http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-10

อุทกภัย-นอกฤดูกาล เรื่องธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา

อุทกภัย-นอกฤดูกาล เรื่องธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา
คอลัมน์ เทศมองไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1599 หน้า 102



มีสื่อต่างชาติอย่างน้อย 2 สำนัก ที่หยิบเอาเรื่อง อุทกภัย-แผ่นดินถล่มในหลายจังหวัดภาคใต้ของไทยมานำเสนอ ในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป

หนึ่งนั้นนำเสนอในเชิงเปรียบเทียบระหว่างการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์จากภัยธรรมชาติที่คาดไม่ถึงของ 2 ประเทศ อีกหนึ่งนั้น เป็นการนำเสนอทั่วๆ ไป ที่ดูเหมือนดาด-ดาด ธรรมดา

กระนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงความ "ไม่ธรรมดา" ของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

"เทต อ่อง" แห่ง "อิรวดี" นิตยสารการเมืองในพม่าที่มีสำนักงานอยู่ที่เชียงใหม่ ดังนั้น เขาจึงสามารถเขียนบทวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบโดยหยิบเอาสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟัง ได้เห็นประจักษ์กับตาระหว่าง การดำเนินการของทางการพม่าต่อประชาชนที่เดือดร้อนจากเหตุแผ่นดินไหวที่รัฐฉานเมื่อ 24 มีนาคม กับสิ่งที่รัฐบาลไทยทำลงไปในสถานการณ์วินาศภัยที่ไม่มีใครคาดคิดทางภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้นไล่หลังตามมาเพียง 1 วัน

ข้อเขียนของเขาเผยแพร่ออกมาเมื่อ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่นานก่อนหน้าข้อเขียนของ "เซธ มายแดนส์" แห่ง "นิวยอร์ก ไทม์ส" ในเรื่องเดียวกันนี้

ในข้อเขียนของ "เทต อ่อง" นั้น ผมว่า ใครก็ตามที่ซึมซับเอา "พฤติกรรม" ของทางการพม่าเมื่อครั้งที่ไซโคลนนาร์กีสถล่มพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิรวดี เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาอยู่ในความคิด คงคาดเดาไม่ยากนักว่า ทิศทางของข้อเขียนของเขาจะออกมาอย่างไร

แต่แง่มุมในการเปรียบเทียบของเขาน่าสนใจอย่างยิ่งครับ



เขาชี้เอาไว้ว่า ผลต่างระหว่างสังคม "ประชาธิปไตย" กับสังคม "อำนาจนิยม" นั้นก่อให้เกิดการกระทำที่แตกต่างกันอย่างเหลือเชื่อเหลือหลาย "และบทเรียนเหล่านี้สามารถนำไปใช้เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสองระบอบที่ว่านี้ในแง่ของการปฏิบัติต่อพลเมืองของตนเองอย่างไรได้ในวันข้างหน้า"

เขาชี้ว่า ในขณะที่รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน "เท่าที่มีอยู่ลำเดียว" ของประเทศ รวมถึงฟรีเกตอีก 2 ลำ และเรือลาดตระเวนอีกจำนวนหนึ่งไปเพื่อช่วยเหลือคนไทยและชาวต่างชาติที่ "ติดเกาะ" เพราะเล็งเห็นในความจำเป็นที่ว่า "เรือ" ระดับนั้นเป็นหนทางลำเลียงช่วยเหลือผู้คนเพียงทางเดียวที่เป็นไปได้นั้น

วิดีโอที่อิรวดีบันทึกเอาไว้ได้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม แสดงให้เห็นว่าศพของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุแผ่นดินไหวชาวพม่าได้รับการปฏิบัติต่อเยี่ยง "ซากสัตว์" อย่างน่าเศร้าเพียงใด หลายศพถูกโยนใส่รถบรรทุกเล็กซึ่ง "โรงฆ่าสัตว์" แห่งหนึ่งในทาร์เลย์เป็นเจ้าของและใช้ในการขน "หมูชำแหละ" ออกสู่ตลาดเท่านั้น

เขาเปรียบเปรยให้เห็นว่า ในขณะที่ทางการไทยประกาศอย่าง "โปร่งใส" ว่า ได้กันเงิน 20 ล้านบาทไว้สำหรับเป็นเงินช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน เบื้องต้นนั้น บรรดานายพลพม่าพากันพาเหรดเยือนพื้นที่ประสบภัยเพียงเพื่อให้ได้มีโอกาสได้ "ตกเป็นข่าว" ในหน้าสื่อของรัฐ ในเวลาเดียวกันก็ "ปิดกั้น" ไม่ให้สื่ออิสระทั้งที่เป็นพม่าและสื่อระหว่างประเทศ ไม่ให้เข้าไปเห็น "ข้อเท็จจริงเป็นประจักษ์" ในที่เกิดเหตุ

สำหรับชาวพม่า อย่าว่าแต่ครอบครัวของเหยื่อทั้งที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย และนอกพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศ ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าญาติพี่น้องและผู้คนอันเป็นที่รักของตนเอง "เป็นหรือตาย" ในเหตุการณ์ดังกล่าวเท่านั้น แม้แต่จำนวนผู้เสียชีวิตก็ไม่มีการ "ปรับปรุงเพิ่มเติม" ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

"เทต อ่อง" บอกว่า ผู้สื่อข่าวของ "อิรวดี" ได้แต่ประเมินยอดคนตายจาก "ยอดขายหีบศพ" ของ "ร้านขายโลง" ร้านเดียวที่มีอยู่ในละแวกทาร์เลย์และท่าขี้เหล็กนั้นเท่านั้นเ!

ผมหยิบเรื่องนี้มานำเสนอ ไม่ได้คิดว่านี่จะเป็นคำชมเชยทางการไทย สำหรับผมแล้ว นี่เป็นคำบอกเล่าที่แสดงถึง โศกนาฏกรรมชวนสลดใจอย่างยิ่งของชาวพม่ามากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด

จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยยังทำได้แค่ "เสมอตัว" สำหรับมาตรฐานสากลในการกู้ภัยและบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน ทางการไทยยังต้องพยายามอีกมากและมีงานให้ทำอีกยาวนานเพื่อพิสูจน์ความเป็น "รัฐบาลที่ตอบสนองต่อประชาชน" ที่แท้จริง



กลับมาที่ข้อเขียน "ธรรมดา" ของมายแดนส์ในนิวยอร์ก ไทม์ส เมื่อ 31 มีนาคม ความในย่อหน้าหนึ่งสะดุดใจผมอย่างจัง

"แม้ภาวะอากาศแปรปรวนรุนแรงที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องนอกฤดูกาล แต่น้ำท่วมและความแห้งแล้งไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใดในเมืองไทย ปลายปีที่แล้วเกิดภาวะน้ำท่วมหนักแทบทั่วประเทศส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 220 ศพ สร้างความเสียหายและความทุกข์ยากให้กับชีวิตของประชาชนราวๆ 8.6 ล้านคนใน 51 จังหวัดจากทั้งหมด 76 จังหวัดทั่วประเทศ"

นี่เราทำให้น้ำท่วมกับความแห้งแล้งกลายเป็นเรื่อง "ปกติธรรมดา" สำหรับคนต่างชาติไปแล้วหรืออย่างไร?

ถ้าคำตอบคือ "เป็นเรื่องของธรรมชาติ" แล้วละก็ คำถามที่ตามมาก็คือ เราจะงอมืองอเท้าปล่อยให้คนตายไปกับธรรมชาติทุกๆ ปี โดยไม่ทำอะไร ไม่ริเริ่มอะไร ที่มันเป็นการสร้าง "ความหวังระยะยาว" กันบ้างเลยหรืออย่างไร?

ใครไม่หงุดหงิดคับข้องใจกับคำถามเหล่านี้บ้างผมไม่รู้ แต่ผมคับข้องใจครับ!

.