http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-05

5 ธันวาฯ วันคล้ายวันเกิดของ เตียง ศิริขันธ์ ขุนพลเสรีไทยแห่งอีสานฯ โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

.

5 ธันวาฯ วันคล้ายวันเกิดของ เตียง ศิริขันธ์ ขุนพลเสรีไทยแห่งภาคอิสาน
๑๐๓ ปีของเตียง ศิริขันธ์ เรื่องของขุนพลภูพาน และผู้นำเสรีไทยสายอิสาน
โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 
 จาก http://forum.banrasdr.com/showthread.php?tid=18379
ภาพ : เตียง ศิริขันธ์ ( ซ้าย ) และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ( ขวา )


หลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ การเมืองไทยได้โน้มนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลคณะราษฎรได้ยอมรับสิทธิทางการเมืองของประชาชนโดยเปิดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๖ เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนที่เลือกมาจากประชาชน มาทำหน้าที่ในการออกกฏหมายและควบคุมตรวจสอบอำนาจบริหาร ในโอกาสนี้ ได้โน้มนำให้ปัญญาชนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งได้เข้ามามีบทบาทางการเมือง โดยเฉพาะปัญญาชนภาคอิสานที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทน และจะมีบทบาทสำคัญต่อมา
บุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก และก่อบทบาทอันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ก็คือ เตียง ศิริขันธ์ อดีต ส.ส.จังหวัดสกลนคร ผู้มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อชาติ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป็นแกนสำคัญของเสรีไทยภาคอิสาน จึงควรที่จะนำเอาประวัติของเตียง ศิริขันธ์ มากล่าวถึงเพื่ออธิบายให้ถึงวีรชนภาคประชาชนที่สำคัญอีกคนหนึ่ง


เตียง ศิริขันธ์ เป็นชาวสกลนคร เกิดเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๒ ที่บ้านคุ้มวัดสระเกศ ถนนมรรคาลัย ตำบลสะพานหิน(ปัจจุบันเป็นตำบลลธาตุเชิงชุม) อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนที่ ๖ ของ ขุนนิเทศพานิช(บุดดี ศิริขันธ์) และ นางอัม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน ขุนนิเทศพานิช เป็นพ่อค้าที่มีฐานะดี แต่เดิมเป็นนายฮ้อยผู้นำกองเกวียนส่งของไปขายข้ามจังหวัดหลายจังหวัด และเคยคุมพ่อค้าวัวต่างไปค้าขายถึงเมาะลำเลิง และย่างกุ้ง ในพม่า จึงถือได้ว่าเป็นนายฮ้อยที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงคนหนึ่ง จึงได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการเป็นขุนนิเทศพานิช ทั้งที่มิได้เข้ารับราชการแต่อย่างใด

เตียง ศิริขันธ์ ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนสกลราชวิทยาลัยตั้งแต่ประถมปีที่ ๑ จนจบชั้นมัธยม ๓ และได้ชื่อว่าเป็นเด็กที่เรียนดีคนหนึ่ง เป็นคนที่รักการอ่านหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันก็เล่นกิฬา และดนตรีด้วย ดังนั้น เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนที่สกลนครใน พ.ศ.๒๔๖๕ บิดาจึงส่งมาศึกษาต่อชั้นมัธยม ๔ ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูร ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำมณฑล จนจบชั้นมัธยม ๖ จากนั้นนายบุดดีจึงส่งมาศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศในพระนคร จนได้ประกาศนียบัตรครูประถม (ป.ป.) ใน พ.ศ.๒๔๗๐ จากนั้นก็ได้ศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะ ในระหว่างนี้ นายเตียง ได้ชื่อว่าเป็นคนที่สนใจในวิชาประวัติศาสตร์อย่างมาก จนจบวุฒิประกาศนียบัตรครูมัธยม(ป.ม.) จึงนับว่า เตียง ศิริขันธ์ เป็นเด็กที่มีการศึกษาสูงมากตามมาตรฐานของภาคอิสานในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่า คุณเตียงอาจจะเหมือนกับปัญญาชนอิสานอีกหลายคน ที่น่าจะได้รับอิทธิพลแนวความคิดชาตินิยมและสังคมนิยมจากกลุ่มปัญญาชนเวียดนามปฏิวัติ ที่ลี้ภัยมาอยู่ในภาคอีสาน และได้เผยแพร่ความคิดที่ก้าวหน้าเหล่านี้ ให้กับเยาวชนและปัญญาชนพื้นถิ่น


เมื่อจบการศึกษาแล้ว นายเตียงได้รับการบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมหอวังใน พ.ศ.๒๔๗๒ ในระหว่างนี้ ได้เกิดการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ครูเตียง ก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจในแนวคิดประชาธิปไตย และมีความเห็นพ้องและสนับสนุนการปฏิวัติอย่างมาก และต่อมาก็ได้ศึกษาแนวความคิดเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) ก็เกิดเห็นด้วย และมีความศรัทธาในแนวคิดแบบสังคมนิยมของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างมาก
ต่อมาได้ย้ายไปเป็นครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ จนถึง พ.ศ.๒๔๗๗ ได้ย้ายไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูร จังหวัดอุดรธานี โดยมีหน้าที่บริหารงานทั่วไป งานด้านธุรการ และงานด้านปกครองแทนอาจารย์ใหญ่ คือ ม.ล.มานิจ ชุมสาย ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการภาคด้วย ในระหว่างนี้ ครูเตียงได้ร่วมกับนายสหัส กาญจนะพังคะ ซึ่งเป็นเพื่อนที่เรียนอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาด้วยกัน เขียนหนังสือคู่มือครู หรือ ชุดวิชาครู ๕ เล่ม เป็นหนังสือชุดคู่มือครูชุดแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการครูในสมัยนั้น เพราะเป็นหนังสือช่วยในการสอน และใช้ในการสอบเพื่อยกระดับวิทยฐานะ

ปรากฏว่าในเดือนกรกฏาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ครูเตียง ได้ถูกข้อหาการเมืองครั้งแรก โดยถูกจับกุมพร้อมกับครูอีก ๓ คน คือ ครูปั่น แก้วมาตย์ ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และ ครูญวง เอี่ยมศิลา ในข้อหาว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าจะฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในโรงเรียน
ครูเตียง ครูปั่น และ ครูสุทัศน์ ถูกขังอยู่ราว ๒ เดือนก็ถูกศาลยกฟ้อง มีเพียงครูญวง เอี่ยมศิลา ที่ถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปี แต่กระนั้น ครูเตียงก็ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการใน พ.ศ.๒๔๗๙ และมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร
ในระหว่างนี้ได้ศึกษาและเขียนหนังสือเกี่ยวกับมุสตาฟา เคมาล และเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ในงานเขียนของเขาในระยะนี้ ได้แสดงให้เห็นชัดแนวความคิดแบบประชาธิปไตย ดังที่ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ว่า 
"ข้าพเจ้าเป็นคนไทย ข้าพเจ้าเป็นไทแก่ตัวเอง ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทยราษฎรสยาม ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชาอันหนึ่ง"

จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๐ ก็ได้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร และได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยแรกทันที ปรากฏว่าเขาได้กลายเป็น ส.ส.ภาคอิสานชั้นแนวหน้า นอกจากนี้ เขายังได้ส่งเสริมการศึกษาในพื้นถิ่นจังหวัดสกลนคร โดยตั้งโรงเรียนราษฎรขึ้น ๒ โรงเรียน คือ โรงเรียนมัธยมศิริขันธ์ ๑ ที่อำเภอพรรณานิคม และ โรงเรียนมัธยมศิริขันธ์ ๒ ที่อำเภอสว่างแดนดิน และจากบทบาทเช่นนี้ ทำให้นายเตียงได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดสกลนครอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๑ และในระหว่างที่ทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายเตียง ได้ตั้งกลุ่มร่วมกับ ส.ส.อิสานและ ส.ส.ภาคอื่นที่ก้าวหน้าส่วนหนึ่ง กลายเป็นกลุ่ม ส.ส.ที่มีบทบาทนำในสภา ในการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชน
ส.ส.คนอื่นในกลุ่มนี้ ที่สำคัญ เช่น ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี) ถวิล อุดล(ร้อยเอ็ด) จำลอง ดาวเรือง(มหาสารคาม) พึ่ง ศรีจันทร์(อุตรดิษถ์) ทอง กันทาธรรม(แพร่) ชิต เวชประสิทธิ์(ภูเก็ต) ดุสิต บุญธรรม(ปราจีนบุรี) เยื้อน พานิชย์วิทย์(อยุธยา) เป็นต้น


เตียง ศิริขันธ์ ได้พบกับ น.ส.นิวาศน์ พิชิตรณการ บุตรีของ ร.อ.นาถ และ นางเวศ พิชิตรณการ ซึ่งเป็นญาติของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ร.อ.นาถ เป็นชาวกรุงเทพฯ แต่ได้ไปประจำการที่กรมทหารจังหวัดอุดรธานี และได้นำธิดาไปอาศัยอยู่ที่อุดรธานีด้วย น.ส.นิวาศน์จึงได้พบกับนายเตียง และได้สมรสกันใน พ.ศ.๒๔๘๒ มีบุตรชายคนเดียว คือ นายวิฑูรย์ ศิริขันธ์ เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ซึ่งเป็นการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา เตียง ศิริขันธ์ ได้ร่วมกับ จำกัด พลางกูร ก่อตั้ง คณะกู้ชาติ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยแห่งชาติ และคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น ต่อมา นายเตียง ร่วมกับกลุ่ม ส.ส.ฝ่ายก้าวหน้า ได้ร่วมมือกับกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ ตั้งขบวนการเสรีไทยใต้ดินขึ้น เพื่อหาทางต่อต้านญี่ปุ่น นายปรีดี ได้ตั้งให้นายเตียงเป็นหัวหน้าใหญ่ของเสรีไทยภาคอิสาน เพื่อทำการฝึกกองกำลังลับต่อต้านญี่ปุ่นที่เขตเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ได้มีการตั้งค่ายลับสำหรับฝึกอาวุธที่บ้านโนนหอม อำเภอเมือง สกลนคร และที่ภูเขาบ้านเต่างอย มีผู้ช่วยเหลือ เช่น สนิท ประสิทธิพันธ์ สหัส กาญจนพังคะ ครอง จันดาวงศ์ เป็นต้น นอกจากการเตรียมการจัดตั้งกองกำลังอาวุธเหล่านี้ นายเตียงยังมีบทบาทร่วมกับ ส.ส.ฝ่ายก้าวหน้าอื่นๆ ลงมติไม่รับรองพระราชบัญญัติเมืองเพชรบูรณ์ และ พระราชบัญญัติพุทธมณฑล ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ.๒๔๘๗ ซึ่งทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ นายควง อภัยวงศ์ ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

หลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ล้มลงแล้ว การเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น มีการประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้นำอาวุธมาทิ้งให้ เพื่อตระเตรียมการรบกับญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังได้มีการสร้างสนามบินลับที่บ้านชาดนาคู มหาสารคาม
การดำเนินการเช่นนี้ ทำให้กองกำลังเสรีไทยสายอิสาน กลายเป็นกำลังที่สำคัญที่สุดของฝ่ายเสรีไทย แต่ยังไม่ทันที่จะได้สู้รบกับญี่ปุ่นอย่างจริงจัง สงครามก็ยุติลง เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม และไทยประกาศสันติภาพในวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘



หลังสงคราม เตียง ศิริขันธ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก ในรัฐบาลรักษาการของนายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ โดยเป็นรัฐมนตรีลอย และเป็นรัฐมนตรีต่อมาจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๘๙ ในระหว่างนี้ มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๙ เตียง ศิริขันธ์ ก็ชนะเลือกตั้งกลับมาอีกสมัยหนึ่ง
ในระหว่างนี้ การเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันกันในระบบพรรคการเมือง เตียง ศิริขันธ์ ได้ร่วมกับ ส.ส.ฝ่ายก้าวหน้า เช่น ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถวิล อุดล ไต๋ ปาณิกบุตร รวมทั้งฝ่ายคณะราษฎร เช่น สงวน ตุลารักษ์ จรูญ สืบแสง และ วิลาศ โอสถานนท์ เป็นต้น ตั้งพรรคสหชีพ โดยนำเอาแนวทางตามเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ มาเป็นนโยบายพรรค และเชิญให้ ดร.เดือน บุนนาค ซึ่งจบปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์จากฝรั่งเศส มาเป็นหัวหน้าพรรค
พรรคสหชีพนี้ ให้การสนับสนุนแก่ปรีดี พยมยงค์ ร่วมกับพรรคแนวรัฐธรรนูญ ที่นำโดย พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ เช่นกัน ต่อมา ในสมัย พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ก็ตั้งให้ เตียง ศิริขันธ์ เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น พรรคสหชีพมี ส.ส.ในสภาผู้แทน ๕๘ คน(จาก ๑๗๘ คน) มีสมาชิกพฤฒสภา ๒๒ คน(จาก ๘๐ คน) และเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับที่สองในสภารองจากพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน ที่มี ส.ส. ๖๒ คน
นายเตียง เป็นรัฐมนตรีจนถึงวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๐ ก็ลาออกเพราะได้รับแต่งตั้งในคณะกรรมการประนอมระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ต่อมา ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐ นายเตียงก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานพันธมิตรในองค์การพันธมิตรแห่งเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นองค์กรหนุนช่วยการต่อสู้เพื่อเอกราชสำหรับอินโดจีนฝรั่งเศส

ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ คณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณะวัณ ได้ก่อการยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ และโค่นอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ด้วย จากนั้น คณะรัฐประหารได้เชิญให้พรรคประชาธิปัตย์มาตั้งรัฐบาลขัดตาทัพ และได้กวาดจับกลุ่มสมาชิกพรรคสหชีพ ดังนั้น เมื่อนายเตียงได้ข่าวการรัฐประหารก็ได้หลบขึ้นสู่เทือกเขาภูพาน และเตรียมจัดตั้งกำลังต่อต้านคณะรัฐประหาร แต่ปรากฏว่านายปรีดี ที่ลี้ภัยไปยังสิงคโปร์ ได้ออกอากาศทางวิทยุ ห้ามพลพรรคเสรีไทยไม่ให้ต่อสู้กับคณะรัฐประหาร เพราะไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากันเอง นายเตียงจึงยุติการจัดตั้งกองกำลัง แต่ยังคงหลบอยู่บนภูพาน ทางรัฐบาลได้สั่งให้ พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ มาตามล่าจับกุม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น นายเตียงจึงได้สมญาจากหนังสือพิมพ์ว่า ขุนพลภูพาน ในระหว่างนี้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๑ ด้วยความนิยมของประชาชนที่มีต่อนายเตียง ทำให้ นายเจียม ศิริขันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชาย ได้รับเลือกตั้งจากจังหวัดสกลนคร

ต่อมา หลวงพิชิตธุรการได้ใช้วิธีการคุกคามและเบียนเบียนชาวบ้านเพื่อให้บอกที่ซ่อนของนายเตียง จึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างมาก นอกจากนี้ ยังจับ ครอง จันดาวงศ์ และมิตรของนายเตียงอีก ๑๕ คน เพื่อสร้างกดดัน นายเตียงจึงตัดสินใจมอบตัวต่อทางการในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๑ และทั้งหมดก็ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฎแบ่งแยกดินแดนอีสาน ในระหว่างที่นายเตียงกำลังถูกดำเนินคดี ได้เกิดกบฏวังหลวงในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ โดยกลุ่มของปรีดี พนมยงค์ พยายามที่จะยึดอำนาจคืนจากฝ่ายรัฐประหาร แต่ประสบความล้มเหลว จากนั้น คณะรัฐประหารได้กวาดล้างกลุ่มของนายปรีดีอย่างหนัก โดยเฉพาะอดีต ส.ส. ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถวิล อุดล จำลอง ดาวเรือง และ ทองเปลว ชลภูมิ ได้ถูกฝ่ายตำรวจสังหารชีวิตในวันที่ ๓ มีนาคม นายเตียง เมื่อได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของเพื่อน ก็มีความเสียใจอย่างมาก


ในระหว่างนี้ นายเตียงได้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๒ และได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ในที่สุด ศาลก็ตัดสินยกฟ้องคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน ทำให้ นายเตียง และพรรคพวกเป็นอิสระ จากนั้น ในการเลือกตั้งวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๕ เตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมอดีต ส.ส.ฝ่ายสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญ ตั้งเป็นกลุ่มสหไทย เพื่อลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ปรากฏว่า กลุ่มสหไทยชนะเลือกตั้งมาถึง ๒๐ ที่นั่งจากจำนวน ๑๒๓ ที่นั่ง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและเลขาธิการคณะรัฐประหาร ได้มาติดต่อขอให้สหไทยสนับสนุนรัฐบาล กลุ่มสหไทยได้ปรึกษากันแล้วตกลงจะสนับสนุน แต่มีข้อแม้ให้รัฐบาลรับเอานโยบายสหกรณ์อันเป็นนโยบายของพรรคสหชีพไปปฏิบัติ และฝ่ายรัฐบาลจะต้องยอมรับที่จะไม่ป้ายสีว่าพวกสหชีพเป็นคอมมิวนิสต์ พล.ต.อ.เผ่า ตกลงเช่นนั้น นายเตียงและกลุ่มสหไทยจึงสนับสนุนรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ รัฐบาลได้กวาดล้างจับกุมฝ่ายค้านจำนวนมากในข้อหากบฏ ซึ่งจะเรียกต่อมาว่า กบฏสันติภาพ และได้ออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ พ.ศ.๒๔๙๕ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานกลุ่มที่ถูกจับกุม การกวาดล้างครั้งนี้ ได้ครอบคลุมถึงเตียง ศิริขันธ์ ด้วย ทั้งที่ขณะนั้น นายเตียงเป็น ส.ส. ในคณะกรรมการนิติบัญญัติ ฝ่ายรัฐบาล
เตียง ศิริขันธ์ได้ถูกตำรวจตามตัวออกจากรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๕ จากนั้น ก็หายสาบสูญไป ไม่ปรากฏตัวอีกเลย จากหลักฐานต่อมา ปรากฏว่า เตียง ศิริขันธ์ ได้ถูกตำรวจภายใต้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ สังหารชีวิตในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พร้อมด้วย ชาญ บุนนาค เสรีไทยที่สำคัญอีกคนหนึ่ง และที่ถูกสังหารพร้อมกันด้วยก็คือ เล็ก บุนนาค ผ่อง เขียววิจิตร และสง่า ประจักษ์วงศ์ ศพของทั้ง ๕ คนถูกนำไปเผาทิ้งที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

แม้ว่าเตียง ศิริขันธ์ จะถูกสังหารภายใต้อำนาจของตำรวจของยุคเผด็จการ
แต่อุดมการณ์ และวีรกรรมของเขาจะเป็นที่จดจำตลอดไป



_______________________________________________________________________________________________

ตำนาน ..ศาสนา..ไฮยีน่าฟูมปาก.. www.youtube.com/watch?v=DStGrGbvN5Q

ทำให้ฉุกเข้าใจเรื่องในอดีตว่า ระบอบฟาสซิสม์ได้โปรแกรมผู้คนชาวเยอรมัน24ชม.เป็นสิบปีจนกลายเป็นเหยื่อนาซี แล้วกระทำต่อเหยื่อชาวยิวอย่างไร้สติได้อย่างไร
แต่ในอีกแง่หนึ่งของประวัติศาสตร์ก็เป็นสัญญาณการดับสูญของอาณาจักรไรซ์ ที่ยุคต่อมา-ผู้คนปลดถ่ายความผิดบาป สร้างสังคมใหม่ด้วยสติปัญญาสว่างไสว



จากผู้ร่วมมาโพสต์ใน www.facebook.com/somsakjeam/posts/375882615838121

ท่านใช้ www.youtube.com/watch?v=DStGrGbvN5Q ไปเปิดเอง  .. Admin สังเวชเกินไป




.