.
ชูธงประชาธิปไตยให้สูงเด่น! จากตะวันออกกลางสู่ราชประสงค์
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 37
"ความผิดพลาดของผู้ที่คิดว่าตนเองแข็งแรง
ก็คือ คิดว่าผู้อ่อนแอมีอาวุธเพียงชนิดเดียว"
George Bidault
อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส
(ค.ศ.1899-1983)
ไม่น่าเชื่อว่าหนึ่งปีของการล้อมปราบทางการเมืองและการทหารขนาดใหญ่ผ่านไปโดยไม่เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย
ต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งปีที่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยมสามารถ "สต๊าฟ" การเมืองไทยให้หยุดนิ่ง โดยที่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งควรจะเกิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง กลับถูกหยุดนิ่งอยู่กับที่
จนดูเหมือนพวกเขาทั้งหลายเหล่านี้จะเชื่ออย่างมั่นใจว่า ด้วยกลไกต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้และพัฒนาขึ้นในรูปแบบต่างๆ นับจากรัฐประหารกันยายน 2549 เป็นต้นมา เป็นความสำเร็จที่สำคัญเพราะอย่างน้อยก็ทำให้พวกเขายังดำรงอยู่ในอำนาจได้
แต่หากมองออกไปนอกประเทศไทย เรากลับเห็นความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของ "การปฏิวัติประชาธิปไตย" เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่ากระแสประชาธิปไตยจะพัดแรงในภูมิภาคดังกล่าว เพราะเรามักจะถูกสร้างให้เกิดความเชื่อว่า ด้วยการเมืองที่ผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนานั้น กระบวนการสร้างประชาธิปไตย (democratization) เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก
ประกอบกับความเป็นระบอบอำนาจนิยมที่มีฐานอันเข้มแข็งจากรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบตะวันออกกลาง การเรียกร้องให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
อีกทั้งด้วยผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา การเรียกร้องทางการเมืองให้เกิดประชาธิปไตยอาจจะถูกมองว่าเป็นปัจจัยของการบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค เพราะรัฐบาลในประเทศที่มีความสำคัญในทางภูมิยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับวอชิงตันทั้งในทางการเมืองและการทหาร
แต่ด้วยแรงกดดันของปัจจัยภายใน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหายากจนทางเศรษฐกิจ
ปัญหาการไร้เสถียรภาพทางการเมือง อันนำไปสู่ความรู้สึก "อัดอั้น" ทางการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลง
อย่างน้อยประชาชนที่ลุกขึ้นในการเรียกร้องเสรีภาพนั้น พวกเขาอยากเห็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลที่เป็นเพียงตัวแทนของชนชั้นนำหรือกลุ่มทหาร และผูกขาดการมีอำนาจอย่างยาวนาน
ใครจะไปคาดคิดว่าด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนในตูนิเซียลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย และประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลอำนาจนิยมได้จริง
จากตูนิเซีย เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในอียิปต์ ซึ่งก็แน่นอนว่าผลจากตูนิเซียและอียิปต์ทำให้เกิดการคาดการณ์ในลักษณะของเกมโดมิโนได้ว่า จะต้องมีโดมิโนตัวต่อไปจากประเทศทั้งสอง
และในขณะเดียวกัน เราก็เห็นการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลิเบีย จอร์แดน บาห์เรน ซีเรีย โมร็อกโก เป็นต้น
แม้ว่าผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะมีเพียงโดมิโนที่ล้มตามกันเพียง 2 ประเทศคือตูนิเซียและอียิปต์ แต่กรณีของลิเบียก็อาจจะต้องถือว่าเป็นโดมิโนตัวที่สาม เพราะแม้รัฐบาลของพันเอกกาดาฟีจะยังคงอยู่ในอำนาจได้ แต่การสู้รบระหว่างกองกำลังของรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านยังคงดำเนินไป จนกลายเป็น "สงครามกลางเมือง" ไปโดยปริยาย
ยิ่งบรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในสหภาพยุโรปตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซงโดยตรง จนถึงขั้นมีการใช้กำลังทหารเข้าร่วมปฏิบัติการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จนถึงมาตรการการอายัดทรัพย์สินของผู้นำรัฐบาลลิเบียที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาด้วยแล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนว่า อนาคตของรัฐบาลลิเบียไม่น่าจะสดใสเท่าใดนัก
แม้พันเอกกาดาฟีจะยังคงอยู่ในอำนาจได้ แต่ก็อยู่ในภาวะถดถอยเป็นอย่างยิ่ง และหากมองไปในอนาคตแล้ว โอกาสที่รัฐบาลของเขาจะอยู่รอดได้ในระยะยาวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
โดมิโนประชาธิปไตยจากตูนิเซียและอียิปต์เช่นนี้ ทำให้บรรดารัฐบาลอำนาจนิยม (จะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม)ในตะวันออกกลาง จำต้องยอมผ่อนปรนระบบการเมืองของตนมากขึ้น
แม้ในบางประเทศจะยังคงมีการปราบปรามผู้ประท้วง แต่การจะอยู่ในอำนาจอย่างแข็งขืนโดยไม่ปรับตัวเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับพวกเขา
กระแสปฏิวัติประชาธิปไตยพัดแรงในตะวันออกกลาง จนต้องกล่าวว่า พ.ศ.2554 เป็นปีทองของการสร้างประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง
น่าคิดเล่นๆ ว่า หากการเรียกร้องประชาธิปไตยของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งใช้สัญลักษณ์แทนได้ด้วย "คนเสื้อแดง" นั้น เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2554 นี้ กระแสประชาธิปไตยในตะวันออกกลางจะช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นได้หรือไม่?
แน่นอนว่าในความเป็นจริง ไม่มีใครย้อนประวัติศาสตร์ได้ การต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงขึ้นสู่กระแสสูงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2552 และก็จบลงด้วยการถูกล้อมปราบ การปราบปรามที่เกิดขึ้นในปี 2552 ทำให้บรรดาชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยม มั่นใจอย่างมากจากการโหมโฆษณาอย่างหนักว่า ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงได้ประสบความพ่ายแพ้ทางการเมืองไปแล้ว เพราะถูกสร้างภาพลบในรูปแบบต่างๆ จนไม่น่าจะหวนกลับมามีบทบาททางการเมืองได้ หรือถ้าจะยังมีบทบาทได้ ก็คงเป็นเพียงกลุ่มย่อยๆ ที่ไม่มีพลังในทางการเมืองในระดับชาติแต่อย่างใด
ผลเช่นนี้ทำให้เกิดการประเมินว่า ความพ่ายแพ้ทางการเมืองในเทศกาลสงกรานต์ 2552 จะทำให้แกนนำกลุ่มนี้ไม่สามารถปลุกระดม จัดตั้ง หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองได้มากนัก
แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับเป็นตรงกันข้าม แม้จะใช้การโหมโฆษณาโจมตีอย่างหนักหน่วง แต่ขบวนการของกลุ่มเสื้อแดงก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
เร็วจนทำให้ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยมเองอยู่ในอาการ "ตกใจกลัว" อย่างมาก
เพราะเท่ากับบอกว่าการดำเนินการในทุกรูปแบบหลังจากความสำเร็จของการล้อมปราบนั้น แทบไม่เป็นผลแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อเกิดการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในเทศกาลสงกรานต์ 2553 มาตรการล้อมปราบจึงถูกยกระดับขึ้น
ยิ่งการชุมนุมของคนเสื้อแดงขยายตัวมากเท่าใด บรรดาชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยมก็ยิ่งหวาดกลัวมากเท่านั้น สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้แตกต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ความกลัวของกลุ่มเหล่านี้มีคำตอบแต่เพียงประการเดียวก็คือ ต้องปราบปรามให้ได้
ทัศนะล้อมปราบในเมืองเช่นนี้วางอยู่บนสมมติฐานง่ายๆ ว่า หากตัดสินใจเคลื่อนกำลังทหารเข้าสู่พื้นที่ชุมนุมแล้ว ผู้ชุมนุมจะกลัวและยอมสลายการชุมนุม (ไม่แตกต่างจากทัศนะในการล้อมปราบที่กองทัพรัสเซียกระทำกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในบูดาเปสต์ในช่วงต้นของยุคสงครามเย็น)
แต่ถ้าไม่กลัว คำตอบที่ชัดเจนก็คือ จะต้องใช้มาตรการของการปราบปราม
น่าสนใจในเชิงข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยที่ตัดสินใจใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือกรณีพฤษภาคม 2535 นั้น อยู่รอดได้เพียงไม่กี่วันก็ถูกกดดันให้ต้องยุติบทบาทลง แม้รัฐบาลขวาจัดที่เกิดขึ้นจากการล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็อยู่ได้เพียง 1 ปีเท่านั้น และก็ถูกโค่นล้มลงในเวลาต่อมา
แต่สำหรับรัฐบาลปัจจุบันได้ใช้มาตรการการล้อมปราบมาแล้วถึง 3 ครั้ง (สงกรานต์ 2552, สงกรานต์ 2553, พฤษภาคม 2553) ก็ยังอยู่ในอำนาจได้
ว่าที่จริง ความอยู่รอดของรัฐบาลหลังการล้อมปราบใหญ่ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร เพราะนับจากรัฐประหาร 2549 แล้ว ชนชั้นนำและผู้นำทหารเชื่อมั่นว่า มาตรการต่างๆ นับตั้งแต่การยึดอำนาจ ยึดทรัพย์ และปราบปรามสามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกังวลกับการวิพากษ์วิจารณ์
เนื่องจากในด้านหนึ่งพวกเขาใช้ "กระบวนการสร้างความเป็นศัตรู" ให้เกิดขึ้นภายในรัฐเช่นในยุคสงครามเย็นและผสมผสานกับวาทกรรมร่วมสมัย ผู้ต่อต้านรัฐบาลจึงกลายเป็น "ผู้ก่อการร้าย"
อีกทั้งกระบวนการเช่นนี้ได้รับความสนับสนุนอย่างดีจากชนชั้นกลางในเมือง สื่อ ปัญญาชน และบรรดาผู้นำเอ็นจีโอ ตลอดรวมถึงบรรดากลุ่มอนุรักษนิยมที่ปรากฏตัวในรูปแบบที่หลากหลาย
พวกเขาเหล่านี้ตัดสินใจยืนบน "อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง" (Antipolitics Ideology) ที่มองเห็นแต่ด้านลบของประชาธิปไตย จนกลายเป็นความเกลียดชังต่อนักการเมือง และเชื่อมั่นว่าผู้นำที่ดีจะต้องมาจากการคัดสรรของพวกเขา ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจทางการเมือง (กลับไปสู่วาทกรรมก่อนยุค 2475)
กลไกสำคัญนอกจากจะใช้การปราบปรามจากทหารแล้ว กลไกตุลาการหรือถูกเรียกอย่างผิดๆ ว่า "ตุลาการภิวัตน์" นั้น กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อใช้ในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม และอาจจะใช้ได้ผล เพราะฝ่ายต่อต้านรัฐบาลถูกทำให้เป็น "ผู้กระทำผิดกฎหมาย" ในทุกกรณี
(ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า กระบวนการตุลาการภิวัตน์ ที่แท้จริงหมายถึง การใช้กลไกตุลาการเพื่อพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ใช่การใช้กลไกนี้เพื่อการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน/ฝ่ายค้านในทางกฎหมาย)
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ บทบาทของปัจจัยต่างประเทศ แม้ในเวทีสากล ข่าวสารเรื่องการล้อมปราบของรัฐบาลและกองทัพไทยจะกระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง และก่อให้เกิดภาพลบอย่างมากต่อรัฐบาล กองทัพ และสถาบันที่สำคัญของไทย
