http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-05

ห้ามกะพริบตา! การเมืองไทยหลังสงกรานต์ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.
ห้ามกะพริบตา! การเมืองไทยหลังสงกรานต์
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1602 หน้า 36



"ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้นำรัฐบาลในปัจจุบันต้องเผชิญล้วนมีรากเหง้ามาจากอดีตทั้งสิ้น"
ประธานาธิบดี แฮร์รี่ เอส. ทรูแมน
(ค.ศ.1884-1972)


ในท่ามกลางความผันผวนของการเมืองไทยที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การ "ล้อมปราบ" กลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมาตั้งแต่วิกฤตสงกรานต์ปี 2552 จนถึงการ "ปราบใหญ่" ในช่วงวิกฤตการณ์เมษายนและพฤษภาคมปี 2553แล้ว การคาดการณ์ถึงอนาคตทางการเมืองของไทยเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง เพราะในท่ามกลางความผันผวนเช่นนี้ อะไรๆ ก็เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ!

ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกใจแต่อย่างใดที่บรรดา "ผู้รู้" ทางการเมืองทั้งหลายจะไม่มีใครเชื่อเอาเลยว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น...

ดูเหมือนผู้คนที่เฝ้าดูการเมืองไทยก็ดูจะมีความเชื่อไม่แตกต่างกัน แม้ในทางตรงข้ามทุกคนต่างก็ภาวนาให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ดูจะเป็นความหวังว่า ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้จริง ก็จะเป็นเสมือน "วาล์ว" ที่เปิดระบายแรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นให้ออกไปได้บ้าง

แน่นอนว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ "การสมานฉันท์" อย่างเช่นที่บางคนคาดหวัง

ตรงกันข้าม การเลือกตั้งอาจจะเป็นการเร่งปฏิกิริยาทางการเมืองเสียด้วย เพราะเมื่อตัดสินใจเปิดเวทีการเมืองให้เกิดการรณรงค์หาเสียงหรือเปิดการโฆษณาทางการเมืองแล้ว เรื่องต่างๆ หลายเรื่องที่อาจจะเป็นเรื่องที่พูดถึงเฉพาะในวงแคบ หรือเฉพาะในบางวงย่อมจะถูกยกระดับขึ้นเป็นประเด็นของการหาเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะอาจจะต้องยอมรับว่ากระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นกระบวนการที่ทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เปิดเผยและยอมรับได้ และยอมให้ต่างฝ่ายต่างกล่าวถึงจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างเปิดเผยในเวทีสาธารณะ



แม้ว่าในเวทีการเมืองไทย เรายังอาจจะก้าวไปไม่ถึงจุดดังกล่าวได้เต็มที่ เพราะข้อจำกัดที่เกิดขึ้นบางประการ แต่ก็มีบางประเด็นที่อาจจะถูกหยิบยกขึ้นสู่เวทีสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น

1. พรรคเพื่อไทยคงจะมีนโยบายที่ชัดเจนว่า ถ้าพรรคชนะการเลือกตั้ง ก็จะอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทยได้ และพรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะมีท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับเข้าประเทศ และก็น่าจะแสดงท่าทีของการเป็นตัวแทนของชนชั้นนำเก่าที่ต้องการไล่ล่าจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อไป

2. พรรคเพื่อไทยน่าจะมีนโยบายที่ชัดเจนต่อปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ว่า รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยคงจะหาลู่ทางในการเจรจาเพื่อยุติปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อขัดแย้งในกรณีของตัวปราสาทพระวิหาร หรือปัญหาของพื้นที่ทับซ้อน อันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวปลุกระดมอย่างหนักของกลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้วบนถนน และอีกส่วนที่เป็นอีกขวาจัดในกระทรวงการต่างประเทศ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็คงชัดเจนแบบเก่า ที่อาจจะหวังว่ากระแสชาตินิยมสุดขั้วบางส่วนจะยังให้การสนับสนุนพรรคต่อไป แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความขัดแย้งกับกลุ่มผู้สนับสนุนเก่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มเสื้อเหลือง) หรือกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ

3. พรรคเพื่อไทยคงจะมีนโยบายที่แน่ชัดต่อปัญหากลุ่ม "คนเสื้อแดง" และต่อประเด็นของการเสียชีวิตในกรณี 10 เมษายน 2553 และกรณีพฤษภาคม 2553 หรืออย่างน้อยรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในอนาคต (ถ้าเกิดขึ้นได้จริง) ก็คงจะต้องมีบทบาทที่ชัดเจนต่อการตรวจสอบ/สอบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็คงหาเสียงด้วยประเด็นเรื่อง "การเผาบ้านเผาเมือง" ต่อไป หรืออาจจะเพิ่มด้วยเรื่องของการใส่ร้ายป้ายสี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถาบันสำคัญ หรือข้อกล่าวหาเก่าในเรื่องคอมมิวนิสต์ โดยหวังว่าข้อกล่าวหาเช่นนี้จะทำให้บรรดาพวกอนุรักษนิยมทั้งหลาย หรือบรรดาชนชั้นกลางในเมืองบางส่วนจะยังคงเป็นฐานเสียงที่สำคัญสำหรับพรรคต่อไป

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า อย่างน้อยประเด็นหลักใน 3 เรื่อง (ปัญหา พ.ต.ท.ทักษิณกลับไทย ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา และปัญหาการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง) จะเป็นสิ่งที่แบ่งแยกพรรคทั้งสองอย่างชัดเจน

และว่าที่จริงแล้ว พรรคทั้งสองก็ควรจะทำให้ชัดเจนด้วยว่า ในทั้งสามประเด็นเช่นที่กล่าวในข้างต้นนั้น ถ้าแต่ละพรรคได้เป็นรัฐบาลแล้ว รัฐบาลของพรรคนั้นๆ จะดำเนินการอย่างไร



ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง อย่างน้อยทุกอย่างก็คงดำเนินไปอย่างที่เป็นอยู่ เสื้อแดงกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ในอนาคตก็คงจะต้องต่อสู้กันต่อไป...

แต่ปัญหาสำคัญในทางคำจำกัดความก็คือ คำว่า "ชนะการเลือกตั้ง" คืออะไร

เพราะถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ชนะด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งในขอบเขตทั่วประเทศอย่างจริงจังแล้ว แต่เป็นเพียงการ "ชนะในการจัดตั้งรัฐบาล" กล่าวคือ อาจจะไม่จำเป็นต้องชนะการเลือกตั้งแต่อย่างใด หากอาศัยกระบวนการดำเนินการทางการเมืองในลักษณะของ "power play" หรือการเล่นกลยุทธ์การเมืองในรูปแบบต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องนำพากับกติกาบางประการของระบอบประชาธิปไตย เช่น

การพึ่งพากับพลังอำนาจของกองทัพ โดยอาศัยกองทัพให้ทำหน้าที่เป็น "ผู้จัดการทางการเมือง" และใช้การข่มขู่และกดดันซึ่งเป็นเกมที่ผู้นำทหารอาจจะถนัดใช้ ทำให้เกิดการจับขั้วทางการเมืองอยู่กับฝ่ายที่ผู้นำกองทัพต้องการให้เป็นรัฐบาลเท่านั้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง จนกลายเป็น "ตราบาป" ติดตัวผู้นำรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ว่ารัฐบาลชุดนี้เกิดขึ้นในค่ายทหาร เป็นต้น

ในอีกด้านหนึ่ง หากกลไกของกองทัพไม่พอเพียงในการทำให้ผลการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามที่ชนชั้นนำต้องการแล้ว กระบวนการตุลาการภิวัตน์ที่ถูกสร้างขึ้นหลังจากรัฐประหาร 2549 ก็อาจจะยังคงเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้จัดการให้เกิดผลตามที่พวกเขาปรารถนาได้โดยไม่ยากนัก

ดังจะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากกลไกของ "ตุลาการภิวัตน์" มากกว่าจะมาจาก "เสนาภิวัตน์" ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกลไกเช่นนี้สามารถใช้แล้วก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้กลไกของทหาร (หรือภาษาวัยรุ่นที่บอกว่า "ดูเนียน")

อย่างไรก็ตาม การคิดง่ายๆ เช่นนี้เป็นเรื่องง่าย เพราะเท่ากับเราไม่จำเป็นต้องนำพากับพลวัตการเมืองไทยที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงการขยายตัวของกลุ่ม "คนเสื้อแดง" ในช่วงที่ผ่านมา ชนชั้นนำกลุ่มอนุรักษนิยม ตลอดจนผู้นำทหารดูจะมีความเชื่อว่าหลังจากการล้อมปราบในเทศกาลสงกรานต์ปี 2552 แล้ว คนกลุ่มนี้น่าจะหดตัวลง และยิ่งถูกโหมโจมตีทางการเมืองด้วยแล้ว กลุ่มนี้ก็น่าจะจบไปเลยในเวทีการเมือง

แต่ในความเป็นจริง หลังจากการถูกปราบรอบแรกในปี 2552 แล้ว กลุ่ม "คนเสื้อแดง" กลับค่อยๆ ฟื้นตัวจนกลายเป็นว่า กลุ่มกลับขยายตัวได้มากขึ้น

และแม้ต่อมาจะต้องเผชิญกับการล้อมปราบในช่วงเมษายนและพฤษภาคมปี 2553 และยังถูกโจมตีอย่างรุนแรงในทางการเมืองด้วยกลไกการโฆษณาของรัฐ ตลอดจนการใช้สื่อกระแสหลักโหมโจมตีสำทับไปอีก จนหลายๆ ฝ่ายต่างก็ประเมินว่า ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้คนกลุ่มนี้ "ตายทางการเมือง" ไปเลย กล่าวคือ ไม่สามารถโฆษณาทางการเมืองได้ ไม่สามารถจัดตั้งได้ และไม่สามารถระดมคนได้

หากผลในความเป็นจริงกลับเป็นตรงข้าม ผลของการใช้กำลังของฝ่ายกองทัพอย่างรุนแรง อาจจะสามารถก่อให้เกิดชัยชนะทางยุทธวิธีด้วยการเปิด "ยุทธการล้อมปราบ" ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ราชดำเนินหรือราชประสงค์ก็ตาม

หากแต่ชัยชนะในการสลายการชุมนุมของฝูงชนในปี 2553 กลับกลายเป็น "ปีศาจ" ที่คอยหลอกหลอนผู้นำรัฐบาลและผู้นำทหารอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


และผลที่เกิดขึ้นก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงชัยชนะทางยุทธวิธีกับเหตุการณ์สั้นๆ ที่มีผลลบอื่นๆ ติดตามมาอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นการตกเป็นจำเลยให้กับนักกฎหมายในเวทีสากล (กรณีการฟ้องร้องของ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม)

หรือภาพลักษณ์ของกองทัพกลายเป็น "ผู้ปราบปรามประชาชน" โดยเฉพาะภาพของการเป็น "ผู้สังหาร" เช่นในกรณีการเสียชีวิตของผู้คนที่วัดปทุมวนาราม เป็นต้น

วันนี้ถ้าผู้นำทหารและผู้นำรัฐบาล ตลอดจนบรรดาชนชั้นนำที่อยู่หลังฉากการเมือง พิจารณาการเมืองด้วย "สติ" พร้อมกับการชั่งน้ำหนักผลได้-ผลเสีย ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยแล้ว การล้อมปราบและชัยชนะทางยุทธวิธีในปี 2553 ไม่สามารถหยุดสิ่งที่พวกเขาไม่ปรารถนาได้แต่อย่างใด

ในทางตรงข้าม ผลของเหตุการณ์ในปี 2553 กลับกลายเป็นแรงผลักดันอย่างสำคัญที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของกลุ่ม "คนเสื้อแดง" หรือกล่าวในภาษาทางการเมืองก็คือ การสังหารในปี 2553 กลายเป็น "แนวร่วมมุมกลับ" ให้แก่กลุ่มเสื้อแดง

ทั้งยังทำให้คนกลางๆ บางส่วนที่ไม่ได้ผูกโยงอยู่กับอุดมการณ์อนุรักษนิยมแบบสุดโต่ง เปลี่ยนทัศนะการเมืองของตน และอาจต้องยอมรับความจริงว่าพวกเขารับไม่ได้กับการล้อมปราบที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และพวกเขาเหล่านี้ได้กลายเป็น "คนเสื้อแดง" มากขึ้น



ถ้าจะบอกว่าชนชั้นกลางไม่เป็นพวกเสื้อแดงแล้ว ก็อาจจะไม่จริงทั้งหมด จะยกเว้นก็แต่เพียงพวกที่ถูกครอบด้วยอุดมการณ์อนุรักษนิยมแบบถอนความคิดไม่ได้ ดังเช่น ภาพสะท้อนของจริตชนชั้นกลางอนุรักษนิยมที่ขอพื้นที่ช็อปปิ้งคืน พวกเขาแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความหวงแหนพื้นที่บันเทิง ไม่ว่าจะเป็นราชประสงค์หรือสยามสแควร์ จนดูเหมือนจริตชนชั้นกลางเหล่านี้มีเพียงความ "สงสารตึก" แต่ไม่สงสารผู้คนที่เสียชีวิต และทั้งยังทำตนเป็นคนที่ไม่รับรู้เรื่องราวของความตายที่เกิดขึ้น เพียงเพราะเหตุเกิดใจกลางแหล่งช็อปปิ้งของพวกเขา การเอาผงซักฟอกไปทำความสะอาดถนนหลังการล้อมปราบนั้น จึงไม่แตกต่างอะไรกับการทำความสะอาดพื้นที่ที่รักและหวงแหนเพื่อขจัดคราบของคนจนและคนชั้นล่าง (ในทัศนะของพวกเขา) ให้หมดไป

ดังนั้น สมมติว่าถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้ว เกิดว่ากลุ่ม "คนเสื้อแดง" สามารถผลักดันให้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตบนถนนราชประสงค์แล้ว คนพวกนี้จะไม่ "อกแตก" ตายหรือ!



แต่ถ้าชนชั้นนำหรือบรรดาผู้นำทหารตระหนักว่าการเมืองไทยได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว (โดยไม่ใช่จะต้องคิดว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น) โดยเฉพาะการขยายตัวของคนเสื้อแดงทั้งในเมืองและในชนบทของประเทศ และยอมรับว่าอนาคตต่อการดำรงอยู่ของพวกเขาคือ "การปรับตัว" ไม่ใช่การพยายามอยู่ด้วยการแข็งขืน โดยไม่รับรู้เรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงใดๆ และเชื่อว่าถ้าจำเป็น ก็จะสามารถปราบปรามใหญ่ได้อีก เพราะอย่างน้อยการปราบในปี 2553 ก็ทำให้พวกเขาชนะมาแล้ว

ถ้าคิดเช่นนี้แล้ว การลองพิจารณาทบทวนจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากการ "ปฏิวัติประชาธิปไตย" ในตะวันออกกลางโดยเฉพาะในกรณีของตูนิเซียและอียิปต์อาจจะพอเป็นคำตอบให้ได้บ้าง (ถ้ายังพอมีสติเหลือให้คิด!) แต่ถ้าชนชั้นนำและทหารยังยืนยันว่าอำนาจการเมืองถูกตัดสินชี้ขาดด้วยอำนาจปืนแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองหลังเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 ก็น่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

การเมืองไทยหลังจากเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง จนต้องกล่าวว่า "ห้ามกะพริบตาเป็นอันขาด"

เพราะอะไรๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ และอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย!

.