http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-01

เมื่อพญามังกรมุ่งใต้! จีนกับประเทศหลังบ้าน โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

เมื่อพญามังกรมุ่งใต้! จีนกับประเทศหลังบ้าน
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 37


"เพราะว่าจีนเป็นประเทศที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าเร็วมาก
ข้าพเจ้าจึงต้องการการยกระดับความสัมพันธ์ (กับจีน) ให้สูงมากยิ่งขึ้น"
Najib Abdul Razak นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
คำกล่าวในการเดินทางเยือนประเทศจีน 
มิถุนายน 2009


หนึ่งในภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงการเติบใหญ่ของจีนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันก็คือ การขยับตัวลงสู่พื้นที่ด้านใต้ ซึ่งในทางภูมิรัฐศาสตร์แล้วเป็นเสมือน "หลังบ้าน" ของจีน ในภาพรวมพื้นที่หลังบ้านเช่นนี้อาจจะหมายถึงประเทศในอาเซียนทั้งหมด
แต่ในมุมแคบๆ แล้ว พื้นที่นี้แต่เดิมอาจจะหมายถึงเพียงพม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา


หากพิจารณาดู ไม่ว่าจะดูภาพใหญ่ของภูมิภาค หรือดูภาพเล็กแบบเดิม ก็จะพบว่าพื้นที่ดังกล่าวกำลังเผชิญกับการแผ่อิทธิพลของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้นว่าพื้นที่เหล่านี้ครั้งหนึ่งจะเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐอเมริกามาก่อนก็ตาม 
แต่ในปัจจุบันจะพบว่า ประเทศในพื้นที่ดังกล่าวมีการปรับตัวมากขึ้น และรูปธรรมที่ชัดเจนในอีกด้านหนึ่งก็คือ อิทธิพลของสหรัฐ ในพื้นที่เช่นนี้ลดลงอย่างมาก จนหลายประเทศเริ่มนิยามคำว่าผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองใหม่ 
จากเดิมที่ผลประโยชน์เช่นนี้อาจจะผูกโยงอยู่กับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ เป็นด้านหลัก แต่วันนี้ผลประโยชน์แห่งชาติกลับมีทิศทางของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น


ในขณะเดียวกันในบริบททางสังคมก็จะพบว่า ทัศนคติของประชาชนทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หากเปรียบเทียบระหว่างความชอบสหรัฐ กับจีน ก็จะพบว่า ทัศนคติที่ชอบจีนมีสูงมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย หรือออสเตรเลีย เป็นต้น 
ในหลายประเทศก็พบว่า ประชาชนมองด้วยทัศนคติว่า ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับจีนน่าจะดีกว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐ เช่น ในมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และในเกาหลีใต้ เป็นต้น 
และที่สำคัญประชาชนในประเทศหลักๆ ล้วนมีทัศนคติที่มองเห็นว่า จีนจะเป็นศูนย์อำนาจของเอเชียในอนาคต

ตัวเลขของทัศนคติเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าสิ่งบอกเหตุถึงความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกหรือการมองจีนด้วยสายตาที่ดีมากขึ้น เพราะทุกคนในภูมิภาคดูจะตระหนักดีว่า สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตก็คือ การต้องอยู่กับการขยายตัวของจีนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
และทุกคนก็ดูจะรับรู้อยู่แก่ใจว่า โอกาสของการดำรง "สถานะเดิม" ในแบบที่สหรัฐ เป็นมหาอำนาจหลักในภูมิภาคนั้น เป็นสิ่งที่ไม่หวนกลับคืนมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในสังคมอเมริกาแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐ ไม่ได้กระเตื้องมากขึ้นเท่าใดนัก
ความต้องการแบบเดิมที่จะให้เศรษฐกิจอเมริกันเป็น "หัวรถจักร" หัวเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนั้น ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นความจริงของการเมืองโลกในปัจจุบันก็คือ สหรัฐอ่อนแอลงอย่างมาก และขณะเดียวกันจีนก็เติบใหญ่เข้มแข็งมากขึ้นในทางเศรษฐกิจ 
ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดคำถามเสมอว่า "หัวรถจักรจีน" จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทน "หัวรถจักรอเมริกัน" ได้หรือไม่ 
และไม่ว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้และเป็นจริงในปัจจุบันก็คือ "หัวรถจักรจีน" กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ในอีกมุมหนึ่งของความเติบใหญ่ของเศรษฐกิจจีนก็คือ จีนได้ให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศกับมิตรประเทศของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ และเงินความช่วยเหลือของจีนกำลังแซงหน้าจำนวนเงินที่สหรัฐ ให้แก่ประเทศเหล่านี้  
เช่น ก่อนที่ประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐ จะเดินทางเยือนอินโดนีเซียในปี 2553 นั้น รัฐบาลจีนได้ประกาศให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลอินโดนีเซียในการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนที่มีมูลค่าสูงถึง 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ 
และในปี 2554 เมื่อนายกรัฐมนตรีจีนเดินทางเยือนอินโดนีเซีย เขาได้ตกลงอนุมัติเงินกู้ให้แก่รัฐบาลจาการ์ตาเป็นมูลค่าถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

ตัวอย่างของความช่วยเหลือของจีนยังถูกตอกย้ำจากมูลค่าการค้าระหว่างอินโดนีเซียกับจีนที่มีจำนวน 23.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การค้าระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐ มีมูลค่าลดลงเหลือเพียง 18.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ตัวเลขการค้าในปี 2552) 
อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ เพราะแต่เดิมนั้น รัฐบาลจาการ์ตามีความหวาดระแวงจีนอยู่พอสมควร อันเป็นผลพวงจากการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต  
แต่อินโดนีเซียในปัจจุบันได้พยายามพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับบ่นมากขึ้นถึงนโยบายการปกป้องตลาดภายใน (protectionism) ของรัฐบาลวอชิงตัน ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้



สําหรับไทยนั้น แม้จะเป็นชาติพันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐ แต่ผลสืบเนื่องจากสถานการณ์สงครามกลางเมืองในกัมพูชาตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา ได้ผลักดันให้ไทยมีความร่วมมือด้านความมั่นคงกับจีนมากขึ้น และทั้งยังมีการพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ  
จนวันนี้ผู้นำไทยในระดับต่างๆ ก็ยอมรับว่าพวกเขาต้องเล่น "ไพ่จีน" (China card) ไว้ในมือ 
และอธิบายเพิ่มเติมว่าที่ต้องเช่นนั้นเป็นเพราะอิทธิพลของสหรัฐ ในภูมิภาคลดลงอย่างมาก จนอาจกล่าวได้ในปัจจุบันว่าจีนเป็นปัจจัยสำคัญมากประการหนึ่งในนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของไทย

นอกจากนี้ ในบริบทของการคมนาคมทำให้เกิดแนวคิดของระบบขนส่งด้วยรางสมัยใหม่ แนวคิดนี้นำไปสู่การสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างไทยกับจีนขึ้น ซึ่งการเชื่อมต่อเช่นนี้จะเป็นทั้งในเรื่องการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง และการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากไทยไปจีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว รถไฟเช่นนี้จะเชื่อมจีนเข้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด เพราะรถไฟความเร็วสูงผ่านเข้าไปในลาว ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์  
และนอกเหนือจากระบบรางแล้ว ระบบถนนก็จะสร้างการเชื่อมต่ออย่างสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางที่เรียกว่า อาร์ 3 อี (R3E) หรือ อาร์ 3 ดับเบิลยู (R3W) จะเป็นการเชื่อมไทย พม่า ลาว และจีน 
และหากเชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอย่างทวายอีกด้วยแล้ว ก็จะเป็นการเชื่อมต่อไปถึงพม่าและมุ่งสู่เอเชียใต้ในอนาคตอีกด้วย

เส้นทางเหล่านี้จะกลายเป็น "ถนนยุทธศาสตร์" ที่มีนัยอย่างสำคัญของการเชื่อมต่อภาคใต้ของจีนเข้ากับตัวภาคพื้นอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเชื่อมโดยระบบรางหรือระบบถนนก็ตาม และจะเป็นการเปิด "ประตูด้านใต้" ของจีนออกสู่โลกภายนอก โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเส้นทางเดินเรือแบบในอดีต หรือไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเมืองท่าชายฝั่งทะเลในแบบเดิมอีกแต่อย่างใด อันจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างมากกับประเทศในภูมิภาคแถบนี้ 
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของการเปิดประตูด้านใต้ เพื่อไปสู่ "ประเทศหลังบ้าน" ของจีนในอีกส่วนหนึ่งจึงต้องวางน้ำหนักไว้กับพม่า

และดังเป็นที่ทราบกันว่าในหลายปีที่ผ่านมา ผลของการถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศตะวันตก พม่าจำเป็นต้องพึ่งพาจีนอย่างมาก และยิ่งตะวันตกปิดล้อมมากเท่าใด พม่าก็ยิ่งต้องพึ่งจีนมากขึ้นเท่านั้น 
และการพึ่งพาเช่นนี้เห็นได้ชัดทั้งในทางเศรษฐกิจและความมั่นคงควบคู่กันไป ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่จะพบว่า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ และเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในพม่า พร้อมๆ กับการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่แก่พม่าด้วย 
ในสภาพของความสัมพันธ์เช่นนี้เปิดโอกาสให้จีนเข้าถึงแหล่งพลังงานในพม่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่จีนด้วย โดยจะมีการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากพม่าไปจีน พร้อมกันนั้นก็อาจจะมีการวางท่อส่งน้ำมัน ที่จีนนำเข้าจากตะวันออกกลาง โดยนำมาขึ้นฝั่งที่พม่า และส่งต่อไปยังจีน 
อันจะทำให้จีนหลีกเลี่ยงการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา


นอกจากนี้ ด้วยสถานะของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ได้เปิดโอกาสให้จีนสามารถใช้พม่าเป็น "ประตู" เปิดพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของตนออกสู่โลกภายนอก เพราะด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์เช่นนี้พื้นที่ดังกล่าวเองของจีนก็มีลักษณะเป็นพื้นที่ปิด (landlock) [หรือใช้ภาษาแบบชาวบ้านก็คือ เป็นเสมือนพื้นที่ตาบอด ที่ถูกปิดล้อมและออกไม่ได้] 
ฉะนั้น ความสัมพันธ์กับจีนจึงมีนัยอย่างสำคัญ เพราะไม่เพียงทำให้พม่าไม่โดดเดี่ยวทั้งในทางการเมืองและความมั่นคงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการลดทอนแรงกดดันของการปิดล้อมทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกที่กระทำต่อพม่าด้วย 
และขณะเดียวกันก็ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ในการเปิดพื้นที่ภาคใต้ของจีนเองอีกด้วยเช่นกัน

ในสภาพเช่นนี้จึงไม่แปลกอะไรที่ในสังคมพม่าเองก็มีเรื่องบ่นถึงการขยายตัวของอิทธิพลจีนอย่างมาก เพราะพวกเขาเริ่มกังวลมากขึ้นถึงการตกอยู่ในสภาพของการถูกเอารัดเอาเปรียบ 
หรือในอีกมุมหนึ่งพวกเขาเริ่มมองว่า จีนพยายามเข้ามาเอาประโยชน์จากทรัพยากรในพม่า และพม่าไม่ได้รับผลตอบแทนเท่าที่ควร 


ซึ่งในช่องว่างเช่นนี้ สหรัฐอเมริกาพยายามจะแทรกตัวเข้าไปให้ได้ การเดินทางเยือนพม่าของประธานาธิบดีโอบามาซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเยือนในระดับสูงเช่นนี้ จึงเป็นเสมือนการเปิดประตูพม่าให้อิทธิพลสหรัฐ สามารถเข้าไปเป็นปัจจัยถ่วงดุลกับจีนได้ 
นโยบายเช่นนี้อาจจะทำให้พม่ากลายเป็นจุดสำคัญของการแข่งขันอิทธิพลของรัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้งสองในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อไทยในทางหนึ่งทางใดด้วย


ไม่เพียงแต่ในพม่าเท่านั้นที่มีการขยายตัวของจีน ในลาวเองก็สะท้อนภาพเดียวกัน การเชื่อมต่อพื้นที่จีนและลาวเข้าด้วยกันด้วยรถไฟความเร็วสูงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการรุกเข้าลาว พร้อมๆ กับการเคลื่อนตัวของชาวจีนเข้ามาประกอบอาชีพต่างๆ ในลาว 
จนอาจกล่าวได้ว่า จีนขยายเศรษฐกิจในลาวอย่างมาก แม้เรื่องราวเช่นนี้อาจจะดูไม่เด่นชัดเท่ากับกรณีของจีนในพม่า แต่ประเด็นของการขยายอิทธิพลในลาวก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไป 
เพราะเป็นอีกภาพหนึ่งของการบ่งบอกถึงการเปิดประตูด้านใต้ ที่แต่เดิมมักจะถูกกล่าวถึงแต่ในส่วนของพม่าเท่านั้น

อิทธิพลของจีนในกัมพูชาแทบจะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องกล่าวถึง แม้รัฐบาลของนายกฯ ฮุน เซน จะเคยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเวียดนามมาก่อน แต่ปัจจุบันต้องถือว่ารัฐบาลพนมเปญมีความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปอยู่กับจีนมากขึ้น 
การเปิดรับความช่วยเหลือจากจีนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงความช่วยเหลือทางทหาร ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า กัมพูชาวันนี้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน จนต้องถือว่าเป็นอีกจุดหนึ่งของการขยายตัวลงใต้ของจีน



รัฐบาลมาเลเซียเองก็ยอมรับว่า ด้วยสถานการณ์ใหม่ในปัจจุบันทำให้มาเลเซียไม่อาจปฏิเสธถึงบทบาทของจีนที่ขยายตัวมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
แม้มาเลเซียจะมีความขัดแย้งกับจีนในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ แต่มาเลเซียก็ดูจะยอมรับว่าปัญหานี้จะต้องแก้ไขด้วยมาตรการสันติ เพราะไม่ต้องการให้ความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับจีนขยายตัวมากขึ้น 
และอย่างน้อยก็มีท่าทีที่ชัดเจนถึงการต้องการรักษาระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ให้ตกต่ำลง

ในอีกด้านหนึ่งก็คือ ปัญหาระหว่างจีนกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่ดูจะเป็นประเด็นสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนอันเป็นผลจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ จนกลายเป็นข้อพิพาทในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนในปัจจุบัน และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างทัศนะต่อต้านจีนในประเทศทั้งสอง 
แต่ทั้งสองฝ่ายก็ดูจะตระหนักดีว่า ข้อพิพาทดังกล่าวไม่ควรจะขยายตัวจนกลายเป็นสงครามทางทะเลในอนาคต

สิ่งที่กล่าวแล้วในข้างต้น สะท้อนให้เห็นอย่างดีว่า การขยายตัวของจีนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการเปิด "ประตูหลังบ้าน" ออกสู่โลกภายนอกก็คือ การรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของจีน...

วันนี้พญามังกรมุ่งลงใต้แล้ว!



.