http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-25

สงครามความเชื่อ "ใครยิงก่อน" และ ไทยจะอยู่กันอย่างไร โดย นฤตย์ เสกธีระ

.
สงคราม “ความเชื่อ”กรณี“ใครยิงก่อน”ที่ชายแดน“ไทย-กัมพูชา”
บทความในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:25:27 น.


ทุกครั้งที่มีเสียงปืนดังขึ้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
ทั้งกองทัพไทย และกองทัพกัมพูชาจะชี้นิ้วใส่กันทันทีว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ลั่นกระสุนก่อน
ซึ่งเป็น“เรื่องยาก”ที่จะพิสูจน์ได้

ในอดีตการปะทะกันระหว่างกองทัพ 2 ประเทศจะจบลงด้วยการเจรจาหยุดยิง และสานสัมพันธ์กันใหม่

แต่ทันทีที่กรณีพิพาทไทย-กัมพูชา ยกระดับเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554
ปัญหาความขัดแย้งก็“ยกระดับ”ขึ้นทันที
สหประชาชาติโยน“ลูกบอล”แห่งความขัดแย้งใส่มือ“อาเซียน”ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย เป็นประธาน

และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ.กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีมติชัดเจน

“ยินดีต่อการที่กัมพูชาและไทยได้เชิญผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบริเวณชายแดนกัมพูชา-ไทยในฝั่งของกัมพูชาและของไทยตามลำดับ เพื่อสังเกตการณ์การปฏิบัติตามคำมั่นของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอาวุธไม่ให้เกิดขึ้นระหว่างกันอีก”

ถ้าตีความแบบไม่ซับซ้อนก็คือ มี“คนกลาง”มาเฝ้าระวังที่ชายแดน 2 ประเทศ เพื่อเป็น“พยาน”ว่า 2 ฝ่ายจะยุติการปะทะกัน
และหากเกิดปะทะกันจะได้มี “คนกลาง”ตัดสินว่าใครลงมือก่อน


“กัมพูชา”ที่มี“จุดยืน”ชัดเจนว่าต้องการให้องค์กรระหว่างประเทศและ“คนกลาง”เข้ามาจึงเปิดประตูรับทันทีแบบไม่มีเงื่อนไข
พร้อมให้ 15 ผู้สังเกตการณ์ทหารจากอินโดนีเซียเข้าไปได้ทุกจุดแม้ในค่ายทหาร

ในขณะที่ฝั่งไทย มติสภากลาโหมเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ กลับมีมติสวนทางกับกระทรวงการต่างประเทศ

“สถานการณ์ไทย-กัมพูชา ยังไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม เป็นการปะทะกันระดับพื้นที่เท่านั้น ถ้าหากส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ซึ่งเป็นคนต่างชาติอาจจะทำให้ความเข้าใจในข้อมูลคลาดเคลื่อน”

และภายใต้เหตุผลเรื่อง“อธิปไตย”ของประเทศ ทางกองทัพจึงมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าผู้สังเกตการณ์ต้องไม่ใส่ชุดทหาร ไม่พกอาวุธ และเป็นส่วนหนึ่งของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

ด้วยท่าที”ที่แตกต่างกัน ฝั่งหนึ่งเปิดกว้างสำหรับคนกลาง” แต่อีกฝั่งหนึ่งมีเงื่อนไขในการเปิดประตู
การเดินเกมของกระทรวงต่างประเทศที่ไม่เป็นเอกภาพภายในทำให้ไทยเพลี่ยงพล้ำเรื่องความเชื่อถือ” ไม่ว่าจะเรื่องคนกลาง” หรือ การถอนบันทึกข้อตกลงเจบีซี 3 ฉบับออกจากสภาฯ

ภาพที่ออกมา“ไทย”ย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ดังนั้น เมื่อเกิดการสู้รบครั้งใหม่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
และทั้งสองฝ่ายต่างชี้นิ้วใส่กันว่าอีกฝั่งหนึ่งเป็นฝ่ายเริ่มก่อน

คำถามเรื่อง“ความเชื่อ”จึงเกิดขึ้น

"สหประชาชาติ"และ"อาเซียน"จะเชื่อใคร

...................

ประเทศไทยไม่ได้อยู่เพียงเดียวดายในโลก
แต่ประเทศไทยอยู่ในสังคมโลก

“ความเชื่อ”ว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย
พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของไทย
“กัมพูชา”รุกราน“ไทย”ก่อน ฯลฯ

ทั้งหมดอาจเป็นความเชื่อ”ของคนกลุ่มหนึ่งในเมืองไทย

แต่ในสังคมโลกที่ต้องฟังและต้องคำนึงถึง“วิธีคิด”และ“กติกา”ที่เป็นสากล

ประเด็นสำคัญที่สุด ก็คือ ประเทศไทยได้สร้าง“ความน่าเชื่อถือ”มากแค่ไหนในระดับนานาชาติ
โดยเฉพาะเรื่องปัญหาชายแดน“ไทย-กัมพูชา”


ในทางการเมือง มีคนเคยบอกว่า“ความเชื่อ”คือ“ความจริง”
ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระหว่างประเทศ หรือ การเมืองในประเทศ
ตอนที่สหรัฐอเมริกาบุกอิรัก และจับ“ซัดดัม ฮุสเซ็น”ประหารชีวิต ประธานาธิบดีบุชสร้าง“ความเชื่อ”ระดับเรื่อง “อิรัก”สร้างระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นมา

เมื่อโลกเชื่อ “ความชอบธรรม”ก็เกิด
แม้สุดท้ายจะพิสูจน์แล้วว่า“ระเบิดนิวเคลียร์”เป็นเพียง“นิยาย”ที่สหรัฐอเมริกาสร้างขึ้นมา
“ความเชื่อ”นั้นผิดพลาด
แต่ “ความจริง”ก็คือ “อิรัก”ราบเป็นหน้ากลอง และยังไม่สงบจนถึงทุกวันนี้

การเมืองระหว่างประเทศเรื่อง“ไทย-กัมพูชา”ก็เช่นกัน
ไม่มีใครรู้ว่า“ความจริง”เป็นอย่างไร

ใครยิงใครก่อน

แต่สำคัญที่ว่า“โลก”จะเชื่อใคร

นี่คือ “สัจธรรม”ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย


++

ไทยจะอยู่กันอย่างไร
โดย นฤตย์ เสกธีระ max@matichon.co.th คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 18:00:00 น.


คำถามทางการเมืองในปัจจุบันทยอยมีคำตอบออกมา

คำถามที่ว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ มีคำยืนยันว่า ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม โดยสุ้มเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า 6 พฤษภาคม

เท่ากับว่าพฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาแน่


ต่อมามีคำถามว่า จะมีการเลือกตั้งจริงหรือ

คำตอบมีว่า การเลือกตั้งมีแน่ เพราะผู้คนในสังคมต้องการให้มีการเลือกตั้ง แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าเลือกตั้งไปก็อาจจะมีเรื่อง แต่ก็ยืนยันว่าอยากจะมีเลือกตั้ง

แม้สัปดาห์ที่ผ่านมา ทหารจะแสดงปฏิกิริยาแสดงความจงรักภักดี ประกาศปกป้องสถาบัน จนเกิดความหวาดเสียวเรื่องปฏิวัติ

แต่คนไทยก็ยังยืนยันว่า ปกป้องสถาบันกับการเลือกตั้ง เป็นคนละเรื่องกัน

ปกป้องสถาบันก็ปกป้อง เลือกตั้งก็เลือกตั้ง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ออกมาย้ำว่า มีการเลือกตั้งแน่ นี่แสดงว่า การเลือกตั้งมีแน่

ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะสังคมไทยต้องการ

และแล้วก็มีคำถามตามมาอีก หลังเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่

คำตอบปัญหาข้อนี้จำแนกแยกแยะออกเป็นบทวิเคราะห์มากมาย

มีทั้งคำตอบว่าจัดตั้งได้ มีทั้งคำตอบว่าจัดตั้งไม่ได้

คำตอบที่อยู่ในกลุ่มจัดตั้งได้ ก็แบ่งเป็นทั้งจัดตั้งโดยธรรมชาติ คือ จัดตั้งโดยพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

และจัดตั้งได้โดยถูกกดดัน

จัดตั้งโดยสมมติฐานว่า พรรคการเมืองนั้นรวมกับพรรคการเมืองนี้แล้วสถานการณ์ต่างๆ จะเป็นอย่างไร


ส่วนที่บอกว่าจัดตั้งไม่ได้ก็บอกว่าสถานการณ์จะเลวร้าย เพราะเหตุไม่ยอมรับการเลือกตั้ง จนจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

คำถามเหล่านี้มีคำตอบ ....เพียงแต่เป็นคำตอบเชิงคาดการณ์ ต้องรอดูว่าคำตอบไหนเป็นคำตอบที่ถูกต้อง



แต่สังเกตไหมว่า คำถามและคำตอบดังกล่าว เป็นคำถามและคำตอบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองที่มีความขัดแย้งกัน

ยุบสภาไหม เลือกตั้งไหม ตั้งรัฐบาลได้ไหม เหล่านี้เป็นคำถามในชั้นเชิงการเมืองระหว่างกลุ่มที่คุมอำนาจอยู่กับกลุ่มที่พยายามแย่งอำนาจไป

คำถามที่ใหญ่กว่าและสำคัญกว่า เป็นคำถามว่า แล้วประเทศไทยจะอยู่ต่อไปกันอย่างไรหลังจากศึกแย่งชิงอำนาจผ่านพ้นไปแล้วนั้น

กลับยังไม่มีคำตอบ

คำถามที่ว่า หลังจากเลือกตั้งและมีรัฐบาลขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศแล้ว ปัญหาต่างๆ ของประเทศไทยมีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร?

คำถามที่ว่า หลังการเลือกตั้งหากมีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น คณะรัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาของประเทศไทยได้อย่างไร?



อย่าลืมนะครับว่า ปัญหาของประเทศไทยมีมากมาย และดูเหมือนว่านับวันปัญหาต่างๆ จะยิ่งหมักหมมยาวนาน

ปัญหาการเมืองเป็นปัญหาที่เรามักคุ้นกันดี และกลายเป็นที่มาของคำถามเฉพาะกลุ่มขัดแย้ง 2 กลุ่ม จนไม่มีเวลาหาคำตอบให้กับปัญหาอื่นๆ ของคนไทย

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา จะแก้ไขกันอย่างไร เพราะขณะที่รัฐบาลพยายามบอกว่า คลี่คลายไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง การปะทะกันตามแนวชายแดนยังมีอยู่

ปัญหาปราสาทพระวิหารที่คาราคาซังอยู่ในคณะกรรมการมรดกโลก จะดำเนินการกันเช่นไร กลางปีนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ปัญหานี้จะนำความรุนแรงให้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด

ปัญหาเศรษฐกิจจะลงเอยอย่างไร ประชาชนยังจะต้องตกอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพงต่อๆ ไปอีกนานแค่ไหน ราคาน้ำมันและราคาเชื้อเพลิงที่มีปัญหา และรัฐบาลผลักดันให้เข้าแทรกแซงกลไกการตลาดอยู่ในขณะนี้ เมื่อถึงรัฐบาลหน้าจะทำอย่างไร

เช่นเดียวกับปัญหาสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาการศึกษา ที่เหมือนจะถูกดองไม่มีการแก้ไขมาตั้งแต่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งกัน จนล่าสุดปรากฏข่าวความเสื่อมทรุดทางจริยธรรม ที่จำเป็นต้องเร่งเยียวยา

ปัญหาแบบนี้ยังไม่มีคำตอบ ทั้งๆ ที่คำตอบเหล่านี้คือการวางอนาคตของประเทศ

มีแต่คำตอบของกลุ่มการเมือง ไม่มีคำตอบของประเทศแต่อย่างใด

.