http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-25

สิ่งที่ซ่อนใน"ปกขาว", มนุษยนิยม"บางกลุ่ม", "แดง"ทำไมฯ, อิ่ม"รัก" โดย ทราย เจริญปุระ

.
สิ่งที่ซ่อนใน"ปกขาว"
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 80


1.
ชีวิตในวัยเยาว์ของฉันนั้น นอกจากจะมีหนังสือเป็นพี่เลี้ยงสำคัญแล้ว ก็ยังมีแม่นมสำรองที่นั่งรอจังหวะจะเข้ามาประคับประคองฉันอยู่ไม่ห่าง

แม่นมนั้นคือภาพยนตร์

เหตุว่าพ่อฉันเป็นผู้กำกับหนัง ฉันเลยพลอยได้ติดสอยห้อยตามไปดูหนังไทยในโรงอยู่บ่อยๆ แต่สำหรับหนังฝรั่งนั้น ฉันจะได้ดูในรูป

แบบวิดีโอที่บ้าน ในห้องทำงานของพ่อ

นอกจากพ่อฉันจะมีวิดีโอของหนังคลาสสิกหลายๆ เรื่องแล้ว พ่อก็มักจะมีหนังสือที่เล่าถึงการทำงานเบื้องหลังหรือแนวคิดสำคัญในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ วางประกอบกันไปด้วย

ทั้งที่อ่านไม่ออก แต่ภาพเบื้องหน้าเบื้องหลังในหนังสือแต่ละเล่มก็เร้าความสนใจชวนให้ติดตาม จนฉันต้องไปรบเร้าพ่อขอดูหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ มีหลายเรื่องที่แม้ไม่เหมาะกับเด็ก แต่ฉันก็ได้ดูเพราะพ่อจะคอยอธิบายและเปรียบเทียบฉากในหนังกับภาพถ่ายในหนังสือ ให้เห็นถึงการจัดองค์ประกอบภาพ รวมถึงแนวคิดว่าทำไมต้องทำฉากนี้ออกมาเป็นแบบนั้น

ถ้าจะเปรียบเทียบกัน ก็คงเหมือนกับที่เวลาเราดูดีวีดีในยุคนี้แล้วสามารถเลือกเสียงผู้กำกับฯ มาบรรยาย ให้เราได้ฟังถึงการทำงานในแต่ละฉากนั่นเอง

ฉันดูหนังด้วยวิธีแบบนี้ด้วยความสำราญเริงใจมาตลอด

จนกระทั่งวันหนึ่ง

ฉันเห็นหนังสือเล่มนี้วางแอบอยู่ในหลืบชั้นในสุดของตู้โดยไม่มีวิดีโอประกบเหมือนเรื่องอื่นๆ หน้าปกสีขาวเด่น ประกอบด้วยชายหน้าตาแปลกๆ ที่โผล่ร่างท่อนบนพร้อมมีดในมือออกมาจากสามเหลี่ยมสีดำ และตัวหนังสือทรงแปลกตา A Clockwork Orange


2.
อเล็กซ์และเพื่อนชอบใส่ชุดขาวเหมือนๆ กัน อเล็กซ์ชอบฟังซิมโฟนี หมายเลข 9 ของบีโธเฟน อเล็กซ์ชอบนัดเพื่อนๆ ไปดื่มนม พูดคุยด้วยภาษาเฉพาะของพวกเขาเอง ทั้งหมดนั้นก็เป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนว่าจะเรียบร้อยดี

แต่ไม่ใช่เลย

พวกเขารักความรุนแรง พวกเขาปล้นชิง งัดแงะ ลักขโมย ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน ฆ่า

ทุกสิ่งนั้นทำเพราะความสนุก

แต่แล้ววันหนึ่ง, ความสนุกของหัวหน้าแก๊งอย่างอเล็กซ์ก็จบลง

เขาถูกจับได้ จึงเสนอตัวเข้ารับการบำบัดแบบเอาพิษแก้พิษ นั่นคือให้เจ้าหน้าที่บำบัด ทำการบังคับยัดเยียดสิ่งที่อเล็กซ์เคยชอบให้เขาเสพรับในระดับเกินพอดี

ความรุนแรง เลือด สงคราม และภาพอันน่ากลัวมากมายถูกนำมาทำเป็นสื่อผสมเปิดพร้อมไปกับซิมโฟนีที่อเล็กซ์โปรดปราน มันถูกฉายย้ำซ้ำไปมาจนอเล็กซ์เหลือที่จะทน เขาปวดหัว คลื่นไส้ ทุกข์ทรมานจากความรุนแรงทั้งที่มันเคยเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบ

อเล็กซ์ได้รับการบำบัดเรียบร้อยแล้ว


3.
ฉันกำลังนอนอ่านหนังสืออยู่ในห้องทำงานพ่อ ตอนเจ้าของห้องกลับมาในเย็นวันนั้น

"อ่านอะไรอยู่ลูก"

ฉันยกหนังสือนิยายให้พ่อได้เห็นหน้าปก มันเป็นนิยายหนึ่งในหลายสิบเล่มที่อยู่ในตู้ด้านนอก วางอยู่บนชั้นรอให้ใครก็ได้มาหยิบอ่าน

พ่อถามว่าวันนี้จะดูหนังกับพ่อไหม

ฉันบอกไปว่าไม่


4.
ถึงวันนี้ฉันก็ไม่รู้ว่าพ่อจะเคยล่วงรู้หรือเปล่าว่าลูกสาวตัวดีของพ่อนั้นพลิกดูหนังสือปกขาวเล่มนั้นดูทีละหน้าอย่างช้าๆ พร้อมกับความรู้สึกไม่สบายใจที่มากขึ้นเรื่อยๆ

ในตอนนั้นที่ฉันยังอ่านไม่ออก และไม่เคยได้ดูหนังมันก็คงเป็นเรื่องของความไม่สบายใจต่อรูปเปลือยและภาพสารพัดความรุนแรงในหนังสือเล่มนั้น

ต่อเมื่อโตแล้วและได้ดูหนัง ฉันถึงเอะใจขึ้นมาอีกเรื่อง

ฉันรู้สึกไม่สบายใจเพราะฉันรู้ว่ารูปไม่เหมาะสม แต่ฉันก็ยังคงสนุกกับการแอบดูภาพเหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ ทั้งที่ฉันวางมันกลับเข้าที่ไปเลยก็ได้ และเมื่อพ่อกลับมาถามว่าจะดูหนังเรื่องไหนหรือเปล่าฉันก็ปฏิเสธไป ทั้งที่ในหัวมีแต่คำถามถึงสิ่งที่เพิ่งแอบดูไปในตอนบ่าย

ฉันรู้ว่าฉันทำผิด และทำสิ่งที่ไม่ควรทำได้อย่างไรทั้งที่ฉันยังไม่เคยดูหนังเรื่องนั้นสักนิด?

และถ้าถาม, ฉันก็เชื่อว่าพ่อคงจะตอบปัญหาฉันได้กระจ่างเหมือนเช่นทุกครั้ง

หรือมันมีอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในภาพเหล่านั้น

บางอย่างที่บอกให้ฉันรู้ว่า หากฉันถามออกไป ฉันอาจจะกลายเป็นเด็กไม่ดี ฉันอาจจะชอบความรุนแรง ฉันอาจจะโดนทำโทษ

บนเปลือกหน้าของความเป็นเด็กดีที่ถูกอบรมอยู่ในกรอบ ลึกลงไปแล้วฉันซ่อนอะไรเอาไว้บ้าง

ฉันดีจริง หรือแค่เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดด้วยสิ่งที่เรียกว่าความดีกันแน่?

ทุกวันนี้ฉันก็ยังไม่รู้

แต่ตอนนี้, หนังสือเล่มนั้นของพ่อ

มันกลายเป็นของฉันไปแล้ว

"Choice! The boy has not a real choice, has he? Self-interest, the fear of physical pain drove him to that grotesque act of self-abasement. The insincerity was clear to be seen. He ceases to be a wrongdoer. He ceases also to be a creature capable of moral choice."*

บทสนทนาจากภาพยนตร์เรื่อง A Clockwork Orange กำกับฯ โดย Stanley Cubrick (1971)


++

มนุษยนิยม"บางกลุ่ม"
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1604 หน้า 80


1.
ฉันมักจะหยิบหนังสือเล่มที่เคยอ่านจบไปแล้วมาอ่านซ้ำ

ส่วนใหญ่เพราะมีอะไรมากระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ เรื่องราว หรือตัวละครในหนังสือเล่มนั้น

บ่อยครั้งที่มันเป็นหนังสือแนวสืบสวน สอบสวน

ฆาตกรรมที่คนส่วนใหญ่อ่านได้เพียงรอบเดียวก็อ่านซ้ำอีกไม่ได้

ด้วยการรู้เสียแล้วว่าใครเป็นคนร้าย

และเหตุการณ์ทั้งหมดจะลงเอยอย่างไรนั้นบ่อนทำลายความสนุกในการอ่านไปมากโข

แต่ฉันอ่านได้ ฉันลุ้นได้ ฉันตื่นเต้นได้เหมือนเดิม

ฉันคิดว่ามันก็เหมือนเหตุการณ์ส่วนใหญ่ในชีวิตเราและบนโลกนี้ ที่มักจะเกิดซ้ำซ้ำเวียนทับรอยเดิม

เปลี่ยนเพียงช่วงเวลาของเราและของโลกเท่านั้นเอง


2.
แถลงการณ์ของกลุ่มอัลกออิดะห์ แจ้งเตือนหลังการประกาศชัยชนะต่อความตายของ บิน ลาเดน กล่าวว่า

"เลือดของ บิน ลาเดน จะยังคงอยู่ ด้วยการอนุญาตของอัลเลาะห์ ผู้ทรงอำนาจเหลือคณา คำสาปแช่งจะติดตามคุกคามชาวอเมริกันและผู้ใช้อำนาจแทนพวกเขา ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศสหรัฐ"

"ความสุขสันต์จะแปรเปลี่ยนกลายเป็นความเศร้าโศก หยดเลือดของพวกเขาจะหลั่งหลอมรวมเข้ากับหยาดน้ำตา เราขอเรียกร้องให้ชาวมุสลิมในปากีสถาน ซึ่งเป็นดินแดนที่ชีกโอซามาถูกสังหาร จงออกมาลุกฮือและก่อการปฏิวัติ"

ในครั้งที่สหรัฐอเมริกาสร้างแนวรบขึ้นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ได้เกณฑ์คนมาจาก 40 ประเทศ

หนึ่งในนั้นมีชายที่เรารู้จักชื่อเขาเป็นอย่างดีได้เข้าร่วมขบวนการมุญาฮีดินที่ได้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุน

ชื่อของเขาคือ อุซามะห์ บิน ลาเดน

เมื่ออุดมการณ์เปลี่ยนไป มิตรก็กลายเป็นศัตรู


3.
มาริโอ เดลเวคคีโอ เป็นนักบูรณะงานศิลปะผู้ได้รับการยอมรับในกลุ่มผู้ค้างานศิลป์

กิเดียน อาร์กอฟ ทำงานที่สำนักงานสอบสวนและเรียกร้องสิทธิ์ในยามสงคราม

เอฮุด ลันเดา เป็นเจ้าของห้องแสดงภาพ

เกเบรียล อัลลอน เป็นยิว เป็นสายลับ เป็นมือสังหาร

เกเบรียลเป็นได้ทั้งมาริโอ, กิเดียน และเอฮุด

ถึงตอนนี้หนังสือชุด เกเบรียล อัลลอน มีแปลเป็นภาษาไทยออกมาแล้ว 7 เล่ม

เป็นเรื่องราวต่อเนื่องของตัวละครหลักที่เป็นสายลับชื่อ เกเบรียล อัลลอน

ก็ตามขนบทั่วไป มีความขัดแย้ง มีข้อตกลงอันไม่ลงตัว มีการตาย และมีการปฏิบัติภารกิจ

แต่เรื่องราวที่เป็นพื้นฐานของเส้นเรื่องทั้งหมดของนิยายทุกเล่มในชุดนี้นั้น เกิดมาจากความขัดแย้งระหว่างยิวกับปาเลสไตน์

ความขัดแย้งที่ใช้ความตายเป็นทั้งจุดจบและจุดเริ่มต้น

กลุ่มก่อการร้ายอาหรับจับนักกีฬาจากอิสราเอลเป็นตัวประกันในการแข่งขันโอลิมปิกที่มิวนิกเมื่อปี 1972

เมื่อตัวประกันเสียชีวิต การแก้แค้นก็เริ่มขึ้น

เกเบรียลเป็นหนึ่งในกลุ่มมือสังหาร เขาทำงานสำเร็จ

อีกไม่กี่ปีต่อมา เกเบรียลก็ต้องเป็นฝ่ายสูญเสียบ้าง และเขาก็จะต้องออกไปแก้แค้นอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง

ทุกครั้ง, เกเบรียลก็จะต้องสูญเสียเช่นกัน


4.
จากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ มีคนตายไปกว่า 3 พันคน

เมื่ออเมริกาประกาศทำสงครามเพื่อตอบโต้ มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคน

แต่ความตายของคนพวกนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ในขณะที่เหตุการณ์ 11 กันยาฯ ถูกเล่าย้ำซ้ำๆ ทุกปี

ชะตากรรมของลูกพี่คงสำคัญกว่าลูกจ๊อกตัวเล็กตัวน้อย ความเศร้าของพี่ใหญ่ย่อมเจ็บช้ำใจกว่าน้องเล็กอย่างนั้นหรือ?

ความเศร้ามีค่าเท่ากับความเศร้า ความสูญเสียมีค่าเท่ากับความสูญเสีย

ไม่ว่ามันจะเป็นของฝ่ายใดก็ตาม


5.
เรามักคิดว่าเราเป็นพวกมนุษยนิยมที่เห็นความสำคัญและความเท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์ แต่ก็ยังคงมีหลักการมนุษยนิยมแบบนิยมมนุษย์บางกลุ่มบางพวก

-กูดื่มไอ้นี่ได้ มึงดื่มไม่ได้ ฉันนั่งย่านนี้ได้...แกจน, แกไม่ควรมานั่ง-

-คนตายที่ญี่ปุ่น คนตายที่เอธิโอเปีย, น่าสงสารนะ...คนตายที่ชายแดนภาคใต้ คนตายที่ราชประสงค์, มันอะไรกันนักหนาวะพวกนี้-

-ซีเรียอย่าฆ่าคน อิรักอย่าฆ่าคน ลิเบียอย่าฆ่าคน, แต่ถ้าไม่เชื่อเรา เราก็ส่งกองกำลังไปฆ่าคุณได้-

-อย่าใช้ความรุนแรงนะคะ สงสารเพื่อนมนุษย์, อุ๊ย แต่คนนี้กูไม่ชอบ...

ฆ่ามันเลยค่ะ


6.
หลังจากนี้ฉันอาจได้อ่านเรื่องสายลับนักสืบคนใหม่ๆ ที่มาจากประเทศอื่น

แต่ฉันเชื่อว่าหนังสือเล่มนั้นก็คงจะชอกช้ำเหมือนกัน

เพราะถึงอย่างไร, สงครามก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง

และสุดท้ายเราก็คงจะไม่มีอะไรเหลือเลย

นอกจากความทรงจำอันชอกช้ำยับเยิน

..............................................
นวนิยายสายลับสืบสวน ชุด เกเบรียล อัลลอน (ภาพเขียนเลือด, บาปนักบุญ, ปมอดีต, ทวงแค้น, ผู้นำสาร, ล้างหนี้เลือด และศรัทธามรณะ) เขียนโดย Daniel Silva แปลโดย ไพบูลย์ สุทธิ จัดพิมพ์โดย นานมีบุ๊คส์ไครม์แอนด์มิสทรี


++

"แดง"ทำไม ทำไม"แดง"
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1594 หน้า 80


1.
กรุงเทพฯ

วันฝนตกปรอยวันหนึ่ง

สาววัยรุ่นข้างฉันส่องกระจกเช็กคอนแทกต์เลนส์บิ๊กอายส์ของเธอเป็นรอบที่ร้อยก่อนถอนหายใจอย่างหงุดหงิด

"มันติดอะไรน่ะพี่"

เงียบงันกันอยู่อย่างนั้น คนขับรถตู้จึงหันมาตอบเรียบๆ ว่า

"มีชุมนุมครับ"

สาวบิ๊กอายส์ทิ้งตัวลงกับเบาะแรงๆ พร้อมกลอกตาโตสีฟ้าของเธอสู่เพดานรถ

"โอ๊ย พวกนี้แม่งชุมนุมกันอยู่ได้ รถติดรู้มั้ยเนี่ย"

เงียบงันกันไปอีกครั้ง ก่อนที่เสียงพี่คนขับรถตู้จะดังขึ้น

"ครับ"

คราวนี้, เขาไม่ได้หันมา


2.
จังหวัดหนึ่งในภาคกลาง

วันเสาร์ ร้านก๋วยเตี๋ยว

เสียงประกาศจากรถตู้ดังแว่วๆ ฝ่าอากาศร้อนมาไกลๆ

เงี่ยหูฟังจับใจความแล้วแต่ยังคงกระท่อนกระแท่น

"เบื่อไหม"

ฉันงงๆ ที่อยู่ๆ ก็มีคนถามขึ้นมา แต่ฉันก็มักถูกคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อนทักจนเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว หน้าตาฉันคงบอกถึงอารมณ์หลากหลาย เจ้าของเสียงที่เป็นหญิงวัยปลายกลางคนจึงเฉลยคำถามที่ตัวเองตั้งไว้

"เสียงรถเขามาเรียกไปชุมนุมน่ะ ที่ถามเพราะเห็นคนกรุงเทพฯ เขาเบื่อกัน"

ฉันยิ้มๆ ตอบไปทีเล่นทีจริงว่าฉันเป็นคนเมืองนนท์ ไม่ใช่คนกรุงเทพเลยไม่มีปัญหาอะไร

"น่าเบื่อเนอะ มีแต่พวกจนๆ ทำให้ชาวนาชาวไร่ดูไม่ดีกันไปหมด พี่ไม่เอาคนหนึ่งล่ะ ไปนอนรอกันตรงนั้นทำไม บ้านช่องดีๆ มีไม่ยอมนอน สงสัยจะจ้างกันมาแพง"

ก่อนที่ฉันจะตอบอะไร เสียงจากรถตู้ก็ฟังได้ชัดเจน

เขามาประกาศขายกับข้าว


3.
ใครคือเสื้อแดง

ในมุมหนึ่ง, หลายคนอาจคิดว่าพวกเขาคือชาวนา ชาวนา คนจน คนจน คนขับแท๊กซี่ คนขับแท๊กซี่

เรียกง่ายๆ รวมๆ คือพวกมาจากบ้านนอก

แต่ฉันกลับพบว่ามีคนมากมายกว่านั้นที่นับได้ว่าเป็นเสื้อแดง

อาจารย์, หมอ, นักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐบาล, นักแสดง, คอลัมนิสต์, นักโฆษณา ไปจนถึงข้าราชการ

ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ เหล่านี้ซึ่งหลายๆ คนเชื่อว่าเป็นคนมีการศึกษา มีรายได้ดี รักประเทศชาติ รังเกียจทรราชย์และรักความถูกต้อง

แน่นอน, พวกเขาเป็นทั้งหมดเช่นที่คุณเข้าใจนั่นล่ะ

และพวกเขาก็ยังรักความคิดเสรี รักความเป็นจริง

ฟังดูธรรมดาและน่าจะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วใช่ไหม

คำตอบคือใช่

และส่วนขยายของคำตอบนั้นก็คือ, พวกเขาก็ถูกจัดว่าเป็นเสื้อแดงเช่นกัน


4.
จาก เหตุการณ์ไม่สงบจนลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองในประเทศลิเบีย ที่ถูกปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ผูกขาดมายาวนานโดย มูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟี และครอบครัวนั้นส่งผลให้มีคนเสียชีวิตไปมากมายโดยยังระบุตัวเลข ที่แน่นอนไม่ได้

"กัดดาฟีสั่งยิงคน" "กัดดาฟีปกครองควบคุมทุกอย่างในลิเบีย" "กัดดาฟีปิดกั้นสื่อ" "อยู่ในประเทศนั้นคงน่าสงสารอ่ะ" "กัดดาฟีโคตรใจร้ายเลย" "สงสารคนลิเบียที่ตายว่ะ แม่งคงไม่ไหวจริงๆ ถึงลุกขึ้นมาต่อต้าน" "กัดดาฟีเลวเนอะ"

เป็นประโยคที่ฉันได้ยินหนาหูในช่วงนี้

กัดดาฟีสั่งยิงคน กัดดาฟีเป็นคนเลว กัดดาฟีเป็นเผด็จการ

คนลิเบียเสียชีวิตมากจนระบุจำนวนไม่ได้ เขาคงทนไม่ไหวจริงๆ ถึงลุกขึ้นมาต่อต้าน

บางที, แค่บางทีเท่านั้น ที่ฉันอดคิดขึ้นมาไม่ได้ว่า

91 ชีวิตคงน้อยเกินไป.


++

อิ่ม"รัก"
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1592 หน้า 80


1.วันแห่งความรัก

มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไปอีกแล้วหรือวันแห่งความรัก

วันที่คนโสดไม่อยากออกไปไหน วันที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็นวันของคนกำลังมีความรัก

ก็แล้วแต่จะคิด ฉันยกให้ก็ได้วันนึง เพราะฉันมีอีก364วันในหนึ่งปีที่เป็นวันของพวกไร้คู่เช่นฉัน

ชนะกันเห็นๆ

แต่ก็เป็นวิธีคิดแบบทำลายตัวเองและประชดแดกดันกันเป็นอย่างยิ่ง


2.สิ้นหวัง

ระหว่างนั่งกินเหล้ากับผู้ร่วมโต๊ะที่คุ้นเคยก็เกิดความเงียบขึ้นมาระหว่างบทสนทนาอันเซ็งแซ่

และก่อนที่ความเงียบจะจากไป, ใครบางคนในนั้นก็ถามขึ้นมาว่า

"อย่างพวกเราเนี่ย, Desperateมั้ยวะ?"

แม้คำนี้จะแปลให้สละสลวยได้หลายอย่าง แต่คำแรกที่วาบเข้ามาในหัวฉันก็คือ "สิ้นหวัง"

เราพยายามไขว่คว้าอะไรที่ไม่มีจริงหรือเปล่า

เราเปล่าเปลี่ยวกันถึงเพียงนั้นเชียวหรือ

หรือเรามีดวงดาวแห่งความรักอันอับโชคเป็นดาวประจำชีพกันทุกคน เราจึงมาเจอกัน

และตั้งข้อสงสัยร่วมกัน

เรื่องรักของคนเรานี่ก็มักจะแปลกๆ เวลาเรานึกว่าชีวิตรักเรานี่ล่ะมันบัดซบที่สุดแล้ว ก็จะไปค้นพบความบัดซบชวนใจสลายยิ่งกว่าจาก

ใครบางคนที่อาจรู้จักกันมาเนิ่น นานแต่ไม่เคยได้ถาม


3.อิ่ม มนต์ รัก

ลิซ กิลเบิร์ต เป็นผู้หญิงที่ไม่ประสบความสำเร็จกับชีวิตคู่ และรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุขเอาเสียเลย จึงหย่าจากสามีเพื่อไปตามหาตัวเองในอิตาลี, ไปสวดมนต์ในอินเดีย และไปพบรักที่บาหลีในที่สุด

นี่คือเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งฉันรู้สึกว่าชื่อหนังสือตั้งขึ้นมาได้ดีกว่าเนื้อหา

ฉันคงเป็นคนหยาบคายพอดู ถึงไม่ได้รู้สึกละเมียดละเอียดอ่อนไปกับหนังหรือหนังสือเรื่องนี้

ไม่รู้ซี, โดยส่วนตัวแล้วมันเหมือนเป็นผลงานที่ได้มาจากการเข้ากลุ่มบำบัดอาการไม่นับถือตัวเองของผู้เขียน เรื่องมันถึงได้ออกมาเป็นเรื่องของฉัน ฉัน ฉันอยู่ตลอดเวลา

แต่ก็อีก เขาอาจจะรู้จักตัวเองมากกว่าใครจนไม่สามารถจะเขียนถึงชีวิตของคนอื่นก็เป็นได้

ที่น่าสนใจคือมันเป็นหนังสือที่โด่งดัง

เพราะคนเราชอบความฝันหรือเปล่าก็ไม่รู้ เรื่องฝันๆ แบบนี้ถึงขายดิบขายดี

Eat, Pray และ Love

สามสิ่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยเหนี่ยวรั้งใจคนและทำลายคนได้มากที่สุดพอพอกัน

เราต้องการสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเองเพื่อขับเคลื่อนตัวเราไปข้างหน้า

นึกถึงคนที่คลั่งลัทธิอะไรซักอย่างสิ

นึกถึงคนที่ควบคุมการกินของตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเกินไปสิ

นึกถึงคนที่ตายสังเวยรักสิ

คนเหล่านั้นน่าจะมีจำนวนมากพอกับคนที่ประสบความสำเร็จจากทั้งสามสิ่งนี้เช่นกัน

มันช่างดูเรียบง่ายและเป็นกิจกรรมสุดแสนจะธรรมดาพื้นฐานของมนุษย์

แต่หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง คนก็มักจะไปสุดโต่งกับอีกสองสิ่งที่เหลือ จนในที่สุด ก็จะนำพาชีวิตไปสู่ความพังทลายอยู่ดี

หรือทั้งสามอย่างต้องทำไปพร้อมๆ กัน

สวดมนต์ขอให้เราอิ่มกับความรักเสียที

หรือขอให้เราอิ่มในรัก และผันตัวไปเฝ้าภาวนาเพื่อการเยียวยาให้จิตใจเจ็บปวดน้อยลง กับอะไรก็ตามที่เข้ามาในชีวิต

..............................................
"อิ่ม มนต์ รัก" (Eat Pray Love) เขียนโดย อลิซาเบต กิลเบิร์ต แปลโดย เมวิตา วงษ์วิเชียรชัย ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาไทย พ.ศ.2553 โดยสำนักพิมพ์มนตรา


.