.
จดหมายถึงนายดอน
โดย รุจ ธนรักษ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 11:00:00 น.
สวัสดี ดอนเพื่อนรัก
นายเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหม ที่โน่นหนาวมากมั้ย วันก่อนนายได้ดู แมนยู เตะกับ เชลซี หรือเปล่า เราเสียใจกับแฟนเชลซีอย่างนายด้วยนะ (ฮ่าๆ)
เราเขียนจดหมายมาหานายวันนี้ก็เพราะกระแสเรื่อง "ไพร่-อำมาตย์" ที่เราเคยคุยกันบ่อยๆ สองสามวันนี้มีกระแสเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง จากกรณีทวิตเตอร์ของ รมต.คลัง และร้านอาหารย่านทองหล่อ ไม่รู้นายได้เห็นข่าวเรื่องนี้บ้างหรือยัง
ที่เราอยากเล่าให้นายฟัง เพราะเดาว่านายอยู่อังกฤษคงไม่ได้ตามเรื่องนี้มากเท่าไหร่ นายคงไม่รู้ว่ามีคนชั้นกลาง (ค่อนไปทางสูง) อีกมากที่ดูจะยังสับสนในประเด็นนี้ ทั้งที่เราก็เคยคุยกันไปแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ก่อนนายจะไปเรียนอ็อกซ์ฟอร์ดเสียอีก
สาเหตุที่เรากล้าฟันธงว่าเป็นคนชั้นกลางค่อนไปทางสูง ก็เพราะว่าเรื่องนี้แพร่หลายใน Social Media อย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก คนชั้นล่างที่ไหนจะมีเวลาว่างมากพอจะติดตามเรื่องพวกนี้ นั่งอ่าน นั่งคอมเม้นต์ ทะเลาะตบตีกันในอินเตอร์เน็ต คนชั้นล่างเขาต้องหาเช้ากินค่ำกันทั้งนั้น มีแต่คนชั้นกลาง ใช้ iPad อย่างพวกเราเท่านั้นแหละที่มีเงินและเวลาเหลือมากพอจะทำเรื่องพวกนี้ได้
นายลอง search ข่าวย้อนหลังดูนะ มันกลายเป็นประเด็นในสื่อกระแสหลักอยู่สองสามวันเลยทีเดียว เรื่องราวทั้งหมดมันเริ่มจากทวิตของท่าน รมต. คลังที่ว่า
"เมื่อสักครู่ ได้มาทานข้าวกับภรรยาที่ร้านอาหารแถวๆ ทองหล่อ คนที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆบอกว่า ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กับครอบครัวเพิ่งลุกไปจากโต๊ะที่ผมนั่งอยู่ไม่ถึง 5 นาทีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่า คนที่เรียกตัวเองว่า "ไพร่" ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวก "อำมาตย์" สักเท่าใดนัก"
ดอน – นายคิดเหมือนเราไหม ?
เราว่าลึกๆแล้วท่าน รมต. คงตั้งใจจะ "ประชด" คนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับท่าน ลึกๆแล้วเราเดาว่าท่านคงอยากบอกว่า
"นี่ไง เห็นไหม แกนนำน่ะเขาสู้แล้วรวยกันทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครไปลำบากเป็นไพร่เหมือนชาวบ้านเลย อย่าไปหลงเชื่อคำพูดพวกแกนนำ พวกนี้มันรับเงินทักษิณมารวยทั้งนั้น มันอ้างว่าตัวเองเป็นไพร่ แต่ลับหลังก็ใช้ชีวิตเหมือนอำมาตย์นั่นแหละ"
เพียงแต่แน่นอนว่าแกไม่พูดอย่างนี้ตรงๆ แล้วก็ออกมาแก้เกี้ยวไปอีกแบบในภายหลัง
แต่เราก็มั่นใจนะว่าลึกๆแล้วหลายคน "เข้าใจ" เรื่องนี้ไปไม่ต่างจากนี้แน่ๆ ดูจากคอมเม้นต์และกระแสใน Social Media ทั้งหลายก็เดาได้ไม่ยาก พวกเขาเพียงแต่ไม่พูดออกมาตรงๆเท่านั้นแหละ
นายรู้ไหม เราเห็นเรื่องนี้ครั้งแรกก็อดเวทนาคนชั้นกลางเหล่านี้ไม่ได้จริงๆ ทั้งที่พวกเขาอยู่ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารท่วมทับแทบทุกวันมาเป็นเวลาหลายปี แต่ดูเหมือนพวกเขายังไม่เข้าใจประเด็นของการชูคำว่า "ไพร่" เลยสักนิด เขาไม่สามารถ "ก้าวข้ามแกนนำ" และ "ผีทักษิณ" แล้วลองฟัง "เนื้อหา" จริงๆของคนเสื้อแดงเขาบ้างเลยว่าเขาพูดเรื่องอะไรมาเป็นปีๆ – พูดไปโดนยิงหัวไป ก็ยังไม่หยุดพูด
ก็อย่างที่เราเคยบอกนายหลายครั้ง เราน่ะไม่สนใจหรอกว่าแกนนำคนไหนจะรวยจะจน เราคิดว่า "ตัวตน" ของแกนนำไม่ได้สำคัญไปกว่า "หลักการ" ที่เราควรยึดถือ เพราะถ้าไม่คิดอย่างนี้ก็คงเละตุ้มเป๊ะเวลา "ตัวบุคคล" แตกกันเองเพราะมันจะไม่มีหลักยึด ทุกวันนี้นายก็เห็นตัวอย่างแถวสะพานมัฆวานไม่ใช่เหรอ
อย่างที่นายรู้ดี คำว่า "ไพร่" ที่คนเสื้อแดงเขานำเสนอขึ้นมา มันไม่ได้แทน "ความแตกต่างทางเศรษฐกิจ" ของผู้คนในสังคมหรอกนะ
เราไม่คิดว่าจะมีใครบ้องตื้นพอที่จะลุกขึ้นมายอมโดนยิงตายข้างถนน เพียงต้องการเรียกร้องให้ทุกคนในประเทศนี้ร่ำรวยล้นฟ้าจนติดอันดับนิตยสารฟอร์บส อย่างเท่ากันหมด เหมือนกันหมด – เราเชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะรวยเท่ากัน
"ไพร่" ที่เขายกมานั้น มันแทน "ความไม่เท่าเทียมทางการเมือง" และ "ความไม่เท่ากันของคุณค่าชีวิต" ต่างหาก
ความไม่เท่ากันการเมืองที่เขาพูดถึงคือ "สิทธิ" ในการปกครองตนเอง สิทธิในการเลือกคนมาปกครอง สิทธิที่จะ "รัก" หรือ "ไม่รัก" ใคร โดยไม่ถูกบังคับขืนใจ เขาเลือกใครมาปกครองก็อย่าไปใช้แท็คติก "ล้ม" คนที่เขาเลือกมา ถ้าคนที่เขาเลือกมาจะผิด จะเลว จะชั่ว เขาก็ขอให้ว่ากันไปตามหลักการและหลักฐาน ไม่ใช่ชกใต้เข็มขัดซ้ำแล้วซ้ำอีก
"ความเท่ากันทางการเมือง" ที่ไพร่เรียกร้อง ยังหมายถึง "การไม่เล่นเส้น" อีกด้วย เพราะการเล่นเส้นเป็นรากเหง้าของ "อิทธิพลนอกระบบ" ที่กระจายอยู่ในประเทศนี้ตั้งแต่ระดับเด็กประถมถึงผู้แทนในรัฐสภา ตราบใดที่เรายังต้อง "มีเส้น" กับใครสักคน และจำเป็นจะต้องใช้เส้นเหล่านั้นเหนือ "ระบบ" และ "กฏกติกา" ที่มองเห็นกันได้ในที่แจ้ง เราก็คงไม่สามารถเจริญไปไหนได้ไกล ไม่สามารถเป็นสังคม "ศิวิไลซ์" และไม่สามารถ "พึ่งตนเอง" ได้จริงๆเสียทีหรอก
ไพร่ น่ะไม่เคยมีเส้น
ส่วน อำมาตย์ น่ะมีเส้นเสมอ
ความไม่เท่ากันทางการเมืองของไพร่ ยังหมายถึง "เสียง" ที่ควรจะดังเท่ากันในสังคม เพราะไม่ว่าจะรวยหรือจน จะสูงหรือต่ำ คนเราก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น เราจะเท่าเทียมกันได้อย่างไรถ้าเสียงของคนชั้นกลางในเมือง "ดัง" กว่าเสียงของคนชายขอบเสมอ – คนชั้นกลางกรี๊ดกร๊าดเรื่องสาวสงกรานต์เปิดนมไม่กี่วัน รัฐก็ออกมาจัดการอย่างกระฉับกระเฉง ส่วนชาวบ้านมาชุมนุมขอให้ยุบสภา กลับถูกด่าว่าโง่ ถูกหลอก แล้วเอากระสุนไปยิงหัวเขาเสียเกือบร้อยศพ
นอกจากนั้น "ไพร่" ยังหมายถึงความต่ำต้อยด้อยกว่าของ "คุณค่าชีวิตคน" เพราะถ้าเรา "เห็นคนเท่ากัน" เราก็จะไม่ "โอเค" กับการยอมให้ใครสักคนโดนฆ่าตายด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ไม่เหมือนเราเด็ดขาด เว้นเสียแต่ว่าเราเห็นคนเหล่านั้น "ไม่เท่ากับเรา" เพราะเขาเป็นคนอื่น เพราะเขาเป็นคนนอก เพราะเขาไม่ใช่เพื่อน พี่ น้อง ญาติ เจ้านาย ลูกค้า ของเรา – เราจะไปแคร์เขาทำไม จะตายก็ตายไปสิ
เปรียบได้เหมือน "ชาวบ้าน" หรือ "ไพร่" ?ที่ถูกเกณฑ์ไปรบอยู่เสมอ ทุกครั้งที่พระราชากระหายอำนาจอยากมีบารมีล้นฟ้าสุดขอบแผ่นดิน รบกันเมื่อไหร่ ชาวบ้านตายก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านเผ่าไหน ชาติใดก็เถอะ เพราะคุณค่าของชีวิต "ไพร่" มันไม่เคยเท่ากับคุณค่าชีวิตคนที่สูงกว่า เมื่อไหร่ที่ต้องเลือกขึ้นมา ไพร่ ก็เหมาะแล้วที่จะถูกเลือกให้ไปตายก่อน
จะเห็นว่าในตัวหลักการของความ "ไม่เท่าเทียม" ทางการเมืองและคุณค่าชีวิต มันก็ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความรวย ความจน
เราเข้าใจดีว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาต่างกัน บางคนเก่ง บางคนโง่ บางคนฉลาด บางคนช้า บางคนเร็ว – เราเข้าใจด้วยว่าธรรมชาติสังคมมนุษย์มันไม่ใช่ยูโทเปีย มันไม่ได้เป็นสังคมอุดมคติ มันต้องมีระดับชั้นของคนแน่ๆ – แต่สิ่งที่คำว่า "ไพร่" เรียกร้องคือความเท่ากันในทางการเมือง ความเท่ากันทาง "สิทธิพื้นฐาน" และ "เสรีภาพเบื้องต้น"
หรือถ้าจะให้พูดในเชิงเศรษฐกิจ (เพราะอาจจะเข้าใจง่ายกว่าสำหรับเหล่าคนกรุงเทพ) เหล่า "ไพร่" ต้องการเรียกร้อง? "โอกาส" ที่จะทำมาหากินอย่างเท่าเทียมด้วยตนเอง ไม่ได้เรียกร้องให้ทุกคนรวยเท่ากัน เพราะเขาทราบดีว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ ขอเพียงแค่ใครเก่งกว่าก็รวยกว่า ใครทุ่มเททำงานมากกว่าก็ไปได้ดีกว่า ไม่ใช่ดูกันที่เส้นสาย ชาติกำเนิด หรือนามสกุล
ดังนั้น จะเห็นว่าการที่ท่าน รมต. ไปเจอแกนนำคนเสื้อแดงในร้านอาหารย่านทองหล่อ มันจะไม่สามารถกลายเป็น "ประเด็น" ได้เลยถ้าท่าน รมต. พอจะเข้าใจความหมายของคำว่า "ไพร่" ที่ถูกชูขึ้นมาบ้าง เพราะแกนนำเสื้อแดงจะรวยหรือจน จะกินอะไร จะขี้ที่ไหน มันไม่เกี่ยวอะไรกับ "หลักการ" ที่คำว่า "ไพร่" นำเสนอ
น่าเสียดายที่ท่าน รมต. ไม่สามารถ "แยกแยะ" ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมในสังคมได้อย่างถูกต้อง ก็ถ้าขนาดคนระดับ รมต. ยังสับสนปนมั่วในหลักการของสังคมขนาดนี้ แล้วเราจะคาดหวังการบริหารงาน หรือการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งสร้าง? "โอกาส" และ "ความเท่าเทียม" ได้อย่างไรล่ะ นายว่าจริงไหม
น่าเสียดาย – บางทีถ้าเขาได้โอกาสไปเรียนอ็อกซ์ฟอร์ดเหมือนนาย ก็อาจจะดีกว่านี้เนอะ
…….
ดอน – นายคิดเหมือนเราไหมว่าประเด็นนี้มันสะท้อนความจริงที่น่าเศร้าใจอีกอย่างนึง
ดูเหมือนคนชั้นกลางในกรุงเทพ จะมีความเข้าใจต่อ "หลักการ" ของสังคม "ศิวิไลซ์" อย่างตื้นเขินจนน่าใจหาย ทั้งที่หลักการที่คำว่า "ไพร่" ชูขึ้นมานั้น มันเป็นประโยชน์กับคนชั้นกลางและลูกหลานของพวกเขาโดยตรงเลยนะ
คนชั้นล่างน่ะ ต้องตายแล้วเกิดใหม่อีกกี่ชาติก็ไม่รู้กว่าจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง
ส่วนคนชั้นสูง นามสกุลดัง อย่างท่าน รมต. น่ะ เขาไม่เดือดร้อนเรื่อง "ความไม่เท่าเทียม" หรอก ทุกคนก็รู้ดี
จะมีก็แต่ "คนชั้นกลาง" อย่างเรากับนายนี่แหละ ที่ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง เกิดมาไม่มีเส้นสาย นามสกุลไม่โด่งดัง ไม่มีปืน ไม่มีเงิน ไม่มีกองทัพเป็นของตัวเอง อยากได้อะไรก็ต้อง "วิ่งเต้น" เอาตลอดชีวิต
ไล่ไปตั้งแต่หาโรงเรียนดีๆให้ลูกเรียน หาเตียงในโรงพยาบาลชั้นดียามป่วยไข้ ไปจนฝากเนื้อฝากตัวให้ผู้ใหญ่เกื้อหนุนในหน้าที่การงาน ฝึกฝนการเข้าสังคม สร้างตัวตนของตนเองให้โดดเด่น เพื่อเสริมสร้าง "ระดับ" ของตัวเองและลูกหลานให้สูงยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
คนชั้นกลางนี่แหละ ที่ต้องเบียดเสียดเหยียบหัวกันและกันทุกวัน เพื่อ "ไต่บันได" แห่งความไม่เท่าเทียมในสังคม เราต้องแย่งกันปีนบันไดให้สูงที่สุด เพื่อให้ลูกของเราเกิดมาในตำแหน่งที่ดีกว่าคนอื่น – พวกเรายินดีจะคิดกันเช่นนี้ ทั้งที่ความคิดเช่นนี้แหละที่ไปส่งเสริมระบบแห่งความไม่เท่าเทียมให้ดำรงอยู่ต่อไป
การที่คนชั้นกลางต้องใช้ชีวิตในสังคมเมืองร่วมกับคนชั้นสูง (ในขณะที่คนชั้นล่างเขาไม่กล้าแม้แต่จะคิด) ทั้งที่ตัวเองไม่มีเงิน ไม่มีเส้น ไม่มีปืน นั้น สิ่งเดียวที่จะช่วยการันตี "สิทธิ" ที่คนชั้นกลางพึงมีก็คือหลักแห่งความเท่าเทียม
ดังนั้นการที่คนชั้นกลางยังไม่ตื่นรู้กันเสียทีว่า "หลักการแห่งความเท่าเทียม" คือพลังเพียงอย่างเดียวที่ตนเองพึงจะมีได้นั้น มันช่างน่าเศร้า เพราะมันแปลว่าพวกเขายังยินดีที่เห็นลูกหลานตนเองวิ่งแข่งไต่บันไดกันอยู่ต่อไปไม่จบสิ้น
วันนี้ – เราเหยียบเท้าใครในผับ ก็ต้องคอยเงี่ยหูฟังว่าเขาลูกใคร
พรุ่งนี้ – ลูกเราไปเหยียบบ้าง ก็ต้องสอนลูกว่าให้เงี่ยหูฟังไว้ก่อน แล้วค่อยมาถามป๊าว่าเส้นเราใหญ่กว่าเขาไหม ถ้าเส้นเราใหญ่กว่าก็เล่นมันเลยอย่าไปกลัว
ตราบใดที่คนชั้นกลางยังไม่สำนึกว่า "หลักการ" คือหนทางราคาถูกที่สุดแล้วที่ตนเองควรไขว่คว้า เราก็ต้องก้มหน้าพึ่งพา เงิน ปืน หรือไม่ก็ เส้น อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ
…..
ดอนเพื่อนรัก
เราอยู่ในสังคมที่มีคนรวย คนจนได้
เราอยู่ในสังคมที่มีคนเก่ง คนไม่เก่งได้
เราอยู่ในสังคมที่มีคนขยัน คนขี้เกียจได้
เราอยู่ในสังคมที่มีคนฉลาด คนโง่ได้
แต่เราอยู่ในสังคมที่ "โอกาส" เติบโตของคนไม่เท่ากันไม่ได้
เราอยู่ในสังคมที่ "สิทธิ" และ "เสรีภาพ" ของคนมีไม่เท่ากันไม่ได้
เราอยู่ในสังคมที่ "คุณค่า" ชีวิตของคนแตกต่างกันไม่ได้
เพราะคนจน คนไม่เก่ง คนขี้เกียจ คนโง่ ย่อมอยากได้ "โอกาส" ที่เปิดกว้างสำหรับวันพรุ่งนี้
พวกเขาก็ล้วนเป็น "คน" ที่สมควรได้รับสิทธิพื้นฐานของมนุษย์เหมือนเราทุกคน
และที่สำคัญ เราไม่อยากให้ลูกหลานของเราต้องวิ่งไต่บันไดเหมือนพวกเราไปตลอดกาล
เราไม่รู้ว่าเขาจะสอนเรื่องนี้ให้นายไหมที่อ็อกซ์ฟอร์ด
แต่เราหวังว่านายจะเข้าใจเรื่องนี้บ้างไม่มากก็น้อยนะเพื่อน
เราเอง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย