http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-04

หนุ่มเมืองจันท์: โกดัง

.

โกดัง
โดย หนุ่มเมืองจันท์
www.facebook/boycitychanFC คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 24


วันก่อนนั่งฟัง "ป๋าเต็ด" ยุทธนา บุญอ้อม คุยเรื่อง "โกดัง" ให้ฟัง 
ไม่ใช่ "โกดัง" ที่รับ "จำนำข้าว" นะครับ 
แต่เป็น www.godung.com


การทำเว็บไซต์เกี่ยวกับดนตรีไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ที่แปลกและแตกต่างคือ "วิธีคิด" 
"ป๋าเต็ด" นั้นถือเป็น "เจ้าพ่อเด็กแนว" ที่โด่งดังมาจาก "แฟตเรดิโอ" 
เขาเป็นผู้ให้กำเนิดคลื่นดนตรีเด็กแนว ซึ่งตอนแรกไม่มีใครเชื่อว่าจะจะประสบความสำเร็จได้ 
เพราะเปิดเพลงนอกกระแส ไม่ใช่เพลงป๊อปที่คุ้นหูจากค่ายเพลงใหญ่ๆ 
แต่วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก "แฟตเรดิโอ" และ "แฟต เฟสทิวัล"

ความกล้าที่จะริเริ่มและแตกต่างเป็นคุณสมบัติของ "ป๋าเต็ด" 
ขนาดย้ายเข้าค่ายแกรมมี่ซึ่งเป็นค่ายยักษ์ใหญ่ของเพลงในกระแส "ป๋าเต็ด" ยังคิดแตกต่างเลย
เทศกาลดนตรี "บิ๊กเม้าเทน มันใหญ่มาก" ที่เขาใหญ่ คือ ตัวอย่างที่ดีที่สุด 
ล่าสุดเขากำลังริเริ่มโครงการใหม่ 
เป็น "วิธีคิด" คล้ายๆ กับตอนทำ "แฟต เรดิโอ" 
เขาเห็นช่องว่างทางการตลาดใหม่ของเพลงฝรั่ง 
ถ้าภาษาการตลาดเรียกว่า "นิชมาร์เก็ต"
หรือ "ตลาดเฉพาะ"

เป็นความเชื่อของเขาว่าดนตรีไม่มีข้อจำกัด 
มีแนวดนตรีใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ 
"ป๋าเต็ด" บอกว่าโลกนี้ยังมีวงดนตรีดีๆ อีกมากที่คนไทยไม่รู้จัก 
แต่คนไทยยังฟังเพลงสากลเฉพาะวงดังๆ เท่านั้น ทั้งที่มีวงดนตรีรุ่นใหม่ที่มีฝีมือจำนวนมาก 
ที่สำคัญเมืองไทยไม่มีรายการเพลงสากลแนว "อินดี้" 
และถ้าให้ค้นหาทางอินเตอร์เน็ตก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร
สำหรับ "ป๋าเต็ด" 
นี่คือ "โอกาส"



สมัยก่อน "ป๋าเต็ด" คิดเพียงแค่ "สถานีวิทยุ" 
แต่วันนี้เขาคิดไกลไปกว่านั้น 
ผมนั่งฟัง "วิธีคิด" เรื่องเว็บ "โกดัง" ของ "ป๋าเต็ด" แล้ว 
แน่ใจเลยว่าวันนี้เขาไม่ใช่แค่ "ดีเจ." หรือคนจัดคอนเสิร์ตทั่วไป 
แต่ "ป๋าเต็ด" เป็น "นักคิด" ด้านการตลาดที่เก่งมากคนหนึ่ง

เขาต่อ "จิ๊กซอว์" แบบนี้ครับ 
เริ่มจากทำเว็บโกดังขึ้นมา 
ในเว็บจะมีคลิปคอนเสิร์ตของวงดนตรีรุ่นใหม่เป็น 100 วงให้ดู 
เขาเลือกวงที่แสดงสดสนุกๆ เพื่อต่อยอดไปสู่การจัด "คอนเสิร์ต" 
มีข่าวสารของวงต่างๆ ให้ติดตามด้วย

"ป๋าเต็ด" มองออกว่าถ้าจะปลุกกระแสวง "อินดี้" ในเมืองไทย สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ให้ "ประสบการณ์" และ "ข้อมูล" 
"ประสบการณ์" จากการดูผ่านคลิปคอนเสิร์ต 
"ข้อมูล" ข่าวความเคลื่อนไหวของวงต่างๆ ในเว็บ

นอกจากนั้นใครที่จัดคอนเสิร์ต ก็เข้ามาประชาสัมพันธ์งานในเว็บได้อย่างเต็มที่ 
เพื่อให้ www.godung.com เป็นชุมชนคนรักดนตรี 
กลยุทธหนึ่งที่ "ป๋าเต็ด" นำมาใช้คือการเปิดรับสมัครสมาชิกของเว็บ โดยแจกหนังสือ "108 วงดนตรี ที่ควรดูก่อนตาย" ฟรี 
แค่ชื่อหนังสือก็กวนแล้ว


"สมาชิก" จะได้สิทธิ์ในการโหวตว่าวงดนตรีไหนที่เขาอยากให้มาแสดงในเมืองไทย 
และยังได้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับกิจกรรมของ "โกดัง" ที่จัดทุกเดือน หรือจองบัตรคอนเสิร์ตก่อนใคร 
"ยุทธนา" รู้ดีว่า "วงอินดี้" นั้นมีคนดูไม่มากนัก 
ไม่ใช่ระดับ "อิมแพ็ค" 
แต่ประมาณ 200-300 คน หรือ 1,000-2,000 คน แล้วแต่ชื่อเสียงของวง


รูปแบบของ "ป๋าเต็ด" คือการจัดคอนเสิร์ตวงอินดี้ที่ปลอดภัยที่สุด
เพราะให้สมาชิก "โกดัง" เลือก 
ปริมาณคนสนใจมากพอค่อยจัด 
หา "ดีมานด์" ก่อน แล้วค่อย "ซัพพลาย"


"ป๋าเต็ด" บอกว่าวงอินดี้ของต่างประเทศบางวงไม่ได้ต้องการเงินค่าจ้างแพงๆ 
ขอเพียงให้มั่นใจว่ามาเล่นแล้วคนรู้จัก หรือมีโอกาสดังในเมืองไทย 
บางวงขอแค่ตั๋วเครื่องบินและที่พักก็พอแล้ว 
นี่คือ "วิธีคิด" การสร้างชุมชนคนดนตรีรุ่นใหม่ของ "ป๋าเต็ด"

แต่ "ทีเด็ด" ของเขาที่ผมชอบมาก
คือ วิธีการหาเงินครับ



"ป๋าเต็ด" บอกว่าเขาอยากจัดคอนเสิร์ตวงอินดี้ใหญ่ๆ แบบนี้ประมาณปีละ 2-3 ครั้ง 
"มินิคอนเสิร์ต" ของวงไทยและต่างประเทศตามผับต่างๆ ในต่างจังหวัด 
ขอแค่คนดูประมาณ 200-300 คนก็พอแล้ว 
ถือเป็นการเก็บข้อมูลคนแต่ละพื้นที่ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร 

ถ้าขายงานเป็น "คอนเสิร์ต" เหมือนการขายทั่วไป 
"ป๋าเต็ด" บอกว่าคงได้สปอนเซอร์ครั้งละ 500,000-1,000,000 บาทสำหรับคอนเสิร์ตใหญ่
แต่เขาคิดใหม่ 
"ป๋าเต็ด" ไม่ขายเป็น "คอนเสิร์ต" 
แต่ขาย "ชุมชน" 
ขาย "ชุมชนคนดนตรี" ที่ชื่อ "โกดัง" 
"ป๋าเต็ด" ตั้งเป้าว่าช่วงเริ่มต้นน่าจะมีสมาชิกประมาณ 10,000 คน

ภายใน 1 ปีจะมีคนรักดนตรีเป็นสมาชิกของ "โกดัง" ไม่ต่ำกว่า 100,000 คน 
เชื่อไหมครับว่าจาก 500,000 บาทถ้าขายเป็น "คอนเสิร์ต" 
พอเขาขายเป็น "ชุมชนคนดนตรี" 
"ป๋าเต็ด" ขายได้ 17 ล้านบาท


"ไทเกอร์เบียร์" ครับ 
"ยุทธนา" เล่าว่าเรื่องแบบนี้อยู่ที่ว่าเราขายใคร 
ถ้าใครคนนั้นไม่เห็น "คุณค่า" ในสิ่งที่เราขาย หรือไม่เข้าใจแนวคิดของเรา 
เขาจะว่า "แพง" 
แต่ถ้าเข้าใจหรือมองทะลุ เขาจะบอกว่า "ไม่แพง" 
จะ "โดน" หรือ "ไม่โดน" ขึ้นอยู่กับว่าเรา "ขายใคร"

"ไทเกอร์เบียร์" มองออกว่าเขาจะได้อะไรจาก "ชุมชนคนดนตรี" 
ถ้าให้ทายใจ "ไทเกอร์เบียร์" น่าจะมองเห็นแล้วว่าเขาจะเป็นอะไรในเมืองไทย 
"โกดัง" คือ "นิชมาร์เก็ต" ที่เขาต้องการ 
17 ล้านบาทสำหรับการสร้างแบรนด์ จึงไม่แพง


"ป๋าเต็ด" บอกว่าแม้บริษัทของเขาจะชื่อ "เกเร" และชอบทำงานประหลาดๆ 
แต่เขาไม่เคยเกเรแบบไม่มีหลักการ 
"เกเร" ทีไร ต้องได้ "เงิน" ทุกครั้ง 
"เพราะถ้าต้องเครียดว่าจะเอาเงินที่ไหนไปทำ มันก็บ้าเต็มที่ไม่ได้ ในที่สุดต้องต้องกลับไปทำงานแมสๆ เหมือนเดิม"

ถ้าอยาก "เกเร" ได้เต็มที่ 
ต้อง "ท้องอิ่ม" ครับ  

เป็น "วิธีคิด" ที่เท่มากของ "ป๋าเต็ด" 

และถือเป็นยุทธศาสตร์การรบที่ถูกต้องตามหลักพิชัยสงคราม

"กองทัพ" ต้องเดินด้วยท้อง 
และห้ามท้องตอนเดินทัพ




.