?v=RhYf4scAKgc
( ..แต่ละตอนที่ต่อๆกันไปจะมีช่วงหยุดเหมือนไม่มีสัญญาณยาวไปหน่อย ทนรอนิดหนึ่ง )




.