http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-22

ศาสนากับรัฐ หรือศาสนาของรัฐ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
ศาสนากับรัฐ หรือศาสนาของรัฐ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 28


หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพูดถึงจุฬาราชมนตรีว่า

""จุฬาราชมนตรี" เป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในเมืองไทยที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวไทยมุสลิม ที่จะได้รับฟังความคิดหรือเทศนาธรรมของท่าน"

ผมคงเดาไม่ผิดว่าผู้เขียนเป็นชาวพุทธไทย และกำลังมองศาสนาอิสลามในประเทศไทยอย่างเดียวกับพุทธศาสนาในเมืองไทย กล่าวคือ เป็นศาสนาที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐไทย การปกป้องคุ้มครองศาสนาของรัฐ คือการควบคุมอย่างหนึ่งนั่นเอง ยิ่งหากรัฐนั้นเป็นรัฐฆราวาสวิสัย การควบคุมก็เพื่อประโยชน์ของรัฐมากกว่าศาสนา

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนาในประเทศอิสลามทั้งหลายเป็นปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ง่ายๆ อย่างนั้น เพราะรัฐกับศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในสมัยพระนะบีมะหะหมัด เมื่อรัฐกับศาสนาเริ่มแยกจากกัน (ตั้งแต่หลังสมัยกาหลิบหรือแม้ในสมัยกาหลิบก็ตาม) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นนักในทุกกรณี

จนถึงทุกวันนี้ มีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างผู้นำทางการเมืองกับผู้นำทางศาสนาในประเทศมุสลิมหลายประเทศ

ข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นรัฐอิสลามของกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาในหลายประเทศ ก็คือเลิกแยกระหว่างรัฐกับศาสนานั่นเอง



รัฐไทยประสบความสำเร็จอย่างมากนับตั้งแต่ ร.6 เป็นต้นมา ที่จะควบคุมทั้งองค์กรคณะสงฆ์ และการตีความคำสอนของพระพุทธศาสนา จนกระทั่งคนไทยปัจจุบันส่วนใหญ่เข้าใจว่าพุทธศาสนาคือ พุทธศาสนาของรัฐไทย (State Buddhism)

แต่ปรากฏการณ์อย่างนี้ไม่ได้เกิดกับศาสนาอิสลาม รัฐไทยสมัยใหม่สืบมาจนไม่นานมานี้ รับมรดกความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาอิสลามมาจากอยุธยา โดยแทบไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเลย นั่นคือเป็นส่วนหนึ่งของระบบควบคุมและใช้ประโยชน์จากแรงงานไพร่

ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในระบบราชการอยุธยา มีหน้าที่หลักสองอย่าง หนึ่งคือ หาประโยชน์เข้าท้องพระคลังจากการค้าขายกับสำเภา-กำปั่นที่มาจากมหาสมุทรอินเดีย นั่นคือกรมท่า "ขวา" (เมื่อนั่งมองทะเลจากอยุธยา) และสอง เป็นนายหน้ารับผิดชอบกับรัฐในเรื่องการควบคุมและใช้ประโยชน์แรงงานของไพร่ฟ้าเชื้อสาย "แขก" ที่นับถือศาสนาอิสลาม

ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอิสลามิกธรรม อย่างน้อยก็ไม่เกี่ยวโดยตรง

หน้าที่ทั้งสองอย่างนั้น เกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางการค้าและประชากรในแต่ละยุคสมัย แต่มีเงื่อนไขสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องพิจารณา และทำให้การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางการค้าและประชากรไม่มีผลต่อตำแหน่งจุฬาราชมนตรี อย่างน้อยก็นับตั้งแต่กลางอยุธยาเป็นต้นมา นั่นคือความจงรักภักดี

หน้าที่ทางการค้าและการคุมกำลังคน ล้วนเป็นหน้าที่อันทำให้เกิดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งอาจเอามาแข่งขันกับพระราชอำนาจได้ ฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินย่อมต้องตั้งคนที่ไว้วางใจได้เท่านั้นขึ้นเป็นจุฬาฯ

เมื่อตอนที่เฉกอะหมัดเป็นจุฬาราชมนตรีนั้น อาจเป็นไปได้ว่าพ่อค้า "แขก" ส่วนใหญ่ในกรุงศรีฯ คงจะเป็นพรรคพวกของท่าน กล่าวคือ เป็นเปอร์เซีย, เชื้อสายเปอร์เซีย, หรืออินเดียที่เป็นชิอะห์และเคยอยู่ร่วมกับชุมชนเปอร์เซียในอินเดีย แต่ต่อมาไพร่ฟ้ามุสลิมที่ไม่ได้มาจากชุมชนนี้ก็เพิ่มขึ้น เช่นเมื่อเจ้าชายมักกะสัน (จากเกาะสุลาเวสีในปัจจุบัน) อพยพหนีภัยมาพึ่งพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา พรรคพวกย่อมเป็น "มักกะสัน" (พูดกว้างๆ คือ เป็นมาเลย์) และนับถืออิสลามนิกายสุหนี่ มีหลักฐานฝรั่งในสมัยพระนารายณ์บอกว่า เจ้าเมืองริมฝั่งทะเลไปจนถึงมะริด ล้วนเป็นมุสลิมเชื้อสายเติร์ก ก็แสดงว่าเป็นสุหนี่อีกนั่นแหละ

ความเป็นส่วนใหญ่ของประชากรมุสลิมของชิอะห์เชื้อสายเปอร์เซียในอยุธยา อาจดำรงอยู่ไม่กี่ทศวรรษ ก็ถูกแทนที่ด้วยมุสลิมเชื้อสายมาเลย์และอินเดียซึ่งเป็นสุหนี่ แต่จุฬาราชมนตรีก็ยังคงสืบตระกูลเฉกอะหมัด ซึ่งเป็นชิอะห์เชื้อสายเปอร์เซียจนถึงรัตนโกสินทร์ เพราะความวางใจในความจงรักภักดีของตระกูลนี้ ยังมีสืบมากับพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ แม้มาจากต่างราชวงศ์กันก็ตาม

(การจัดการทางการเมืองบนฐานของความภักดีในสายตระกูลนี้ น่าสนใจในตัวของมันเองอยู่แล้ว และยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก เมื่อคิดว่ายังถูกใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ต้องการการวิเคราะห์ต่างหากออกไป)

ในส่วนมุสลิมเชื้อสายต่างๆ ซึ่งเป็นสุหนี่ หัวหน้าก็เข้ารับราชการ ได้เลื่อนฐานะขึ้นไปสูงๆ เหมือนกัน และทำหน้าที่อย่างที่สองคือคุมกำลังคนเพื่อประโยชน์แก่ราชการของพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนหนึ่งของกำลังคนเหล่านี้ก็เป็นมุสลิมสุหนี่ด้วยกัน แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นไพร่ที่ไม่ใช่มุสลิม หากสังกัดกรมกองซึ่งอยู่ในกำกับของตำแหน่งราชการของตน

(เช่น เจ้าพระยาจักรีคนแรกในรัชสมัยพระเจ้าตาก ซึ่งน่าจะเป็นเชื้อสายมลายู)



ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา เพราะรัฐไทยก่อน ร.4-5 ไม่ได้สนใจเข้าไปยุ่งกับศาสนาที่ไม่ใช่พุทธของไพร่ฟ้า ตราบเท่าที่ศาสนาหรือองค์กรศาสนานั้นๆ ไม่ขัดขวางกระบวนการบริหารจัดการกำลังคนของรัฐ จะเรียกอาการอย่างนี้ว่ามีขันติธรรมทางศาสนาหรือไม่ใช่ ผมก็ไม่แน่ใจนัก

จุฬาราชมนตรีคงยังทำงานอย่างนี้สืบมาได้เรื่อยๆ จนกระทั่งถึงการปฏิรูประบบราชการของ ร.5 ไพร่ฟ้าถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น "ข้าราษฎร" เสมอเหมือนกันหมด จึงไม่เหลือที่ไว้แก่สังกัดที่แยกตามกรมกองและมูลนายอีกต่อไป

จุฬาราชมนตรีย่อมมีหน้าที่อย่างเก่าต่อไปอีกไม่ได้ แต่งตั้งกันเพื่อสืบทอดประเพณีโบราณ เป็นเกียรติยศของราชอาณาจักรและวงศ์ตระกูลของจุฬาฯ เท่านั้น ไม่มีกรมท่าขวาให้ดูแล และแน่นอนว่าย่อมไม่มีไพร่ในสังกัดอีกเลย

ดังนั้น พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ในสมัย ร.5 จึงเป็นผู้พิพากษาคดีศาลต่างประเทศในกระทรวงยุติธรรม และต่อมาก็เป็นเจ้ากรมกองแสตมป์ในกระทรวงยุติธรรม พระยาจุฬาฯ (สัน) คนต่อมาซึ่งเป็นบุตรของพระยาจุฬาฯ คนเดิม ก็ได้ว่าการกรมกองแสตมป์เหมือนบิดา แล้วก็สืบตำแหน่งเจ้ากรมนี้มากับพระยาจุฬาฯ คนต่อมา (เกษม)

พูดอีกอย่างหนึ่งคือ รับราชการในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม แต่ดำรงอิสริยยศจุฬาราชมนตรีตามสายตระกูลที่สืบทอดมานานตั้งแต่ครั้งอยุธยา

ฉะนั้นว่ากันที่จริงแล้ว ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเพิ่งถูกตั้งกันขึ้นด้วยการอันเกี่ยวกับศาสนาอิสลามจริงๆ ก็เมื่อหลังเปลี่ยนการปกครองแล้วเท่านั้น โดยท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้รื้อฟื้นตำแหน่งนี้ขึ้นมาใหม่ใน พ.ศ.2488 โดยรัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามขึ้น ให้มีตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการด้านอิสลามของพระมหากษัตริย์

ผู้ได้ดำรงตำแหน่งเป็นคนแรกคือ นายแช่ม พรหมยงค์ ซึ่งนอกจากเป็นนักวิชาการด้านอิสลามซึ่งเป็นที่นิยมนับถือแล้ว ยังเป็นสมาชิกคณะราษฎรด้วย


ทำไมจึงวางจุฬาราชมนตรีไว้เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์

เข้าใจว่านอกจากท่านรัฐบุรุษอาวุโสขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ต้องไม่ลืมว่า 2488 เป็นช่วงที่ชาวมุสลิมโดยเฉพาะในภาคใต้ เพิ่งผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายภายใต้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้ออกรัฐนิยมและรัฐบัญญัติหลายฉบับ อันเป็นผลให้ชาวมลายูมุสลิมถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างหนัก จึงต้องการมีมุสลิมที่เป็นผู้รู้มาวางไว้ในจุดที่กระบวนการออกกฎหมายต้องผ่าน นั่นคือสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะทรงมีพระราชอำนาจที่จะท้วงติงโดยไม่ส่งคืนร่างกฎหมายที่ถวายให้ลงพระปรมาภิไธยได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในกระบวนการนิติบัญญัติของไทยในภายหน้า จะมีขั้นตอนหนึ่งที่ผู้รู้มุสลิมจะสามารถท้วงติงขัดเกลากฎหมายที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตมุสลิมได้นั่นเอง (โดยผ่านสถาบันพระมหากษัตริย์) ฉะนั้น ถึงยังใช้ชื่อตำแหน่งเหมือนเดิม

แต่ที่จริงแล้ว จุฬาราชมนตรีหลัง 2475 กับจุฬาฯ ก่อนหน้านั้น หาได้สืบทอดหน้าที่กันแต่อย่างใดไม่ และตำแหน่งใหม่นี้ก็ไม่ใช่ "ประมุขสูงสุด" หรือผู้นำทางจิตวิญญาณของมุสลิมในประเทศไทย

และด้วยเหตุดังนั้น หลังรัฐประหาร 2490 จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้เปลี่ยนให้เป็นที่ปรึกษาของกรมการศาสนา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือของรัฐบาลแทนพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่นั้นมาตำแหน่งจุฬาฯ ก็หลุดออกไปจากกระบวนการนิติบัญญัติ แต่ที่มาของจุฬาราชมนตรีถูกทำให้ดูเป็น "ตัวแทน" ของชุมชนมุสลิมในประเทศไทยมากขึ้น เพราะได้รับเลือกจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด รวมทั้งใน พ.ร.บ.2540 ซึ่งใช้ในปัจจุบันด้วย

แต่ในหลักศาสนาอิสลาม ความเป็น "ตัวแทน" มีได้สองอย่าง หนึ่งคือ "ตัวแทน" ของมุสลิมเพื่อเจรจาต่อรองกับคนกลุ่มอื่น "ตัวแทน" ประเภทนี้อาจมาจากการเลือกตั้งได้ แต่ยังมี "ตัวแทน" อีกอย่างหนึ่ง คือตัวแทนแห่งความถูกต้องตรงตามบัญญัติของศาสนา "ตัวแทน" ประเภทนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการเป็น "ผู้รู้"

กฎหมาย 2540 ดูเหมือนจะตีขลุมให้เป็นทั้งสองอย่าง เช่น ประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา และออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติศาสนา สองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในศาสนาอิสลาม จึงเกิดปัญหาแก่มุสลิมบางกลุ่มว่าประกาศเหล่านี้เป็น "ฟัตวา" หรือไม่

ลองเปรียบเทียบกับเถรสมาคมของทางฝ่ายพุทธ จะไม่รู้สึกเป็นปัญหาอะไร หากรัฐไทยทำการ "ลบศักราช" (คือเลื่อนวันให้ตรงกับข้างขึ้นข้างแรมของพระจันทร์ในธรรมชาติ) ก็จะไม่มีใครสงสัยว่าวันวิสาขบูชาที่ประกาศใหม่จะเคลื่อนคลาดอย่างไร หรือเมื่อรัฐไทยประกาศว่าพระพุทธเจ้าเป็นอนัตตา จึงจะมีหน้าตักกว้างกี่ศอกไม่ได้ คนส่วนใหญ่ก็เห็นว่าใช่แล้ว

ทั้งนี้ ก็เพราะเราเคยชินเสียแล้วกับการ "ปกป้องคุ้มครอง" พุทธศาสนาของรัฐ จนกระทั่งรัฐว่าอย่างไรก็อย่างนั้น



ในปัจจุบัน มีปัญหาซึ่งมุสลิมในบางชุมชนไม่ยอมรับวินิจฉัยของสำนักจุฬาราชมนตรีว่า ที่ดินแปลงหนึ่งๆ เป็น "วากัฟ" คือที่ดินซึ่งได้ถวายแก่พระเจ้าไปแล้วหรือไม่ ชาวบ้านคิดว่าเป็น สำนักจุฬาฯ ว่าไม่เป็น (ในอำเภอจะนะ สงขลา)

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและอิสลามนั้นต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับพุทธเป็นอย่างยิ่ง

และความต่างนี้ก็จะเกิดปัญหามากขึ้นเมื่อสังคมเปลี่ยนไปข้างหน้า

อย่าว่าอื่นไกลเลย แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับพุทธซึ่งดูเหมือนไม่มีปัญหา แต่ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ก็ได้เห็นปัญหาเกิดขึ้นหลายต่อหลายเรื่อง

นับตั้งแต่พฤติกรรมของพระสงฆ์บางรูป, วัดบางวัด, ความขัดแย้งระหว่างองค์กรปกครองกับพระลูกวัด ไปจนถึงนิกายที่อยู่ปริ่มๆ "พุทธ" ของรัฐหรือพ้นออกไปจาก "พุทธ" ของรัฐ

.