http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-21

อดีตและอนาคตของปราสาทพระวิหาร โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
อดีตและอนาคตของปราสาทพระวิหาร
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1604 หน้า 30


ใน พ.ศ.2472 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จ "ตรวจโบราณวัตถุสถาน" มณฑลนครราชสีมา และเสด็จเลยไปถึงปราสาทพระวิหาร

ในขณะนั้นสมเด็จฯ พระองค์นี้ ดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะอภิรัฐมนตรี ไม่ได้มีหน้าที่ในการบริหารโดยตรง ยกเว้นแต่ถวายคำปรึกษาผ่านพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นที่เสด็จ "ตรวจ" ในที่นี้ จึงมิใช่การเสด็จอย่างเป็นทางการ จึงได้นำพระธิดาร่วมไปด้วยสามพระองค์ เข้าใจว่าทรงพระประสงค์จะ "ตรวจ" เป็นการส่วนพระองค์ ตามความสนพระทัยด้านประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ทั้งในสมัยนั้นและสมัยนี้

แต่สถานะทางการเมืองของสมเด็จฯ คือหนึ่งในคณะอภิรัฐมนตรีทำให้การเสด็จประพาสครั้งนี้ออกจะกำกวม แยกไม่ออกว่าการเสด็จประพาสครั้งนั้นเป็นทางการหรือส่วนพระองค์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาจึงได้โดยเสด็จไปด้วยจนถึงปราสาทนครวัด

ความกำกวมนี้เกิดขึ้นจากวิธีแบ่งสิ่งที่เป็น "ทางการ" กับ "ส่วนตัว" ในวัฒนธรรมไทย ไม่ได้แบ่งกันที่ภารกิจ แต่ไปแบ่งที่อำนาจ ใครมีอำนาจมากจะขยับไปไหนก็กลายเป็น "ทางการ" ไปหมด และเมื่อเป็น "ทางการ" ก็ชอบที่จะดึงเอาทรัพยากรส่วนรวมมาทุ่มลงไปกับการขยับของเขา ความกำกวมดังกล่าวจึงยังมีสืบมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อเสด็จถึงปราสาทพระวิหาร ฝรั่งเศสก็ส่งเรสิดังต์เมืองกำปงธม มาถวายการต้อนรับ และในฐานะที่ทรงเป็นสมาชิกของวิทยาลัยฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ จึงได้ส่งนักโบราณคดีเรืองนามคือ นายอังรี ปาร์มังติเอร์ มาถวายคำอธิบายด้วย

สมเด็จฯ เสด็จยืนรับการถวายการต้อนรับ และคงจะทอดพระเนตรเห็นธงฝรั่งเศสซึ่งชักขึ้นเหนือเสาบนปราสาทอย่างชัดเจน นอกจากทรง "ตรวจ" โบราณวัตถุสถานบนปราสาทพระวิหารแล้ว ยังได้เสด็จประทับค้างแรมข้างบนนั้นอีกหนึ่งคืนด้วย

มาในภายหลัง พระโอรสธิดาของสมเด็จฯ ทรงวิพากษ์การกระทำของฝ่ายฝรั่งเศสว่า "ทะลึ่ง" มาต้อนรับ นัยยะคือมาแสดงอธิปไตยเหนือดินแดนที่ตั้งของปราสาทพระวิหารให้ฝ่ายไทยประจักษ์


แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ใช่เจ้านายป่าเถื่อนมาจากไหน ทรงผ่านการบริหารบ้านเมืองในตำแหน่งสำคัญ คือขยายพระราชอำนาจโดยตรงของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ครอบคลุมดินแดนที่เคยขึ้นต่อกรุงเทพฯ แต่เพียงในนามได้อย่างกว้างขวาง ตลอดสมัยที่ทรงปฏิบัติงานนั้น คือช่วงเวลาที่รัฐบาลกรุงเทพฯ มีความอ่อนไหวต่อการคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อดินแดนที่ได้ผนวกเข้ามาอย่างที่สุด ไฉนพระองค์จะไม่สะดุดพระทัยกับการต้อนรับของฝ่ายฝรั่งเศส ไฉนพระองค์จะยอมรับการ "ทะลึ่ง" ของฝ่ายฝรั่งเศสโดยไม่ตอบโต้

เรื่องละเอียดอ่อนขนาดนี้ อดีตเสนาบดีมหาดไทยคงหยุดอยู่แต่ในเขตแดนที่เป็นของไทยตามแผนที่ซึ่งฝรั่งเศสได้ให้การรับรองไว้แล้วอย่างแน่นอน แล้วแจ้งให้ฝรั่งเศสทราบว่า ไม่มีพระประสงค์จะเสด็จขึ้นปราสาทพระวิหาร

แต่ก็เสด็จขึ้นไป และรับการรับรองของฝรั่งเศสอย่างสมพระเกียรติ

ทั้งนี้ ก็เพราะสมเด็จฯ ไม่ได้ทรงแปลกพระทัยหรือผิดคาดแต่อย่างใด เพราะทรงทราบอยู่แล้วว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตปกครองของอินโดจีนฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาซึ่งสยามและฝรั่งเศสทำขึ้นใน พ.ศ.2447 ซึ่งถูกกำหนดรายละเอียดด้วยแผนที่แนบท้ายซึ่งสยามและฝรั่งเศสร่วมกันทำ (ตามความในสนธิสัญญา ม.3) และสยามได้ให้คำรับรองทั้งในทางปฏิบัติและอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2450

ใน พ.ศ.2472 เมื่อเสด็จขึ้นปราสาทพระวิหารนั้น ทุกอย่างกระจ่างแจ้ง ไม่มีอะไรให้ต้องสงสัยอีกในจุดนี้



ผมคิดว่าความกระจ่างแจ้งนี้ ไม่ได้ประจักษ์ชัดแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเพียงพระองค์เดียว แต่ประจักษ์แจ้งแก่ชนชั้นนำไทยทั้งหมดด้วย อีกทั้งจนถึง พ.ศ.2472 ก็เป็นที่พอใจของชนชั้นนำทุกคน

การทำสนธิสัญญาในเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศสใน พ.ศ.2447 ซึ่งมีพันธะให้ต้องยอมรับแผนที่แนบท้ายด้วยนี้ รัฐบาลในสมัย ร.5 น่าจะเห็นว่าเป็น "ความสำเร็จ" ที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่ง ขณะนั้นยังไม่แน่ชัดว่ามหาอำนาจโดยเฉพาะฝรั่งเศสยอมรับการมีอยู่ของประเทศสยามแค่ไหน เช่น ที่ราบสูงโคราชทั้งหมดเป็นของสยามหรือเป็นดินแดนที่ยังต้องเจรจาต่อรองกันก่อน อย่าลืมว่าใน พ.ศ.2447 ฝรั่งเศสยังยึดจันทบุรี, ตราด, และเกาะในอ่าวไทยด้านตะวันออกไว้ทั้งหมด ด้วยข้ออ้างว่าเป็นหลักประกันว่าสยามจะยอมทำตามสัญญายุติความเป็นปรปักษ์กันใน พ.ศ.2436

ฉะนั้น เมื่อฝรั่งเศสยอมลงนามในสนธิสัญญา พ.ศ.2447 จึงเป็นครั้งแรกที่สยามได้อธิปไตยที่แน่ชัด (หรือที่มหาอำนาจรับรอง) บนดินแดนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งแรก (หรือถ้ามองจากสายตาของกรุงเทพฯ ซึ่งยังเป็นเจ้าเหนือหัวหลวงพระบางอยู่ ก็เป็นด้านเหนือ) เป็นอันหมดกังวลเสียทีกับความเปราะบางของอธิปไตยสยามทางด้านนี้

แผนที่แนบท้ายซึ่งสยามให้คำรับรองไว้ จะบิดเบี้ยวไปจากสันปันน้ำอย่างไร จึงไม่มีความสำคัญนัก เส้นเขตแดนที่เลาะเลียบแม่น้ำโขงและเทือกเขาพนมดงรักมีความชัดเจนแน่นอน และประกันความปลอดภัยของสยามสำคัญกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้กับปราสาทขอมซึ่งแทบจะไม่มีใครรู้จักเลย

ผมไม่ทราบว่า ชนชั้นนำไทยซึ่งแตกตัวออกไปมากขึ้น ขยายจากชนชั้นเจ้านายไปสู่สามัญชนในวิชาชีพ ทั้งในและนอกราชการ ยังพอใจกับเส้นเขตแดนนี้มาถึงปี 2475 หรือไม่ แต่รัฐบาลไทยยอมรับเส้นเขตแดนตามสนธิสัญญาปี 2447 รวมทั้งแผนที่แนบท้ายสืบมา จนกระทั่งถึงปี 2483 นายกรัฐมนตรี พลตรี ป.พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มปลุกระดมให้ชนชั้นกลางเรียกร้องดินแดนคืนจากมหาอำนาจ และนำไปสู่การทำสงครามกับฝรั่งเศส จนได้ดินแดนในประเทศกัมพูชาและลาวปัจจุบันมาอยู่ใต้การปกครองของไทย


โดยไม่ได้ศึกษาค้นคว้าหลักฐานอย่างเพียงพอ ผมให้สงสัยว่า ในบรรดาผู้นำทางการเมืองของไทยหลังปี 2475 ทั้งที่มาจากคณะราษฎรและไม่ใช่ จำนวนหนึ่งพอมองเห็นแล้วว่า ระบอบอาณานิคมฝรั่งกำลังจะสลายตัวลง (กลายเป็นระบอบอาณานิคมญี่ปุ่น หรือกลายเป็นประเทศเอกราชก็ตาม) ปัญหาก็คือเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างประเทศที่แวดล้อมประเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนไปด้วย จะปรับตัวอย่างไร

โดยไม่ได้ศึกษาหลักฐานอย่างเพียงพออีกเหมือนกันนะครับ ผมสงสัยว่ามีแนวทางที่ต่างกันอยู่อย่างน้อยสองฝ่าย คืออยู่กับมหาอำนาจใหม่หรือญี่ปุ่นให้ได้ และฉกฉวยประโยชน์ด้านดินแดนจากสภาวะใหม่ฝ่ายหนึ่ง กับป้องกันอย่าให้เรามีมหาอำนาจเป็นเพื่อนบ้านอีก โดยส่งเสริมให้ประเทศเหล่านี้เป็นเอกราชเสีย อย่างน้อยก็อย่างลับๆ อีกฝ่ายหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปราสาทพระวิหารกลับตกเป็นของไทย เพราะสงครามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส (ขึ้นอยู่ในจังหวัดนครจำปาศักดิ์) แต่เป็นการได้ที่ไม่มีมหาอำนาจใดรับรองนอกจากญี่ปุ่น ครั้นสิ้นสงครามไทยก็ต้องจำยอมประกาศสละดินแดนที่ยึดมาได้เหล่านี้คืนมหาอำนาจผู้ชนะสงครามหมด เหลือแต่ปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่เรามุบมิบเอาไว้

ทำไมเราจึงมุบมิบผมก็ไม่ทราบ จะว่าเพราะตอนนั้นเราเห็นความสำคัญทางการท่องเที่ยว หรือทางศิลปวัฒนธรรมของปราสาทนี้ ก็ดูไม่น่าเป็นไปได้ สงสัยว่าเพราะไม่ได้กลับไปสืบค้นตรวจสอบสนธิสัญญาและแผนที่แนบท้ายอย่างละเอียดเท่านั้น



ผมเล่าเรื่องมาทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า เราไม่อาจตัดสินการกระทำหรือความคิดของคนแต่ก่อนด้วยเงื่อนไขของปัจจุบันได้ เพราะเขาทำและคิดขึ้นจากเงื่อนไขในสมัยของเขา ซึ่งมาในภายหลังอาจเห็นได้ว่าผิดหรือถูกก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มีเหตุผลรองรับ ทั้งเป็นเหตุผลที่มีประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งด้วย ต่างจากการนำเรื่องปราสาทพระวิหารกลับมาใหม่ในสมัยปัจจุบัน เพราะกลายเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะตนหรือเฉพาะกลุ่มไปเสียหมด

อย่างไรก็ตาม กัมพูชาที่เป็นเอกราชก็ทวงคืนปราสาทพระวิหาร จนนำเรื่องขึ้นสู่ศาลโลกและไทยแพ้คดีอย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว

เพื่อเอาตัวรอดทางการเมือง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงหลั่งน้ำตาแถลงให้ประชาชนไทยยอมสละปราสาทพระวิหาร และทิ้งประโยคเด็ดเอาไว้คือ "ในวันหนึ่งข้างหน้า เราจะต้องเอาปราสาทพระวิหาร กลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้"

ใช่เลยครับ อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน กะอีแค่อธิปไตยเหนือเขตแดนเท่ากระผีกริ้น ทำไมจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่ได้

แต่คนอย่าง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ใช่คนที่เข้าใจความไม่แน่นอนของอนาคตได้ดีเท่าไรนัก ถ้าเขาคิดจริง ก็คงคิดว่าไทยจะมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเหนือกัมพูชามากเสียจนเราสามารถเอาคืนมาได้โดยการ "ซื้อ" หรือการ "ขู่"

ความจริงแล้ว อนาคตได้เปลี่ยนไปจากปี 2505 อย่างยิ่ง ประการแรกปราสาทพระวิหารกลายเป็น "มรดกโลก" โลกนะครับไม่ใช่กัมพูชาประเทศเดียว นัยยะก็คือ ไทยเองก็มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกับประเทศอื่นๆ ด้วย แต่เป็นเจ้าของในเชิงวัฒนธรรม ไม่ใช่การเมือง


ยิ่งกว่านี้ "อธิปไตย" ของประเทศที่ตั้งอยู่บนบุรณภาพทางดินแดนได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างน้อยๆ ก็อย่างช้าๆ เพราะองค์กรเหนือรัฐในทุกรูปแบบมีอำนาจและบทบาทเข้ามากำกับอำนาจอธิปไตยของรัฐต่างๆ มากขึ้น ไม่แต่เพียงองค์กรโลกอย่างสหประชาชาติเท่านั้น (ซึ่งเมื่อตั้งขึ้นก็ยังยึดถืออธิปไตยแบบเก่าอย่างมาก) แต่รวมถึงองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอื่นๆ อีกมาก

อาเซียนพัฒนามาถึงความฝันเรื่อง "ประชาคม" อาเซียน แม้ยังไม่มีรูปธรรมมากนัก แต่อย่างน้อยก็กลายเป็นความฝันที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธอย่างเปิดเผยได้อีกต่อไป เห็นได้ชัดว่าเส้นเขตแดนในกลุ่มอาเซียนซึ่งหาความชัดเจนแน่นอนไม่ค่อยได้ในทุกประเทศ กำลังต้องถอยร่นให้แก่ความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้ง แม้แต่ปราสาทพระวิหารเอง รัฐบาลไทย (ถึงสามรัฐบาล) กับรัฐบาลกัมพูชา ก็พอใจที่จะหาทางปรองดองกันมากกว่าหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นความขัดแย้ง ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ฝ่ายกัมพูชาสนับสนุนไทยที่จะร่วมจัดการบนพื้นที่พิพาท (ไม่ใช่ตัวปราสาท)

ปราสาทพระวิหารกำลัง "กลับ" มาเป็นของเราอีก แต่เราในที่นี้หมายถึงเราในฐานะสมาชิกอาเซียนที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปราสาทพระวิหารจะมีทั้งคุณค่าและมูลค่าแก่เราผ่านความเป็นประชาคมของอาเซียน ไม่ใช่แสนยานุภาพของกองทัพ

เป็นการคลี่คลายไปสู่ "อนาคต" ที่ดีกว่ามโนทัศน์แบบ- สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างเทียบกันไม่ได้ และการณ์ก็เกือบจะเป็นจริง หาก...

.