http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-11

ความชั่วที่มาจากต่างดาว และ วัฒนธรรมของกองทัพ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
ความชั่วที่มาจากต่างดาว
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1603 หน้า 29


ละครทีวีที่กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักในตอนนี้คือเรื่อง "ดอกส้มสีทอง" เพราะนางเอกเป็นคนชั่วสุดๆ นอกจากพยายามแย่งผัวคนอื่น (ซึ่งเป็นเมียแสนดี) แล้ว เธอยังไม่มีความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการีคือแม่ของตนเอง (ซึ่งก็แสนดีอีกเหมือนกัน)

ขนาดกองทัพบกเอาชื่อนางเอกไปเสียดสีโฆษกกองทัพกัมพูชาไปโน่นเลย

เหตุผลอย่างเดียวที่นางเอกอธิบายไว้ในละครก็คือ เธอรักผู้ชายคนนี้มาก สิ่งที่ทำนั้นจะดีจะชั่วอย่างไรจึงไม่เกี่ยง ไม่ต่างอะไรจากนางเพื่อนนางแพงนะครับ ซึ่งเรากลับเห็นเป็นความรักอมตะไปเสียฉิบ

ผู้เขียนบทละครเรื่องนี้อธิบายว่า เธอได้พยายามแทรกคำสอน (แบบนิทานอีสป) ลงไว้ให้แล้ว โดยสร้างตัวละครขึ้นไว้ประณามและวิพากษ์วิจารณ์นางเอก ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

แต่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงวัฒนธรรมบอกว่าไม่พอหรอก ต้องเลื่อนอายุคนฟังจากมากกว่า 13 ปี เป็นมากกว่า 18 ปีถึงจะได้ เพราะเกรงว่าผู้ชมจะขาดวิจารณญาณเพียงพอที่จะชมละครที่ชั่วสุดๆ ขนาดนี้ได้

โล่งอกไปทีสำหรับกระทรวงวัฒนธรรม พอจะหางานอะไรมาทำได้บ้าง



ผมไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องนี้ ฉะนั้นจึงไม่ทราบว่าเนื้อเรื่องในละครกับหนังสือต่างกันอย่างไร แม้กระนั้น ผมก็ไม่ห่วงว่าเด็กคนไหนจะเสียคนกับความชั่วของนางเอก หากเด็กอายุ 13 มีวุฒิภาวะพอจะสนุกกับละครเรื่องนี้ได้ ก็หมายความว่าเธอต้องปะติดปะต่อ "เหตุการณ์" ในละครให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ จะปะติดปะต่อได้ก็ต้องรู้ระบบค่านิยมของสังคมไทยระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นก็จะหาความสนุกกับละครเรื่องนี้ไม่ได้

ส่วนรู้ระบบค่านิยมแล้ว เธอจะยอมรับหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ อีกมาก ซึ่งเธอต้องเผชิญในชีวิต ละครทีวีเรื่องเดียวเลือกให้ใครไม่ได้หรอกครับ

แต่ผมก็ยังอึดอัดกับละครเรื่องนี้อยู่ดี ความบกพร่องที่ทำให้ผมอึดอัดเป็นเรื่องที่ผมขอเรียกกว้างๆ ว่า "วรรณศิลป์" มากกว่า ผมนึกอยู่ในใจตลอดเวลาที่ดูละครว่า "อีนี่มันจะชั่วช้าขนาดนี้ได้ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เลยเชียวหรือ" ถ้าอย่างนั้นจะต่างอะไรกับการ์ตูนเด็ก ที่มีมนุษย์หรือสัตว์ประหลาดจากต่างดาว ลงมาเหยียบย่ำทำลายโลกมนุษย์ล่ะครับ

ผมคิดว่า "เงื่อนไข" เป็นหัวใจสำคัญของการเล่านิทานในโลกยุคใหม่ พฤติกรรมของตัวละครนั้น เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่นิทานของโลกยุคใหม่ต้องทำให้เรา "เข้าใจ" ที่ไปที่มาของพฤติกรรมเหล่านั้น

ขอเปรียบเทียบให้เห็นตรงนี้ได้ชัดขึ้น ละครเรื่อง "มงกุฎดอกส้ม" ซึ่งเป็นตอนแรกของละครเรื่อง "ดอกส้มสีทอง" นี้ มีเงื่อนไขของพฤติกรรมตัวละครอยู่มากกว่า เช่นเหล่าเมียๆ ของเจ้าสัว ต่างมีพฤติกรรมไปคนละทิศคนละทาง ก็เพราะการตกเป็นเมียน้อยของเจ้าสัว ต้องอยู่ร่วมชายคาเดียวกันและใต้อำนาจเด็ดขาดของเจ้าสัวเหมือนกัน

แม้เป็นการเล่นกับเงื่อนไขที่ไม่สลับซับซ้อนจนง่ายเกินไป แต่อย่างน้อยก็ยังเล่นกับเงื่อนไขบ้าง ผิดกับละครเรื่องที่ตามมานี้ คือไม่มีเงื่อนไขใดๆ ต้องพูดถึงเลย จนเหมือนการ์ตูนสัตว์ประหลาดจากต่างดาวดังกล่าวแล้ว

เงื่อนไขทำให้บุคลิกของตัวละครไม่หยุดนิ่ง แต่พัฒนาไปตามเงื่อนไขที่แปรเปลี่ยน ยิ่งกว่านั้นยังทำให้มองเห็นลึกลงไปกว่าพฤติกรรมของตัวละคร เข้าใจและ (อาจให้อภัย) การเลือกที่ผิดของตัวละคร ภาษาที่นักวิจารณ์มักใช้กันคือตัวละครจึงไม่ "แบน" แต๊ดแต๋


ผมขอยกตัวอย่างจากตัวละคร "เจ้าสัว" ในเรื่อง "มงกุฎดอกส้ม" และ "ดอกส้มสีทอง" นี้ก็ได้นะครับ เงื่อนไขที่เจ้าสัวมีเมียมากและให้อยู่ใต้ชายคาเดียวกันนี้ ผู้เขียนแสดงเงื่อนไขไว้อย่างเดียวคือ เป็นประเพณีของเจ้าสัวจีน (ที่จริงทุกชาติ) ที่จะมีเมียมาก แต่ที่จริงแล้ว ประเพณีจีนข้อนี้ไม่ได้อยู่ลอยๆ แต่อยู่ในสังคมซึ่งแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เจ้าสัวคงได้เจอกับทั้งคนที่ชื่นชม และคนที่มองเห็นแปลก หรือคนที่ล้อเลียน การมีเมียมากของเจ้าสัวจึงต้องทำท่ามกลางเงื่อนไขที่ขัดแย้งกันเองหลายเงื่อนไข ไม่ใช่ประเพณีจีนเพียงอย่างเดียว

เจ้าสัวจะตอบสนองต่อเงื่อนไขที่แตกต่างนี้อย่างไร เพียงเท่านี้บุคลิกของเจ้าสัวก็จะไม่ "แบน" อีกต่อไป

การเล่นกับเงื่อนไข นอกจากเปิดโอกาสให้นักเขียน (หรือผู้แต่งบทละคร) คิดวิเคราะห์ในเชิงสังคมไปได้กว้างและลึก เพราะสังคมในโลกปัจจุบัน สร้างเงื่อนไขให้แก่การตัดสินใจของทุกคนในการเลือกมีพฤติกรรมได้หลากหลาย

นวนิยายสะท้อนสังคม ไม่จำเป็นต้องมีนางเอกเป็นนักพัฒนา หรือมีฉากในสลัม แก่นเรื่องแบบนิยายพาฝันก็อาจสะท้อนสังคมได้ ถ้านักเขียนต้องการให้สะท้อน



อย่างไรก็ตาม เมื่อผมย้อนกลับไปคิดถึงวรรณกรรมตามประเพณีของไทย ก็พบว่าเงื่อนไขของพฤติกรรมไม่ใช่สิ่งสำคัญ และผู้แต่งไม่ประสงค์จะนำเอาเงื่อนไขมาเล่นในเชิงวรรณศิลป์แต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะเงื่อนไขในวรรณกรรมโบราณของไทย เป็นเงื่อนไขที่ใหญ่เกินกว่าจะเอามาเล่นได้ เช่น คือภารกิจของพระเจ้าที่จะดับยุคเข็ญในโลก, หรือคือแรงกรรมซึ่งเกินกว่าใครจะไปกำกับบังคับบัญชาได้, หรือพลังอื่นใดที่อยู่เหนือโลกเช่นพรหมลิขิต

ข้อนี้ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด วรรณกรรมโบราณของวัฒนธรรมอื่นๆ ก็คล้ายกัน (อาจยกเว้นจีน) รวมทั้งตะวันตกเองก็เป็นอย่างนี้มาก่อน การปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่เกิดในยุโรปนับตั้งแต่ยุคปุณภพมาจนยุคแสงสว่าง ทำให้ฝรั่งหันมาสนใจกับโลกนี้ และหาทางอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ธรรมชาติรอบตัวไปจนถึงสังคมและจิตใจมนุษย์ ว่ามีที่มาที่ไปในโลกนี้เอง โลกนี้อธิบายตัวมันเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพลังเหนือโลกมาเป็นตัวอธิบาย จึงไม่เหลือที่ให้แก่พระผู้เป็นเจ้าอีกต่อไป

เรียกกระบวนการนี้อย่างกว้างๆ ได้ว่าเป็นกระบวนการเปลี่ยนไปสู่โลกียวิสัย (secularization) กลายเป็นจุดเด่นในวัฒนธรรมตะวันตกสืบมา

เมื่อตะวันตกมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง กระบวนการนี้ก็ขยายตัวไปยังวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เหมือนวัฒนธรรมคริสต์ของตะวันตก กระบวนการเปลี่ยนไปสู่โลกียวิสัยที่เกิดในวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ตะวันตกจึงแตกต่างกัน และในบางวัฒนธรรมก็ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เช่น วัฒนธรรมมุสลิมบางสังคม ซึ่งต้องการเป็นประชาธิปไตยแบบที่ยังมีพื้นที่ของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ต่อไป

เมื่อนำเอากระบวนการนี้มาใช้กับศาสนาแบบไทย เรื่องก็ไม่ง่ายเช่นเดียวกัน เพราะพระพุทธศาสนาแบบไทยให้ความสำคัญกับพลังของเวรกรรม อันเป็นพลังเหนือโลก แต่ก็ไม่เหมือนพระเจ้าแท้ๆ เพราะเราในโลกนี้สามารถสร้างกรรมสะสมไว้เพื่อให้ผลดีในอนาคตได้

พลังของเวรกรรมจึงเป็นทั้งเหนือโลกและในโลกไปพร้อมกัน

การปฏิรูปศาสนานับตั้งแต่ปลาย ร.3 ลงมา ก็มีกระบวนการเปลี่ยนไปสู่โลกียวิสัย เช่น การตัดความอันเป็นอภินิหารในคัมภีร์เก่าออกไป เพื่อให้ดูสมจริงสำหรับเหตุผลแบบโลกนี้ หรือการให้เหตุผลแก่นรกสวรรค์ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ เป็นต้น

แต่การปฏิรูปศาสนา มีผลจำกัดเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น ไม่ได้กระจายไปถึงประชาชนมากนัก จึงไม่มีผลต่อโลกทรรศน์ของผู้คนอย่างกว้างขวาง

จนถึงทุกวันนี้ คนไทยส่วนใหญ่และการศึกษาไทยส่วนใหญ่ ก็ยังคงมองพฤติกรรมมนุษย์โดยไม่ต้องใช้เงื่อนไขทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัย หรือแม้แต่ "พิพากษา" เลย



ผมมีข้อสังเกตด้วยว่า นักเขียนนวนิยายรุ่นเก่านั้นรับอิทธิพลตะวันตกมากกว่าและตรงกว่านักเขียนนวนิยายสมัยหลัง เช่น ครูมาลัย ชูพินิจ หรือศรีบูรพา คงอ่านหนังสือภาษาฝรั่งมากกว่านักเขียนนวนิยายในปัจจุบันทุกคน และด้วยเหตุดังนั้น นวนิยายของท่านแต่ก่อน จึงมี "เงื่อนไข" ของพฤติกรรมตัวละครอยู่มาก และเป็นเสน่ห์ของงานเขียนของท่าน

