http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-09

อนุช: อารยธรรมอุตสาหกรรม กับการปฏิวัติหลายมิติ (3)(4)

.

อารยธรรมอุตสาหกรรม กับการปฏิวัติหลายมิติ (3)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 39


อารยธรรมอุตสาหกรรมสามารถตั้งมั่นและแพร่ไปทั่วโลกได้ ก็เพราะการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน ที่แบ่งยุคประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เปลี่ยนสังคมก่อนอุตสาหกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่

การปฏิวัตินี้เกิดจากความขัดแย้งที่ประนีประนอมไม่ได้ ระหว่างชนชั้นเจ้าที่ดิน กลุ่มอำนาจเดิมในระบบฟิวดัล กับชนชั้นนายทุนที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นพวกพ่อค้าและนายธนาคาร ทำให้ชนชั้นนายทุนสามารถเข้ายึดอำนาจรัฐ และเปลี่ยนระบบสังคมและระบอบปกครองให้เอื้อประโยชน์กับการเป็นใหญ่และการขยายตัวของระบบทุน

คำว่า "การปฏิวัติชนชั้นนายทุน" (Bourgeois Revolution) เป็นศัพท์ที่ฝ่ายสังคมนิยมใช้กับการปฏิวัติประชาธิปไตยหลายครั้งในประเทศตะวันตก มีกลิ่นอายในเชิงลบ เพราะว่ามันเป็นการกล่าวถึงเชิงวิพากษ์ บางทีใช้คำกลางๆ ว่า การปฏิวัติประชาธิปไตย โดยถือว่ามีนัยด้านชนชั้นในตัว

และก็มีบางคนใช้ศัพท์การปฏิวัติประชาธิปไตย โดยจงใจที่จะลบเรื่องชนชั้นออกไป แต่ว่า "ชนชั้น" ก็เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริงทั้งในทางวัตถุและรูปการจิตสำนึก

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังได้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในรูปแบบหลากหลาย เช่น การลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวรากหญ้าของขบวนยึดครองวอลสตรีตในสหรัฐ เป็นต้น

ในที่นี้ใช้คำว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน เพื่อเน้นในเรื่องการเมือง-เศรษฐกิจ ว่ามีแบบรูปร่วมกันอะไรบ้าง

การปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนที่ถือว่าเป็นแบบฉบับมีอยู่ 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ การปฏิวัติอังกฤษ การปฏิวัติอเมริกา และการปฏิวัติฝรั่งเศส จะได้กล่าวเป็นลำดับไป



การปฏิวัติอังกฤษ (English Revolution)

การปฏิวัติประชาธิปไตยอังกฤษ (1640-1688) เกิดขึ้นก่อนใคร ขณะที่ระบบทุนที่อังกฤษยังไม่ได้พัฒนาไปมากนัก

กลุ่มที่เคลื่อนไหวสำคัญยังมีแนวคิดปรากฏเป็นเรื่องทางศาสนา จึงมีผู้แย้งว่ามันไม่ใช่การปฏิวัติชนชั้นนายทุน แต่ว่าก็มีผู้ชี้ว่าการปฏิวัติครั้งนี้โดยแก่นแท้เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนายทุนที่เพิ่งเกิดใหม่กับชนชั้นผู้ดีในระบบฟิวดัล

ซึ่งเห็นว่าการปฏิวัตินี้เปิดทางให้ชนชั้นนายทุนเข้มแข็งขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและอุดมการณ์ ขณะที่ระบอบราชาธิปไตยอ่อนแอลง และน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อังกฤษสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ก่อนใคร

การปฏิวัติอังกฤษอาจจำแนกได้เป็น 4 ระยะ

ระยะแรก เป็นช่วงวิกฤติและการบ่มเพาะความรุนแรง (1640-1642) เหตุปัจจัยสำคัญมาจากความอ่อนแอของรัฐบาลในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 (ครองราช 1625-1649) ประสบวิกฤติการคลัง เนื่องจากใช้เงินในการทำสงครามกับพวกสก๊อตเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ยังถูกเนเธอร์แลนด์ลูบคมเข้ามาทำยุทธนาวีในพื้นที่ทะเลของอังกฤษ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 จำต้องเรียกประชุมสภาผู้แทน เพื่อให้ออกกฎหมายการคลังเพื่อเก็บภาษีเพิ่มขึ้น

แต่ที่ประชุมนั้นได้กลายเป็นเวทีการเคลื่อนไหว เพื่อลิดรอนอำนาจของกษัตริย์ สังคมเกิดการแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็น 3 พวก ได้แก่ กลุ่มนิยมกษัตริย์ กลุ่มผู้นำในสภาผู้แทนฯ และฝูงชนในกรุงลอนดอน โดยฝ่ายฝูงชนสนับสนุนผู้นำรัฐสภา

ระยะที่สอง เป็นช่วงสงครามกลางเมือง ปี 1642-1646 และปี 1648 ความมุ่งมั่นของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ในการรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจสงคราม ทำให้ยากที่จะเกิดการปฏิรูป จนที่สุดระเบิดออกเป็นสงครามกลางเมือง ทำให้การแบ่งฝ่ายรุนแรงและแข็งตัวยิ่งขึ้น

โดยฝ่ายรัฐสภาและฝูงชนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม นิกายอินดีเพนเดนต์ที่นำโดย ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell 1599-1658) ซึ่งยึดถือเสรีภาพทางศาสนาสำหรับผู้ที่ไม่ได้ถือคาทอลิก และแยกรัฐกับศาสนาออกจากกันโดยเด็ดขาด เป็นฝ่ายหัวรุนแรงต้องการโค่นพระเจ้าชาร์ลส์กระทั่งสถาบันกษัตริย์

และกลุ่มผู้ถือนิกายเพรสบีเทียเรียนที่มีลักษณะปฏิรูป ต่อสู้เพื่อให้กษัตริย์อ่อนแอและยอมเข้าโต๊ะเจรจา

ทางฝ่ายสภาผู้แทนฯ ได้จัดตั้งกองทัพแบบใหม่ (New Model Army) ในปี 1645 โดยมีครอมเวลล์เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นกองทัพแบบทหารอาชีพ รบได้ทุกสมรภูมิ พลรบได้จากผู้คนระดับล่างในสังคม ที่รู้ว่าต่อสู้เพื่ออะไร และรักที่จะทำเช่นนั้น

กองทัพแบบใหม่ชนะการรบในปี 1645 มีการเรียกร้องให้สถาปนาระบอบปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นแต่พระเจ้าชาร์ลส์ไม่ยินยอม

ระยะที่ 3 การตั้งเครือจักรภพอังกฤษหรือสาธารณรัฐ (1648-1660) หลังชัยชนะในสงครามกลางเมืองแล้ว ยิ่งเกิดการแตกแยกแบ่งขั้วกันรุนแรงขึ้น โดยในฝ่ายปฏิวัติเองแบ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงจัดได้เสนอข้อตกลงของประชาชน (The Agreement of the People 1647-1649) เป็นคล้ายรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยลงไปถึงคนระดับล่าง

ข้างฝ่ายพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ได้รวบรวมผู้คนก่อสงครามกลางเมืองครั้งที่สอง แต่พ่ายแพ้ และถูกจับขึ้นศาล ถูกตัดสินประหารชีวิตในเดือนมกราคม ปี 1649

และได้ประกาศตั้งเครือจักรภพหรือสาธารณรัฐอังกฤษขึ้น โดยมีครอมเวลล์เป็นผู้นำเพื่อรักษา "กฎหมายและระเบียบ" ในช่วงสั้นของการเป็นสาธารณรัฐ (1649-1660) อังกฤษก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจเข้ารบพุ่งกับทั้งสเปนและเนเธอร์แลนด์

ระยะที่ 4 การฟื้นฟูระบบกษัตริย์ (Restoration 1660-1676) หลังจากครอมเวลล์เสียชีวิต บุตรชายได้สืบทอดตำแหน่งต่อ แต่ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายรุนแรงได้

ในที่สุดจึงได้เชิญพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 กลับมาครองราช เป็นการฟื้นฟูระบบกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้ง แต่มีอำนาจที่ลดน้อยลง โดยเฉพาะในการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมและทางศาล


พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ที่ครองราชต่อมาได้พยายามฟื้นคติว่ากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายและมีอำนาจในการแต่งตั้งศาล แต่ถูกต้านทานอย่างหนัก จนต้องยอมจำนนและลี้ภัยไปอยู่ที่ฝรั่งเศสในปี 1688

เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า การปฏิวัติที่รุ่งโรจน์ (Glorious Revolution)

ทางสภาผู้แทนฯ ได้เชิญพระเจ้าวิลเลียมและพระนางแมรีขึ้นครองราชแทน อำนาจรัฐเปลี่ยนจากกษัตริย์มาสู่สภาผู้แทน

หลังปี 1689 การลงทุนในอังกฤษได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจโลกแทนที่เนเธอร์แลนด์ อังกฤษได้กลายเป็นเหมือนป้อมปราการของการปฏิวัติในระหว่างปี 1689 ถึง 1763 ได้ร่วมกับพันธมิตรรบชนะฝรั่งเศสที่อยู่ใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชถึง 4 ครั้ง

(ดูบทความของ John Rees ชื่อ The Socialist revolution and the democratic revolution ใน socialistreviewindex.org.uk, 1999 และบทปริทัศน์ของ Mike Macnair ชื่อ The bourgeois revolution in France 1789-1815 - Henry Heller; and, Ideology, absolutism and the English Revolution - David Parker (ed) ใน londonbookclub.co.uk, 040610)



การปฏิวัติอเมริกัน (American Revolution)

การปฏิวัติอเมริกัน ประกอบด้วยสงคราม 2 ครั้ง ได้แก่ สงครามปฏิวัติ และสงครามกลางเมืองอเมริกัน นิยมถือว่าการปฏิวัติอเมริกันที่สำคัญอยู่ที่สงครามปฏิวัติ ในที่นี้นับรวมสงครามกลางเมืองด้วย เพื่อให้เห็นภาพกว้างขึ้นของการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนสหรัฐ

สงครามปฏิวัติอเมริกา (1776-1786) มีเหตุปัจจัยคล้ายการปฏิวัติอังกฤษ นั่นคือ ฐานะการคลังที่ยอบแยบของผู้ปกครองที่ต้องการเก็บภาษีเพิ่ม โดยในปี 1763 เมื่ออังกฤษรบชนะฝรั่งเศสได้ครอบครองอาณานิคมอเมริกาเหนือ แต่หนี้สินจากสงคราม ทำให้ผู้ปกครองอังกฤษต้องขึ้นภาษี

ปี 1764 ออกกฎหมายเงินตราและรายได้ ให้พ่อค้าในอาณานิคมอังกฤษค้าขายในสกุลเงินสเตอริง ไม่ใช่ในสกุลเงินพื้นเมือง และเก็บภาษีน้ำตาล

ในปี 1765 ออกกฎหมายแสตมป์ การทำธุรกรรมบางอย่างต้องติดแสตมป์ตามที่กำหนด ก่อให้เกิดการรวมตัวสร้างกลุ่มพันธมิตรพ่อค้า นักวิชาการ นายทาส ช่างฝีมือ คนงาน ชาวไร่ คนใช้ กะลาสีในอเมริกาขึ้นต่อต้านอังกฤษอย่างดุเดือด

ขณะที่มีนักคิดชาวอังกฤษได้สร้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์-การเมืองชนชั้นนายทุน ได้แก่ อดัม สมิธ และ จอห์น ล็อก เป็นต้น จนมีความแจ่มชัดทางอุดมการณ์ ในเรื่องรัฐบาลตัวแทน และสิทธิของประชาชนในการก่อกบฏ ต่อสู้กับผู้ปกครองที่กดขี่โหดร้าย

แนวคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค การเขียนรัฐธรรมนูญ และการปกครองของกฎหมาย ในทางเศรษฐกิจยึดในเรื่องกรรมสิทธิ์เอกชน เสรีนิยมและ "มือที่มองไม่เห็น" ผสมกับความเป็นจริงเฉพาะหน้า ได้แก่ การมีสกุลเงินตราและการออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีของตนเอง

สงครามกลางเมืองอเมริกา (1861-1865) เป็นการต่อสู้ภายในชนชั้นนำระหว่างกลุ่มเจ้าที่ดินที่ส่วนใหญ่อยู่ทางรัฐภาคใต้ อาศัยแรงงานทาสทำงานในไร่นา กับทุนธนาคารและทุนอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่อยู่รัฐทางภาคเหนือ ที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการทหารกว่า

เสรีภาพในระบบทุนที่เป็นพื้นฐานที่ไม่อาจประนีประนอมได้มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ เสรีภาพทุนที่จะประกอบกิจการใดที่ใดก็ได้ถ้าไม่ผิดกฎหมาย และเสรีภาพของคนงานที่จะทำงานกับผู้ใดและที่ใดก็ได้

ระบบทาสในภาคใต้ขัดต่อเสรีภาพทั้ง 2 ความขัดแย้งนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ จนปะทุเป็นสงครามกลางเมืองที่หฤโหด มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองของรัฐทางภาคใต้ ให้กลายเป็นทุนนิยมเต็มที่ ซึ่งเป็นแบบจำลองที่สหรัฐใช้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกในภายหลัง

ประธานาธิบดีลินคอล์นกล่าวว่า สงครามครั้งนี้จะเป็นการทำให้ "รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน" สถาพรสืบต่อไป

แต่ท่านเองก็ได้เริ่มเล็งเห็นอิทธิพลของบรรษัทใหญ่ที่จะเข้ามาครอบงำการเมืองของสหรัฐ

แต่ประชาชนรากหญ้าสหรัฐต้องใช้เวลากว่า 100 ปี จึงได้เริ่มมองเห็น "การปกครองของบรรษัท โดยบรรษัท และเพื่อบรรษัท" เกิดขึ้นต่อหน้า

(Joseph E. Stiglitz บทความชื่อ Of the 1%, by the 1%, for the 1% ใน www.vanityfair.com May 2011)



การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution)

การปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1815) เริ่มต้นจากความอ่อนแอและวิกฤติการเงินของรัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประกอบกับเกิดวิกฤติการเกษตร ทำให้ชาวนาที่อดอยากลุกขึ้นสู้

ฝ่ายปฏิวัติประชาธิปไตยได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น หลังการทลายคุกบาสตีล ได้ประกาศล้มเลิกสิทธิของชนชั้นสูง ออกแถลงการณ์สิทธิมนุษย์และพลเมือง มีการจัดตั้งกองกำลังของตน แปรทรัพย์สินของศาสนจักรเป็นของรัฐ

ความพยายามช่วยเหลือของกษัตริย์ปรัสเซียและจักรพรรดิแห่งออสเตรียไม่เป็นผล พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกจับขึ้นศาลและถูกตัดสินประหารชีวิต

การปฏิวัติฝรั่งเศสมีความดุเดือดรุนแรง จนเกิดยุคแห่งการสยดสยอง จนในที่สุดนโปเลียนนายทหารใหญ่ได้ก่อการรัฐประหารในปี 1799 และสถาปนาเป็นจักรพรรดิในปี 1804 เป็นการรักษากฎหมายและระเบียบ และฟื้นการปกครองแบบคณาธิปไตยขึ้น โดยที่มีจิตวิญญาณแบบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม

ไม่ว่าผลการปฏิวัติฝรั่งเศสจะเป็นอย่างไร แต่คำขวัญของการปฏิวัติที่ว่า "เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ" ยังคงทรงพลังจนถึงทุกวันนี้



จากนี้จะเห็นได้ว่าแบบฉบับของการปฏิวัติชนชั้นนายทุนมีดังนี้คือ

(ก) การเสื่อมโทรมของระบอบราชาธิปไตยและระบบฟิวดัล พื้นฐานเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ลุกลามมาสู่การเมือง และทำให้อำนาจรัฐแบบเดิมอ่อนแอลง

(ข) พลังในสังคมแตกออกเป็นกลุ่มฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายอนุรักษ์เพื่อรักษาสถานะเดิมไว้ กับฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมักแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งมีลักษณะปฏิรูป ต้องการเจรจากับกลุ่มอำนาจเดิม อีกขั้วหนึ่งต้องการการปฏิวัติ

(ค) ฝ่ายนำการปฏิวัติมีแนวโน้มที่จะรักษา "กฎหมายและระเบียบ" ไม่ปล่อยให้การปฏิวัติเลยเถิดไปจนกระทั่งเป็นอันตรายต่อระบบทุน ใช้วิธีการฟื้นฟูระบบกษัตริย์ และคณาธิปไตยเป็นต้น

(ง) มีการจัดตั้งกองกำลังของฝ่ายปฏิวัติ ซึ่งพลรบได้จากชนชั้นล่างในสังคม รวมทั้ง การแตกแถวในกองทัพเดิม การปฏิวัติชนชั้นนายทุนนั้นมักผ่านความรุนแรงเป็นสงครามกลางเมือง

(จ) ประเทศที่ผ่านการปฏิวัติชนชั้นนายทุนจะมีความเข้มแข็งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น อังกฤษในช่วงหลังปฏิวัติแล้ว สามารถต่อกรกับมหาอำนาจเดิม และกลายเป็นมหาอำนาจโลกในที่สุด

อเมริกาที่ได้ผ่านสงครามปฏิวัติ สามารถรวมชาติ ขยายดินแดนทั้งจากการซื้อและการสงคราม จนสามารถครองพื้นที่จรดทั้งฟากมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก และหลังสงครามกลางเมือง สามารถรบชนะสเปน (1898) และก้าวสู่การเป็นจักรวรรดิ

ฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติประชาธิปไตย ก็ได้เป็นมหาอำนาจ ขยายจักรวรรดิ ส่งออกอุดมการณ์ทุนนิยม

ทั้งหมดผลักดันให้ทั้งโลกต้องเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นประชาธิปไตยแบบทุนในระดับต่างๆ



++

อารยธรรมอุตสาหกรรมกับการปฏิวัติหลายมิติ (4)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 37


แม่แบบของการปฏิวัติประชาธิปไตยในโลกนี้ถือกันว่าอยู่ที่การปฏิวัติในประเทศใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐ และฝรั่งเศส

การปฏิวัติชนชั้นนายทุนเหล่านี้ได้เป็นกำลังขับเคลื่อนและการบันดาลใจแก่การปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยทั้งในประเทศยุโรปและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก่อรูปเป็นอารยธรรมอุตสาหกรรมขึ้น

ในประเทศอังกฤษ-อเมริกา-ฝรั่งเศสที่ได้ผ่านการปฏิวัติประชาธิปไตย มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ-การเมืองการทหาร ได้กลายเป็นพลังหลักในการต่อสู้กับระบอบราชาธิปไตยและซากเดนของระบบฟิวดัลอย่างแข็งขัน และประสบความสำเร็จครั้งใหญ่เมื่อชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 สามารถทำลายจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิเยอรมนี และจักรวรรดิรัสเซีย ที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบราชาธิปไตยได้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศสหรัฐ-อังกฤษ-ฝรั่งเศส ได้ร่วมมือกันอีกครั้งเป็นฝ่ายพันธมิตรในการต่อสู้กับลัทธิฟาสซิสต์และลัทธินาซี ซึ่งเป็นทุนนิยมแบบรวบอำนาจ ที่คุกคามต่ออิทธิพลของตน

ฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะโดยอาศัยแสนยานุภาพและทรัพยากรจากสหรัฐเป็นสำคัญ

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ทั่วยุโรปตะวันตกได้อยู่ใต้ร่มเงาของสหรัฐ ผนึกกันเป็นโลกเสรีประชาธิปไตย

ในช่วงสงครามเย็น โลกเสรีประชาธิปไตยได้เข้าพันตูกับโลกสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นแกน เป็นเวลาหลายสิบปี จนได้รับชัยชนะในที่สุดในปี 1998 ทำให้กระแสประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีครอบงำไปทั่วโลก

เกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต

จากชัยชนะนี้กลุ่มประเทศตะวันตกก็ได้อุปโลกน์ตัวเองขึ้นเป็นตัวแทนประชาคมโลก

การที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยสามารถเอาชนะระบอบปกครองอื่นและพิชิตดินแดนไปทั่วโลก นับตั้งแต่การปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งแรกในปี 1640 ที่อังกฤษ ย่อมแสดงถึงความเข้มแข็งและการมีประสิทธิภาพของระบบนี้อย่างเห็นได้

สำหรับในประเทศต่างๆ แกนอังกฤษ-อเมริกา-ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองเป็นอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมทั่วโลก และเปลี่ยนทั้งโลกให้เป็นแบบตน

ดังนั้น จึงกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยในที่เหล่านั้นไปด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ

และการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้หลายประเทศ คุกคามต่อผลประโยชน์ของมหาอำนาจตะวันตกจนต้องเข้ามาแทรกแซง เป็นที่ประจักษ์ชัดไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน



สงครามโลกครั้งที่ 1
กับการล่มสลายของ 4 จักรวรรดิใหญ่ในยุโรป

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรปมี 4 จักรวรรดิใหญ่ที่ปกครองในระบอบราชาธิปไตย สองจักรวรรดิแรกเพิ่งเกิดใหม่ ได้แก่ จักรวรรดิเยอรมนี (1871-1918) และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (1867-1918) อีก 2 จักรวรรดิเก่าแก่ ได้แก่จักรวรรดิรัสเซีย (1721-1917) และจักรวรรดิออตโตมาน (1299-1922) ที่อยู่ในระบอบปกครองแบบราชาธิปไตย แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้ง 4 จักรวรรดิ ต่างล่มสลายไปเนื่องจากผลของสงคราม เร็วช้าต่างกันไป

เหตุปัจจัยที่จักรวรรดิทั้ง 4 ล่มสลายลงไปนั้น มีลักษณะร่วมกันบางประการ ได้แก่

ก) ความอ่อนแอเรื้อรังของผู้ปกครอง โดยยกเว้นจักรวรรดิเยอรมนีที่เพิ่งก้าวทะยานขึ้นมา แต่จักรวรรดิเยอรมนีก็มีความอ่อนแอหลายประการ เช่น ยังมีอาณานิคมน้อย กองทัพเรือยังไม่เข้มแข็งมาก ถูกปิดล้อมทางทะเลได้ง่าย เมื่อเปรียบกับความเข้มแข็งของสหรัฐแล้วก็อ่อนแอกว่าจนเห็นได้ ความอ่อนแอของจักรวรรดิทั้ง 4 นั้นเป็นทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร

ข) จักรวรรดิทั้ง 4 ได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนไปในระดับหนึ่ง รวมทั้งการปฏิรูปทางการเมือง-สังคมด้วย แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองโดยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยน จนเกิดการขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตที่พัฒนาไปสูงเป็นแบบทุนกับความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เป็นแบบราชาธิปไตย เกิดอาการรัดตัวไม่ให้พัฒนาพลังการผลิตไปได้มากเต็มตามศักยภาพ ฉุดรั้งความก้าวหน้า และความยืดหยุ่นคล่องตัว จนหมุนวนสู่ความอ่อนแอ

ในบรรดาการล่มสลายของทั้ง 4 จักรวรรดิ จะขอกล่าวถึงแต่กรณีล่มสลายของจักรวรรดิและการปฏิวัติประชาธิปไตยรัสเซียซึ่งนับว่าน่าสนใจที่สุด เนื่องจากเป็นการปฏิวัติชนชั้นนายทุนที่ถูกขโมยไปเป็นการปฏิวัติสังคมนิยม

เมื่อสงครามสงบมหาอำนาจตะวันตกพยายามเข้าแทรกแซงล้มล้างการปฏิวัติสังคมนิยมที่นำโดยพรรคบอลเชวิก แต่ก็ไม่เป็นผล มิหนำซ้ำยังต้องดึงสหภาพโซเวียตมาเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านลัทธินาซีในเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้ก้าวสู่ฐานะอภิมหาอำนาจขึ้นเผชิญหน้ากับโลกตะวันตก เป็นบทเรียนที่สหรัฐตั้งใจจะไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก

จักรวรรดิรัสเซียประกาศก่อตั้งปี 1721 ในสมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งราชวงศ์โรมานอฟ (ครองราชย์ปี 1682-1725) หลังจากที่ได้อาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง มีการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย จนเป็นมหาอำนาจชาติหนึ่งในยุโรป เป็นจักรวรรดิใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เป็นรองแต่จักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิโรมันเท่านั้น



การปฏิวัติประชาธิปไตยในรัสเซีย

การปฏิวัติประชาธิปไตยรัสเซีย เห็นได้ชัดว่า ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและปฏิวัติประชาธิปไตยในอังกฤษ สหรัฐ และฝรั่งเศส มีเหตุการณ์สำคัญในการปฏิวัติประชาธิปไตยในรัสเซียที่ควรกล่าวถึงดังนี้

การปฏิวัติชาวเดือนธันวาคม ปี 1825 (Decembrist Revolution) กลุ่มทหารประชาธิปไตยรัสเซียและพวกผู้ดีรัสเซียจำนวนหนึ่ง ต้องการสร้างระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แทนที่ระบบพระเจ้าซาร์ ได้ก่อกบฏขึ้น แต่ถูกปราบปรามอย่างรวดเร็ว ในสมัยซาร์นิโคลัสที่ 1 (ครองราชย์ 1825-1855) เป็นสัญญาณว่าเพลิงปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยได้จุดประกายขึ้นแล้วในประเทศนี้

การยกเลิกระบบทาสติดที่ดินรัสเซีย (The Emancipation of the Russian Serfs) ปี 1861 สมัยซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 (ครองราชย์1855-1881) กล่าวกันว่าการเลิกทาสติดที่ดินในครั้งนี้ได้รับอิทธิพลจากขบวนเคลื่อนไหวยกเลิกทาสในสหรัฐ แต่ที่สำคัญเกิดจากการลุกขึ้นสู้ของชาวนารัสเซียเอง จนได้ยกเลิกก่อนการเลิกทาสในสหรัฐ 4 ปี

การยกเลิกทาสติดที่ดินรัสเซีย ส่งผลสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

(ก) ทำให้ชาวนาเป็นอิสรชน มีสิทธิเสรีภาพบางประการ แม้ว่าชีวิตความเป็นอยู่จะไม่มีอะไรดีขึ้นนัก ก็ยังสามารถรวมตัวกันมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชนที่อาศัยชาวนาเป็นฐานการปฏิวัติ จนกระทั่งจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใต้ดินชื่อ "เจตจำนงประชาชน" (Narodnaya Volya) มีแนวคิดแบบก่อการร้าย ได้ลอบสังหารพระเจ้าอเล็กซานเดอร์จนสำเร็จในปี 1881 และถูกปราบปรามจนสลายตัวไป

(ข) เปิดทางให้แก่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในรัสเซีย จำนวนคนงานรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในภาคการทำเหมืองแร่และการขนส่ง มีการรวมตัวของคนงานกระจายทั่วประเทศ จนได้จัดตั้งกลุ่มปลดปล่อยคนงาน (Emancipation of Labour) มีแนวคิดแบบลัทธิมาร์กซ์ และพัฒนาเป็นพรรคบอลเชวิกที่นำการปฏิวัติสังคมนิยมในปี 1917

การปฏิวัติรัสเซียปี 1905 เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยที่ประสบสำเร็จ เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (ครองราชย์ 1894-1917) เนื่องจากรัฐบาลพ่ายแพ้ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (1904-1905) เกิดการลุกขึ้นสู้อย่างกว้างขวางทั้งจากชนชั้นกลาง กรรมกรและชาวนา จนพระเจ้าซาร์ยอมจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎร (Duma) เป็นสัญญาณความเสื่อมของระบอบซาร์และการขยายตัวของระบอบประชาธิปไตย

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (24-29 ก.พ.) 1917 เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติสังคมนิยมในเดือนตุลาคม (24-25 ต.ค.) ตามปฏิทินเก่าเพียงไม่กี่เดือน เหตุปัจจัยเฉพาะหน้าเกิดจากพระเจ้าซาร์นิโคลัสเข้าร่วมฝ่ายพันธมิตรทำสงครามกับเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมาน เป็นสงครามที่ล้มเหลวมีทหารต้องบาดเจ็บล้มตายในแนวหน้าเป็นจำนวนมาก ทั้งยังต้องเสียดินแดน

นอกจากนี้ ภายในราชสำนักยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสปูตินนักบวชที่กล่าวกันว่ามีมนตร์ขลัง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของราชวงศ์ จนถูกพวกผู้ดีกลุ่มหนึ่งวางแผนสังหารจนสำเร็จในปลายปี 1916


การปฏิวัติเดือนมีนาคม เป็นการล้มล้างระบอบซาร์ และนำอำนาจมาสู่รัฐบาลเฉพาะกาลที่กำลังสำคัญเป็นพวกต้องการระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและรัฐสภาแบบเสรีประชาธิปไตย ผู้นำเด่น ได้แก่ เคอเรนสกี (Alexander Kerensky 1881-1970) ที่เสนอให้อำนาจทั้งหมดไปอยู่ที่รัฐบาลเฉพาะกาล

ความหายนะของการปฏิวัติประชาธิปไตยรัสเซีย มีเหตุปัจจัยสำคัญดังนี้คือ

(1) รัสเซียอยู่ในภาวะสงครามเกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ระบบขนส่งพังทลาย ชั้นในร้านค้าว่างเปล่า การโฆษณาเสรีภาพได้ผลน้อย เพราะว่า "กินไม่ได้"

(2) เคอเรนสกี้ตัดสินใจพลาดครั้งใหญ่โดยเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรทำสงครามกับเยอรมนีต่อ โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเพื่อสร้างเสรีประชาธิปไตยในรัสเซีย เปิดโอกาสให้พรรคบอลเชวิกที่นำโดยเลนินโฆษณาว่าบอลเชวิกเห็นแก่ประโยชน์ของการปฏิวัติของประชาชนมากกว่า และเสนอคำขวัญ "อำนาจทั้งหมดเป็นของโซเวียต" (All Power to the Soviets โซเวียตที่นี้คือสภาคนงาน) ไม่ใช่รัฐบาลเฉพาะกาล

(3) การแต่งตั้งนายพลคอร์นิลอฟเป็นผู้บัญชาการกองทัพในต้นเดือนสิงหาคม นายพลผู้นี้มักใหญ่ใฝ่สูง บางคำอธิบายกล่าวว่า เขาได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรให้ก่อการรัฐประหารกวาดล้างโซเวียต และเข้าควบคุมรัฐบาลเฉพาะกาล ปกครองแบบคณาธิปไตย คล้ายเป็นนโปเลียนแห่งรัสเซีย

เคอเรนสกีตัดสินใจขัดขวาง ทำลายกำลังของนายพลคอร์นิลอฟ พรรคบอลเชวิกฉวยโอกาสก่อรัฐประหารที่เรียกว่าการปฏิวัติเดือนตุลาคม (ตามปฏิทินเก่า ตามปฏิทินสากลอยู่ต้นเดือนพฤศจิกายน) เป็นการปฏิวัติสังคมนิยมสำเร็จครั้งแรกในโลก

เคอเรนสกีลี้ภัยจากรัสเซียในปี 1918 ไปอยู่ในประเทศตะวันตก โดยมีความหวังว่าอีกไม่นานการปฏิวัติของบอลเชวิกจะล้มเหลว แต่เขารอจนสิ้นชีวิตก็ยังไม่เป็นจริง

(ดูบทความของ Burnard Butcher ชื่อ A Doomed Democracy ใน stanfordalumni.org, 2001)



การปฏิวัติประชาธิปไตย
ในประเทศอาณานิคมและกึ่งอาณานิคม

การปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้มีความหลากหลายมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงลักษณะร่วมบางประการ

1) เมื่อมหาอำนาจตะวันตกได้ยึดครองที่ใดเป็นอาณานิคมก็ได้ทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองในที่นั้น ที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของทุนและการปกครองของตน

เช่น การสร้างระบบกรรมสิทธิ์เอกชนและการปรับเปลี่ยนกลไกรัฐ อันนี้มีด้านที่สนับสนุนการปฏิวัติประชาธิปไตย

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าอาณานิคมก็ควบคุมการพัฒนาไม่ให้มีมากเกินไปจนเกิดการกระด้างกระเดื่อง เป็นอุปสรรคต่อการปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานราคาถูก และตลาดขนาดใหญ่ เป็นนโยบาย "แบ่งแยกและปกครอง" ทำให้ประเทศอาณานิคมเหล่านั้นตกอยู่ในกับดักของการด้อยพัฒนา

2) การปฏิวัติประชาธิปไตยในดินแดนเหล่านี้จึงจำต้องกระทำควบคู่ไปกับการปฏิวัติประชาชาติ เพื่อให้พ้นจากการเป็นอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมพร้อมกันไป และมีแนวโน้มที่จะเดินนโยบายชาตินิยมหรือสังคมนิยมในการสร้างชาติของตน ดังนั้น จึงถูกมหาอำนาจตะวันตกแทรกแซงขัดขวางรวมทั้งเข้ามาล้มล้าง กว่าจะประสบความสำเร็จก็ต้องเสียชีวิตเลือดเนื้อและความย่อยยับในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

3) การปฏิวัติประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้ดีในยามเกิดความอ่อนแอลงในหมู่มหาอำนาจเจ้าอาณานิคม เช่น ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกแทรกแซงล้มล้างได้มีการรวมตัวกันเป็นขบวนไม่ฝักฝ่าย (Non-Aligned Movement ก่อตั้งปี 1961) มีศักยภาพที่จะเป็นตัวแทนประชาคมโลกได้ แต่ขณะนี้ยังถูกบดบังโดยมหาอำนาจตะวันตกอยู่

การเคลื่อนไหวต้นปี 2012 ได้แก่ มีข่าวขบวนไม่ฝักฝ่ายออกแถลงการณ์ประณามการที่สหรัฐใช้เครื่องบินไร้คนขับสอดแนมล่วงล้ำอธิปไตยของอิหร่าน (Tehran Times 180112)



.