http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-16

นายกฯพระราชทาน (1) (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
นายกฯพระราชทาน (1)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


เสียงเรียกร้องนายกฯพระราชทานกลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะต้องการนายกฯพระราชทานจริงๆ หรือเพราะต้องการใช้ข้อเรียกร้องนี้ส่งเสริมการรณรงค์ "โนโหวต-โหวตโน" (การงดใช้สิทธิในบัตรเลือกตั้ง) ก็ไม่ทราบได้ เข้าใจว่าผู้รณรงค์ต้องการคะแนน "โนโหวต" มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อทำให้รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่สูญเสียความชอบธรรมที่ได้จากการเลือกตั้งลง

เมื่อลงมาเล่นในกติกานับคะแนนรายหัว ซึ่งต้องรวมหัวที่ถูกประเมินว่าโง่ไว้ด้วย อย่างไรเสียคะแนน "งดออกเสียง" ก็ย่อมเป็นส่วนน้อยอยู่ดี จะทำลายความชอบธรรมของผู้ได้รับเลือกตั้งได้อย่างไร ตรรกะมันขัดกันเอง จึงต้องเดาต่อไปว่า ผู้รณรงค์ไม่ได้ต้องการ "ชัยชนะ" ในเกมนี้ แต่ต้องการคะแนน "งดออกเสียง" มากที่สุดเท่านั้น จำนวนของคะแนนนี้จะกลับกลายเป็นความชอบธรรมของผู้รณรงค์ในการปิดถนน หรือยึดทำเนียบและสนามบินในวันข้างหน้า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นในอนาคตก็ตาม เสียงของผู้รณรงค์จะยังดังอยู่เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ตำรวจยังต้องเปิดถนนด้วยวิธี "เจรจา" แทนการจับกุมส่งฟ้องศาลอย่างที่คนงานไทรอัมพ์โดนอยู่เวลานี้

และเมื่อต้องการคะแนนมากที่สุด จึงต้องดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ทางการเมืองอีก แม้ว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงปฏิเสธอย่างชัดแจ้งมาแล้วว่า ไม่ได้มีพระราชอำนาจจะทำเช่นนั้นได้

แต่ในครั้งนี้ผู้รณรงค์ไม่ได้ต้องการนายกฯพระราชทานจริง ต้องการเพียงคะแนนเสียง "โนโหวต-โหวตโน" เท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ผมสนใจความคิดเรื่องนายกฯพระราชทาน (ซึ่งขอนิยามใหม่ว่า นายกฯที่อาศัย "บารมี" ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นฐานของความชอบธรรมเพียงอย่างเดียว เพราะผมไม่มีหลักฐานระบุได้อย่างไม่มีทางปฏิเสธว่า มีนายกฯไทยคนใดบ้างที่ "พระราชทาน" ลงมาจริงๆ) เพราะผมพบว่าเป็นความคิดที่ไร้เดียงสาทางการเมืองมาแต่ต้น และนายกฯพระราชทานคนใด (ตามนิยามข้างต้นนะครับ) ก็ตาม ที่ไร้เดียงสาทางการเมืองเท่ากับตัวความคิด ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในทางการเมืองและการบริหารเลยสักคน

ความคิดเรื่องนายกฯพระราชทานนี้เกิดขึ้นครั้งแรกโดยอดีตที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชาวอเมริกัน ผู้เคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และก็เหมือนนักกฎหมายอีกมากในโลกที่คิดว่า กฎหมายคือผู้สร้างและกำกับโลก ไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้าหรือตถตา



ในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ตกเป็นเป้าโจมตีวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะโครงสร้างการบริหารของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม พระเจ้าแผ่นดินย่อมเป็นผู้อำนวยการสูงสุดของฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ, ตุลาการ และแต่ผู้เดียว พระองค์จึงต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศทุกประการ

ราชสำนักตระหนักต่อภัยคุกคามทางการเมืองนี้อย่างดี จากการปรึกษาเป็นส่วนพระองค์ อดีตที่ปรึกษาราชการแผ่นดินผู้นี้ เสนอให้นำราชบัลลังก์หลบเสียจากเป้าวิพากษ์วิจารณ์ โดยให้ทรงแต่งตั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีขึ้นรับผิดชอบการบริหารแทน แต่บุคคลในตำแหน่งนี้ต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียว จึงทรงแต่งตั้งและถอดถอนได้ตามพระราชอัธยาศัย เขาเสนอรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ซึ่งไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย แต่เป็นความพยายามจะปฏิรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญที่ตามมาอีกหนึ่งฉบับภายใต้ระบอบนั้น

พระมหากษัตริย์ทรงนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ปรึกษากับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะที่ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี ไม่มีเจ้านายพระองค์ใดเห็นชอบด้วยเลย เหตุผลที่กราบทูลก็คือไม่มีประโยชน์ดังมุ่งหวัง เพราะเมื่อทรงแต่งตั้งถอดถอนอัครมหาเสนาบดีได้เอง ถึงอย่างไรก็ยังทรงเป็นผู้รับผิดชอบต่อการบริหารแต่ผู้เดียว และยังคงเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อยู่นั่นเอง

นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นชอบกับความคิดเรื่องนายกฯพระราชทาน ก็เพราะไม่อยากถูกกันออกไปจากอำนาจที่มีอยู่ เนื่องด้วยนายกฯพระราชทานคือผู้สัมปทานพระราชอำนาจในการบริหารไว้กับตนแต่ผู้เดียว ไม่อาจกระจายไปยังกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ได้อีก


ไม่ว่าการวิเคราะห์ของนักวิชาการเหล่านี้จะถูกต้องหรือไม่ แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ตกมาถึงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่บุคคลอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเครือข่ายของกลุ่มชนชั้นนำระดับสูง แม้องค์ประกอบของเครือข่ายนี้อาจไม่มีความหลากหลายมากนัก แต่ก็มีบุคคลอยู่ในเครือข่ายนี้จำนวนไม่น้อย ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการระดับสูงที่ไว้วางพระราชหฤทัยจำนวนหนึ่ง

แต่ละคนก็มีเครือข่ายของตนเอง นับตั้งแต่ผู้เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาไปจนถึง "ศิษย์" อีกจำนวนมาก (หลายคนในกลุ่มนี้ล้วนมีรูปปั้นยืน-นั่งตากแดดตากฝนอยู่หน้ากระทรวงและกรมต่างๆ ของราชการไทยปัจจุบัน)

นายกฯพระราชทานทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นรูปปั้นไปตั้งแต่ยังไม่ทิวงคต ไม่มีพื้นที่สำหรับบทบาททางการเมืองใดๆ ได้อีกเลย

นี่คือความไร้เดียงสาทางการเมืองข้อแรกของคำปรึกษา

กล่าวคือ เมื่อจะมีสถาบันทางการเมืองใหม่คือนายกฯพระราชทาน ก็ต้องสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่สำหรับกลุ่มชนชั้นนำไปพร้อมกัน และถ้าฉลาดลึกซึ้งไปกว่านั้น สถาบันทางการเมืองใหม่นี้ต้องผนวกเอาชนชั้นนำอื่นๆ ที่ยังไม่ได้อยู่ในเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ด้วย

นั่นคือต้องมีสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งมีบทบาทให้คำปรึกษาได้ทั้งในด้านการบริหาร, นิติบัญญัติ และตุลาการ

ในอาณานิคมอังกฤษ เกือบทุกแห่งล้วนมีสภาลักษณะนี้ ในระยะแรกอาจประชุมกันได้ต่อเมื่อผู้ว่าการฯ ขอคำปรึกษาเท่านั้น แต่มาในระยะหลังก็ถูกกดดันให้เปิดประชุมประจำ ตลอดจนริเริ่มประเด็นได้เอง แม้ว่าในระยะยาวแล้วสภาประเภทนี้ไม่ประสบความสำเร็จที่จะธำรงความเป็นเจ้าอาณานิคมไว้ได้ตลอดไป แต่ในระยะสั้นก็ช่วยทอนกำลังของฝ่ายชาตินิยมลงได้อย่างมาก เสริมความแข็งแกร่งของระบบจักรวรรดินิยมอังกฤษไว้ได้ช่วงหนึ่ง


กล่าวโดยสรุปก็คือ นายกฯพระราชทานไม่เคยอยู่ในสุญญากาศ "บารมี" ของสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้นายกฯบริหารงานไปได้อย่างราบรื่น เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็ไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ หากมีเครือข่ายที่กว้างขวางของตนเอง ซึ่งล้วนต้องการพื้นที่ทางการเมืองสำหรับการต่อรองกับนายกฯ พระราชทานเช่นกัน

"บารมี" ของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเริ่มฟื้นฟูขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา หมายถึงเครือข่ายที่ยิ่งกว้างขวางขึ้น และหลากหลายมากขึ้นของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย (เช่นนอกจากงานศึกษาเรื่องโครงการพระราชดำริที่ทำได้อย่างดีแล้ว น่าจะมีใครสักคนกลับไปศึกษาประวัติของผู้ได้รับตราพระจุลจอมเกล้าฯ นับตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมาด้วย) จนถึงทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายทางสังคมและการเมืองที่กว้างใหญ่ที่สุด เชื่อมโยงทั้งทางตรงและทางอ้อมไปยังคนจำนวนมหึมาทั่วประเทศ นายกฯพระราชทานคนเดียว ไม่สามารถเป็นพื้นที่ทางการเมืองเพื่อรองรับจินตนาการทางการเมืองอันหลากหลาย และมักจะขัดแย้งกันเอง ของเครือข่ายมโหฬารนี้ได้

ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงเครือข่ายอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเครือข่ายสถาบันฯ อันนับวันก็ยิ่งเกิดขึ้นอย่างหลากหลายและจำนวนมาก ซึ่งไม่อาจถูกนายกฯพระราชทานริบพื้นที่ทางการเมืองซึ่งได้ผ่านการต่อสู้จนเปิดขึ้นเป็นของตนเองไปได้อย่างหน้าตาเฉย และในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา มีเหตุที่ทำให้จำนวนมากของคนเหล่านี้ เข้าไปอยู่ในเครือข่ายที่ไม่เชื่อมโยงทางอ้อมกับเครือข่ายสถาบันฯอีกต่อไป

ความคิดเรื่องนายกฯพระราชทานจึงยิ่งเป็นความไร้เดียงสาทางการเมืองหนักขึ้นไปอีก



และด้วยเหตุดังนั้น ส่วนใหญ่ของนายกฯพระราชทาน (ตามความหมายในนิยามข้างต้น) จึงไม่ประสบความสำเร็จทางการเมือง และดังนั้นจึงล้มเหลวด้านการบริหารไปพร้อมกัน

ส่วนน้อยของนายกฯพระราชทานที่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องดำเนินกิจการทางการเมืองและการบริหาร ในลักษณะยืดหยุ่นให้เหมาะกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมืองในยุคสมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง โดยไม่หวังพึ่งแต่ "บารมี" ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเดียว และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่มีการ "ปิดเทอม" ทางการเมือง ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ นอกจากไม่ "ปิดเทอม" แล้ว ยังเป็น "เทอม" ที่ต้องปล่อยให้การเมืองของกลุ่มต่างๆ ได้พัฒนาคลี่คลายไปไม่น้อยไปกว่าช่วงสมัยที่นายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่เหล่านายกฯพระราชทานเหล่านี้ พากันคิดว่าจะสามารถกำกับควบคุมการพัฒนาคลี่คลายได้ระดับหนึ่ง

จะเห็นได้ข้างหน้าว่า นายกฯพระราชทานที่ล้มเหลวที่สุด คือคนที่ไร้เดียงสาเกินไป คิดว่าเพียงแต่อาศัยพระบารมีส่วนพระองค์เท่านั้น ก็จะทำให้ "การเมือง" ยุติลงชั่วคราว เพื่อขจัดกวาดล้างบ้านเมืองให้สะอาดบริสุทธิ์จนกลับมาสู่ประชาธิปไตยได้อีก

ตอนต่อไปจะกล่าวถึงนายกฯพระราชทาน (ตามความหมายในนิยามข้างต้น) แต่ละคน เพื่อแสดงให้เห็นความไร้เดียงสาทางการเมืองของความคิดนี้ โดยเฉพาะเมื่อจะนำกลับมาใช้ใน พ.ศ.นี้


++

นายกฯพระราชทาน (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


นายกฯสัญญา ธรรมศักดิ์ เผชิญการต่อต้านท้าทายอย่างหนัก ทั้งจากกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายสถาบันเอง และอยู่นอกเครือข่าย จนแทบจะริเริ่มอะไรที่เป็นของตนเองไม่ได้ สถานการณ์บังคับให้นายกฯพระราชทานไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากพยายามประนีประนอมกับข้อเรียกร้องของทุกกลุ่ม ผลก็คือ "มะเขือเผา" นั่นคือจะรักษาโครงสร้างอำนาจของชนชั้นนำไว้ตามเดิมก็ไม่ได้ หรือนำสังคมไปสู่การปรับเปลี่ยนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นก็ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากประเมินนายกฯสัญญา ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ก็อาจกล่าวได้ว่าท่านล้มเหลว แต่ถ้าประเมินนายกฯสัญญาจากภารกิจเฉพาะหน้า คือระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อรอให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องถือว่าท่านได้ประคองบ้านเมืองให้พ้นจากสถานการณ์จลาจล ไปสู่ "ระเบียบ" ใหม่ได้ แม้อย่างทุลักทุเลเต็มทีก็ตาม ฉะนั้นหากจะประเมินนายกฯพระราชทานผู้นี้กันจริงๆ แล้ว ต้องย้อนกลับไปศึกษาว่า ในท่ามกลางข้อจำกัดของสถานการณ์ ท่านได้เตรียมบ้านเมืองเข้าสู่ "ระเบียบ" ใหม่ได้ดีหรือไม่อย่างไร

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่ในหมู่ตุลาการเท่านั้น ภายใต้ระบอบเผด็จการผูกขาดถึง 16 ปี มีบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนกว้างขวางถึงเพียงนี้อยู่ไม่กี่คน ทั้งยังได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจนได้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีอีกด้วย ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า จะหาใครเป็นผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้เหมาะไปกว่าท่านได้ยาก

เป็นสมาชิกของเครือข่ายสถาบันคนเดียว ที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในสังคม จึงอยู่ในฐานะที่จะเชื่อมต่อเครือข่ายของสถาบันกับเครือข่ายอื่นๆ ที่อยู่ข้างนอก โดยเฉพาะเครือข่ายอีกมากที่เกิดขึ้นจากการลุกฮือของประชาชนใน 14 ตุลา โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา และนักวิชาการ

แต่สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางกว่าการเชื่อมต่อโดยรักษาอำนาจนำของเครือข่ายสถาบันจะเป็นไปได้ (เช่นจะเชื่อมต่อราชการพลเรือนและทหารกับกรรมกรและชาวนาเช่าที่ดิน ซึ่งเกิดสำนึกทางการเมืองขึ้นแล้วได้อย่างไร) ท่านจึงเป็นได้แต่เพียง "มะเขือเผา"

แม้ในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อนายกฯพระราชทานที่สุดดังเช่น 14 ตุลา นายกฯพระราชทานก็ยังเป็น "มะเขือเผา" สถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างจาก 14 ตุลาอย่างเทียบกันไม่ได้ นายกฯพระราชทานจะทำอะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นการสถาปนาอำนาจนำของเครือข่ายสถาบัน กลับคืนมาให้เหมือนเดิม หรือนำประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตทางการเมืองในช่วงนี้ ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังจะเหลือใครอีกที่ได้รับความไว้วางใจกว้างขวางจากทุกฝ่ายเท่าอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯพระราชทาน อาจารย์ประเวศ วะสี หรือ คุณอานันท์ ปันยารชุน หรือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล!


ในส่วนข้อเสนอให้ "เว้นวรรค" การเมืองภายใต้นายกฯ พระราชทาน เพื่อชำระการเมืองไทยให้ปลอดพ้นจากการทุจริตในการเลือกตั้ง และการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น นับเป็นความไร้เดียงสาทางการเมืองอย่างสุดประมาณ

แก่นแท้ของนายกฯพระราชทาน ไม่ใช่การส่งซุปเปอร์แมนลงมาขจัดกวาดล้างความชั่วร้ายทางการเมืองให้สิ้นซาก เพื่อรองรับนักการเมืองบริสุทธิ์ (และไร้เดียงสา) ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งในภายหน้า แต่เพื่อสร้างหรือปรับดุลยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่างๆ ในเครือข่ายสถาบัน และนอกเครือข่ายกันเสียใหม่ ให้อยู่ร่วมกันได้ โดยยอมรับอำนาจนำของเครือข่ายสถาบัน ไม่ใช่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สะอาดบริสุทธิ์ในโลกอุดมคติ

เพื่อบรรลุจุดประสงค์นั้นได้ นายกฯพระราชทาน ต้องประนีประนอมกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งที่อยู่ในเครือข่ายสถาบัน และนอกเครือข่ายจำนวนมาก ซึ่งล้วนมีผลประโยชน์ผูกพันอยู่กับระบบที่เอื้อต่อการทุจริตหลายรูปแบบ ไม่ว่าตัวนายกฯพระราชทานจะมีความดีและความซื่อสัตย์อย่างไรก็ตาม ย่อมต้องหลับตาให้แก่การทุจริตฉ้อฉลซึ่งหน่วยต่างๆ ทั้งในและนอกเครือข่ายสถาบันหาผลประโยชน์อยู่ทั้งสิ้น นายกฯพระราชทานคนใดจะไปขัดขวางการหากำไรจากการสั่งซื้ออาวุธของกองทัพ อย่างเก่งก็เพียงปรามอย่าให้มากหรือประเจิดประเจ้อเกินไปเท่านั้น

นายกฯพระราชทานที่ไร้เดียงสาทางการเมืองขนาดนั้น เห็นจะมีแต่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

นายกฯธานินทร์ กรัยวิเชียร คิดว่า "บารมี" ของสถาบันเพียงอย่างเดียว ก็เพียงพอที่จะนำไปสู่การปรับระบบเพื่อประกันความมั่นคงของโครงสร้างอำนาจเดิมได้ แทนที่นายกฯคนนี้จะใช้เวลาของตนในการผนึกเครือข่ายของสถาบัน และขยายไปสู่เครือข่ายภายนอก กลับรอนเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกลงจนเหลือแคบนิดเดียว ในที่สุด กำลังใหญ่ที่สุดของเครือข่ายสถาบัน คือกองทัพ ก็ก่อรัฐประหารซ้อนและขจัดเขาออกไป

ตรงกันข้ามกับนายกฯธานินทร์ คือพลเอก เปรม ติณสูลานนท์

นายกฯเปรม ติณสูลานนท์ ใช้ประโยชน์จากการต้องอิง "บารมี" ของสถาบันได้ดีที่สุด เขาผนึกกองทัพเข้ามาเป็นฐานสนับสนุนที่สำคัญ อาศัย "บารมี" ของสถาบัน ขจัดกลุ่มกระด้างกระเดื่องในกองทัพออกไป ยิ่งกว่านี้ยังประนีประนอมกับเครือข่ายภายนอก เช่น นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ จนสามารถประคองนายกฯพระราชทานไปตลอดรอดฝั่ง 8 ปี ในช่วงนั้นก็สามารถสถาปนาอำนาจนำของเครือข่ายสถาบัน ให้เด่นชัดและหนักแน่นมากขึ้นไปพร้อมกันด้วย แต่เครือข่ายนอกสถาบันก็เติบโตขึ้นภายใต้รัฐบาลของพลเอกเปรมด้วย สุดกำลังที่จะประนีประนอมหรือ co-opt ได้หมดหรือได้ไหว อย่างไรก็ตาม พลเอก เปรมฉลาดพอจะรู้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศ เปลี่ยนไปจนเกินกว่าจะผดุงระบบการเมืองแบบนายกฯ พระราชทาน (ในลักษณะที่เขาได้ใช้ประโยชน์มา 8 ปี) ได้ต่อไปแล้ว จึงยอมสละตำแหน่งในที่สุด



น่าสนใจที่จะเปรียบเทียบนายกฯพระราชทานสองคนสุดท้าย

นายกฯอานันท์ ปันยารชุน รู้ดีว่าจะอิง "บารมี" ของสถาบันเป็นที่ตั้งอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เขาเลือกจะผนึกกำลังกับบางกลุ่มในเครือข่ายของสถาบัน โดยเฉพาะในปีกเสรีนิยม และอาศัยเครือข่ายของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ เชื่อมโยงไปยังกลุ่มคนชั้นกลางในเขตเมือง จนกลายเป็นขวัญใจของคนชั้นกลางไปในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เขามีพลังต่อรองอันแข็งแกร่งกับทุกกลุ่มในเครือข่ายของสถาบัน รวมทั้งกองทัพด้วย นายกฯอานันท์จึงเป็นนายกฯพระราชทานที่แปลกที่สุด กล่าวคือต้องพึ่งพิง "บารมี" ของสถาบันน้อยลงตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงอานันท์ 1 เพราะเงื่อนไขทางการเมืองทำให้นักการเมืองซึ่งอยู่นอกเครือข่ายของสถาบันไม่มีปากมีเสียง ยิ่งนายอานันท์ "ทำงานเป็น" ก็ยิ่งได้รับความนิยมจากสื่อและคนชั้นกลางในเขตเมืองมากขึ้น

นับว่าประจวบเหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนั้นของสังคมไทยด้วย คนชั้นกลางซึ่งเติบโตและขยายตัวอย่างมากกลายเป็นฐานสนับสนุนอันแข็งแกร่งของนายกฯพระราชทานผู้นี้ เหล่าผู้คนนอกเครือข่ายสถาบันเหล่านี้ถูกเชื่อมต่อเข้ามายังเครือข่ายในฐานะมิตร และยอมรับอำนาจนำของเครือข่ายสถาบันอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

แม้กระนั้น นายอานันท์ก็ไม่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายของนักการเมืองเข้ากับเครือข่ายของสถาบันได้ เมื่อนักการเมืองกลับเข้ามานั่งในสภาสมัยอานันท์ 2 มรสุมทางการเมืองก็เริ่มตั้งเค้า กระเทือนไปถึงความแตกร้าวในเครือข่ายสถาบันเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นวงการทหารหรือวงการตุลาการ

ภาวะชั่วคราวเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ของรัฐบาลอานันท์ 2 มีส่วนอย่างมากที่สร้างความอดทนให้แก่ศัตรู นายอานันท์จึงถอนตัวออกไปจากการเมืองได้โดยไม่บอบช้ำ


แต่เมื่อนายกฯพระราชทานคนสุดท้าย คือพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นรับตำแหน่ง สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว คนนอกเครือข่ายสถาบันที่ตื่นตัวทางการเมือง ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะคนชั้นกลางในเขตเมืองเท่านั้น หากรวมถึงคนชั้นกลางระดับล่างอีกมาก นายกฯสุรยุทธ์ประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าที่จะเชื่อมต่อคนหน้าใหม่ๆ เหล่านี้ให้เข้ามาสนับสนุนอำนาจนำของเครือข่ายสถาบัน แม้เขาจะพยายามใช้เส้นสาย (connection) ส่วนตัว เพื่อเชื่อมต่ออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกับคนที่ถูกจัดว่าเป็น "คนจน" และกลุ่มร่วมพัฒนาชาติไทย (ซึ่งผิดเป้า)

ในที่สุด นายกฯสุรยุทธ์ก็ต้องหันมาผนึกกำลังกับหน่วยต่างๆ ในเครือข่ายให้แข็งแกร่ง กลายเป็นการ "ตั้งป้อม" เผชิญหน้ากับคนชั้นกลางระดับล่าง และนำเครือข่ายสถาบันออกไปเผชิญกับการต่อต้านของปรปักษ์โดยตรงเป็นครั้งแรก ในขณะเดียวกัน การ "ทำงานไม่เป็น" ของเขา บวกกับวิธีการผนึกกำลังของเครือข่ายที่ค่อนข้างไร้เดียงสา คือสมยอมกับข้อเรียกร้องของหน่วยต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพ ที่อยู่ในเครือข่ายสถาบันอย่างไร้อำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิง ก็ยิ่งบ่อนทำลายพันธมิตรเดิมของเครือข่ายสถาบันลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นทุน คนชั้นกลางในเขตเมือง หรือนักวิชาการ


ว่ากันที่จริงแล้ว นายกฯพระราชทานไม่เคยแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศได้เลยสักคน เพราะที่จริงแล้วภารกิจของเขาไม่ใช่การแก้ปัญหาทางการเมือง แต่รักษาโครงสร้างอำนาจทางการเมืองไว้ให้คงเดิมหรือโน้มไปยิ่งกว่าเดิมต่างหาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองอย่างหนัก และเราเคยพยายามแก้มาแล้วด้วยการปฏิรูปการเมืองในทศวรรษ 2530 จนเป็นผลให้เกิดรัฐธรรมนูญ "ฉบับประชาชน" ขึ้น แม้ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่มุ่งหวัง แต่สิ่งที่การเคลื่อนไหวครั้งนั้นสอนเราก็คือ ปัญหาทางการเมืองทั้งหลายนั้นแก้ได้โดยสังคมเอง (แม้ต้องผ่านเส้นทางทุรกันดาร) หากล้มเหลวก็ต้องเรียนรู้ข้อผิดพลาด และแก้กันต่อไปโดยสังคม จะอาศัยอำนาจนำของสถาบันใดๆ แก้ให้ไม่ได้ ความคิดเรื่องนายกฯพระราชทานจึงเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้ นอกจากความไร้เดียงสาทางการเมือง หรือความฉ้อฉลทางการเมืองเพื่อมุ่งประโยชน์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

.