http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-18

ฯ ตายครบปีถึงยุบสภา... ผู้ต้องหาถูกขังลืม โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
13-19 พฤษภาคม 7 วัน...กระชับพื้นที่ ตายครบปีถึงยุบสภา... ผู้ต้องหาถูกขังลืม
โดย มุกดา สุวรรณชาติ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1604 หน้า 20


ยุบสภาเตรียมเลือกตั้ง
แต่อยากขังฝ่ายตรงข้าม

เหตุการณ์การสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ฝ่ายกุมอำนาจเรียกว่า "การกระชับพื้นที่" หรือ "ขอคืนพื้นที่" ผ่านมาครบหนึ่งปี ณ ช่วงเวลานี้

ผลของการเรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ยังมีส่วนหนึ่งที่ถูกจับกุมคุมขัง ตั้งข้อหาร้ายแรง

วันนี้มีประกาศยุบสภาแล้ว (แม้จะช้าไปเป็นปี) แต่คนที่ตายและบาดเจ็บก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าใครเป็นคนทำ ผู้ที่ถูกกล่าวหาก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกหรือผิด ที่สำคัญยังมีผู้ต้องขังจำนวนหนึ่ง ยังไม่ได้รับการประกันตัว ถ้าฝ่ายรัฐมีหลักฐานเอาผิดได้ก็ควรส่งฟ้องศาล ถ้าไม่มีก็ต้องปล่อย

ทุกวันนี้ฝ่ายผู้ต้องหาต้องการให้ไปพิสูจน์กันในศาล พวกเขารอจะเปิดเผยความจริงให้โลกรู้ แต่ไม่เคยได้สืบคดีในศาลเลยแม้จะผ่านไปแล้วหนึ่งปี

ที่สำคัญยังมีความพยายามจะถอนประกันและจับฝ่ายตรงข้ามไปขังเพิ่มขึ้นอีก เซีย ไทยรัฐ ชูป้ายให้ปล่อยผู้ต้องหาจนเมื่อยแขนแล้ว แต่ก็ยังปล่อยไม่หมด หรือว่าระบบยุติธรรมของไทยไม่ทำงานแล้ว

การประกาศยุบสภาวันนี้ไม่ได้ทำให้เราลืมการต่อสู้ที่ผ่านมา ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า จะคุ้มค่ากับความสูญเสียที่ผ่านมาหรือไม่ ฝ่ายผู้กุมอำนาจที่ได้ยืดเวลายุบสภาออกไปได้หนึ่งปี ก็ยังไม่รู้ว่าคุ้มหรือไม่


ถ้าจะประเมินกันก็ต้องเริ่มตั้งแต่การยึดอำนาจโดยตุลาการภิวัฒน์และตั้งรัฐบาลในค่ายทหารตั้งแต่ปลายปี 2551 จนได้ครองอำนาจรัฐ

ในปี 2552 แม้จะถูกประท้วงอยู่บ้างแต่ก็ผ่านมาได้

แต่ปี 2553 พวกเสื้อแดงก็เคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อทวงอำนาจอธิปไตยคืนโดยเสนอให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ กลุ่มผู้กุมอำนาจไม่มีทางยอมให้อภิสิทธิ์ยุบสภาเพราะเพิ่งมายึดอำนาจใช้ได้เพียงปีเดียว การเลือกตั้งใหม่ไม่แน่ว่าจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก กว่าจะได้อำนาจรัฐ ต้องใช้การลงทุนไปมากมาย ใช้กำลังคนหลายกลุ่ม ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อเขียว เสื้อดำ ใช้เวลาถึง 4 ปี (ตั้งแต่ 2548-2551)

กลุ่มอำนาจเก่าจึงตัดสินใจพิทักษ์อำนาจรัฐไว้ทุกวิถีทาง ผู้ชุมนุมก็เลยได้รับกระสุนปืนแทนบัตรเลือกตั้ง การปราบ เริ่มจากหนักธรรมดาในตอนบ่ายวันที่ 10 เมษายน มีทั้งกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และกระบอง ไปจนถึงหนักมากคือ กระสุนจริง รถหุ้มเกราะ และสไนเปอร์

สงครามหนึ่งวันสิ้นสุดลงในเวลา 12 ชั่วโมง ผลก็คือมีซากรถหุ้มเกราะและยานยนต์ทหารถูกเผาทำลายอยู่หลายแห่ง มีผู้เสียชีวิต 20 กว่าคน บาดเจ็บหลายร้อย



รำลึก 7 วันอันตราย
จากการกระชับพื้นที่ ราชประสงค์
(13-19 พฤษภาคม 2553)

ตามประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ เหตุการณ์ร้ายแรงในวันที่ 10 เมษายน ควรจะจบลงแบบมีผู้ใหญ่เข้ามาไกล่เกลี่ย แต่คราวนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง ไม่รู้ว่ากรรมอะไรมาบังตา ทำให้ไม่มีใครสนใจจะช่วยทำให้เหตุการณ์สงบ กลับขยายความขัดแย้งให้ยืดเยื้อต่อไปและรุนแรงมากขึ้น

การชุมนุมที่ถนนราชดำเนินยุติลง แต่ผู้ชุมนุมทั้งหมดย้ายมาชุมนุมที่ราชประสงค์เพียงจุดเดียวในวันที่ 14 เมษายน 2553 หลังจากมีการทดลองชุมนุมที่จุดนี้มา 11 วันแล้ว

การชุมนุมที่ราชประสงค์ในช่วงเย็น จะมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นหมื่นคน หลังเดือนเมษายน แม้คนจากต่างจังหวัดจะทยอยกลับไปแล้ว แต่ผู้ชุมนุมจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาเข้าร่วมหลังเลิกงาน ยิ่งคืนวันศุกร์ วันเสาร์ ก็จะมีคนมากเป็นพิเศษ

แต่บรรยากาศโดยรอบอาจจะไม่สันติ 100 เปอร์เซ็นต์ มีการยิงกันประปราย เช่น แถวแยกศาลาแดง การรักษาความปลอดภัยก็เริ่มเข้มงวดขึ้น บรรยากาศเริ่มเหมือนค่ายบางระจัน มีการใช้ยางรถยนต์ ตั้งเป็นกำแพงสูง พร้อมปักหลาวไม้ไผ่

ฝ่ายผู้กุมอำนาจก็เริ่มใช้กำลังทหารเข้าปิดล้อมเพื่อบีบบังคับให้ยุติการชุมนุม ระหว่างนั้นก็ยังมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำของผู้ชุมนุมเป็นช่วงๆ แต่ความเห็นในแกนนำผู้ชุมนุมแยกเป็นสองทาง ส่วนหนึ่งคิดว่าควรยุติ ส่วนหนึ่งยืนยันให้ชุมนุมต่อ

รัฐบาลอ่านเกมแล้วว่าพวกเสื้อแดงไม่เลิกง่ายๆ แน่จึงตัดสินใจ "กระชับพื้นที่" โดยใช้กำลังทหารจำนวนมากเข้าปฏิบัติการ คาดว่าเป็นการใช้กำลังทหารปฏิบัติการมากที่สุดเท่าที่เคยทำมา

13 พฤษภาคม ที่จริงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 มิได้ปะทะกันในวันที่ 19 เพียงวันเดียว หากแต่เริ่มมีลักษณะเป็นสงครามย่อยตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม แล้ว เพราะรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 17 จังหวัด รวมทั้งเพิ่มมาตรการเพื่อปิดล้อมกดดันผู้ชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ โดยใช้กำลังทหารจำนวนมาก ตั้งด่านตรวจตราเส้นทางเข้าออกบนถนนแทบทุกสาย พร้อมประกาศตัดน้ำตัดไฟและตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

เวลาประมาณ 1 ทุ่ม เสธ.แดง ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำในสายกำลังของผู้ชุมนุมถูกลอบยิงด้วยสไนเปอร์บริเวณหน้าสวนลุมฯ ติดกับโรงพยาบาลจุฬาฯ กระสุนเจาะเข้าสมอง แม้ไม่เสียชีวิตในทันทีแต่ก็อยู่ในอาการโคม่าและอยู่ได้อีกเพียงสี่วัน

การลอบยิง เสธ.แดง เป็นการยืนยันว่าจะต้องเกิดความรุนแรงขึ้นต่อไป เพราะนี่เป็นการตัดกำลังแกนนำฝ่ายบู๊ แม้แกนนำจะรู้สึกกังวลและหวาดกลัวการลอบยิง แต่ก็ยังชุมนุมต่อ มีการใช้สแลนสีดำมาขึงด้านบนของเวที เพื่ออำพรางเป้า

14 พฤษภาคม มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับทหารตามจุดต่างๆ เช่น ถนนพระราม 4 บริเวณสวนลุมไนท์ บาซาร์ แยกศาลาแดง แยกถนนวิทยุ บ่อนไก่ ฝ่ายผู้ชุมนุมเผายางรถยนต์เป็นม่านควันเพื่อไม่ให้พลซุ่มยิงเห็นได้ถนัด ตอนค่ำมีการยิง M79 เข้าใส่แยกศาลาแดงและถนนสีลม และแยกประตูน้ำ มีผู้เสียชีวิตรวม 7 คน เป็นทหาร 2 คน แต่มีผู้บาดเจ็บนับร้อย

15 พฤษภาคม ยังมีการปะทะตามจุดต่างๆ เหมือนวันที่ 14 แฟลตตำรวจ สน.ลุมพินีถูกยิงด้วย M79 ถนนสุดยอดอันตรายคือถนนราชปรารภตั้งแต่ประตูน้ำไปจนถึงแยกดินแดง โดยเฉพาะบริเวณปากซอยรางน้ำ ซอยหมอเหล็ง และสามเหลี่ยมดินแดง เป็นจุดปะทะหนัก

ถนนเส้นนี้เดิมเป็นเส้นทางเข้า-ออก และเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหารเข้าไปส่งผู้ชุมนุม แต่ในวันที่ 15 ก็ไม่สามารถเข้าไปได้แล้วเพราะมีจุดซุ่มยิง จากอาคารสูง ไม่น้อยกว่าสองจุด กลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้ามาสมทบจึงติดอยู่ตรงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

การต่อสู้บริเวณนี้มีชาวบ้าน สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่กู้ภัย ถูกยิงด้วยสไนเปอร์เสียชีวิตมากที่สุด ตลอดทั้งเจ็ดวันน่าจะมีมากกว่า 20 คน

16 พฤษภาคม การปะทะกันยังรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นใน 5 จังหวัดทางภาคอีสาน การปะทะกันบนถนนพระราม 4 ยังมีอยู่เหมือนเดิม ยางรถยนต์ยังถูกนำมาจุดไฟเผาบนถนน ตอนค่ำห้างโลตัสพระราม 4 ถูกเผา มีการตัดน้ำตัดไฟแถวบ่อนไก่ มีการเผาธนาคารกรุงเทพสาขาดินแดง ประชาชนเริ่มกักตุนอาหารเพราะไม่แน่ใจสถานการณ์ รัฐบาลประกาศให้วันที่ 17-18 เป็นวันหยุดราชการในกรุงเทพฯ

แกนนำ นปช. ต้องการเจรจากับรัฐบาลแต่ขอให้หยุดยิงและถอนทหารออกจากพื้นที่ แต่รัฐบาลยังใช้แผนกระชับพื้นที่ต่อไป

17 พฤษภาคม การปะทะกันยังคงดำเนินต่อไป มีการนำรถบรรทุกน้ำมันมาจอดกลางถนนพระราม 4 มีการยิงระเบิด M79 เข้าไปในโรงแรมดุสิตธานี 4 วันที่ผ่านมามีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 35 ราย บาดเจ็บเกือบ 300 คน ราชประสงค์ถูกปิดล้อมทุกด้าน

รัฐบาลพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ เพื่อจะได้สลายง่าย แต่คนส่วนใหญ่ ก็ไม่ไป การเข้าออกถูกปิด ทั้งรถเมล์ เรือด่วน รถไฟฟ้า ถูกตัดหมด มีเส้นทางหนูรอดมุดไปตามตรอกซอย ด้วยมอเตอร์ไซค์เท่านั้น แต่ก็ต้องระวังการดักยิง

18 พฤษภาคม ศอฉ. สั่งห้ามซื้อขายและอายัดยางรถยนต์เก่าตามร้านค้าทุกแห่ง และประกาศให้มีการหยุดราชการในกรุงเทพฯ ไปอีก 3 วัน คือ 19-21 ในตอนเย็น พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหาได้นำ ส.ว. กลุ่มหนึ่งเข้ามาปรึกษากับแกนนำ นปช. ที่ราชประสงค์ เพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง โดยหวังว่าวันรุ่งขึ้นอาจจะเจรจากับรัฐบาลได้โดยมี ส.ว. เป็นตัวกลาง แต่หลังจากนั้นก็มีข่าวว่าทหารจะเข้าสลายการชุมนุมในเช้ามืดวันรุ่งขึ้น เวลาตี 5 คืนวันนี้ผู้ที่ไม่ต้องการให้ถูกจับ ต้องมุดหนีออกไป พวกที่เหลืออยู่ ก็พร้อมรับทุกสถานการณ์ ขาบู๊ที่ใจร้อนถูกส่งออกไปหมดแล้ว นี่คือแผนสงบนิ่งเพื่อลดการสูญเสีย

19 พฤษภาคม ปฏิบัติการสลายการชุมนุมเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ทางฝ่ายผู้ชุมนุมก็รู้ตัว พอสว่างทหารก็นำรถหุ้มเกราะเข้าเคลียร์พื้นที่ทลายป้อมค่ายที่เป็นยางรถยนต์ทางด้านสวนลุมฯ แล้วเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ มีการยิงทั้งบริเวณสวนลุมฯ และในแนวถนนราชดำริ ช่วงเช้า เวทียังตรึงผู้ชุมนุมให้อยู่ในระเบียบได้ ตอนบ่ายโมงแกนนำ นปช.ตัดสินใจยุติการชุมนุมแล้วยอมมอบตัว แม้จะผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ยอม

การสูญเสียมีบ้าง แต่น้อยกว่าที่ทางการคาดไว้มาก ทางการเตรียมใจไว้ว่าจะสูญเสียหลายร้อยคน แต่เป็นเพราะไม่มีอาวุธร้ายแรงในที่ชุมนุม และแทบไม่มีการยิงต่อสู้ การถูกลูกหลงจึงไม่มี มีแต่ตั้งใจกับไม่ตั้งใจเท่านั้น การชุมนุมจบลงเมื่อแกนนำเข้าไปมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งอยู่ใกล้กับสี่แยกราชประสงค์ ผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปอยู่ในวัดปทุมวนาราม บางส่วนเดินไปขึ้นรถที่สนามกีฬา และในที่สุดผู้ชุมนุมคนสุดท้ายก็ต้องเก็บธงแดงและออกจากพื้นที่ไป เพราะทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่ทั้งหมดแล้ว การเข้าเคลียร์พื้นที่ในวันนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 15 คน

หลังจากมีการสลายการชุมนุมแล้ว ก็มีเพลิงไหม้ตามสถานที่หลายแห่งเช่นห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โรงภาพยนตร์สยาม ธนาคารหลายแห่ง ใน กทม. รวมแล้ว 36 แห่ง ต่างจังหวัดก็มีที่อุบลฯ อุดรฯ ขอนแก่น มุกดาหาร

ในการกระชับพื้นที่บริเวณราชประสงค์และโดยรอบตลอด 7 วัน น่าจะมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 55 ราย

แต่รวมตลอดทั้งเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บประมาณ 2,000



ที่ทบทวนเหตุการณ์อีกครั้งก็เพื่อจะได้ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ใช่อุบัติเหตุเพราะเกิดความรุนแรงขึ้นหลายครั้งหลายหนในช่วงเวลาที่ต่างกัน มีระยะเวลาติดต่อกันนานนับเดือน

ผลลัพธ์ของการกระทำครั้งนั้นเกิดจากการตัดสินใจของผู้นำทั้งสองฝ่ายซึ่งได้ตัดสินใจตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และก็แก้อีกปัญหาต่อไปเรื่อยๆ ถลำลึกเข้าวังวนแห่งความรุนแรง ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในแผนการ แต่ไม่ยอมหยุดและตั้งสติ เหตุการณ์จึงเลวร้ายอย่างที่ทุกคนได้พบเห็น ถ้าจะเป็นผู้ปกครองต้องคิดวิธีแก้ไข


ความหมายของประชาธิปไตยและเสรีภาพไม่ใช่แค่ยุบสภาแล้วเลือกตั้ง

ในระยะ 5 ปี จากนี้ไป โลกจะเปลี่ยนไปมาก ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนไปอย่างมากเช่นกัน คาดได้เลยว่าในระยะ 5-10 ปี โครงสร้างทางการเมืองการปกครองจะต้องเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่มีใครฝืนได้อีกแล้ว นั่นคือกระแสแห่งเสรีภาพ และประชาธิปไตยที่แท้จริง ถึงไม่มีแผนมันก็จะเกิดขึ้นเอง เหมือนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้โดยสาร ซึ่งประชาชนสร้างเส้นเลือดฝอยเหล่านี้ขึ้นมาเองเพื่อความอยู่รอด

การต่อสู้ของประชาชนจะไม่มีเพียงแค่เรื่องยุบสภาและเลือกตั้ง หากแต่จะเป็นทุกเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตและสังคมพวกเขา พวกเขาอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น มีเสรีภาพที่จะคิด ที่จะเรียนรู้จากสื่อต่างๆ มีเสรีภาพในการพูด ถ้าคนที่มีความคิดเห็นต่าง จะต้องถูกจับใส่คุก คงไม่สามารถเรียกสังคมแบบนี้ว่าเป็นประชาธิปไตยได้ เพราะไม่มีทั้งเสรีภาพและความยุติธรรม การต่อสู้ในแนวทางรัฐสภาก็จะล้มเหลว

วันนี้จึงต้องให้เสรีภาพและความเป็นอิสระกับประชาชน ต้องไม่ข่มขู่และหลอกลวงประชาชน เคารพการตัดสินใจของประชาชน

ประชาชนคาดหวังต่อรัฐบาลและผู้นำในยุคต่อไปว่าจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาและนำพาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับชาติอื่นๆ อย่างที่เขาเห็นในจอสี่เหลี่ยม ได้ยินจากข่าวสาร

..........


วันนี้ยังมีโอกาสปฏิรูปสำหรับระบบประชาธิปไตยอีกครั้ง อยากให้ทุกฝ่ายถอยกลับมาคิด อย่าปล่อยให้สถานการณ์พาไปเด็ดขาด ชัยชนะจอมปลอมที่ได้จะไม่คุ้มกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับสังคม เพราะบางเรื่องทำไปแล้วไม่อาจหวนคืน เช่นเดียวกับชีวิตที่สูญเสียไม่อาจเรียกคืนได้ การกระทำบางอย่างกลายเป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ แต่บางเรื่องทำแล้วจะทำลายทุกสิ่งที่เคยสร้างมา ไม่เพียงแต่ตัวเราเอง ยังทำลายแม้กระทั่งวงศ์ตระกูลและสังคมของเราด้วย ต้องเริ่มด้วยการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ไม่ใช่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อชัยชนะ


แต่สำหรับนักสู้ ไม่เคยมีการต่อสู้ครั้งใดที่สูญเปล่า ทุกครั้งที่หยาดเหงื่อและหยดเลือดของ นักสู้เสรีชน ซึมซ่านลงในผืนดิน ก็จะส่งผลให้การพัฒนาประชาธิปไตย ก้าวหน้าไปขั้นหนึ่งเสมอ

ขอคารวะ ต่อจิตใจที่กล้าต่อสู้ของผู้เสียสละทุกคน

.