http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-28

ทำไม“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” จึงให้ “ผ่าน”ผลงาน รบ.ปี 55 และบทบาทฝ่ายค้าน“ที่อยากเห็น”

.

ทำไม“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” จึงให้ “ผ่าน”ผลงานรัฐบาลปี 55 และบทบาทฝ่ายค้าน“ที่อยากเห็น”
สัมภาษณ์ โดย วีรวุธ พรชัยสิทธิ์
ในมติชน ออนไลน์  วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:37:00 น.


การเมืองไทยในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมายังอยู่ในภาวะที่มีความเคลื่อนไหวและน่าจับตามองตลอดเวลา ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และค่าครองชีพ ตลอดจนความแตกแยกทางความคิด แรงกดดันทางการเมืองข้างต้น เป็นอุปสรรคในการบริหารงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยตลอด 1 ปีที่ผ่าน แต่ทว่ารัฐบาลที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำก็ยังกุมบังเหียนคณะรัฐบาลฟันฝ่าจนก้าวเข้าสู่ปีใหม่ได้สำเร็จ 
วันนี้ "มติชนออนไลน์" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่มีผลงานในการวิพากษ์สังคมและการเมืองมาแล้วหลายชิ้น


# การทำงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
รัฐบาลปัจจุบันได้รับการผลักดันจากประชาชนค่อนข้างมาก  และหลังจัดตั้งรัฐบาล โพลล์ต่างๆ แสดงให้เห็นว่าประชาชนคาดหวังในรัฐบาลที่จะอยู่ครบ 4 ปี และจะเลือกพรรคเพื่อไทยอีกหากมีการเลือกตั้ง  แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลอยู่ในภาวะที่มีความมั่นคงตามสมควร
เพราะวิธีการทำงานมีความน่าสนใจ มีการทำงานที่จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่ในภาวะที่ปกติให้มากที่สุด เพื่อให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากประชาชนได้ผ่านความยุ่งยากทางการเมืองมาเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงที่จะต่อกรและโต้เถียงกับฝ่ายตรงข้ามเป็นรายวันและพยายามให้เห็นความจงรักภักดี รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์กับกองทัพที่ทำให้ระบบการเมืองลื่นไหลตามสมควร โดยที่รัฐบาลจะพยายามอยู่ให้ครบเทอมเพื่อพยายามให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปมีความมั่นคง


# หากจะให้ประเมินแล้วผลงานของรัฐบาลถือว่าผ่านหรือไม่ 
นโยบายของรัฐบาลหลายๆอย่าง ประชาชนไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลพยายามที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวซึ่งก็ทำได้ดีตามสมควร
ดังนั้นดิฉันให้ผ่าน ในแง่ที่ค่อนข้างจะดีด้วย


# นโยบายที่อยากให้รัฐบาลเดินหน้าทำ
อยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับการหาเงินมาใช้จ่ายในโครงการที่สัญญากับประชาชนโดยอย่าไปพึ่งเพียงการกู้เงินและใช้เงินนอกงบประมาณ เพราะอาจจะทำให้เกิดหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลน่าจะปรับปรุง การเก็บภาษีอากร ซึ่งงานศึกษาหลายชิ้นก็ระบุว่าไม่ต้องทำอะไรไปมากกว่าอุดช่องโหว่ของการเก็บภาษีในโครงสร้างปัจจุบัน เช่น ภาษีรายได้นิติบุคคล  ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงต่างๆ ก็จะสามารถเพิ่มภาษีได้ถึงร้อยละ 3 - 4 ของจีดีพี แต่การจะผลักดันต้องมาจากฝ่ายการเมือง
ส่วนภาษีอื่นๆ ที่น่าจะปรับปรุงได้เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ยกเลิกไป น่าจะนำมาพิจาณาใหม่


# เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ดำเนินนโยบายเหล่านั้น
นักการเมืองอาจจะคิดว่าการเพิ่มภาษีใหม่ๆอาจจะทำให้รัฐบาลขาดความนิยม
แต่ยังไม่ต้องทำในขณะนี้ก็ได้ แต่ต้องหาทางอธิบายให้ประชาชนได้รับทราบว่าการที่จะทำนุบำรุงให้ประชาชนให้มีสวัสดิการที่ดีขึ้นได้ ต้องมีการปรับปรุงระบบภาษีด้วย เพราะจริงๆแล้ว มันไม่ได้เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการมากมายเพราะเป็นต้นทุนที่ต่ำ
และภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นก็ควรที่จะพิจารณาได้แล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องที่รีบด่วน  แต่ว่าเรื่องรายได้นั้นไม่ควรลดภาษีมากนัก


# ถ้าหากนำรายได้ที่เพิ่มจากภาษีเหล่านั้นไปอุดหนุนนโยบายประชานิยมจะมีปัญหาหรือไม่
ไม่อยากจะให้เรียกนโยบายที่ทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีมีสถานภาพการครองชีพที่ดีขึ้นเป็นมาตรการประชานิยมเสมอไปเพราะถ้าหากมีเงินรายได้มาอุดหนุน จะทำให้ผู้คนมีแรงจูงใจในการทำงานที่ดีขึ้น
เช่น หากจะให้คนมีโอกาสด้านการเรียนที่ดีขึ้นโดยไม่เสียเงิน ซึ่งถ้ามองในแง่การลงทุนในด้านสังคมถือว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำ แต่มูลค่าเพิ่มกลับมาจะได้สูงกว่าที่ลงทุนไปแต่เป็นการลงทุนในระยะยาว เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ควรจะทำ  และต้องนึกถึงคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งถือว่าคุ้มเพราะจะได้ประชาชนที่มีคุณภาพมากขึ้น รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น


# นโยบายใดที่รัฐบาลยังไม่ทำสักที ทั้งที่มีความจำเป็น 
ดิฉันอยากเห็นรัฐบาลสนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงานให้เป็นสหภาพแรงงานและอยากให้มีบทบาทต่อรองค่าจ้างของคนงานกับนายจ้างเนื่องจากปัญหาในเรื่องรายได้และแรงงานบ้านเรามีช่องว่างที่ต่างกันมากกว่าประเทศอื่นๆ
ในประเทศอื่นๆ ช่องว่างเหล่านี้ประมาณเท่าตัว แต่ประเทศไทยในบางครั้งห่างถึง 20 เท่าตัว ซึ่งเป็นความไม่แฟร์ของระบบเศรษฐกิจและการจ่ายค่าจ้าง ดังนั้นเมื่อเป็นดังนี้จะเห็นความเหลื่อมล้ำของรายได้  ลองคิดดูว่าถ้าเงินเดือนเฉลี่ยของคนไทยได้ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อครัวเรือน เขาจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นคนดีในอนาคต ดิฉันจึงสนับสนุนการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ของรัฐบาลนี้ ที่จริง 300 บาทไม่ได้มากไปเลย ในภาวะเศรษฐกิจ และขาดแคลนของแรงงาน
แน่นอนว่าฝ่าย SME น่าจะมีปัญหาแต่ก็ต้องหาทางออกกันไป หรือลูกจ้างที่ออกมาอาจมาทำธุรกิจขนาดย่อมก็ได้ นอกจากนี้ยังควรให้มีการฝึกทักษะของผู้ที่ต้องออกจากงานเพื่อให้สามารถไปทำในธุรกิจที่ใหญ่กว่าก็ไม่น่าจะมีปัญหาเท่าที่ประกาศไป 7 จังหวัด ก็ไม่เห็นว่าจะล้มละลาย แน่นอนว่าผู้ประกอบการฟังแล้วอาจจะไม่ชอบ แต่ผู้ประกอบการอาจจะไปเพิ่มประสิทธภาพการจัดการ ให้ดีขึ้นเพื่อลดต้นทุนได้


# นโยบายจำนำข้าวซึ่งมีปัญหามากในช่วงที่ผ่านมาจำเป็นแค่ไหน
เป็นการหวังผลทางการเมืองสูงจึงกำหนดราคาจำนำสูง จึงได้รับผลบวกทางการเมือง แต่ควรมีความยืดหยุ่นกว่านี้ในการตั้งราคา ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และรัฐบาลต้องใส่ใจราคาที่เสนอด้วยว่าจะทำให้เราขายข้าวได้โดยไม่เป็นหนี้มากหรือไม่ และอยากให้รัฐบาลลงไปดูกระบวนการในระดับพื้นที่ให้แน่ใจว่าชาวนาได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ


# นโยบายของรัฐบาลช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มากแค่ไหน
ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่ก็ควรปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนโยบายอื่นๆ เช่น ค่าแรง 300 บาท การรับจำนำข้าว ก็มีผลในด้านการลดความเหลื่อมล้ำแต่ไม่ยั่งยืน เพราะหากจะยั่งยืนต้องประกอบไปด้วยมาตราการทางด้านภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐที่จะป้องกันที่จะให้คนที่มั่งคั่งพอกพูนความมั่งคั่งของตัวเองไปเรื่อยๆโดยไม่ได้ช่วยสังคมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในเรื่องของภาษีอากร


# แล้วนโยบายรถคันแรกเป็นการอัดฉีดเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับจะทำให้รถติดหรือไม่
เรื่องรถติดเป็นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจซึ่งการอัดฉีดเงินเข้าไประยะสั้นในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ไม่เป็นนโยบายที่เลวร้าย แต่ต้องมีความลุ่มลึกตามสมควร 
รายงานหลายฉบับของนักวิเคราะห์ทางการเงินส่วนใหญ่จะพอใจเพราะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ดีขึ้น เพียงแต่ต้องป้องกันไม่ให้ภาวะฟองสบู่ก่อตัวขึ้น แต่ดิฉันไม่ค่อยเป็นห่วง


# การดำเนินนโยบายสร้างหนี้ประชาชนจะเกิดประโยชน์หรือไม่
นักธุรกิจก็ต้องเป็นหนี้สร้างหนี้เรื่อยๆไม่เห็นมีใครว่า แต่หากประชาชนจะสร้างหนี้ แต่อาจมีปัญหาบ้าง เขาอาจไม่มีประสบการณ์ แต่ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ โครงการกองทุนหมู่บ้านก็มีหนี้เสียไม่มาก ปัญหาน่าจะอยู่ที่นโยบายที่ให้ธนาคารออกบัตรเครดิตได้โดยง่ายมากกว่า โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ซึ่งน่าจะเป็นปัญหามากกว่านโยบายรัฐบาล


# การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร 
ดิฉันอยากจะเห็นฝ่ายค้านในด้านที่เป็นบวกมากกว่านี้เพื่อเป็นคู่แข่งของรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป มองว่าฝ่ายค้านมีลักษณะตั้งรับ ไม่ค่อยเป็นบวกมากเท่าที่ควร อยากเห็นบทบาทที่ไม่เป็นฝ่ายตั้งรับแต่อยากเห็นการทำให้พรรคก้าวหน้าและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องที่ควรจะร่วมมือในส่วนที่มีผลบวกซึ่งกันและกันในอนาคต ฝ่านค้านอาจจะมองการเมืองในแบบวันต่อวันมากเกินไป จึงอยากให้มองเป็นระยะปานกลางหรือระยะยาวมากกว่านี้


# แล้วนโยบายใดที่ฝ่ายค้านควรสนับสนุนรัฐบาล
ดิฉันเห็นว่าทำไมฝ่ายค้านไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 เพื่ออนาคตของระบอบประชาธิปไตย การไม่สนับสนุนของฝ่ายค้านในเรื่องนี้ ดิฉันมองว่าเป็นเรื่องของการเมืองวันต่อวันมากเกินไป จริงๆแล้วการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2550 น่าจะเป็นผลดีกับพรรคการเมืองมากในอนาคต ส่วนการลงประชามติก็ต้องติดตามว่าจะลงเอยอย่างไร ที่จะเป็นผลบวกและไม่เกิดความขัดแย้ง


# การต่อสู้แรงกดดันของรัฐบาลทำได้ดีไหม
ต้องยอมรับว่าสื่อสารมวลชนส่วนใหญ่คล้อยไปตามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเราจึงเห็นข่าวในทางที่ไม่ค่อยจะสวยงามนัก แต่ถ้าอ่านการวิเคราะห์ของต่างประเทศจะเห็นอีกด้านหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลก็ทำได้ดีตามสมควร แต่รัฐบาลต้องใส่ใจในข้อครหาในเรื่องการคอร์รัปชั่น หรือประเด็นที่ไม่มองระยะยาวให้มากกว่านี้ เพราะจริงๆ แล้ว นโยบายของรัฐบาลยังไม่น่ากลัว เพราะสมัยรัฐบาลทักษิณก็กระตุ้นเศรษฐกิจจนหนี้สาธารณะสูงขึ้น แต่จริงๆ และไม่ได้สูงอย่างที่คิด คือไม่ถึงร้อยละ 60 ของจีดีพี เช่นเดียวกับตอนนี้ แต่กระแสจากข่าวให้ภาพน่ากลัว แต่ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะร้อยละ 200 ด้วยซ้ำ


# ..อวยพรปีใหม่ให้กับคนไทย
ขอให้ทุกคนตั้งสติ เพราะความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้น และจะมีผลในทางบวกเพราะทำให้เราต้องตื่นตัว ว่าการเมืองของเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งการเปลี่ยนแปลงแน่นอนว่า คนที่คุ้นเคยกับอะไรเก่าๆ น่าจะหวั่นไหว ขอให้อย่าหวั่นไหวเลยเพราะการทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงอาจจะดีขึ้นก็ได้ และขอให้ทุกคนมีความสุข สุขภาพดีค่ะ



.