http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-13

ผาสุก: ความเหลื่อมล้ำกับความไร้เสถียรภาพ

.

ความเหลื่อมล้ำกับความไร้เสถียรภาพ
โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร  คอลัมน์  ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
ในมติชน ออนไลน์  วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 13:45:48 น.
( ที่มา บทความกระแสทรรศน์ นสพ.มติชนรายวัน 12 ธันวาคม 2555 )


ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำ (Inequality) ที่พุ่งสูงขึ้น จนกลายเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศ และของโลก

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นผลพวงของขบวนการโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ซึ่งส่งเสริมการดำเนินนโยบายตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ที่เชื่อว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต และส่งเสริมชุดนโยบายที่ช่วยให้ภาวะเงินต่อเงิน หรือการเก็งกำไรเป็นไปได้โดยสะดวก โดยยกเลิกกฎเกณฑ์กำกับการไหลเวียนของเงินทุนโลก ลดภาระภาษีเงินได้เกิดจากการเก็งกำไร
ขณะที่มนุษย์กินเงินเดือนต้องเสียภาษีรายได้ในอัตราสูงกว่า (ที่สหรัฐ เศรษฐี วอเรน บัฟเฟต บอกว่าเขาเสียภาษีเงินได้ร้อยละ 14 แต่พนักงานบริษัทของเขาเสียร้อยละ 36  ที่บ้านเราไม่มีภาษีกำไรหุ้น แต่ประเทศอื่นมี ) และยังต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ เช่น ไม่อาจเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศต่างๆ ได้อย่างเสรี (ขณะที่เงินทุนถูกโยกย้ายไปลงทุนที่ไหนก็ทำได้อย่างเสรีกว่ามากๆ) และต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ ในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อต่อรองเพิ่มค่าจ้าง


ในระดับประเทศ ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมือง ความไม่พึงพอใจรัฐบาลในหลายประเทศ รวมทั้งที่ตะวันออกกลางและที่เมืองไทยเมื่อเร็วๆ นี้

ณ ระดับระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์ สติก กลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์ได้รับรางวัลโนเบล ได้ชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยส่งผลให้เศรษฐกิจโลกไร้เสถียรภาพ
เขาอธิบายว่าคนรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของโลกมักใช้รายได้เกือบทั้งหมดไปกับการซื้อหาอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวัน จนไม่มีเงินเหลือเก็บ
แต่คนรวยที่เป็นส่วนน้อย ใช้เงินมากเท่าไรก็ยังมีเงินเหลือเก็บเป็นเงินออมจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อมีการกระจายรายได้เข้าสู่กระเป๋าคนรวยมากขึ้น ขณะที่ส่วนแบ่งของคนรายได้น้อยลดลง การใช้จ่ายโดยรวมของโลกก็จะต้องลดลง ขณะเดียวกันเงินออมในบรรดาคนรวยของโลกกลับพอกพูนขึ้น คนเหล่านี้ก็หาลู่ทางลงทุนเพื่อให้เงินต่อเงินไปอีก โดยการเคลื่อนย้ายเงินไปลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะในกิจการเก็งกำไรต่างๆ ในตลาดหุ้น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดซื้อขายล่วงหน้า อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ นำไปสู่ระลอกของวัฏจักรเศรษฐกิจเฟื่องฟู ที่มีภาคการเงินเป็นศูนย์กลาง ตามด้วยเศรษฐกิจถดถอย ซ้ำแล้วซ้ำอีก เศรษฐกิจเฟื่องฟู เกิดจากการมีเงินลงทุนในกิจการเก็งกำไรอย่างมหาศาล จนเกินกว่าเศรษฐกิจจะรับได้ ขณะเดียวกันภาคเศรษฐกิจจริงกลับถดถอยเพราะมีการใช้จ่ายน้อยลง เมื่อเป็นดังนั้นอัตรากำไรก็จะลดลง ตามด้วยการถอนเงินลงทุน และเศรษฐกิจวิกฤต ดังที่เราได้เห็นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ละตินอเมริกา วิกฤตเศรษฐกิจโลก 2551 วิกฤตเศรษฐกิจที่กรีซ วิกฤตเงินยูโร ฯลฯ


ศาสตราจารย์ สติกกลิทซ์ ยังได้พูดถึงความโยงใยระหว่างความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจกับความขัดแย้งทางการเมืองว่า ความเหลื่อมล้ำที่สูงมากๆ จะทำให้คนที่อยู่ในฐานะย่ำแย่ ไม่อาจรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของ "สังคม" หรือ "ชาติ"ได้อย่างถนัดใจ
และถ้าคนจำนวนมากรู้สึกรู้สาเช่นนี้ขึ้นพร้อมๆ กัน ก็อาจจะรวมตัวกันออกไปประท้วงได้ง่ายขึ้น


นัยของการวิเคราะห์ดังกล่าว ค่อนข้างจะชัดเจน การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนอกจากจะลดความขัดแย้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ยังจำเป็นเพราะช่วยสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจด้วย



.