http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-01

สถาบันพระมหากษัตริย์ : ความขัดกันระหว่างนัยในรัฐธรรมนูญฯลฯ(1) (2) โดย แพทย์ พิจิตร

.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ; สถาบันพระมหากษัตริย์ : ความขัดกันระหว่างนัยในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม กับ หลักแห่งอำนาจอธิปไตยปวงชน (1)
โดย แพทย์ พิจิตร คอลัมน์ คนแคระบนบ่ายักษ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1596 หน้า 34


สําหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมการเมืองไทย ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ให้เห็นถึงความต่างระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร กับ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม (หรือวัฒนธรรมทางการเมืองไทยนั่นเอง)

นั่นคือ "ความศักดิ์สิทธิ์" ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรนั้น "ไม่ค่อยต่างจากความเป็นที่เคารพสักการะเท่าใดนัก" ซึ่งเป็นนัยที่นักวิชาการสมัยใหม่ใช้

ส่วน "ความศักดิ์สิทธิ์" ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมมีนัยตามสถาบันพระมหากษัตริย์ในเกือบทุกสังคมในสมัยโบราณทั้งสิ้น นั่นคือ "ทรงมีอำนาจลี้ลับ (ศักดิ์) และทรงมีฤทธิ์ (สิทธิ์)"

นัยหรือสถานะที่ "ทรงมีอำนาจลี้ลับ (ศักดิ์) และทรงมีฤทธิ์ (สิทธิ์)" ของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนั้น แท้จริงก็คือ นัยของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามวัฒนธรรมทางการเมืองไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณนั่นเอง

และนัยดังกล่าวก็อยู่ในการรับรู้-ความเข้าใจและความคาดหวังของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองดังกล่าว

และแน่นอนว่า ทัศนคติดังกล่าวนี้ย่อมเป็นทัศนคติที่อยู่ภายใต้ญาณวิทยาแบบไทยและวัฒนธรรมแบบอำนาจ/สัมฤทธิผลนิยม และถ้าคิดตามตรรกะของวัฒนธรรมดังกล่าว ประชาชนที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมนี้ก็มักจะคาดหวังให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้ "อำนาจลี้ลับและฤทธิ์" ในการแก้ไขปัญหาและวิกฤตของสังคมการเมือง แทนที่จะหาทางแก้ไขปัญหาภายในระบอบประชาธิปไตยด้วยตัวเอง



จะว่าไปแล้ว ทัศนคติดังกล่าวย่อมขัดต่อญาณวิทยาแบบประจักษ์นิยมอันเป็นรากฐานสำคัญในเรื่องของการรับรู้ของผู้คนในระบอบประชาธิปไตย

อีกทั้งยังขัดต่อค่านิยมในเรื่องสิทธิเสรีภาพอันเสมอกันของผู้คนและรวมถึงหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วย

เพราะนอกจากการปกครองในแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงมีพระราชอำนาจอันล้นพ้น (absolute) และพิเศษ (prerogative) ดั่งที่เคยมีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) อย่างที่ปรากฏในแทบทุกสังคมโบราณ เพราะพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองสมัยใหม่---เฉกเช่นระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ---มีอยู่อย่างจำกัดมาก ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ดังอาจารย์นิธิได้กล่าวว่า "ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีอำนาจเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจกล่าวได้ด้วยว่า พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะบุคคลแทบจะไม่ได้แตกต่างจากบุคคลธรรมดาอื่นๆ เลย

ซ้ำร้าย ยังถูกลิดรอนสิทธิ์บางอย่างอีกด้วย เช่น ทรงอภิเษกสมรสกับหญิงต่างชาติไม่ได้ ทรงนับถือศาสนาอื่นนอกจากพระพุทธศาสนาไม่ได้ เป็นต้น"



โดยแท้จริงแล้ว ตามหลักการของการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จำกัด และเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ได้ก็เพราะทรงใช้หรือเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทย

อาจารย์นิธิชี้ให้เห็นว่า พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ "แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ ไปจนถึงการพระราชทานอภัยโทษผู้ต้องคดี และทรงใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย" และ "หลักที่จะยึดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์คือ ทรงใช้หรือเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทย จะว่าเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจสูงสุดก็ได้ เพราะเป็นอธิปไตยของปวงชน"

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นิธิก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังที่เขาอธิบายว่า "สถาบันหรือบุคคล ย่อมมี "อำนาจ" นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดทั้งนั้น เช่น พ่อมี "อำนาจ" เหนือลูก ครูและผู้อาวุโสเหนือศิษย์และผู้เยาว์ ชายเหนือหญิงในบางเรื่อง เป็นต้น"

ดังนั้น "จึงไม่แปลกที่สถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจนอกจากที่กฎหมายกำหนดอีกมาก เช่น เมื่อเป็นที่เคารพสักการะ ก็ย่อมมีอำนาจทางวัฒนธรรมสูง" แต่การมีอำนาจทางวัฒนธรรมสูงก็ไม่ได้หมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องมีอำนาจในทางการเมืองเกินกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ



อาจารย์นิธิได้ชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจที่ผิดๆ หรือเป็นความสับสนระหว่างบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ดังที่เขาได้ยกกรณีความเห็นที่แสดงออกในที่สาธารณะบ่อยครั้งว่า "ไม่ควรนำเอาร่าง พ.ร.บ. ที่ผิดแต่ได้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาไปแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน (ม.93 ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540) เพราะจะเป็นการ "ระคายเคือง เบื้องพระยุคลบาท""

และนอกจากนั้น อาจารย์นิธิยังเห็นว่า นี่ "เป็นการสับสนระหว่างองค์พระมหากษัตริย์และ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย (ม.3 ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540)"

เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ "สถาบันพระมหากษัตริย์...มีพระราชอำนาจและพระราชภาระตามรัฐธรรมนูญ (ม.94) ที่จะกลั่นกรองร่างกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านรัฐสภา เป็นดุลอีกอย่างหนึ่งสำหรับถ่วงรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แนบแน่นอยู่กับประชาชน ก็เท่ากับว่าพระราชอำนาจตรงนี้เป็นอำนาจของประชาชนด้วย พระราชอำนาจในมาตรานี้จึงช่วยเสริมบทบาทและอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ซึ่งมีมาตรการต่างๆ ระบุไว้อีกมากในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว"

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การกลั่นกรองร่างกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านรัฐสภาเป็นพระราชอำนาจและพระราชภาระของสถาบันพระมหากษัตริย์ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นภาระหน้าที่ที่ต้องทำตามกฎหมายนั่นเอง

ที่สำคัญคือ อำนาจและภาระหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ไม่ใช่ในฐานะที่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไพร่ฟ้าราษฎรไม่ควรนำเอาอะไรที่ผิดพลาดไปกราบบังคมทูลเกล้าถวาย

ขณะเดียวกันอาจารย์นิธิก็เน้นย้ำว่า พระราชอำนาจแลพระราชสิทธิ์และพระราชภาระดังกล่าวนี้ของสถาบันพระมหากษัตริย์สำคัญและยิ่งใหญ่ได้ก็เพราะมาจากอำนาจของประชาชน มิได้เป็นพระราชอำนาจที่เป็นของหรือมาจากตัวสถาบันฯเอง

ดังนั้น อาจารย์นิธิจึงติงว่า "การไม่นำร่างกฎหมายที่ผิดนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ จึงเท่ากับละเมิดพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์"

และถ้าพิจารณาตามความเข้าใจของอาจารย์นิธิที่มีต่อบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว การละเมิดพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในกรณีนี้โดยแก่นแท้แล้ว เป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของประชาชนนั่นเอง

ซึ่งอาจารย์นิธิได้กล่าวไว้ว่า "ขอย้ำอีกครั้งว่า ละเมิดพระราชอำนาจของสถาบัน ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์ เมื่อเราพูดถึงพระราชอำนาจของสถาบัน เรากำลังพูดถึงอำนาจที่เชื่อมโยงไปถึงอำนาจของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

ขณะเดียวกัน อาจารย์นิธิได้กล่าวต่อไปอย่างแหลมคมว่า "การไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ จึงยิ่งเป็นการ "ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท " "


และที่ว่า "ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท" นี้มิได้หมายถึงการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทของพระมหากษัตริย์ที่ "ทรงมีอำนาจลี้ลับ (ศักดิ์) และทรงมีฤทธิ์ (สิทธิ์)" ตามรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม แต่เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระราชอำนาจและพระราชสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

นั่นคือ เป็นการขัดขวางมิให้พระมหากษัตริย์ได้ทรงปฏิบัติตามพระราชภาระหน้าที่ที่ในฐานะผู้ใช้อำนาจของปวงชนชาวไทยตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เท่ากับเป็นการบิดเบือนสถานะที่แท้จริงของสถาบันพระมหา กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

ในประเด็นดังกล่าว อาจารย์นิธิได้อธิบายขยายความอีกว่า

"หากพิจารณาว่าถ้อยคำที่ใช้ใน ม.94 ที่ว่า "...พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมา..." แสดงว่ารัฐธรรมนูญมุ่งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์" ซึ่ง "จำเป็นที่เราต้องแยกตรงนี้ให้ชัด เพราะเมื่อใดก็ตามที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ใด มิได้หมายความว่า องค์พระมหากษัตริย์ (ในฐานะบุคคล) มีความขัดแย้งกับสถาบันการเมือง แต่พระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันกำลังทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น คือ ถ่วงดุลอำนาจของรัฐสภาโดยอาศัยประสบการณ์ทางการเมืองการปกครอง ที่สั่งสมมานานกับสถาบัน (แม้บางครั้ง องค์พระมหากษัตริย์อาจมีพระชนมายุน้อย ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะก็ตาม)"


++

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ; สถาบันพระมหากษัตริย์ : ความขัดกันระหว่างนัยในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม กับ หลักแห่งอำนาจอธิปไตยปวงชน (2)
โดย แพทย์ พิจิตร คอลัมน์ คนแคระบนบ่ายักษ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 21


( ต่อ )
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เน้นย้ำความสำคัญของความขัดแย้งระหว่างนัยของสถาบันพระมหากษัตริย์ในวัฒนธรรมทางการเมืองไทย (รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม) กับ หลักแห่งอำนาจอธิปไตยปวงชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร

อาจารย์นิธิพยายามที่จะสื่อให้สังคมได้เข้าใจสถานะบทบาทที่ถูกต้องตามหลักการปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญดังที่เขาได้กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องเทคนิคปลีกย่อย แต่เป็นเรื่องหลักการที่จะประกันความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้อำนาจใดๆ ก็ตามมีอย่างจำกัด กล่าวคือต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลอยู่เสมอ หากนายกรัฐมนตรีละเมิด ม.93 โดยใช้วินิจฉัยส่วนตัวที่จะนำหรือไม่นำร่างพระราชบัญญัติขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ตามใจชอบ จะมีหลักประกันใดว่าร่าง พ.ร.บ. ที่สภานิติบัญญัติได้ร่างขึ้นในอนาคตจะผ่านกระบวนการของรัฐธรรมนูญ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ หากไม่ถูกใจนายกรัฐมนตรี...แล้วจะมีรัฐสภาไว้ทำไม...รวมถึงว่าจะมีรัฐธรรมนูญไว้ทำไม"

จะเห็นได้ว่า ในที่สุดแล้ว ตรรกะในการอธิบายประเด็นดังกล่าวนี้ของอาจารย์นิธิได้ย้ำถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ

และหากจะกล่าวต่อไปให้ถึงที่สุดจริงๆ ก็คือ หลักแห่ง "อำนาจอธิปไตยของประชาชน" นั่นเอง



เช่นเดียวกัน ต่อกรณีของผู้คนจำนวนหนึ่งชอบกล่าวอ้างว่า "ผู้พิพากษาพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธย" อาจารย์นิธิเห็นว่า มีความเข้าใจผิดตีความคลาดเคลื่อนกันไปในทำนองเดียวกันกับกรณีความคิดที่ว่าไม่นำควรร่างกฎหมายที่ผิดนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะเท่ากับละเมิดพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์

เพราะคำกล่าวที่ว่า "ผู้พิพากษาพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธย ซึ่งถูกต้องตามหลักการ แต่จะเข้าใจผิดไม่ได้ว่า พิพากษาแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะบุคคล มิฉะนั้น พระองค์ก็ต้องเข้ามารับผิดชอบกับคำพิพากษาด้วย... คำพิพากษาที่ทำในพระปรมาภิไธยนั้น เพราะอำนาจตุลาการเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชน (เน้นโดยผู้เขียน) ต้องไม่ลืมว่า คำพิพากษาของศาลคือการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง เช่น ปรับ เอาตัวไปจำขัง หรือประหารชีวิต เรื่องใหญ่ขนาดนี้ต้องยิ่งอาศัยอำนาจของประชาชน หรือที่เราเรียกว่าอธิปไตยเท่านั้น...ที่ต้องแยกอำนาจตุลาการออกเป็นอีกส่วนหนึ่งของอธิปไตยก็เพราะเหตุนี้ เนื่องจากคำพิพากษาย่อมกระทบถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง อำนาจตุลาการจึงต้องงอกออกมาจากอำนาจอธิปไตยโดยตรง ไม่ผ่านอำนาจนิติบัญญัติหรือบริหาร"

และอาจารย์นิธิก็ย้ำอีกว่า "พระปรมาภิไธยเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชน (เน้นโดยผู้เขียน) เตือนให้ผู้พิพากษาสำนึกถึงฐานที่มาของอำนาจในคำพิพากษา จึงต้องใช้อำนาจนั้นอย่างรอบคอบและเที่ยงธรรม เพื่อประโยชน์สุขของสังคมหรือปวงชน... พูดกันตรงไปตรงมาก็คือ ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่เป็นบุคคล แต่เกี่ยวอย่างแยกไม่ออกจากอธิปไตยของปวงชน ซึ่งพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันทรงใช้แทนปวงชน (เน้นโดยผู้เขียน)"



เช่นเดียวกันสำหรับกรณีของ "พระบรมราชโองการ" ที่อาจารย์นิธิเห็นว่า คนจำนวนไม่น้อยในสังคมเข้าใจผิดเพี้ยนไป ซึ่งความเข้าใจผิดดังกล่าวนี้น่าจะมาจากทัศนคติภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองอำนาจนิยมดั้งเดิมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยนั่นเอง

ซึ่งอาจารย์นิธิได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวนี้ว่า

"ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เรียกว่าพระบรมราชโองการ โบราณอาจมีความหมายอย่างหนึ่ง (เน้นโดยผู้เขียน) แต่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ย่อมหมายถึงคำสั่งที่อาศัยอำนาจ อธิปไตยของปวงชนสั่ง (เน้นโดยผู้เขียน) นั่นคือ

กฎหมายระดับ พ.ร.บ. ทุกฉบับจึงเป็นพระบรมราชโองการ เช่นเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา แพ่ง และพาณิชย์ ในทางปฏิบัติคือ ต้องผ่านสภาผู้แทนฯ และทรงลงพระปรมาภิไธย กฎหมายเหล่านี้ย่อมจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของปวงชน (เช่น ห้ามลักขโมย หรือห้ามค้าประเวณีประเจิดประเจ้อ) ดังนั้น จึงต้องอาศัยอำนาจอธิปไตยของปวงชนเท่านั้น จึงจะสั่งให้มีข้อจำกัดต่อเสรีภาพเหล่านั้นได้" และ "ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเป็นพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจอธิปไตยดังกล่าว"

นอกจากนี้ อาจารย์นิธิยังได้กล่าวถึงพระบรมราชโองการอีกประเภทหนึ่งที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั่นคือ พระบรมราชโองการในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง

อาจารย์นิธิชี้ว่า พระบรมราชโองการประเภทนี้ "ก็เป็นหลักการเดียวกัน ตำแหน่งสาธารณะที่พึงได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ควรเป็นตำแหน่งที่เกิดจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็ เช่น นายกรัฐมนตรี และ ครม. เพราะบุคคลเหล่านี้ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสนอชื่อขึ้นกราบบังคมทูล และสภาก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง จึงเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนโดยตรงเช่นกัน...ที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้ให้ดำรงตำแหน่ง ก็เพราะมีที่มาจากอธิปไตยของปวงชนชาวไทย แต่ ส.ส. ไม่ต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เพราะประชาชนได้ใช้อำนาจอธิปไตยของตัวโดยตรงในการเลือกตั้งแล้ว ไม่ได้ใช้ผ่านตัวแทน (เน้นโดยผู้เขียน)"


ดังนั้น ในกรณี "พระบรมราชโองการแต่งตั้ง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา" ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากการที่มีคนวิจารณ์ว่า "เมื่อมีพระบรมราชโองการแล้ว จะให้พ้นจากตำแหน่ง ต้องมีพระบรมราชโองการถอดถอนเสียก่อนเท่านั้น..."

อาจารย์นิธิได้อธิบายกรณีนี้ว่า "ท่านเหล่านั้นพูดให้เข้าใจว่า พระบรมราชโองการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ฝืนไม่ได้ เพราะออกมาจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ ความเข้าใจอย่างนี้ผิดและก่อให้เกิดภัยพิบัติแก่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างยิ่ง"

เพราะ "ในกรณีของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการสรรหาผู้ว่าการฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย...เพราะไม่ว่ากระบวนการจะผิดหรือถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ได้ผ่านวุฒิสภาซึ่งเป็นส่วนสำคัญอีกอันหนึ่งของอำนาจอธิปไตยไปแล้ว และการที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ก็เท่ากับได้รับการรับรองจากอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอย่างแน่นอน (เน้นโดยผู้เขียน)"

จากที่กล่าวมาข้างต้น อาจารย์นิธิจึงยืนยันถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจการใช้พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามหลักการอำนาจอธิปไตยปวงชนและอำนาจสูงสุดแห่งรัฐสภา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่กษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

โดยเขาสรุปให้เห็นชัดว่า

"ในระบอบนี้ พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงมีพระบรมราชโองการใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าไม่ได้เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน (เช่น ทรงสั่งให้ออกรถพระที่นั่งได้ ไม่ใช่พระบรมราชโองการ แต่เป็นรับสั่งธรรมดาเท่านั้น) ฉะนั้น พระบรมราชโองการแต่งตั้งคุณหญิงฯ จึงเป็นคำสั่งของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ซึ่งไม่มีอะไรจะใหญ่เกินไปได้ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย (เน้นโดยผู้เขียน)"

และเขาได้กล่าวเตือนไว้อีกด้วยว่า "หากปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่รอบคอบ ก็เท่ากับปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจวินิจฉัยจำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ (ซึ่งเป็นอธิปไตยของปวงชน ที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ) อำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีเหนือสภาได้ มีอยู่อย่างเดียวคือ วินิจฉัยว่า การดำเนินงานของสภาละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น (เน้นโดยผู้เขียน)"



ขณะเดียวกัน แม้ว่าอาจารย์นิธิจะไม่ได้กล่าวถึงกรณีคำกล่าวอ้างของการเป็น "ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ของข้าราชการในการต่อสู้ที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองกับนักการเมืองในรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี

แต่ก็เข้าใจได้ว่า อาจารย์นิธิคงจะวิจารณ์และอธิบายด้วยตรรกะเดียวกันกับที่กล่าวมาในกรณีต่างๆ ข้างต้น

นั่นคือ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบัน ย่อมไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ที่ปฏิบัติตามพระบรมราชโองการตามแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น

แต่การกล่าวถึงเป็นการเป็น "ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ในปัจจุบันย่อมหมายถึงการปฏิบัติตามพระบรมราชโองการในฐานะที่พระองค์เป็นตัวแทนหรือใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ข้าราชการในระบอบการปกครองปัจจุบันเป็น "ข้าราชการของประชาชน" นั่นเอง และด้วยเหตุนี้ นิธิจึงไม่เห็นด้วยกับกระแสหรือที่เขาเรียกว่า "ลัทธิคืนพระราชอำนาจ" ที่เขาชี้ว่า "เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทยหลัง พ.ศ.2500"

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สำหรับอาจารย์นิธิ กระแสการคืนพระราชอำนาจก็ดี กระแสข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี หรือการตีความเรื่องการไม่กราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมายก็ดี หรือการตีความเรื่องพระบรมราชโองการแต่งตั้งก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามที่จะต่อสู้ทางการเมืองโดยอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ตามวัฒนธรรมทางการเมืองดั้งเดิม

นั่นคือ พยายามที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจและรับผิดชอบภาระเกินขอบเขตอันจำกัดที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การกล่าวอ้างดังกล่าว ถือเป็นความพยายามที่จะใช้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยมาต่อสู้และแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมือง!

.