http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-30

ประเทศไทยที่รัก โดย คำ ผกา

.
ประเทศไทยที่รัก
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1602 หน้า 89



"ผมรักประเทศนี้ แต่เราต้องการประเทศหรือบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่น่ารักกว่านี้ ที่คนมีเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ถ้ามีเรื่องไม่เห็นด้วยก็แสดงความไม่เห็นด้วยออกมา"
(สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล)

"กลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่าเป็นภาระหน้าที่ทางวิชาการที่ต้องทำเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะ อภิปรายกันได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อภิปรายกัน สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ยังคงนิ่งเฉย ที่สุดแล้ว พื้นที่น้อยนิดที่มีในสังคมไทยก็จะหดหายไปด้วย...เราไม่ได้มีกำลังทรัพย์สิน ไม่ได้มีอาวุธ เรามีเพียงกำลังสติปัญญาตอบแทนกับสังคม การที่บุคคลที่ไม่มีอะไรเลยอย่างพวกเรา ถูกกระทำในลักษณะที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพอย่างนี้ เราต้องทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายด้วย"
(วรเจตต์ ภาคีรัตน์) http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34198



ถึงประเทศไทยที่รัก,


ใช่, มันเป็นจดหมาย, ไม่ว่ามันจะถูกส่งผ่านกล่องข้อความในเฟซบุ๊ก ส่งทางอีเมล หรือจะถูกพับใส่ซอง ติดแสตมป์ส่งไปรษณีย์ มันก็ยังคงเป็นจดหมาย

ฉันเขียนจดหมายถึงเธอ ประเทศไทย เขียนถึงทั้งๆ ที่ฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าเธอเป็นใครหรือเป็นอะไรกันแน่

อาจารย์สมศักดิ์พูดว่า "ผมรักประเทศนี้" ฉันฟังแล้วน้ำตาเกือบไหล ในศตวรรษนี้ใครยังมานั่งพูดว่า "ผมรักชาติ บ้านเมือง" หรือ "ผมรักบ้านเกิดเมืองนอนของผม" หรือ "ผมรักประเทศนี้" สำหรับคนหัวก้าวหน้า มันช่างเป็นคำพูดที่เชยแสนเชย

ความรักมักจะเรียกร้องเอาความเสียสละ เรียกร้องเอาความอดทน และในหลายต่อหลายครั้งที่ความรักกลับฉ้อฉลเรียกค่าไถ่เอาไปแม้กระทั่งเสรีภาพของเรา ทว่าเรามักเดินไปสู่กรงขังความรักด้วยสำนึกอันโรแมนติกที่ว่า "เพื่อความรักของเราฉันยอมที่จะสละบางสิ่งบางอย่างในชีวิตของฉันไปได้"

ฉันรู้ว่ามันยากที่เราจะจำนนต่อความคิดที่ว่าในความรักไม่มีคำว่า "ความยุติธรรม"

แต่ในขณะที่ฉันนั่งมองความรักชาติด้วยตระหนักว่าครั้งหนึ่งมันคือเครื่องมือในการสร้างชาติ และแน่นอนว่าทั้งกำเนิด และกระบวนการสร้างชาติของแต่ละชาติ แต่ละประเทศในโลกนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน และเกิดขึ้นท่ามกลางเงื่อนไขที่แตกต่างกัน บางชาติมีแต่ชาติไม่มีประเทศ บางแห่งมีแต่ประเทศไม่มีชาติ

หรือสำหรับประเทศไทยตอนนี้ฉันเริ่มเห็นว่ามีชาติมากกว่า 1 ชาติ ใน 1 ประเทศ เพราะเราเริ่มเห็นนิยามของความเป็น "ชาติ" ที่แตกต่างจากที่เราเคยเห็นมาในอดีต และเรากำลัง นิยามความหมายของคำว่า "ชาติ" ของเราขึ้นมาใหม่ อีกทั้งพยายามกำหนดความสัมพันธ์ของชาติกับประชาชนและหน่วยทางการเมืองอื่นๆ ขึ้นมาใหม่โดยอ้างอิงกับนิยามใหม่ของคำว่าชาติอันใหม่ของเรานี้ด้วย


เมื่อฉันเป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นและรู้เท่าทันความรักชาติในฐานะที่เป็น "เครื่องมือ" อย่างหนึ่งเท่านั้น ฉันควรจะเป็นหนึ่งในผู้นั่งหัวเราะเยาะผู้ที่ยังงมงายรักชาติ จนกระทั่งเพื่อนของฉันคนหนึ่งบอกว่า "เธอเขียนหนังสือด้วยสำนึกชาตินิยม"

แม้คำกล่าวนี้จะทำให้ฉันเกือบตกเก้าอี้ ทว่าเมื่อตั้งหลักนั่งคิดใหม่ ฉันคงต้องยอมรับว่าแม้ในอีกหลายๆ สังคมบนโลกใบนี้จะก้าวพ้นแนวคิดเรื่อง "ชาติ" ไปแล้ว (เช่นการรวมตัวกันของอียู การมีรัฐสภายุโรป และสกุลเงินของยุโรป) แต่การที่ยังมีนักเขียนจำนวนหนึ่ง นักวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง นักกิจกรรมอีกจำนวนหนึ่ง ยังทุ่มเทพลังงานของพวกเขาไปในการอ่าน เขียน พูด วิจัย ด่าทอ บ่น จิกกัด ประณาม และในหลายๆ ครั้งเกือบจะเป็นการถลกหนังหัว "ชาติไทย" ของพวกเขาออกมาเพื่อให้เห็นว่าภายใน "หัว" นั้น มันบรรจุเรื่องหลอกลวง มายาคติ นิทานปรัมปราอะไรไว้บ้าง

ฉันจึงต้องหันมาถามตัวเองอีกว่า พวกเขาทำไปเพื่ออะไร? ถ้าไม่ใช่ความด้วยความรัก ถ้าไม่ใช่ด้วยความปรารถนาจะเห็นประเทศชาติของเราเป็นประเทศที่น่าอยู่ขึ้น ถ้าไม่ใช่ด้วยความปรารถนาที่อยากจะเห็นคนไทยทุกคนอยู่ในประเทศนี้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความไว้เนื้อเชื่อใจในกันและกัน และมีความเคารพต่อกันบนความเชื่อที่ว่าทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน

และเพื่อที่จะบรรลุถึงจุดนั้น ฉันและเพื่อนๆ เชื่อว่าหนทางทางที่จะนำไปสู่การตระหนักในศักดิ์ศรีและเสรีภาพที่มีอยู่เท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคนคือระบอบการเมืองที่ชื่อว่า "ประชาธิปไตย" ซึ่งเคารพในเสียงข้างมากของประชาชน มากไปกว่านั้นพวกเรายังเชื่อว่า ไม่ว่าจะมีการศึกษาสูงหรือต่ำ ไม่ว่าจะดีหรือเลว ไม่ว่าจะโง่หรือฉลาด บนสิทธิแห่งการเป็นพลเมืองของรัฐพวกเขามีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันทุกประการในคูหาเลือกตั้ง

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้เองที่ทำให้ความหมายของคำว่า "ชาติ" ในหมู่พวกเราไม่ตรงกับคำว่า "ชาติ" ของกลุ่มที่ไม่เชื่อมั่นในสิทธิและศักดิ์ศรีของมนุษย์ว่าพึงมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย "ชาติ" ของเราหมายถึง "ประชาชน" ไม่อาจเป็นอย่างอื่น

ผู้ที่พูดว่า "รักชาติ" นั่นย่อมหมายถึงการที่พวกเขาหมายถึง "รักประชาชน" การปกป้องชาติ คือการปกป้องประชาชน-แน่นอนพวกเราก็เป็นหนึ่งในประชาชนนั้นด้วย



ประเทศไทยที่รัก, สำหรับฉันมันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอยู่เหมือนกันที่ เพื่อนร่วมชาติของฉันจำนวนมากกลับปฏิเสธที่เชื่อว่า "ชาติ" เท่ากับพวกเขาที่เป็นประชาชน เพื่อนร่วมชาติของฉันจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าชาติเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง และพวกเขาเชื่อว่าถ้าเรามอบ "ชาติ" ของเราให้กับคนดีๆ สักหนึ่งคนแล้วละก็ อะไรๆ มันจะก็ดีตามไปด้วย และเมื่อเรามีเจ้าของชาติที่ดีเพียงหนึ่งคนแล้ว หลังจากนั้นเราก็เพียงแต่ทำ "หน้าที่" ของเราให้ดีที่สุด จากนั้นสังคมก็จะสงบสุข

จะไม่ให้ฉันเสียใจได้อย่างไรว่าเหตุใดมนุษย์จึงยินดีที่จะสูญเสียสิทธิที่มีมาแต่กำเนิดของตนเองไปโดยง่ายดาย

และเหตุใดพวกเขาจึงเชื่ออย่างสนิทใจว่าในโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า "คนดี" เพราะการเป็นคนดีนั้นมันสัมพันธ์อยู่กับหลายเงื่อนไข เช่น เขาอาจเป็นคนดีสำหรับเราแต่เลวสำหรับคนอื่น หรือเขาอาจเป็นคนดีเพียงเพราะเก่งในการสร้างภาพ เก่งในการโฆษณา นอกจากนั้นต้องถามต่อว่า การเป็นคนดีไม่เพียงพอต่อการสร้างความเป็นธรรมแก่สังคม

ด้วยเหตุนั้น การมอบอาญาสิทธิ์ในการปกครองให้ใครคนใดคนหนึ่งเพียงเพราะเขาเป็นคนดีนั้นจึงเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไป

ฉันและเพื่อนๆ จึงยินดีที่ไม่สนใจความดีของตัวบุคคล แต่เราเลือกที่อยู่ในระบอบที่มีโครงสร้างและกฎเกณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้คนในสังคมมากที่สุด แน่นอนว่าไม่มีระบอบการเมืองการปกครองใดดีเลิศ สมบูรณ์แบบ และไม่มีสังคมใดที่ปราศจากข้อบกพร่องด่างพร้อย

แต่ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้คนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมและอนาคตของตนเองผ่านการออกเสียงเลือกตั้งและมีส่วนในการตรวจสอบนักการเมืองที่ตนเองเลือกเข้าไปทำงานได้มากที่สุด


ฉันเชื่อว่ากลุ่มคณะราษฎรได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยให้เป็นประชาธิปไตยในปี 2475 ก็เพราะพวกเขามีความรัก "ชาติ" ที่หมายถึง "ประชาชน" และเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่อำนาจทางการเมืองต้องอยู่ในมือของประชาชนมิใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปเกือบ 80 ปี ภารกิจของคณะราษฎรยังไม่สำเร็จ เพราะการช่วงชิงความหมายของคำว่าชาติว่าเป็นของใครกันแน่ยังไม่จบสิ้น การรัฐประหารทุกครั้งที่เกิดขึ้นหลังปี 2475 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปี 2490 เป็นต้นมา คือการรัฐประหารเพื่อชิงความหมายของคำว่าชาติออกจากประชาชน

และหากติดตาม Time Line หรือตารางเวลาของประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะเห็นว่า การขัดจังหวะก้าวย่างของประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นเกือบจะทุกๆ สิบปี

และในท่ามกลางการขัดจังหวะก้าวย่างทางเดินของประชาธิปไตยนี้ ปัญญาชน นักวิชาการ นักเขียน ของไทยจำนวนหนึ่งยังไม่เคยหยุดที่จะหาคำตอบว่า สาเหตุหลักของการขัดจังหวะหรือการ "หยุด" พัฒนาการประชาธิปไตยของไทยเกิดขึ้นจากอะไร?



ประเทศไทยที่รัก, นักวิชาการบางคนเข้าไปสำรวจความผิดปกตินี้จากหลายมุมมองทั้งทางวัฒนธรรม บางคนเข้าไปสำรวจปัญหานี้จากมุมมองของสตรีนิยม, วิถีทางเพศ, บางคนเข้าไปมองจากมุมมองของพุทธศาสนากับการครอบงำ, บางคนมองจากแง่มุมทางประวัติศาสตร์, บางคนเข้าไปหาคำตอบจากการเข้าไปศึกษาการเมืองท้องถิ่น, บางคนศึกษาจากการเปรียบเทียบการเมืองไทยกับประเทศอื่นๆ, บางคนศึกษาจากโครงสร้างสถาบันทางการเมือง บางคนศึกษาจากบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์จากระเบียบวิธีศึกษาแบบประวัติศาสตร์ ฯลฯ

ในประเทศด้อยพัฒนาและยากจนอย่างประเทศของเรา นักวิชาการและปัญญาชนต่างตระหนักว่าเราไม่อาจเป็นเพียงผู้คงแก่เรียน ถือตำรา สถิตอยู่ ณ หอคอยงาช้าง ท่ามกลางรายได้เฉลี่ยต่อหัวอันน้อยนิดของคนไทย เหล่าปัญญาชนต่างตระหนักว่าตนเองยังชีพอยู่ด้วยเงินภาษีของประชาชน ทั้งมหาวิทยาลัยที่เราสอน ทั้งเงินเดือนที่เรารับ เพราะฉะนั้นนอกจาก เขียน อ่าน และ สอน ในมหาวิทยาลัย

แล้วเหล่านักวิชาการจึงต้องออกมา พูด เขียน ต่อสาธารณชนในประเด็นสาธารณะ

ในท่ามกลางวิกฤตของประชาธิปไตย ในยามที่อุดมการณ์ครอบงำทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มน้อยซึ่งทำงานหนักเพื่อลดความชอบธรรมในการยืนยันสิทธิของประชาชน...ในฐานะที่เป็นคนเท่าๆ กัน นักวิชาการฝ่ายเสรีนิยมยิ่งต้องออกมาพูด ออกมาเสนอมุมมอง แนวคิด ข้อมูล ออกมาแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทฤษฎี เสนอความรู้ทางกฎหมายต่อประชาชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้สังคมนี้เข้มแข็งและมีเรี่ยวแรงจะต้านทานต่อความไม่เป็นธรรมและฉ้อฉลที่เกิดกับสังคม อีกทั้งความวิปริตนานาที่เกิดกับสังคมไทย

(การที่ฝ่ายรัฐว่าประชาชนตายเพราะวิ่งเข้าหากระสุนนับเป็นความวิปริตอย่างหนึ่งหรือไม่? การที่คนกรุงเทพฯ มองคนต่างจังหวัดที่เข้ามาประท้วงใน กทม. ว่าเป็นควายเป็นความวิปริตหรือไม่?)



"ผมรักประเทศนี้ แต่เราต้องการประเทศหรือบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่น่ารักกว่านี้"

คำพูดของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สะท้อนสำนึกของปัญญาชนที่ยังซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ที่ยึดถือให้ประชาชนเป็นใหญ่ นั่นคือนับถือในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

และเราอาจพูดได้ว่า เหตุที่ปัญญาชน นักวิชาการ ออกมาก่นด่า สังคมไทยก็เพียงเพราะเราอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่น่ารักกว่านี้ น่าอยู่กว่านี้ ศิวิไลซ์กว่านี้ มีเหตุผล มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่านี้

นักวิชาการไม่มีปืน ไม่มีอาวุธ ไม่อาจออกไปอุ้ม ฆ่า หรือใช้กำลังกับใครได้ ไม่แม้แต่จะมีความสามารถไปสมัครเป็น ส.ส. พวกเขาแค่สวมวิญญาณนัก "ชาตินิยม" ที่ปรารถนาจะเห็นบ้านเมืองที่เขารักเป็นแผ่นดิน เป็นประเทศที่คนหลากหลายฐานะ อาชีพ ชนชั้น พื้นเพ สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน ภายใต้กฎหมายและกติกาเดียวกัน เป็นสังคมที่ศิวิไลซ์มากพอที่จะฟัง ถกเถียง ขัดแย้ง เคารพในความคิดเห็นของผู้อื่นที่ต่างไปจากตนเอง


ประเทศไทยที่รัก, ฉันอยากจะบอกว่า อย่ากลัวคนที่ว่ากล่าวท่านอย่างตรงไปตรงมา

แต่พึงระวังคนที่สอพลอต่อท่านไว้ให้ดี

.