.
10 เมษายน ...เสียงปืนแตกที่สี่แยกคอกวัว หรือ...โกตดิวัวร์...คือเส้นทางการเมืองไทย
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1599 หน้า 21
สี่แยกคอกวัวอยู่ในประเทศไทย อยู่กลางกรุงเทพฯ แต่สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (The Republic of Cote d"Ivoire) หรือที่เราเรียกว่า ไอวอรีโคสต์ (Ivory Coast) ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีพื้นที่เล็กกว่าประเทศไทยและมีประชากรราว 21 ล้านคน
ที่ต้องพูดถึงเพราะวันนี้การชิงอำนาจรัฐที่โกตดิวัวร์ น่าจะมาถึงยกสุดท้ายแล้ว วันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมามีการปะทะกันในเมืองหลวงและเมืองใหญ่อย่างหนัก ขณะที่เขียนต้นฉบับยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ
การชิงอำนาจรัฐที่นี่ครั้งล่าสุดเริ่มจากการเลือกตั้งในปลายปี 2553 และอาจจะจบลงแบบชั่วคราวด้วยสงครามภายใน ที่มีฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายหนึ่งแพ้
ความขัดแย้งทางการเมืองในโกตดิวัวร์คล้ายกับประเทศไทยในหลายด้าน แม้อาจจะมี โครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน
แต่ก็พอจะยกมาเป็นตัวแบบเพื่อตอบคำถามบางคำถาม ที่มีคนชอบถามกันบ่อยมาก
10 เมษายน 2554... ประเทศไทย เป็นวันครบรอบ 1 ปีของเหตุการณ์นองเลือดที่ราชดำเนิน (ครั้งล่าสุด ปี 2553) การบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง คงจะบันทึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญเช่นเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535
แม้บันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงแรกอาจไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่เวลาที่ทอดนานออกไปจะทำให้ความจริงที่ถูกปิดบังไว้ถูกเปิดเผยมากขึ้น ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อแดง, เสื้อเหลือง,ทหาร,กกต.,ศาล หรืออาจจะเป็นกลุ่มคนที่พยายามหลบซ่อนอยู่ในเงามืดจะถูกเปิดเผยออกมาในไม่ช้านี้ ว่าใครเป็นพระเอกใครเป็นผู้ร้าย สิ่งที่เป็นสัจธรรมไม่เคยเปลี่ยน สิ่งที่ไม่ชัดเจนในวันนี้จะชัดเจนในอีกสี่ห้าปีข้างหน้า
ถึงเวลานั้นใครคิดจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะผู้บันทึกประวัติศาสตร์จะมีทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย อีก 10 ปี อีก 100 ปี ก็ต้องเป็นอย่างนั้นทำได้เพียงสองอย่างคือ...ทำใจยอมรับและให้ลูกหลานเปลี่ยนนามสกุล
วันที่ 10 เมษายน 2553 การปะทะกันของมวลชนเสื้อแดงกับกองกำลังทหารของ ศอฉ. บนถนนราชดำเนินนอก ถูกถ่ายทอดออกทางโทรทัศน์ตั้งแต่ตอนบ่าย ภาพและเสียงที่ได้ยินเหมือนดูหนังบู๊ แต่เมื่อมีความตายเกิดขึ้น มีการนองเลือดจริงๆ แม้บางช่วงเวลามีเสียงเพลงเหมือนในหนัง แต่การสูญเสียทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้ว่านี่คือชีวิตจริง ตายจริงๆ มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นแล้ว
แต่อำนาจไม่เข้าใครออกใคร คนที่ต้องการปกป้องอำนาจ คงสั่งให้สลายการชุมนุมให้ได้ และคงไม่สั่งให้ฆ่าคน แต่เมื่อมีคนเสียชีวิต ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงขึ้นไปก็ต้องรับผิดชอบต่อคำสั่งของตน บางเรื่องอาจอ้างได้ว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่บางเรื่องก็เป็นการจงใจสังหารคนมือเปล่า
ผู้รู้ในวงการทหารบอกว่า เรื่องที่น่าอับอายที่สุด คือการที่หน่วยสไนเปอร์ใช้อาวุธร้ายแรงมาซุ่มยิงผู้ชุมนุมมือเปล่ากลางถนนโดยเฉพาะกรณี นายวสันต์ ภู่ทอง ช่างเย็บผ้าชาวสมุทรปราการ อายุ 39 ปี ซึ่งมีภาพจากวิดีโอขณะเกิดเหตุเผยแพร่ไปทั่วโลก
คนทั้งโลกมองเห็นภาพนายวสันต์ถือธงชาติยืนอยู่กลางถนนราชดำเนิน และถูกยิงสมองกระจายล้มลงนอนอยู่บนพื้น มีธงชาติพาดอยู่บนหน้าอก คนที่ยิงมองจากกล้องที่ติดปืนก็เห็นอยู่แล้วว่านายวสันต์ไม่มีอาวุธใดๆ นอกจากธงชาติ และนายวสันต์ก็คงมองไม่เห็นคนซุ่มยิง ซึ่งอยู่ไกลเป็นร้อยๆ เมตร เขาไม่มีทางที่จะถือธงไปทำร้ายคนซุ่มยิงได้
นี่จึงไม่ใช่การป้องกันตัว แต่เป็นการจงใจฆ่า จะฆ่าเพราะอะไรยังไม่มีใครตอบได้ ภาพสยดสยองนี้แพร่ไปทั่วโลกและจะยังคงอยู่เป็นสิบๆ ปี
วันนี้ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนในโลกเมื่อเปิดคอมพิวเตอร์แล้วคลิกไปที่เหตุการณ์ 10 เมษายน ในประเทศไทย คุณจะได้เห็นภาพนี้ มันเป็นการประจานทุกคนที่เกี่ยวข้อง ชี้ให้เห็นถึงการด้อยความสามารถในการบังคับบัญชา การกำหนดเป้าหมายและภารกิจ การอบรมสั่งสอนผู้ปฏิบัติงานทั้งในเรื่องจริยธรรมและการควบคุมอารมณ์
เพราะโดยหลักการแล้ว หน่วยสไนเปอร์ใช้ทำลายเป้าหมายที่เป็นบุคคลสำคัญ หรือที่เป็นผู้บังคับบัญชาของฝ่ายตรงข้ามในสงคราม และอาจใช้คุ้มครองบุคคลสำคัญฝ่ายเรา โดยทั่วไปไม่นำมาใช้ยิงหรือสังหารกำลังรบธรรมดา ยิ่งไม่สมควรใช้ยิงประชาชนมือเปล่า
การกระทำแบบนี้จะทำให้มีคนพลอยซวยไปด้วยหลายคน หลายระดับ ผู้ปฏิบัติที่ไร้จิตสำนึก และไร้สติ หรือผู้บังคับบัญชาที่ลุแก่อำนาจ ไม่เข้าใจการเมือง จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนตกเป็นจำเลย ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรร่วมกัน ตัวอย่างที่มีการขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศเนื่องในเหตุการณ์แถวๆ บอสเนียก็เป็นผลมาจากการกระทำของพวกหน่วยสไนเปอร์นี่แหละ
ที่ยกกรณีของนายวสันต์มาพูดเพียงรายเดียว เพราะได้เห็นภาพอย่างละเอียด ที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ยังมีอีก 20 กว่าราย ที่เสียชีวิตไปและบาดเจ็บอีกมากมาย
ไม่เพียงประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ แต่ยังมีโจทก์ที่เป็นญาติและเพื่อนจะตามมาคิดบัญชีในภายหลัง ซึ่งอาจจะยังไม่เกิดในช่วงเร็วๆ นี้ แต่จะเกิดขึ้นในวันหนึ่งข้างหน้า
ข่าวเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ศาลสาธารณรัฐอาร์เจนตินาตัดสินจำคุกตลอดชีวิตอดีตนายพลเอกวาโด้ คาบานิยาส ในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นช่วงการปกครองระบอบเผด็จการทหารระหว่างปี 2519 ถึง 2526
การกระทำในอดีตของอดีตนายพลเอกวาโด้ที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย คือการใช้อำนาจปราบปราม ลักพาตัว และลอบสังหารนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย นอกจากนั้น ศาลยังได้ตัดสินจำคุก นายโอราซิโอ้ มาร์ติเน รูอิซ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรัฐ และนายเอกวาโด้ รุฟโฟ่ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของทหาร เป็นเวลา 25 ปี รวมถึงสั่งจำคุก นายราอูล กูกลิเอลมิเน็ตติ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของทหารเป็นเวลา 20 ปี
วันนี้ใครจะสั่งให้ลูกน้องทำอะไร ต้องเห็นใจกันบ้าง เพราะในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงจะไม่มีใครปกป้องความผิดให้ใครได้ สิ่งที่ทำวันนี้แม้เอาใบบัวมาปิดไว้ ก็ยังเป็นความผิด วันใดที่ใบบัวแห้งเหี่ยวหรือถูกลมพัดปลิวไป ความผิดก็ปรากฏขึ้นอยู่ดี
ความตายของ 26 ชีวิตและผู้บาดเจ็บประมาณ 900 คน ในวันที่ 10 เมษายน 2553 จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองว่า พวกเขายอมสละชีวิตเพื่อให้ผู้มีอำนาจยอมรับเสียงของประชาชน เป็นบทเรียนให้คนทั้งโลกได้ดู ได้อ่าน ได้ศึกษา ส่วนเรื่องคดีความ ใครจะเป็นผู้ร้ายใครจะเป็นคนดีคงจะไม่ได้พิสูจน์กันในเร็วๆ นี้ แต่จะได้พิสูจน์กันแน่นอนในโอกาสข้างหน้า
2 เมษายน 2554... โกตดิวัวร์ เสียงปืนยังดังกึกก้องอยู่ในกรุงยามุสซุโกร (Yamoussoukro) เและ อาบิจาน สองเมืองใหญ่ ความขัดแย้งทางการเมืองที่นี่มีมานานแล้วและรุนแรงขึ้นหลังปี พ.ศ.2536 จนกระทั่งมีการรัฐประหาร 2542 และก็มีการเลือกตั้งในปี 2543
Laurent Gbagbo ได้เป็นประธานาธิบดีท่ามกลางความขัดแย้ง
ในปี 2545 เกิดการรัฐประหารแต่รัฐบาลปราบได้สำเร็จ การต่อต้านรัฐบาลก็ยังคงมีต่อไป ทำให้สหภาพแอฟริกา (AU) ได้เข้ามาไกล่เกลี่ย
ในเดือนเมษายน 2548 จีแบกโบประกาศเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)ได้มีมติที่ 1633 ให้จีแบกโบจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี แต่เขาไม่ยอม และขอเลื่อนการเลือกตั้งออกไปบ่อยครั้ง ทำให้ UNSC มีมติคว่ำบาตรโกตดิวัวร์ไปถึง 30 ตุลาคม 2553
ในที่สุด ก็มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้น ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2553 คู่แข่งขันที่สำคัญของ โลรองต์ จีแบกโบ คือ อลาสซาเน่ อ็อตตาร่า (Alassane Ouattara) อดีตนายกรัฐมนตรี
เศรษฐกิจของโกตดิวัวร์ในระยะหลังไม่ใช่มีเพียงโกโก้ ที่เป็นสินค้าออกสำคัญ แต่ยังมีการขุดพบทองคำ มีการขุดพบแก๊สและน้ำมัน ผลประโยชน์ในโกตดิวัวร์ในวันนี้จึงมีมากมายกว่าสมัยก่อน
การเป็นประธานาธิบดีกำหนดไว้สมัยละ 5 ปี จีแบกโบเป็นประธานาธิบดีมาตั้งแต่ 2543 แต่มีความขัดแย้งทางการเมือง และใช้วิธีเลื่อนการเลือกตั้งเพื่ออยู่ในตำแหน่งมาโดยตลอด ครั้งนี้ถูกบีบบังคับโดย UNSC และสหภาพแอฟริกา การเลือกตั้งจึงมีขึ้น โดยมีตัวแทนของนานาชาติเข้ามาเป็นสักขีพยาน และสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพราะกลัวจะมีการโกงและใช้อิทธิพลจากผู้มีอำนาจ
ผลการเลือกตั้งในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2553 ปรากฏว่า อ็อตตาร่า ผู้ท้าชิงได้รับชัยชนะได้คะแนน 54% ในขณะที่จีแบกโบได้ประมาณ 46% ซึ่งเขาไม่ยอมรับความพ่ายแพ้และได้ไปพึ่งศาลสูง ซึ่งประธานศาลสูงก็เป็นคนที่เคยทำงานกับจีแบกโบในพรรค FPI
ศาลได้ตัดสินว่ามีความผิดปกติในหน่วยเลือกตั้งในบางจังหวัดและคิดคะแนนใหม่ ประกาศให้จีแบกโบเป็นฝ่ายชนะ 51% ต่อ 49%
คำตัดสินนี้ค้านกับคำตัดสินของ กกต. ซึ่งนานาชาติเห็นด้วยว่าอ็อตตาร่าเป็นฝ่ายชนะ ทั้ง UN. และอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ให้การรับรองอ็อตตาร่าแล้ว แต่จีแบกโบก็ไม่ยอมส่งมอบอำนาจให้
ทั้งสองฝ่ายต่างก็ตั้งตนเป็นประธานาธิบดี ในเดือนธันวาคม ธนาคารโลกได้ระงับเงินกู้ 842 ล้านเหรียญ แต่ไม่สามารถบีบบังคับจีแบก
โบได้ ผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายปะทะกันเพียงเดือนเดียวมีผู้เสียชีวิตถึง 200 ราย จีแบกโบใช้กำลังทหารเข้าข่มขู่ และปิดล้อมโรงแรมที่อ็อตตาร่าพักอยู่ แต่อ็อตตาร่าก็มีกำลังทหารของ UN 800 นาย คอยคุ้มครอง และได้ระดมกำลังฝ่ายกบฏที่อยู่ทางเหนือเข้าโจมตี และยึดเมืองต่างๆ ในที่สุด ความขัดแย้งก็กลายเป็นสงคราม ขยายจากการใช้อาวุธจากปืนเล็กกลายเป็นอาวุธหนัก
30 มีนาคม 2554 UNSC ได้มีมติที่ 1975 มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของจีแบกโบและภริยา รวมทั้งบุคคลใกล้ชิดอีก 3 ราย รวมทั้งห้ามบุคคลทั้งหมดเดินทางเข้าประเทศสมาชิกยูเอ็น
รัฐสมาชิก UNSC ทั้ง 15 ชาติ แสดงท่าทีชัดเจนให้จีแบกโบก้าวลงจากอำนาจจากการลงมติ ซึ่งมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังการบุกยึดกรุงยามุสซุโกร เมืองหลวงโกตดิวัวร์
อย่างไรก็ตาม นักการทูตจากหลายประเทศได้เรียกร้องให้ คณะผู้แทนสหประชาชาติในโกตดิวัวร์ (The United Nations Operation in Cote d"Ivoire-UNOCI) ปฏิบัติหน้าที่อย่างยุติธรรม โดยมีเสียงคัดค้านจาก จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ให้แก้ร่างมติฉบับที่ 1975 นี้ ให้เน้น "ความจำเป็นที่ต้องยึดอาวุธหนัก" จากกองกำลังต่างๆ
วันนี้ยูเอ็นได้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพจำนวนกว่า 11,000 คนเข้าไปยังโกตดิวัวร์ โดยกองกำลังยูเอ็นประมาณ 800 คนกำลังคุ้มครองที่ทำการของอ็อตตารา ในเมืองอาบิจาน ซึ่งตกอยู่ในวงล้อมของนักรบฝ่ายหนุนโลรองต์ จีแบกโบ
สถานการณ์ล่าสุดกองกำลังของอ็อตตาร่า ซึ่งบุกยึดเมืองได้หลายเมืองอย่างรวดเร็วรวมทั้งเมืองหลวงได้ส่งกำลังเข้ามาในกรุงอาบิจาน ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเกิดการปะทะกันอย่างหนัก เนื่องจากอาบิจานเป็นเมืองหลวงเก่าเป็นที่ตั้งของสถานทูตต่างๆ และสำนักงานการค้าขนาดใหญ่ การยึดเมืองนี้ได้ก็เหมือนยึดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโกตดิวัวร์ไว้ได้
จีแบกโบได้ระดมกำลังนักรบเยาวชน ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มที่เขาจัดตั้งไว้หลายปีมาแล้ว ให้เข้าร่วมปกป้องอำนาจของเขา คาดว่าการปะทะกันในเมืองนี้จะต้องมีผู้เสียชีวิตอย่างมากมาย เพราะไม่กี่วันก่อนการรบที่เมืองดูเอคูเอ้ (Duekoue) มีรายงานข่าวว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 400 คนในวันเดียว
ประเมินว่าสงครามกลางเมืองมีคนเสียชีวิตเกินกว่า 1,000 คน ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติประเมินว่า มีพลเรือนโกตดิวัวร์มากกว่า 1 ล้านคนต้องลี้ภัยสงครามจากถิ่นฐานบ้านเกิด ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2010
สรุป ที่โกตดิวัวร์เลือกตั้งแพ้แต่คนไม่แพ้ ผู้กุมอำนาจเก่าใช้อิทธิพลทุกวิถีทาง ทั้งอำนาจศาลทั้งอำนาจปืน เพื่อรักษาอำนาจรัฐไว้ ผลที่ตามมาก็คือสงคราม ชาวบ้านตาดำๆ ต้องล้มหายตายจากอพยพหลบหนีภัยสงคราม อีกไม่กี่วันบทสุดท้ายของความขัดแย้งครั้งนี้คงจะจบลง ผู้ชนะจะได้เป็นประธานาธิบดี แต่ยังไม่รู้ว่าผู้แพ้จะมีชะตากรรมเป็นอย่างไร
สำหรับประเทศไทย เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต คนส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งประมาณกลางปีนี้ แต่หลังเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวกำหนด
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางการเมืองวันนี้มีเส้นทางเดินอยู่สองทางเดินเท่านั้น เส้นทางแรกเดินผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่แบบยุติธรรม (พอสมควร)
อีกเส้นทางหนึ่งคือไม่ต้องสนใจความยุติธรรมใดๆ อาศัยอำนาจและกำลังที่มากกว่าหาวิธียึดอำนาจไว้ ใครอยากได้ก็ให้มาช่วงชิงเอาไป ซึ่งเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางการเมืองที่คล้ายกับโกตดิวัวร์
เหตุการณ์เสียงปืนแตกที่สี่แยกคอกวัว เมื่อ 10 เมษายน 2553 มีโอกาสเกิดขึ้นอีก และอาจไม่จบแบบ 19 พฤษภาคม 2553 .......จะไปจบแบบไหน
จบวันที่ 19 พฤษภาคมปีไหนก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าถ้าเกิดขึ้นอีกครั้งแบบสี่แยกคอกวัว เส้นทางเดินต่อไปจะไม่ใช่ตูนิเซียหรืออียิปต์ แต่จะเป็นแบบโกตดิวัวร์
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย