http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-06

แพะ กระต่าย และสงครามชายแดน โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.
แพะ กระต่าย และสงครามชายแดน
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1603 หน้า 37



"คนที่ไม่รู้สึกสับสนงุนงง คือ คนที่ไม่เข้าใจสถานการณ์อย่างแท้จริง"
Ed Murrow
นักสื่อสารมวลชนอเมริกัน
ความเห็นต่อสงครามเวียดนาม
(ค.ศ.1908-1965)


หลังจากการรบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้านปราสาทพระวิหาร และจังหวัดศรีสะเกษสิ้นสุดลง ผลที่เกิดขึ้นดูจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของฝ่ายไทยเท่าใดนัก

รัฐบาลไทยหวังว่าการต่อสู้ทางทหารที่เกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ขัดขวางไม่ให้กัมพูชาสามารถนำประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นไปสู่เวทีระหว่างประเทศได้

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลกัมพูชาประสบความสำเร็จในการทำให้คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติต้องหันมาสนใจกับปัญหาการรบที่เกิดขึ้น และทั้งยังขอให้อาเซียนโดยอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนเข้ามาเป็น "คนกลาง" เพื่อแสวงหาลู่ทางในการยุติความขัดแย้ง ก็เท่ากับเป็นสัญญาณว่าความคาดหวังของไทยที่จะจำกัดให้ความขัดแย้งไทย-กัมพูชาเป็นเรื่อง "ทวิภาคี" (หรือเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจากันเองเท่านั้น) เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เพราะเมื่ออินโดนีเซียได้เข้ามาเป็นคนกลางแล้ว ก็เท่ากับว่ากระบวนการเจรจาที่เกิดขึ้นเป็น "พหุภาคี" โดยตัวเอง เว้นเสียแต่เราจะตีความว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นยังคงเป็นทวิภาคี เพราะอินโดนีเซียมีฐานะเป็นคนกลาง ไม่ใช่คู่เจรจา

แต่ดูเหมือนว่าทิศทางการเมืองของไทยเองจะไม่ยอมรับบทบาทของตัวแสดงจากภายนอกแต่อย่างใด รัฐบาลกรุงเทพฯ ยืนเป็น "กระต่ายขาเดียว" ว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะต้องใช้การเจรจาที่เป็นทวิภาคีเท่านั้น คือจะไม่ยอมให้มีประเทศที่สามเข้ามาสู่การเจรจาเลย

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะรัฐบาลปัจจุบันพูดแต่เพียงอย่างเดียวว่า จะยอมรับกรอบการเจรจาที่เป็นทวิภาคีเท่านั้น โดยจะไม่ยอมรับในกรอบอื่นใด

ซึ่งลักษณะเช่นนี้ดูจะสะท้อนให้เห็นท่าทีทางการทูตที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแบบแผนทางการทูตของสยามในอดีต ที่ค่อนข้างจะมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก และพร้อมที่จะปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ

ดังจะเห็นว่า ถ้าเปรียบเปรยถึงแบบแผนการทูตของสยาม/ไทยในยุคก่อนๆ ก็คือ การทูตแบบ "สนลู่ลม" ที่พร้อมจะผ่อนปรนไปกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ มากกว่าจะเดินไปแบบ "หัวชนกำแพง" โดยไม่นำพาต่อปัจจัยของสภาวะแวดล้อม

นโยบายการทูตแบบ "แข็งขืน" (rigid) ที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ มาจากพื้นฐานความเชื่อว่าพลังอำนาจของไทยในด้านต่างๆ สามารถเอาชนะกัมพูชาได้โดยง่าย หรืออย่างน้อยที่สุดก็เห็นได้ชัดเจนถึงความเหนือกว่าของพลังอำนาจทางทหาร

และยังเชื่อเอาอย่างง่ายๆ อีกด้วยว่า ถ้ารบกันแล้ว กองทัพไทยจะสถาปนาชัยชนะได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ การเมืองไทยในปัจจุบันยังคงถูกตรึงอยู่กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมขวาจัดที่ต้องการผลักดันให้ไทยเปิดสงครามกับกัมพูชา โดยเชื่อว่าสงครามที่เกิดขึ้นจะเป็นหนทางของการเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของไทย การผลักดันให้เกิดสงครามยังกลายเป็นวิธีการก่อกระแสชาตินิยมเพื่อให้การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้กระแสเช่นนี้

และอาจจะยังใช้เป็นยุทธวิธีของการต่อสู้กับกระแสประชานิยมที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน

ฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักถ้าจะเปรียบเทียบว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในปัจจุบันจึงมีลักษณะเป็น "การทหารนำการเมือง" หรือดำเนินไปแบบ "การทหารนำการทูต" เพราะเชื่อว่าอำนาจของไทยเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และรัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องประนีประนอมกับรัฐบาลเหล่านั้น

อีกทั้งชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาผู้นำปีกขวาในสังคมไทยก็ล้วนแต่มีทัศนะเชิงลบต่อผู้นำประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ดังนั้น ผลรวมของปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนนำพาให้ชนชั้นนำ ผู้นำรัฐบาล ผู้นำทหาร ตลอดรวมถึงผู้นำปีกขวาของสังคมไทยต้องการดำเนินนโยบายที่ใช้มาตรการกดดันประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรการทางทหาร



ทัศนะที่ "แข็งทื่อ" ในการดำเนินนโยบายของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านเช่นนี้จึงค่อนข้างจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับช่วงปลายยุคสงครามเย็นที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางด้วยการ "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" ในยุคของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

อันเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณถึงการทำยุทธศาสตร์ใหม่ของไทยต่อเพื่อนบ้าน ที่จะไม่ถือเอาความแตกต่างทางการเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดในการเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู

ตรงกันข้ามด้วยการนำเสนอทิศทางใหม่เช่นนี้ เท่ากับบอกว่าประเทศไทยพร้อมจะเดินทางไปสู่ "ความสัมพันธ์ใหม่" ที่มีมิติเศรษฐกิจเป็นแรงขับเคลื่อน และขณะเดียวกันก็ลดบทบาทของสงครามและความขัดแย้งทางการเมือง-การทหารลง

ในยุครัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ดูจะเดินไปทิศทางเดียวกับรัฐบาลชาติชาย ที่มีความพยายามในการกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในด้านต่างๆ แม้ในช่วงต้นรัฐบาล (ทั้งในช่วงต้นปี 2544 และต้นปี 2545) จะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างไทยกับพม่าก็ตาม

แต่ต่อมาเมื่อความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านได้รับการกระชับมากขึ้นแล้ว รัฐบาลทักษิณได้เดินหน้าทำ "ปฏิญญาพุกาม" เพื่อเป็นตัวแทนของยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของไทยในการจัดความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน

ถ้าพิจารณาในบริบทของยุทธศาสตร์ใหม่ ก็อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลทักษิณเป็นยุคที่ 2 ของ "การเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า" และการอาศัยปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก อีกทั้งหวังว่าการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเช่นนี้จะเป็นเงื่อนไขของการลดความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น

หรืออย่างน้อยก็หวังว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจจะลดทอนปัจจัยของความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่สงครามหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกับทฤษฎีของเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่เชื่อว่าการพึ่งพาในทางเศรษฐกิจ (Economic Interdependence) จะทำให้รัฐคู่กรณีไม่ทำสงครามกัน!



อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลที่ผลักดันนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า" ทั้งสองชุด ล้วนแต่จบลงด้วยชะตากรรมเดียวกัน คือถูกทำรัฐประหาร (รัฐบาลชาติชายถูกยึดอำนาจในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และรัฐบาลทักษิณถูกยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549) ซึ่งก็ทำให้เกิดประเด็นคำถามสำหรับอนาคตว่ารัฐบาลในวันข้างหน้าของระบอบประชาธิปไตยไทยจะสานสัมพันธ์กับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร

หรือเราจะยังคงเชื่อเอาง่ายๆ ว่า ไทยมีความเหนือกว่าเพื่อนบ้านในทุกๆ ด้าน และไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาอะไร

ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาข้อพิพาทหรือความขัดแย้งขึ้น ไทยจะใช้วิธีการอะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว และไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าการกระทำของไทยจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีระหว่างประเทศหรือไม่

ด้วยทัศนะของการคิดเข้าข้างตัวเองโดยการมีทัศนะแบบ "แข็งทื่อ" ในการจัดความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านดังที่กล่าวแล้ว เมื่อเกิดการสู้รบระหว่างไทยกับกัมพูชาขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในบริเวณจังหวัดสุรินทร์ มาตรการที่ถูกใช้จึงเป็นลักษณะของ "การแสดงกำลัง"ซึ่งก็ไม่ต่างจากการสู้รบครั้งแรก

โดยในครั้งแรกนั้นมีการซ้อมรบเพื่อแสดงแสนยานุภาพทางบก (อาจจะเปรียบเทียบได้กับกรณีการซ้อมรบระหว่างกองกำลังของสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกดดันต่อเกาหลีเหนือในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้น)

และในครั้งนี้ก็ได้มีการซ้อมรบเพื่อแสดงถึงนาวิกานุภาพของไทย จนอดคิดไม่ได้ว่า กองทัพไทยกำลังเตรียมที่จะเปิดสงครามทางทะเลกับกองทัพเรือกัมพูชาด้วยหรือไม่

เพราะบันทึกความเข้าใจร่วมทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาในปี 2544 (หรือ "เอ็มโอยูทะเล") ซึ่งลงนามโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย) และ นายซก อัน (รัฐมนตรีอาวุโสของกัมพูชา) ก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

ในการรบที่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาลไทยดูจะมุ่งมั่นอย่างมากกับการต่อสู้ในประเด็นที่ว่า "ใครยิงก่อน" ซึ่งก็ดูจะเป็นวิธีการต่อสู้แบบพื้นๆ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว การสู้รบระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น แทบไม่เคยมีความจริงปรากฏชัดจนสามารถตัดสินได้ว่า "ใครยิงก่อน"

ดังที่ปรากฏเป็นคำกล่าวเป็นข้อเตือนใจเสมอว่า "ความจริงเป็นศพแรกในสงคราม" ยกเว้นแต่เพียงว่า การต่อสู้เช่นนี้จะเป็นวิธีของการทำโฆษณาชวนเชื่อแบบเก่าที่หวังจะให้คนในสังคมไทยจะหันมาตอบรับกับกระแสชาตินิยมและลืมปัญหาต่างๆ ในบ้านของเราลง พร้อมกับหันไปเป็นศัตรูกับกัมพูชาร่วมกันอย่างมีเอกภาพ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะเห็นได้ว่าการสู้รบตามแนวชายแดนครั้งที่ 2 นี้ ก็ไม่สามารถ "จุดกระแส" ชาตินิยมให้ขึ้นสู่กระแสสูงได้แต่อย่างใด ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาว่าคนไทยไม่รักชาติ แต่ดูเหมือนชาติมีปัญหาต่างๆ ภายในมากมาย จนคนเริ่มจะไม่ตอบรับกับการก่อกระแสชาตินิยมเท่าใดนัก



ทฤษฎี "แพะรับบาป" (หรือ Scapegoat Theory) ที่ใช้กันในวิชาการเมืองระหว่างประเทศ โดยรัฐที่มีปัญหาภายในไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตาม จะจุดปัญหาให้เกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน และหวังว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้คนหันไปสนใจความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านคู่กรณี พร้อมกันนั้น ก็ทำให้คนภายในชาติมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อต่อสู้กับเพื่อนบ้านที่เป็นข้าศึกร่วมกัน

ทฤษฎีเช่นนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อคนภายในชาติมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลของตนพอสมควร

แต่ถ้าคนมีปัญหาทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจรุมเร้า และขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในสถาบันการเมืองต่างๆ ก็ลดลง การจะทำให้ทฤษฎีเป็นผลได้จริงก็อาจจะไม่ง่ายนัก

เว้นเสียแต่จะคิดง่ายๆ ว่า อย่างน้อยการสู้รบที่เกิดขึ้นก็ช่วยประวิงเวลาของปัญหาต่างๆ ที่รอเวลาแตกหัก หรือรอเวลาที่จะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตกค้างจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 ปัญหาการยุบสภา ปัญหาบทบาททหารในการเมือง ตลอดรวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ

ถ้าหวังเพียงเท่านี้จริง การรบตามแนวชายแดนครั้งที่ 2 ก็น่าจะมีส่วนช่วยอยู่บ้างต่อการประวิงเวลาสำหรับการเมืองภายในในบางเรื่อง แต่ก็ไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักจนทำให้ผู้คน "ลืม" เรื่องราวอื่นๆ และหันมาเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล หรือกลายเป็นผู้นิยมชมชอบทหารไปได้


สิ่งที่จะต้องคิดอย่างพินิจพิเคราะห์ก็คือ การดำเนินนโยบายแบบ "แข็งขืน" ที่ไม่ยอมปรับตัวใดๆ เลย จนแม้การแถลงถึงปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาก็ใช้โฆษกของกองทัพบกและโฆษกกระทรวงกลาโหม จนต้องถามว่าบทบาทของรัฐบาลพลเรือนและกระทรวงการต่างประเทศของไทยหายไปไหน

หรือว่าการแถลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฝ่ายทหารก็คือ การตอกย้ำว่าทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทยมีลักษณะ "การทหารนำการทูต" อย่างชัดเจนแล้ว



อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องคิดให้มากในอนาคตก็คือ หากรัฐบาลกัมพูชาประสบความสำเร็จทางการเมืองในการดำเนินนโยบายทางการทูตต่อปัญหาการสู้รบตามแนวชายแดนแล้ว รัฐบาลไทยจะทำอย่างไร...

เราจะยังคงยึดติดอยู่กับแนวคิดเรื่อง "ทวิภาคี" (โดยเฉพาะจากคำประกาศของกระทรวงกลาโหม) อย่างไม่เปลี่ยนแปลง แล้วถ้าสหประชาชาติตัดสินใจเข้าแทรกแซงจริง เราจะทำอย่างไร


ประเด็นสำคัญในกรณีนี้ก็คือ แล้วกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมจะบอกแก่สังคมได้ไหมว่า เส้นเขตแดนของหมู่ปราสาททั้ง 3 หลัง (ตาเมือนธม ตาเมือนโต๊ด และตาเมือน) นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ และแผนที่ L 7017 (ไทย) และ L 7016 (กัมพูชา) ที่ทหารและบรรดานักชาตินิยมชอบพูดถึงนั้น เส้นเขตแดนอยู่บริเวณใด?

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล (สมมติว่าถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง) ประเด็นปัญหานี้จะเป็น "ระเบิดเวลา" ในอนาคตอย่างแน่นอน!

.