เวลานี้ กกต. กับกองทัพบก กำลังโฆษณาให้คนไทยเลือก "คนดี" เข้าสภา และอย่าเลือก "คนเลว" เข้ามาเป็นอันขาด คำเรียกร้องเช่นนี้ได้ยินมาหลายสิบปีแล้ว และคงไม่ขัดหูคนไทยส่วนใหญ่ จึงได้เรียกร้องกันมาได้นานเช่นนี้

แต่ใครคือคนดี? และดีในเงื่อนไขอะไร คนโฆษณาอย่างนี้ไม่เคยให้คำอธิบาย ผมเข้าใจว่าเขาไม่อธิบาย ก็เพราะเขาไม่เคยคิดว่าดีหรือชั่วล้วนมีเงื่อนไข พร้อมจะชี้นิ้วด่านางเอกละครทีวีไปตามแต่ผู้จัดละครจะสาปให้เป็นไป

ที่น่าวิตกมากกว่าเรามี กกต. อย่างนี้ และมีกองทัพบกอย่างนี้ก็คือ สังคมไทยไม่พยายามวางเงื่อนไขให้บุคคลสาธารณะทำชั่วได้ยากขึ้น


เราก่นประณามนักการเมืองขี้ฉ้อ แต่แทนที่จะวางเงื่อนไขป้องกันมิให้นักการเมืองขี้ฉ้อได้ง่ายๆ เรากลับไปโฆษณามิให้ประชาชนเลือกนักการเมืองขี้ฉ้อเข้ามาเป็น ส.ส. ซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าทำไม่สำเร็จตลอดมา



วัฒนธรรมวินิจฉัยพฤติกรรมโดยไม่มีเงื่อนไขนี่แหละครับ ที่เราสามารถปลุกปั่นให้คนเผากันทั้งเป็นกลางเมือง หรือสนับสนุนการล่าสังหารผู้คนปราศจากอาวุธกลางสี่แยกราชประสงค์ได้ โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร

ก็มันชั่วนี่ครับ



++

วัฒนธรรมของกองทัพ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1554 หน้า 21


ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม แต่ผมเห็นมานานแล้วว่า การเป็นทหารในกองทัพประจำการสมัยใหม่นั้น เป็นอาชีพที่แปลกประหลาดมาก เพราะเป็นอาชีพที่ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไปฆ่าคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาเลย โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรสักนิดเดียว แถมยังอาจเป็นฝ่ายโดนฆ่าเองได้เท่าๆ กับที่ได้ฆ่าคนอื่น

สังคมมนุษย์สร้าง "ทหาร" ขึ้นมานานมากแล้วนะครับ แต่ "ทหาร" ของสังคมต่างๆ มักเป็น "ชนชั้น" หมายความว่า เกิดมาในตระกูลที่จะเป็น "ทหาร" เช่น เป็นอัศวินสมัยกลางของยุโรป หรือเป็นซามูไรของญี่ปุ่นสมัยเอโดะ คนเหล่านี้มีอภิสิทธิ์อย่างสูง ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง นอกจากนี้ ยังได้รับความเคารพเกรงกลัวจากคนทั่วไป

เขาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายรบกับคนอื่น เพื่อรักษาอภิสิทธิ์ของเขา หรือถึงดวลกับใคร ก็เพื่อรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีของตัวเอง ให้เป็นที่เคารพเกรงกลัวต่อไป... ล้วนเป็นประโยชน์ส่วนตัวทั้งนั้น

ไม่ต่างอะไรนักกับอาชีพมือปืนรับจ้างในปัจจุบัน ก็ยิงคนเพื่อได้รับค่าจ้าง


แต่ทหารประจำการในปัจจุบันไม่ได้รับประโยชน์โภชผลอะไรกับการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอย่างนั้น ถึงต้องสู้รบตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าหลายครั้งที่ต้องเผชิญกับภยันตรายที่น่าหวาดกลัวอย่างสุดขีด ไหนจะแนวกระสุนของปืนกลฝ่ายข้าศึก, ระเบิดที่หล่นลงตูมๆ อยู่ข้างตัว จนเป็นผลให้เพื่อนทหารกระเด็นกระดอนเป็นศพไปต่อหน้าต่อตา, ทั้งปืนใหญ่ที่สาดสะเก็ดทำลายบุคคลอยู่ตลอดเวลา ฯลฯ ผู้บังคับบัญชายังสั่งรุกไปข้างหน้า

ในภาวะอันตรายอย่างสุดประมาณเช่นนั้น ภายใต้เครื่องแบบคือมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งน่าจะรู้สึกตามสัญชาติญาณของมนุษย์ธรรมดา คือหาทางหลบออกไปจากจุดอันตรายนั้น แล้วกลับไปหาลูกเมียที่บ้าน

นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่กองทัพประจำการสมัยใหม่ทุกกองทัพต้องเผชิญ คือจะรักษาทหารให้เป็นทหารในภาวะเสี่ยงอันตรายสุดขีด โดยไม่กลับมาเป็นคนธรรมดาได้อย่างไร ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ กองทัพนั้นรบกับใครได้ไม่เกินชั่วโมงเดียว ทหารย่อมแตกกระสานซ่านเซนกลับไปซุกอกแม่หรืออกเมียหมด


ท่านผู้อ่านบางคนอาจแย้งว่า ก็ทหารคือผู้เสียสละเพื่อปกป้องชาติบ้านเมือง ฉะนั้น อุดมการณ์ชาตินิยมก็เพียงพอแล้วที่จะรักษาทหารไว้ในการรบได้ตลอดไป โดยปรกติเราทุกคนก็ถูกปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมมาแต่เด็ก การฝึกทหารยิ่งปลูกฝังและปลุกเร้าอุดมการณ์นี้เป็นหลายเท่าทวีคูณ

แต่กองทัพประจำการสมัยใหม่ทุกกองทัพก็รู้มานานแล้วว่า ความรักชาติอย่างเดียวไม่เป็นพลังเพียงพอที่จะหน่วงเหนี่ยวทหารไว้ในสนามรบที่อันตรายอย่างปัจจุบันได้ อย่าลืมนะครับว่า ถึงอย่างไร ชาติก็เป็นสิ่งสมมติ ซึ่งแทบจะไม่ได้พ้องพานชีวิตจริงของผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เหมือนลูกเมียซึ่งเป็นของจริงและกระทบถึงชีวิตของผู้คน อย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ด้วยเหตุดังนั้น กองทัพประจำการสมัยใหม่ทุกแห่งจึงต้องอาศัยวิธีการสองอย่าง ซึ่งจะทำให้มนุษย์ลืมตัวลืมตายและ "บ้าเลือด" พอจะทำการรบอย่างสุดโหดได้ตลอดไป



วิธีการที่หนึ่งคือ ทำให้ฝ่ายข้าศึกกลายเป็นปีศาจ (demonization) พูดอย่างที่คนไทยปัจจุบันเข้าใจกันดีคือทำลายความเป็นมนุษย์ของฝ่ายข้าศึกลงเสีย (dehuma-nization) ทำไม ศอฉ. จึงต้องออกข่าวเรื่อง "ล้มเจ้า" ก่อนลงมือสลายฝูงชนเป็นหลายสัปดาห์ ก็เพื่อทำให้ฝ่าย "ข้าศึก" เป็นปีศาจเสียก่อน


นอกจากความจงรักภักดีต่อ "เจ้า" แล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยยังถูกเสนอให้เป็นหมุดหมายของชีวิตที่ปรกติสุขของทุกคน คนในทุกอาชีพรวมทั้งอาชีพทหาร สามารถวางใจกับอนาคตของตัวได้ว่า จะค่อยๆ ไต่เต้าไปสู่จุดโน้นจุดนี้ในชีวิต อย่างน้อยความมั่นคงในชีวิตที่มีอยู่ ถึงจะไม่มากก็ยังจะดำรงอยู่ต่อไปได้ ตอนนี้เป็นนายสิบ ต่อไปก็จะได้เป็นจ่า และคงได้เลื่อนยศเป็นร้อยตรีก่อนปลดเกษียณ

ฉะนั้น "ล้มเจ้า" จึงหมายถึงล้มความปรกติสุข และชีวิตที่พอคาดได้ของทุกคน กระทบถึงตนเองและลูกเมียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทหารไทยถูกส่งไปสู่สมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยคติ "ธรรมาธรรมะสงคราม" รบในสงครามเกาหลี, เวียดนาม และสงคราม พคท. เพื่อต่อต้านปีศาจร้ายชื่อคอมมิวนิสต์

คนที่คิด "ล้มเจ้า" จึงเป็นปีศาจ ที่ควรจะถูกทำลายให้สิ้นซาก หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้ผยองลุกขึ้นมาอีกเลย

จากคำให้การของสมาชิกของ "หน่วยแพทย์อาสาร่วมใจ" ซึ่งทำงานที่วัดปทุมวนารามจนนาทีสุดท้ายกล่าวว่า ท่ามกลางห่ากระสุนของพลทหารแม่นปืน ซึ่งยิงผู้คนในเขตอภัยทานอย่างไม่เลือกหน้านั้น ประชาชนร้องตะโกนว่ายิงทำไม ทหารตะโกนตอบว่า "พวกมึงอยู่ไปก็รกชาติ สร้างความเดือดร้อน กูจะฆ่าให้ตายหมด "

ฟังดูเหี้ยมโหด แต่ทหารกำลังโต้ตอบกับเหล่าปีศาจร้าย อย่างเดียวกับที่หมอผีสะกดปีศาจลงหม้อถ่วงน้ำ หรือเสกข้าวสารสาดใส่ปีศาจที่ร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวด


การทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นปีศาจร้าย ยังทำให้ทหารไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากสู้ตาย ในช่วงท้ายของสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นถูกบอกว่า กองทัพอเมริกันที่กำลังคืบคลานเข้ามานั้น ไม่เคยมีเชลยศึก เพราะสังหารผู้ยอมจำนนลงทั้งหมด ทหารญี่ปุ่นจึงสู้ตาย

เพราะถึงไม่ตายตอนนี้ก็ต้องตายตอนยอมแพ้อยู่ดี



วิธีที่สองก็คือ การสร้างความผูกพันอย่างลึกซึ้งขึ้นใหม่ ผมขอยกตัวอย่างจากกองทัพอเมริกันซึ่งเห็นได้ง่ายดี นั่นก็คือ ทหารใหม่ทุกคนจะถูกฝึกให้มี "เพื่อนเกลอ" (buddy) ในหมู่หรือในหมวด (ซึ่งต้องประกอบภารกิจทางทหารร่วมกัน) ฉะนั้น การรบจึงเป็นการต่อสู้ที่จะช่วยรักษาชีวิต ไม่ใช่ของตนเองเท่านั้น แต่ของ "เพื่อนเกลอ" ด้วย หาก "เพื่อนเกลอ" ถูกยิงตายหรือบาดเจ็บก็ตาม ทหารก็เลือดเข้าตา

ไม่ใช่เพราะรักชาตินะครับ แต่เพราะเจ็บแค้นแทน "เพื่อนเกลอ" เห็นเป็นภารกิจที่จะต้องล้างแค้น ตายเป็นตาย

ผมเข้าใจว่าระบบ "เพื่อนเกลอ" ไม่ได้ใช้ในกองทัพไทย แต่กองทัพไทยก็สร้างความผูกพันใหม่ระหว่างทหารในหมู่หรือหมวดหรือสังกัดขึ้นมา การเห็นเพื่อนทหารต้องบาดเจ็บล้มตาย ยิ่งปลุกเร้าความรู้สึกอยากเอาคืนมากขึ้น แทนที่จะทำให้ท้อถอย

มีคำให้การของเจ้าหน้าที่ในหน่วยกู้ภัยคนหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติงานอยู่แถวสามย่านเล่าว่า ทหารยิงใส่ประชาชน ยิงใส่ประชาชนจนแตกกระเจิง เหลือแต่พรรคพวกหน่วยกู้ภัยของเขาซึ่งขึ้นไปหลบอยู่บนรถพยาบาลอันมีเครื่องหมายชัดเจน ทหาร 7-8 คนถือปืนเข้ามา แล้วถามว่า "มึงด้วยหรือเปล่า" เขาจึงเปิดประตูรถชูมือและบอกว่า "ไม่เกี่ยว นี่พยาบาล" ขาดคำก็ถูกยิงที่แขนซ้าย เพราะมีทหารที่นั่งเล็งปืนอยู่แล้ว

หลังจากชุลมุนช่วยผู้บาดเจ็บทั้งๆ ที่ถูกยิงเช่นนั้น ในที่สุดรถพยาบาลก็สามารถเคลื่อนออกจากโรงแรมมิราเคิลได้ บังเอิญผ่านทหารกลุ่มที่ยิงเขา จึงตะโกนถามว่า "ยิงทำไม นี่รถพยาบาล" คำตอบจากทหารก็คือ "ก็พวกมึงขว้างกู"

อย่าถามว่า แค่ขว้างเหตุใดจึงต้องตอบโต้ด้วยการยิง เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะประเด็นคืออัตตาใหม่ที่กองทัพสร้างขึ้น ได้แก่หมู่, หมวด, หรือสังกัดถูกทำร้าย ถึงผู้ยิงจะโดนขว้างหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แต่ต้องเอาคืนให้ได้

(ข้อมูลที่ผมอ้างถึงทั้งหมดนี้มาจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "ประชาไท" และปรากฏในเว็บไซต์อื่นๆ อีกหลายแห่ง แต่ไม่มีวันปรากฏในสื่อเซื่องๆ ที่เรียกว่ากระแสหลักเลย)



ตัวเลขของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ตามคำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 21 พ.ค. คือบาดเจ็บ 1,813 ราย เสียชีวิต 85 ราย นับตั้งแต่เริ่มชุมนุมในเดือนมีนาคม แต่เชื่อได้ว่ายังมีผู้เสียชีวิตสูงกว่านี้ เพราะมีพยานรู้เห็นทหารนำศพผู้เสียชีวิตขึ้นรถไปอีกจำนวนหนึ่ง (เช่นอย่างน้อย 4 ศพที่แยกศาลาแดงในวันที่ 19 พ.ค.)

นับเป็นการสูญเสียที่มากที่สุดในการใช้กำลังทหารปราบประชาชน นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา

ความคิดที่จะใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของประชาชน แม้เป็นการชุมนุมที่ไม่ปราศจากอาวุธเสียทีเดียวก็ตาม เป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะกองทัพไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการสลายการชุมนุม เครื่องมือเหล่านี้ซื้อหามาได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่ขาดหายไปในกองทัพก็คือ ขึ้นชื่อว่ากองทัพย่อมไม่อาจสร้างขึ้นจากฐานทางจิตวิทยาของการสลายการชุมนุมได้ อย่าว่าแต่การชุมนุมของพี่น้องร่วมชาติเลยครับ แม้แต่การชุมนุมของประชาชนประเทศที่กองทัพไปยึดครอง ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า กองทัพประจำการสมัยใหม่ ใช้วิธีสลายได้โดยวิธีเดียว คือกราดยิง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมของกองทัพประจำการสมัยใหม่ ขัดขวางไม่ให้กองทัพมีสมรรถภาพที่จะสลายการชุมนุมของประชาชนได้โดยสงบ

แม้กระนั้น นายกรัฐมนตรีไทยก็ใช้กองทัพสลายการชุมนุมของประชาชนมาหลายครั้งแล้ว ทุกครั้งคนที่เป็นนายกฯ ล้วนลอยนวล อย่างมากก็ต้องไปใช้ชีวิตในต่างประเทศระยะหนึ่ง (รวมทั้ง คุณทักษิณ ชินวัตร ที่สลายการชุมนุมที่ตากใบด้วยวิธีเหี้ยมโหดผิดมนุษย์มนาเหมือนกัน) ถ้าสังคมไทยปล่อยให้นายกฯ คนปัจจุบันลอยนวลกับความสูญเสียชีวิตผู้คนที่เกิดขึ้นครั้งนี้อีก เราจะต้องเผชิญกับการล้อมปราบของทหารเช่นนี้อีกในอนาคต และอย่าคิดว่าครั้งหน้าจะไม่ใช่คุณ

ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าเราไม่ควรยอมให้ผู้สั่งการระดับสูงป้ายความผิดให้ทหารผู้ปฏิบัติการอย่างเหี้ยมโหดเหล่านั้นด้วย เพราะเขาอยู่ในวัฒนธรรมที่ผู้สั่งการควรคาดเดาได้อยู่แล้วว่า ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพประจำการย่อมมีลักษณะเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.