.
ทำไมต้องสรงน้ำ"พระพุทธสิหิงค์" ในวันสงกรานต์
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1600 หน้า 75
เทศกาลสงกรานต์เวียนมาอีกคำรบ
คนไทยได้ฉลองวันปีใหม่หยุดยาวกันอีกครั้ง ประสาเผ่าพันธุ์รักสนุก เมามันกันให้ระเบิดเถิดเทิงไปเลย ทั้ง 1 มกราคม-ปีใหม่เทศ ทั้งตรุษจีน และปีใหม่ไทย
สงกรานต์ที่กรุงเทพฯ ไม่มีอะไรควรค่าแก่การกล่าวถึง เว้นแต่ ขอแสดงความยินดีแก่ชาวกรุงเทพฯ ที่อาจหายใจโล่งคอขึ้นมาอีกนิดตรงที่รถติดน้อยลง
ปริศนาโบราณคดี เนื่องในวันสงกรานต์นี้ มีปรัศนีอยู่ว่า
ทำไมจึงต้องมีการนำ "พระพุทธสิหิงค์" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์สำคัญ มาทำการสรงน้ำในวันนี้ ใครเป็นผู้คิด เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่ไหน ด้วยเหตุผลใด
ข้อสำคัญ ไยจึงไม่ใช้พระพุทธรูปองค์อื่น?
ศึกชิงพระพุทธสิหิงค์สามภาค
นักวิชาการด้านโบราณคดีหลายท่าน เริ่มมีความเห็นสอดคล้องกันว่า "พระพุทธสิหิงค์ที่เคยมีข้อถกเถียงว่าองค์จริงอยู่ที่ไหนนั้น สรุปแล้วจริงทุกองค์ ไม่มีองค์ไหนปลอม"
เป็นอันว่า "ศึกชิงพระพุทธสิหิงค์สามภาค" นั้น "หมดเวลา" ทะเลาะเบาะแว้งกันเสียที ควรหันหน้ามา "ปรองดอง" กันได้แล้ว ระหว่างพระพุทธสิหิงค์ของสามราชธานีใหญ่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ และ กรุงเทพมหานคร
เหตุผลที่นักวิชาการกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะเชื่อว่า "พระพุทธสิหิงค์" หาใช่ชื่อเฉพาะของพระพุทธปฏิมาองค์ใดองค์หนึ่งไม่ หากแต่เป็น Type (แบบอย่าง) หรือ School (สกุลช่าง) ของพระพุทธปฏิมาใน "นิกายสีหฬภิกขุ" หมวดหนึ่งต่างหาก
การกล่าวเช่นนี้ มุมหนึ่งอาจช่วยไขข้อข้องใจกรณีพิพาทแย่งชิง "พระพุทธสิหิงค์องค์แท้" ให้ยุติเลิกรากันไปเปลาะหนึ่ง แต่แล้วผลลัพธ์ที่ตามมาให้เกิดปริศนาซ้อนปริศนาก็คือ
หากคำว่า "พระพุทธสิหิงค์" มิได้เป็นชื่อเฉพาะของพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งแล้วล่ะก็ พระพุทธรูปในหมวด "พระพุทธสิหิงค์" จะต่างอะไรกับ "พระสิงห์" ที่เรารู้จักกันดีหรือไม่ และในเมืองไทยย่อมต้องมีพระพุทธสิหิงค์เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากมายหลายองค์ แค่สามองค์ยังปวดเศียรเวียนเกล้าไม่พออีกหรือ
และกรณีที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท นำ "พระพุทธรูปที่ถูกเรียกกันว่าพระพุทธสิหิงค์" จากเชียงใหม่มาไว้ที่วังหน้า แต่แล้วที่เชียงใหม่ยังคงมี "พระพุทธรูปที่ถูกเรียกกันว่าพระพุทธสิหิงค์" อยู่อีกหนึ่งองค์ ประหนึ่งมิได้ถูกวังหน้านำเอาไป ก็ยังคงเป็นประเด็นคาใจผู้ที่แอบสงสัยอยู่นั่นเอง
อนึ่ง บทความชิ้นนี้มีความตั้งใจจะวิเคราะห์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นประเด็นหลัก
ฉะนั้น ปมปัญหาเรื่อง "ปริศนาพระพุทธสิหิงค์" เข้ามาสู่ล้านนาโดยผ่านนครศรีธรรมราชและสุโขทัยได้อย่างไร หรือกรณีองค์ไหนควรเป็นองค์จริง องค์ไหนควรเป็นองค์จำลอง คงต้องขอยกยอดเอาไว้เปิดประเด็นดุเด็ดเผ็ดมันในอีกวาระอันควร
ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง กับการรดน้ำดำหัว
ก่อนจะเข้าสู่ปรัศนีเรื่องการนำพระพุทธสิหิงค์ของทั้งสามภาคมาสรงน้ำ ขอเกริ่นถึง "ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง" (ประเพณีปีใหม่เมือง) ของชาวล้านนาก่อน เนื่องจาก "เชียงใหม่" ก็เป็นหนึ่งในสามเมืองที่มี "พระพุทธรูปที่ถูกเรียกกันว่าพระพุทธสิหิงค์"
ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ปีนี้เกิด Talk of the Town ดังสนั่นเมือง เหตุเพราะ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอร้องให้ประชาชนทุกภาคส่วน งดเว้นประเพณีการรดน้ำดำหัวผู้ว่าฯ ที่จวนเหมือนดังเช่นทุกปี โดยให้เหตุผลว่า
"อยากให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และประชาชนได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวในเทศกาลสำคัญนี้ ไม่อยากให้ต้องเสียเวลาถูกเกณฑ์มารดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แต่ผู้ว่าฯ ก็จะไม่ไปไหน หรือหากมีใครอยากมารดน้ำก็สามารถทำได้ เพราะจะมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ที่หน้าประตูจวนผู้ว่าฯ ประชาชนสามารถมารดน้ำได้ตามสะดวก"
เจอคำประกาศของผู้ว่าฯ เชียงใหม่ซึ่งเพิ่งมาดำรงตำแหน่งได้ 6 เดือนเศษ ว่าจะไม่มีพิธีรดน้ำดำหัวอีก หลังจากที่ชาวล้านนาเคยปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 50 ปี เล่นเอานักวิชาการหนุ่มเมืองเหนืออย่าง รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ต้องออกมาร่ายยาวเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ใน "ประชาไทออนไลน์" เป็นการด่วนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 พร้อมกับระดมคำถามมากมายที่ท้าทาย
ทายท้าทั้งคนกระทรวงมหาดไทยที่ถูกส่งตรงมาจากกรุงเทพฯ ผู้ยังอาจไม่เข้าใจขนบประเพณีท้องถิ่นดีพอ และทิ่มแทงทั้งคนเมืองเหนือด้วยกันเองที่หลงลืมไปแล้วว่า...
ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองก่อนหน้านั้นเคยเป็นเช่นไร คนล้านนาปฏิบัติอย่างไรในการรดน้ำดำหัว และเมื่อไม่มีการรดน้ำดำหัวผู้ว่าฯ คนเชียงใหม่ควรจะทำอะไร
Hot Issue ที่ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ระบุให้งดเว้นการรดน้ำดำหัวนั้น ชาวเชียงใหม่ลือกันให้แซ่ดว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ออกจะแปลกพิลึกอยู่สักหน่อย
ไฉนผู้ว่าฯ เชียงใหม่จึงสรุปเอาดื้อๆ ว่าวันสงกรานต์ควรอยู่กับครอบครัวมากกว่าต้องเสียเวลามาไหว้ผู้ใหญ่
หัวใจของ "ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง" นั้น มิได้หมายถึงวันครอบครัวเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกสองวัน แน่นอนวันแรกให้ปัดกวาดบ้านอยู่กับครอบครัว วันที่สองให้ไปวัดเป็นวันทำบุญ และวันสุดท้ายให้ไปขอขมาลาโทษขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสที่เราเคารพ
ไยจึงเหมารวมเอาว่าเทศกาลสงกรานต์นั้นต้องให้คนเชียงใหม่พักผ่อนอยู่กับบ้านกับครอบครัวเพียงอย่างเดียวตั้ง 3-4 วัน!
เอาเถอะ! ถึงปีนี้ชาวเชียงใหม่จะไม่ได้ไป "รดน้ำดำหัว" คนที่มีตำแหน่งสูงสุดที่ใครๆ เรียกว่า "พ่อเมือง" ก็ตาม ทว่า เมื่อมองในมุมกลับ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เหล่าข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น พ่อค้า ประชาชน ควรมีความอิสระในการปลดแอกตัวเอง ไม่ถูกอำนาจรัฐบังคับกะเกณฑ์ให้ต้องไปพินอบพิเทาผู้บังคับบัญชาแบบฝืนใจอีกต่อไป
นี่แหละคือ สิริมงคลแก่ชีวิตที่แท้จริง!
จากสรงน้ำพระธาตุ สู่สรงน้ำพระพุทธรูป
การแปลงงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของคนในท้องถิ่น ให้กลายเป็นงานระดับชาติภายใต้ชื่อ "สงกรานต์ถิ่นไทยงาม" (ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้คำว่า "มหาสงกรานต์ล้านนา" ในยุคหลังๆ) นี้เริ่มต้นขึ้นในราวทศวรรษ 2500 โดยหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว คือ "อ.ส.ท." (หรือ ท.ท.ท. ในปัจจุบัน) เป็นผู้ที่ดำริขึ้น
ถือเป็นจุดหักเหของวัฒนธรรมล้านนาครั้งสำคัญ ที่จู่ๆ ก็เชิญให้หนุ่มเหน้าสาวสวยนุ่งเตี่ยวนุ่งซิ่นพื้นเมืองไปสาธิตโชว์การสาดน้ำสงกรานต์ให้ชาวต่างชาติดูในโรงแรม ช่างได้บรรยากาศ Exotic ดีแท้!
ภาครัฐพลอยเห็นดีเห็นงามกับ "วัฒนธรรมจัดตั้ง" ครั้งนั้น จึงร่วมด้วยช่วยกันในการสร้าง "วัฒนธรรมแห่แหนแต่นแต้" ด้วยการอัญเชิญเอาพระพุทธรูปองค์สำคัญจากวัดต่างๆ มาเข้าขบวนพาเหรดไปตามท้องถนนให้ผู้คนได้สรงน้ำรอบคูเมืองเชียงใหม่
พระพุทธสิหิงค์ คือพระพุทธรูปองค์สำคัญที่ถูกจัดวางไว้ในขบวนแรกสุด แล้วตามด้วยพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับน้ำหรือฝน โดยมากมักเป็นพระพุทธรูปฝนแสนห่าจากวัดในอำเภอต่างๆ
แต่เดิมนั้นคนเมืองเหนือต้องเตรียมตัดตุง ขนทรายเข้าวัด และถือสลุง (ขันน้ำ) ใส่น้ำขมิ้นส้มป่อย ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อไปสรงน้ำ "พระบรมธาตุ" ที่วัด อันเป็นประเพณีโบราณ
หลักฐานด้านลายลักษณ์ในภาคเหนือ ไม่เคยปรากฏว่ามีการสรงน้ำพระพุทธรูปในวันสงกรานต์หรือวันสำคัญอื่นๆ ทั้งมาฆบูชาหรือวิสาขบูชาแต่อย่างใด
พบเพียงข้อความที่ระบุถึงกษัตริย์ล้านนาได้เสด็จมาสรงน้ำพระบรมธาตุเจดีย์ที่นครหริภุญไชย อันถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยราชธานียังอยู่ที่ลำพูน แม้กระทั่งได้ย้ายศูนย์อำนาจมาที่เชียงใหม่แล้วก็ตาม แต่พระธาตุหริภุญไชยยังคงเป็นแหล่งรวมจิตวิญญาณคนล้านนามาทุกยุคทุกสมัย
จนกระทั่งสมัยพญากาวิละ ยุคที่ฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาคืนมาจากพม่า ครั้งนั้นได้ให้ความสำคัญแก่พระธาตุลำปางหลวงแทน เหตุเพราะเชื้อสายของพระองค์สืบสกุลมาจาก "หนานทิพย์ช้าง" เมืองลำปาง
จากนั้นราวร้อยปีเศษ ก็เปลี่ยนไปเป็นการสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุที่ วัดพระธาตุศรีจอมทองแทน ดังเช่นกรณีของ พระราชายา เจ้าดารารัศมี ในคราวเสด็จนิวัติสู่เชียงใหม่ ก็ได้แวะสรงน้ำพระธาตุที่วัดแห่งนี้ เหตุเพราะเป็นวัดที่สามารถอัญเชิญผอบบรรจุพระบรสารีริกธาตุออกมาให้คนได้สรงน้ำกันอย่างกระจะกระจ่างตา ชาวล้านนากล่าวกันว่าที่จอมทองนั้นเป็น "พระธาตุเคลื่อนที่ได้"
ในขณะที่วัดอื่นๆ เป็น "พระธาตุเคลื่อนที่ไม่ได้" เหตุเพราะถูกครอบทับด้วยเจดีย์ชั้นแล้วชั้นเล่า พระบรมสารีริกธาตุองค์ดั้งเดิมจึงถูกกลบฝังไว้ใต้ผืนดินลึก ไม่สามารถขุดผอบอัญเชิญมาให้เห็น
ดังนั้นคนล้านนาที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจึงยังคงรับรู้ว่า ช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมืองนี้ ทายาทของเจ้านายฝ่ายเหนือจักต้องเดินทางไปประกอบพิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระธาตุศรีจอมทองเสมอ หาใช่การไปสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ณ วัดพระสิงห์กลางเวียงเชียงใหม่ไม่
ใครสถาปนาวัฒนธรรมจัดตั้ง
ขบวนแห่แหนแต่นแต้?
ในที่สุดประเพณีการสรงน้ำพระบรมธาตุในวันสงกรานต์ก็หายไป คงเหลือไว้แต่ในเทศกาลแปดเป็ง (วิสาขบูชา) และยี่เป็ง (ลอยกระทง) โดยปี๋ใหม่เมืองหันไปสรงน้ำพระพุทธรูปแทน
ธรรมเนียมการสรงน้ำพระพุทธรูปในขบวนแห่ เกิดขึ้นพร้อมกับการเดินทางมาถึงของผู้ว่าราชการจังหวัดที่กระทรวงมหาดไทยส่งมาประจำตามเมืองต่างๆ อันเป็นรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับวัฒนธรรมชาวบ้านที่เคยมีประเพณีแห่ "ไม้ก๊ำสะหลี" (ไม้ใหญ่นำไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัด) แบบแห่ไปรำวงไปอยู่แล้ว
ภาครัฐกำหนดให้ประชาชนคนเมืองยืนคอยท่าอยู่เฉยๆ ที่ริมถนนหน้าบ้านตัวเอง ไม่ต้องเสียเวลาตัดตุงเตรียมข้าวต้มมัดไปวัดอีกแล้ว
ประเดี๋ยวเทศบาลเขาจะจัดแถวขนคนเคลื่อนขบวนพระพุทธรูปองค์สำคัญ แห่มาให้สาดน้ำสงกรานต์เองถึงประตูบ้าน
จากวิถีชีวิตที่ต่างคนต่างไปทำบุญที่วัด อยู่ดีๆ พ่อเมืองก็ได้เกณฑ์หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น จากทั่วจังหวัดให้มาตั้งขบวนจัดแถว ถือป้ายประกาศรายงานตัวว่าอำเภอไหนให้ความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียงมากที่สุด
มากันทั่วทุกสารทิศแบบนี้ เกษตรกรที่ไหนจะกล้ามามือเปล่า อายเพื่อนต่างอำเภอ ต่างต้องแบกหอม กระเทียม ข้าวเหนียว มะนาว มะพร้าว ส้มโอ เพื่อเสริมความยิ่งใหญ่ในขบวนของอำเภอตน
เสร็จจากขบวนแห่ก็นำพืชผลเหล่านั้นไปใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีรดน้ำดำหัวผู้ว่าฯ อีกต่อหนึ่ง ใครจะขนกลับให้เหนื่อย
นายอำเภอที่อยู่ไกลๆ เช่น อมก๋อย ฮอด แม่แจ่ม ฝาง รับรู้ถึงความเจ็บปวดนี้ดีที่สุด เมื่อต้องบังคับกะเกณฑ์กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และลูกบ้านอีกต่อหนึ่ง ให้ออกเดินทางเช้ามืดตั้งแต่ตีสี่ตีห้า เพื่อมาทันเตรียมเข้าขบวนแถวตั้งแต่แปดโมงเช้า อีกสองชั่วโมงจากนั้นจึงเริ่มเดิน และเมื่อเสร็จงานก็กลับถึงบ้านเกือบตีสาม!
ดีเหมือนกันที่ผู้ว่าฯ สั่งให้งดป๋าเวณีรดน้ำดำหัว จะดีกว่านี้ไหม หากปีหน้าเพิ่มคำสั่งให้ยกเลิกขบวนแถว แห่แหน แต่น แต้ของแต่ละอำเภอลงเสียด้วย
แล้วทำไมต้องเป็นพระพุทธสิหิงค์?
ในเมื่อธรรมเนียมการนำพระพุทธรูปออกมาสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์มิใช่ประเพณีดั้งเดิมของชาวล้านนา หากแต่เป็นผลพวงของ "วัฒนธรรมจัดตั้ง" เพื่อตอบสนองนโยบายด้านการท่องเที่ยว
ถ้าเช่นนั้นแนวคิดในเรื่องการสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ต้องเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ ก่อนอย่างไม่ต้องสงสัย จากนั้นจึงกระจายไปยังหัวเมืองต่างๆ
ไม่น่าประหลาดใจที่กรุงเทพฯ กำหนดเลือกให้ "พระพุทธสิหิงค์" เป็นตัวแทนในการสรงน้ำวันสงกรานต์ เพราะนอกจากทำเลที่ตั้งของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้าจักอยู่ใกล้ชิดติดกับพระเมรุท้องสนามหลวงจุดปะรำพิธีแล้ว
รัฐบาลสยามยังได้ถือโอกาสเอาวาระสงกรานต์นี้ เป็นเครื่องมือประกาศถึงความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นองค์แท้ดั้งเดิมของพระพุทธสิหิงค์ที่วังหน้า ให้ประชาชนทั้งประเทศรับทราบไปพร้อมกันทีเดียว
ดั่งนี้แล้ว ป่วยการถามชาวเชียงใหม่หรือชาวนครศรีธรรมราช ว่าเหตุใดจึงไม่เลือกพระพุทธรูปสำคัญองค์อื่นมาใช้ในการสรงน้ำ
ในเมื่อกรุงเทพฯ ใช้สิทธิ์ประกาศว่าสยามมีพระพุทธสิหิงค์องค์จริง แล้วเชียงใหม่กับนครศรีธรรมราช เขาก็มีพระพุทธสิหิงค์ ที่ต่างยืนยันว่าเป็นองค์แท้ทั้งคู่ทัดเทียมกัน มีหรือที่จะไม่ให้รีบใช้โอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทยนี้เป็นเครื่องมือประกาศอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตนเองบ้าง ว่าทั้งสองต่างก็เคยเป็นอดีตราชธานีที่ยิ่งใหญ่มาก่อนสยาม
แล้วจังหวัดอื่นๆ เล่า ทำอย่างไรเมื่อไม่มีพระพุทธสิหิงค์ เท่าที่ทราบในเขตวัฒนธรรมล้านนา จักนิยมอัญเชิญ "พระเจ้าฝนแสนห่า" มาแห่ในขบวนนำ เพราะฤดูกาลแห่งสงกรานต์นั้นคือช่วงเวลาที่ร้อนร้ายที่สุดในรอบปี ไม่มีความต้องการอื่นใดของชาวบ้านยิ่งไปกว่า ความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝนเพื่อการเพาะปลูกพืชผล
แถมท้ายหมายเหตุ เมษามหาโหด
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า สงกรานต์เมื่อปีกลายนั้น เป็นสงกรานต์ที่โศกสลดที่สุดในประวัติศาสตร์สยาม อาจเรียกได้ว่าเป็น "สงกรานต์เลือด" ก็ไม่ผิด
10 เมษามหาโหด ปี 2553 เหมือนฟ้าผ่ากลางถนนผ่านฟ้า นอกจากจะไม่มีการชดใช้หนี้โลหิต ที่ภาครัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อการเข่นฆ่าชาวประชาผู้บริสุทธิ์แล้ว มือที่มองไม่เห็นผู้มากบารมีกลับยังเถลิงอำนาจไม่รู้หนาวรู้ร้อนคิดเตรียมแผนพิฆาตราษฎรภาคสองในพฤษภาคมเดือนถัดมา
งานสงกรานต์ปี 2554นี้ ไพร่ฟ้าหน้าดำอย่างเราๆ ได้แต่รู้สึกซังกะตาย ที่ต้องทนฟังคำเตือนให้ระวัง "7 วันอันตราย" จากอุบัติเหตุสงกรานต์ เป็นห่วงเป็นใยกันนักหรือกับความเป็นความตายของประชาชน แล้ว 20 กว่าศพที่ถูกเข่นฆ่า ณ ผ่านฟ้านั้นเล่า?
เรามิอาจคาดหวัง "น้ำใจ" จากฟากฟ้าของใครให้ไหลชโลมล้างคราบเลือดและน้ำตาของวีรชนได้
และใครหน้าไหนก็ไม่มีสิทธิ์มาเรียกร้องให้คนไทยยุติการชุมนุมโดยสงบที่ปราศจากอาวุธได้อีกในปีนี้ โดยเฉพาะคำกล่าวอ้างที่น่ารังเกียจว่า
"เป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากมาเยี่ยมเยือน เป็นการสูญเสียเม็ดเงินมหาศาลทางเศรษฐกิจ"
ถามจริงๆ เถอะว่า จวบจนบัดนี้ประเทศไทยแลนด์ที่มีแต่วัฒนธรรมจัดตั้งจนกลายเป็นตอแหลแลนด์ไปแล้วยังจะมีภาพลักษณ์อะไรดีๆ ไว้อวดชาวโลก แข่งกับอียิปต์ ตูนิเซีย ลิเบียอยู่อีกหรือ?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย