http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-09

อนุช: อารยธรรมอุตสาหกรรม กับการปฏิวัติหลายมิติ (1)(2)

.

อารยธรรมอุตสาหกรรม กับการปฏิวัติหลายมิติ (1)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 37


อารยธรรมอุตสาหกรรมสมัยใหม่นั้นมีอายุไม่นาน เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมที่ยุโรปหรือประเทศตะวันตกเมื่อราว 500 ปีมาแล้ว และได้เบ่งบานเมื่อราว 200 ปีที่ผ่านมา ถึงจุดสูงสุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและหลังนั้นไม่นาน

อารยธรรมนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัวและเสื่อมถอยตั้งแต่ราวทศวรรษ 1970 เป็นช่วงประวัติศาสตร์มนุษย์ที่น่าตื่นตาและมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ทั้งในด้านเศรษฐกิจ-การเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อม

เมื่อกล่าวถึงอารยธรรมอุตสาหกรรมก็มักนึกถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ในยุโรปที่มีอังกฤษเป็นแกน แต่ที่จริงนั้นอารยธรรมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกิดขึ้นจากการปฏิวัติหลายมิติด้วยกัน ที่เป็นพื้นฐานมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่
(1) การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(2) การปฏิวัติทางพลังงาน
(3) การปฏิวัติประชากรและการตั้งถิ่นฐาน
(4) การปฏิวัติทางการเมือง
และ (5) การปฏิวัติทางวัฒนธรรมและจิตวิทยา

การเข้าใจการปฏิวัติในมิติต่างๆ น่าจะช่วยให้เข้าใจความเป็นมา สภาวะที่เป็นอยู่ และความเป็นไปของอารยธรรมอุตสาหกรรมได้ดีขึ้น จะได้กล่าวถึงเป็นอันดับไป


(1)อารยธรรมอุตสาหกรรมกับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ที่เรียกว่าการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็หมายถึงนวัตกรรม การค้นพบ การประดิษฐ์ การสำรวจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่ร้อยปี และมีผลเปลี่ยนอารยธรรมมนุษย์ไปจนไม่เหมือนเดิม

นวัตกรรมเหล่านี้ซึ่งรวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมมีที่สำคัญควรกล่าวถึงคือ

1. การค้นพบกฎธรรมชาติ (Natural Law) ธรรมชาติมีกฎและดำเนินไปตามกฎของมัน ไม่ได้เป็นไปตามเจตนาของมนุษย์ และที่สำคัญกว่าก็คือไม่ได้เป็นไปตามเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้า นอกจากนี้ มนุษย์ยังมีความสามารถที่จะเข้าใจกฎเหล่านี้ได้ลึกซึ้งขึ้นไปทุกที การเข้าใจกฎธรรมชาติทำให้มนุษย์สามารถเข้าควบคุมจัดการธรรมชาติได้มากขึ้นด้วย

การค้นพบกฎธรรมชาติที่ขับเคลื่อนจักรวาลและโลก มีเหตุการณ์สำคัญ เช่น นิโคลัส โคเปอร์นิคัส เสนอการเคลื่อนไหวของดวงดาวในจักรวาล และดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่ใช่โลก (ปี 1543)

โจฮันเนส เคปเลอร์ เสนอกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ (ปี 1609 และ 1619)

กาลิเลโอ กาลิเลอี ต่อสู้เรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล (ปี 1632) จนกระทั่งถูกนำขึ้นศาลศาสนา และยังค้นพบดาวเคราะห์หลายดวง งานเด่นคือ "วิทยาศาสตร์ใหม่ 2 สาขา" ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของสิ่ง และการทนต่อแรงเค้น (Stress) ของสิ่ง (เสนอปี 1638)

ไอแซ็ก นิวตัน เสนอแรงโน้มถ่วงและกฎการเคลื่อนที่ (Law of Motion ปี 1687)

2. การค้นพบแรงพื้นฐานทางฟิสิกส์ ที่ทำให้จักรวาลและโลกนี้เคลื่อนไหว ได้แก่ แรงโน้มถ่วง แรงแม่เหล็กไฟฟ้า และแรงนิวเคลียร์แบบอ่อนและแบบเข้มข้น เป็นการค้นพบที่ทำให้มนุษย์มีความรู้ตั้งแต่จักรวาลจนถึงอะตอมและอนุภาคของมัน สร้างยุคไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยุคนิวเคลียร์

ขอยกตัวอย่างการค้นพบแรงแม่เหล็กไฟฟ้าดังนี้

ก) การทดลองยืนยันแรงแม่เหล็กไฟฟ้าของ ชาร์ลส์ คูลองบ์ (ปี 1785)

ข) การค้นพบการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าของฟาระเดย์ (ปี 1831 มีผู้อื่นค้นพบได้ในระยะใกล้กันแต่นิยมยกผลงานให้แก่ฟาระเดย์ผู้มีความโดดเด่นหลายด้าน)

ค) แมกซ์เวลล์ ได้พัฒนาขึ้นสู่ทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า (ปี 1861 ถึง 1862) เสนอว่าความเร็วของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากับของแสงเท่ากัน แสงเดินทางเป็นคลื่นด้วยความเร็วคงที่ ซึ่งเปิดทางให้มีการค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพเฉพาะและควอนตัมฟิสิกส์ ง) ปี 1882 โลกเข้าสู่ยุคไฟฟ้าโดยเอดิสันนำมาใช้ในนครนิวยอร์ก

3. การเดินทางสำรวจไปทั่วโลก การค้นพบทวีปอเมริกาและออสเตรเลีย ทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียว การสำรวจเหล่านี้ยังก่อให้เกิดสาขาวิชาจำนวนมาก เช่น วิชาภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา มานุษยวิทยา ทฤษฎีวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต โบราณคดี และยังนำมาสู่ การสำรวจอวกาศ

4. การประดิษฐ์เครื่องจักรใช้พลังงานไอน้ำ (ต่อมาเป็นพลังงานอื่น) ทำงานแทนแรงงานคนและสัตว์ นำมาสู่การสร้างระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมโรงงานซึ่งเป็นการผลิตปริมาณมาก แทนที่การผลิตในครัวเรือน เปลี่ยนโฉมหน้าการผลิตและการขนส่งทั้งหมดของมนุษย์

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคต้นที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างเครื่องจักรไอน้ำ (1705) ต่อมา เจมส์ วัตต์ ได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพขึ้นในปี 1763 เครื่องจักรไอน้ำนี้เริ่มต้นใช้ในการทำเหมืองถ่านหินและการถลุงแร่เหล็ก เปิดทางให้แก่อุตสาหกรรมสร้างเครื่องจักรกล การสร้างทางรถราง รถไฟและเรือกลไฟ การผลิตเหล็กกล้า เกิดการขนส่งทางรางขึ้น การประดิษฐ์หัวกระสวยบิน (Flying Shuttle ปี 1733) ทำให้ทอผ้าได้เร็วมากจนต้องประดิษฐ์เครื่องปั่นด้าย (1741 พัฒนาจนใช้งานได้ดีในปี 1770)

5) การค้นพบทางการแพทย์ ได้แก่

ก) การรู้จักกายวิภาคมนุษย์โดย แอนเดรียส เวซาเลียส (ปี 1543) เห็นว่าสมองเป็นที่ตั้งของความรู้สึกไม่ใช่สมองอย่างที่เชื่อกัน การเคลื่อนไหวของหัวใจและเลือดโดย วิลเลียม ฮาร์วีย์ ชี้ว่าหัวใจเป็นอวัยวะสูบฉีดเลือด (1628)
ข) การค้นพบเชื้อโรคโดย แวน ลีเวนฮัก (1673)
ค) การพัฒนาวัคซีนกันโรคฝีดาษโดย เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (1796)
ง) การประดิษฐ์หูฟังทางการแพทย์ (1816)
จ) การใช้ยาสลบในการผ่าตัด (1846)
ฉ) การค้นพบวิธีฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์ (1862) การใช้ยาหรือสารระงับเชื้อในการผ่าตัด (1867)
ช) การค้นพบ เพนิซิลลิน (1928)


(2) อารยธรรมอุตสาหกรรมกับการปฏิวัติทางพลังงาน

มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนเสนอว่าพื้นฐานของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็คือ การปฏิวัติทางพลังงาน (Energy Revolution) ได้แก่ การนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้เป็นแหล่งพลังงานหลัก แทนที่ไม้และฟืน และก็มีนักคิดหลายคนที่เสนอว่าอารยธรรมอุตสาหกรรมแท้จริงตั้งอยู่บนฐานของแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลราคาถูก

นักประวัติศาสตร์ทางเศรษฐศาสตร์และประชากรศาสตร์ชาวอังกฤษ โทนี ริงลีย์ (Edward Anthony Wringley เรียกสั้นๆ ว่า Tony Wringley เกิด 1931) มีทัศนะว่าเศรษฐกิจก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นเป็นเศรษฐกิจอินทรีย์ (Organic Economy) นั่นคือ แหล่งพลังงานหลักที่ใช้ในการผลิต ได้แก่ กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช โดยผลิตผลจากพืชส่วนหนึ่งใช้เป็นอาหารคนและสัตว์ ซึ่งให้พลังงานเชิงกล (Mechanical Energy) ในการผลิต อีกส่วนหนึ่งใช้เป็นไม้และถ่านให้พลังงานความร้อนและแสงสว่างในการผลิต

แต่เศรษฐกิจอินทรีย์ที่อาศัยการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชมีความจำกัดอยู่ 2 ประการ ได้แก่

ข้อแรก แม้ว่าปริมาณพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ตกลงสู่ผิวโลกจะมีมาก แต่กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงดูดซับพลังงานได้น้อยกว่าร้อยละ 0.5 จากแสงแดด

ความจำกัดอีกประการหนึ่งอยู่ที่ที่ดินซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้การผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความจำกัดไปด้วย เช่น ความจำกัดในการสนองอาหารแก่ผู้คนและสัตว์ใช้งาน ก่อให้เกิดความจำกัดในวัตถุดิบเกือบทั้งหมดที่ใช้ในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นขนแกะ ฝ้าย หนัง ซุง ถ่าน ที่ใช้ในการถลุงแร่ เป็นต้น

ความจำกัดนี้บีบให้ต้องขยายพื้นที่ไปยังที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่า หรือพยายามใช้พื้นที่นั้นให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ค่าจ้างแรงงานและผลกำไรลดลง และเศรษฐกิจไม่อาจขยายตัวต่อไปได้

การปฏิวัติทางพลังงาน โดยหันมาใช้พลังงานฟอสซิลเป็นการทำลายขีดจำกัดของเศรษฐกิจแบบอินทรีย์นั้นอย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ กล่าวถึงที่สุดแล้ว ก็เกิดจากการสังเคราะห์ด้วยแสง เพียงแต่มันเป็นการสังเคราะห์ดึกดำบรรพ์ นับร้อยล้านปีมาแล้ว และฝังอยู่ในพื้นดิน การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจึงเหมือนเป็นการขยายพื้นที่บนโลกนี้ไปอย่างมหาศาลเหมือนเพิ่มโลกขึ้นอีกหลายใบ

การนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ในการปฏิวัติอุตสาหภกรรม มีทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

ในด้านปริมาณ พบว่า การใช้พลังงานในอังกฤษและเวลส์เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยระหว่างปี 1561-1570 ใช้พลังงานทุกชนิดราว 65,130 เทระจูลต่อปี (จูลเป็นหน่วยวัดพลังงานความร้อนว่าสามารถทำงานได้เพียงใด 1 เมกะจูลเท่ากับล้านจูล เทียบเท่ากับการเคลื่อนที่ของรถยนตร์หนัก 1 ตันในอัตรา 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทระจูลเท่ากับ 1 ล้านล้านจูล) ระหว่างปี 1750-1759 เพิ่มเป็น 230, 850 เทระจูล และระหว่างปี 1850-1859 ใช้พลังงานทั้งหมดถึง 1,835,300 เทระจูล

ถ้าจำแนกเป็นชนิดของพลังงานจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน นั่นคือ ระหว่างปี 1561-1570 ใช้พลังงานจากคนสัตว์และฟืนเกือบทั้งหมดรวม 57,450 เทระจูล ใช้ถ่านหินเพียง 6,930 เทระจูล ระหว่างปี 1850-1859 ใช้พลังจากถ่านหินเกือบทั้งหมดรวมปีละ 1,689, 100 เทระจูล ใช้พลังงานจากคน สัตว์และฟืนเพียง 120,130 เทระจูล

ในทางคุณภาพ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงต้นเพื่อให้แสงสว่างและความร้อน ช่วงต่อมาจึงนำมาใช้เป็นพลังงานเชิงกลในเครื่องจักรกลที่ประดิษฐ์ขึ้น สามารถเข้ามาทำงานแทนแรงงานคนและสัตว์ได้

ลักษณะเด่นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็คือ ทำให้เป็นไปได้ที่จะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงกำลัง (Exponential Economic Growth) โดยมีอัตราการเติบโตของผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 50 ปี หรือน้อยกว่านั้น

(ดูบทความของ Tony Wringley ชื่อ Opening Pandora"s box : A new look at the industrial revolution ใน voxeu.org, 220711)



อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่าการนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้มากขึ้นมีส่วนในการพัฒนาวิชาเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยมด้วย นั่นคือในช่วงเศรษฐศาสตร์คลาสสิก ที่มีบุคคลสำคัญได้แก่ อดัม สมิธ (1723-1790) และ เดวิด รีคาโด (1772-1823) เห็นว่าการผลิตนั้นต้องอาศัยปัจจัยหรือความเป็นจริงทางกายภาพ (Physical Reality) ได้แก่ ทุน แรงงาน และที่ดิน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ชนชั้น ได้แก่ นายทุน กรรมกร และเจ้าที่ดิน ริคาโดได้พัฒนาทฤษฎีมูลค่าจากแรงงาน (Labour Theory of Value ปี 1817) มูลค่าของสิ่งทั้งหลายตีราคาได้จากแรงงานที่ใช้ผลิตสิ่งนั้น

คาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883 ได้นำทฤษฎีมูลค่าจากแรงงานนี้ไปพัฒนาเป็นทฤษฎีการปฏิวัติสังคมนิยมของชนชั้นกรรมกร ซึ่งได้กลายเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ กระทบต่อระบบทุนอย่างยิ่ง จึงเป็นภาระให้นักทฤษฎีของกลุ่มทุนจำต้องคิดแก้ไข จึงได้เสนอเศรษฐศาสตร์แบบคลาสิกใหม่ (Neo-classical Economics) ขึ้น โดยยังคงรักษาวิญญาณเสรีนิยมไว้ แต่กลับหัวเป็นหาง

แนวคิดเศรษฐศาสตร์คลาสิกใหม่นี้ มีนักทฤษฎีและนักปฏิบัติที่มาจากสำนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรีย (Austrian School of Economics) มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาขึ้น ได้แก่ คาร์ล เมนเจอร์ (1840-1921) ลุดวิก วอน มิเซส (1888-1973) และ ฟรีเดรก เฮยัก (1899-1992) ซึ่งเกิดในตระกูลมั่งคั่งผู้ดี

ทั้งสามมีแนวคิดพื้นฐานว่า มูลค่าของสิ่งนั้นเกิดจากอัตถประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการเปลี่ยนการมองจากความจริงทางกายภาพหรือภววิสัยเป็นความจริงทางอัตวิสัย (Subjective Reality) โดยถือว่าความจริงทางกายภาพเป็นเพียงฉากหลัง ตัวกำหนดมูลค่าหรือราคาที่แท้จริงอยู่ที่ความพึงพอใจของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตย (Sovereignty of Consumers) จากนี้การเข้าใจและการแก้วิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ในระบบเศรษฐกิจ ก็จะต่างกันไปโดยเฉพาะกับแนวคิดสังคมนิยมด้วย (ดูปาฐกถาของ Israel M. Kirzner เรื่อง The History of Austrain Economics ใน zerohedge.com)

การเปลี่ยนแนวคิดจากภววิสัยสู่อัตวิสัยหรือการยึดถือความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นสำคัญจนเป็นที่ยอมรับได้นั้น ส่วนหนึ่งย่อมเกิดจากการนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ จนทำให้ดูเหมือนว่าสามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แต่ว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลก็เป็นสิ่งหมดไปได้ ในที่สุดผู้คนก็คงต้องกลับสู่ความจริงทางกายภาพอีกครั้ง



++

อารยธรรมอุตสาหกรรมกับการปฏิวัติหลายมิติ (2)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 36


อารยธรรมอุตสาหกรรมนั้นเกิดขึ้นในการปฏิวัติหลายมิติ และหนึ่งในนั้น ได้แก่ การปฏิวัติทางประชากรและการตั้งถิ่นฐานเป็นเมือง นั่นคือจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการขยายตัวของเมือง โดยทั่วไปประชากรและการเป็นเมืองนั้นส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ-การเมือง การเคลื่อนไหวทางสังคม และการกดดันต่อธรรมชาติแวดล้อม

การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วมีด้านที่ทำให้สังคมนั้นๆ เข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกันก็มักทำให้ค่าจ้างแรงงานลดต่ำลง ชีวิตของชนชั้นล่างลำบาก และทำให้ต้องบุกเบิกที่ดินหรือการตีชิงอาณานิคมมากขึ้น เพื่อสนองอาหารและวัตถุดิบที่ต้องการเพิ่มขึ้น โดยรวมก่อให้เกิดสงครามทั้งภายในและระหว่างประเทศมากขึ้น

การขยายตัวของเมืองที่ด้านหนึ่งช่วยรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นได้มาก แต่ก็มีด้านที่จะต้องใช้ทรัพยากรจากชนบทและดินแดนชายขอบมากขึ้น

ยิ่งกว่านั้นภายในเมืองอันรุ่งเรือง ก็ปรากฏพื้นที่ย่านคนจนหรือสลัมมาตั้งแต่โบราณ เช่น ในกรุงโรมโบราณยามรุ่งเรืองมีประชากรกว่า 1 ล้านคน แต่ก็มีคนยากจนจำนวนมากอยู่ในย่านชุมชนแออัดหรือสลัมเป็นบริเวณกว้าง เป็นสิ่งปลูกสร้างลักษณะคล้ายแฟลตในปัจจุบัน แต่สมัยนั้นเรียกว่า "เกาะ" เป็นอาคารหลายชั้นขนาดใหญ่ที่ตั้งในที่โล่งเหมือนเป็นเกาะ (Insula) บางเกาะอาจมีผู้อยู่อาศัยมากถึง 200 คน

อาคารสำหรับคนจนเหล่านี้มักสร้างด้วยไม้ มีความสูงระหว่าง 3-4 ชั้น ชั้นแรกเป็นร้านค้า ที่อยู่อาศัยอยู่ถัดไป การก่อสร้างทำอย่างหยาบๆ ผู้ที่อยู่ชั้นบนต้องไต่บันไดขึ้น และมักโยนของเสียต่างๆ ลงมาทางหน้าต่างไม่มีกระจก มีอุบัติเหตุจากอาคารถล่มและเพลิงไม้อยู่เนืองๆ ทั้งไม่ถูกสุขลักษณะ (ดูบทความชื่อ Roman Living : Inside an Insula ใน heritage-key.com)

ในปัจจุบันมีประชากรสลัมทั่วโลกราว 1 พันล้านคน



การปฏิวัติอุตสาหกรรม
กับยุคการสำรวจและการค้นพบ

การปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป มีรากฐานอย่างหนึ่งจากยุคแห่งการสำรวจและการค้นพบ (Age of Exploration and Discovery) ที่เริ่มจากต้นศตวรรษที่ 15 ถึง ศตวรรษที่ 17 แรงกระตุ้นให้เกิดยุคการสำรวจเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ-การเมือง มีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่

(1) เพื่อหาเส้นทางเดินเรือไปยังตะวันออก ในการค้าเครื่องเทศ

(2) การสร้างเส้นทางการค้าที่ปลอดภัยกับอินเดียและจีน

และ (3) แสวงหาความมั่งคั่งจากดินแดนต่างๆ และสร้างอาณานิคม

การสำรวจและการค้นพบในช่วงเวลาดังกล่าว ที่สำคัญ ได้แก่ การค้นพบเส้นทางเดินเรือไปอินเดีย (ปี 1488) การค้นพบทวีปอเมริกา (ปี 1492) การเดินทางรอบโลก (1519-1521) นั่นคือยุโรปหรือตะวันตกสามารถครอบครองเส้นทางเดินเรือทั่วโลกโดยเด็ดขาด และดูเหมือนว่ายังคงรักษาได้จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะถูกท้าทายมากขึ้น

ความสำเร็จของการค้นพบก่อผลให้เกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ-การเมืองในยุโรปอย่างทั่วด้าน

(1) เกิดความคิดครองโลกในหมู่มหาอำนาจตะวันตก เริ่มต้นจากสนธิสัญญาทอร์เดอซิลลัส (Tordesillas ปี 1494) เพื่อแบ่งโลกกันปกครองระหว่างสเปนกับโปรตุเกส ทุกวันนี้ตะวันตกก็ยังคงคิดว่าตนเป็นเจ้าของผู้จัดการโลกอยู่

(2) การนำความมั่งคั่งได้แก่ทรัพยากรธรรมชาติและแก้วแหวนเงินทองเป็นต้นจากดินแดนทั่วโลก

(3) การขยายตลาดค้าทาส หรือตลาดแรงงานราคาถูกสำหรับการเกษตรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ที่สำคัญน่าจะเป็นการทำให้ยุโรปหลุดพ้นจากกับดักของมัลธัส (Multhusian Trap) นั่นคือแนวคิดที่ว่าจำนวนประชากรมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ขณะที่การเพิ่มของทรัพยากรที่รองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนั้นมีจำกัด ซึ่งจะหวนมากำหนดจำนวนประชากรไม่ให้มากเกินไป

ยุคแห่งการสำรวจได้มอบโลกทั้งโลกให้แก่ยุโรปที่จะนำมาใช้เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ โดยไม่ถูกจำกัดเหมือนก่อน โดยเฉพาะในอังกฤษที่เป็นเกาะพื้นที่แคบ แต่ได้เป็นเจ้าสมุทร มีอาณานิคมทั่วโลก อาณานิคมเหล่านี้เป็นที่ระบายประชากรที่ล้นเกินออกไป นำความมั่งคั่งและอาหารมาหล่อเลี้ยงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นได้

การมีประชากรที่หนาแน่นขึ้นเร่งการประดิษฐ์คิดค้น จนสามารถสร้างเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาทำงานแทนแรงงานคนและสัตว์เปลี่ยนประวัติศาสตร์ทั้งยุคของมนุษย์


การปฏิวัติประชากร
กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การปฏิวัติประชากรกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นเหตุปัจจัยที่หนุนกันและกัน เป็นการป้อนกลับเชิงบวกในทำนองนี้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มจากการสำรวจและการค้นพบ มีส่วนช่วยให้จำนวนประชากรของยุโรปและโดยเฉพาะอังกฤษเติบโตอย่างรวดเร็ว

การขยายตัวของประชากรกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางการผลิต การประดิษฐ์เครื่องจักรกลที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแทนแรงงานคนและสัตว์ สามารถผลิตได้จำนวนมากทั้งอาหารและของใช้อื่น ซึ่งยิ่งสามารถรองรับประชากรที่มากขึ้นอีก ยาวนานเป็นร้อยปี

วงจรนี้ไม่จำกัดวงอยู่ในยุโรปหรือประเทศตะวันตกเท่านั้น หากยังขยายไปทั่วโลก ตามการขยายตัวของระบบทุนนิยมและการผลิตแบบอุตสาหกรรม จึงทำให้จำนวนประชากรยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ขณะที่ความสามารถในการผลิตก็ยังพัฒนาต่อไป

แต่เป็นที่สังเกตว่าเมื่อถึงศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมากอยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ประเทศตะวันตกที่ถือว่าเป็นศูนย์ความเจริญ อัตราการเพิ่มน้อยมาก บางประเทศลดลง

นี่กลายเป็นความไม่สมดุลใหญ่ ซึ่งย่อมกระทบสมดุลของอำนาจและความมั่งคั่ง และระเบียบโลกแบบเดิมยากที่จะดำรงอยู่

นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่กระทบต่อการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่ผูกขาดอีกด้วย



การปฏิวัติประชากรเป็นอย่างไร

การปฏิวัติประชากรมีอยู่ 2 ด้านด้วยกัน

ด้านหนึ่ง ได้แก่ การเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว

อีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ การอพยพเคลื่อนย้ายประชากรเป็นบริเวณกว้างทั้งภายในประเทศและข้ามประเทศ

การอพยพนี้ยังเนื่องด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมอื่นด้วย ที่สำคัญ ได้แก่ เนื่องจากการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ทำให้ประชากรจำนวนมากหลุดพ้นจากทาสติดที่ดินหรือการมีสังกัด กลายเป็นแรงงานเสรีที่จะเคลื่อนย้ายไปที่ไหนก็ได้ และการเกิดลัทธิชาตินิยม การขนส่งที่สะดวกขึ้น การแสวงหางานและชีวิตที่ดีขึ้น เช่น หนีจากที่ดินที่ไม่สมบูรณ์ ไปจนถึงการแสวงโชค เช่น ยุคตื่นทอง เป็นต้น

ในด้านการเพิ่มประชากรนั้นเห็นได้ชัดในทวีปยุโรป ประมาณว่าระหว่างปี 1700 และ 1900 ประชากรยุโรปเพิ่มขึ้นจากราว 100 ล้านคน เป็นกว่า 400 ล้านคน เมื่อถึงปี 1900 ประชากรในทวีปยุโรปคิดเป็นร้อยละ 36 ของประชากรโลก

สำหรับประเทศอังกฤษที่เป็นศูนย์กลางการปฏิวัติอุตสาหกรรม พบว่าประชากรอังกฤษปี 1650 ตก 5.6 ล้านคน เพิ่มจาก 2.6 ล้านคน ในปี 1500 ปี 1801 ประชากรเพิ่มเป็น 8.3 ล้านคน และในปี 1901 เพิ่มขึ้นเป็น 30.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 50 ปี

เหตุปัจจัยที่ทำให้ประชากรในยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่เสนอขึ้นมีหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การมีปริมาณเงินมากขึ้น ทั้งจากอาณานิคมและการผลิตที่มากขึ้น ทำให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ผู้คนจึงแต่งงานกันมากและเร็วขึ้น การเกษตรที่เป็นแบบอุตสาหกรรมมากขึ้นสามารถสนองอาหารได้ดีขึ้น ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง ความรู้เรื่องเชื้อโรคและการสุขาภิบาลที่ดีขึ้น ไปจนถึงการคิดค้นวัคซีน เป็นต้น ทั้งหมดทำให้อัตราการตายของเด็กลดลง อายุคาดหมายเฉลี่ยสูงขึ้น ขณะที่อัตราเกิดเพิ่มขึ้น


ในด้านการอพยพ พบว่าในระหว่างศตวรรษที่ 17 ถึง 19 มีการอพยพครั้งใหญ่ของมนุษย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การอพยพนั้นมีอยู่ 3 แบบ ได้แก่
ก) การอพยพจากชนบทสู่เมือง
ข) การอพยพภายในประเทศหรือภายในยุโรป เช่น ชาวไอริชอพยพไปอังกฤษ ชาวเยอรมันอพยพไปหางานทำที่เมืองอุตสาหกรรมอังกฤษ
ค) การอพยพข้ามทวีป ที่สำคัญไปยังทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นเหมือนทวีปของผู้อพยพ โดยปี 1840 มีเรือกลไฟข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก นอกจากนี้ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย ประมาณว่ามีชาวยุโรปราว 50 ล้านคนอพยพไปตั้งถิ่นฐานนอกทวีปยุโรป (ดู History of International Migration ใน leidenuniv.nl, 2008)

การอพยพดังกล่าวก่อให้เกิดผลสำคัญได้แก่ การเกิดยุคของเมือง



ยุคของเมือง

เมืองที่มีประชากรหนาแน่น ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพในยุโรปช่วงระหว่างปี 1815-1914 จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นยุคของเมือง ก่อนหน้านั้นระหว่าง 1750-1815 ชาวยุโรปเพียงร้อยละ 7 อยู่ในเมือง

ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งเมืองและชนบทต่างเฟื่องฟูด้วยเครื่องจักรกลใหม่และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ในที่สุดเศรษฐกิจเมืองก็เอาชนะเศรษฐกิจชนบทได้เด็ดขาด

เมืองต้องการคนงานเป็นจำนวนมากทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม คนงานก่อสร้าง คนขายของและลูกจ้างในบ้านและงานบริการต่างๆ เกิดการอพยพประชากรจากชนบทสู่เมือง โดยในช่วงแรกเป็นการเข้ามาหางานทำและเป็นการชั่วคราว ต่อมาเป็นการถาวร

การอพยพเข้ามาเหล่านี้ทำให้เมืองรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดเมืองเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวัฒนธรรม เป็นแหล่งสร้างนวัตกรรม

เมืองได้เติบใหญ่อีกระลอกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในปี 1950 ประชากรน้อยกว่า 1 ใน 3 อยู่ในเมือง แต่เมื่อถึงปี 2007 พบว่าประชากรส่วนใหญ่ในโลกอาศัยอยู่ในเมือง ทุกวันนี้แต่ละวันมีประชากรเมืองเพิ่มขึ้น 180,000 คน สำหรับในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ มีประชากรเมืองถึงร้อยละ 82


ความเจริญและความเสื่อมของเมือง

มีนักทฤษฎีฟิสิกส์บางคน ได้แก่ Geoffrey West ได้พยายามศึกษากฎของเมืองจากข้อมูลทางกายภาพ เช่น ประชากร โครงสร้างพื้นฐาน สายไฟฟ้า จำนวนผู้จบหาวิทยาลัย ปั๊มน้ำมัน และรายได้ ซึ่งได้พบกฎหรือความสัมพันธ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้เฉลี่ยในที่นั้นกับขนาดของระบบท่อระบายน้ำ (สามารถทำนายได้ถูกต้องถึงร้อยละ 85) เขาพบว่าเมืองใหญ่ทั้งมีการแผ่ตัวออกไป และมีพฤติกรรมคล้ายสิ่งมีชีวิต เช่น ถนนใหญ่เหมือนเส้นเลือดใหญ่ ตรอกซอยเหมือนเส้นเลือดฝอย

เมืองมีข้อดี ได้แก่ มีประสิทธิภาพและประหยัดเช่นเมื่อเมืองขยายขึ้นเท่าตัว จะใช้ทรัพยากรเช่นปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 85 ขณะที่รายได้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ต่อหัว เมืองยังมีความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นศูนย์กลางของความยั่งยืน เมืองสนับสนุนปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ได้งาน ได้เพื่อน ซึ่งถือว่าเป็นพลวัตของเมือง

แต่ในท่ามกลางความเจริญก็ปรากฏความเสื่อม เช่น เมื่อเมืองขยายตัวขึ้นเท่าตัว จะพบว่าอัตราอาชญากรรมรุนแรง การจราจรติดขัดและกรณีโรคเอดส์ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และเมืองที่ใหญ่ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับสิ่งมีชีวิต ขนาดของสัตว์เช่นช้างถูกจำกัดด้วยทั้งน้ำหนักตัว ความต้องการอาหารและอาหารที่หาได้

เวสต์ชี้ว่า คนในขณะพักผ่อนใช้พลังงานราว 90 วัตต์ ถ้าหากเป็นพราน-เก็บของป่าในลุ่มน้ำอะเมซอนจะใช้ราว 250 วัตต์ เพื่อดำเนินชีวิต แต่ผู้คนในเมืองสมัยใหม่ต้องใช้พลังงานถึง 11,000 วัตต์ เพื่อใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น แม้แต่ปลาวาฬสีน้ำเงินใช้พลังงานน้อยกว่านี้มาก เราไม่สามารถเลี้ยงดูปลาวาฬสีน้ำเงิน 7 พันล้านตัวบนโลกนี้ได้

ในที่สุดทรัพยากรก็จะต้องหมดไป แล้วการเติบโตก็จะชะลอตัวลง ระบบจะล่มสลายในที่สุด (ดูบทความของ Jonah Lehrer ชื่อ A Physicist Solves the City ใน nytimes.com 171210)



.