http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-13

โกวิท: หากไม่ปฏิรูปสถาบัน ก็ไม่ต้องพัฒนาประเทศ, จักรวรรดิดินปืนแห่งอิสลามทั้ง 3ฯ

.

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ : หากไม่ปฏิรูปสถาบัน ก็ไม่ต้องพัฒนาประเทศ
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:14:54 น.
( ที่มา บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชนรายวัน 12 ธันวาคม 2555 )


เมื่อ พ.ศ.2487 (ร่วม 50 ปีมาแล้ว) ประเทศเกาหลีเหนือและประเทศเกาหลีใต้มีความเหมือนกันทุกอย่างโดยมีประชาชนพวกเดียวเผ่าเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมแบบเดียวกันและมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน 
หากจะแตกต่างกันบ้างก็คือ เกาหลีเหนือจะมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าเกาหลีใต้ ซึ่งเกาหลีใต้จะมีเศรษฐกิจเป็นเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

ในปีต่อมาคือ พ.ศ.2488 ทางเกาหลีเหนือได้เลือกเอาระบบการปกครองเป็นแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ส่วนเกาหลีใต้ใช้ระบบการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม (Authoritarianism) และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและในเวลาต่อมาร่วม 20 ปีที่แล้วก็เปลี่ยนระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแทนเผด็จการอำนาจนิยม


ในปัจจุบันแม้แต่มนุษย์ต่างดาวที่อยู่นอกโลกหรือนักบินอวกาศก็สามารถเห็นความเจริญแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยมองมาจากอวกาศยานค่ำคืน ซึ่งจะเห็นความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด (ดูภาพถ่ายดาวเทียมของประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยามค่ำคืน) กล่าวคือทั่วทั้งเกาหลีใต้จะมีแสงสว่างทั่วประเทศและที่สว่างจ้าที่สุดก็คือบริเวณเขตเมืองหลวงเซอูลและปริมณฑล

ส่วนเกาหลีเหนือจะเห็นแสงไฟกระจุกเล็กนิดเดียวบริเวณเมืองเปียงยางเท่านั้นนอกนั้นในส่วนอื่นๆ ของเกาหลีเหนือจะมืดมิดโดยสิ้นเชิง ครับ ! การดูการใช้ไฟฟ้าในยามค่ำคืนนี้คือดัชนีบ่งชี้ถึงความเจริญและความล้าหลังที่สมสมัยและง่ายที่สุดในปัจจุบัน

ตัวอย่างนี้เรื่องเกาหลีนี้ผู้เขียนนำมาจากคำบรรยายของ Tyler Cowen and Alex Tabarrok ในการบรรยายเรื่อง Development Economics จาก MRUniversity

แต่ตัวอย่างต่อไป ที่เป็นเรื่องของเมืองเซี่ยงไฮ้แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เป็นตัวอย่างที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์ด้วยตัวเองจากการเปรียบเทียบเมืองเซี่ยงไฮ้ใน พ.ศ.2522 กับเมืองเซี่ยงไฮ้ใน พ.ศ.2555 ว่าในช่วง 33 ปีการปฏิรูปสถาบันของจีนได้ทำให้เซี่ยงไฮ้เจริญขึ้นเหมือนกับการพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว



เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ คือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 ทางคณาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีผู้เขียนรวมอยู่ด้วยได้มีโอกาสได้เดินทางไปเยือนจีนโดยเป็นแขกของสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งตอนนั้นจีนเพิ่งเสร็จสิ้นสงครามสั่งสอนเวียดนามไปได้หมาดๆ (ความจริงคือเป็นสงครามที่เวียดนามสั่งสอนจีนมากกว่าเพราะทำให้จีนตระหนักถึงความล้าหลังอย่างมากของจีนเมื่อเทียบกับโลกภายนอกได้ชัดๆ โดยดูจากความล้าสมัยของอาวุธยุทโธปกรณ์ของจีนเมื่อเทียบกับเวียดนามในสมัยนั้น)
เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนในขณะนั้นจึงเริ่มต้นการปฏิรูปสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศด้วยการประกาศใช้นโยบาย 4 ทันสมัย (1.การเกษตร 2.การอุตสาหกรรม 3.การทหาร 4.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ประเดิมและดำเนินการปฏิรูปสถาบันของจีนเรื่อยมา

ที่เมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อ 33 ปีมาแล้ว ในสายตาของผู้เขียนดูเหมือนเมืองชิคาโกเก่าในภาพถ่ายของช่วงทศวรรษ 1940 และสลัมที่อยู่อาศัยของชาวจีนเนื่องจากเซี่ยงไฮ้เป็นเขตเช่าที่บรรดาชาติตะวันตกและญี่ปุ่นเข้ายึดครอง แม้ว่าเซี่ยงไฮ้จะเป็นศูนย์กลางของการพาณิชย์และอุตสาหกรรมของจีนมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิง จนกระทั่งคอมมิวนิสต์เข้าปกครองประเทศจีนร่วม 40 ปี เซี่ยงไฮ้ก็พัฒนาไปอย่างเชื่องช้าจนมีการปฏิรูปสถาบันครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2534 ด้วยการสร้างเมืองใหม่ที่เขตผู่ตง (ดูรูป) เป็นตัวอย่างของการปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจและการเมืองครั้งมโหฬารของจีน

ผลหรือครับ? ในเวลา 18 ปี จาก พ.ศ.2534-2552 เซี่ยงไฮ้มีสถาบันการเงินถึง 787 สถาบัน โดย 170 สถาบันเป็นของชาวต่างชาติที่มาลงทุนในเซี่ยงไฮ้ และตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นลำดับ 3 ของโลก นอกจากนี้การค้าวัตถุดิบเพื่อการอุตสาหกรรม 6 ชนิดหลัก เช่น ยางพารา ทองแดง และสังกะสี ในตลาดสินค้าล่วงหน้า (Future Exchange Market) ของเซี่ยงไฮ้มีปริมาณเป็นอันดับ 1 ของโลก

ในสองทศวรรษที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่พัฒนารวดเร็วที่สุดในโลกโดยตั้งแต่ พ.ศ.2535 เป็นต้นมาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้เป็นเลข 2 ตัวติดต่อกันมาโดยตลอด ยกเว้นใน พ.ศ.2551-2552 ที่สภาวะเงินฝืดทั่วโลก 
สำหรับ พ.ศ.2554 นั้น จีดีพีของเซี่ยงไฮ้ขยายตัวเป็นมูลค่า 297 พันล้านเหรียญอเมริกัน โดยจีดีพี per capita มีถึง 12,784 เหรียญอเมริกัน สำหรับภาคบริการที่ใหญ่ที่สุด 3 อย่างของเซี่ยงไฮ้คือ การเงินการธนาคาร การค้าปลีก และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ จากการที่มลภาวะทางอากาศ และมลภาวะทางเสียงอันเกิดจากรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ทางการของฝ่ายบริหารของเซี่ยงไฮ้ออกเทศบัญญัติห้ามรถมอเตอร์ไซค์วิ่งในเขตเมืองแต่ส่งเสริมให้ใช้รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแทน โดยมีสถานที่ให้ชาร์จแบตเตอรี่คิดค่าบริการครั้งละ 100 หยวน (500 บาท) โดยอ้างว่ามอเตอร์ไซค์ทำให้เกิดมลภาวะทางเสียงและมลภาวะทางอากาศ เกิดอุบัติเหตุถึงชีวิตเสมอและเป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรม นอกจากนี้ยังเป็นการเลิกมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ผิดกฎหมายและทำให้การจราจรมีระเบียบเรียบร้อยขึ้น ส่วนข้อสุดท้ายฟังทะแม่งพิกลคือทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองเซี่ยงไฮ้ดีขึ้น

ครับ! ความเปลี่ยนแปลงของเซี่ยงไฮ้ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมานี้ เกิดจากการปฏิรูปสถาบันเศรษฐกิจและสถาบันทางการเมืองโดยแท้


ท่านผู้อ่านที่เคารพบางท่านอาจจะสงสัยว่าสถาบันที่ผู้เขียนพูดถึงนี้คืออะไร?

สถาบัน (Institution) หมายถึงสิ่งซึ่งคนในส่วนรวมคือ สังคม จัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน มีอยู่ 7 สถาบันในทุกสังคมระดับประเทศคือ
1) สถาบันครอบครัว 2) สถาบันการเมือง 3) สถาบันเศรษฐกิจ 4) สถาบันศาสนา 5) สถาบันการศึกษา 6) สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 7) สถาบันนันทนาการ

การปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงบรรดาสถาบันดังกล่าวอย่างมโหฬาร โดยการกำหนดควบคุมจากเบื้องบน ซึ่งประเทศไทยเราก็เคยทำมาแล้วในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระปิยมหาราช ซึ่งสร้างความเจริญให้กับประเทศไทยนับอเนกประการจนกระทั่งเกิดมีความเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 อันนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันครั้งใหญ่ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยการกำหนดควบคุมจากเบื้องบนเช่นกัน ซึ่งก็ได้พัฒนาประเทศไทยมาหลายสิบปีแล้วจนถึงทางตันในปัจจุบันเพราะประเทศไทยเราไม่สามารถพัฒนาอย่างทะลุทะลวง (Breakthrough) ให้พัฒนาขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (Developed country) เหมือนญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ได้ หากแต่จมปลักอยู่กับความเป็นประเทศกำลังพัฒนาย่ำอยู่กับที่มานานนับสิบปีแล้ว

ครับ! ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปสถาบันเพื่อการพัฒนาสังคมไทยอีกครั้งแล้วละครับเพราะประเทศไทยหยุดชะงักมานานเกินควรแล้ว

แต่ครั้งนี้จำเป็นต้องปฏิรูปจากประชาชนเป็นผู้กำหนดและควบคุม ซึ่งต้องปฏิรูปไปพร้อมๆ กันทั้ง 7 สถาบันทางสังคมในคราวเดียวกัน ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องปฏิรูปทันทีคือวินัยของคนในสังคมซึ่งต้องเริ่มที่สถาบันครอบครัวครับ



++

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ : จักรวรรดิดินปืนแห่งอิสลามทั้ง 3 จักรวรรดิ
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 20:30:15 น.
( ที่มา บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชนรายวัน 28 พ.ย. 2555 )


ขณะนี้ (ตั้งแต่วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 เป็นต้นมา) สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังตึงเครียดอยู่นะครับ อิสราเอลได้ระดมพลเต็มอัตราศึก และถล่มระเบิดใส่พวกปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่าอย่างหนักคนตายไปแล้วนับร้อยคน แบบว่าจะรบกับพวกปาเลสไตน์แตกหักไปเลย เนื่องจากโดนจรวดที่ยิงมาจากกาซ่าไปหลายร้อยลูกแล้ว ถึงแม้ว่าจรวดจะยิงมาไม่ค่อยถูกใครตายมากนักแต่ก็มีบ้าง

ที่น่าวิตกคือแม้แต่เมืองหลวงเก่า (เทลอาวีฟ) และเมืองหลวงใหม่ (เยรูซาเล็ม) ก็ถูกจรวดจากฉนวนกาซ่ายิงไปถึงได้เหมือนกัน ซึ่งหากอิสราเอลรุกทะลวงไปในกาซ่าจริงๆ แล้ว บรรดากลุ่มประเทศอาหรับที่นำโดยอียิปต์กับอิหร่าน (ซึ่งไม่ใช่อาหรับ) ก็คงต้องเข้าแจมในการรบด้วยแน่

นอกจากนี้ สงครามกลางเมืองในซีเรียระหว่างมุสลิมชีอะห์กับมุสลิมซุนหนี่ที่เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ "อาหรับ สปริง" ซึ่งลากดึงกันไปดึงกันมาเป็นปีแล้ว ผู้คนเสียชีวิตไปเป็นหมื่นคนเลยก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด และการก่อการร้ายประจำวันในอิรักระหว่างมุสลิมชีอะห์กับซุนหนี่ก็หนักข้อเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่จะหาคนที่รู้เรื่องหรือเข้าใจปัญหาในภูมิภาคตะวันออกกลางนี้ได้ยากเต็มที เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะเรื่องของจักรวรรดิดินปืนแห่งอิสลามทั้ง 3 จักรวรรดิในอดีต ก่อนสมัยล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในความเข้าใจของปัญหาของภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบัน


จักรวรรดิ มาจากคำภาษาละติน "imperium" ที่หมายถึงสายการบังคับบัญชาทางการทหารของรัฐบาลโรมันโบราณ โดยทั่วไปมักนิยามให้เป็นรัฐที่มีอาณาจักรอื่นที่มีประชากรและวัฒนธรรมที่แตกต่างชัดเจนอยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจการปกครองหรืออยู่ในเครือจักรภพ เช่น ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษในปัจจุบัน นิยามอีกรูปแบบหนึ่งอาจเน้นปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือการเมือง แต่โดยทั่วไปมักหมายถึงการครอบงำทางอำนาจการทหาร จักรวรรดิจะมีโครงสร้างทางการเมืองของตนเอง หรืออย่างน้อยก็โดยวิธีกดขี่บังคับให้อยู่ใต้อำนาจ

จักรวรรดิบนแผ่นดินใหญ่ เช่น จักรวรรดิมองโกลมักจะขยายไปตามอาณาเขตที่ประชิดต่อเนื่องกัน ส่วนจักรวรรดิทางทะเล เช่น จักรวรรดิโปรตุเกสและจักรวรรดิอังกฤษ อาจมีอาณาเขตกระจัดกระจายหลวมๆ แต่อยู่ในอำนาจการควบคุมทางกองทัพเรือ เป็นต้น


จักรวรรดิดินปืนแห่งอิสลามคือจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกัน 3 อาณาจักร และอาวุธหลักในการสร้างจักรวรรดิคือใช้ปืนใหญ่และปืนเล็กเป็นอาวุธหลักแทนหอก ดาบ ซึ่งต้องใช้ดินปืนจำนวนมหาศาลในการรบแต่ละครั้ง ได้แก่

1) จักรวรรดิออสโตมานซึ่งมีอาณาเขตที่ครอบคลุมถึง 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป ซึ่งขยายไปไกลสุดถึงช่องแคบยิบรอลตาร์ทางตะวันตก นครเวียนนาทางทิศเหนือ ทะเลดำทางทิศตะวันออก และอียิปต์ทางทิศใต้อาณาเขตได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ทิศตะวันตกจรดดินแดนออสเตรียทิศตะวันออกจรดคาบสมุทรอาระเบีย ทิศเหนือจรดคาบสมุทรไครเมีย ทิศใต้จรดซูดานในแอฟริกาเหนือ มีพื้นที่รวม 12,000,000 ตารางกิโลเมตร

2) จักรวรรดิโมกุลมีอาณาเขตครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ในอนุทวีปอินเดีย นับแต่อ่าวเบงกอลทางตะวันออกไปจนถึงแคว้นบาลูจิสถานในทางตะวันตก และจากแคว้นแคชเมียร์ทางเหนือไปจนถึงแม่น้ำคาเวอริในทางใต้ ประชากรของจักรวรรดิในยุคนั้นมีประมาณ 110-150 ล้านคน ดินแดนในครอบครองมีมากกว่า 3.2 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรมากกว่า 150 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลกทั้งหมดในขณะนั้นทีเดียว

3) จักรวรรดิซาฟาวิดเป็นผู้ก่อตั้งอิสลามนิกายชีอะห์ (อิหม่าม 12) เป็นลัทธิทางการของจักรวรรดิ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม จักรวรรดิซาฟาวิดมีเนื้อที่ประมาณ 2,850,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอิหร่านทั้งหมด อิรัก จอร์เจีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน อัฟกานิสถาน คอร์เคซัส บางส่วนของปากีสถาน ตุรกีและเตอร์กเมนิสถาน

จักรวรรดิดินปืนแห่งอิสลามทั้ง 3 จักรวรรดินี้ คนไทยเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะรู้จักกันมากนักทั้งๆ ที่จักรวรรดิดินปืนทั้ง 3 จักรวรรดินี้เกิดขึ้นมาร่วมสมัยกับราชอาณาจักรสุโขทัยและราชอาณาจักรศรีอยุธยาแท้ ๆ และทั้ง 3 จักรวรรดินี้ล่มสลายไปในช่วงปลายของราชอาณาจักรศรีอยุธยาและในสมัยต้นราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น

ที่น่าสนใจของจักรวรรดิดินปืนทั้ง 3 นี้ คือล้วนแล้วแต่เป็นจักรวรรดิของอิสลามทั้งสิ้น โดยมีจักรวรรดิออสโตมานแห่งคาบสมุทรอนาโตเลียเป็นมุสลิมซุนหนี่ ส่วนจักรวรรดิซาฟาวิดในอิหร่านและจักรวรรดิโมกุลในอินเดียนั้นเป็นมุสลิมชีอะห์



ดินปืน (Gunpowder หรือ Black powder) เชื่อกันอย่างมีหลักฐานว่าได้ถูกนำไปใช้เริ่มแรกโดยนักเคมีชาวจีนเมื่อราวศตวรรษที่ 9 โดยเอามาใช้ทำดอกไม้เพลิง, พลุ และประทัด และจีนได้ประดิษฐ์ปืนที่ใช้ดินปืนรุ่นแรกๆ ซึ่งได้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งบรรดาจักรวรรดิดินปืนแห่งอิสลามทั้ง 3 จักรวรรดิอันได้แก่ ออตโตมาน ซาฟาวิด และโมกุล ได้นำเอาปืนมาพัฒนาเป็นอาวุธหลักของจักรวรรดิในการทำสงครามโดยทหารราบถือปืนเล็กยาวและมีปืนใหญ่เป็นจำนวนมากในการรบทำให้ขยายอาณาเขตของจักรวรรดิได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นที่มาของสงครามอันยาวนานในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นเวลาหลายร้อยปี ระหว่างจักรวรรดิออตโตมานกับจักรวรรดิซาฟาวิดอันเป็นที่มาของการที่มีประชากรในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เป็นทั้งมุสลิมซุนหนี่กับมุสลิมชีอะห์อยู่ด้วยกันในทุกประเทศ

ถึงแม้ว่าในที่สุดจักรวรรดิออตโตมานจะคงทนยั่งยืนกว่าจักรวรรดิซาฟาวิดร่วม 200 ปี ทำให้ชาวมุสลิมซุนหนี่จะมีมากกว่าชาวมุสลิมชีอะห์ก็ตาม แต่จำนวนชาวมุสลิมชีอะห์ก็มีอยู่ทั่วไป
สำหรับอิทธิพลของมุสลิมซุนหนี่มีอยู่เหนือมุสลิมชีอะห์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่จำนวนประชากรในภูมิภาคตะวันออกกลางมักจะมีสัดส่วน 7:5 ระหว่างมุสลิมซุนนี่กับมุสลิมชีอะห์ ในขณะที่ประเทศอิหร่านเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชีอะห์และปกครองโดยชีอะห์ 
นอกนั้นบางประเทศเช่นบาห์เรนผู้ปกครองเป็นซุนหนี่ แต่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชีอะห์ และประเทศอิรักสมัยซัดดัม ฮุสเซน ก็มีผู้ปกครองเป็นซุนหนี่ในขณะที่ประชากรอิรักส่วนใหญ่เป็นชีอะห์


ที่ซีเรียก็วุ่นวายกำลังรบกันเป็นสงครามกลางเมืองอยู่ในปัจจุบัน ก็เนื่องจากผู้ปกครองเผด็จการเป็นมุสลิมอาลาวีซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของชีอะห์ที่มีประชากรเพียง 20% ในขณะที่ประชากรซีเรียซุนหนี่มีจำนวนกว่า 70% และควบคุมเศรษฐกิจของประเทศด้วย แต่พวกอาลาวีจะยึดตำแหน่งในกองทัพและหน่วยสืบราชการลับไว้โดยสิ้นเชิง จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายภาวะฉุกเฉินไว้ตั้ง 50 ปีแล้วนั่นเอง

ครับ! ความแตกต่างและความเป็นปรปักษ์กันระหว่างมุสลิมซุนหนี่และมุสลิมชีอะห์ในภูมิภาคตะวันออกกลางนี่แหละครับ เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจปัญหาทางการเมืองของภูมิภาคตะวันออกกลางได้ระหว่างประเทศอาหรับด้วยกันและประเทศอิหร่าน (ชีอะห์) กับอาหรับ (ทั้งชีอะห์และซุนหนี่)

นอกจากนี้ยังช่วยให้เข้าใจปัญหาเรื่องอิสราเอลกับมุสลิมซุนหนี่ฮามัดของปาเลสไตน์ กับมุสลิมชีอะห์เฮซบอลเลาะห์ของเลบานอนอีกด้วย



.