แต่ดูเหมือนพวกเขาไม่ต้องกังวลกับปัญหาเช่นนี้ ตราบเท่าที่รัฐบาลของรัฐมหาอำนาจยังคงให้ความสนับสนุนต่อรัฐบาลและกองทัพไทยต่อไป
น่าคิดเล่นๆ ว่า ถ้ารัฐบาลวอชิงตันตัดสินใจแทรกแซงการปราบปรามที่กรุงเทพฯ เหมือนกับในกรณีของลิเบียแล้วอะไรจะเกิดขึ้น แต่เนื่องจากสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างวอชิงตันกับชนชั้นนำและผู้นำทหารไทย โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นตัวแบบลิเบียจึงเป็นไปได้ยาก...หรือรัฐบาลตะวันตกก็ "สองมาตรฐาน" ในกรณีเช่นนี้ ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่สำคัญของพวกเขาคืออะไรต่างหาก
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลมหาอำนาจตะวันตกบางประเทศอาจจะกังวลว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กรุงเทพฯ จะลดอิทธิพลของพวกเขาในไทยลง เพราะรัฐบาลใหม่อาจจะหันไปมีความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียมากขึ้น แทนที่จะต้องยึดโยงอยู่กับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับตะวันตกเท่านั้น ซึ่งปัญหาเช่นนี้ก็คือ ปัญหาการเรียกร้องประชาธิปไตยไทยที่ผูกโยงอยู่กับเงื่อนไขของการเมืองระหว่างประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ปัญหาคนเสื้อแดงในบริบทการเมืองของรัฐมหาอำนาจนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น และขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนและไร้เสถียรภาพทางการเมืองก็มีมากขึ้น ซึ่งก็คือการรอคอยเพื่อพิสูจน์ว่า "อำนาจรัฐเกิดจากมวลชน" เช่นในตะวันออกกลาง หรือจะเชื่อวาทกรรมอีกชุดว่า "อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน (สไนเปอร์)" เท่านั้น
ปัญหาก็คือ ถ้าเชื่อในวาทกรรมชุด "สไนเปอร์" แล้ว ชนชั้นนำ ทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยมไทยจะล้อมปราบได้อีกกี่ครั้ง
แต่ถ้ายังมีสติหลงเหลืออยู่ ลองตรองด้วยปัญญา (ถ้าจะยังพอมี) ดีกว่าไหมว่า
ถึงเวลาที่จะต้องพาการเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติแล้วหรือยัง
หรือจะต้องรอให้เป็นตูนิเซีย อียิปต์ หรือลิเบียเสียก่อน จึงจะตอบได้!
++
ชนชั้นกลางในการเมืองไทย : พันธมิตรหลักของชนชั้นนำ
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1552 หน้า 36
"ในสังคมที่ประชาชนบางส่วนมีความมั่งคั่งอย่างล้นเหลือ
และประชาชนอีกส่วนหนึ่งไม่มีอะไรเลย
ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ ถ้าสังคมไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่
สังคมนั้นก็เป็นคณาธิปไตยอย่างสมบูรณ์"
อริสโตเติล
Politics
หนังสือปรัชญาการเมืองตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มักจะกล่าวถึงความสำคัญของชนชั้นกลาง ในฐานะการเป็นองค์ประกอบทางชนชั้นที่จำเป็นสำหรับกระบวนการสร้างประชาธิปไตย
หนังสืออย่างเรื่อง "การเมือง" ของอริสโตเติล นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญทั้งของโลกและของกรีกในยุคโบราณ (มีชีวิตในช่วง 384-322 ปีก่อนคริสตกาล) ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนเช่น "ประชาคมการเมืองที่ดีที่สุดก็คือ
ประชาคมที่อยู่ในความควบคุมของชนชั้นกลาง และชนชั้นกลางมีจำนวนมากกว่าชนชั้นอื่น" โดยเฉพาะอย่างยิ่งอริสโตเติลได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าสังคมมีคนยากจนมาก สังคมนั้นจะประสบปัญหาทางการเมืองและสังคม
ในกรณีของการเมืองไทยเอง เรามักจะกล่าวถึงบทบาทของชนชั้นกลางที่ขยายตัวมากขึ้น และเห็นได้ชัดเจนนับตั้งแต่เหตุการณ์ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา
การปฏิวัติของนักศึกษาไทยส่วนหนึ่งถูกมองว่าเป็นผลผลิตทางการเมืองของชนชั้นกลาง ที่ถูกสร้างขึ้นจากการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย นับตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมีจุดเริ่มต้นมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรก ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการสร้างและพัฒนาการของชนกลางควบคู่กันไปกับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ
ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชนชั้นกลางที่ถือกำเนิดขึ้นนั้น มีความเปราะบางทางการเมือง โดยเฉพาะจากปัญหาความมั่นคง หรือในเรื่องของภัยคุกคาม ซึ่งอารมณ์และความรู้สึกเช่นนี้แหละที่เป็นพลังขับเคลื่อนการเมืองในหลายๆ ประเทศมาแล้ว
ดังเช่นตัวแบบในกลุ่มประเทศในละตินอเมริกาว่า ถ้าชนชั้นกลางเกิดความกลัวเมื่อใด พวกเขาก็อาจจะหันไปสนับสนุนการปกครองของฝ่ายอำนาจนิยม เพื่อเป็นหลักประกันต่อความมั่นคง
ดังคำกล่าวเปรียบเปรยว่า ชนชั้นกลางพร้อมที่จะเดินไปเคาะประตูค่ายทหาร และเรียกร้องให้ทหารออกมาสู่เวทีการเมือง เมื่อพวกเขารู้สึกถึงการคุกคามของภัยด้านความมั่นคง แต่ถ้าเมื่อใดอารมณ์และความรู้สึกกลัวต่อปัญหาภัยคุกคามลดลงแล้ว พวกเขาก็พร้อมเสมอที่จะหันกลับมาร่วมเป็นผู้โค่นล้มระบอบการปกครองของฝ่ายอำนาจนิยมที่ครั้งหนึ่งพวกเขาลากมาสู่การเมืองได้ไม่ยากนัก
ฉะนั้น สำหรับชนชั้นกลางแล้ว ประชาธิปไตยกับความมั่นคง (ในความหมายของปัญหาภัยคุกคาม) จึงมีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันต่อกัน หรือในอีกด้านหนึ่งก็เป็นภาพสะท้อนถึงความโลเลทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง
การเมืองไทยสมัยใหม่ดูจะสะท้อนภาพของความสำคัญและบทบาทของชนชั้นกลางได้เป็นอย่างดี ในครั้งหนึ่งเมื่อชนชั้นกลางตัดสินใจที่จะเลือกเอา "ความมั่นคงนำประชาธิปไตย" อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ที่ประเทศต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงครั้งใหญ่สุดจากเหตุการณ์ในอินโดจีนในปี 2518
ความกลัวภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์จากอินโดจีน จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชนชั้นกลางเข้าร่วมกับชนชั้นนำไทย ตัดสินใจยุติระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เกิดตั้งแต่ปี 2516 อันอาจกล่าวได้ว่า
ความกลัวจากปัญหาความมั่นคงทำให้ชนชั้นกลางไทย มองไม่เห็นผลได้จากการเมืองระบบเปิด การเมืองในระบบนี้ถูกตีความว่า เป็นความอ่อนแอ และเปิดโอกาสให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้รับชัยชนะในสงครามภายในได้
ความกลัวในปัญหาภัยคุกคามเช่นนี้ ก็ดูจะไม่ต่างกับการขยายตัวของกระแสขวาในยุโรป หลังจากความสำเร็จของเลนินในการปฏิวัติรัสเซีย และความกลัวดังกล่าวขึ้นสู่กระแสสูง และกลายเป็นปัจจัยผลักดันให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนี
จนเกิดทฤษฎีที่มองว่า การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ในเยอรมนี ก็คือปฏิกิริยาของชนชั้นกลางต่อความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์นั่นเอง
ลักษณะเช่นนี้ อาจเทียบเคียงได้กับปฏิกิริยาของชนชั้นกลางไทยในปี 2519 ด้วย
ในทางกลับกัน เมื่อความกลัวลดลงจนไม่กลายเป็นกระแสหลักในหมู่ชนชั้นกลาง การยอมรับต่อการเมืองในระบบเปิด ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ในสภาวะเช่นนี้ ปัญหาภัยคุกคามด้านความมั่นคงถูกมองว่า ไม่ใช่ปัญหาหลักที่จะทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพและความมั่นคง จนจำเป็นต้องยกเลิกการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในเงื่อนไขเช่นนี้ ชนชั้นกลางยอมรับและหันกลับไปสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น การเลือกตั้งได้รับการยอมรับว่าเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดที่จะใช้ต่อสู้และเอาชนะสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์ในชนบท
สภาพดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดในปี 2532-2533 ประเทศที่เคยอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม ล้วนแต่ก้าวสู่ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเกือบทั้งสิ้น ประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลักของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นที่น่าสนใจในกรณีนี้ก็คือ หลังจากการยุติของสงครามเย็นแล้ว ไม่มีภัยคุกคามทางทหารดังเช่นในอดีตหลงเหลือให้ชนชั้นกลางต้องกังวล ชนชั้นกลางจึงกลายเป็น "โปรโมเตอร์" ใหญ่ของระบอบประชาธิปไตย หรือในบางประเทศ พวกเขาแสดงบทบาทเป็น "ฮีโร่" ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ฉะนั้น เมื่อเกิดความพยายามที่จะทำให้ระบบการเมืองไทยถอยกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมด้วยการรัฐประหารในปี 2534 และต่อมาก็กลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2535 จึงไม่มีเหตุผลที่ชนชั้นกลางจะให้ความสนับสนุนรัฐบาลที่พยายามอ้างถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคงเช่นในปี 2518-2519
วิกฤตการณ์ทางการเมืองของระบอบอำนาจนิยมไทยในปี 2535 จึงเกิดขึ้นภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และประชาธิปไตย ที่ถูกขับเคลื่อนให้ขึ้นสู่กระแสสูงหลังจากการพังทลายของระบอบการปกครองของลัทธิสังคมนิยม ประกอบกับระบอบอำนาจนิยมไทยเองก็ไม่ได้มีความเข้มแข็งเท่าใดนัก
ผลก็คือ การพังทลายอย่างไม่เป็นท่าของรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทหาร (แตกต่างกับกรณีเทียนอันเหมินของจีนอย่างมาก ที่ยุติลงด้วยชัยชนะของรัฐบาล)
อย่างไรก็ตาม ประเด็นในข้างต้นชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างภัยคุกคามกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า เมื่อภัยคุกคามในทัศนะของพวกเขาขึ้นสู่กระแสสูง หรือถูกมองว่าภัยดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้น ชนชั้นกลางก็พร้อมที่จะเข้าร่วมกับชนชั้นนำเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ไปสู่การเมืองแบบที่พวกเขาเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความมั่นคงมากกว่า
หรือพร้อมที่จะยอมรับระบอบอำนาจนิยมในการรักษาความมั่นคงทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา
แต่เมื่อใดก็ตาม ที่ปัญหาภัยคุกคามลงสู่กระแสต่ำ การจะหวังให้พวกเขาออกมาแสดงการสนับสนุนระบบอำนาจนิยมที่เคยค้ำจุนความมั่นคงในแบบเดิม ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ในอีกด้านหนึ่งก็คือ ทัศนะต่อการแสวงหาระบบการปกครองเพื่อสร้างความมั่นคงได้เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ การเมืองไทยในยุคหลังสงครามเย็นไม่ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามขนาดใหญ่ ที่สามารถส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ จนทำให้เกิดทัศนะที่เปลี่ยนแปลงในหมู่ชนชั้นกลางถึงความจำเป็นที่ต้องแสวงหาระบอบอำนาจนิยมใหม่
แต่ในปี 2547-2548 เมื่อเกิดการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และปรากฏภาพลักษณ์ของความเป็นฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งมากเกินไป ซึ่งกระแสการต่อต้านมีอยู่สูงในหมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมือง แต่ในสภาวะเช่นนี้ แม้จะเป็นการเมืองที่ไร้ภัยคุกคามทางทหาร ซึ่งไม่น่าจะเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย "วิธีพิเศษ" เพราะการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีนอกเหนือจากกรอบรัฐสภา ย่อมจะนำมาซึ่งปัญหาทางการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ผลจากการโหมการโฆษณาทางการเมืองด้วยเรื่องคอร์รัปชั่น และการเรียกร้องหา "การเมืองสะอาด" ได้ผลักดันให้ชนชั้นกลางกลายเป็นพลังต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น จนกลายเป็นพลังสำคัญในการสนับสนุนรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 และยิ่งมีการโหมกระแสอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองที่ "โกรธและเกลียด" การเลือกตั้งเป็นพื้นฐาน
กระแสถูกโหมคู่ขนานกับการปลุกลัทธิชาตินิยมในปี 2551 ด้วยแล้ว ชนชั้นกลางที่เคยเป็นเสรีนิยมก็กลายเป็นฐานหลักของกลุ่มอนุรักษนิยมได้โดยง่าย และบางส่วนของคนเหล่านี้ได้กลายเป็นปฏิปักษ์ต่อการเลือกตั้งไปเลยก็มี เพราะพวกเขามองเห็นแต่ด้านลบของระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น เมื่อเกิดการขยายตัวของบทบาทของชนชั้นล่างไม่ว่าจะเป็นกรณีสงกรานต์ 2552 จนล่วงเข้าสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2553 แล้ว ก็ดูจะยิ่งชัดเจนว่า ชนชั้นกลางไทยได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรสำคัญกับกลุ่มชนชั้นนำที่กุมอำนาจทางการเมืองในการทำ "สงครามชนชั้น" ต่อสู้กับกลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งมีพื้นฐานมาจากชนชั้นล่างทั้งในเมืองและในชนบทเป็นส่วนใหญ่
จุดยืนทางการเมืองเช่นนี้ อาจจะไม่แปลกอะไร เพราะโดยทัศนะทางชนชั้น พวกเขาพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรกับชนชั้นนำที่มีอำนาจและชนชั้นสูงอนุรักษนิยมอยู่แล้ว และขณะเดียวกัน ก็หวาดหวั่นต่อการเคลื่อนไหวของชนชั้นล่าง
คำอธิบายภาพเหตุการณ์ของการเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาของ กาละแมร์ พัชรศรี ดูจะสะท้อนให้เห็นทัศนะเช่นที่กล่าวแล้วอย่างชัดเจน
"...พอรถเคลื่อนฉันมองลงไปที่ซอยบ้านนายกฯ และซอยใกล้เคียง โอ้!! แม่เจ้า แดงพรึ่บไปหมด ฉันร้องออกมาอย่างลืมตัว เพราะไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อน ขนลุกมาก...ฉันมองไปที่ขบวนที่ถนนรู้สึกกลัวอย่างบอกไม่ถูก คำว่าอกสั่นขวัญหายมาเข้าใจก็วันนี้ ขนลุก อยากร้องไห้...บอกตรงๆ ฉันไม่กล้ามองไปที่ผู้ชุมนุมที่อยู่บนรถมากนัก ฉันยอมรับว่าฉันกลัว..." (มติชนสุดสัปดาห์, 26 มี.ค.-1 เม.ย. 2553, หน้า 75)
เรื่องราวเช่นนี้กำลังกลายเป็น "ความท้าทาย" ทางการเมืองต่อชนชั้นกลาง เช่นเดียวกับที่สถานการณ์กำลังเป็น "ปัญหาชนชั้น" มากขึ้นเรื่อยๆ หรือวันนี้คำว่า "การต่อสู้ทางชนชั้น" กำลังปรากฏเป็นจริง ซึ่งก็โชคดีว่าเป็นการปรากฏขึ้นในสังคมไทยหลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว
แต่ก็มิได้หมายความว่าการไม่มีคอมมิวนิสต์จะทำให้ชนชั้นกลางในปัจจุบันเป็นอนุรักษนิยมน้อยลงแต่อย่างใด!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย