http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-03

กดดัน...คว่ำบาตร...ยึดอำนาจฯลฯ คงใช้ไม่ได้ในปี 54 โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
กดดัน...คว่ำบาตร...ยึดอำนาจ...ปกครอง แผนปี "49 คง ใช้ไม่ได้ในปี "54
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเขียว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1598 หน้า 20


ตั้งแต่ 25 มกราคม 2554 ถึงวันนี้กลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองยังคงชุมนุมกันอยู่ที่สะพานมัฆวานฯ พวกเขาไม่เคยใช้แผนลับ...ลวง...พราง แต่เปิดเผยมาตลอดว่าต้องการให้ยึดอำนาจ เว้นวรรคระบอบประชาธิปไตย 3-5 ปี กวาดล้างพวกที่เขาคิดว่าเป็นคนเลว แต่ก็พูดไม่ชัดว่า จะเอาคนดีที่ไหนมาปกครอง และจะมีที่มาอย่างไร

ในขณะที่นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำหนดยุบสภา ในต้นเดือนพฤษภาคม แต่พวกเขาไม่สนใจการเลือกตั้งใหม่ ทั้งยังเสนอให้คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนออกมากาช่อง NO VOTE

เส้นทางเดินและแผนของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้แตกต่างจาก 5 ปีก่อน แผนเก่า คนแสดงบางกลุ่มก็เป็นคนเก่า แต่บางกลุ่มก็ไม่กลับมาร่วมแสดงด้วยอีกแล้ว

แผนนี้จะเป็นอย่างไร จะสำเร็จแบบในอดีตหรือไม่ เรามาวิเคราะห์กัน

แผนเก่าเป็นแผนบันได 3 ขั้น คือ กดดัน คว่ำบาตร ยึดอำนาจ ส่วนเป้าหมายคือให้กลุ่มพวกเขาขึ้นมาปกครองประเทศ ในอดีตแผนนี้ ได้รับความสำเร็จ เพราะมีการสนับสนุนจากอำนาจนอกระบบ และกลุ่มทุนบางกลุ่ม



แผนบันได 3 ขั้น ภาค 1 ปี 2549

การกดดันรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นเมื่อ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เริ่มจัดรายการ เมืองไทย รายสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2548 ช่วงนั้นนายกฯ ทักษิณชนะเลือกตั้งด้วยเสียงท่วมท้น 377 คน จาก 500 วันที่ 13 มกราคม 2549 ผู้ชุมนุมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เคลื่อนขบวนจากสวนลุมพินีมาล้อมทำเนียบ 4-5 กุมภาพันธ์ 2549 กลุ่มนี้ได้ชุมนุมอีกครั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมยื่นหนังสือให้ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เพื่อเรียกร้องให้ทหารมาอยู่ข้างประชาชน

10 กุมภาพันธ์ 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดตัวเป็นครั้งแรกและชุมนุมที่สนามหลวงในวันรุ่งขึ้น ถึงตรงนี้คนส่วนใหญ่ก็รู้แล้วว่าแรงสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ มาจากไหน มีใครบ้าง

มิตรบางคนของนายกฯ ทักษิณเริ่มตีตัวออกห่าง เพราะรู้แล้วว่าสู้กับใคร

14 มีนาคม กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมใหญ่และเคลื่อนไปปิดล้อมทำเนียบ กดดันรัฐบาลด้วยการส่งม็อบดาวกระจายไปที่สำนักงาน กกต. และย่านธุรกิจสีลม

สุดท้ายถึงวันที่ 29 มีนาคม ก็ไปชุมนุมที่หน้าสยามพารากอน และราชประสงค์ ก่อนจะพักการชุมนุม



การคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

24 กุมภาพันธ์ นายกฯ ทักษิณประกาศยุบสภา กกต. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่คือ 2 เมษายน 2551 แต่ฝ่ายตรงข้ามได้เดินแต้มการเมืองเหนือความคาดหมายด้วยการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งคนลงสมัครการแข่งขัน นำโดยพรรค ปชป. ตามด้วยพรรคชาติไทย และ มหาชน ทั้ง 3 พรรคแพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยินในการเลือกตั้งปี 2548 พวกเขาประสานเสียงกับกลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องให้ประชาชนออกไปกาช่อง NO VOTE

แม้ผลการเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยจะชนะ ได้คะแนนถึง 16.2 ล้าน แต่ก็มีคนกา NO VOTE ถึง 8.4 ล้าน

ต่อมา ศาลได้ตัดสินให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากการจัดคูหาการเลือกตั้งของ กกต. ไม่ถูกต้อง

กกต. กำหนดการเลือกตั้งใหม่กลางเดือนตุลาคม



ยึดอำนาจ

หลังเลือกตั้งกลุ่มพันธมิตรฯ ยังจัดชุมนุมกดดันให้นายกฯ ทักษิณลาออก และเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ วันที่ 9 กันยายน นายกฯ ทักษิณเดินทางไปต่างประเทศและเข้าร่วมประชุมที่สหประชาชาติ กลุ่มพันธมิตรฯ นัดชุมนุมใหญ่วันที่ 20 กันยายน

แต่วันที่ 19 กันยายน 2549 พลเอกสนธิก็นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองในนามของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)"

แผนบันได 3 ขั้นภาค 1 จบลงตรงนี้ ปฏิบัติการ กดดัน คว่ำบาตร และยึดอำนาจ โดยเสื้อเขียวสำเร็จอย่างง่ายดาย ต่อไปก็เป็นเรื่องของการปกครอง ผู้ที่ถูกคัดเลือกขึ้นมาเป็นนายกฯ ชั่วคราวคือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรี เพราะทุกฝ่ายคิดว่าไว้ใจได้มากที่สุดแล้ว จากนั้น ค่อยหานายกฯ ตัวจริงมาปกครองต่อไป

จบภาค 1



วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนบันได 3 ขั้นปี 2554

จากสถานการณ์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มชุมนุมจนถึงวันนี้ พออ่านได้ว่า พวกเขาใช้แผนเดิมคือ กดดัน คว่ำบาตร และหวังว่าจะมีการยึดอำนาจในตอนสุดท้าย

ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์ว่า องค์ประกอบและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้แผนการนี้ไม่มีทางสำเร็จ ปัจจัยที่สำคัญก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นกำลังหลักในการเคลื่อนไหวคราวที่แล้ว กลายมาเป็นเป้าหมายที่พันธมิตรฯ โจมตี ดังนั้น ไม่เพียงไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ ยังจะต้องต่อสู้กันอีกด้วย สังเกตจำนวนผู้ชุมนุมก็รู้แล้วว่า เมื่อประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมก็มีผู้ชุมนุมไม่มากนัก

การสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล ด้วยการชุมนุมไม่ได้รับการตอบสนองจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอื่นๆ มีผู้ชุมนุมโดยเฉลี่ยเป็นหลักร้อยเท่านั้นแม้แกนนำจะบอกว่าจำนวนไม่สำคัญ แต่ในสายตาคนทั่วไปนั่นคือการชุมนุมที่ไร้พลัง

ส่วนการกดดันต่อกลุ่มทหารก็จะเห็นปฏิกิริยาของ ผบ.ทบ. ที่ประกาศว่าช่วงเวลานี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการใช้กำลัง แม้มีข่าวว่ามีการกดดัน กกต. เพื่อหวังผลให้ลาออก แต่ก็ดูแล้วไม่น่าจะทำได้

ประเมินว่าการกดดันของกลุ่มพันธมิตรฯ ครั้งนี้ไม่มีน้ำหนักเท่าไหร่ แต่การชุมนุมและเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงกลับมีแรงกดดันรัฐบาลมากกว่า ขณะเดียวกัน ก็ส่งแรงกดดันไปต่อต้านการรัฐประหารด้วย

การคว่ำบาตรการเลือกตั้ง กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องให้ประชาชนออกมาลงเสียง No Vote ซึ่งดูแล้วคงไม่ได้ผลเหมือนปี 2549 ซึ่งมีคนออกเสียง No Vote ถึง 8.4 ล้าน คาดว่าการเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ ครั้งนี้จะได้ไม่ถึง 100,000 คะแนน เพราะผู้เขียนได้วิเคราะห์จากคะแนนพรรค หรือที่เรียกว่าปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งประเทศไทยเพิ่งนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2544 ดังนี้

การเลือกตั้งปี 2544 หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ยุบสภา พรรคไทยรักไทยได้คะแนน 11.6 ล้าน พรรค ปชป. ได้ 7.6 ล้าน พรรคชาติไทยได้ 1.2 ล้าน

การเลือกตั้ง พ.ศ.2548 หลังจากนายกฯ ทักษิณบริหารงานมา 4 ปี พรรคไทยรักไทยได้คะแนน 19 ล้าน ปชป. ได้ 7.2 ล้าน ชาติไทยได้ 2 ล้าน

การเลือกตั้งปี 2549 พรรค ปชป. พรรคชาติไทย พรรคมหาชนคว่ำบาตรการเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยได้คะแนน 16.2 ล้าน คะแนน No Vote มีถึง 8.4 ล้าน

ปี 2550 มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้อิทธิพลของ คมช. พรรคพลังประชาชนได้คะแนน 12.3 ล้าน ปชป. ได้ 12.1 ล้าน คะแนน No Vote มีประมาณ 930,000 คะแนน



วิเคราะห์จากคะแนน
ของการเลือกตั้ง 4 ครั้ง
เรารู้อะไรบ้าง

1. ฐานคะแนนของพรรคไทยรักไทยซึ่งปัจจุบันคือพรรคเพื่อไทยในวันที่พรรคตกต่ำถูกรุมเหยียบจากทุกทิศทุกทางยังได้คะแนน 12.3 ล้าน ตัวเลขนี้น่าจะเป็นตัวเลขพื้นฐานในการเลือกตั้งครั้งหน้า และอาจได้สูงถึง 15 ล้าน ถ้าไม่มีการแตกแยกกันจริงๆ

นี่คือคนที่อยากเลือกตั้ง

2. คะแนนพื้นฐานของพรรค ปชป. ที่ได้น้อยที่สุดยามที่ทักษิณรุ่งเรือง คือ 7.2 ล้าน ในการเลือกตั้งปี 2550 โดยการโอบอุ้มของหลายฝ่าย ปชป. ทำคะแนนได้ถึง 12.1 ล้าน ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงการได้ 12 ล้านคะแนน ความเป็นไปได้มากที่สุดของ ปชป.

นี่ก็เป็นส่วนที่อยากเลือกตั้ง

3. คะแนน No Vote โดยปกติมีเป็นหลักแสน การเลือกตั้งปี 2550 ไม่มีใครรณรงค์ให้ No Vote แต่ก็อาจเป็นความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อความขัดแย้งทางการเมืองจึงมีคนออกมากาช่อง No Vote ถึง 930,000 คน

การรณรงค์ให้การ No Vote ของพรรคการเมืองและกลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2549 ถือว่าได้ผลที่สุดเพราะมีคะแนนถึง 8.4 ล้าน คงจะมาจากฐานเสียง ปชป. เกือบ 7 ล้านคน และมาจากฐานเสียงพรรคชาติไทยประมาณ 1 ล้านคน

ดังนั้น การรณรงค์ให้กาช่อง No Vote ในการเลือกตั้ง 2554 ถ้ามีคนกาช่องนี้ไม่ถึง 900,000 คน ก็ถือว่าการรณรงค์ของพันธมิตรฯ ไม่ได้ผล ถ้าเกินกว่านั้น ก็ถือว่านั่นคือคะแนนของผู้นิยมพันธมิตรฯ ซึ่งอาจจะมีถึง 100,000 คน แต่โอกาสที่จะมีคะแนน No Vote หลายๆ ล้านไม่มีแล้ว

คนที่อยากล้มการเลือกตั้งก็มีเท่านี้แหละ


การยึดอำนาจ สภาพการเมืองในปัจจุบันบีบบังคับให้เข้าสู่กระแสประชาธิปไตย เวลานี้ไม่มีทหารคนไหนอยากออกมาทำรัฐประหาร

แม้มีแรงกดดันมาบ้างพวกเขาก็จะหลีกเลี่ยง เชื่อว่าการยึดอำนาจถ้าจะมีขึ้นน่าจะทำโดยระบบตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งรอบนี้คงไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะมีคนง้างก้อนอิฐไว้รออยู่เยอะ ไม่มีใครอยากเอากระดูกมาแขวนคอ

สรุปการเลือกตั้งในปี 2554 จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแผน กดดัน คว่ำบาตร ยึดอำนาจ จะใช้ไม่ได้ในครั้งนี้



บทเรียนภาค 2 ปี 2551

หลังจากฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่คุยกันนักหนาว่าดีที่สุด ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คมช. ปี 2550 ออกมาใช้ มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มรัฐประหาร โดยหวังจะแปลงโฉมระบบเผด็จการให้เป็นประชาธิปไตย

กลุ่มผู้กุมอำนาจคิดว่า ปชป. จะชนะไทยรักไทยแน่นอนเพราะพรรคไทยรักไทยถูกยุบไปแล้ว (เปลี่ยนชื่อเป็นพลังประชาชน) นายกฯ ทักษิณลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ กรรมการพรรคก็ถูกตัดสิทธิไปถึง 111 คน แถมยังมีอำนาจรัฐโอบอุ้มพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มที่ แต่ผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้ พรรคพลังประชาชนกลับชนะที่ 1 ได้ ส.ส. ถึง 233 คน เกือบครึ่งสภา ปชป. ต้องเป็นฝ่ายค้านเหมือนเดิม

ฝ่ายผู้กุมอำนาจลงทุนลงแรงเกือบตาย มาพ่ายแพ้ในวันเลือกตั้งวันเดียว เป็นเรื่องที่ยอมรับกันไม่ได้ แผนยึดอำนาจภาค 2 จึงเกิดขึ้น



การกดดันโดยการชุมนุม
และยึดอำนาจโดยตุลาการภิวัฒน์

29 มกราคม 2551 นายกฯ สมัคร สุนทรเวช จัดตั้งรัฐบาล วันที่ 25 พฤษภาคม กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มชุมนุมยืดเยื้อที่สะพานมัฆวานฯ 20 มิถุนายน ย้ายมาหน้าทำเนียบ การชุมนุมยืดเยื้อถูกรัฐบาลแก้เกมโดยการไม่ใช้กำลังรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้นจาก 1 เดือน เป็น 3 เดือน 26 สิงหาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ เปิดปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า บุกยึดทำเนียบ

วันที่ 9 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมัครหลุดจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยข้อหาที่ชาวบ้านเรียกว่าทำกับข้าวออกโทรทัศน์ การยึดอำนาจคราวนี้ไม่ได้เป็นปฏิบัติการของกลุ่มเสื้อเขียวแต่เป็นปฏิบัติการของกลุ่มเสื้อดำ

พรรคพลังประชาชนก็ไม่ยอมแพ้ ได้ตั้งให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ ต่อไป 7 ตุลาคม พันธมิตรฯ กดดันต่อโดยปิดล้อมสภาไม่ให้นายกฯ สมชายแถลงนโยบายได้ แต่รัฐบาลก็แก้ไขได้ จึงมีปฏิบัติการที่เรียกว่าม้วนเดียวจบ

กลุ่มพันธมิตรฯ ทุ่มกำลังกดดันรัฐบาลโดยเข้ายึดสนามบินดอนเมืองและเข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 24-25 พฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นการกดดันที่รุนแรงที่สุด เพราะการปิดสนามบินทำให้เกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นหมื่นล้านและทำให้ประเทศเสียชื่อเสียงอย่างย่อยยับ การกดดันถึงตรงนี้ถือเป็นที่สุดแล้ว

การยึดอำนาจนายกฯ สมชายถูกเตรียมการมาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมแล้ว วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย นายกฯ สมชายต้องหลุดจากตำแหน่ง

การชุมนุมกดดันจบลงด้วยระยะเวลาที่ยาวนานถึง 193 วัน มี 2 ชีวิตที่เสียไปจากการปะทะ มีนายกฯ ต้องหลุดจากตำแหน่งไป 2 คน ด้วยระบบตุลาการภิวัฒน์ การปิดสนามบินทำให้ประเทศไทยพัง...และชื่อเสียงกลุ่มพันธมิตรฯ ก็พังไปด้วย

การปกครองถูกจัดขึ้นในกลางเดือนธันวาคม 2551 มีการจัดรัฐบาลในค่ายทหารที่เรียกว่า รัฐบาลเทพประทาน พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าบริหารประเทศได้นายกฯ ม.7 ชื่อ อภิสิทธิ์ สมใจ แต่ต้องใช้สารพัดวิธีเพื่อจะดึงพรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่มเนวินมาร่วมกับประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ได้บริหารประเทศต่อมา ท่ามกลางการต่อต้านของกลุ่มคนเสื้อแดง และความขัดแย้งทางการเมืองก็ขยายตัวรุนแรงขึ้นในปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิต 91 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

หากถามว่าหลังการเลือกตั้ง 2554 จะมีภาค 2 หรือไม่และเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครตอบได้ ต้องดูผลการเลือกตั้งก่อน และก็ต้องรอดูใจชนชั้นปกครองว่าจะคิดถึงประชาชนแค่ไหน แต่บทเรียนของการยึดอำนาจทั้ง 2 ภาค ทำให้ทุกฝ่ายรู้ว่า การทำสิ่งที่ไม่สมควรทำจะเกิดความเสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น ยิ่งทำซ้ำ ยิ่งผิดมาก ถ้าไม่โง่จนเกินไป พวกเราต้องแก้ไขโดยเร็ว หักพวงมาลัยรถกลับมา รถก็จะไม่วิ่งลงเหว แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ช่วงระยะเวลาใกล้ๆ นี้คงไม่ไปไกลถึงลิเบียหรอก อย่างมากก็แค่ 3 จังหวัดภาคใต้

แต่ที่อยากให้ทุกคนมั่นใจก็คือ วันนี้ทุกคนสามารถเดินหน้าเลือกตั้ง เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย การแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่สูสีมาก ต้องดูการนับคะแนนจนถึงนาทีสุดท้าย...

.