http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-26

ฯภาค 3 ตอนยุทธนาวี : เปลืองเปล่า และ ฮักนะ'สารคาม : ฯ ลงตัวเกินคาด โดย พน

.
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 ตอนยุทธนาวี : เปลืองเปล่า
โดย พน คอลัมน์ แลหนังไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 80


เปิดฉากมาด้วยชิ้นส่วนภาพจากภาคที่แล้วทำเป็นขาวดำ นำมาพยายามเท้าความเป็นมาก่อนหน้าอย่างกระท่อนกระแท่น ชนิดที่หากไม่เคยดูภาคก่อน ก็ไม่ได้ก่อประโยชน์ใดๆ เพราะเป็นความพยายามเกริ่นนำที่ล้มเหลวด้านการสื่อสาร

คือใครไม่เคยดูก็ไม่รู้เรื่อง ส่วนใครเคยดูก็ให้รำคาญภาพพร้อมเสียงเจรจาโต้ตอบของบุคคลต่างๆ ที่นำมาเป็นชิ้นส่วนสั้นๆ นั้น

ทั้งที่การเกริ่นนำครั้งนี้ทำได้ง่ายๆ ด้วยเสียงบรรยายเหตุการณ์ประกอบภาพ โดยไม่จำต้องมีเสียงเจรจาโต้ตอบของบุคคลเหล่านั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ตัดมาท่อนสั้นๆ บทโต้ตอบไม่มีอะไรต่อเนื่องไป จึงทำให้คนไม่เคยรู้เรื่องสับสน ขณะที่ผู้พอจะรู้เรื่องอยู่แล้วรู้สึกรำคาญ

สรุปรวบยอดเพียงแค่ว่า หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสู่สวรรคาลัย แว่นแคว้นในขอบขัณฑ์ฯ บางแห่งตีตัวออกห่าง เช่น เมืองคัง ที่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงผู้สืบราชสมบัติต่อมา โปรดเกล้าให้พระมหาอุปราช-โอรสในพระองค์ และพระนเรศวร ยกทัพไปกำราบ เมื่อพระนเรศวรสามารถยึดเมืองได้ก่อน พระมหาอุปราชที่จิตริษยาอยู่เดิมแล้ว สั่งให้พญาเกียรติพญารามขุนนางมอญหาทางลอบปลงพระชนม์พระนเรศวร

หากมหาเถรคันฉ่องผู้เปรียบประหนึ่งพระสังฆราชแห่งชาวมอญในขณะนั้น เอ็นดูนับถือพระนเรศวร ขุนนางทั้งสองจึงนำความอันองค์อุปราชแห่งหงสาวดีคิดประทุษร้ายองค์รัชทายาทแห่งอโยธยานั้น กราบถวายพระคุณเจ้าผู้ทรงคุณ เป็นเหตุให้พระนเรศวรตัดสินใจประกาศอิสรภาพเทครัวไทยคืนกลับแผ่นดิน

พระราชกรณียกิจครั้งนั้นลุล่วงเมื่อทรงพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงพิฆาตสุกรรมาแม่ทัพหงสาวดีที่ยกทัพตามมาจะบดขยี้ครัวไทย

นั่นคือความก่อนหน้า ที่การเปิดเรื่องครั้งนี้พยายามปูความเป็นมา แต่เลือกวิธีสื่อไม่เหมาะ

ยังผลให้หลังจากเดินเรื่องต่อเนื่องสู่เหตุการณ์ต่างๆ หลังการประกาศอิสรภาพได้ไม่เท่าไร ก็มีเสียงกรนดังพอสถานประมาณมาจากละแวกข้างเคียงที่นั่งผม

คาดว่าน่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้สึกในทางยาขมกับประวัติศาสตร์เป็นพื้นเดิมอยู่ ที่มาเสียค่าดูไม่มีลดราคาในวันพุธอย่างเรื่องอื่นๆ ในครั้งนี้อาจเพราะตามใจคนข้างเคียง



เหตุการณ์ต่อเนื่องที่ว่าคือพระเจ้าหงสาวดีติดพันศึกอังวะไม่อาจนำทัพตามมากำราบอโยธยา ขณะที่ทางสมเด็จพระธรรมราชาก็ทรงวิตกว่ากำลังรบของอโยธยาด้อยกว่าหงสาวดีเป็นสิบเท่า การประกาศอิสรภาพของพระราชโอรสอาจเป็นเหตุสู่สงครามระหว่างสองอาณาจักรให้ราษฎรเดือดร้อน

ขณะเดียวกันองค์พระนเรศทรงพบว่า พระราชบิดารับพ่อค้าชาวจีนผู้เคยพำนักพักพิงอยู่ในเมืองละแวก อ้างว่ามีปัญหาถูกพญาละแวกขับออกมา จึงมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในเจ้าอยู่หัวแห่งอโยธยา ซึ่งองค์พระนเรศทรงเพ่งเล็งสงสัยในพญาละแวกแต่เดิมมา จึงมอบหมายให้พระราชมนูเสาะสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพ่อค้าจีนนั้น

นอกจากลีลาเดินเรื่องในทางกล่อมนิทราดังเล่าแล้ว เมื่อถึงกรณีที่พอจะตื่นเต้นขึ้นบ้างในด้านการตามสืบหาความจริงเกี่ยวกับจีนจันตุนี้ เรื่องราวที่รุดไปก็ช่างขัดความรู้สึก เมื่อปูมาให้พระราชมนูเป็นทหารเอกที่ชาวอโยธยานิยมยิ่ง เหยาะม้าย่างไปที่ใดก็มีแต่เหล่าชาวประชาชี้ชวนบอกกันไปในทางชื่นชม เทียบกับสมัยนี้ก็เป็น "ซุป(เปอร์ส)ตาร์" นั่นแหละ

การจะสืบเรื่องจีนจันตุชนิดตามเข้าไปในสำนักชำเราชาย (ผู้สร้างยืนยันว่าคำเรียกนี้ปรากฏในบันทึกโบราณจริง) ด้วยสามัญสำนึก ผู้ดูส่วนมากย่อมคาดว่าพระราชมนูน่าจะมอบหมายคนสนิทหรือหากหาใครวางใจมอบหมายหน้าที่ได้ยาก

อย่างน้อยที่สุด หากจะเข้าไปสืบความด้วยตนเอง ก็สมควรจะหาทางแปลงโฉมให้แตกต่างจากใบหน้าพระราชมนูที่ผู้คนทั่วอโยธยาแทบจะรู้จักกันหมดสิ้นแล้ว

แต่นี่หน้าตาไม่มีอะไรแตกต่าง นอกจากไม่ได้สวมชุดรบเท่านั้น และเมื่อถึงขั้นต้องทำเป็นสูบฝิ่นให้แนบเนียน ระดับทหารเอกคู่พระทัยดันสูบเข้าไปจริงๆ เพื่อจะได้ภาพไปในทางตลกว่าเมาฝิ่นทำให้การติดตามชาวยุทธ์ที่เข้ามารับข่าวลับจากจีนจันตุ เกือบเสียทีถูกฆ่า เพื่อจะได้สร้างตัวละครบ้าๆ ใบ้ๆ เข้ามาช่วยทหารเอกผู้ปรากฏนามในเพลง "ต้นตระกูลไทย"

(รุ่นใหม่ๆ คงไม่รู้จักแล้วกระมัง)


ต้นทางที่จะนำไปสู่ฉากสำคัญอันเป็นที่มาของชื่อตอน ทำให้หงุดหงิดใจได้ดังเล่ามานี้ ผู้ชมส่วนหนึ่งจึงทำใจกับฉากกองเรือรบไล่ล่าสำเภาที่จีนจันตุหนีกลับเมืองละแวก แล้วก็ออกมาไม่สมราคาชื่อตอนจริงๆ นอกจากว่าคนรุ่นใหม่จะได้เห็นว่าเรือเข้าขบวนพยุหยาตราที่เห็นหัวเรือสวยๆ นั้น สมัยก่อนใช้ออกรบจริงๆ

แต่ภาพนี้ก็เห็นกันมาแล้วแต่ครั้ง "สุริโยไท" ซึ่งฉากยุทธนาวีระหว่างชาวอโยธยาด้วยกันเอง (ฝ่ายหนึ่งมีพิษณุโลกหนุน) ครั้งนั้น ดูดีกว่าครั้งนี้เยอะ

พูดไปก็เหมือนไม่เห็นใจคนทำงานเหนื่อยยาก นี่ต้องแยกเป็นคนละเรื่อง เหนื่อยยากนั้นคนดูรู้สึกได้ ว่าฉากรบต่างๆ กว่าจะสำเร็จเสร็จออกมา คนทำอยู่ในระดับแทบเลือดตากระเด็นนั้นจริง

แต่ถ้าเหนื่อยยากเพื่อจะได้ภาพซ้ำๆ ซากๆ กับที่ทำมาแล้ว แถมแย่กว่าเก่าด้วย โดยเฉพาะเมื่อเงินทุนที่ลงไปเพื่อให้ภาพเหล่านี้ มีส่วนจากงบประมาณของชาติที่ไปจากภาษีอากรประชาชนอยู่ด้วย จะไม่ให้ติติงได้อย่างไร



ผู้สร้างให้สัมภาษณ์ว่า หนังไม่ได้ทำมาปลุกระดมให้รักชาติ แค่ต้องการให้คิด

เรื่องนี้มีอะไรให้คิด ในเมื่อทั้งหมดที่เสนอออกมามีแค่ว่า หลังองค์พระนเรศวรประกาศอิสรภาพ หงสาวดีส่งกองทัพเข้ามากำราบโดยบัญชาให้กองทัพเชียงใหม่เสริมอีกทางตีกระหนาบลงมาด้านเหนือ ที่สุดแล้วองค์พระนเรศวรเองทางตรัสว่าเราโชคดีที่ 2 กองทัพนั้นไม่ทันประสานบรรจบกันได้

คนดูไม่ได้รู้สึกถึงความเหนื่อยยากลำบากลำบนในพระราชกรณียกิจของพระองค์ เพราะที่พอจะให้ความรู้สึกถึงพระปรีชาฯ ในการวางกลยุทธ์เอาชนะฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังเหนือกว่าหลายเท่า ก็เพียงแค่คำกราบบังคมทูลต่อพระราชบิดาลอยๆ ไม่มีอะไรให้รู้สึกว่าต้องทรงตรากตรำปรึกษาหาหนทางวางกลยุทธ์กับเหล่าขุนศึกตั้งแต่พระอนุชาเอกาทศรถ เป็นต้นไป

ก็เรื่องราวคราวนี้ไปดำเนินกับชีวิตพระราชมนูเสียมาก นอกจากเกือบตายในเงื้อมมือชาวยุทธ์จีนดังเล่าแล้ว ก็ว่าด้วยชีวิตรัก เมื่อเลอขิ่นธิดาเจ้าเมืองคังที่มีจิตปฏิพัทธ์ต่อกันในภาคก่อน มาพบเจ้าเสือหาญฟ้าที่ผูกสมัครรักกัน ณ เมืองคังมาแต่ครั้งยังเด็ก แล้วก็สร้างตัวละครนางพระกำนัลขึ้นมาให้สนใจซุปตาร์พระราชมนู กลายเป็นโครงเรื่องละครหลังข่าวธรรมดาๆไปเท่านั้นเอง

ผู้สร้างออกตัวว่ามีผู้ชมให้ความเห็นว่า อย่าให้เรื่องหนักนัก ขอแง่บันเทิงด้วย

ถ้าท่านลงทุนทำเองทั้งหมดก็เข้าใจได้ว่าต้องคำนึงถึงการคืนทุนในแง่ทำสินค้าชนิดหนึ่ง แต่นี่ส่วนจากภาษีอากรที่ควรจะใช้ไปเพื่อการเสริมสร้างสติปัญญาผู้คนร่วมชาติ หรือหากจะไปในทางบันเทิงก็นาจะเป็นทางด้านเสริมสร้างความรู้สึกดีๆ ในใจ อย่างเช่น เรื่องปัญญาเรณู ซึ่งไม่มีงบประมาณแผ่นดินอะไรไปช่วยตอนเขาลงทุนเลย แม้กระทรวงวัฒนธรรมจะมาช่วยบ้างภายหลังเมื่อประจักษ์ในคุณค่า โดยเหมารอบให้นักเรียนไปดู แต่ก็เทียบไม่ได้กับเงินทุนที่ทุ่มไปให้เรื่องที่ควรจะจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

เสร็จแล้วการสร้างความรู้สึกดีๆ ให้คนดูกลับสู้งานเล็กๆ เหล่านั้นไม่ได้ สมควรจะให้ประชาชนอดรู้สึกไม่ได้ว่า อย่างนี้หน่วยงานรัฐน่าจะมีส่วนพิจารณาต่อเรื่องราวที่จะเสนอออกมาก่อนหรือไม่

ถ้าจะมีอะไรให้คิด ก็เห็นจะมีเพียงความงี่เง่าของนางพระกำนัลที่อยากจะเห็นว่าทหารข้าศึกใหญ่โตเป็นยักษ์มารอย่างที่ชาวบ้านพูดจาจริงหรือไม่ ทั้งที่ทหารอโยธยาก็ยืนยันแล้วว่า ไม่ได้เป็นยักษ์มาร เป็นคนที่ฆ่าก็ตายเหมือนกัน แต่นางพระกำนัลก็ยังทำเก่งในแนวแก่นแบบนางเอกหนังไทยเก่าๆ ลอบออกไปแนวหน้าให้เป็นภาระทหาร

ที่ว่าตรงนี้มีให้คิด ก็ด้วยสะกิดนิดหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้บ้านเมืองก็ใช่จะราบรื่น ชายแดนสองสามด้านมีปัญหาให้รู้อยู่ ความแตกแยกระหว่างคนในชาติมีให้เห็นอยู่ แต่ก็มีผู้ที่จริตพอๆ กับนางพระกำนัลในเรื่องนี้ ยังหลงระเริงรสหรูหรา เป็นทาสข้าวของเครื่องใช้แข่งกันว่าข้าใช้ของแพงแข่งกันในหมู่ผู้เหิมเห่อ ไร้สติปัญญาพิจารณาว่ายอมตัวเป็นทาสเสริมสร้างความสบายล้นเหลือไปให้คนทำสินค้านั้นๆ ออกมา

แต่ความคิดเช่นนี้จะมีแทรกเข้าไปในจริตชาวเหิมเห่อเช่นนั้นหรือไม่ ในเมื่อสมองมีแต่วนเวียนอยู่กับว่า ข้ามีปัญญาจับจ่ายใช้สอย ก็เรื่องของข้า ปัญหาสังคมจะล่มสลายมันไม่เกี่ยวอะไรกับข้า

กับที่ผู้สร้างบอกว่าไม่ได้ต้องการให้ลุกขึ้นมารักชาติอะไร (แต่เพลงที่ขึ้นมาเมื่อหนังจบภาคบรรยายว่า "บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเรือนคุ้มเหย้า...") แค่ต้องการให้คิด

ท่านใดคิดอะไรได้มากกว่าที่บรรยายมา ช่วยเสริมสติปัญญาให้ผู้ร่วมแผ่นดินด้วยเถิดขอรับ


++

ฮักนะ 'สารคาม : งดงามกับความลงตัวเกินคาด
โดย พน คอลัมน์ แลหนังไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1598 หน้า 86


บ่ายวันราคาตั๋วย่อมเยา จำนวนคนดูในโรงของเรื่องนี้พอๆ กับปัญญาเรณู คือประมาณครึ่งของหนัง "กระแส" (ที่หลายเรื่องทำให้เสียดายสตางค์) เป็นภาวะที่คนทำคงทำใจแล้วสำหรับหนังพูดภาษาถิ่น

เมื่อครั้งเห็นตัวอย่างผมรู้สึกเพียงว่าคงเป็นหนังวัยรุ่นวัยเรียนอีกเรื่องที่เปลี่ยนบรรยากาศไปจับความกับภาคอีสานเท่านั้นเอง

ไม่คาดเลยว่าเมื่อจบเรื่องลงแล้ว จะกลายเป็น 1 ใน 10 หนังไทยในดวงใจไปเลย

และถ้าไม่เพราะข่าวเช้าช่อง 9 ในวันรุ่งขึ้นหลังจากเพิ่งดูหนังไป สัมภาษณ์ ผู้กำกับฯ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผมก็คงไม่รู้ว่าคือคนทำเรื่อง insect in the backyard ที่เผชิญปัญหาไม่ผ่านการอนุญาตให้ฉาย จนถึงกับต้องนำเรื่องสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมชั้นศาล

เพราะเมื่อดูประวัติของผู้กำกับฯ ผ่านทางเว็บที่เกี่ยวกับหนัง ก็กล่าวถึงเพียงหนังสั้นที่ได้รางวัลมากมาย และงานเกี่ยวข้องกับหนังเรื่องอีกเล็กน้อย ไม่มีประวัติระบุถึงการเป็นผู้กำกับฯ เรื่องที่เป็นปัญหานั้น ซึ่งแม้จะเคยเห็นข่าวคราว แต่ชื่อผู้กำกับฯ ก็ไม่แนบอยู่ในความทรงจำ ดังนั้น ถึงแม้จะรู้สึกว่าชื่อผู้กำกับฯ ฮักนะฯ เรื่องนี้คุ้นตา แต่ก็ไม่ได้นึกไปถึงเรื่องนั้น

แน่นอน ผมยังไม่ได้ดูผลงานที่เป็นปัญหา และเคยให้ความเห็นไว้ในหน้านี้ว่า ผมเชื่อในวิจารณญาณของกรรมการพิจารณาอนุญาต หนังอาจจะสะท้อนความจริงที่น่าสนใจ แต่อาจจะแรงไปสำหรับจริตส่วนใหญ่ของสังคมไทย สังคมที่ส่วนใหญ่ยังยินดีแนบเงินไปกับใบขับขี่ที่ยื่นให้จราจรผู้ตรวจจับ มากกว่าจะไปยอมชำระค่าปรับตามกฎหมายที่ สน.

และต้นเค้าให้ผู้กำกับฯ "แรง" ได้ทำเรื่องนี้ มีที่มาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ติดต่อ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ว่าอยากสนับสนุนการทำหนังที่สะท้อนวัฒนธรรมอีสาน ตรงนี้ไม่ทราบรายละเอียดว่า ม.สารคามติดต่อปรัชญาหลังจากบิณฑ์ลงมือทำปัญญาเรณูไปแล้วหรือไร หรือเพราะผลงานก่อนหน้าของบิณฑ์ไม่ได้ส่งเสริมให้ปรัชญาเห็นว่าน่าสนับสนุน ความตั้งใจของมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ไปลงตัวตรงนั้น

และที่ปรัชญาติดต่อให้ผู้กำกับฯ คนนี้ทำ น่าจะหมายความว่าปรัชญาได้ดูหนังที่เป็นปัญหา และรู้ว่านี่คือผู้กำกับฯ ที่มี "อะไร"



ธัญญ์วาริน "กอล์ฟ" ให้สัมภาษณ์ว่าทั้งมหาวิทยาลัยทั้งปรัชญาให้อิสระเสรีตัวเขา (หรือเธอ) เต็มที่ โจทย์ที่ให้มาเป็นเพียงความต้องการสื่อวัฒนธรรมอีสานอย่างกว้างๆ เรื่องราวทั้งหมดกอล์ฟคิดได้เองเต็มที่ และเมื่อกอล์ฟเสนอเรื่องแนวเทียบจิตฝักใฝ่ของวัยรุ่นปัจจุบันกับวัฒนธรรมเดิม ฝ่ายอำนวยการสร้างก็ไฟเขียว

เมื่อเข้าไปสำรวจกระแสในเครือข่ายสื่อสารสากล พบว่าความสนใจต่อเรื่องนี้ห่างจากปัญญาเรณูมาก แถมเมื่อมีผู้แสดงความชื่นชม ก็มีผู้มาค้าน ต่างจากปัญญาเรณูที่หากจะมีใครเห็นค้านก็คงไม่กล้ามาออกความเห็นต่อสาธารณะ เพราะจะทำให้ตนเป็นคนส่วนน้อย (ดูไม่ดี) ไป

เหตุใดเรื่องซึ่งมีตุ๊กกี้ที่ตลาดยังชื่นชอบอยู่เป็นจุดขายนำครั้งนี้ ถึงไม่ได้รับความสนใจจากตลาดเท่าที่ควร ทั้งที่นี่เป็นหนังที่ดีที่สุดของตุ๊กกี้ ดีกว่าเจ้าหญิงขายกบไม่รู้กี่เท่า (และลดความเสียดายแทนตุ๊กกี้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในปัญญาเรณู ก็เพราะต้องให้เวลากับเรื่องนี้นั่นเอง)

ช่วยไม่ได้ที่ถึงตรงนี้ ไม่มีอะไรทำให้ผมคิดเห็นเป็นอื่น นอกจากว่า ความรู้สึกเหยียดเลือดอีสานหรือคนบ้านนอก ยังแผ่อยู่ในคนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นลูกค้าหลักของโรงหนัง


ขณะที่ปัญญาเรณูเป็นเรื่องของเด็ก ความใสความซื่อก่อให้เกิดความเอ็นดูเด็ก อคติเรื่อง "บ้านนอก" ไม่ลอยตัวขึ้นมา แต่พอถึงเรื่องวัยรุ่น วัยเดียวกับกลุ่มลูกค้าหลักของโรงหนัง ความรู้สึกเหยียดวัยรุ่นชนบท (แต่ถ้าถูกถาม ก็พร้อมจะปฏิเสธเสียงแข็ง เพราะจะทำให้ดูเป็นคนไม่ดี) จึงมีผลต่อความรู้สึกปฏิเสธหนังเรื่องนี้

โลกก้าวหน้ามามากในระดับก้าวกระโดด แต่ก็ดูเหมือนจะเพียงแค่ด้านวิทยาการที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น แต่ด้านสำนึกลึกๆ ในใจ ยังคงมีวัยรุ่นจำนวนมากรู้สึกเหยียดชาวอีสานในลักษณะที่เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนจิกเรียกว่า "บักเสี่ยว"

ทุกวันนี้แม้ถ้อยเหยียดนั้นค่อนข้างจะเลือนไปจากสังคมแทบไม่เหลือ แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะเพียงแค่เพราะความหมายที่แท้ของคำว่า "เสี่ยว" นั้น เป็นความหมายในทางบวกอันบ่งถึงมิตรภาพ คำเหยียดที่ไม่ได้มีความหมายถูกต้องจึงเลือนไป ในขณะที่สำนึกทางหมิ่นแคลนในใจยังคงอยู่

ขณะที่อีกด้าน มี "กระแสแรง" พุ่งไปสู่เรื่องที่ยังไม่ได้เข้าโรง แต่มาจากค่ายที่ทำงานได้ไม่ผิดหวังต่อเนื่องกันมา และตัวอย่างของเรื่องใหม่ก็มีแนวโน้มว่าจะให้ความบันเทิงได้สูง เป็นเรื่องของเด็กกรุงมุ่งทางดนตรีที่กำลังเป็น "กระแส"

ในขณะที่ตัวอย่างของฮักนะฯ ไม่มีอะไรชวนให้คิดว่าจะเป็นหนังดีดังกล่าวมาแล้ว



ผู้กำกับฯ จับความเรื่องรักในวัยเรียนของวัยรุ่น 2 กลุ่ม คือที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว และกำลังสอบเข้า

บางทีฉากเปิดตัวละคร เทพ ธันเดอร์ หนุ่มนักศึกษาสถาปัตย์ ปี 2 ที่ไปทำท่าแทรกกลุ่มชาวบีบอย ได้ท่าห่างชั้นจากเหล่าวัยรุ่นผู้รักการเต้นเหล่านั้น แต่สาวกริ้ดห่างกันเป็นสิบเท่าเพราะหน้าตา อาจจะเป็นฉากตลกฝืดสำหรับคนที่ไม่ชอบเรื่องนี้ แต่สำหรับผม เห็นเป็นฉากบันเทิงที่ไม่รู้สึกรำคาญ อาจจะดูเกินจริงจงใจ แต่ก็ให้รู้สึกว่าความจงใจนั้นคือศิลปะแห่งการแฝงนัยโดยเอาความบันเทิงเข้ามาเกลื่อน

หนึ่งในความเหนือกว่าเรื่องวัยรุ่นที่ทำๆ กันออกมา

บทบาทของตุ๊กกี้ในเรื่องนี้ คือนักศึกษาปี 7 ซึ่งในที่สุดเรื่องก็เผยนัยที่เข้าท่าและประทับใจได้ดีในช่วงหลังๆ ว่า ทำไมพี่อุบลของน้องๆ คนนี้ ถึงไม่จบสักที บทของตุ๊กกี้ได้คู่หูนักศึกษาใบหน้าบ่งวัยพอกัน แต่อาวุโสเพราะเข้าเรียนช้า เนื่องจากพึ่งพาสมณเพศให้ได้เรียนหนังสือในวัยต้นมา

บทบาทของโสที่ผู้กำกับฯ เล่าว่าเพื่อนๆ ที่รู้จักเขาดี แหย่ว่าเขาเอาตัวเองมาสร้างบทนี้ เพราะโสคู่หูพี่อุบลเป็นชาวลักเพศ ได้นักแสดงหน้าใหม่ที่เป็นเพื่อนร่วมเรียนร่วมจบมหาวิทยาลัยมหาสารคามมากับตุ๊กกี้จริงๆ

มีบางความเห็นที่ชอบเรื่องนี้พอควร ติงว่า อาจารย์สมคิด สุขเอิบ ผู้รับบทคู่หูของพี่อุบล พลังการแสดงเทียบตุ๊กกี้ไม่ได้ (ตามธรรมดาของมือใหม่ที่ประกบกับผู้เจนเวที) เป็นข้อด้อยหนึ่งของเรื่องนี้ แต่สำหรับตัวผม เห็นว่าอาจารย์สมคิด (รวมกับฝีมือผู้กำกับฯ) ทำได้ดี หากจะเพิ่มพลังให้มากกว่านี้ ก็จะกลายเป็นตัวละครแนวตุ๊ดแต๋วแตกของ พจน์ อานนท์ ไป ซึ่งผมรู้สึกว่า "เว่อ" เกิน

ความบันเทิงที่ทำให้คนดูได้หัวเราะพอๆ กับปัญญาเรณู มาจากบทต่อปากต่อคำของพี่อุบลกับเพื่อนโส ที่นักศึกษาสาวผู้แอบชอบเทพเรียกคุณลุง ทั้งหมดตรงนี้อาจจะเป็นตลกฝืดอีกสำหรับผู้ที่ไม่ชอบเรื่องนี้ ในขณะที่เป็นความบันเทิงพอดีๆ สำหรับจริตผม

ฉันทาคติส่วนตัวผมอาจจะเกิดจากความเอ็นดูเหล่าหนุ่มสาวตัวเอกในเรื่องนี้ที่เว้าลาวกันมาก แม้ตัวเองจะไม่มีเลือดอีสานสักนิด ภูมิภาคที่เกี่ยวข้องแม้จะไม่ถึงกับเป็นราก ก็เห็นได้จากชื่อบัญชรที่บรรณาธิการท่านกรุณาตั้งให้ ดังนั้น ความเป็นภูมิภาคนิยมใดๆ จึงไม่มีส่วนอย่างแน่นอน จะมีก็ฉันทาคติในส่วนที่รู้สึกว่าสำเนียงถิ่นใดก็ล้วนมีเสน่ห์น่ารักไปหมด

ดูไปเกือบครึ่งเรื่อง ร่ำๆ จะรู้สึกว่า เรื่องนี้หาหนุ่มอีสานหน้าตาดีมารับบทเอกไม่ได้หรือไร พระเอกของทั้ง 2 กลุ่มจึงได้แต่พูดบางกอก กระทั่งผู้กำกับฯ ได้เฉลยความจริงบางประการที่เป็นนัยสำคัญอีกหนึ่งในเรื่อง

เป็นนัยที่บ่งถึงสติปัญญาของคนทำว่า อยู่ในระดับความหวังหนังไทยอีกคน



โครงเรื่องโครงรักของ 2 กลุ่ม จับความที่รินทร์ (อาชิรญาณ์ ภีระพัภร์กุญช์ชญา-หลวงพี่กับผีขนุน ฯลฯ) แอบชอบเทพ ขณะที่เทพไปชอบเกษ (ภาวิณี วิริยะชัยกิจ-รักโคตรโคตร ฯลฯ) สาวนักกีฬา

และทางกลุ่มนักเรียนที่กำลังกวดวิชาโดยมีพี่อุบลเป็นติวเตอร์สำคัญนั้น ภูมิกับมุกที่รักกัน สอบตรงได้ที่มหาสารคามแล้ว แต่ยังคาดหวังมหาวิทยาลัยในกรุงตามความปรารถนาของผู้ปกครองของภูมิ ขณะที่แก่นเพื่อนสนิทตั้งแต่เด็กของมุก แอบหวังอยู่ลึกๆ

จะเห็นว่าเป็นโครงรักสามเส้าที่ไม่มีอะไรใหม่ แต่ที่ทำให้เรื่องนี้รื่นรมย์ไม่มีอะไรน่าเบื่อให้ความบันเทิงผู้ชมทั่วไปได้ดี ก็เพราะผู้กำกับฯ เดินโครงไม่ใหม่แต่เป็นจริงตามธรรมชาติวัยรุ่นครั้งนี้ ได้อย่างลงตัว แทรกมุขชวนขำเป็นระยะๆ ขณะเสนอสาระชีวิตวัยรุ่นคละไปอย่างไม่ยัดเยียด

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่โดนอย่างยิ่งในครั้งนี้ คือเป็นหนังไทยที่ดนตรีและเพลงประกอบสอดคล้องกับการดำเนินเรื่องได้ถูกใจที่สุดเท่าที่เคยดูมา

หรือที่มีใครไม่ชอบเรื่องนี้ เพราะเพลงสมัยใหม่จากขวัญใจวัยรุ่นอย่าง Body Slam ช่างแทรกแนวหมอลำเข้าไปได้อย่างกลมกลืนยิ่ง

ส่งผลให้อคติที่ซ่อนอยู่ในใจลอยตัวขึ้นมาปรากฏ

.