http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-05

เพราะฉัน "ให้" ฉันจึงมีอยู่ โดย คำ ผกา

.
เพราะฉัน "ให้" ฉันจึงมีอยู่
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1598 หน้า 89


เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องถกเถียงกันเลยว่าเมื่อเราเห็นคนตกทุกข์ได้ยากเราควรจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหรือไม่ ดังนั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม โคลนถล่ม แผ่นดินไหว สึนามิ สิ่งแรกที่เรานึกถึงคือการบริจาค ระดมทุน ส่งเงินไปช่วยเหลือ นอกเหนือไปจากความช่วยเหลือในระดับที่ต้องการทักษะหรือความชำนาญมากกว่านั้น เช่น อาสาสมัครที่เข้าไปทำงานเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ที่พักอาศัยชั่วคราว หน่วยกู้ภัย ฯลฯ

สำหรับในเมืองไทย หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับหายนะภัยที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น ก็มีการระดมเงินช่วยเหลือกันจากหลายองค์กร

แต่แคมเปญของเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งเกี่ยวกับการบริจาคเงินเพื่อส่งไปช่วยเหลือญี่ปุ่นทำให้ฉันต้องทึ่งกับวิธีคิดของคนไทยต่อเรื่องการ "ให้"

เครื่องดื่มยี่ห้อนี้เล่นกับคำว่า Hai ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า Yes ซึ่งพ้องกับเสียงของคำว่า "ให้" ในภาษาไทย โดยบอกว่าในการซื้อเครื่องดื่มทุกๆ ขวด เงินจำนวน 10 เยน หรือ 3 บาท จะถูกหักไปเพื่อการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์คนญี่ปุ่นที่ประสบกับภัยพิบัติ

และนี่เป็นการบอกให้คนญี่ปุ่นได้เข้าใจความหมายของใหม่คำว่า Hai ว่าหมายถึง "ให้" จากนั้นจะได้รู้ว่าคนไทยมีน้ำใจแค่ไหน

เพื่อนของฉันคนหนึ่งที่เป็นนักเรียนเก่าญี่ปุ่นถึงกับสบถว่า "เชี่ยมาก ให้เงินเค้าขวดละสามบาทเนี่ยะ จะเคลมเอาความดีความชอบในระดับของการไปชี้หน้าบอกคนญี่ปุ่นว่า เฮ้ย รู้ป่าวว่าคำว่า "ให้" ในภาษาของกูแปลว่าอะไร? ทีนี้รู้หรือยังว่า "ให้" น่ะแปลว่า "ให้" โว้ย ไม่ได้แปลว่า Yes อย่างเดียว คนไทยรู้จัก "ให้" เข้าใจหรือเปล่า?"

เพื่อนอีกคนมองโลกในแง่ร้ายกว่านั้นเพราะบอกว่า "นี่เป็นการโฆษณาสร้างภาพพจน์ของแบรนด์บนความทุพภิกขภัยของผู้อื่นด้วยการลงทุนที่ต่ำมากคือนอกจากจะไม่ใช้เงินของบริษัทแล้วยังใช้วิธีหักเงินจากผู้บริโภค จากนั้นคนที่ได้หน้าได้ตาได้ภาพว่าเป็นบริษัทเป็นสินค้าที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ได้ทั้งขายของ ได้เกียรติยศชื่อเสียง โห...ฉลาดโคตรๆ"

หรือเราคงจำกันได้ว่าตอนที่เกิดเหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้ของประเทศไทย นักเทนนิสที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งโดนวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนักว่าเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดที่นักเทนนิสคนนี้หาได้ เงินที่เขาบริจาคมันช่างน้อยนิดเหลือเกิน ดังนั้น ความสำคัญของการให้ และคนที่รู้เท่าทันการให้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนวณให้ถูกต้องว่า ควรให้เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร เพราะการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทางสาธารณะเลย นอกจากความพึงพอใจส่วนตน ซึ่งก็คือผลตอบแทนอย่างหนึ่งเช่นกัน นั่นคือ "ให้" เพื่อความสบายใจ

ดังนั้น จึงอาจพูดได้อีกว่าไม่มีการให้ใดๆ ที่ไม่หวังผลตอบแทน แม้แต่การให้ของพระเวสสันดรก็ยังเป็นการให้เพื่อหวังผลแห่งการบรรลุถึงนิพพาน



เมื่อเห็นภาพเช่นนี้ทำให้เราต้องพิจารณาเรื่องการ "ให้" ว่ามันอาจจะเป็นทั้งถ้อยคำและการกระทำที่บรรทุกเอาความหมายไว้มากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามักจะเชื่อว่า การ "ให้" นั้นเป็นเรื่องเดียวกันกับการ "เสียสละ" นอกจากนั้น การให้ยังต้องพิจารณาควบคู่ไปการรับเสมอ เพราะปราศจากซึ่งการรับก็ย่อมจะไม่มีการให้ ดังนั้น การ "รับ" จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการให้

สมมุติว่าเราให้เงินขอทาน มองอย่างผิวเผินแล้ว ขอทานคือคนที่ด้อยอำนาจ เป็นผู้ร้องขอ เป็นผู้รอคอยความเมตตา ส่วนคนที่ให้เงินขอทานคือคนใจบุญ เผื่อแผ่ รู้จักและเห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น เป็นผู้ที่สามารถสละทรัพย์ของตนให้แก่ผู้ที่ทุกข์ยากกว่าตนเอง

ในทางกลับกัน หากไม่มีขอทานซึ่งเป็น "ผู้ขอ" เราก็จะไม่มีโอกาสได้แสดงบทบาทอันสูงส่งดีงามของผู้ให้

มากไปกว่านั้นในการให้เงินขอทาน คงไม่มีใครยกทรัพย์สินทุกบาททุกสตางค์ของตนเองให้แก่ขอทาน ทุกครั้งของการให้ จึงผ่านการคิดคำนวณของผู้ให้เสมอว่า ผลของการให้แต่ละครั้งคืออะไร อันนำไปสู่คำตอบที่ว่าควรจะให้เท่าไหร่?

การให้ในบางมิติจึงหมายถึงการลงทุนด้วย และผู้ที่ชำนาญในศิลปะแห่งการให้ก็ไม่ต่างจากผู้ที่ฉลาดในการเลือกลงทุน ในระบอบศักดินา วิธีที่ "เจ้า" จะผูกใจไพร่ ทาส ข้ารับใช้เอาไว้นั้นถึงได้สอนกันมาว่าต้องรู้จักใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ นั่นหมายความว่าในระหว่างการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ทางชนชั้นให้รู้จักชัดเจนว่าตรงไหนสูง ตรงไหนต่ำ

สำนวนไทยจึงสอนกันมาเสมอว่าต้องรู้จัก "ที่สูงที่ต่ำ" ซึ่งเป็นการสื่อสารกับของต่ำโดยตรงว่าอย่าริขึ้นไปละเมิดหรือลามปามของสูง อันเป็นการปรามโดยใช้พระเดช จากนั้นจึงเป็นการใช้พระคุณในการล่ามทั้งไพร่และทาสมิให้อยากเป็นอิสระจากนายด้วยการใช้ศิลปะแห่งการ "ให้" อันปรากฏอยู่ในสำนวนของไทยอีกเช่นกันเกี่ยวกับการดูแลสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "ข้าเก่าเต่าเลี้ยง"

ช่องทางในการแสดงความเมตตาของผู้คนที่มั่งมีทางโภคทรัพย์และอำนาจในสังคมไทยจำนวนมากจึงแสดงออกผ่านคุณภาพในการดูแลข้าเก่าเต่าเลี้ยงของตน เช่น พวกเขาจะดูแลครอบครัวของบริวารของตนเองอย่างดี ส่งเสียลูกเต้าของบริวารให้ได้เรียนหนังสือไปตามกำลังความสามารถ ดูแลให้ได้รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่มีคุณภาพในยามเจ็บป่วย และรับประกันการดูแลเช่นนี้ตลอดไปตราบเท่าที่บริวารเหล่านั้นไม่ละเมิดตำแหน่งแห่งที่ทางชนชั้นที่ตนเองสังกัดอยู่

แต่เมื่อไหร่ที่บริวารของพวกเขาลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า พวกเขากำลังทำงานแลกกับค่าแรงอย่างตรงไปตรงมาและพวกเขาควรจะมีความเป็นคนเสมอกันกับเจ้านาย ต่อให้เจ้านายต้องจ่ายเงินให้พวกเขาน้อยกว่าที่เคยจ่าย เช่น บริวารเรียกร้องว่า เจ้านายไม่ต้องส่งเสียลูกเต้าของพวกเขาเรียนหนังสือ แต่ขอให้จ่ายค่าจ้างรายเดือนอย่างเป็นธรรม และจัดเรื่องการรักษาพยาบาลให้อยู่ในระบบประกันสุขภาพ จากนั้น พวกเขาจะดูแล บริหารการเงิน จัดการเรื่องการศึกษาของลูกๆ ด้วยตนเอง

ในกรณีเช่นนี้ แม้เจ้านายจะจ่ายเงินน้อยกว่าเดิม แต่สิ่งที่พวกเขาสูญเสียคือสถานะที่เหนือกว่าอันเกิดจากหนี้บุญคุณที่เขาเคยมีต่อบริวาร อันเป็นมูลค่าของ "หนี้" ที่ประเมินไม่ได้ด้วยจำนวนเงินหรือระบบแลกเปลี่ยนค่าแรงและเงินตราในระบอบทุนนิยม

(ในแง่นี้ ระบบทุนนิยมจึงยุติธรรมกว่าระบบศักดินาเพราะอย่างน้อยก็ไม่สร้างภาระผูกพันทางจิตใจที่ไม่วันชดใช้ได้หมด)



นี่คืออัตราการแลกเปลี่ยนของการ "ให้" และการ "รับ" ของระบบอุปถัมภ์ซึ่งผู้ให้และผู้รับมิได้แลกเปลี่ยนกันด้วยมูลค่าทางวัตถุล้วนๆ แต่แลกเปลี่ยนตัววัตถุพร้อมกับมูลค่าทางจิตใจที่ผู้รับต้องแบกไว้ตลอดชีวิตนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "บุญคุณ"

และการตอบแทนบุญคุณนั้นไม่เหมือนการใช้หนี้อย่างอื่น

เช่น หาก นาย ก. กู้เงินจากรัฐบาลมาเรียนหนังสือจำนวนห้าหมื่นบาท เมื่อเรียนจบแล้ว นาย ก. ก็ต้องหาเงินมาชดใช้รัฐบาลห้าหมื่นบาทบวกอัตราดอกเบี้ย

แต่ในกรณีเดียวกันหาก นาย ข. ได้รับการส่งเสียให้เรียนหนังจากนายจ้างด้วยอ้างความเมตตา และนายจ้างใช้เงินไปกับการส่ง นาย ข. เรียนหนังไปห้าหมื่นบาท แต่เมื่อเรียนจบ นาย ข. ไม่อาจปลดหนี้ด้วยการหาเงินห้าหมื่นบาทไปชดใช้เจ้านาย เพราะสิ่งที่ นาย ข. ติดค้างเจ้านายไม่ใช่เม็ดเงิน แต่คือความเมตตา

ดังนั้น สิ่งที่ นาย ข. พึงตอบแทนเจ้านายคือความซื่อสัตย์ จงรักภักดี พร้อมรับใช้ ไม่ทรยศหักหลัง ไม่เอาใจออกห่าง อย่างนี้ เป็นต้น

น่าสังเกตด้วยว่าการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยบางทุนการศึกษา นอกจากจะมีเงื่อนไขการชดใช้ทุนตามหลักของระบบตลาดโดยทั่วไปแล้ว ยังมีการให้คุณค่าทางประเพณีนิยมด้วยการให้โอวาทแก่ผู้รับทุนให้ตระหนักลึกซึ้งใน "บุญคุณ" ของเจ้าของทุน อันมิอาจชดใช้ด้วยเม็ดเงิน ทว่า ต้องตอบแทนบุญคุณนั้นด้วยความรัก ความกตัญญู

(ในฐานะนักเรียนทุนญี่ปุ่น ฉันพบว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เคยอ้างเอาบุญคุณในทำนองนี้กับนักเรียนที่รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเลย เช่น ไม่เคยบอกว่า เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์สังคมญี่ปุ่น เสียแรงใช้เงินญี่ปุ่นเรียน ไม่รู้จักรักและสำนึกในบุญคุณคนญี่ปุ่น แต่ก็ต้องขยายความต่อไปว่าที่พูดเช่นนี้ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้หวังผลอะไรเลยจากการ "ให้" เพียงแต่เป็นวิธีคิดคนละชุดกับทุนของรัฐบาลไทยที่ยังอยู่ในวิธีคิดแบบศักดินาที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง "บุญคุณ" และการ "สงเคราะห์" มากกว่าเรื่องอื่นๆ)

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าท่ามกลางการ "ให้" อย่างล้นหลาม (ในความเข้าใจ) ของคนไทย ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติในประเทศหรือนอกประเทศ คนไทยจะไม่มีวันออกไป "ให้" อะไรกับใครโดยไม่ป่าวประกาศว่า "ชาวโลกจ๋า ช่วยหันดูหน่อยสิว่าคนไทยมีน้ำใจแค่ไหน"

ดังเช่น แคมเปญ "Hai" ที่แปลว่า "ให้" ของเครื่องดื่มยี่ห้อนั้นที่เพียงแต่เจียดเงินสามบาทต่อขวดไปก็อดไม่ได้ที่จะแนบบุญคุณไปพร้อมกับการให้เสมอ



การซาบซึ้งอย่างแปลกประหลาดกับการได้บำเพ็ญการให้เล็กๆ น้อยๆของตนเองยังสะท้อนสภาวะการขาดมนุษยธรรมพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีให้กันอย่างสามัญ เพราะเราต้องรู้ด้วยว่าการระดมความช่วยเหลือไปยังทุกหนทุกแห่งที่เกิดภัยพิบัตินั้นทำกันอย่างเป็นธรรมดา จริงจัง และจากทุกมุมโลก เช่นเดียวกับการที่เราเห็นคนหกล้มแล้วเข้าไปพยุงช่วย ย่อมไม่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจจนต้องนำมาอภิปรายเป็นเรื่องใหญ่โต และการพร่ำพูดว่า คนไทยช่างมีน้ำใจนั้น ยิ่งบอกความหลงตนเอง การดูถูกผู้อื่น (คนชาติอื่นไม่มีน้ำใจ หรือไม่รู้จักคำว่า "ให้")

เมื่อการ "ให้" นั้นเป็นแต่เพียงการ "ให้" เพื่อตอบสนองแรงปรารถนาของตนเอง เช่น ให้เงินขอทานก็เพื่อปลอบประโลมความรู้สึกของตนเองว่าเรานี้ช่างเป็นคนดี มีเมตตา รู้จักแบ่งปัน รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องไปสนใจว่าในขณะที่เรามีบ้านดีๆ อยู่ มีรถเจ๋งๆ ขับ แต่ทำไมคนอีกครึ่งประเทศต้องลำบาก ยากจน ไม่มีจะกิน

เราไม่ต้องไปนั่งตอบคำถามว่า เพราะอะไรในสังคมของเราจึงมีขอทาน ขอทานมาจากไหน เป็นใครกันบ้าง ทำไมพวกเขาต้องออกมาขอทาน

คำถามเหล่านั้นไม่สำคัญอีกต่อไปตราบเท่าที่เราเชื่อว่าสังคมจะไม่มีปัญหาตราบเท่าที่คนที่ "มี" อย่างพวกเรารู้จักที่จะแบ่งปัน รู้จักที่จะ "ให้" และเราจะโกรธมากหากคนที่มีน้อยกว่าเราเหล่านั้น วันหนึ่งเขาลุกขึ้นมาทวงถามสิทธิของความเป็นคนเท่าๆ กันกับเราที่พวกเขาพึงมีพึงได้ วันนั้นพวกเราจะไม่ลังเลที่จะบอกว่าคนเหล่านั้นคือคนไม่รู้เสียเลยว่าเราเคย "ให้" อะไรกับพวกเขามาบ้าง

เมื่อเรา "ให้" เพียงเพราะเราจะได้รู้สึกดีที่ได้ทำความดี เพราะความดีนั้นสิ้นสุดอยู่ที่การ "ให้" ในการบริจาคเงินช่วยเหลือภัยพิบัติของพวกเราจึงไม่เคยมาพร้อมกับการตรวจสอบหรือความอยากรู้ที่กว้างขวางกว่านั้น เช่น เราควรนำเงินเหล่านั้นไปที่องค์กรใดที่กำลังต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด หรือองค์กรใดที่กำลังขาดแคลนอย่างที่สุด

ทั้งไม่ต้องพูดถึงว่า นอกจากประเด็นเรื่องเมตตาธรรมล้วนๆ แล้ว พวกเรายังสมควรต้องเรียนรู้ประสบการณ์การรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นอย่างไร



เมื่อมัวแต่งมงายกับความมีน้ำใจของคนไทยที่มากกว่าใครๆ ในโลกนี้เราจึงพลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ว่าประเทศอื่นได้สนับสนุนความช่วยเหลือผ่านบุคลากร ผ่านผู้เชี่ยวชาญในแขนงใดบ้าง ประเทศไหนสนับสนุนความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีใดในการกอบกู้ชีวิตและซากปรักหักพังที่เหลืออยู่ ประเทศญี่ปุ่นจะร่วมมือกับประเทศไหนเพื่อการบูรณะบ้านเมืองผ่านการพัฒนาวิจัยในแขนงใดบ้าง

และประเทศไทยจะเข้าร่วมไปมีบทบาทกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร

ฉันออกจะเชื่อว่านอกจาก "น้ำใจ" ที่อาจจะมีความหมายทางมิตรภาพและความรู้สึกทางอารมณ์เล็กน้อย สิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศในโลกนี้คิดหลังจากเกิดแผ่นดินไหวและการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือความร่วมมือกันพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการซ่อมแซมฟื้นฟูประเทศอีกทั้งการรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและหมายถึงบทเรียนที่ประเทศอื่นๆ จะได้เรียนรู้จากญี่ปุ่นด้วยในขณะเดียวกัน

และมันน่าจะมีความสำคัญกว่าจะมานั่งรู้ว่าคำว่า Hai มีความหมายว่า "ให้" อย่างที่คนไทยอยากจะบอก ทั้งไม่นับว่าคำว่า "ให้" นั้นมีความหมายของคำว่า "รับ" พ่วงมาด้วยเสมอ

.