http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-09

ชัยชนะของวิลเลี่ยม ที่มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ โดย ทิพย์สุดา ไชยไพบูลย์วงศ์

.
ชัยชนะของวิลเลี่ยม ที่มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์
โดย ทิพย์สุดา ไชยไพบูลย์วงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1603 หน้า 89



เมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมานี้ จากการสำรวจของทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีพบว่า ผู้ชมกว่ายี่สิบล้านคนทั่วทั้งประเทศสหราชอาณาจักร จับจ้องการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีเสกสมรสระหว่าง เจ้าชายวิลเลี่ยม กับ นางสาวแคเธอรีน มิดเดิลตัน ผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์

โดยตลอดงานพิธีที่จัดขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่เคียงคู่กับราชบัลลังก์ของประเทศนี้มาเป็นระยะเวลากว่าพันปี ผู้ชมคงรู้สึกปลื้มปีติกับการสมหวังในความรักของเจ้าชายหนุ่มรูปงาม โดยเฉพาะผู้ที่ระลึกได้ถึงพระพักตร์เศร้าสร้อยของพระองค์ ณ สถานที่แห่งเดียวกันนี้ เมื่อครั้งงานพระราชพิธีศพของไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระมารดาของเจ้าชายวิลเลี่ยม

ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์แห่งนี้ วิลเลี่ยม ผู้พิชิต (William the Conqueror) ได้จัดพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1 แห่งอังกฤษและกลายเป็นราชธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา ในการใช้มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์เป็นสถานที่จัดงานราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

จนกระทั่งงานราชพิธีล่าสุด ที่ผู้ชมทั่วไปเช่นเราได้เป็นประจักษ์พยานในหนึ่งก้าวความสำเร็จของชีวิตในการได้เสกสมรสกับหญิงอันเป็นที่รัก ของอีกหนึ่ง "วิลเลี่ยม" ที่พระอิสริยยศในปัจจุบันคือ เจ้าชายวิลเลี่ยม ดยุคแห่งแคมบริดจ์ หากอนาคตข้างหน้ายามเมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์จะกลายเป็นพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร


แต่ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ หลายคนที่ได้เฝ้าติดตามชมอาจไม่ทราบว่า ยังคงมีหลงเหลืออีกหนึ่ง "วิลเลี่ยม" ที่เราได้เข้าร่วมเป็นประจักษ์พยานของการประกาศชัยชนะ ณ มหาวิหารแห่งนี้ โดย "วิลเลี่ยม" ที่ว่านี้คือ วิลเลี่ยม เบลก (William Blake) หนึ่งในนักกวีที่เป็นที่รักของประเทศสหราชอาณาจักร

จากผลการทำโพลทางอินเตอร์เน็ตของเว็บไซต์บีบีซี ในปี 2009 เพื่อค้นหานักกวีที่ชื่นชอบที่สุดของประเทศ ปรากฏว่า วิลเลี่ยม เบลค เป็นอันดับ 6



วิลเลี่ยม เบลก คือผู้ประพันธ์เนื้อเพลง Jerusalem ซึ่งถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสามบทเพลงสรรเสริญ (hymn) ที่ขับร้องในช่วงระหว่างที่งานราชพิธีกำลังดำเนินภายในมหาวิหาร

โดยอีกสองบทเพลงสรรเสริญที่ถูกเลือกคือ "Guide me, O thou great redeemer" ซึ่งเป็นเพลงประจำทีมรักบี้ของเวลส์ซึ่งเจ้าชายวิลเลี่ยมทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ นอกจากนี้ยังเป็นบทเพลงที่ขับร้องในงานราชพิธีศพของไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ในปี 1997 ด้วย

ส่วนอีกบทเพลงคือ "Love divine, all loves excelling" ซึ่งเป็นบทเพลงที่ใช้ในงานราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ในปี 2005

หากแต่ความน่าประหลาดที่บทเพลง Jerusalem นี้ถูกเลือกให้มาบรรเลงในงานราชพิธีนี้อยู่ตรงที่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ บทเพลง Jerusalem ถูกสั่งห้ามขับร้องในโบสถ์หลายแห่งของประเทศนี้

แต่มาวันนี้ Jerusalem กลับถูกเลือกให้บรรเลงขับร้องในงานราชพิธีที่สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศและ ที่โบสถ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาติ

อันนำมาซึ่งอีกหนึ่งความปลาบปลื้มแด่ผู้ที่ชื่นชอบในบทกวีของวิลเลี่ยม เบลกและบทเพลง Jerusalem นี้


บทเพลง Jerusalem เป็นบทเพลงที่ประพันธ์ดนตรีโดย เซอร์ฮิวเบิร์ต แพร์รี่ (Hubert Parry) โดยนำใช้บทกวีของเบลก "And did those feet in ancient time" ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1808 โดยเนื้อความเต็มมีว่า

And did those feet in ancient time

Walk upon England"s mountains green?

And was the holy Lamb of God

On England"s pleasant pastures seen?

And did the Countenance Divine

Shine forth upon our clouded hills?

And was Jerusalem builded here

Among these dark Satanic mills?

Bring me my bow of burning gold:

Bring me my arrows of desire:

Bring me my spear: O clouds unfold!

Bring me my chariot of fire.

I will not cease from mental fight,

Nor shall my sword sleep in my hand

Till we have built Jerusalem

In England"s green and pleasant land.

โดยเนื้อหาของบทกวีได้อ้างถึงตำนานความเชื่อเก่าที่มีต้นกำเนิดมาแต่ยุคกลางของอังกฤษว่า พระเยซูคริสต์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ได้เดินทางมากับโจเซฟแห่งอาริมาเธียผู้เป็นลุงและเป็นพ่อค้า มาถึงเมืองแกลสตันบูรี ที่อังกฤษ


และภายหลังจากนี้ โจเซฟแห่งอาริมาเธียได้นำพระอัฐิของพระคริสต์มาฝังที่นี่ด้วย

ซึ่งเรื่องราวในบทกลอนนี้สะท้อนลักษณะตัวตนของ วิลเลี่ยม เบลก ผู้ซึ่งมีชีวิตเกี่ยวพันกับการจินตนการเห็นภาพการมาเยือนของพระเจ้าหรือเหล่าเทวทูต จนมีหลายคนเชื่อว่าเขาน่าจะมีจิตไม่ปกติเท่าไรนัก

แม้ว่าภาพจินตนาการที่เขาอ้างถึงนั้นได้สะท้อนออกมาเป็นผลงานทั้งบทกวีและงานภาพพิมพ์จากการแกะสลักบนแม่พิมพ์ไม้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแขนงศิลปะที่ วิลเลี่ยม เบลก มีชื่อเสียง

นอกจากนี้แล้ว วิลเลี่ยม เบลก ยังสะท้อนมุมมองของเขาที่มีต่อสังคมอังกฤษในช่วงยุคปฏิวัติอุตสหกรรมในขณะนั้นผ่านทางวลี dark satanic mills เพื่อต้องการให้เห็นภาพถึงความเลวร้ายของสภาพโรงงานในยุคนั้น ทั้งสภาพความสกปรก ความหนาแน่นของคนงาน และการกดขี่เอารัดเอาเปรียบคนงาน

โดยภายหลังวลีนี้ถูกนำมาใช้ทั่วไปในภาษาอังกฤษและอาจแฝงน้ำเสียงของการเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพที่ย่ำแย่นั้นให้ดีขึ้นให้เป็นดัง "เยรูซาเลมบนผืนแผ่นดินอังกฤษที่เขียวชอุ่มและงดงาม" ผ่านทางท่อนสุดท้ายของบทกวีนี้

เซอร์ฮิวเบิร์ต แพร์รี่ ได้นำบทกวีนี้ มาทำเป็นบทเพลง Jerusalem ในปี 1916 ซึ่งเป็นช่วงยุคสมัยที่สังคมในอังกฤษขณะนั้นกำลังมีกระแสการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของสตรี (suffragette) กระพือขึ้นมา

และได้นำบทเพลงนี้ไปขับร้องในการชุมนุมของเหล่าสตรี ด้วยเหตุที่เนื้อเพลงอาจตีความได้ว่า dark satanic mills ในขณะนั้นคือภาพสังคมที่ยังลิดรอนสิทธิสตรีและต้องการเรียกร้องสังคมที่มีความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น

ผลของกระแสการเรียกร้องสิทธิสตรีนี้ ทำให้ในอีกสองปีถัดมา รัฐสภาของอังกฤษอนุมัติพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกผู้แทนของประชาชน อนุญาตให้สตรีที่มีอายุมากกว่า 30 ปี สามารถมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (ขณะที่ผู้ชายในขณะนั้นกลับได้สิทธิการลงคะแนนเสียงเมื่ออายุมากกว่า 21 ปี)

และต้องใช้เวลากว่าอีกทศวรรษสำหรับที่ผู้หญิงจะได้สิทธิเท่าเทียมกับชายในการเลือกตั้ง



ความนิยมชมชอบบทเพลง Jerusalem นี้ เป็นที่แพร่หลายโดยทั่วไป รวมทั้งการเป็นเพลงที่ถูกบรรเลงประจำในค่ำคืนสุดท้ายของงานคอนเสิร์ตบีบีซี พร็อมส์หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า เดอะ พร็อมส์ (The Proms) ซึ่งเป็นงานเทศกาลคอนเสิร์ตดนตรีคลาสิกที่กินเวลาหลายสัปดาห์

โดยมีสถานที่จัดคอนเสิร์ตหลักคือ รอยัล อัลเบิร์ต ฮอล์ ในกรุงลอนดอน

และนอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการนำเสนอให้บทเพลงนี้เป็นบทเพลงประจำชาติของประเทศอังกฤษ เนื่องด้วยเป็นบทเพลงที่สะท้อนความเป็นอังกฤษ มากกว่าบทเพลง God Save The Qeen ที่เป็นเพลงประจำชาติของสหราชอาณาจักร

แม้กระทั่งพระเจ้าจอร์จที่ 5 ยังเคยตรัสว่า เพลงนี้น่าจะเป็นเพลงชาติมากกว่า God Save The King (ส่วนของชื่อเพลงและเนื้อเพลงนี้ จะใช้ King หรือ Queen นั้น ขึ้นอยู่กับประมุขของประเทศขณะนั้นว่าเป็นพระราชาหรือพระราชินี)

และในการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ (Commonwealth Games) ครั้งล่าสุดที่ผ่านมาในปีที่แล้ว เพลง Jerusalem ถูกเลือกให้เป็นเพลงประจำชาติของอังกฤษอันเนื่องจากการได้คะแนนเสียงสูงสุดจากการโหวตของประชาชน เหนือบทเพลง God Save The Queen

หรือบทเพลง Land of Hope and Glory ของเอ็ดเวิร์ด เอลการ์ ที่มีความเป็นชาตินิยมไม่แพ้กัน

เพลง Jerusalem นี้ ยังเป็นที่นิยมใช้เป็นบทเพลงร้องสรรเสริญในโบสถ์ แต่ด้วยเนื้อหาของบทเพลงที่ดูจะเป็นการส่งเสริมความรู้สึกชาตินิยมมากกว่าที่จะเป็นการสรรเสริญพระเจ้า จึงมีโบสถ์หลายที่ที่ไม่อนุญาตให้มีการขับร้องเพลงนี้ในการประกอบศาสนพิธี รวมทั้งโบสถ์เซนต์มากาเร็ต ซึ่งเป็นโบสถ์ประจำแขวงเวสต์มินส์เตอร์ ที่ตั้งของรัฐสภาสหราชอาณาจักด้วย

แม้ว่าบทเพลง Jerusalem จะเป็นหนึ่งในบทเพลงสรรเสริญเพลงโปรดของนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ในขณะนั้น



ครั้งหนึ่ง วิลเลี่ยม เบลก ถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดหัวรุนแรงในเชิงศาสนาและสังคมในยุคสมัยของเขา ปฏิเสธความเชื่อในกรอบที่สังคมในขณะนั้นกำหนด การพร้อมที่จะยอมรับแนวคิดใหม่ที่ถือว่าล้ำสมัยในยุคนั้น อาทิ การต่อต้านการค้าทาส ความคิดเรื่องการเท่าเทียมกันทางเพศ และกล้าที่จะนำเสนอความคิดของตนเองผ่านบทกวีและภาพพิมพ์ของเขา

ขณะที่เจ้าชายวิลเลี่ยมนั้น ถือว่าเป็นเจ้าชายที่มีความคิดอิสระและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดความเชื่อเดิมที่ทรงไม่เห็นด้วย อาทิ เมื่อทรงมีอิสระในการเลือกเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง ทรงเป็นเจ้าชายจากเชื้อพระวงศ์องค์แรกในยุคสมัยปัจจุบันที่ปฏิเสธที่จะเลือกเข้าศึกษามหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่างอ๊อกซ์ฟอร์ดหรือแคมบริดจ์ หรือการที่มีบุคลิกเรียบง่ายที่ประชาชนเข้าถึงง่าย (common touch) กว่าพวกเหล่าเชื้อพระวงศ์ในอดีต


ดังนั้น เสียงกังวานของบทเพลง Jerusalem ที่ดังก้องในมหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ในว้นงานพระราชพิธีเสกสมรสนั้น ถือเป็นเสียงสะท้อนจากแนวความคิดแบบอิสระ ที่ปฏิเสธการถูกจำกัดความคิดความเชื่อในกรอบเดิม แสวงหาการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

จุดประกายความหวังที่ประชาชนจะได้เห็นในแนวความคิดใหม่จากตัวแทนรุ่นใหม่ของสถาบันกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร ที่จะเป็นผู้นำประเทศต่อไปในอนาคต

.