http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-15

สิ้นพลังรถถัง! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.
สิ้นพลังรถถัง!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1599 หน้า 36


"การเลือกตั้งและการถอดถอนเป็นสิทธิพิเศษของเสรีชน"
Thomas Paine
นักคิดทางการเมืองชาวอังกฤษ (ค.ศ.1737-1809)


ในสมรภูมิการต่อสู้ทางการเมืองจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เห็นได้ชัดเจนว่า เครื่องมือทางยุทธวิธีที่ทรงพลัง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อข่มขวัญข่มขู่ คุกคาม หรือจะใช้เพื่อให้เกิดอำนาจการทำลายอย่างรุนแรงแล้ว ไม่มีอะไรจะมีบทบาทเด่นชัดได้เท่ากับรถถังอีกแล้ว

แน่นอนว่าในการสงคราม รถถังเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจทางทหาร แต่ในทางการเมือง รถถังเป็นสัญลักษณ์ของการรัฐประหาร

ในสถานการณ์ปกติ หากเกิดการเคลื่อนย้ายรถถังเข้าสู่เมืองแล้ว ก็บ่งบอกได้ถึงการยึดอำนาจรัฐนั่นเอง

ดังนั้น จึงไม่ใช่ภาพที่แปลกตากับการเมืองในยุคหลังสงครามโลกที่รถถังจะปรากฏตัวหน้าสถานที่สำคัญในทางการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา และติดตามมาด้วยข่าวของการยึดอำนาจของทหาร

ฉะนั้น รถถังคือสัญลักษณ์ของการยึดอำนาจ และดูจะเป็นภาพที่เจนตากับเรื่องราวของทหารกับการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในกรณีของการเมืองไทยก็ไม่ได้แตกต่างจากข้อสังเกตในข้างต้นแต่อย่างใด


หากแต่ในยุคที่การเรียกร้องประชาธิปไตยขยายตัว รถถังดูจะไม่ทรงอำนาจเช่นในอดีต อย่างน้อยภาพที่ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในจีน (กรณีจัตุรัส เทียน อัน เหมิน) ก็คือ ภาพที่ชายผู้หนึ่งยืนอย่างกล้าหาญขวางขบวนรถถัง...

ชายเพียงคนเดียวผู้นี้ทำให้ "ม้าเหล็ก" ทั้งขบวนต้องหยุด!

ที่สำคัญก็คือ ในยุคที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยมีการเข้าร่วมของประชาชนอย่างมากมายนั้น อำนาจของการ "ข่มขวัญ-ข่มขู่-คุกคาม" ไม่ว่าจะจากเสียง จากขนาด หรือจากอาวุธ กลับไม่มีพลังอย่างเคย

ตัวแบบจากตูนิเซียหรืออียิปต์บ่งบอกเรื่องราวในอีกด้านหนึ่งได้เป็นอย่างดี ถ้าลองประชาชนตัดสินใจสู้อย่างไม่กลัวเสียแล้ว พลังความน่ากลัวของรถถังก็ดูจะสิ้นสภาพไป

ในอีกมุมหนึ่ง หากย้อนกลับสู่อดีต บทเรียนการเมืองและการสงครามต่อต้านรถถังก็บ่งบอกถึงข้อจำกัดของรถถังได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ดังนั้น บทความนี้จะขอทดลองนำเสนอตัวแบบ 2 กรณี แม้จะเป็นบทเรียนจากอดีต แต่ก็เป็นข้อคิดที่น่าสนใจ



สตาลินการ์ด 1942

ยุทธการยึดเมืองระหว่างกองทัพเยอรมันกับกองทัพของสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการชิงเมืองสตาลินการ์ดนั้น ถือกันว่าเป็นสงครามที่เทียบได้กับการยุทธ์ที่เมืองออสเตอลิช ในสงครามนโปเลียน หรือการยุทธ์ที่เกตตี้สเบิร์ก ในสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา หรือการยุทธ์ที่แวร์ดัง ในสงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามเริ่มต้นจากแผนการยุทธ์ที่ต้องการเปิดแนวรบในด้านตะวันออกของยุโรป ด้วยการรุกเข้าไปในสหภาพโซเวียตรัสเซีย แผนการยุทธ์ครั้งนี้ถูกเรียกว่า "ยุทธการสีฟ้า"

แต่ก่อนที่การยุทธ์จะเริ่มขึ้นจริง เครื่องบินขนส่งขนาดเบาที่ลำเลียงนายทหารฝ่ายอำนวยการของกองทัพบกเยอรมันตกลงหลังแนวรบของทหารโซเวียต ทำให้ผู้นำรัสเซียได้รับรู้แผนยุทธการของเยอรมัน และปรับตัวจากบทเรียนสงครามที่เป็นความผิดพลาดในอดีตที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ในช่วงต้นสงครามในปี 1941

ในสภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากับการรุกเช่นนี้ ผู้นำทางทหารของรัสเซียพยายามร้องขอการเพิ่มเติมกำลังจากสตาลิน แต่คำตอบของสตาลินต่อจอมพลทีโมเชงโก ได้กลายเป็นวลีสำคัญสำหรับตอบนักการทหารที่ร้องขอแต่การมีกำลังพลมากๆ ว่า

"ถ้าเขามีกองพลขายในตลาด ข้าพเจ้าจะซื้อให้ท่านสักหนึ่งหรือสองกองพลทันที แต่ที่น่าเสียใจก็คือ ไม่มีใครเขาขายของเช่นนั้น"

และในทางกลับกันเมื่อเป็นไปไม่ได้ที่ใช้แนวทางการที่ต่อสู้ที่ทุ่มกำลังพลมากๆ เข้าไปทำการรบกับกองทัพเยอรมัน คำตอบก็คือ กองทัพโซเวียตจะต้องป้องกันสตาลินการ์ดให้ได้ในทุกวิถีทาง และจะต้องไม่อนุญาตให้กองทัพถอนตัวออกจากการถูกโอบล้อมของกองทัพเยอรมันเช่นในปี 1941

ดังนั้น คำสั่งทางยุทธการที่ชัดเจนของสตาลินถึงผู้นำทหารทุกระดับก็คือ "ห้ามถอยแม้แต่ก้าวเดียว" และเขายังได้จัดตั้งทหารหน่วยพิเศษขึ้นโดยออกคำสั่งให้สังหารทหารรัสเซียที่แสดงอาการหวาดกลัวหรือมีอาการขี้ขลาดและจะหนีทหารทันทีในที่ตั้ง และไม่จำเป็นต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใดทั้งสิ้น

สตาลินการ์ดเป็นตัวแทนที่ดีของสงครามเมือง ดังจะเห็นได้จากการรบที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ในระยะประชิด หรือเป็นการต่อสู้ในระยะห่างตึกต่อตึก ในสภาพเช่นนี้ รถถังกลายเป็นความเปราะบางอย่างมาก เช่น การใช้อาวุธต่อสู้รถถังอาจจะเสี่ยงในภูมิประเทศที่เป็นที่โล่งแจ้ง แต่กับในเมืองซึ่งมีมุมตึกหรือตรอกซอกซอยเป็นจำนวนมากนั้น อาวุธเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำลายรถถัง

และขณะเดียวกัน ก็เป็นที่รับรู้กันว่า รถถังเองก็มีจุดอ่อนในตัวเองอย่างมากเช่นกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างเกราะให้สามารถคุ้มครองทุกส่วนของตัวรถถังได้

ในขณะเดียวกัน ก็เห็นได้ชัดว่าการยุทธ์ไม่ได้ดำรงอยู่ในเงื่อนไขของสงครามตามแบบเช่นที่ทหารโดยทั่วไปถูกฝึกมา หากแต่เป็นการต่อสู้ของชุดปฏิบัติการขนาดเล็กในลักษณะของ "ตีแล้วหนี" โดยอาศัยความชำนาญในภูมิประเทศของความเป็นเมืองเป็นทั้งที่ซ่อนตัว และเป็นช่องทางของการหลบหนี

กองทัพเยอรมันพยายามใช้เงื่อนไขของอำนาจการยิงที่เหนือกว่า เช่น การกดขวัญและการมุ่งการทำลายด้วยการโจมตีของอากาศยานดำดิ่งทิ้งระเบิดแบบเจยู-87 (สตูก้า)

แต่พอพระอาทิตย์พ้นขอบฟ้า ทหารรัสเซียกลับเป็นฝ่ายโจมตี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลอบโจมตีและการลอบสังหาร ซึ่งก็มีทหารเยอรมันเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารเป็นจำนวนมาก

ในท้ายที่สุด การรุกใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ได้กลายเป็นปัจจัยที่บั่นทอนขวัญกำลังใจของทหารเยอรมันเป็นอย่างยิ่ง จนถึงขั้นมีการหนีทัพเกิดขึ้น หรือหาทางทำให้ตัวเองบาดเจ็บเพื่อจะได้ถูกกลับแนวหลัง

และต่อมากองทัพแดงก็เปิดการรุกใหญ่ตอบโต้ จนนำไปสู่ชัยชนะในการยึดสตาลินการ์ดกลับคืนมาเป็นของโซเวียตได้

ซึ่งเห็นได้ชัดว่าความเหนือกว่าของอำนาจกำลังรบ โดยเฉพาะอำนาจของรถถังไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดของชัยชนะในสงครามเมืองแต่อย่างใด

ในสภาพเช่นนี้ยังเห็นอีกด้วยว่า รถถังในพื้นที่การรบในเมืองนั้น อาจจะเป็นเพียง "หีบศพเหล็กเคลื่อนที่ได้" และความน่าเกรงขามของรถถังในสนามรบที่เป็นภูมิประเทศเปิดโล่งก็กลายเป็นเพียงความงุ่มง่ามสำหรับสงครามในเมืองเท่านั้นเอง



บูดาเปสต์ 1956

หลังจากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตรัสเซียในฐานะมหาอำนาจใหญ่ได้รุกเข้าครอบครองพื้นที่ของยุโรปตะวันออก ประเทศเหล่านี้ในทางการเมืองจึงอยู่ในฐานะของการเป็น "รัฐบริวาร" ของสหภาพโซเวียต

ในปี 1953 ได้มีความพยายามในการกวาดล้างพวกสุดโต่งที่นิยมสตาลินในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ซึ่งก็ได้ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกบางพรรคเช่น ในฮังการี พยายามที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง เช่น การเสนอให้มีการปฏิรูปที่ดินแทนระบบเกษตรรวมหมู่ที่ถูกบังคับใช้ในยุคของสตาลิน ตลอดรวมถึงการเสนอแนวทางที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้นในทางการเมือง เช่น การปลดปล่อยนักโทษการเมืองในฮังการี เป็นต้น

ความพยายามปฏิรูปเช่นนี้เกิดขึ้นในระดับรัฐบาลก็จริง แต่องค์กรความมั่นคง เช่น ตำรวจลับไม่ได้ถูกปฏิรูปแต่อย่างใด จึงได้กลายเป็นฐานทางอำนาจที่สำคัญที่จะใช้ในการต่อต้านนโยบายปฏิรูปที่เกิดขึ้น

แต่ดูเหมือนว่าความต้องการของประชาชนได้ไปไกลกว่าที่จะหันประเทศกลับไปสู่ระบอบ สตาลิน (หรือระบอบคอมมิวนิสต์แบบเก่า) ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นผลจากการเมืองของโซเวียตเอง ที่ประธานาธิบดีครุชซอฟซึ่งเป็นผู้นำใหม่ก็ได้เปิดการวิพากษ์สตาลินอย่างกว้างขวาง

การขยายตัวของแนวคิดเสรีนิยมทำให้ขบวนการนักศึกษาในฮังการีได้ออกมาเรียกร้องให้เปิดระบบการเมืองมากขึ้น เช่น เรียกร้องให้มีระบบหลายพรรค การปล่อยนักโทษการเมือง ให้ย้ายอนุสาวรีย์ของสตาลินออกไปจากสวนสาธารณะในเมือง

และที่สำคัญก็คือ เรียกร้องให้โซเวียตถอนกองทัพแดงออกจากฮังการี

การชุมนุมขยายตัวมากขึ้นจนรัฐบาลเองก็ควบคุมไม่ได้ จนในที่สุด รัฐบาลฮังการีเองกลับกลายเป็นผู้เปิดประตูเชิญให้กองทหารโซเวียตเข้ามาควบคุมวิกฤต

ในชั้นต้นนั้น ผู้นำกองทัพแดงเชื่ออย่างง่ายๆ ว่า การโชว์กำลังด้วยการเคลื่อนรถถังเข้าเมืองหลวงคือบูดาเปสต์นั้น จะทำให้ฝูงชนกลัวและยอมสลายการชุมนุม

แต่ไม่ต่างจากกรณีของสตาลินการ์ด เมืองกลายเป็นชัยภูมิของการต้านทานรถถังได้อย่างดี รถถังที่ต้องเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่เป็นตรอกซอย ประสบปัญหาอย่างมาก

และในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมเองก็ได้ขยายขีดความสามารถของตนด้วยการใช้อาวุธต่อสู้รถถัง เช่น ระเบิดเพลิงหรือโมโลตอฟค็อกเทล ที่ทหารโซเวียตเคยใช้อย่างได้ผลมาแล้วในการต้านทานการรุกของกำลังรถถังของนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2

ซึ่งในกรณีนี้ ระเบิดเพลิงได้กลายเป็นอาวุธหลักสำหรับผู้ต่อต้านกองทัพรถถังของโซเวียต ซึ่งก็ส่งผลอย่างมากในการหยุดยั้งการรุกของรถถังโซเวียต

ปฏิบัติการบูดาเปสต์ของกองทัพโซเวียต ได้เปลี่ยนให้เมืองกลายเป็นสนามรบ (ไม่ต่างกับกรณีของสตาลินการ์ด) ซึ่งแน่นอนว่า สำหรับผู้ชุมนุมซึ่งเป็นประชาชนแล้ว พวกเขาไม่ได้มีอาวุธหนักอะไรที่จะต้านทานหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับกองทัพโซเวียตได้แต่อย่างใด (ต่างกับอำนาจกำลังรบที่กองทัพแดงมีในการยุทธ์ที่สตาลินการ์ด)

ดังนั้น แม้ว่าฝ่ายประชาชนฮังการีจะประสบชัยชนะในช่วงแรก แต่ด้วยอำนาจทางทหารที่เหนือกว่ามากของกองทัพโซเวียต การต่อสู้ของประชาชนก็ถูกบดขยี้ลงในที่สุดด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง เพราะผู้นำโซเวียตได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแล้วว่า ฮังการีจะต้องไม่เป็นตัวแบบของการกบฏให้บรรดารัฐอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตเห็น และยังเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าฝ่ายกบฏจะต้องถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาด



อนาคต

ในโลกของการเมืองเก่า รัฐประหารมิได้เป็นอะไรมากไปกว่า "ยุทธการยึดเมือง" แต่ยุทธการเช่นนี้จากบทเรียนของสงครามเมืองในสตาลินการ์ดหรือในบูดาเปสต์ก็ตาม เห็นได้ชัดถึงจุดอ่อนของ รถถังซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของการยึดสถานที่สำคัญ และเป็นเครื่องมือของการข่มขวัญ

เพราะผู้นำทหารโดยทั่วไปมักจะมีสมมติฐานง่ายๆ แบบผู้นำรัสเซียในกรณีบูดาเปสต์ที่เชื่อว่า เมื่อรถถังปรากฏตัวแล้ว จะทำให้ผู้ชุมนุมกลัว และยอมถอนตัวกลับบ้าน หรือเชื่อว่าเมื่อกองทัพเยอรมันใช้รถถังรุกเข้าสตาลินการ์ดจะทำให้ทหารกองทัพแดงขวัญเสียและยอมถอย

แต่รถถังกลับต้องพบกับการต่อต้านอย่างหนัก จนกลายเป็นเป้าหมายที่อุ้ยอ้ายสำหรับการทำลายด้วยอาวุธต่อสู้รถถังในรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งอาวุธง่ายๆ อย่าง "โมโลตอฟค็อกเทล" เป็นต้น

ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนตัดสินใจ "สู้" ใน "สมรภูมิป่าคอนกรีต" เมื่อนั้นรถถังซึ่งเป็นเครื่องมือหลักก็อาจจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่ไร้พลังเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต่างกับเหตุการณ์ในสตาลินการ์ดหรือบูดาเปสต์นั่นเอง

หรืออย่างน้อยภาพของชายผู้กล้าที่ยืนขวางขบวนรถถังในปักกิ่งก็ตอกย้ำว่า เพียงผู้กล้าหาญหนึ่งเดียวก็อาจหยุดรถถังทั้งขบวนได้!

.