.
เลือกตั้ง-ทางเลือกเดียว
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:15:00 น.
การเลือกตั้งไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด ไม่มีกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งอะไรที่ดีไปกว่าการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่าการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ... ไม่พอที่จะทำให้สังคมใดเป็นประชาธิปไตย, ไม่พอที่จะแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาซึ่งจะมีผลในระยะยาว รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง, ไม่พอที่จะให้ความชอบธรรมแก่อำนาจได้ตลอดไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การซื้อเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งของไทยมาหลายทศวรรษแล้ว (ว่ากันว่าเกิดหรือระบาดอย่างหนักมาแต่ต้นทศวรรษ 2520) แต่อย่าเข้าใจผิดว่า การซื้อเสียงหรือจำนวนเงินที่ซื้อเสียงเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าใครจะได้รับเลือกตั้ง
มีงานวิจัยที่ทำโดยบุคคลต่างๆ และองค์กรต่างๆ มาหลายครั้ง และในทุกภาคของประเทศไทย ต่างพบตรงกันว่าปัจจัยสำคัญในส่วนแรกๆ ที่ชาวบ้านใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร จะวนเวียนกันอยู่ในปัจจัยดังต่อไปนี้คือ ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือการเข้าถึงได้, พรรคที่ผู้สมัครสังกัด, ความสามารถในการบริหาร, ประสบการณ์ของผู้สมัคร และเงินที่ได้รับแจก ปัจจัยใดจะมาเป็นอันดับหนึ่งอาจแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ แต่ปัจจัยเงิน ไม่เคยมีความสำคัญขึ้นมาเป็นลำดับที่หนึ่งหรือสองเลย
แน่นอนว่า เงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ แต่เงินได้กลายเป็นสัญลักษณ์ว่าผู้สมัคร (หรือที่จริงเครือข่ายหาเสียงของผู้สมัคร) ให้ความสำคัญแก่ชาวบ้านหรือไม่ (ชาวบ้านใช้คำว่ามีน้ำใจต่อกันหรือไม่) สัญลักษณ์นี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน ผู้สมัครที่สัญญาจะให้มากกว่ากลับแพ้เลือกตั้งเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้านพอใจกับปัจจัยประการอื่นๆ ที่จะตัดสินใจเลือกผู้สมัครหรือไม่ แจกเงินหรือรับเงินเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ตัดสินใจไปแล้ว เพื่อแสดงน้ำใจเท่านั้น
ฉะนั้นการพูดว่า ส.ส.บ้านนอกล้วนแต่ซื้อเสียงมาทั้งนั้น จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงที่ไร้บริบทมากล่าว ด้วยความเขลาหรืออคติก็ตาม
แต่ทำให้เกิดข้อสรุปที่ไร้เหตุผลของคนชั้นกลางทั่วไปว่าด้วยเหตุดังนั้น ส.ส.เหล่านั้นจึงไม่ใช่ "ผู้แทนราษฎร" จริง ความเห็นของเขาไม่ต้องฟัง และไม่ต้องมี ส.ส.เช่นนั้น เราก็เป็นประชาธิปไตยได้ เพราะแทนที่จะมีการเลือกตั้ง เรามอบหมายให้คนที่น่าไว้วางใจ เช่น ตุลาการ, คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นพิเศษ ฯลฯ แต่งตั้งบุคคลขึ้นเป็น ส.ส.ก็ได้
ความเข้าใจผิดหรือความเข้าใจอย่างฉาบฉวยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (โดยเฉพาะนอกเขตเมืองใหญ่) ทำให้คนชั้นกลางไทยจำนวนมาก โน้มเอียงไปสู่ความเชื่อมั่นในการแต่งตั้งมากกว่าการเลือกตั้ง
นี่เป็นทั้งโมหาคติและโลภาคติ
โมหาคติก็เพราะรู้ไม่จริงดังที่กล่าวแล้ว
โลภาคติก็เพราะรู้อยู่แล้วว่า บุคคลที่ได้รับ "แต่งตั้ง" คือคนที่มีผลประโยชน์, โลกทรรศน์ และฉันทาคติทางการเมืองอย่างเดียวกับตัว
ดังนั้น หากสภาเต็มไปด้วย ส.ส.แต่งตั้ง ก็จะมี "ผู้แทน" ฝ่ายตัวอยู่หนาแน่นในสภา ย่อมปกป้องผลประโยชน์และจุดยืนของตนได้ดีกว่าสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
ความไม่พร้อมจะอยู่อย่างประนีประนอมผลประโยชน์และโลกทรรศน์อันหลากหลายของสังคม-เขาได้บ้าง แต่เราไม่เสียเกินไป หรือเราได้บ้าง แต่เขาไม่เสียเกินไป-ทำให้คนชั้นกลางระดับกลางและสูงของไทยในปัจจุบัน เป็นศัตรูตัวฉกาจของระบอบประชาธิปไตย
บัดนี้ การชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเอง ได้อาศัยโมหาคติและโลภาคติของคนชั้นกลางนี้ปลุกปั่นให้ "ปิดเทอม" ทางการเมือง ด้วยข้ออ้างว่าการเลือกตั้งจะไม่แก้ปัญหาอะไร ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องพิสูจน์ว่าการ "ปิดเทอม" และการแต่งตั้งจะแก้ปัญหาอะไรได้
เป็นการพูดเอาแต่ฝ่ายเดียว เพราะรู้อยู่แล้วว่าโมหาคติและโลภาคติของคนชั้นกลางระดับกลางและสูงจะไม่ทำให้ผู้ฟังตั้งคำถามในเชิงกลับกันดังกล่าว
คิดกันโดยปราศจากโมหาคติและโลภาคติ การเลือกตั้งก็ตาม การแต่งตั้งก็ตาม ย่อมไม่แก้ปัญหาอะไรทั้งนั้น เพราะการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งหรือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง มีโอกาสจะเข้าใจปัญหาผิดหรือถูกได้เท่าๆ กัน, ตัดสินใจเลือกทางแก้ผิดหรือถูกได้เท่าๆ กัน, ถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวได้เท่าๆ กัน
จะเลือกตั้งดี หรือจะแต่งตั้งดี จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งคู่ แต่เป็นการเลือกว่าจะใช้กระบวนการอะไรในการตัดสินใจแก้ปัญหา
ฉะนั้นถ้าจะเปรียบเทียบวิธีการทั้งสอง ก็ต้องเปรียบเทียบกระบวนการตัดสินใจภายใต้วิธีการทั้งสอง ไม่ใช่ไปสรุปเอาเองว่าการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาด้วยแนวทางนี้ และการแต่งตั้งจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้ (น่าสังเกตด้วยว่า ม็อบที่เสนอให้ "ปิดเทอม" ไม่เคยบอกว่า การแต่งตั้งจะแก้ปัญหาอย่างไร แม้แต่ระบุว่าอะไรคือปัญหาก็ยังไม่ชัดด้วยซ้ำ มีแต่การปลุกระดมให้วางใจและศรัทธาต่อบุคคลอย่างมืดบอดเท่านั้น)
สิ่งที่ต่างกันอย่างสำคัญในวิธีการทั้งสองคือ กระบวนการตัดสินใจว่าใช้แนวทางอะไรในแก้ปัญหาต่างหาก
การเลือกตั้งนำมาซึ่งเวทีเปิด ไม่เฉพาะแต่ผ่านหีบบัตรเลือกตั้งเท่านั้น แต่รวมถึงการเคลื่อนไหวในภาคสังคมต่างๆ นับตั้งแต่การผลักดัน, ควบคุม, กรั่นกรอง ผ่านสื่อที่ต้องเป็นอิสระเสรีจริง, ผ่านการให้สัมภาษณ์ของบุคคล, ผ่านรายการสนทนาทางทีวีหรือสื่ออื่น, ผ่านการรวมกลุ่มเพื่อส่งความเห็นของกลุ่มแก่สังคมในวงกว้าง, ผ่านการประชุมทั้งในเชิงวิชาการและเชิงการเมือง และแน่นอนผ่านการชุมนุมด้วย เป็นเวทีเปิดที่คนทุกกลุ่ม ตั้งแต่นายทุนขนาดใหญ่, ผู้ประกอบการรายย่อย, ไปจนถึงชาวบ้านธรรมดา และคนชั้นกลางระดับกลางและสูงทั่วไป
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สังคมทั้งหมดสามารถเข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย, ขัดแย้งกันอย่างเปิดเผย และเลือกจะประนีประนอมกันได้ในประเด็นต่างๆ อย่างเปิดเผย ทั้งหมดนี้ทำกันได้บนเวทีสาธารณะซึ่งมีหลายรูปแบบดังที่กล่าวแล้ว ยิ่งเราสามารถยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ปิดกั้นการแสดงความเห็นอย่างอิสระเสรีลง เวทีเปิดของสังคมก็จะยิ่งผลิตความเห็นและทางเลือกนานาชนิดได้มโหฬาร
ความคิดความเห็นเหล่านี้ ย่อมมีผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแทรกอยู่ด้วย ทั้งที่ผู้เสนออาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่ไม่มีความคิดความเห็นใดๆ หรอกที่ปลอดจากอคติอย่างใดอย่างหนึ่งโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นจากใครก็ตาม ยิ่งไปคิดว่าความคิดเห็นของบางคนบางกลุ่มย่อมบริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อนด้วยอคติส่วนตัว กลับยิ่งมีอันตรายมากกว่า เพราะทำให้ไม่ใช้วิจารณญาณ
บนเวทีเปิดที่ทุกเสียงมีค่าเท่าๆ กัน ทุกคนย่อมระแวงอยู่แล้วว่าความคิดเห็นหนึ่งๆ ย่อมเจือปนด้วยอคติและผลประโยชน์ส่วนตัว ต่างฝ่ายก็จะใช้วิจารณญาณอย่างรัดกุม ในขณะที่ต่างฝ่ายต่างรู้ว่า ไม่มีความคิดเห็นของใครจะผ่านไปได้เต็มร้อย ทุกฝ่ายจึงพร้อมจะประนีประนอมกับฝ่ายอื่น
จนในที่สุดก็จะได้ความคิดเห็นที่อาจไม่ใช่ดีที่สุด แต่ "เป็นไปได้" ที่สุด ตรงกับชีวิตจริงของทุกคน คือเราต่างมีชีวิตอยู่ในโลกที่เป็น "เป็นไปได้" ที่สุด ไม่ใช่ "ดี" ที่สุด
นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะซื้อเสียงมามากน้อยเพียงไร ก็ต้องจำนนต่อความคิดเห็นที่ลงตัวจนกลายเป็นเสียงเรียกร้องจากเวทีเปิดทั้งนั้น
นี่คืออำนาจและโอกาสของการต่อรอง ที่กระจายไปยังคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน การต่อรองไม่ได้เป็นเพียงพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น แต่การต่อรองยังเป็นพื้นฐานสำคัญสุดของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมทุกชนิด
ปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ในสังคมไทยเวลานี้ ไม่มีใครแก้ให้ได้ นอกจากสังคมไทยเอง ดังนั้น กระบวนการที่จะนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาจึงมีความสำคัญเสียยิ่งกว่าตัวแนวทางเองเสียอีก กระบวนการที่ปิดกั้นกีดกันสังคมออกไปเช่นการแต่งตั้งในภาวะ "ปิดเทอม" จะไม่อาจแก้ปัญหาได้เลยอย่างแน่นอน
การเมืองจะ "ปิดเทอม" จนใช้การแต่งตั้งได้ ก็ต้องอาศัยอำนาจนอกระบบ รัฐประหาร 19 ก.ย.49 ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ในเมืองไทยเวลานี้ไม่เหลืออำนาจนอกระบบใดๆ ที่จะสามารถให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารได้ (ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารดังๆ หรือรัฐประหารเงียบ) และเพราะขาดความชอบธรรมอันเป็นที่ยอมรับ ก็ยิ่งต้องใช้อำนาจดิบ (ทั้งที่ผ่านหรือไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม) ยิ่งใช้อำนาจดิบ ก็ยิ่งขาดความชอบธรรม ยิ่งขาดความชอบธรรม อำนาจที่ใช้ก็ยิ่งดิบมากขึ้น เป็นวัฏจักรทำลายตัวเองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นสุดลง ณ จุดใดจุดหนึ่ง อันมีความเป็นไปได้มาก ว่าเป็นจุดที่เลือดนองแผ่นดิน
ดังนั้น กระบวนการต่อรองอย่างเปิด เพื่อให้ทุกกลุ่มเข้ามาร่วมในการตัดสินใจเลือกแนวทางแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นไม่ได้ แนวทางการแก้ปัญหามาจากการตัดสินใจเลือกของอำนาจล้วนๆ ถึงอำนาจนั้นจะหาพันธมิตรมาได้มากสักเพียงไร ก็ยังเป็นคนส่วนน้อยของสังคมอยู่นั่นเอง เช่น ทหาร, ข้าราชการพลเรือนและเทคโนแครต, นายธนาคาร, นักธุรกิจขนาดใหญ่ และนักวิชาการบางกลุ่ม ไม่รวมแม้แต่คนชั้นกลางระดับกลางทั่วไปด้วยซ้ำ ไม่พักต้องพูดถึงคนชั้นกลางระดับล่างตามหัวเมืองทั่วประเทศ และคนชั้นล่างทั่วไป
แนวทางการแก้ปัญหาที่มาจากกระบวนการตัดสินใจแบบนี้ย่อมไม่อาจนำมาซึ่งแนวทางที่ "เป็นไปได้" อย่างแน่นอน ยิ่ง "เป็นไปได้" น้อย ก็ยิ่งต้องใช้อำนาจมาก ความชอบธรรมของผู้ได้รับการแต่งตั้งก็ไม่มี ซ้ำความชอบธรรมของแนวทางก็ยิ่งไม่มี จะเหลืออะไรในสังคมอีกเล่า นอกจากแตกแยกกันหนักมากขึ้น และหลีกไม่พ้นที่จะต้องยกกำลังมาเข่นฆ่ากัน (ซึ่งผู้ต่อต้านก็คงไม่โง่พอจะยกกำลังมาให้ฆ่าทิ้งที่สี่แยกใดในกรุงเทพฯ อีกแล้ว)
ยังจะเหลือพื้นที่สำหรับการดำเนินธุรกิจ หรือดำเนินชีวิตไปตามปกติและตามความใฝ่ฝันของแต่ละคนอีกหรือ
นายทุน, นักธุรกิจ และคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป ถึงท่านไม่ศรัทธากับระบอบประชาธิปไตย และไม่คิดเป็นหัวหอกของพลังประชาธิปไตยในสังคมไทย แต่ท่านควรมีหัวคิด อย่างน้อยก็มีหัวคิดพอจะมองเห็นว่า ประโยชน์ของท่านอยู่ที่ไหนกันแน่
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย