http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-10

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ชะตากรรมของคู่แฝด

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ชะตากรรมของคู่แฝด
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:11:41 น.
(ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 10 ธ.ค. 2555 )


นิธิ เอียวศรีวงศ์

เกือบ 9 ปีผ่านไป คู่ปรปักษ์ของความขัดแย้งในภาคใต้ คงรู้แล้วว่า ไม่มีฝ่ายใดจะสามารถบรรลุเป้าประสงค์ทางการเมืองของตนได้ด้วยการต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธ 
ไม่ว่าจะทุ่มเทกำลังทหารลงไปเท่าไร ฝ่ายรัฐก็ไม่มีกำลังพอจะรักษาความสงบเรียบร้อยได้ ปฏิบัติการด้วยความรุนแรงของฝ่ายตรงข้ามก็ยังดำเนินต่อไป พร้อมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้ใช้ยุทธวิธีตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรงที่ปริ่มหรือนอกกฎหมาย ก็ไม่อาจยับยั้งปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามได้ ในระยะหลัง รัฐพยายามเปลี่ยนวิธีการ หันมาเน้นปฏิบัติการด้านจิตวิทยามวลชนมากขึ้นตามลำดับ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบของรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงไรก็ตาม เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า มีความพยายาม ทางฝ่ายรัฐที่จะยุติการตอบโต้ด้วยความรุนแรง  
นอกจากนี้ รัฐยังเห็นความจำเป็นมากขึ้นตามลำดับว่า งบประมาณที่ทุ่มลงไปในสามจังหวัดภาคใต้ต้อง ใช้เพื่อการ "พัฒนา" มากขึ้น แม้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การดำเนินนโยบายนี้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก แต่อย่างน้อยก็แสดงว่ารัฐตระหนักแล้วว่า ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้มีความสลับซับซ้อนมากกว่าปฏิบัติการของ "หัวกบฏ" เพียงไม่กี่คน

ทางฝ่ายผู้ก่อการ ก็คงเห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะก่อความรุนแรงสักเพียงไร ก็ไม่อาจทำให้รัฐไทยยอมจำนนได้ นอกจากฝ่ายก่อการไม่มีกำลังจะขยายการก่อการร้ายและวินาศกรรมไปได้กว้างขวางเพื่อให้กระทบต่อสังคมทั้งหมดแล้ว การก่อการในภาคใต้เองยังไม่สามารถจำกัดผลกระทบที่มีต่อประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนมลายูมุสลิมซึ่งควรเป็นฐานสนับสนุนที่สำคัญของขบวนการ ก่อให้เกิดการคัดค้านทั้งจากประชาชนในพื้นที่ และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศของมุสลิมเอง (เช่น OIC) จึงเท่ากับบ่อนทำลายยุทธศาสตร์สำคัญของขบวนการ ที่จะทำให้ความเคลื่อนไหวของตนเป็นประเด็นนานาชาติ เพราะคงไม่มีองค์กรนานาชาติใด ที่จะสามารถรับรองขบวนการและความเคลื่อนไหวที่เป็น "ขบวนการก่อการร้าย" ได้ อย่างน้อยก็ทำอย่างออกหน้าไม่ได้

น่าประหลาดที่ว่า ความล้มเหลวในการใช้วิธีการต่างๆ ของทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ มีสาเหตุอย่างเดียวกัน นั่นคือหาหัวขบวนไม่เจอทั้งคู่ หรือพูดอย่างเป็นทางการว่าขาดเอกภาพทั้งสองฝ่าย


ทางฝ่ายรัฐ นโยบายจัดการความไม่สงบในภาคใต้กลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงการนำระหว่างกองทัพกับผู้นำทางการเมือง (แม้แต่ผู้นำนั้นได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหารหรือกองทัพ ก็ใช่ว่าจะมีอิสระในการกำหนด และดำเนินนโยบาย โดยกองทัพยอมปฏิบัติตามทุกอย่างไม่) โดยมีผู้ปฏิบัติฝ่ายอื่น โดยเฉพาะข้าราชการ พลเรือนนั่งรอดูผลอยู่บนรั้ว ด้วยเหตุดังนั้น นโยบายในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ดีหรือไม่ ก็ไม่เคยดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย 
ทางฝ่ายผู้ก่อการ ก็แทบไม่มีอะไรต่างกัน ยุทธวิธีคือการจัดองค์กรขนาดเล็กระดับตำบล แต่ละหน่วยมีอำนาจในการตัดสินใจด้านปฏิบัติการเองอย่างมาก เพื่อประโยชน์ในการปิดลับ ผู้ปฏิบัติการคนหนึ่งซึ่งเข้ามอบตัวให้สัมภาษณ์นักวิชาการว่า เขาฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาในระดับตำบลของเขา แต่เขาไม่รู้ว่าเขาสังกัดกับองค์กรอะไรแน่ เพียงแต่ได้รับการบอกเล่าว่าสังกัดอยู่กับ BRN-Coordinate (ซึ่งตัวเขาเองจะรู้จักองค์กรนี้ มากน้อยเพียงไรก็ไม่แน่) การประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติการขนาดเล็ก (ที่เรียกกันว่า RKK) คงมีอยู่บ้าง แต่ไม่แน่นแฟ้นอย่างที่ทางการไทยวาดภาพนัก

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่การประสานงานเพื่อปฏิบัติการก่อการร้ายสามารถทำได้ แต่การประสานงานเพื่อทำอย่างอื่นซึ่งมีความจำเป็นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เคยทำได้สำเร็จเลย เช่น ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำ PULO ให้สัญญาในการเจรจากับฝ่ายไทยครั้งหนึ่งว่า จะยุติการก่อความรุนแรงในสามอำเภอของนราธิวาสลง 3 สัปดาห์ แต่ในความเป็นจริง ก็ยังมีปฏิบัติการก่อความรุนแรงในสามอำเภอนั้นตลอดสามสัปดาห์ 

ยิ่งกว่านี้ก็ไม่น่าประหลาดด้วยที่เหล่าจูแว (pejuang - นักรบ ในภาษามาเลเซีย) อาจใช้กำลังและความสามารถของตนไปปฏิบัติการอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของขบวนการ เช่น คุ้มครอง หรือเป็นมือเป็นไม้ให้แก่การค้ายาเสพติด, ค้าน้ำมันเถื่อน, ค้ามนุษย์, บ่อนการพนัน หรือกิจการของเหล่าโสณทุจริตอื่นๆ
หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะสำเร็จในการปิดลับหัวขบวน แต่ขบวนการจะอ่อนแอลง ทั้งเพราะความแตกแยกภายใน และเพราะสูญเสียความน่าเชื่อถือแก่คนนอก และขบวนการจะหมดพลังที่จะปฏิบัติการอื่นใดได้ นอกจากก่อการร้าย ซึ่งไม่เป็นหนทางไปสู่เป้าหมายทางการเมืองของขบวนการ (ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นสิทธิในการปกครองตนเองหรือเอกราชของปาตานีก็ตาม)



บัดนี้ เกือบ 9 ปีผ่านไป ทั้งสองฝ่ายคือรัฐและผู้ก่อการคงตระหนักแล้วว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อน แต่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถขยายจุดแข็งของตัวให้ได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถควบคุมจุดอ่อนของตนไม่ให้เป็นพิษต่อการปฏิบัติการของตน 
หนทางที่เหลืออยู่จึงมีเพียงสองทาง

หนึ่งคือ ใครจะมีสายป่านยาวกว่ากัน และใครจะ "เหนียว" กว่ากัน ในขณะที่การก่อการร้าย (อาจจะจากทั้งสองฝ่าย) ยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางความสูญเสียแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างไพศาล ปฏิเสธได้ยากว่า ในหนทางนี้ รัฐไทยย่อมมีสายป่านยาวกว่า และจึงควรจะ "เหนียว" กว่า (เช่นจนถึงทุกวันนี้ สถานการณ์ในภาคใต้ตอนล่างยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคการเมือง, กองทัพ หรือเสื้อสีต่างๆ) แต่รัฐก็ต้องระวังมิให้ทางฝ่ายผู้ก่อการต่อสายป่านของตน โดยได้รับการสนับสนุนทางการทูต, การเมืองระหว่างประเทศ หรือการเงินจากต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งในสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนี้และอนาคตอันใกล้ โอกาสที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้ยาก ยกเว้นแต่รัฐไทยจะปฏิบัติการโง่ๆ จนเกินไป เช่นแทนที่จะโปรยนกกระดาษ กลับโปรยระเบิดแทน เป็นต้น (เรื่องที่ดูเหมือนง่ายๆ แค่นี้ บางทีรัฐไทยก็อาจทำไม่สำเร็จ - ดูข้างหน้า)
แม้ว่าหนทางนี้รัฐไทยได้เปรียบ แต่เกิดความเสียหายสูงมาก จนกระทั่งสังคมไทยไม่ควรยอมให้รัฐใช้ หนทางนี้เป็นอันขาด

หนทางที่สอง คือการเจรจา (อันเป็นคำที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ชอบ แต่ยอมให้ใช้คำว่า "กระบวนการไปสู่สันติภาพ") อันที่จริงมีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ระดับต่างๆ) และผู้นำชาวมลายูมุสลิมที่หลบภัยไปอยู่ต่างประเทศมาหลายครั้งแล้วในทุกรัฐบาล นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณเป็นต้นมา บางครั้งมีผู้นำต่างประเทศเช่น มาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นผู้จัดให้ บางครั้งก็เป็นรองประธานของโอไอซีจัดให้ แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่นำไปสู่มรรคผลเป็นรูปธรรมเลย อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเจรจาไม่บรรลุผลเป็นอุปสรรคภายในของทั้งสองฝ่าย ทางฝ่ายรัฐไทย คือ ความไม่เป็นเอกภาพหรือไม่มีหัวขบวนดังที่กล่าวแล้ว


นายกฯ หรือ ครม.อาจมีแนวทางไปอย่างหนึ่ง แต่ฝ่ายกองทัพอาจมีแนวทางไปอีกอย่างหนึ่ง จึงขัดขวางหรือไม่ร่วมมือทางด้านปฏิบัติ ซ้ำในระยะ 8 ปีกว่าที่ผ่านมา การเมืองไทยขาดเสถียรภาพอย่างยิ่ง เปลี่ยนรัฐบาลบ่อยเสียจนฝ่ายการเมืองไม่สามารถสถาปนาการนำที่ชัดเจนขึ้นมาเหนือกองทัพได้ นโยบายเจรจาจึงแกว่งไปแกว่งมาระหว่างรัฐบาลชุดต่างๆ โดยไม่สามารถดำเนินการไปอย่างยั่งยืนได้ (ดู Patani Forum, การเจรจาสันติภาพระหว่างมลายูมุสลิมและรัฐไทย)

ทางฝ่ายผู้ก่อการก็มีปัญหาภายในคล้ายกัน ผู้เข้าร่วมเจรจากับรัฐไทยล้วนเป็นผู้นำรุ่นเก่าที่บางคนก็ยุติบทบาททางการเมืองของตนไปแล้ว บางคนถึงยังมีบทบาทช่วงชิงการนำของกลุ่มอยู่ ก็หาได้มีอำนาจในการควบคุมความเป็นไปบนภาคพื้นดินในพื้นที่ กลุ่มที่เชื่อกันว่าพอจะมีอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ได้จริง คือ BRN-Coordinate ไม่เคยส่งตัวแทนเข้าร่วมเจรจาเลย มีบ้างที่ส่งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยเข้า "สังเกตการณ์" การประชุมเท่านั้น  
ปัญหาของเขาก็เหมือนปัญหาของเรา นั่นคือมีการช่วงชิงการนำกันระหว่างคนหลายกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มไม่สามารถหาความชอบธรรมที่คนอื่นยอมรับได้สักกลุ่มเดียว ยิ่งความจำเป็นบังคับให้ 
จูแวมีอิสระในการปฏิบัติการในพื้นที่แคบๆ ของตนเอง นับวันความเป็นอิสระของจูแวก็มากขึ้นจนกระทั่งดูเหมือนกลุ่มที่เคยบังคับบัญชา อยู่เบื้องหลัง (หากมีจริง) ก็หมดอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ไปอย่างมากเช่นกัน



ความแตกร้าวภายในของทั้งสองฝ่ายทำให้โอกาสที่จะปรับเป้าหมายของแต่ละฝ่ายให้เป็นไปได้เกิดขึ้นไม่ได้ไปด้วย สมมุติว่าฝ่ายไทยตั้งเป้าให้การเจรจานำไปสู่ "เขตปกครองพิเศษ" (ไม่ว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร) ฝ่ายความมั่นคงซึ่งรวมถึงมหาดไทยด้วยยอมรับไม่ได้ คงจะอ้างเรื่องรัฐเดี่ยวหรืออื่นๆ ขึ้นมาคัดค้าน รัฐบาล (ทุกชุด) ย่อมเกรงว่าจะเป็นเหตุให้เกิดการล้มกระดานทางการเมือง จึงต้องจำกัดความ "เขตปกครองพิเศษ" จนไร้ความหมาย ซึ่งยากที่ฝ่ายผู้ก่อการจะยอมรับ 
สมมุติอีกเช่นกันว่า ฝ่ายไทยเสนอ "เขตปกครองพิเศษ" ที่รับได้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง คือกลุ่มที่เข้าร่วมเจรจา ยอมรับความแตกร้าวภายในของฝ่ายผู้ก่อการเองก็จะทำให้มีกลุ่มอื่นซึ่งอาจปลุกระดมว่า อะไรที่น้อยกว่าเอกราชหรือหนทางไปสู่เอกราชย่อมรับไม่ได้ทั้งสิ้น (ตามทฤษฎีการแข่งขันกันไปสู่การถอนรากถอนโคนอย่างสุดโต่ง) ก็จะมีกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่ยังคงปฏิบัติการต่อไป เหมือนการเจรจายังไม่เกิดขึ้น


สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่างผ่านเวลามาเกือบเข้าปีที่ 9 ผ่านรัฐบาลมา 6 ชุด และผ่านงบประมาณหลายหมื่นล้าน ผ่านมาตรการและวิธีการ และการจัดโครงสร้างการบริหารมาไม่รู้จะกี่อย่าง ก็ยังไม่มีวี่แววจะดีขึ้น มาตรการ วิธีการ และการจัดโครงสร้างที่ผ่านมาทั้งหมด อาจมีจุดอ่อนที่สมควรจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่สาเหตุแห่งความล้มเหลวที่สำคัญที่สุดคือความอ่อนแอของการเมืองภายในของไทยเอง (เช่นเดียวกับหากมองจากฝ่ายเขา คือความอ่อนแอทางการเมืองภายในของกลุ่มก่อการเอง)

และตราบเท่าที่ไทยยังไม่สามารถนำความสงบและระเบียบทางการเมือง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย กลับคืนมาได้ ตราบนั้นก็เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลชุดใดจะสามารถนำความสงบกลับคืนมาสู่ภาคใต้ตอนล่างได้อีก
คู่ปรปักษ์ทั้งสองฝ่ายมีอะไรที่เหมือนกันดังฝาแฝด จนทำให้ไม่มีอะไรคืบหน้าได้เลย นอกจากความสูญเสียอันน่าเศร้าสะเทือนใจ



.