http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-28

2554-2556 จุดเปลี่ยนของยุคที่ 3 สงครามหรือสันติภาพ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
2554-2556 จุดเปลี่ยนของยุคที่ 3 สงครามหรือสันติภาพ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเขียว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1601 หน้า 20



2554 ครบรอบ 100 ปีของกบฏ ร.ศ.130

2555 ครบรอบ 80 ปีของปฏิวัติ 2475

2556 ครบรอบ 40 ปีของการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516


ความขัดแย้งและการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเป็นวิวัฒนาการตามปกติของสังคมมนุษย์ซึ่งเป็นไปตามสัจธรรมที่สรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นอนิจจัง ไม่หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คู่ขัดแย้งในโลก ทั้งผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง ผู้กดขี่ และผู้ถูกกดขี่ ต่างก็มีบทบาทที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นการสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคม เป็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองการปกครองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ชีวิตและการทำมาหากิน การแบ่งผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม

ถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองยุคใหม่ของประเทศไทย จะพบว่าการต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว 2 ยุคสมัย ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง หรือทางความคิด และยุคที่ 3 ที่กำลังต่อสู้อยู่ก็น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นในเร็วๆ นี้ แม้ว่าแต่ละยุคใช้ช่วงเวลาการต่อสู้ที่ยาวนาน แต่ถ้าย้อนดูการปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ.1789 ก็ยังต้องใช้เวลากว่า 80 ปี จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ใช้ได้จริงโดยไม่ต้องฆ่ากัน



ยุคที่ 1 การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


พระมหากษัตริย์ ซึ่งเล็งเห็นถึงภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกและความจำเป็นในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ จึงต้องการปรับปรุงระบบการปกครอง ระบบการศึกษา เชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ได้ถูกส่งไปศึกษาในประเทศยุโรป และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับอิทธิพลที่ก้าวหน้าและได้ส่งผลสะท้อนกลับมายังประเทศสยาม

ค.ศ.1868 จักรพรรดิเมจิแห่งญี่ปุ่นมีพระชนมายุเพียง 16 ปี ได้รับอำนาจคืนจากโชกุนโยชิโนบุ ซึ่งทนแรงกดดันของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาไม่ไหว ต้องยอมตัดสินใจยกเลิกระบบโชกุนซึ่งบริหารประเทศมายาวนานถึง 700 ปี เพื่อลดความขัดแย้งของกลุ่มซามูไรและยอมอ่อนข้อให้กับอเมริกา จากนั้นก็พัฒนาประเทศตามแนวทางประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่เรียกว่า การฟื้นฟูครั้งใหญ่สมัยเมจิ ทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ในปีเดียวกันนั้น รัชกาลที่ 5 ของประเทศสยามก็ได้ขึ้นครองราชย์ด้วยอายุเพียง 15 ชันษา แต่อำนาจบริหารยังตกอยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คือ สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ต่อมา ร.5 ก็ช่วงชิงอำนาจบริหารได้ หลังจากทรงบรรลุนิติภาวะมาได้ระยะหนึ่ง มีการปรับปรุงระบบบริหารโดยการตั้งสภารัฐมนตรี (Council of State) และองคมนตรีสภา (Privy Council) ในปี พ.ศ.2417 สำหรับเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ปรึกษาราชการในพระองค์ และช่วยวินิจฉัยฎีกาต่างๆ แต่อำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นปฏิรูป

ลอนดอน พ.ศ.2427 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิรูป ร.ศ.103

พระเจ้าน้องยาเธอและข้าราชการสถานทูตได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลเพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเพื่อตั้งรับการรุกรานของมหาอำนาจอย่างรวดเร็วโดยได้ส่งหนังสือลงวันที่ 8 มกราคม 2428 และร่วมลงนามในหนังสือรวม 11 ท่าน เช่น

1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระราชโอรสลำดับที่ 17 ของ ร.4

2. พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พระราชโอรสลำดับที่ 61 ของ ร.4

3. พระองค์เจ้าสวัสดิ์โสภณ พระราชโอรสลำดับที่ 15 ของ ร.4

4. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระราชโอรส ร.3 เป็นราชทูตไทยประจำลอนดอน และข้าราชการประจำสถานทูตอีก 7 ท่าน

เนื้อหาในหนังสือกราบบังคมทูลคือ ภัยอันตรายจากลัทธิล่าเมืองขึ้นจะมาถึงกรุงสยามแล้ว การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตรายต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทำนุบำรุงบ้านเมืองตามที่ญี่ปุ่นได้ทำมาแล้วอย่างรวดเร็ว

จะเห็นว่าผู้ที่กล้าคิดเปลี่ยนแปลงอาจเรียกได้ว่าเป็นปัญญาชนซึ่งเป็นคนชั้นสูงเท่านั้นแต่การเปลี่ยนแปลงของประเทศสยามไม่ทันกับการรุกรานของมหาอำนาจ แม้จะรักษาเอกราชไว้ได้ ก็ยังต้องเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศสหลายครั้ง

คือในปี 2431 หลังจากปราบกบฏฮ่อ กลับต้องเสียแคว้น สิบสองจุไทยให้กับฝรั่งเศส และในปี 2436 ก็เกิดเหตุการณ์ ร.ศ.112 ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาขู่ถึงกรุงเทพ ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเสียเงินค่าปรับให้กับฝรั่งเศส

ในปี พ.ศ.2446 ต้องเสียเมืองจำปาศักดิ์และดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงเพื่อแลกกับการให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรี

ในปี พ.ศ.2449 ต้องเสียเมืองเสียมราฐและพระตะบองเพื่อแลกกับการที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากตราดและสิทธิทางศาล

ปี พ.ศ.2451 ต้องยก ปะลิศ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ให้กับอังกฤษเพื่อแลกกับสิทธิทางศาลเพื่อให้คนในบังคับอังกฤษต้องมาขึ้นศาลไทยและขอกู้เงินมาสร้างทางรถไฟสายใต้เชื่อมกับมลายู

ในปี พ.ศ.2454 ได้เกิดกบฏ ร.ศ.130 ขึ้นโดยคณะนายทหารหนุ่มซึ่งนำโดย ร้อยเอกเหล็ง ศรีจันทร์ ซึ่งมีจุดประสงค์ต้องการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศเจริญก้าวหน้า โดยหวังว่าถ้าปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแล้วประเทศจะเจริญก้าวหน้าแบบญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นได้เห็นตัวอย่างการปฏิวัติของ ดร.ซุนยัดเซนในจีน แต่การเตรียมการปฏิวัติครั้งนั้นก็ล้มเหลว ผู้ร่วมก่อการทั้ง 91 คนถูกจับ


ปารีส พ.ศ.2469 การเคลื่อนไหวของคณะราษฎร

คณะราษฎรได้จัดประชุมครั้งแรกที่หอพัก Rue De Somerard ผู้ร่วมประชุมคือ

1. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี

2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ

3. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี

4. นายตั้ว ลพานุกรม

5. หลวงสิริราชมนตรี

6. นายแนบ พหลโยธิน

7. นายปรีดี พนมยงค์

การประชุมใช้เวลา 5 วัน และลงมติให้ นายปรีดีเป็นประธานและหัวหน้าคณะราษฎร

จากเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม ร.ศ.103 ที่ลอนดอน จนถึงการประชุมที่ปารีสของคณะราษฎร เว้นระยะห่างกันถึง 42 ปี หลัง

จากนั้น 6 ปี กลุ่มคณะราษฏรก็ได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยจึงได้ใช้ระบอบการปกครองใหม่คือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีคนเข้าร่วมจำนวนน้อย และส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการชั้นสูง ความคิดปฏิวัติยังไม่ได้กระจายลงไปสู่คนชั้นกลางและชั้นล่างเลย



ยุคที่ 2 การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยม ศักดินาทหารและนักการเมือง


หลังการปฏิวัติ 2475 ปีปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างมากมาย ในเวลาไม่ถึง 1 ปี คณะรัฐมนตรีก็ประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ และบีบบังคับให้นายปรีดีเดินทางออกนอกประเทศแต่พระยาพหลฯ ได้ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและเชิญนายปรีดีกลับมา

ในเดือนตุลาคม 2476 ก็เกิดกบฏบวรเดชแต่ถูกปราบจนพ่ายแพ้ไป

ปี พ.ศ.2477 รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์แทน

พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นยกพลบุกประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2

มิถุนายน 2489 พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต นายปรีดีได้เสนอต่อสภาให้สมเด็จพระอนุชาขึ้นครองราชย์สืบต่อไป

พ.ศ.2490 เกิดการรัฐประหารโดย พลโทผิณ ชุณหะวัณ นายปรีดีต้องหนีไปต่างประเทศ จอมพล ป. กลับมามีอำนาจอีกครั้ง

จนถึง พ.ศ.2500 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกล่าวกันว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด และเป็นข้ออ้างที่ทำให้จอมพลสฤษดิ์ นำทหารมายึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน ภายใต้การสนับสนุนของอเมริกา จอมพล ป. หนีไปต่างประเทศ จากนั้นประเทศไทยก็เข้าสู่ระบอบเผด็จการ

จอมพลสฤษดิ์ได้เสียชีวิตลงในปี 2506 จอมพลถนอมก็ปกครองต่อด้วยระบอบเผด็จการจนถึงปี พ.ศ.2516 จึงเกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาปัญญาชน มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ และเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้จอมพลถนอมต้องหนีออกไปต่างประเทศ

การต่อสู้ในยุคที่ 2 สิ้นสุดลงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถ้านับจากปี 2475 ก็ใช้เวลาถึง 41 ปี

สิ่งที่พัฒนาขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา คือการตื่นตัวของคนชั้นกลาง นักศึกษาปัญญาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง กระแสประชาธิปไตยพุ่งขึ้นสูงในขณะที่แนวคิดสังคมนิยมก็พุงขึ้นสูงด้วยเช่นกัน




ยุคที่ 3 การต่อสู้เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เป็นจริง


ในปีแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีผู้เปรียบเทียบว่าเหมือนท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องเป็นใหญ่แล้ว แต่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาปัญญาชน กลับถูกต่อต้านและจบลงอย่างรวดเร็วโดยการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 โดยทหาร กลุ่มขวาจัดและอเมริกา

มีการสังหารหมู่กลางกรุงเทพฯ อย่างโหดร้ายทารุณ ทำให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

นี่เป็นการเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ที่สำคัญเพราะไม่ต้องการใช้แนวทางรัฐสภา แต่จะใช้อาวุธเพื่อยึดอำนาจรัฐเพื่อตอบโต้กับอำนาจรัฐเผด็จการทหารที่ใช้อาวุธปราบประชาชน เป็นการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน มีสงครามย่อยๆ เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศ

ตรงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ถ้า พคท. ชนะ ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนรูปโฉมไปอีกแบบหนึ่ง

แต่ในความเป็นจริง หลังจากต่อสู้ด้วยอาวุธมา 6 ปี สงครามก็สงบลง เนื่องจากปัญหาภายในของ พทค. นโยบายของรัฐ และปัญหาความขัดแย้งของค่ายคอมมิวนิสต์ในทางสากล สงครามสงบลงปี 2525 มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก

แต่ปี 2522 การพัฒนาประชาธิปไตยในแนวทางรัฐสภาก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งแม้มีอำนาจเผด็จการครอบคลุมอยู่ค่อนข้างสูง นายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เปิดให้มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา จากนั้นอำนาจก็เปลี่ยนมือไปสู่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เราเรียกว่าเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบซึ่งกินเวลาประมาณ 10 ปี

การพัฒนาประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เริ่มขึ้นในยุคพลเอกชาติชายเป็นนายกฯ แต่ก็ถูกรัฐประหารโดยคณะ รสช. ในปี 2534 แต่ รสช. ก็ถูกประชาชนโค่นลงในปี 2535 ที่เรียกว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

จากนั้น ประชาธิปไตยก็พัฒนาต่อเนื่อง ประชาชนสามารถมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนธรรมดาและมาจากการเลือกตั้ง เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เช่น คุณชวน หลีกภัย จาก ปชป. คุณบรรหาร ศิลปอาชา จาก ชาติไทย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จากพรรคความหวังใหม่ มีการยุบสภา มีการลาออก มีการเลือกตั้งตามกติกา และในปี พ.ศ.2544 ก็มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งแรก ประชาชนเลือกคุณทักษิณเป็นนายกฯ ถึง 2 สมัยซ้อน

แต่ก็มีการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดถูกฉีกทิ้ง ความคาดหวังว่าจะพัฒนาประชาธิปไตยต่อเนื่องได้สะดุดลงและผลจากตุลาการภิวัตน์ในปี 2551 ทำให้เห็นว่ามีการแทรกแซงที่น่ากลัวกว่าการใช้อาวุธ

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือการลุกขึ้นสู้ของคนชั้นล่างซึ่งไม่เคยมีมาก่อน กลุ่มคนเสื้อแดงขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวในปี 2553 แสดงถึงความพร้อมที่จะเข้าต่อสู้แม้จะต้องใช้ชีวิตเข้าแลกก็ตาม



การครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาคม 80 ปี การปฏิวัติ 2475, 100 ปี กบฏ ร.ศ.130 ถ้านำมาศึกษาแล้วจะพบว่า การเข้าร่วมของคนจะมีผลต่อการวิวัฒนาการทางสังคมจากปี 2427 ถึงปี 2516 ระยะเวลาร่วม 90 ปี ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองจากคนชั้นสูงเพียงหยิบมือเดียวกลายมาเป็นปัญญาชนจำนวนมาก และพอถึงในปี 2535 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เราได้เห็นพลังของชนชั้นกลางที่เข้าร่วมต่อต้านอำนาจเผด็จการ ในการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคมปี 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงได้บอกให้เรารู้ว่า คนชั้นล่างได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มตัวแล้ว แม้จะมาช้าหน่อย (126 ปี) แต่มาช้าแล้วทำให้ทุกอย่างจบลงอย่างเรียบร้อยก็ถือว่าดี


การเลือกตั้งปี 2554 และสถานการณ์การเมืองในช่วงหลังจากนั้นจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

1. ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ถูกขยายอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะกลุ่มผู้กุมอำนาจได้ขยายความขัดแย้งกับทักษิณให้กลายเป็นความขัดแย้งกับแนวร่วมประชาชนทั้งประเทศ

2. ปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเมินว่าในช่วงปีสองปีนี้จะเกิดปัญหาเนื่องจากการใช้จ่ายเกินขนาดเพื่อสร้างคะแนนเสียงของรัฐบาล เพื่อเอาใจทหาร พรรคร่วมและประชาชน การแข็งค่าของเงินบาท การรุกเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ซึ่งทำให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กล้มละลายอย่างรวดเร็ว ราคาน้ำมันจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ปัญหาใหญ่อีกปัญหา คือการคอร์รัปชั่น ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง

3. การปรับเปลี่ยนและรับรู้เพื่อพัฒนาความคิดของประชาชนรวดเร็วขึ้น กว้างขวางขึ้น จากเทคโนโลยีในยุคที่ 2 หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต จานดาวเทียม คอมพิวเตอร์ ทำให้ประชาชนทั้งประเทศ ได้รู้ข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่มีใครผูกขาดและปิดบังข่าวสารได้ ผู้คนมีความอยากได้สิ่งที่เห็นในจอ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ความงาม เสรีภาพ ความยุติธรรม คนกล้าคิดกล้าแสดงออก กล้าต่อสู้มากขึ้น พลังส่วนนี้ปิดกั้นไม่ได้แล้ว



การต่อสู้ทางการเมืองครั้งต่อไปจะไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ อีกแล้ว ใครจะคิดทำอะไร ขอให้คิดให้ดี ให้รอบคอบ ไม่ว่าจะใช้แนวทางไหน ก็จะมีคนร่วมเป็นล้านๆ คนทั้งสิ้น ถ้าหย่อนบัตรเลือกตั้งก็ง่ายหน่อย หาเสียง 2 เดือน นับคะแนนไม่เกิน 3 วัน อีกเดือนเดียวก็ตั้งรัฐบาลได้ แต่ถ้าจะใช้อำนาจช่วงชิงกัน การต่อสู้อาจจะไม่สิ้นสุดเพียง 2-3 เดือน เวลาเกิดเรื่องร้ายขึ้นมาแล้ว จะเหมือนไฟไหม้ป่าในหน้าแล้ง เหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 จะเป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง วันนี้ผู้มีอำนาจ หัวหน้าพรรค หัวหน้ากลุ่มต้องใจเย็นๆ

กรรมการต้องตั้งหลักให้มั่น ความยุติธรรม คือยาที่ดีที่สุดในการรักษาความสงบ และสันติ

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจะพาประเทศเข้าสู่สงครามหรือสันติภาพคงจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้

.