.
มติอาเซียน 22 ก.พ. ผู้สังเกตการณ์ จาก "อินโดนีเซีย" มติที่ยากยิ่งจะปฏิเสธได้
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1602 หน้า 8
สงสัยหรือไม่ว่า เหตุปัจจัยอะไรทำให้รัฐบาลกัมพูชาไม่ยอมรับการติดต่อกับรัฐบาลไทยโดยตรง
ทั้งๆ ที่ประเทศกัมพูชาได้ชื่อว่าเป็นประเทศเล็กกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ทั้งๆ ที่ในทางแสนยานุภาพกองทัพกัมพูชามิอาจสู้กับกองทัพไทยได้
ที่สำคัญก็คือ กัมพูชาเป็นรองไทยทั้ง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ
แต่ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในระดับคณะกรรมการร่วมระดับท้องถิ่นอันยื่นไปโดย พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2
ก็ไม่มีการขานรับ
และไม่ว่าจะเป็นความพยายามในระดับคณะกรรมการร่วมทั่วไป อันเป็นเรื่องระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหม
ก็ไม่มีการขานรับ
หรือแม้กระทั่งจะเป็นความพยายามในระดับคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม อันเป็นเรื่องระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงการต่างประเทศ
ก็มิดอิมซิม
ไม่ว่าจะเป็น สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ได้มองข้ามจุดนี้ไปแล้ว
หากสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวของรัฐบาลกัมพูชาภายหลังการปะทะกัน ซึ่งเริ่มเมื่อวันศุกร์ที่ 22 เมษายน บริเวณปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย
เป้าหมาย 1 คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
เป้าหมาย 1 ซึ่งอยู่ใกล้ตัวมากกว่าคือ นายมาร์ตี นาตาลาเกวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน
ไม่ใช่ประเทศไทย
เหตุผลเพราะว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ให้อาเซียนรับผิดชอบในการทำให้กรณีพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ไปสู่การหยุดยิงอย่างถาวร
ขณะเดียวกัน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีมติขานรับการส่งคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้าไปประจำในพื้นที่อันเป็นกรณีพิพาททั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา
มตินี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการหยุดยิงอย่างถาวรปรากฏเป็นจริง
มติคณะมนตรีความคงแห่งสหประชาชาติกับมติอาเซียนจึงมีความสำคัญ
ขอให้ประเมินท่าทีที่ยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคงของ นายมาร์ตี นาตาลาเกวา ในฐานะประธานอาเซียน
แม้จะมีความล่าช้าในเรื่องผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย แต่ประธานอาเซียนก็ยังดำรงความมุ่งหมาย
"ไทยเห็นด้วยกับแนวคิดให้มีผู้สังเกตการณ์ ยังเหลือประเด็นทางเทคนิคบางประการที่ต้องหารือกัน ผมเห็นว่าควรเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันความสับสนว่าใครทำอะไร และทำเมื่อใด"
ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นท่าทีจากกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์
"เป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศทั้ง 2 จะต้องร่วมกับอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปฏิบัติตามข้อตกลงในคราวประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์"
ถึงอย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องสนองรับการเข้ามาของ "ผู้สังเกตการณ์" จากอินโดนีเซีย
++
กระแส"ชาตินิยม-การเมือง" กดดัน บีบคั้น "ไทย-เขมร"เปลี่ยนจุดยืนไม่ได้ รบชายแดน"ยืดเยื้อ-รุนแรง"
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1602 หน้า 10
แม้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน ต่อปัญหาความขัดแย้งกับกัมพูชา จะค่อนข้างระมัดระวัง
คือ
1. มาตรการทางทหารจะไม่ให้พื้นที่ปะทะกันขยายวงออกไป เพื่อไม่ให้กัมพูชาสามารถนำไปกล่าวอ้างกับนานาชาติในการยกระดับปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชาให้เป็นปัญหาสากล
2. มาตรการทางการทูตในการขอความร่วมมือจากนานาชาติและอาเซียนช่วยดึงกัมพูชากลับมาสู่กรอบการหารือระดับทวิภาคี
3. มาตรการที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข่าว การร่วมมือทางการค้า และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนกำลังทหารแต่ละจุดตามแนวชายแดนนั้นยังคงจำนวนจุดประจำเท่าเดิมและไม่มีการเพิ่มกำลังทหาร แต่ถ้าจะขยายจุดหรือเพิ่มกำลังทหาร จะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ ขณะที่การปิดด่านชายแดนนั้นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนและประชาชนตามแนวชายแดน โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาและประเมินผล
แต่เมื่อประเมินสถานการณ์การสู้รบที่ขยายตัวจากสมรภูมิภูมิซรอล ภูมะเขือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย แล้วดูเหมือนจะยากต่อการยุติลงง่ายๆ
เพราะ "จุดยืน" ที่ทั้งไทย และกัมพูชา ยึดถืออย่างแน่วแน่นั้น ได้ทำให้หนทาง "สันติ" แคบลงเรื่อยๆ
และที่สุดก็นำไปสู่การปะทะระลอกใหม่ อย่างที่เราเห็นขณะนี้
ทางด้านกัมพูชานั้น ชัดเจนว่า เมื่อเห็นความชะงักงัน ของการดึง "ผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย" เข้ามาในพื้นที่
เห็นความชะงักงัน ของการดึงนานาชาติ เข้ามาพัวพันกับปัญหาความขัดแย้ง
และเห็นว่า หากปล่อยสถานการณ์ให้เป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าไหลไปเข้าทางฝ่ายไทย
นี่จึงเป็นเหตุให้เสียงปืนดังขึ้นที่ชายแดนไทย-เขมร ด้าน จ.สุรินทร์ โดยมีเป้าหมายที่ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย ซึ่งสะสมเงื่อนไข ความรุนแรง มานาน
ซึ่งถือเป็นการขยายแนวรบ จากพื้นที่เขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ ให้มากยิ่งขึ้น
ความขัดแย้งได้ถูก "ยกระดับ" ให้ใหญ่โต อย่างมีเป้าหมายชัดเจน
ชัดเจน ในสายตาของอาเซียน องค์การสหประชาชาติ และประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่า สหรัฐ จีน ฝรั่งเศส
กัมพูชา หวังว่าความชัดเจนนี้ จะบีบรัด กดดัน ให้เกิดการแทรกแซงจากนานาชาติ
ไม่ยอมให้ปัญหาไทย-เขมร เป็นเรื่องของ "ทวิภาคี" อย่างเด็ดขาด
ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปได้สูง ที่ สมเด็จฮุน เซน ซึ่งเชี่ยวในเกมการเมืองมาในทุกรูปแบบ ประเมินว่า ปัจจัยภายในของไทยกำลังระส่ำระสาย
ด้านหนึ่ง กำลังจะเกิดการยุบสภา รัฐบาลไทย จะอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ
ด้านหนึ่ง เกิดความระส่ำระสายในการดูแลปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนที่เขาพระวิหาร ไม่ว่าการร้องเพลงคนละคีย์ ระหว่าง กองทัพกับกระทรวงการต่างประเทศ การที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ประกาศขอถอนตัวจากหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจามรดกโลก ฝ่ายไทย โดยอ้างว่า ขัดแย้งกับแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศ ร้อนถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ขอร้องแกมบังคับ ให้นายสุวิทย์ทำหน้าที่ต่อไป
แม้นายสุวิทย์จะทำหน้าที่ต่อ แต่สิ่งที่นายสุวิทย์แสดงออกนั้นชัดเจนว่า มีความไม่ราบรื่นในการขับเคลื่อนเรื่องนี้
"ปัจจัยภายในของไทย" ที่ไร้เอกภาพนี้อาจทำให้ สมเด็จฮุน เซน ฉวยจังหวะที่จะรุก เพราะหวังจะ "ได้เปรียบ"
ทางด้านฝั่งไทย ก็ชัดเจนว่า "ฝ่ายทหาร" ภายใต้มติของสภากลาโหม ได้ยืนกรานที่จะไม่รับคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย
ไม่รับการแทรกแซงจากนานาชาติ
การเจรจาจะมีขึ้นก็เฉพาะไทยกับกัมพูชาเท่านั้น
ท่าทีอัน "แข็งขัน" นี้ ได้กลายเป็นแนวทาง "กองทัพ" นำ "รัฐบาล" ไปโดยปริยาย
อันทำให้ข้อตกลงของกระทรวงการต่างประเทศไทยที่ไปตกลงกับกัมพูชา โดยมีอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนเป็นสักขีพยาน
ในเรื่องการส่งคณะผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ มีเงื่อนไขเพิ่มเติม
เป็นเงื่อนไขที่ไทยต้องการให้มีการระบุในเอ็มโอยู ก่อนที่คณะผู้สังเกตการณ์จะเข้ามา นั่นก็คือ ทหารกัมพูชาจะต้องถอนทหารออกไปจากพื้นที่ข้อพิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบเขาพระวิหารก่อน จึงจะยินยอมให้คณะผู้สังเกตการณ์เข้ามา
เงื่อนไขนี้ ว่าไปแล้ว ยากยิ่งที่กัมพูชาจะยินยอม
จึงมีโอกาสสูงที่เอ็มโอยูจะเซ็นไม่ได้ และเกิดความชะงักงันในเรื่องผู้สังเกตการณ์
ซึ่งตรงนี้ ก็ไปสอดคล้องกับความต้องการลึกๆ ของกองทัพ ที่จะไม่อยากให้มีฝ่ายที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง
ความชะงักงันดังกล่าว ทำให้ความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการปะทะระหว่างไทย-กัมพูชา ขยายตัวและยกระดับความรุนแรงสูงยิ่งขึ้น
แต่นาทีนี้ดูเหมือนกองทัพและฝ่ายการเมืองของไทย จะโน้มเอียงไปในทาง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
โดยในฟากของกองทัพนั้น ก็คงต้องแสดงให้คนไทยเห็นว่า นอกเหนือจาก "การตบเท้าเพื่อโชว์ความพร้อมรบ" และแสดงการสนับสนุนผู้บัญชาการทหารบกในการปกป้องสถาบันของหน่วยทหารต่างๆ ขณะนี้แล้ว
กองทัพก็ยังมีศักยภาพในปกป้องอธิปไตยของชาติ
ซึ่งจะเห็นว่า ทันทีที่เสียงปืนดังขึ้นที่ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย กองทัพบกก็ได้เปิดฉากถล่มฝ่ายกัมพูชาอย่างหนัก
ผู้บัญชาการทหารระดับสูง ถึงขนาดบอกว่า เมื่อเขมรมาหนึ่ง ฝ่ายไทยถล่มกลับไปสิบ
นี่ย่อมสะท้อนให้เห็น "ดีกรี" ความรู้สึกของฝ่ายทหารได้เป็นอย่างดี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกับประกาศว่า
"ถ้ากัมพูชาเขายังไม่หยุด เราก็ไม่หยุด เราจะไม่ยอมให้เขาทำเฉยๆ เขาทำอะไรเรามา เราก็ตอบไปอย่างนั้น"
ขณะที่ฟากทางการเมืองเอง เมื่อเข้าสู่โหมด "เลือกตั้ง" ย่อมทำให้เกิดแรงกดดันอย่างหนักหน่วงที่จะต้องไม่ "หงอให้กัมพูชา"
การตอบสนองกระแส "ชาตินิยม" เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งแม้นายอภิสิทธิ์ จะค่อนข้างระมัดระวังตัว แต่ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้หยิบปีกเหยี่ยวขึ้นมาเสียบหลัง พร้อมกับบอกอย่างแข็งกร้าวว่า
"นโยบายอดทนอดกลั้น และพยายามเจรจามาตลอดของเราต้องทบทวน"
ประเมินจากท่าทีของทั้งไทยและกัมพูชา รวมทั้งหากทั้งสองชาติยังไม่เปลี่ยนเป้าหมายในการขับเคลื่อน
โอกาสที่การสู้รบตามแนวชายแดน จะยืดเยื้อ และเพิ่มความรุนแรง เป็นไปได้สูง
ซึ่งหากมองผ่านแว่น "ชาตินิยม" อาจจะได้ความสาสมใจ
แต่กระนั้น ก็ต้องไม่ลืมว่า ชาวบ้านตามแนวชายแดนทั้งสองประเทศ หลายหมื่นคน ล้วนแต่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์
ต้องบาดเจ็บล้มตาย
ต้องอพยพหนีภัย อย่างทุกข์ทรมาน
ขณะเดียวกัน เสียงจาก "สภาธุรกิจไทย-กัมพูชา" ก็ได้เตือนถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ที่จะติดตามมา
หากสถานการณ์บานปลายถึงขั้นปิดด่าน การส่งออกปี 2554 ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการค้าชายแดนประมาณ 51,000 ล้านบาท จะต้องกระทบทันที ยังไม่รวมถึงการลงทุนในกัมพูชาของไทยอีกหลายหมื่นล้านที่จะได้รับผลกระทบ
และที่สำคัญ นานาชาติ จะยินยอมให้ "ไทย-กัมพูชา" สู้รบกันโดยไม่เข้าแทรกแซงหรือ
ถ้าเข้าแทรกแซง จะเป็นผลดีกับไทยที่ยึดมั่นแนวทาง "ทวิภาคี" อย่างไร
นี่เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ และรีบมีคำตอบ
จะลื่นไหลไปกับกระแสชาตินิยมอย่างเมามัน คงไม่ฉลาดแน่
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย