http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-08

เศรษฐกิจไทยจะตกขบวนรถไฟเทคโนโลยีหรือไม่ ? โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

.
เศรษฐกิจไทยจะตกขบวนรถไฟเทคโนโลยีหรือไม่ ?
โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:30:00 น.


ประเทศระดับรายได้ปานกลางเช่นไทย ที่ได้พัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีระดับล่างและกลางได้แล้ว กำลังเผชิญกับปัญหาที่เรียกว่า กับดักรายได้ปานกลาง (Middle - income trap) คือ ไม่อาจเขยิบตัวให้มีรายได้สูงไปกว่านี้ได้ เพราะว่าเผชิญแรงบีบมาจาก 2 ด้าน

ด้านหนึ่ง คือ เผชิญการแข่งขันผลิตสินค้าใช้เทคโนโลยีระดับล่างและกลางจากประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่ไล่กวดมาติดๆ เช่น อินเดีย

กับอีกด้านหนึ่ง ครั้นจะขยับสู่การผลิตใช้เทคโนโลยีสูงแบบ ญี่ปุ่น สหรัฐ หรือยุโรป ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าขณะนี้การผลิตอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อยู่ในกำมือของบรรษัทข้ามชาติต่างประเทศที่เข้ามากว้านซื้อบริษัทไทย และลงทุนใหม่อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540


ในภาวะดังกล่าว เศรษฐกิจไทยจึงเผชิญความเสี่ยงสูงหลายด้าน ทั้งในเรื่องขีดจำกัดที่จะยกระดับเทคโนโลยี (upgrading technology) และเสี่ยงสูงขึ้นหากบรรษัทต่างชาติเหล่านี้ ตัดสินใจถอนการลงทุนออกไปลงทุนที่ประเทศอื่นที่มีข้อเสนอแรงจูงใจที่ดีกว่า

เท่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ตัดสินใจดำเนินนโยบายเอาใจบริษัทต่างชาติอย่างเต็มที่ (ให้แรงจูงใจต่างๆ และช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights)) ซึ่งก็ได้ผลบวกคือ ต่างชาติมั่นใจ จึงแห่กันมาลงทุนในเมืองไทย ทำให้อุตสาหกรรมส่งออกเข้มแข็ง และไทยฟื้นตัวจากเศรษฐกิจวิกฤตปี 2540 อย่างรวดเร็ว

แต่ยุทธศาสตร์นี้ ก็ได้ทำให้ไทยพึ่งพาการส่งออกสูงขึ้น จนกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกหนึ่ง เพราะมีแนวโน้มว่าความต้องการสินค้าออกของไทยจะชะลอตัวลงแน่ๆ เนื่องจากสหรัฐและยุโรป จะใช้เวลาเพื่อฟื้นตัวจากเศรษฐกิจวิกฤตเมื่อปี 2550-2551 และยังมีปัญหาราคาน้ำมันขึ้น


นักเศรษฐศาสตร์ที่ทีดีอาร์ไอ จึงเริ่มพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องหาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ๆ และการต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจให้มีความสมดุลมากขึ้น (Rebalancing Strategies) (ผลงานของ ดร.ฉลองภพ ดร.สมชัย และ ดร.เดือนเด่น) เช่น ข้อเสนอประการ

หนึ่งคือ ต้องลดการพึ่งพาเศรษฐกิจส่งออก แล้วหันมาพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ประการที่สอง ให้เร่งพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน ให้เป็นแหล่งอุปสงค์ สำหรับสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐที่ลดลง และประการที่สาม ต้องลดการนำเข้าสินค้าทุนโดยให้ไทยผลิตเองบ้าง ซึ่งหมายความว่าไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีระดับสูง

การที่เศรษฐกิจไทยจะต้องหันมาพึ่งตลาดภายในประเทศมากขึ้น เป็นของตายอยู่แล้ว เพราะว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะเป็นขีดจำกัดแน่ๆ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องหันมาปรับตรงนี้ ด้วยการลงทุนด้านสาธารณูปโภคต่างๆ โดยก็จะมีนัยยะถึงการปฏิรูประบบภาษี การมีนโยบายกระจายรายได้ที่ดีกว่าเดิม และการเพิ่มประสิทธิภาพของการลงทุน

สำหรับการพัฒนาอาเซียน ก็กำลังดำเนินไปตามแผนการสร้างประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558



สิ่งที่ท้าทายรัฐบาลไทยมากที่สุดในเรื่องการปรับสมดุลยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ น่าจะเป็นประเด็นเรื่องการก้าวให้ทันประเทศพัฒนาแล้วด้านเทคโนโลยี หรือการยกระดับความสามารถพัฒนาและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจภาคอื่นๆ ของประเทศ

ในประเด็นนี้ ดร.มุชตาค คาห์น ที่ SOAS ซึ่งศึกษาจากประสบการณ์ของเกาหลีใต้ อินเดีย บังกลาเทศ เยเมน และไทย เสนอในการประชุมของสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจมากบางประการ คือ

หนึ่ง ขณะที่บรรษัทข้ามชาติต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้ทำให้อุตสาหกรรมส่งออกของไทยเติบโต แต่ก็เป็นตัวสร้างขีดจำกัด ปิดกั้นการที่อุตสาหกรรมไทยจะยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยี โดยบริษัทต่างชาติไม่พร้อมที่จะถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูง แม้ในกรณีเป็นบริษัทร่วมทุนกัน

นโยบายเอาใจบริษัทต่างชาติของไทยให้กำไรกับบริษัทต่างชาติมาก แต่ผลต่อไทยคือ เท่ากับเป็นการยอมให้บริษัทต่างชาติ เป็นผู้กำกับ/กำหนด นโยบายเทคโนโลยีของไทยโดยปริยาย

ความพยายามของบริษัทไทยบางแห่งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่จะพัฒนาตนเอง มีขีดจำกัดสูง เพราะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตต่างชาติ ที่ร่วมมือกันภายใต้ระบบการผลิตแบบ global production chain ระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน หรือบริษัทพวกเดียวกันได้ เมื่อ upgrade ด้านเทคโนโลยีไม่สำเร็จ ก็ต้องเบนเข็มจากการผลิต เป็นการให้บริการหลังการขายและอื่นๆ หรือยังย่ำเท้าอยู่ที่การผลิตระดับเทคโนโลยีล่างหรือกลาง แล้วไปหาตลาดที่ยังพอใจสินค้าคุณภาพระดับล่างหรือกลางอยู่

สอง การยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีเป็นกระบวนการระยะยาว ที่ต้องผ่านการเรียนรู้ แบบลองผิดลองถูกด้วยการทำเอง (learning by doing) ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากมีต้นทุนสูง เพราะต้องใช้เวลาสั่งสมความรู้ด้วย จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ

ก.การมีทุน (financing) ที่จะช่วยพัฒนาความพยายามเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข.การมีระบบสถาบันที่จะกำกับให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ได้ผลตามเป้าหมาย

ค.การสามารถจัดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้สังคมบรรลุเป้าหมายของการ upgrade (เช่น ต้องไม่มีการช่วยเหลือกันโดยไม่คำนึงถึงประสิทธิผล)

ข้อค้นพบของ ดร.มุชตาค คาห์น เหล่านี้ ให้ข้อคิดเพิ่มเติมเรื่องการปรับยุทธศาสตร์เพื่อความสมดุลในระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อไปและไม่ตกรถไฟเทคโนโลยีอย่างน้อยอีกสองประการ คือ

หนึ่ง ไทยจะต้องคิดถึงการมีนโยบายเทคโนโลยีของตนเอง แทนที่จะปล่อยให้บริษัทต่างชาติเป็นผู้กำหนดโดยปริยายเช่นในปัจจุบัน การมีนโยบายดังกล่าวอาจจะต้องเป็นการบังคับ หรือสร้างแรงจูงใจ (แบบมีข้อแม้) ให้บริษัทต่างชาติลงทุนในการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีให้กับคนงานไทยและบริษัทไทยมากกว่าที่เป็นอยู่ อาจใช้มาตรการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับบรรษัทข้ามชาติ หรือมีการสร้างแรงจูงใจที่ให้ผลบวกทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันภาครัฐต้องมีมาตรการชัดเจนที่จะสนับสนุนเอกชนด้านเทคโนโลยี

สอง รัฐบาลไทยต้องคิดถึงการวางนโยบายอุตสาหกรรม (industrial policy) ภายใต้กรอบใหม่ที่จะช่วยนักลงทุนไทยพัฒนาและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ และในประเด็นนี้นั้นจำเป็นต้องร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ผลักดันให้เกิดการปลี่ยนแปลงข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (เช่น TRIPs)

ซึ่งขณะนี้ให้ประโยชน์กับบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่มาก แต่ก่อผลเสียกับประเทศกำลังพัฒนา โดยเป็นขีดจำกัดต่อการ upgrade technology เป็นอย่างมาก

.