.
ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เชื่อมร้อยโลก มอญ ม่าน ฉาน และล้านนา
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1599 หน้า 75
เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เกิดความคลางแคลงใจยามพบรอยพระบาทประดิษฐานตามที่ต่างๆ คำถามแรกมักหนีไม่พ้นว่า "เป็นของพระพุทธเจ้าจริงหรือ?"
กับอีกประเภทหนึ่ง มักเกิดความงุนงงเวลาไปกราบพระธาตุเจดีย์ในภาคเหนือ ไฉนแทบทุกแห่งจึงมีตำนานเล่าขานเหมือนกันหมด
ในทำนองว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาตรัสพยากรณ์ว่าในอนาคตดินแดนแห่งนี้ต้องมีความเจริญรุ่งเรืองในบวรพุทธศาสนา และจบลงด้วยการประทานพระเกศาธาตุใส่กระบอกไม้ไผ่ให้แก่ชนพื้นเมืองทุกครั้ง
ปริศนาที่ผุดขึ้นกลางทรวงก็คือ พระธาตุเจดีย์ทั่วล้านนากว่า 30 องค์นี้ล้วนแต่มีความเป็นมาเก่าแก่ถึงยุคพุทธกาลทั้งสิ้น แล้วองค์ไหนสร้างก่อนองค์อื่นเล่า?
รอยพระบาทก็ดี การเสด็จมาตรัสพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าก็ดี ทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมชิ้นเอกเรื่อง "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก"
ส่วนประเด็นที่จะนำเสนอในที่นี้ ไม่ได้มีเจตนามาชวนให้ท่านถกเถียงกันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ หากแต่จะชี้ชวนให้เห็นมุมมองใหม่ที่ซ่อนนัยทางสังคมบางอย่าง แอบแฝงไว้ระหว่างบรรทัดหรือใต้บรรทัดนั้นต่างหาก
ใครเขียนตำนานพระเจ้าเลียบโลก มีจุดมุ่งหมายใด
ก่อนอื่นต้องขออธิบายคำว่า "พระเจ้า" ในที่นี้มิได้หมายถึง "พระเจ้า" หรือ God ในความหมายของศาสนาคริสต์และฮินดู ในทำนอง "เทพเจ้า"
หากแต่คนทางเหนือนิยมเรียกพระพุทธเจ้าแบบย่อๆ ง่ายๆ เพียงแค่ "พระเจ้า" เท่านั้น ดังเช่นการขนานนามพระประธานในวิหารว่า "พระเจ้า" หลากหลายหมวด อาทิ พระเจ้าทันใจ พระเจ้าทั้งห้า พระเจ้าทองทิพย์ เป็นต้น
เดิมนั้นชาวเหนือไม่เคยทราบว่าใครเป็นคนเขียนตำนานพระเจ้าเลียบโลก เหตุเพราะไม่ปรากฏนามผู้แต่ง จึงเข้าใจกันเอาเองว่าเป็นเรื่องจริงที่มีมาตั้งแต่ยุคพุทธกาล กระทั่งนักวิชาการด้านล้านนาศึกษาได้ค้นคว้าที่มาที่ไปจนได้ความชัดเจนว่าวรรณกรรมเรื่อง "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" นี้รจนาโดยพระภิกษุชาวมอญนาม "พระธรรมรส" หรือ "ธรรมรโสภิกขุ" เรื่องของเรื่องคือ
เมื่อปี พ.ศ.2050 ท่านได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดีให้เดินทางไปศึกษาดูงานพระพุทธศาสนา ณ กรุงลังกา ทำให้รับรู้เรื่องราวการประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์และรอยพระพุทธบาทในดินแดนต่างๆ ทั่วสุวรรณภูมิ
โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตราชอาณาจักรมอญ (สมัยนั้นมอญเป็นรัฐอิสระที่เจริญรุ่งเรือง ไม่ขึ้นกับพม่า) และรัฐใกล้เคียง อันประกอบด้วย ล้านนา ฉาน และสิบสองปันนา ซึ่งรายชื่อพื้นที่การประดิษฐานพระพุทธเจดีย์หรือรอยพระบาทสำคัญในแต่ละท้องถิ่นนี้ได้มีการจดบันทึกเอาไว้อยู่ก่อนแล้ว ณ สำนักพระหิน หรือมหาเสลอาราม กรุงลังกา โดยเหล่าบรรดาพระภิกษุจากทั่วทุกสารทิศที่ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษางานพระศาสนายังลังกาก่อนหน้านี้คงช่วยกันแจ้งข้อมูลไว้แล้ว
น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้พระธรรมรสนำข้อมูลภาคทฤษฎีที่ได้รับทราบ ไปสู่การแกะรอยในภาคสนาม ท่านลงพื้นที่จริงด้วยการจาริกไปตามรายชื่อของบุญสถานนับหลายร้อยแห่งที่ปรากฏ ทั้งภายในราชอาณาจักรมอญตลอดจนถึงดินแดนต่อเนื่องใกล้เคียงเท่าที่จะสามารถเดินทางไปถึงได้ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2060-2066 โดยใช้เวลาธุดงค์ในดินแดนต่างๆ ทั้งสิ้น 6 ปี
ปี พ.ศ.2066 จึงเริ่มเขียนงานชิ้นโบแดงขึ้นชื่อ "พยาเทสะจารี" อันเป็นภาษามอญ-ม่าน (พม่า) ถือเป็นวรรณนิพนธ์ที่ต้องทุ่มเทความวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้า มีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก น่าตื่นเต้นไม่น้อยที่เมื่อ 500 ปีก่อน พระภิกษุชาวมอญเพื่อนบ้านของเราได้นำเสนองานวิจัยระดับ Ph.D เล่มแรกๆ ของโลก
"พยาเทสะจารี" ได้รับการแปลเป็นภาษาล้านนาในระยะเวลาต่อมาด้วยชื่อ "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" และยังได้ส่งอิทธิพลให้แก่การเขียน "ตำนานพระอุรังคธาตุ" และ "ลำพระเจ้าเยี่ยมโลก" ของชาวลาวล้านช้างอีกด้วย โดยมีพล็อตเรื่องในทำนองเดียวกัน นั่นคือการเสด็จมาประทานเกศาธาตุตามที่ต่างๆ ของพระพุทธเจ้าพร้อมการตรัสพยากรณ์ยังดินแดนสำคัญที่มีการสร้างพระธาตุเจดีย์หรือมีรอยพระบาท
พระเจ้าเลียบโลก มาจากไหน และจะไปไหน
ตํานานพระเจ้าเลียบโลกฉบับภาษาล้านนานี้ "พระมหาโพธิสมภาร" ภิกษุชาวหริภุญไชยได้คัดลอกไว้เมื่อปี พ.ศ.2066 จากต้นฉบับที่พระธรรมรสได้นำติดตัวมาขณะเดินทางจาริกแสวงบุญตามศาสนสถานต่างๆ กระทั่งเข้ามาถึงอาณาจักรหริภุญไชย
ต่อมาวัดต่างๆ หลายแห่งทั่วภาคเหนือได้คัดลอกต่อๆ กันอีกหลายสำนวน จนถึงขนาดนำไปใช้เป็นคัมภีร์สำหรับ "สวดเทศนา" มีทั้งหมดบ้าง 11 กัณฑ์ บ้าง 12 กัณฑ์ หรือ 11-12 ผูก เนื้อหาโดยรวมกล่าวถึงพระพุทธเจ้าตั้งแต่แรกเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์จนถึง
พระชาติสุดท้ายที่ทรงบรรลุพระอรหันต์ แล้วเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ตามสถานที่ต่างๆ ในอุษาคเนย์ฟากตะวันตก พอสรุปเส้นทางย่อๆ ได้ดังนี้
ผูกที่ 1 หลังจากที่เสด็จโดยญาณวิถี (เหาะ) ออกมาจากกรุงพาราณสี ชมพูทวีปแล้ว จุดแรกที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาเลียบโลกแถวนี้ คือ
เขตเมืองลี้ เลาะเลียบแม่น้ำปิง ถึงหริภุญไชยนคร ทรงทำนายว่าต่อไปพระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองที่นี่ แล้วเสด็จไปยัง อุจฉุตบรรพต (ดอยสุเทพ) ณ อภินวนคร (เมืองเชียงใหม่) ต่อไปยังปากแม่น้ำสา พระบาทผาชะแคง เมืองเชียงดาว
เดินทางต่อไปยังเมืองวิเทหะ (หนองแส?) อุตรปัญจนคร (แสนหวี?) จากนั้นเสด็จเสวยภัตตาหารพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 รูป ณ ดอยเวภารบรรพต (พระบาทรังรุ้ง) อันเป็นรอยต่อของ 3 อาณาจักร คือ กรุงโกสัมพี (ฉาน?) หริภุญไชย (สยาม) และเมืองแพรหลวง (จีน?)
ผูกที่ 2 และ 3 เสด็จมาประทานพระเกศาธาตุบนดอยสิงกุตร ในเขตเมืองหงสาวดีจากนั้นเข้าสู่เขตเมืองเชียงของ เชียงตุง ดอยมหิยังคณะ (เมืองยองในสิบสองปันนา) ฯลฯ
ผูกที่ 4 และ 5 เสด็จไปยังเมืองฮ่อ เขตยูนนาน แล้วมาเมืองลื้อ เขตสิบสองปันนา และเมืองแข่ (ชาวไตหลงหรือไทหลวง) เป็นต้น ต่อไปยังเมืองลาเหนือ เมืองลาใต้ เมืองเชียงแข็ง ฯลฯ
ผูกที่ 6 มีความน่าสนใจมาก นอกจากจะเสด็จประทับรอยพระบาทตามสถานที่ต่างๆ แล้ว ยังมีการสอนชาวเมืองให้รู้จักการทำยนต์ผัดน้ำ (ยนต์หมุน) เข้านา
ผูกที่ 7 ทรงปราบอาฬวกยักษ์ เมืองอาฬวี ให้ถือศีลห้า มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และเสด็จไปเทศนายังสถานที่ต่างๆ เขตเขมรัฐ เชียงตุง
ผูกที่ 8 เสด็จมายังโยนกนาคนคร เชียงแสน เชียงราย ลำปาง พะเยา เป็นต้น
ผูกที่ 9 เสด็จเลียบแม่ปิงอีกครั้งคล้ายผูกแรก แต่สวนทางกัน ผูกที่ 1 นั้นขึ้นจากใต้สู่เหนือ แต่ผูกนี้ล่องแม่ปิงลงใต้สู่เขตเชียงใหม่ ทรงทำนายว่าต่อไปจะมีมหาอารามหลายแห่ง คือวัดบุปผาราม เวฬุวันอาราม วัดบุพพาราม อโศการาม พืชชอาราม สังฆาราม นันทอาราม และโชติอาราม เน้นว่ามีการบวชของนักบวชพม่า 2 รูปและเรื่องราวของชาวละว้าช่วยกันสร้างพระพุทธรูปดินเผาจำนวน 3,300,000 องค์ ถวายพระพุทธเจ้าแล้วโปรดให้ขุดหลุมฝังดินทั้งหมด เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้สนใจเรื่อง "พระพิมพ์สกุลลำพูน" ควรนำไปใช้ถอดรหัสตีความ
ผูกที่ 10 กล่าวตรัสพุทธทำนาย ถึงความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในช่วง 5,000 ปี ว่าจะเกิดกลียุคหรือไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก เพราะเทวดาอารักษ์ไม่พอใจในการกระทำของมนุษย์
ผูกที่ 11 เสด็จไปแดนสิบสองปันนาอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่ปรินิพพาน เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว กล่าวว่ามีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเป็นกี่ส่วน มีการสังคายนาพระไตรปิฎกกี่ครั้ง
ท้ายสุดสรุปข้อมูลว่า มีพระบรมธาตุในอาณาจักรหงสาวดี 52 แห่ง ส่วนอาณาจักรหริภุญไชยมีพระธาตุ 23 แห่ง รอยพระบาท 12 แห่ง สุดท้ายในเขตสิบสองปันนามีพระบาทและพระบรมธาตุรวม 70 แห่ง
ตำนานห้ามถาม แต่อย่าห้ามเถียง
เมื่อมีเด็กขี้สงสัยเพียรถามผู้เฒ่าผู้แก่ถึงเรื่องความจริง-เท็จของตำนานพระเจ้าเลียบโลก ว่าเป็นไปได้ล่ะหรือที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จออกมานอกชมพูทวีปด้วยการเหาะ?
มักจะถูกดุถูกห้ามในทำนองว่า "ยากเกินกว่าอธิบาย" หรือ "เรื่องนี้เป็นอจินไตย (รู้ไปก็ไร้ประโยชน์) อย่ามาเซ้าซี้ถามอีก" และลงท้ายแบบข่มขู่สำทับว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่"
กลายเป็น "ตำนานห้ามถาม" ยิ่งยั่วยุให้เด็กยุคหลังเยาะหยันคนรุ่นก่อนเอาได้ง่ายๆ ว่านอกจากจะใจแคบแล้วยังไม่มีภูมิปัญญาที่จะหาคำอธิบายได้ดีกว่าการออกคำสั่งให้เด็กหุบปาก
องค์ความรู้ในยุคนี้ ทำให้เด็กของเราหูตากว้างไกล เริ่มรู้ดีว่าพระพุทธเจ้าทรงเดินทางไปประกาศพระพุทธศาสนา (จริงๆ) เฉพาะในเขตแคว้นที่เจริญแล้วในชมพูทวีปเพียง 7 รัฐ เท่านั้น ได้แก่ มคธ โกศล วัชชี อังคะ วังสะ กาสี และอุชเชนี ส่วนมากเป็นแคว้นทางทิศเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตอนกลางบางส่วน
สำหรับแคว้นทางตอนใต้สุด ตะวันออกสุด และตะวันตกสุดของอินเดีย เป็นการยากที่จะให้พระพุทธศาสนาหยั่งรากลงได้ เพราะเป็นเขตที่ศาสนาพราหมณ์ยังมั่นคงแข็งแรงอยู่ แม้แต่ในที่ที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ก็ยังมีศาสนาพราหมณ์และศาสนาเชนแทรกซึมอยู่ทุกแห่ง
ฉะนั้น คำถามที่ว่า "พระพุทธเจ้าเสด็จมาเลียบโลกตามแว่นแคว้นสุวรรณภูมิด้วยพระองค์เองจริงหรือไม่" นั้น ย่อมมีคำตอบกระจ่างชัดอยู่ในตัวเองดีอยู่แล้ว
เอาเถิด ใครที่ปักใจเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง สะท้อนว่าคนผู้นั้นมีศรัทธานำปัญญา ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่มีความจำเป็นต้องไปต้อนให้เขาจนมุม ด้วยการหาเหตุผลอะไรมาอธิบาย เพราะอันที่จริงวัตถุประสงค์ของผู้แต่งนั้นตั้งใจจะใช้ "บุคคลาธิษญาณ" ให้เกิด "ธรรมาธิษฐาน" ต่างหาก
หมายความว่า ขณะที่เราก้มกราบสักการะพระธาตุเจดีย์หรือรอยพระบาทแห่งใดก็ตาม พลันเกิดความปีติศรัทธาที่จะทำความดีตามรอยพระพุทธองค์ ก็เสมือนว่ามีพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่ ณ แห่งนั้นจริงในความรู้สึก
โลกไร้พรมแดนของมอญ ม่าน ฉาน ล้านนา
ในอดีต "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" เคยถูกดูแคลนว่าเป็นนิทานหลอกคนไร้การศึกษาให้หลงงมงาย นักวิชาการไม่น้อยกล่าวประณามถึงขั้นว่าเป็นตำนานโกหกทุศีลจาบจ้วงล่วงเกินองค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า
แต่ทว่ามุมมองของปราชญ์ล้านนายุคใหม่ กลับยกย่องว่านี่คืองานวรรณกรรมชิ้นเอกของพระภิกษุมอญ ที่ลงทุนเดินทางจาริกแสวงบุญด้วยความเหนื่อยยาก และยังมีความสามารถผูกตัวบทให้เชื่อมโยงระหว่างพุทธประวัติเข้ากับภูมิสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาในแถบสุวรรณภูมิตอนบนอย่างแนบเนียน จนเสมือนเป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้นจริง ถือเป็นพุทธตำนานฉบับท้องถิ่นที่สานร้อยสายสัมพันธ์ของชนเผ่ามอญ-ไท-ชาวเขาในดินแดนล้านนา สิบสองปันนา ไทใหญ่เข้าด้วยกัน
การเชิดชูสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสามารถโยงใยบ้านเล็กเมืองน้อย ให้เป็นแผนที่ใน "โลก" ของชนเผ่าชาวพุทธที่ไปมาหาสู่กันจนเป็น "อาณาจักร" หรือ "โลก" เดียวกัน คือความสัมพันธ์ระหว่างพี่ๆ น้องๆ เพื่อนบ้านชาวอุษาคเนย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กันมาเนิ่นนานก่อนการแบ่งแยกอธิปไตยเหนือดินแดน เป็นไทย เป็นพม่า เป็นจีน เป็นลาว อย่างน่าชิงชังดังเช่นทุกวันนี้
สมัยก่อนเราต่างมีความผูกพันกันมิใช่แค่เพียงโลกของผลประโยชน์แบบหยาบๆ ในเชิงรูปธรรม เช่น การเมือง เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ชาวอุษาคเนย์ยังมีความผูกพันร่วมกันไปถึงเรื่องของมโนทัศน์ ธรรมทัศน์ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่ร่วมกันอีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของพระพุทธศาสนานั้นมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการเชื่อมร้อยให้ผู้คนต่างเผ่าหลากพันธุ์สามารถเข้ามาเป็นหมู่เป็นพวกเดียวกันได้อย่างละมุนละไม ไม่รังเกียจเดียดฉันท์กัน
ดังนั้น ตำนานพระเจ้าเลียบโลกจึงไม่ใช่เป็นเพียงตำนานที่ให้ข้อมูลเรื่องชื่อบ้านนามเมืองของแว่นแคว้นพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนนัยถึงกลุ่มคนในดินแดนต่างๆ ว่ามนุษยชาติทั้งหมดนี้ล้วนมีศักดิ์ศรีและมีเกียรติเสมอกันด้วย
เห็นได้จากการที่พระพุทธองค์เสด็จไปยังแต่ละท้องถิ่น มักพบกับกลุ่มคนที่ "ต่ำต้อย" ที่สุดในสังคมก่อนเป็นพวกแรก นั่นคือ ชาวลัวะ กะเหรี่ยง เม็ง ขมุ ข่า ทมิฬ มิลักขะ อาฬวี หรือแม้แต่ "ยักษ์" ล้วนเป็นตัวละครที่มีโอกาสใกล้ชิดกับพระพุทธองค์ กลุ่มคนเหล่านี้ถูกทำนายให้ร่วมรับรู้การตรัสพยากรณ์เสมอ
จะเห็นว่าพระพุทธองค์ไม่เคยเสด็จไปพบกับเจ้าเมือง พระราชา หรือชนชั้นสูงของแต่ละเมืองเลย
วรรณกรรมชิ้นนี้จึงมิได้เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองสังคมศักดินา หรือขีดวงจำกัดเฉพาะคนในชาติพันธุ์มอญ-ฉานหรือไทสามกลุ่มที่พระธรรมรสต้องนำไปรายงานให้พระเจ้ากรุงหงสาวดีทราบเท่านั้น
หากแต่ยังได้สร้างเรื่องเล่าของคนชายขอบจากกลุ่มอื่นเข้าไว้ในความทรงจำของตน ด้วยศักดิ์ศรีและฐานะที่เท่าเทียมกัน
เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังสถานที่ใด ดินแดนที่พระองค์เสด็จไปนั้นย่อมมีความเจริญขึ้นด้วยสมบัติ 2 สถาน คือโลกียธรรมและโลกุตรธรรม
หากเสด็จไปเมืองใหญ่ที่มีความเจริญอยู่แล้ว มักตรัสพยากรณ์ว่าจะมีพระธาตุเจดีย์อุบัติขึ้น ส่วนหากเป็นดอยสูงในเขตป่าเขา ทรงประทับแค่รอยพระบาทเท่านั้น เหตุเพราะปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้อให้สร้างพระธาตุเจดีย์ได้
ภาพความสัมพันธ์ของสังคมวัฒนธรรมขนาดใหญ่ครอบคลุมภูมิภาคกว้างไกลในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดี-สาละวิน-โขง คือฉากอันตระการที่ปรากฏอยู่ใน "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" ที่เมื่อเราหันกลับไปมองแผนที่โลกใบนั้นด้วยสายตาคนปัจจุบันนี้ ความงดงามกลับถูกเส้นชายแดนและวีซ่าขีดฆ่าเป็นแผ่นดินต้องห้าม ผสานด้วยการเหยียดหยามให้เกิดความต่ำต้อยในเรื่องชนเผ่าชาติพันธุ์
ภาพคนมอญ ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่อพยพโซซัดโซเซจากเขตแดนพม่า เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายลักลอบเข้าเมืองไทยแบบผิดกฎหมายมาหาเช้ากินค่ำด้วยแรงงานราคาถูก ได้รับคำประณามจากสังคม "ไทยพุทธ" ว่าเป็นพลเมืองชั้นสาม
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะแม้แต่คนไทยด้วยกันที่เป็นรากหญ้าพื้นฐานหลักในสังคมไทย ยังถูกตีค่าเป็นผักปลา หรือ "ไพร่" พลเมืองชั้นสอง ถูกล้อมปราบกวาดล้างจับกุมคุมขังสังเวยไปแล้วกี่ชีวิต ทุกครั้งที่มีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเสรีภาพ
พอทีเถอะ! เวลาที่ก้มลงกราบรอยพระบาทหรือพระธาตุเจดีย์ แล้วคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนรุ่นก่อนในการนึกสงสัยว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับเลียบโลกจริงหรือไม่ เรื่องนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรอีกต่อไป
นัยของตำนานพระเจ้าเลียบโลกนั้นอยู่ที่ คุณเคยเคารพสิทธิแห่งความมนุษย์ เคยให้เกียรติเพื่อนร่วมโลกทั้งชาวพุทธและผู้นับถือศาสนาอื่นว่า มีศักดิ์ศรีเสมอกันกับคุณหรือไม่เท่านั้นเองต่างหาก
++
รอยเท้าใคร ฝากไว้ในแผ่นศิลา?
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1598 หน้า 75
ที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์และกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายชิ้น เนื่องจากเป็นแอ่งอารยธรรมโบราณยุคหินกลาง-หินใหม่-ยุคเหล็ก จนถึงยุคสำริด ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ทาอันเป็นศูนย์กลางแห่งการเกิดแผ่นดินไหวครั้งแล้วครั้งเล่า
โบราณคดีจากแม่ทาครั้งนี้เป็นปริศนารูปรอยเท้าซ้อนกันหลายรอย ฝังไว้ในลานแผ่นหินบนเนินเขาที่ค่อนข้างลาดต่ำไม่สูงชันนัก
ชาวบ้านค้นพบรอยเท้าประหลาดนี้ที่เนินหินด้านหลังวัดดอยสารภี บ้านดอยสารภี ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา มานานกว่าสี่สิบปี แต่เก็บงำเอาไว้ด้วยความพิศวงงุนงง ด้วยไม่รู้จะสอบถามใคร
จนกระทั่ง 4 ปีก่อน ดิฉันมีโอกาสลงพื้นที่สำรวจเรือโบราณอายุพันกว่าปีที่จมอยู่ใต้ลำน้ำแม่ทาของวัดเดียวกันนี้ ชาวบ้านแอบกระซิบกระซาบว่าจะพาไปดูของดีอีกชิ้นหนึ่งที่อยู่ด้านหลังวัดเราไต่ภูเขาขนาดเตี้ยๆ ลงไปพบเนินหินที่ถูกปกคลุมด้วยพงหญ้ารก ช่วยกันถากถางเศษใบไม้แห้ง พลันต้องตะลึงงันกับของดีชิ้นใหม่นี้
จนแทบจะหันหลังให้เรือไม้ตะเคียนทองยาว 20 กว่าเมตรนั้นไปเลย
รอยเท้าแท้หรือเทียม
ธรรมชาติเสกหรือมนุษย์สร้าง?
รอยเท้าบนแผ่นหินที่ว่านี้ พบอยู่หลายรอย แต่ละรอยมีขนาดเล็ก ประกอบด้วยริ้วเส้นขูดขีดเป็นร่องลึก ทำให้เกิดกรอบรูปสามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าบ้าง กลับหัวกลับหางไปคนละด้านก็มี บางรอยก็แกะให้เท้านูนลอยขึ้นมาจากพื้นหลัง แต่ส่วนใหญ่จะคว้านลึกลงในเนื้อหิน ให้เห็นแค่กรอบหรือขอบเท้ารอบนอกเท่านั้น
คณะสำรวจของเรา ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจากศูนย์พฤกษศาสตร์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ร่วมเดินทางไปด้วย จึงถือโอกาสขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้น ช่วยพิสูจน์เบื้องต้นให้หายคลางแคลงใจก่อนว่า
รอยเท้าที่เห็นนี้เป็นรอยเท้าสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ตามธรรมชาติ หรือเป็นร่องรอยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา หรือ ...สิ่งที่เราสนใจมากเป็นพิเศษ อาจเป็นผลงานการสร้างสรรค์โดยฝีมือมนุษย์?
หลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายถกเถียงกันอยู่ครู่ใหญ่ ต่างลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ร่องรอยเหล่านี้หาใช่รอยเท้าของไดโนเสาร์หรือสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์เหมือนที่พบตามภาคอีสานของไทยไม่
อีกทั้งไม่ใช่ร่องรอยของพื้นหินที่เกิดจากการแปรปรวนของ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่พัดพาตะกอนมาถมทับจนเกิดลวดลาย เพราะร่องรอยของธารน้ำที่กัดเซาะแผ่นหินมักจะเป็นรอยขีดตามแนวบน-ล่างหรือเฉียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในที่นี้เต็มไปด้วยรอยขวางไขว้ไปมา
ข้อสรุปเบื้องต้นจากตาเนื้อ (ยังมิได้พิสูจน์ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์) พบว่า มิใช่ร่องรอยธรรมชาติ แต่สำหรับเรื่องการกำหนดอายุว่ารอยเหล่านี้มีมาแล้วกี่พันปี ทีมนักวิทยาศาสตร์ขอให้ฝ่ายนักโบราณคดีช่วยเข้ามาทำหน้าที่ศึกษาสืบค้นกันต่อไปแทนจะดีกว่า
หลังจากนั้น อีกไม่นาน ดิฉันจึงได้เชิญนักโบราณคดีไปร่วมลงพื้นที่อีกสองครั้ง ครั้งแรกจากสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ และครั้งหลังจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
นักโบราณคดีตั้งข้อสังเกตว่า รอยเท้าเหล่านี้เป็นรอยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เนื่องจากพบว่ามีการตกแต่งรอยเท้าแต่ละรอยด้วยการยกขอบเส้นหนาประมาณ 1 เซนติเมตรอย่างจงใจ
Rock Art ชิ้นแรกในล้านนา
กับปริศนารอยพระบาท
ถือว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบหลักฐานงานประติมากรรมขูดขีดบนแผ่นหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคเหนือตอนบน หรือที่เรียกว่างาน Rock Art ไม่ใช่ Rock Painting ภาพเขียนสีแดงตามฝาผนังถ้ำซึ่งพบกันทั่วไปแล้วหลายแหล่ง
โดยปกติงานขูดขีดลวดลายบนแผ่นหินโดยไม่ใช้สีแดงนี้ ในประเทศไทยเคยพบมากแถบภาคอีสานตอนเหนือ เช่น ที่จังหวัดเลย สกลนคร อุดรธานี และภาคเหนือตอนล่างเคยพบที่พิษณุโลกเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้การพบ Rock Art ที่แม่ทา ลำพูน จึงถือว่าเป็นการค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่ครั้งแรกให้วงการโบราณคดีล้านนา
ลวดลายยุ่งเหยิงพัลวันพัลเกขนาดนั้น แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นรูปรอยเท้า?
แล้วหากเป็นรอยเท้าจริง ควรเป็นรอยเท้าใคร?
รอยพระบาทพระพุทธเจ้า รอยเท้ามนุษย์ หรือรอยเท้าสัตว์?
เหตุเพราะมันดูยาก ดิฉันจึงต้องขอแรงเชิญชวนผู้อ่านให้ช่วยกันสืบค้นหาเจ้าของรอยเท้านี้พร้อมๆ กัน
ลองมาดูความน่าจะเป็นของแต่ละกรณี เป็นไปได้หรือไม่สำหรับรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าและบรรดาพระอรหันตสาวก?
ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกมักปรากฏเรื่องราวว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จโดยญาณวิถีออกนอกชมพูทวีปไปประทับรอย
พระบาทตามแว่นแคว้นต่างๆ ในสุวรรณภูมิเพื่อโปรดเวไนยสัตว์
ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับรอยพระบาทที่พบในประเทศไทยชิ้นเก่าแก่มากที่สุดในเขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ พระบาทรังรุ้งหรือพระบาทสี่รอยที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนภาคอื่นๆ รอยพระบาทรุ่นเก่าพบที่สระมรกต และที่พระพุทธฉาย สระบุรี (เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของ "รอยพระบาทกับตำนานพระเจ้าเลียบโลก" นี้เป็นประเด็นใหญ่ที่คงต้องแยกเขียนในโอกาสต่อไป)
ดิฉันได้สอบถามปราชญ์ชาวบ้านในละแวกแม่ทา ว่าเคยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกฤษฎาภินิหารเรื่องรอยพระบาทแถวนี้บ้างหรือไม่ เพราะเห็นว่าแทบทุกอำเภอในลำพูนล้วนแล้วแต่มีการพบรอยพระบาทโดยเชื่อมโยงกับพุทธตำนานทั้งสิ้น
อาทิ พระพุทธบาทตากผ้าที่อำเภอป่าซาง พระบาทห้วยต้ม พระบาทป่าไผ่ พระบาทผาหนาม ที่อำเภอลี้ พระบาทดอยไซ ในอำเภอเมือง เป็นต้น
คำตอบของชาวบ้านก็คือ ไม่เคยมีเรื่องเล่าท้องถิ่นหรือตำนานเชิงมุขปาฐะที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าในบริเวณนี้แต่อย่างใด
เว้นเสียแต่อีกปริศนาหนึ่งซึ่งทิ้งร่องรอยไว้ไม่ไกลจากบ้านดอยสารภี อยู่ค่อนไปในหุบเขา ได้มีการพบรอยฝ่ามือและนิ้วทั้งห้าขนาดใหญ่บนแผ่นหิน
ชาวล้านนาเรียกรอยนี้ว่า "หัตถบาท" (ผสมคำระหว่างมือและเท้าเข้าด้วยกัน) แต่ว่ารอยหัตถบาทที่แม่ทานี้ดิฉันยังไม่มีโอกาสเดินทางไปสำรวจ เคยไปพบแต่รอยหัตถบาทที่อำเภอบ้านโฮ่งเท่านั้น
โดยปกติแล้วครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา และบรรดาศิษยานุศิษย์ มักได้ค้นพบรอยพระบาทที่เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับตามจุดต่างๆ เกือบทั่วทุกหนแห่งมาแล้ว ด้วยการแกะรอยตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่เขียนไว้เมื่อราว 500 ปีก่อน
เมื่อพลิกดูข้อมูลดังกล่าวก็ไม่พบว่ามีการเสด็จมาแถบแม่ทาแต่อย่างใด ทั้งนี้ มิได้สรุปว่า หลักฐานดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าเสียทีเดียว หากแต่ชื่อบ้านย่านนามที่ปรากฏในตำนานนั้นมักเขียนเป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น มิได้ใช้ภาษาของคนเมืองในยุคปัจจุบัน
เช่น เรียกแม่น้ำขานว่าแม่น้ำโรหินี เรียกเวียงลี้ว่าเวียงลับแลลิ มีอยู่หลายจุดเหมือนกันที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าชื่อเหล่านั้นตั้งอยู่ที่ไหนกันแน่ เช่น บ้านโทรคาม บ้านปทารคาม คำว่า "ทา" ในที่นี้จะเกี่ยวข้องกับแม่น้ำทา ในอำเภอแม่ทาหรือไม่
ฉะนั้น การเชื่อมโยงไปสู่เรื่องรอยพระบาทพระพุทธเจ้านั้น ขอให้พักไว้ก่อน ใช่เพียงแต่ไม่มีตำนานหน้าไหนมารองรับเท่านั้น หากหลักฐานด้านโบราณคดีก็พิสดารแปลกแหวกแนวไปจากรอยพระบาทอื่นๆ เกินกว่าจะให้เชื่อว่าเป็นรอยพระบาทได้
หากมิใช่รอยพระบาท
ฤาเป็นไพร่มนุษย์ในรอยเท้าสัตว์
การทำรูปรอยเท้าคนขนาดใกล้เคียงของจริงหลายรอยบนเนินหินนี้ นักโบราณคดีเชื่อว่าน่าจะใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ซึ่งโดยปกติการวาดภาพบนผนังถ้ำนั้น เรามักจะเห็นแต่ร่องรอยของภาพ "มือแดง" อันมีความหมายถึงการแสดงความเป็นเจ้าของอาณาบริเวณนั้น รวมถึงการเซ็นเยี่ยมของแขกแปลกหน้า มากกว่าที่จะแสดงด้วย "รอยเท้า"
ในขณะที่ตำนานความเชื่อเรื่องการถือกำเนิดของมนุษย์ในแถบลุ่มแม่น้ำปิงหรือน้ำแม่ระมิงค์ก่อนยุคสร้างอาณาจักรหริภุญไชยราวพันหกร้อยปีที่ผ่านมานั้นกลับมีการระบุถึงคำว่า "รอยเท้าสัตว์"
ตำนานสร้างเมืองลำพูนตอกย้ำแล้วย้ำอีกว่า คนพื้นเมืองหรือไพร่แถบนี้เกิดมาจากรอยเท้าสัตว์ตระกูลต่างๆ สามตระกูล ได้แก่ ตระกูลช้าง แรด และวัว
โดยผูกเรื่องให้มี "ฤษี" กลุ่มหนึ่งนาม "วาสุเทพ" หรือ "สุเทวฤษี" นามนี้แท้ก็คือสมัญญาของ "กฤษณะวาสุเทพ" ผู้เป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์นั่นเอง ฤษีในที่นี้หมายถึงนักพรตหรือพราหมณ์จากอินเดียที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาฮินดูในยุคสุวรรณภูมิ
ตำนานเขียนไว้ชวนสะท้อนใจว่า เหล่าฤษีได้ถ่ายคูถถ่ายมูตรไว้ในรอยเท้าสัตว์สามจำพวก ต่อมานางช้าง นางแรด นางโคได้ไปดื่มกินอุจจาระ-ปัสสาวะที่ฤษีถ่ายไว้ ให้เผอิญว่ามีเชื้ออสุจิของฤษีปะปน บรรดานางสัตว์เหล่านั้นเกิดตั้งครรภ์ จึงคลอดทารกชาย-หญิงในรอยเท้าของพวกตน ฤษียินดีรับเลี้ยงไว้เป็นลูก และเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบใหญ่ ฤษีให้อยู่กินฉันผัวเมียกันเป็นคู่เป็นคู่ แล้วให้ปกครองหมู่บ้านแต่ละหมู่
นิทานหน้านี้ใครบ้างที่อ่านแล้วไม่สะดุ้งสะเทือน คนเขียนตำนานช่างตีค่าราคาของหญิงสาวพื้นเมืองซึ่งน่าจะเป็นชาวลัวะ-เม็ง-ขมุ ยุคพันกว่าปีเหล่านี้เสียต่ำต้อยเทียบได้กับ "สัตว์เดรัจฉาน" ตระกูลต่างๆ อุปโลกน์ให้เป็น ช้าง แรด วัว ตามสัญลักษณ์ Totem ไม้แกะสลักที่คนในสังคมบุรพกาลแต่ละหมู่บ้านนับถือ
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ บรรดาพราหมณ์นักพรตที่เข้ามาผจญภัยในดินแดนสุวรรณภูมิเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าวาณิชหรือมิชชันนารีเผยแผ่ศาสนา ในขบวนเดินทางย่อมมีแต่บุรุษล้วนๆ ไม่ได้พกภรรยามาด้วย
เมื่อห่างไกลจากบ้านเมืองชมพูทวีปมานานเข้าๆ ก็เริ่มมีความปรารถนาทางเพศอย่างรุนแรง จึงได้สมสู่ (ขออนุญาตไม่ใช้คำว่า "สมรส") กับหญิงสาวพื้นเมืองผิวคล้ำที่ยังนับถือเทพเจ้าสัตว์ต่างๆ เมื่อหลวมตัวได้น้องนางบ้านป่ามาเป็นเมียแล้ว เป็นการยากเหลือเกินที่จะยกย่องให้เกียรติพวกนางในฐานะภรรยา ด้วยตระหนักว่าพวกตนเป็นชนชั้นพราหมณ์ ส่วนหญิงเหล่านั้นอยู่ในวรรณะศูทร อายแม้แต่จะบอกว่าได้หลับนอนร่วมเพศกับพวกเธอ
คำอธิบายประวัติศาสตร์หน้านี้ จึงเลี่ยงไปเขียนในทำนองว่า การที่พวกหล่อนเกิดตั้งท้องขึ้นมาได้นั้น เหตุเพราะดันมาดื่มกินน้ำเชื้ออสุจิจากรอยเท้าของสัตว์เองต่างหากเล่า หาได้เกิดจากการเสพสังวาสด้วยจิตปฏิพัทธ์ในฐานะมนุษย์กระทำกับมนุษย์ไม่
ทารกจัณฑาลหรือไพร่เหล่านั้นจึงถูกเรียกขานว่าเป็นพวก "สังเสทชะ" หรือ "โอปปาติกะ" คือเป็นวิญญาณเร่ร่อนที่ไม่มีใครตั้งใจให้มาเกิด
เรื่องราวการกดขี่ดูถูกคนพื้นเมืองเพศแม่ในลักษณะเช่นนี้เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ดังเช่น การก่อเกิดอาณาจักรกัมพูชาก็เป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ กล่าวว่าพวก "ขอม" หรือ "กรอม" คือผลผลิตจากการสมสู่ระหว่างเจ้าชายโกณฑิญญะจากอินเดียกับนางนาคโสมาวดี
อะไรทำนองนี้
คืออย่างไรเสีย ก็มิอาจยอมรับได้ว่าหญิงชาวบ้านผู้มีฐานะเป็นแม่ของลูกตนนั้น มีศักดิ์ศรีของมนุษย์ตัวเป็นๆ หากไม่เป็นช้าง ก็ต้องเป็น แรด วัว สมัน หรือไม่ก็งู
ตำนานเรื่องการกำเนิดมนุษย์ไพร่จากรอยเท้าสัตว์ในสุวรรณภูมินั้น บันทึกไว้โดยพวกพราหมณ์หรืออารยันในลักษณะการเหยียดผิวคนผิวดำว่าก่อนจะกลายมาเป็นชาวทมิฬหรือ "มิลักขุ-มิลักขะ" ในวรรณะศูทรนั้น เคยมีแม่เป็นสัตว์ที่เผอิญตั้งท้องโดยไม่มีพ่อมาก่อน
จากนั้นได้เล่าขานสืบต่อๆ กันมาในลักษณะมุขปาฐะ (Oral History)
จนกระทั่งพระภิกษุชาวล้านนาที่นับถือพระพุทธศาสนาสายลังกาวงศ์ราว 500 ปีก่อนได้เขียนตำนานพระเจ้าเลียบโลกขึ้นมาบ้าง โดยจงใจใช้บุคคลาธิษฐานให้ "รอยพระบาท" ของพระพุทธเจ้าเป็นเสมือนเครื่องมือลบรอยเท้าเดิมๆ ของพวกพราหมณ์ที่เคยเหยียบย่ำกดขี่ข่มเหงคนพื้นเมือง "ลูกไพร่ไม่มีพ่อ" ช่วยปลดปล่อยให้หายจากปมด้อยปมเขื่อง
ทั้งรอยพระบาทก็ดี หรือรอยเท้าสัตว์ตระกูลต่างๆ ก็ดี ทำไมต้องใช้ "รอยเท้า"?
หากมีเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นจริงในดินแดนสุวรรณภูมิ ราวสองพันกว่าปีที่ผ่านมา ก็ย่อมตรงกับยุคก่อนประวัติศาสตร์
แต่จะมีความเกี่ยวข้องอะไรกันไหมกับรอยเท้าบนแผ่นหิน เป็นเรื่องที่ชาวบ้านแม่ทากำลังรอคอยคณะนักโบราณคดีและนักวิชาการด้านอื่นๆ แบบสหสาขา มาทำการศึกษาพิสูจน์ด้วยใจระทึก
ยิ่งวันเวลาผ่านพ้นไป ชาวบ้านพรานป่ายังคงค้นพบรอยเท้าบนแผ่นหินตามซอกหลืบถ้ำลึกลับ เพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกหลายจุด บางแหล่งปรากฏรอยเท้าช้าง รอยเท้าวัวขนาดใหญ่อยู่รอบนอก แล้วมีรอยเท้ามนุษย์เล็กๆ หลายรอยฝังอยู่ภายในรอยเท้าช้างและรอยเท้าวัวนั้น
ซึ่งชาวบ้านคอยรายงานให้ดิฉันทราบเป็นระยะๆ ว่าขณะนี้กำลังค้นหาร้อยเท้าแรดอีกตระกูลหนึ่ง!
นักโบราณคดีทั้งภาครัฐและเอกชน จะรอช้าอยู่ไย ใครสนใจร่วมไขปริศนา อยากพิสูจน์รอยเท้าบนแผ่นหิน เชิญแวะไปเยี่ยมชมได้ที่เนินหินด้านหลังวัดดอยสารภี ต.ทาสบเส้า อ.แม่ทา จ.ลำพูน ขอให้ผู้ใหญ่บ้าน (พ่อหลวง) นำทางไปก็ยิ่งดี จะได้ช่วยกันขบคิดให้แตกเสียทีว่า
รอยเท้าในตำนานของคนวรรณะจัณฑาลหรือชนชั้นไพร่ที่ถูกเรียกว่า "รอยเท้าสัตว์" นั้นยังหลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่จริงบนแผ่นหิน
หรือมิใช่?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย