.
ถามสักคำ
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1600 หน้า 89
น.พ.ประเวศ กล่าวว่า กระบวนการสมัชชาปฏิรูปเป็นเหมือนพลังทั้ง 5 ที่ประกอบด้วย 1. พลังทางศีลธรรม เกิดจากการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน ไม่ใช่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง 2. เมตตาธรรม คิดถึงคนทั้งหมด ไม่แบ่งสี แบ่งข้าง 3. พลังทางสังคม ที่เกิดจากคนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันคิด 4. พลังทางปัญญา ใช้ความรู้ ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และ 5. พลังสันติวีธี ถ้านำทั้ง 5 มารวมกันก็จะนำไปสู่สังคมนิพพาน ที่มีสันติสงบสุข และเป็นธรรม ชนะอุปสรรคที่ขวางกั้นการดับทุกข์ของชาติ ตนอยากให้สนใจในกระบวนการสมัชชามากกว่าประเด็น ถ้ากระบวนการถูกต้อง ก็จะนำสู่การแก้ไขปัญหา จึงต้องช่วยกันขับเคลื่อนสมัชชาปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ให้หมุนไปอย่างที่ไม่มีใครหมุนกลับได้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในบ้านเมืองของเรา
< www_thaihealth.or.th/healthcontent/news_thaihealth/21402 >
หลังจากอ่านข้อความที่ยกมาข้างต้น คำถามแรกที่คนงกและบ้าเงินเป็นชีวิตจิตใจอย่างฉันถามตัวเองว่า มันต้องใช้เงินถึงหนึ่งพันสองร้อยล้านเชียวหรือ กับหลักห้าประการ ที่ฉันเชื่อว่า เด็กอายุสิบสี่-สิบห้าที่รู้ว่าเขียนเรียงความอย่างไรให้ได้คะแนนเต็มสิบ ก็คิดได้ (เพราะเด็กคนไหนเขียนเรียงความว่า ศีลธรรมไม่ใช่คำตอบของสังคมคงได้ศูนย์ส่วนสิบ หรือลองจินตนาการว่ามีเด็กเขียนเรียงความเรื่อง "สิ่งที่สำคัญที่สุดของชาติคือประชาชน" คงชวดรางวัลเรียงความดีเด่นเป็นแน่)
ก่อนที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์หลักห้าประการในเรียงความของ หมอประเวศ วะสี ฉันขอระบายอาการปวดหัวแม่ตีนกับสังคมไทยว่า ทำไมภูมิปัญญาของสังคมโดยรวมมันช่างผิดรูปผิดร่างวิปริตผิดเพี้ยนกันได้ถึงเพียงนี้
อะไรทำให้สังคมไทยฝากความหวังและความเชื่อมั่นไว้กับสิ่งที่เรียกว่า "องค์กรกลาง" บ้าง "องค์กรอิสระ" บ้าง หรือหน่วยงานใดก็ตามที่ก่อรูปขึ้นมาด้วยแนวคิดที่ว่า "อิสระจากนักการเมือง" "อิสระจากระบบราชการ" จากนั้นขับเคลื่อนด้วยเหล่าคณะบุคคลที่มีอาชีพเป็นครู เป็นหมอ เป็นพระ เป็นผู้พิพากษา เป็นผู้ที่มีการศึกษาดี มีประวัติรักคนจน รักธรรมชาติ เกลียดนายทุน ฯลฯ - อะไรก็ตามที่เข้าข่ายนี้ คนไทยจะชอบเป็นพิเศษ และพร้อมที่จะหยุดตรวจสอบการทำงานของพวกเขา
ถึงทุกวันนี้ยังไม่มีตรวจสอบการใช้เงินหนึ่งพันสองร้อยล้านของคณะกรรมปฏิรูป - ประเทศที่ยากจนอย่างประเทศไทยอันอุดมไปด้วยคนยากจน ขาดแคลนทุกประเภทของบริการสาธารณชนทั้งการขนส่ง การศึกษา การแพทย์ ในประเทศที่คนจนนั่งรถไฟชั้นสามด้วยคุณภาพเดียวกับหมู หมา กา ไก่ และหมาในบ้านคนมีอันจะกินทุกบ้านในเมืองไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนจนในประเทศไทย
ด้วยความยากจนของประเทศชาติเช่นนี้ คนไทยไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า หมอประเวศและคณะมีความชอบธรรมแค่ไหนกับการถลุงเงินงบประมาณของประเทศชาติไปเพื่อจะนำสังคมไทยสู่การนิพพาน!
ย้ำว่า "นิพพาน"
ขอยืนถลกผ้าถุงขึ้นสูงๆ แล้วถามหมอประเวศอย่างชาวบ้านคนหนึ่งว่า หมอประเวศเคยถามใครหรือยังว่า ใครเขาอยากไปนิพพาน หรืออยากอยู่ในสังคมนิพพานบ้าง ?
และช่วยบรรยายให้เห็นหน่อยว่า สังคมนิพพานของหมอประเวศเป็นอย่างไร??
แล้วถ้าหมอประเวศอยากได้มรรคผล นิพพาน ก็เชิญไปตามลำพัง มิต้องเผื่อแผ่ไปถึงสังคมทั้งสังคม และควรไปแต่ตัว อย่าได้มาฉกเอาเงินภาษีของเราไปนิพพานด้วยเลย
ทีนี้ ขอมาไล่ดูทีละข้อเสนอ
1. พลังทางศีลธรรม เกิดจากการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน ไม่ใช่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง
ข้อนี้ฟังดูดีมากโดยเฉพาะคำว่า "การเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นคน" แต่การเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นคนไม่น่าจะเกิดจากพลังทางศีลธรรม แต่เกิดจากการเคารพในหลักการของการมี "นิติรัฐ"
หลักนิติรัฐคืออะไร ฉันไปขอข้อมูลจากวิกิพิเดีย ภาษาไทย < th.wikipedia.org/wiki/นิติรัฐ > ได้คำตอบ กระชับ รัดกุม ไม่ฟูมฟาย และเข้าใจได้ง่ายแบบไม่ต้องใช้เงินสักหนึ่งบาทมาดังนี้
"รองศาสตราจารย์ ดร. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ให้คำอธิบายแนวความคิดของหลักนิติรัฐ ว่าหมายถึง
รัฐเสรีประชาธิปไตยยอมรับรองและให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของราษฎรไว้ในรัฐธรรมนูญโดยอาจจำแนกสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้เป็น 3 ประเภท คือ.-
1. สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยแท้ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกาย สิทธิเสรีภาพในเคหสถาน สิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันและกัน สิทธิเสรีภาพในการเดินทางการเลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิในการนับถือศาสนา และสิทธิเสรีภาพในครอบครัว
2. สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิเสรีภาพในการมีและใช้ทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพในการทำสัญญา
3. สิทธิและเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือพรรคการเมือง และสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง "
สำหรับคนโง่เง่าอย่างฉัน เมื่ออ่านแล้วเห็นว่า โดยไม่จำเป็นต้องพูดคำว่าศีลธรรม แค่เคารพหลักนิติรัฐนี้ให้ได้ เราก็จะสามารถบรรลุถึงการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นคน
คนไทยที่ลำบากยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ทุกวันนี้ พวกเขาไม่ได้ต้องการความเมตตา ไม่ได้ต้องการความสงสาร ไม่ได้ต้องการการเยียวยา แต่พวกเขาต้องการความเคารพนับถือในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้มีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเท่านั้น
ถ้าหากวันนี้จะมีประชาชนคนไทย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อสีไหน ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือชาวบ้าน ไม่ว่าจะมีการศึกษาหรือไร้การศึกษา หากพวกเขาโดนจับด้วยข้อหาใดๆ ก็ตาม พวกเขาสมควรได้รับการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดี พิสูจน์ความบริสุทธิ์ อย่างนี้ เป็นต้น
2. เมตตาธรรม คิดถึงคนทั้งหมด ไม่แบ่งสี แบ่งข้าง
ความคิดเห็นต่อข้อเสนอนี้ - โปรดย้อนไปอ่านความหมายของ นิติรัฐ ตามที่ยกมาข้างบนนี้อีกครั้งหนึ่ง และขอเรียนให้ทราบว่า
ประชาชนไม่ต้องการความเมตตา แต่ต้องการความ "เคารพ" และจะไม่มีการแบ่งสี หรือแบ่งข้าง หากไม่มีกระบวนการ "ล้มประชาธิปไตย" เพราะประชาชนจะแบ่งกลุ่มกันหลากหลายตามแต่นโยบายของพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชม ใครใคร่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็เลือก ใครชอบนโยบายของคุณบรรหารก็เลือกพรรคของคุณบรรหาร ใครชื่นชมนโยบายแบบพรรคเพื่อไทยก็เลือกพรรคเพื่อไทย หรือใครเกลียดนักการเมืองเข้าไส้ก็ไปกาไม่เลือกใครสักคน
จากนั้นผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็เคารพเสียงข้างมาก อดทนกล้ำกลืนไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่
ระหว่างรอการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ "หาเสียง" ให้พรรคการเมืองที่ตนเองชอบ วิจารณ์พรรคการเมืองที่ตนเองไม่ชอบให้สาธารณชนเข้าใจว่ามันไม่ดีอย่างไร ด้วยหวังให้พรรคการเมืองที่เราเชียร์ชนะการเลือกตั้งบ้าง
ง่ายๆ ตามระบบเช่นนี้ ไม่ต้องมีเมตตาธรรม ขอแค่การเคารพ "การเลือก" ของผู้อื่น
(เขียนมาถึงตอนนี้ ฉันก็ถามตัวเองว่า ตัวฉันเองควรจะต้องเคารพ "ตัวเลือก" ของหมอประเวศ หรือ เคารพการเลือกการยืนอยู่ข้างการรัฐประหารด้วยหรือปล่า? คำตอบก็คงวนไปเป็นงูกินหางว่า ในเมื่อการรัฐประหารเกิดจากการไม่ "เคารพ" "การเลือก" ของเสียงส่วนใหญ่ เราจึงไม่อาจเคารพการทำรัฐประหารได้ และฉันก็ไม่อาจ "เคารพ" การเลือกของหมอประเวศได้ เพราะหมอประเวศทำงานนี้ด้วยภาษีของประชาชน ฉันจะเคารพ "การเลือก" ของหมอประเวศได้ก็ต่อเมื่อแผนปฏิรูปของหมอประเวศที่นำสังคมไทยไปสู่นิพพานนั้น ทำขึ้นมาด้วยเงินส่วนตัวของหมอ)
มากกว่านั้น "การคิดถึงคนทั้งหมด" เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะทุกคนย่อมมีผลประโยชน์เป็นของตนเองหรือของกลุ่มตนเอง
เช่น ผลประโยชน์ของเกษตรกรอาจจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ของกรรมกร ผลประโยชน์ของกรรมกรอาจจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ของนายทุน ผลประโยชน์ของนักอุตสาหกรรมอาจจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ของนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ของการล่าปลาบึกในแม่น้ำโขงเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ของนักอนุรักษ์พันธุ์ปลา ผลประโยชน์ของนักเขียนอาจขัดกับผลประโยชน์ของนักอ่านที่ไม่ยอมซื้อหนังสือแต่ถ่ายเอกสารแจก ฯลฯ
ประเทศทั้งประเทศไม่ใช่ครอบครัวเล็กๆ ที่หัวหน้าครอบครัวจะบำเพ็ญตนอยู่ในความเป็นธรรม เฉลี่ยความยุติธรรม และคิดถึงคนทั้งหมดได้ อย่าว่าแต่ประเทศทั้งประเทศ แค่ผัวมีเมียมากกว่าหนึ่งคนยังตบตีกันแทบตายเรื่อง รักไม่เท่ากัน อิจฉา ริษยา ตบตี ฆ่าฟันกัน แย่งมรดก หรืออื่นๆ นับประสาอะไรกับประเทศที่มีคนกว่าเจ็ดสิบล้าน หมื่นพ่อแสนแม่
มีวิธีเดียวที่จะให้คนเข้ามาต่อรองผลประโยชน์กันอย่างยุติธรรม (แม้ไม่การันตีว่าทุกคนจะได้ความเป็นธรรม) คือ ระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง
และจะดีมากยิ่งขึ้นหากเราสามารถกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เพราะสเกลของการตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนจะทำได้ง่ายขึ้น ใกล้ชิดขึ้น
เหล่านี้ไม่ต้องการแผนการปฏิรูปชี้นิ้วหรือเป็นคุณพ่อผู้หวังดีและรู้ดีมาสอนหรือบอก ขอแค่คืนระบบการเลือกตั้งไปสู่มือประชาชน หยุดเมตตา หยุดสงสาร และ เชื่อว่าประชาชนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือก และ ขอช่วยออกมาหยุดขบวนการล้มประชาธิปไตยในทุกวิถีทาง
จากนั้นเก็บเมตตาธรรมของพวกคุณไว้ในลิ้นชักเสีย
3. พลังทางสังคม ที่เกิดจากคนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันคิด
ย้อนกลับไปอ่านข้อสอง - สรุป - พลังทางสังคมเกิดจากการที่ประชาชนเคารพตนเองและผู้อื่นว่ามีความเป็นคนเท่ากัน พิสูจน์ผ่านการเคารพสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเป็นเบื้องต้น จากนั้นประชาชนจะเข้าใจว่า ประเทศนี้เป็นของประชาชน
ดังนั้น ประชาชนจะคิดและทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน พวกเขาจะขัดแย้ง คัดง้าง ตรวจสอบ ด่าทอ กันเอง
และโปรดเข้าใจว่าสังคมควรมีความขัดแย้ง ทุ่มเถียง วิวาท วิวาทะ มีคำหยาบคาย มีการใช้อารมณ์ได้ แต่ไม่ทุบตี ลักพาตัว จับเข้าคุก กราดยิง หรือ ซุ่มยิง
สังคมใดโหยหาความสงบปราศจากความขัดแย้ง สังคมนั้นอยู่ใกล้กับความเป็นเผด็จการ
4. พลังทางปัญญา ใช้ความรู้ ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์
ย้อนกลับไปอ่านข้อที่ 3
สังคมใดเข้าใกล้ความเป็นเผด็จการ
สังคมนั้นจะขาดพลังทางปัญญา
5. พลังสันติวีธี
สันติวิธีจะทำงานไม่ได้หากพลังของปัญญาชนรวมถึงสื่อมวลชนส่วนใหญ่ยืนอยู่ข้างฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐที่เข่นฆ่าประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
หมอประเวศต้องถามตัวท่านเองและเพื่อนๆ ของท่านว่า ณ วันนี้ท่านอยู่ข้างผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ? และท่านจะได้คำตอบแก่ตัวท่านเองว่า พลังสันติวิธีจะทำงานได้หรือไม่โดยที่ประชาชนถูกกระทำน้อยที่สุดในวิถีทางการต่อสู้อย่างสันติของพวกเขา
สุดท้ายนี้ถามสั้นๆ ว่า
"จะให้สังคมไทยไปนิพพาน ถามคนไทยหรือยัง และที่สำคัญถามตัวเองบ้างหรือยัง?"
+ + + +
You know me a little go!
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1549 หน้า 91
"ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯและรัฐบาลอดทนและใจกว้างต่อการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะเห็นว่าไม่ได้สร้างความรุนแรงและคุกคาม แต่ระยะหลังเริ่มคุกคามและกดดันคนกรุงเทพฯ การยึดสี่แยกราชประสงค์จะสร้างความเสียหาย คนกรุงเทพฯคงรับไม่ได้ จึงไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เสื้อแดงทำเป็นการแสดงความรักชาติตรงไหน อยากให้ทุกคนไตร่ตรองให้ดีเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติส่วนรวม ขอเรียกร้องให้กลุ่มคนเสื้อแดงยุติการกระทำดังกล่าว"
นายกรณ์กล่าว < www_matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1270303097&grpid=&catid=05 >
' ประเทศไทยต้องจัดสรรอำนาจใหม่ ด้วยการปรับระบบบริหารภาครัฐและความสัมพันธ์ใหม่ในสังคม ควรต้องปรับภารกิจ การถ่ายโอนอำนาจ การปรับทุนขนาดใหญ่ การเมือง และภาคสื่อมวลชน รวมถึงการปรับโครงสร้างกระบวนการทางการเมืองและการบริหารใหม่ '
"ผมเชื่อว่าการยุบสภาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แค่ได้ผู้นำคนใหม่มา ถึงเวลาแล้วที่ความเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมา หากเราเปลี่ยนแบบนี้ได้ การแก้ปัญหาจะยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ความเปลี่ยนแปลงนี้ จะต้องไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงถึงสถาบันหลักที่สำคัญต่อสังคมไทย ที่สำคัญ คือ ความแตกต่างทางรายได้มีมากเท่าใด ความเป็นประชาธิปไตยก็จะมีน้อยเท่านั้น ถ้ารายได้ต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดคนรวยจะซื้อคนจนได้ และวันนี้คนชั้นบนต้องร่วมกันช่วยเหลือคนระดับล่าง"
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าว < www_matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1270306164&grpid=&catid=01 >
วันที่ 15 มีนาคม 2553 ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงประกาศขีดเส้นตายให้ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมงว่า
ทางออกของบ้านเมืองที่ใหญ่กว่าการยุบสภาคือ การเจรจาร่วมกัน เพื่อร่วมกันสร้างกลไกใหม่ คือ ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อสร้างความเป็นธรรมแห่งชาติ โดยดึงให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมโดยการเจรจาเพื่อหาจุดลงตัวใหม่ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง และด้านกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว
< www.prachatai.com/journal/2010/03/28257 >
ฉันไม่อยากจะเชื่อว่าสังคมไทยไม่เข้าใจข้อเรียกร้อง-ซึ่งไม่เฉพาะคนเสื้อแดง-แต่คือกลุ่มคนที่ปฏิเสธรัฐประหาร ปฏิเสธเผด็จการที่ซ่อนมาในเสื้อคลุมของ "คนดี มีศีลธรรม" ที่สำคัญ คนที่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ยุบสภานั้นมีเหตุผลเพียงแค่ เราอยากเห็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งหลังจากมันถูกตัดตอนลงครั้งแล้วครั้งเล่า
เกมสกปรกของรัฐบาลตอนนี้คือ เล่นบท "นักประชาธิปไตย" พร่ำพูดถึงเรื่อง ผลประโยชน์ของประชาชน ผลประโยชน์ของชาติ หรือแม้กระทั่งพูดว่า ชัยชนะต้องไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ต้องเป็นของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม นอกจากนี้ ยังแสดงบทคนใจกว้าง มีขันติต่อการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดง และออกมาอ้อนวอนทุกวันให้ประชาชนเลิกประท้วงเพื่อเห็นประโยชน์ของบ้านเมือง !
ช่างเป็นตรรกะที่กลับตาลปัตร หน้ามือกลายเป็นหลังเท้า เพราะฝ่ายที่เรียกร้องให้ยุบสภาต่างหากที่มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ที่จะพูดว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ และ อภิสิทธิ์ เห็นแก่ชาติ บ้านเมือง และประชาชนจริงๆ ก็ควรจะยุบสภาในเร็ววัน เพื่อให้มีการจัดการการเลือกตั้ง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เลือกยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยย่อมไม่ยอมที่จะก้มหัวให้กับการรัฐประหาร หากพรรคประชาธิปัตย์ยืนอยู่ข้างประชาชน และประชาธิปไตย ย่อมยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อหลักการประชาธิปไตย และอาจถึงขั้นทักท้วงการยุบพรรคอย่างไม่ชอบมาพากล รวมไปถึงการใช้กลไกรัฐ หลังรัฐประหารขจัดศัตรูทางการเมือง
แต่เท่าที่เห็นคือนอกจากพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อหลักการที่ถูกต้องทางกฎหมาย และหลักการประชาธิปไตยที่ต้องเคารพเสียงข้างมากของประชาชน แต่ยังยอมได้แม้กระทั่ง ถ้าหากใครสักคนมาบอกพรรคประชาธิปัตย์ และอภิสิทธิ์ว่า "ไปเอาหัวเดินต่างตีนก่อน แล้วจะให้เป็นรัฐบาล และเป็นนายกฯ" ฉันเดาว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะยอมใช้เดินโดยเอาเท้าชี้ฟ้าและเอาหัวลงดินแต่โดยดี
มันตลกมากที่ กรณ์ จาติกวานิช ออกมาพูดเรื่องความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเรื่องมาจากการปิดถนนหรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในขณะที่คุณเป็นรัฐบาล เพราะคุณขึ้นมาเป็นหนึ่งในรัฐบาล และเป็นรัฐมนตรีได้ในวันนี้ก็เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศมหาศาลมาแล้ว รวมทั้งการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ต้องพูดเรื่องการเอาคนกรุงเทพฯมาเป็นตัวประกันของม็อบเสื้อแดง เพราะพันธมิตรฯ ได้เอาคนที่อยู่สนามบินหลายชาติ หลายภาษา เป็นตัวประกันมาแล้ว
และถึงวันนี้รัฐบาลแสนดีของคุณกรณ์ ก็ยังไม่อาจดำเนินการใดๆ ทางกฎหมายกับกลุ่มคนที่ยึดสนามบินนั้นได้เลย เมื่อถูกถามก็อ้างแต่ว่า เราทำตามขั้นตอน เรารอนู่น เรารอนี่ เรากำลังดำเนินการ
บทสัมภาษณ์ของ กรณ์ จาติกวานิช ที่บอกว่า "คนกรุงเทพฯ รับไม่ได้" สำหรับฉันมันคือการตบหน้าคนไทยทั้งชาติฉาดใหญ่ๆ เพราะคนไทยที่มาจากหลายสิบจังหวัดทั่วประเทศคงอยากถามกลับไปว่า "คนกรุงเทพฯรับไม่ได้แล้วไง? คนกรุงเทพฯ เป็นเทวดาหรือ จึงแตะต้อง กระทบกระเทือนไม่ได้?"
ที่สำคัญกรณ์ใช้ "ความชอบธรรม" ชนิดไหนจึงอ้างเสียงของ "คนกรุงเทพฯ"? แบบเหมารวมเช่นนั้น
ทั้งนี้ฉันเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ และคนไทยจำนวนมากเข้าใจแล้วว่า การโยนรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งของประชาชนทิ้งแล้วทำทุกวิถีทาง ใช้ทุกเครื่องมือทางการเมือง การโฆษณาชวนเชื่อ การฉ้อฉลต่อกฎหมายโดยนักกฏหมาย โดยนักรัฐศาสตร์ที่ทรยศต่อวิชาชีพและต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นเรื่องอัปยศที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง และคือเหตุผลที่คนบ้านนอกคอกนาทั้งหมดต้องเดินทางเข้าสู่จังหวัดที่มีรัฐสภาตั้งอยู่ เพื่อจะทวงสิทธิทางการเมืองของพวกเราคืน
ทุกวันนี้รัฐบาลเองก็ทำงานไม่ได้ เพราะขาดความชอบธรรมในทุกมิติ ทั้งยังเป็นแค่หุ่นชักของปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ตนขึ้นมาเป็นรัฐบาล
คดีเขายายเที่ยงก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆ ไม่มีการติดตามว่าหลังจากตัดสินคดีไปแล้วมีการปฏิบัติตามหรือไม่ เรื่องที่ดินเขาสอยดาวก็หายไปในเมฆฝน เรื่องที่ไม่สามารถตั้ง ผบตร.ได้ก็ไม่อาจอธิบายให้สังคมเข้าใจได้จนถึงบัดนี้ เรื่องจีที สองร้อยก็หายเข้าป่าช้า เรื่องจ่าสมเพียรกับการซื้อขายตำแหน่งและการฉ้อฉลในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจก็ยังอ้ำอึ้ง ทั้งๆ ที่เห็นความผิดชัดแจ้งเรื่องเส้นนายนักการเมือง และการใช้เงินมหาศาลในการซื้อขายแลกเปลี่ยนตำแหน่งและการโยกย้าย นักข่าวไปสัมภาษณ์ทีไรก็บอกว่า เรื่องมันละเอียดอ่อน ต้องค่อยๆ ติดตาม กำลังรอให้ส่งเรื่องขึ้นมา ต้องมาดูว่าผิดจริงหรือเปล่า ถ้าผิดจริงก็ต้องว่ากันไปตามกกหมาย บลา บลา บลา ไปไหนมา สามวาสองศอก
ช่วงหนึ่งของการเจรจากับแกนนำเสื้อแดง อภิสิทธิ์พูดว่า ปัญหาเรื่องสองมาตรฐาน และคดีความที่ฝ่ายเสื้อแดงบ่นว่าคาราคาซัง ไปไม่ถึงไหนสักที อภิสิทธิ์บอกในทำนองว่า "เข้ามาคุยกับผมสิครับ ว่ากันเป็นเรื่องๆ อยากให้จัดการเรื่องอะไรก็บอกมา ผมยินดีรับฟัง" หากฉันเป็นแกนนำเสื้อแดงสามคนที่เข้าไปเจรจาวันนั้น เจอมุขแบบนี้เข้าก็คงไปไม่เป็นเหมือนกัน เพราะอภิสิทธิ์ ทำราวกับเป็นผู้ใหญ่ที่เจรจาหลอกเด็กหกขวบ และทำราวกับว่า ขณะนี้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบที่ใครมีปัญหาอะไรก็ให้มาตีกลองวินิจฉัยเภรีที่หน้าวัง หรือมาสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ สั่นกระดิ่งแล้ว เดี๋ยวผู้ปกครองจะออกมา แก้ปัญหาให้หมดไปเป็นเรื่องๆ
รัฐบาลและตัวอภิสิทธิ์เองกรุณารับทราบด้วยว่า เราไม่ได้เรียกร้องให้ผู้นำลงมาแก้ปัญหาให้เราเป็นเรื่องๆ ด้วยตนเอง แต่เราเรียกร้องให้เกิดระบบการบริหาร จัดการประเทศที่มีประสิทธิภาพ เราเรียกระบบนั้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาที่ประกอบไปด้วย ส.ส. ที่เราเลือกมา มีฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน มีการออกนโยบาย มีการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร มีการคานอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ง่ายๆ เท่ากับวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น เท่านั้นที่คนไทยต้องการ -นายกฯ ที่มาโดยใครไม่รู้อุ้มขึ้นมาไม่ต้องมา act แมน แบะอก บอกเราว่า "มีอะไรมาบอกผม เดี๋ยวผมจัดการ"
ไม่ต้อง! เราไม่ได้ต้องการอะไรที่ฟังดู ridiculous อย่างนั้น ประชาชนไม่ใช่เด็กอมมือ ที่จะไม่รู้ว่าเราผ่านยุคสั่นกระดิ่งร้องทุกข์มาหลายร้อยปีเต็มทน
เราไม่ได้ต้องการระบอบการปกครองที่ถ้าขี้ไม่ออกก็ต้องให้นักข่าวถือไมค์ไปถามนายกฯว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
ขณะที่ฉันกำลังงุ่นง่านกับการให้สัมภาษณ์ของ กรณ์ จาติกวานิช ผู้ที่กำลังวิตกกับภาพลักษณ์ของประเทศไทย (แต่ฉันคิดว่า การที่เรารัฐบาลที่ซิกแซกขึ้นมาอำนาจอย่างไม่สง่างามนั้นน่าอาย ทำลายภาพพจน์ กว่าเรื่องการออกประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นไหนๆ)
คนที่เข้ามาไขปริศนา รหัสลับการเมืองการปกครองของไทย คือ ส่วนหนึ่งของการบรรยายของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโน กับบทสัมภาษณ์หมอ ประเวศ วะสี ที่ย้ำว่า การยุบสภาให้เกิดการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก เพราะคนจนจะถูกซื้อ วงจรอุบาทว์ นักการเมืองชั่วจะกลับมา
ของ ดร.บวรศักดิ์ นั้นฟังดูเหมือนจะหวังดีต่อคนจน นั่นคือ แย้มว่า หากคนจนกินดีอยู่ดี ก็จะไม่ถูกซื้อโดยนักการเมือง
แต่ที่น่ากลัว น่าสยดสยองคือการตบท้ายคำพูดสวยหรูเรื่องารกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมด้วยทัศนะว่า "ถึงวันนี้คนชั้นบนต้องร่วมกันช่วยเหลือคนระดับล่าง"-
โห...อาจารย์ขา...มีด้วยหรือคะ ระบบที่คนข้างบนจะลงมาช่วยคนข้างล่างและยกระดับคนข้างล่างขึ้นมาให้ทัดเทียมกับคนข้างบน
อาจารย์ดูละครจักรๆ วงศ์ๆ ของช่องเจ็ดตอนเช้ามากไปหรือป่าวว?
ส่วนหมอประเวศ ที่ฉันไม่เข้าใจว่าแกขึ้นมาเป็นปราชญ์ของสังคมได้อย่างไร เพราะพูดอะไรแต่ละอย่างออกมาชวนให้ละเหี่ยใจและเข้าใจไม่ได้ เลื่อนลอย และเหมือนกับที่ไอดอลทางปัญญาของบ้านเราเป็นกัน
นั่นคือ เอาคำพูดสวยๆ หรู มาเรียงต่อๆ กันเข้าอย่างไร้ความหมาย ไร้ทิศทาง ไร้ที่มาที่ไป ฟังดูเหมือนจะดี แต่ไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร และทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เช่น การเจรจาร่วมกัน เพื่อร่วมกันสร้างกลไกใหม่ คือ ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อสร้างความเป็นธรรมแห่งชาติ โดยดึงให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมโดยการเจรจาเพื่อหาจุดลงตัวใหม่
แปลว่าอะไรไม่ทราบ? ใครเจรจากับใคร ใครจะบอกว่าลงตัวหรือไม่ลงตัว เอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐานของการลงตัว?
ทุกภาคส่วน (ศัพท์นี้ฮิตจัด ได้ยินบ่อยมาก คิดอะไรไม่ออกก็บอกว่า ทุกภาคส่วนไว้ก่อน ฟังดูดี มีส่วนร่วม) มีใครบ้าง ใครเป็นตัวแทนของทุกภาคส่วน ที่สำคัญทุกภาคส่วนแปลว่าอะไร ? ความเป็นธรรมแห่งชาติ แปลว่าอะไร นิยามจากอะไร วัดจากอะไร ยิ่งถามยิ่งงงฮ่ะ
สำนวนโวหารหมอประเวศ ชวนงุนงงพอๆ กับคำชี้แนะของ ดร.บวรศักดิ์ที่ว่า สังคมควรต้องปรับภารกิจ การถ่ายโอนอำนาจ การปรับทุนขนาดใหญ่ การเมือง และภาคสื่อมวลชน รวมถึงการปรับโครงสร้างกระบวนการทางการเมืองและการบริหารใหม่
คำถามแสนไร้เดียงสาจากฉันคือ แล้วใครจะเป็นผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น? จะไปอัญเชิญผีสางเทวดาพร้อมไม้เท้ากายสิทธิ์มาชี้ บอกว่า นับแต่นี้ไปขอให้เมืองไทยจงบังเกิดความยุติธรรม เกิดโครงสร้างสังคมที่เป็นธรรม มีการการปรับทุนขนาดใหญ่ (ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร แต่พูดตามไปก่อน) เพี้ยง!
คนชั้นล่างอย่างพวกเราไม่ต้องการความช่วยเหลือจากคนชั้นบน เราแค่อยากกำหนด "ความเปลี่ยนแปลง" ใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมของเราด้วยเสียงในการเลือกตั้ง 1 เสียงของเรา มันจะดี มันจะชั่ว จะเป็นทุนใหญ่ ทุนเล็ก เป็นหอย เป็นปูอะไรก็ได้ อย่างน้อย เรารู้ว่านี่คือ สิ่งที่เราเลือกเอง และเราเต็มใจที่จะรับผิดชอบ ตรงกันข้าม ความฉิบหายที่มาจากคนที่เราไม่ได้เลือกนั้น เรารับผิดชอบไม่ได้ และไม่ต้องการ
พลังอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย พึงรำลึกว่า การตีโวหารเลื่อนเปื้อน พูดคำใหญ่ๆ ประโยคยาวๆ ชวนให้ฟุ้งฝัน รักชาติ เห็นแก่ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ปฏิรูปโครงสร้างใหญ่ ยกระดับคุณธรรม ฯลฯ ที่เคยทำกันอยู่และประสบความสำเร็จในอดีต ถึงวันนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะนั้นยิ่งทำให้พวกคุณดูน่าหัวเราะเยาะ (อับอายไปถึงลูกถึงหลานด้วยนะ)
เพราะวันนี้มวลชน (mass) เขารู้จักพวกคุณดีเกินไปเสียแล้ว ส่วนพวกคุณดูเหมือนจะรู้จักเขาน้อยเกินไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
www.youtube.com/watch?v=dC5o5mVpYPM
Natalie Merchant ~ Which side are you on? (Lyrics)
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย