.
"พระเจ้าทันใจ" คือพระธรรมไชย ความสำเร็จที่เราสร้างเอง
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 77
ในวัฒนธรรมล้านนา มีพระพุทธปฏิมาอยู่ประเภทหนึ่งชื่อ "พระเจ้าทันใจ" (คนเหนือเรียก "ผะเจ้าตันใจ๋") เชื่อกันว่าใครทำอะไรแล้วติดขัดคับข้อง ต้องไปกราบขอพรจากพระเจ้าทันใจ พลันความปรารถนานั้นจักสำเร็จลุล่วงดั่งใจประสงค์
พระเจ้าทันใจมีคติความเป็นมาอย่างไร ช่วยประทานพรให้ผู้ขอที่ตกทุกข์ได้ยาก ยามบ้านเมืองวิกฤติข้าวยากหมากแพงได้จริงล่ะหรือ
ถ้าเช่นนั้น "พระเจ้าทันใจ" ก็ทำหน้าที่คล้ายกับพระคเณศร์ของพราหมณ์ หรือพระสยามเทวาธิราชของชาวพุทธรัตนโกสินทร์
ยิ่งความทุกข์ระทมไม่สมหวังของผู้คนในสังคมพรั่งพรูสูงขึ้นเท่าใด กระแสความนิยมในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ก็พุ่งพรวดมากยิ่งขึ้นอย่างน่าใจหาย
พระเจ้าทันใจ
ทำไมต้องตั้งทางทิศตะวันตก?
ความเชื่อเรื่อง "พระเจ้าทันใจ" เริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ยังไม่มีนักวิชาการท่านใดให้ข้อสรุป แต่ที่แน่ๆ หลักฐานที่เห็นเป็นประติมากรรม ทั้ง "รูป" และ "นาม" พบว่าคติการสร้างพระเจ้าทันใจมีมาแล้วอย่างแพร่หลายในสมัยล้านนาตอนต้นราว 700 ปีที่ผ่านมา
ทำให้น่าขบคิดว่าล้านนารับอิทธิพลนี้มาจากไหน...มอญ ขอม แขก จีน ลาว พม่า
หรือล้านนาคิดขึ้นเอง?
พระเจ้าทันใจในล้านนามีร่วมร้อยองค์พบได้ทั่วไปในหลายจังหวัด แต่พระเจ้าทันใจองค์สำคัญที่คนทั่วไปรู้จักมากที่สุด คือ "พระเจ้าทันใจวัดพระธาตุแช่แห้งเมืองน่าน"
ตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นพร้อมกับตัวองค์พระบรมธาตุแช่แห้งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ต่อมามีการซ่อมบูรณะองค์พระปฏิมาถึงสามครั้ง
พระเจ้าทันใจที่ชาวล้านนาให้ความเคารพยิ่งอีกองค์หนึ่ง แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมักคุ้นนัก ทว่า นักวิชาการยังเชื่อว่าน่าจะเป็นต้นแบบในการสร้างพระเจ้าทันใจให้แก่วัดอื่นๆ ก็คือ "พระเจ้าทันใจวัดพระธาตุหริภุญไชย" ลำพูน เป็นพระพุทธปฏิมาสำริดประทับยืนปางอุ้มบาตร (ล้านนาเรียก "อุ้มโอ") ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารพระเจ้าทันใจ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกด้านหลังขององค์พระบรมธาตุเจดีย์
น่าเสียดายที่คนทั่วไปไม่รู้จักพระเจ้าทันใจองค์นี้ เหตุเพราะพระปฏิมาองค์งามตั้งอยู่ในซุ้มติดผนังด้านหลังสุด จึงถูกบดบังถึงสองชั้น
ชั้นแรกคือแถวพระพุทธรูปประทับยืน 7 องค์เรียงรายทำขึ้นในช่วงไม่เกิน 15 ปี
ชั้นที่สองด้านหน้าสุดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบทิเบต-เนปาลองค์ใหญ่โตที่สร้างขึ้นในยุคสมัยใหม่ไม่นานเช่นกัน ทำให้ผู้คนที่เข้ามาในพระวิหารหลังนี้มักมองไม่เห็นพระเจ้าทันใจองค์แท้ดั้งเดิม
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไมพระเจ้าทันใจต้องตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเสมอ อันเป็นทิศหลบมุมอยู่ด้านหลังขององค์พระเจดีย์ ไม่เพียงแต่ที่วัดพระธาตุหริภุญไชยหรือวัดพระธาตุแช่แห้งเท่านั้น แต่วัดสำคัญๆ หลายแห่ง เช่น วัดพระยืน ลำพูน วัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดพระธาตุเสด็จที่ลำปาง ต่างก็มีวิหารพระเจ้าทันใจตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกทั้งสิ้น
ยกเว้นแต่วัดที่มีการต่อเติมเสริมวิหารขึ้นใหม่ในยุคหลัง เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพ วิหารพระเจ้าทันใจจึงถูกยักย้ายวางไว้ทิศอื่น
ทิศตะวันตกมีวิหารพระเจ้าทันใจ แล้วอีกสามทิศมีวิหารอะไร คติการสร้างวิหารประจำทิศทั้งสี่ เปรียบเสมือนกับทวีปทั้งสี่ที่ตั้งล้อมรอบเขาพระสุเมรุ แทนสัญลักษณ์ได้ดังนี้
ทิศตะวันออก เป็น พระวิหารหลวง หมายถึง บูรพวิเทหทวีป
ทิศใต้ เป็น วิหารพระพุทธ หมายถึง ชมพูทวีป
ทิศตะวันตก เป็น วิหารพระเจ้าทันใจ หมายถึง อมรโคยานทวีป
ทิศเหนือ เป็น วิหารพระละโว้ หมายถึง อุตรกุรุทวีป
ส่วนพระเจดีย์ประธานนั้นเป็นการจำลองพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า บ้างก็ว่าเป็นตัวแทนของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล
ถ้าเช่นนั้น วิหารพระเจ้าทันใจที่ถูกกำหนดให้สร้างอยู่ทิศตะวันตก ซึ่งเปรียบได้ดั่งอมรโคยานทวีปนี้ น่าจะมีเรื่องราวอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของบางเหตุการณ์ที่สำคัญในอมรโคยานทวีปหรือไม่ ประเด็นนี้ยังไม่เคยมีการศึกษา
แต่หากจะให้มองถึงการนำพระเจ้าทันใจไปไว้ยัง "ทิศด้านหลัง" ของพระเจดีย์ประธาน ก็น่าจะสะท้อนนัยอะไรบางอย่างแห่งการเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง กล่าวคือตั้งอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้านฝ่ายสนับสนุน ไม่ใช่พื้นที่ของฝ่ายผู้มีอำนาจชี้นำ
เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้าน
ทดสอบพลังศรัทธาชุมชน
คติการสร้างพระเจ้าทันใจ ถือเป็นกุศโลบายที่แยบยลยิ่งในการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มีโอกาสร่วมสร้างองค์พระปฏิมาด้วยตนเอง แต่สามารถนำมาวางให้คนกราบไหว้ในเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ แม้จะอยู่เบื้องหลังองค์พระธาตุเจดีย์ก็ตาม
โดยปกติแล้วการจะสร้างพระพุทธรูปสักองค์หนึ่งเพื่อประดิษฐานในวิหารของวัดนั้น ผู้มีส่วนอุปถัมภ์ในการสร้างทั้งด้านออกแบบและจัดหาวัสดุมักเป็นภาระของเจ้าอาวาสและสล่า (ช่าง) เอกเท่านั้น
การดำริสร้างพระเจ้าทันใจมิใช่ว่าจู่ๆ เจ้าอาวาสของวัดนึกจะสร้างก็บอกบุญเรี่ยไร หากแต่ต้องเกิดจากเงื่อนไขและปัจจัยท้าทายเป็นตัวกระตุ้น
เช่น ชุมชนนั้นๆ มีความประสงค์จะบูรณะสถูป มหาวิหาร สร้างเหมืองฝายให้เสร็จก่อนฤดูพรรษาแต่ยังขาดงบฯ หรือแม้กระทั่งถูกเกณฑ์ให้ไปออกรบ
ผู้นำชุมชนทั้งฝ่ายวัดและฝ่ายบ้าน มองเห็นว่าวิธีที่จะเสริมกำลังใจให้ชาวบ้านที่ยังวิตกกังวลว่าพวกตนจะร่วมมือกันทำ "งานใหญ่" ได้สำเร็จหรือไม่นั้น มีอยู่เพียงสถานเดียว คือต้องหาทางให้พวกเขาเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองเสียก่อน จึงเริ่มต้นเสี่ยงทายอธิษฐานจิตด้วยการสร้าง "พระเจ้าทันใจ" เพื่อวัดพลังศรัทธาอันเป็นความสำเร็จในเบื้องต้น
ถือเป็นการประเมินศักยภาพของหมู่คณะทั้งด้านมันสมอง กำลังทรัพย์ และแรงงานว่าจะมีความพร้อมเพรียงมากน้อยแค่ไหน
เพราะหากปราศจากความร่วมมือร่วมใจแล้ว งานก่อสร้างขนาดใหญ่ย่อมไม่สำเร็จอาจค้างคา หรือการออกไปรบทัพจับศึกนั้นย่อมพ่ายแพ้กลับมา
เงื่อนไขของการสร้างพระเจ้าทันใจจึงถูกบีบด้วย "ระยะเวลาอันจำกัด" อย่างที่สุด ต้องสร้างให้เสร็จภายในวันเดียวก่อนพระอาทิตย์ตกดิน คนโบราณมักยึดถือเอาตั้งแต่ฟ้าสางของวันนั้นจวบยามย่ำสนธยา หรือประมาณหกโมงเช้าถึงหกโมงเย็น
บรรยากาศที่กดดันเช่นนี้ เชื่อว่าทุกคนย่อมทุ่มเทชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
ในด้านวัสดุนั้นไม่จำกัดประเภท เท่าที่พบมักหล่อด้วยสำริดมากกว่าวัสดุอื่น เพราะสะดวกต่อการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ชาวบ้านร้านตลาดที่ผ่านไปมาแม้ไม่มีฝีมือในการสร้างพระ ขอแค่มีศรัทธาก็อาจปลดเข็มขัดทองเหลืองหรือสร้อยนากสักเส้นสองเส้นลงในเบ้าหล่อพระพุทธรูป ถือว่าเป็นการร่วมบุญอย่างสูงสุดแล้ว
อีกทั้งไม่มีข้อจำกัดในด้านสัดส่วน พระเจ้าทันใจที่พบหลายแห่งมักมีขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่โตเกินไปนัก และฝีมือการหล่อมักไม่ค่อยประณีตสวยงามเท่าที่ควร เหตุเพราะต้องสร้างแข่งกับกาลเวลาอันบีบรัดด้วยความเร่งรีบ
ยกเว้นพระเจ้าทันใจที่วัดพระยืนนั้นมีขนาดใหญ่มาก อาจเป็นเพราะทำด้วยปูนหุ้มโครงอิฐไว้ภายใน ไม่ได้หล่อสำริดเหมือนวัดอื่นๆ หรือ "พระเจ้าทันใจ" วัดพระธาตุหริภุญไชยก็ถือว่ามีพระพักตร์วิจิตรงดงาม แทบไม่น่าเชื่อว่าหล่อสำเร็จภายในวันเดียว หรืออาจเป็นเพราะว่าวัดนี้เป็นวัดหลวง ชาวบ้านชาวเมืองจึงทุ่มเทแรงศรัทธาสุดชีวิต
ในด้านพุทธศิลปะนั้นไม่มีการระบุปาง ด้วยเหตุนี้ "พระเจ้าทันใจ" จึงมิได้มีพุทธลักษณะตายตัวเพียงแบบเดียว พบทั้งประทับนั่ง-ประทับยืน ขึ้นอยู่กับรสนิยม ความพร้อม ความต้องการ และความสะดวกของแต่ละชุมชน
กล่าวให้ง่ายก็คือ รูปแบบค่อนข้างฟรีสไตล์ขอให้เสร็จภายในหนึ่งวันเท่านั้น หากสร้างพระพุทธรูปไม่สำเร็จตามเป้าหมาย เหตุเพราะขาดความร่วมแรงร่วมใจ โปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ที่วาดหวังไว้ก็พังพินาศตั้งแต่นะโม จงเลิกล้มความฝันนั้นลงเสีย
แต่หากสำเร็จ พระพุทธรูปองค์นั้นจักได้ขึ้นชื่อว่า "พระเจ้าทันใจ" คนในชุมชนเกิดกำลังใจที่ฮึกเหิม เพิ่มความมั่นใจว่าจักสามารถฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาใดๆ ให้ลุล่วงได้โดยง่ายทันที จากนั้นชาวบ้านมักอัญเชิญพระเจ้าทันใจไปประดิษฐานไว้ในวิหารทางทิศตะวันตกที่แยกออกมาจากวิหารหลวงของวัดที่อยู่ใกล้ชุมชนนั้นๆ
"พระเจ้าทันใจ" จึงถือว่าเป็นพระพุทธปฏิมาที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในทุกขั้นตอน นับแต่การดำริที่จะสร้าง กระบวนการเชิงช่าง จนถึงพลังใจที่เฝ้าลุ้นหน้าดำคร่ำเคร่งอยู่ข้างเตาหลอมจนสำเร็จ
คงไม่ผิดนักหากกล่าวว่าพระเจ้าทันใจเป็น "พระพุทธรูปของชาวบ้าน" อย่างแท้จริง
พระเจ้าทันใจ-พระเจ้าทันจิต
เมื่อพระเจ้าทันใจกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ทำให้วัดหลายแห่งทั้งในล้านนาและภาคกลางเกิดความนิยมตั้งชื่อพระพุทธรูปบางองค์ที่ไม่ได้มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องอันใดกับการสร้างขวัญ-กำลังใจของคนในชุมชน ว่า "พระเจ้าทันใจ" เลียนแบบ
เช่น กรณีของวัดหม้อคำตวงที่เชียงใหม่ มีพระเจ้าทันใจอยู่องค์หนึ่ง แต่จากการสัมภาษณ์เจ้าอาวาสได้ความว่า พระเจ้าทันใจที่นี่ได้มาจากรัฐฉานในพม่าสมัยที่พระญากาวิละกวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆ ให้มาตั้งถิ่นฐานเมื่อ 200 ปีก่อน
เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ไม่เคยมีชื่อ แต่เมื่อชาวบ้านพากันมาอธิษฐานจิตขอพรให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็เป็นไปตามความประสงค์ ไปๆ มาๆ ก็เกิดการเรียกชื่อว่า "พระเจ้าทันใจ" เอาอย่าง
โปรดระวัง เมื่อไปพบพระเจ้าทันใจวัดใดก็ตาม อย่าเพิ่งรีบปักใจเชื่อว่าได้พบ "พระเจ้าทันใจ" แล้ว เพราะแม้แต่พระเจ้าทันใจเอง ก็ยังมีทั้งองค์แท้และองค์ที่ลอกเลียนชื่อ!
นอกจากพระเจ้าทันใจ พระภิกษุรูปหนึ่งในวัดพระธาตุหริภุญไชยเล่าว่า ยังเคยมีพระพุทธรูปชื่อละม้ายกันว่า "พระเจ้าทันจิต" อีกองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย เคยประดิษฐานอยู่เคียงคู่กันกับพระเจ้าทันใจในพระวิหารวัดพระธาตุหริภุญไชย
กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเคลื่อนย้ายไปที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ในสมัยที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาตรวจราชการมณฑลพายัพเมืองลำพูนในปี พ.ศ.3469
พระเจ้าทันจิต สร้างด้วยคติความเชื่อใด เหมือนหรือแตกต่างกับพระเจ้าทันใจ เชื่อว่าไม่เคยมีใครศึกษา แต่ชาวล้านนารุ่นก่อนที่อายุไม่ต่ำกว่า 90 ปี เคยเห็นพระเจ้าทันจิต ยังคงโศกาดูรละห้อยหา เพียรฝากถามอยู่เนืองๆ ถึงชะตากรรมของพระเจ้าทันจิตองค์นั้น ว่ายังคงอยู่รอดปลอดภัยในวัดพระแก้วหรือมีการย้ายถิ่นฐานใหม่ไปอยู่แห่งหนไหนหรือไม่
ตามหาจุดกำเนิดพระเจ้าทันใจ
แม้ว่ายุคหริภุญไชยจะไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเคยมีการสร้างพระเจ้าทันใจหรือไม่ แต่ก็มีเค้าบางอย่างที่พอจะเชื่อมโยงชี้ให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องทำนองเดียวกันกับพระเจ้าทันใจนี้ตั้งแต่ยุค 1,400 ปีก่อน ดังเช่นเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในตำนานหลายฉบับ ตอนกล่าวถึงพระนางจามเทวีเสด็จมาจากกรุงละโว้สู่ลำพูน ในแรมทางชลมารคหลายครั้งคราต้องพบกับอุปสรรคกลางแม่น้ำปิงช่วงบริเวณเมืองตากขึ้นสู่เมืองลี้ เนื่องจากบริเวณนั้นเต็มไปด้วยเกาะแก่งเชี่ยวกราก แถมยังมีโขดเขินเนินผาสูงชันไพรชัฏ
เรือพระที่นั่งหลงวนเวียนอยู่ในหุบเขาวงกตหลายรอบไม่พบทางออก พระนางจึงตั้งจิตอธิษฐานขอบุญญาบารมีของพระรัตนตรัย โดยให้ไพร่พลช่วยกันกุลีกุจอหาดินมาปั้นสร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งแล้วบวงสรวง ณ จุดที่พบอุปสรรคทุกครั้ง
เมื่อถึงทางตัน ต้องรวบรวมพลังทางใจเพื่อหาทางออก หรือว่านี่คือจุดกำเนิดของการสร้าง "พระเจ้าทันใจ"?
พระธรรมไชย
แผลงเป็นพระเจ้าทันใจ?
หากวิเคราะห์เชิงนิรุกติศาสตร์แล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่า "พระเจ้าทันใจ" อาจแผลงมาจาก "พระ (เจ้า) ธรรมไชย" ด้วยอ่านตามการเขียนแบบใส่การันต์ว่า "ธรรม์ไชย" ก็จักกลายเป็น "ทันใจ" ในภาษาล้านนาพอดีเพราะตัว "ไชย" ออกเสียงว่า "ใจ"
"พระธรรมไชย" หรือ "พระเจ้าธรรม์ไชย" แปลว่า "ชัยชนะแห่งพระธรรม" นามนี้ปรากฏอยู่ในบทสวดชุมนุมเทวดา ใช้สวดในขณะที่มีการหล่อพระพุทธรูปองค์สำคัญ คาถาบทนี้มีการกล่าวถึง "พระธรรมไชย" ว่าเป็นเทวดาองค์หนึ่งผู้มีความปรารถนาจะร่วมสร้างพระพุทธรูปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา พระอรหันต์และอินทร์พรหมยมยักษ์ทั้งมวลจึงประทานพรแก่พระธรรมไชยว่าขอให้ประสบความสำเร็จในการหล่อพระพุทธรูปสมความตั้งใจ
หรือว่า "ตัวแทน" ของ "พระธรรม์ไชย" ในเชิงรูปธรรมนั้น แท้ก็คือ "พระเจ้าทันใจ" นี่เอง ทั้งชื่อและความหมายล้วนมีนัยที่สื่อถึงกัน
บรรยากาศของยุคสมัยที่ "ธรรม" ถูกเบียดเบียนเป็นสองมาตรฐานทับถมความทุกข์ของชาวบ้าน ปัญหาปากท้องยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการคลี่คลาย ซ้ำเติมด้วยชนชั้นนำที่ยังขลาดเขลา ประจบประแจงแห่แหนขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเสาะหารูปเคารพของพระสยามเทวาธิราชมาบูชาเพื่อขอให้ช่วยเหลือ กับเสียงสวดอ้อนวอนต่อพระคเณศร์เทพเจ้าของฮินดูผู้ประสาทความสำเร็จยังคงดังกระหึ่ม เพื่อที่จะกลบเกลื่อนเสียงร้องขอความเป็นธรรมในแผ่นดิน
ไฉนผู้คนกลับหลงลืม "พระเจ้าทันใจ" หรือ "ชัยชนะแห่งพระธรรม" ไปเสียสิ้น พระพุทธปฏิมาที่สะท้อนปรัชญาชาวบ้านแบบสัมผัสได้
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นกุศโลบายในการปลุกพลังใจและไฟศรัทธาของมหาชน ว่าในยามพบวิกฤติชีวิตช่วงบ้านเมืองวิบัติ พวกเขาจะรวมตัวกันจะลุกขึ้นต่อสู้หยัดท้ากับอธรรมด้วยพระ "ธรรม์ไชย"
++
ย้อนรอยโศกนาฏกรรมอำพราง "โบสถ์คริสตจักรเวียงเชียงราย" รื้อทำไม ใครสูญเสีย
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1604 หน้า 75
รับทราบข่าวร้อนเรื่องคณะกรรมการโบสถ์คริสต์ที่เชียงรายบางส่วนมีความประสงค์จะรื้อ "โบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย" หลังงามอายุเกือบ 100 ปี เพื่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ใหญ่โตทับที่เดิม ท่ามกลางกระแสคัดค้านของนักอนุรักษ์ทุกฝ่ายที่ช่วยกันออกแรงปกป้องมานานแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ.2552 กระทั่งคณะกรรมการโบสถ์คริสตจักรเชียงรายได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง กรณีที่กรมศิลปากรมีหนังสือขอร้องให้ระงับการรื้อโบสถ์นั้นเสีย โดยอ้างต่อศาลว่าภาครัฐได้ใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพก้าวก่ายมายุ่งเรื่องการพระศาสนา
สองปีผ่านไปศาลปกครองได้ยกฟ้องคดีดังกล่าวด้วยเห็นว่า กรมศิลป์ทำไปตามหน้าที่และโบสถ์หลังนี้คือมรดกของแผ่นดิน
เรื่องราวค้างคาอีนุงตุงนัง กระทั่งกลายมาเป็นข่าวเด่นประเด็นดังอีกครั้ง ในช่วงก่อนวันแรงงานที่ผ่านมาเมื่อทางกรรมการโบสถ์คริสตจักรเชียงรายนัดหารือแกนนำเดินหน้ารื้อโบสถ์ต่อไป โดยไม่อินังขังขอบต่อคำตัดสินของศาลปกครอง
นำไปสู่ไพ่ใบสุดท้ายที่กรมศิลป์จำเป็นต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีข้อหารื้อทำลายโบราณสถานของชาติ
เมื่อหลักรัฐศาสตร์เอาไม่อยู่ หลักนิติศาสตร์จึงถูกขุดนำมาใช้เป็นแผนสอง
พลิกตำนานหมอบริกส์
กว่าจะเป็นโบสถ์คริสเตียน
อีกสามปีข้างหน้า "โบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย" หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกสั้นๆ จนติดปากว่า "โบสถ์คริสต์ประตูสะหลี(สลี)" เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับประตูเมืองทางทิศใต้ที่ปลูกต้นโพธิ์แต่ปัจจุบันประตูรื้อไปแล้ว จะมีอายุครบ 100 ปี (สร้างเมื่อ พ.ศ.2457)
ตำนานความเป็นมาของโบสถ์มีความน่าสนใจไม่แพ้ความงามสง่าของสถาปัตยกรรม เหตุเพราะถือกำเนิดขึ้นเคียงคู่กับการก่อเกิดสภาคริสตจักรเชียงราย
เป็นผลงานการออกแบบของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian Mission) คนดังนาม ศาสนาจารย์ หรือ นายแพทย์วิลเลียม เอ บริกส์ (Dr. William A. Brigs) ผู้ที่ชาวบ้านนิยมเรียกย่อๆ ว่า "หมอบริกส์" หรือ "พ่อเลี้ยงตาดุ" (มีดวงตาใหญ่โตเวลามองคนชอบจ้องเขม็ง) หนึ่งในปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อชาวเชียงรายหลายด้าน
หมอบริกส์เป็นใครมาจากไหน ก่อนอื่นขอเท้าความย้อนกลับไปถึงปี พ.ศ.2431 หรือราวสองทศวรรษก่อนการเดินทางมาเชียงรายของหมอบริกส์ ว่าเคยมีศ าสนาจารย์ดาเนียล แม็กกิลวารี (Dr.Danial McGilvary) ได้ขึ้นมาเผยแพร่คริสต์ศาสนาที่เชียงรายก่อนหน้านั้นแล้ว โดยวางรากฐานก่อตั้งโรงเรียนแห่งแรกในเชียงรายชื่อ บอย สกูล (Boy School) หลังจากที่ท่านสาธุคุณแม็กกิลวารีได้มุ่งมั่นประกาศศาสนธรรมในแถบเชียงใหม่-ลำพูนอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี 2410
กระทั่งถึงยุคของหมอบริกส์ ผู้มีปูมหลังเป็นชาวอเมริกัน เข้ามาสอนศาสนาคริสเตียนในประเทศไทยโดยเริ่มต้นเดินทางมายังสถานมิชชั่นลำปางและแพร่ก่อน กระทั่งในปี พ.ศ.2446 จึงได้เดินทางต่อมายังเชียงรายเพื่อสืบสานงานต่อจากสาธุคุณแม็กกิลวารี
คนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นมิชชันนารีในยุคก่อนนั้น ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ ต้องมีคุณสมบัติอัจฉริยะรอบด้านแบบ 10 อิน 1 คือนอกจากจะเป็นนักธรรมนักเทศน์ผู้แตกฉานในพระคัมภีร์ หรือเป็นนักจิตวิทยา ร้อง-เล่น-เต้น-แต่งดนตรี เอ็นเตอร์เทนคนให้บันเทิงเริงรมย์ได้แล้ว
ยังต้องเป็นทั้งคุณหมอที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้สารพัดโรค แถมยังต้องเก่งเรื่องออกแบบก่อสร้างไปในตัวด้วย เพราะสมัยนั้นตามหัวเมืองยังไม่มีทั้งสถาปนิก วิศวกร
กล่าวให้ง่ายก็คือมิชชันนารีต้องทำหน้าที่หนักหนาสาหัส ไม่เพียงแต่ช่วยเยียวยาจิตวิญญาณของมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังต้องเยียวยาเรื่องปากท้อง สมอง และคุณภาพชีวิตให้ผู้คนอยู่ดีกินดีขึ้นอีกด้วย
ชวนให้นึกถึงมิชชันนารีคณะเยซูอิตที่ถูกส่งมาในราชสำนักอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ต้องทำหน้าที่ทั้งออกแบบก่อสร้างเวียง วัง วัด วงเวียน น้ำพุ จัตุรัส ตัดถนน สะพาน ศาลา โบสถ์คริสต์ โรงเรียนเผยแผ่ศาสนา ฯลฯ
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าภายในตัวเมืองเก่าเชียงรายนั้น มีการตัดถนนที่เป็นระเบียบจำง่าย คล้ายกับผังเมืองของมหานครตะวันตก แถมยังมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นเรียงรายริมทางเท้า
ว่ากันว่ามนต์เสน่ห์กลางเวียงเชียงรายของถนนแบบบูลวาร์ดหลายสายนี้เกิดจากก้อนสมองของหมอบริกส์ด้วยเช่นกัน
แต่กว่าจะได้สิ่งนี้มา ชาวเชียงรายจำต้องยอมแลกด้วยการเปิดไฟเขียวให้หมอบริกส์ยิงเสือจอมโหดทิ้งไปตัวหนึ่งที่คอยคำรามกัดคนตายอยู่แถวกำแพงเมืองเก่าใกล้น้ำแม่กก (แม่กกน้อยช่วงนี้เรียกว่าแม่ลาว)
ข้อสำคัญการวางผังเมืองมาตรฐานในครั้งนั้น ได้มีการรื้อกำแพงเมืองเก่าที่สร้างด้วยอิฐสมัยล้านนาทิ้งไปในปี พ.ศ.2463 โดยหมอบริกส์ให้เหตุผลว่า
"กำแพงเมืองอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม บริเวณประตูเป็นโคลนตม หล่มงู สกปรก เป็นแหล่งหมักหมมเชื้อและพยาธิที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อีกทั้งกำแพงเองก็ปิดกั้นการถ่ายเทของอากาศบริสุทธิ์ ประชาชนไม่ได้รับแสงแดดในการฆ่าเชื้อโรคอีกด้วย"
นั่นคือมุมมองของนักการสาธารณสุขเมื่อ 100 ปีก่อน นักอนุรักษ์ยุคปัจจุบันคงได้แต่ร้องเสียดาย แต่เมื่อพินิจพิเคราะห์ดูแล้ว ก็ยังเห็นว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่ากว่าหลายเมืองที่จู่ๆ ก็ปล่อยให้เทศบาลรื้อกำแพงเมืองฟรีไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับถนนที่ไร้มาตรฐานอีก
ผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่หมอบริกส์ได้ออกแบบก่อสร้างในเมืองเชียงรายมีจำนวนมากนับไม่ถ้วน เฉพาะที่เด่นๆ ได้แก่ อาคารศาลากลางเก่า (ปัจจุบันเป็นสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย) โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค เรือนจำเก่า และโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย ซึ่งกำลังจะถูกรื้อเร็วๆ นี้
คุณูปการที่หมอบริกส์ได้ฝากไว้แก่เมืองเชียงรายเกินคณานับ ทำให้มีชื่อถนนสายหนึ่งสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ท่านชื่อ "ถนนบริกส์แพทย์"
สูญเสียซ้ำซ้อน แต่ยังไม่สาย
โบสถ์คริสต์หลังนี้เคยได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ราวปี พ.ศ.2544 หรือสิบปีก่อนนี่เอง น่าเสียดายที่คณะศรัทธาดำเนินการแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงไม่เฉลียวใจว่าการนำเอาแผ่นหินอ่อนราคาแพงไปกรุอุดปิดทับบริเวณพื้นและผนังตอนล่างรายรอบภายในโบสถ์ หรือการนำเอาอิฐตัวหนอนพร้อมการลาดซีเมนต์ปิดลานพื้นรอบนอกโบสถ์นั้น เป็นการเร่งทำลายโบราณสถานให้ถึงแก่กาลอวสานเร็วยิ่งขึ้น
ไม่ฉุกใจคิดกันบ้างหรืออย่างไรว่า ไฉนอาคารที่มีอายุยืนยาวมาได้กว่า 90 ปีนั้น ก่อนมีการซ่อมครั้งใหญ่ไยจึงคงสภาพเดิมอยู่ได้ จะผุพังก็เพียงแค่แผ่นไม้ที่ใช้ประดับตามหน้าบัน-หอระฆังบางส่วนเท่านั้น อุตส่าห์ระดมทุนบูรณะเสียเลิศหรู แต่หลังจากนั้นไม่ถึงสิบปีกลับยิ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างผิดหูผิดตาเช่นนี้ แสดงว่าต้องมีอะไรที่ผิดปกติ!
ความผิดปกตินี้ เกิดจากความชื้นของน้ำใต้พื้นดินระเหยขึ้นมาทำปฏิกิริยากับปูนกัดกร่อนแท่งเสาและผนังถึงเนื้อในอิฐจนขึ้นเชื้อราและคราบเกลือ อันเป็นภาพที่พบเห็นจนชินตา ไม่ใช่แค่โบสถ์คริสต์หลังนี้เท่านั้น แต่ตามโบสถ์วิหารทั่วไปของชาวพุทธนี่แหละ โดยเฉพาะวัดที่รังเกียจลานทรายหรือลานดินหาว่าสกปรกเลอะเทอะ จึงจัดการเทคอนกรีตปูแผ่นหินขนาดใหญ่อุดทับ พื้นดินตอนล่างอยู่ในสภาพอับทึบไม่มีอากาศหายใจ
เมื่อความชื้นไม่มีทางระบายตามวิถีธรรมชาติ ก็ย่อมหันมาเล่นงานกัดกินกับแท่งเสาจนผุกร่อนเป็นธรรมดา
ถามว่าปัญหาเพียงเรื่องความชื้นจากใต้ดินแก้ไขใหม่ได้ไหม
คำตอบง่ายๆ ก็เพียงแค่คุณสกัดวัสดุหยาบแข็งที่มาบดบังลมหายใจของน้ำใต้ดินทิ้งออกไปเสีย แล้วจัดการเปิดท่อระบายความชื้นด้วยวัสดุที่เหมาะสมใหม่ขึ้นมาทดแทน ก็เท่านั้น
หากทว่า ความคิดเรื่องการรื้อโบสถ์หลังเดิมนั้น มิได้อ้างว่ามีมูลเหตุมาจากความผุกร่อนของโครงสร้างเพียงอย่างเดียวไม่
เหตุผลอีกสองประการที่ถูกนำมาใช้เป็นข้อต่อรองของทุกวัด เมื่อมีแผนจะรื้ออาคารเดิมแล้วสร้างอาคารใหม่มักหนีไม่พ้น
ประการแรก อาคารเก่ามีขนาดเล็กคับแคบ พื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้สอย จำเป็นต้องรื้อแล้วสร้างหลังใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อรองรับคนมาร่วมประกอบศาสนพิธีได้จำนวนมากกว่าเดิม
ประการที่สอง มักอ้างว่าผู้เป็นเจ้าของดูแลโบสถ์นั้นคือเจ้าอาวาส หากเป็นคริสเตียนก็เรียกว่า "ศาสนาจารย์" ซึ่งกรมศิลป์หรือภาครัฐอื่นๆ ไม่มีสิทธิ์มายุ่งเกี่ยว เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ดังนั้นหากทางวัดมีความประสงค์จะรื้อย่อมทำได้โดยฐานะนิติบุคคล
ข้ออ้างทั้งสองข้อนี้ เรามักได้ยินได้ฟังมาอย่างซ้ำซาก ข้อแรกนั้นเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อหลังยิ่งเข้าใจผิดมหันต์
ข้อแรกที่ว่าฟังไม่ขึ้นนั้น เพราะย่อมมีผู้แย้งว่า ทำไมไม่แก้ไขในเชิงปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการใหม่ เช่น จำกัดจำนวนผู้เข้าไปประกอบพิธีกรรมโดยแบ่งเป็นกลุ่มคณะ และกำหนดเวลาเป็นช่วงๆ
หากคิดว่าชาวคริสเตียนเชียงรายเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากในรอบร้อยปีที่ผ่านมา จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องสร้างโบสถ์หลังใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม ก็ใช้สถานที่แห่งอื่นมิได้หรือ ทิ้งโบสถ์หลังนี้ไว้ดุจเดิม บูรณะปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์นำเสนอประวัติความเป็นมาของหมอบริกส์ เมืองเชียงรายจักได้มีแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง
ส่วนข้ออ้างที่สองนั้น คงต้องขอให้ช่วยกันทบทวนเรื่อง "กรรมสิทธิ์ถือครอง" ว่าใครควรเป็นเจ้าของที่แท้จริงของโบสถ์ วิหาร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้างในศาสนา-นิกายใด ประชาชนหรือเจ้าอาวาส (ศาสนาจารย์)?
ปัจจัยที่นำมาใช้ก่อสร้างอาคารล้วนแล้วแต่เป็นเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาทั้งรายใหญ่-รายเล็ก จริงอยู่ในกรณีของโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย อาจได้รับเงินสนับสนุนการก่อสร้างก้อนใหญ่จากองค์กรที่ดูแลคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน หรือสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ก็ตาม แต่คุณค่าความสำคัญของอาคารนั้น ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะถูกกรอบให้เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของสภาคริสตจักรเท่านั้นไม่
โบสถ์หลังดังกล่าวออกแบบโดยหมอบริกส์ ควบคุมการก่อสร้างโดยนายช่างฮิมกี่ บรรพบุรุษเจ้าของร้านฮิมกี่ที่ขายวัสดุก่อสร้างในปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าผู้สั่งให้สร้าง ผู้ออกแบบ หรือผู้ลงมือก่อสร้างด้วยการรับจ้าง ทายาทของคนเหล่านั้นต่างก็ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจในการรื้อถอนโบสถ์
การทุบโบสถ์เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี เพื่อสร้างของใหม่เช่นนี้ ประชาชนหลายคนที่มีจิตสำนึกทางสังคมและสภาคริสตจักรในประเทศไทยคงไม่เห็นด้วยแน่
เพราะโบถส์คริสต์เป็นสมบัติของมหาชนทั้งชาวคริสเตียนเชียงราย ชาวคริสเตียนทั่วประเทศ และของชาวไทยทุกคน
ยิ่งได้ทราบมาว่าชาวคริสเตียนเชียงรายที่ไม่เห็นด้วยในการรื้อโบสถ์ เคยจัดให้มีการล่ารายชื่อคัดค้านเปิดเวทีประชาพิจารณ์มาแล้วตั้งแต่สองปีก่อน พบว่ามีผู้เข้าร่วมลงนามหลายพันคน มากกว่าจำนวนของผู้ที่เห็นด้วยกับการอยากรื้อและสร้างของใหม่
เพียงแต่ว่าเสียงข้างมากนั้นเบาเกินไป ในขณะที่เสียงของฝ่ายรื้อซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนนั้นดังกลบเสียงฝ่ายต่อต้าน
นักอนุรักษ์
ซาตานหรือนักบุญ?
นักอนุรักษ์ที่ออกโรงมาคัดค้านเคลื่อนไหวเรื่องนี้ หากเป็นผู้นับถือศาสนาอื่นก็จะถูกประณามว่า เป็นมนุษย์นอกศาสนา
ส่วนหากเป็นชาวคริสเตียนหรือเป็นกรรมการบริหารสภาคริสตจักรที่เห็นหน้าค่าตากันอยู่ทุกวัน กลับถูกกล่าวหาว่าเป็น "ซาตาน" หรือคนบาปในคราบนักบุญ
นักอนุรักษ์หลายคนยอมให้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ซาตาน" บางคนเข้าไปเหยียบในโบสถ์ไม่ได้อีกเลย แต่ก็ยังยืนหยัดที่จะอนุรักษ์ไว้ ย่อมแสดงว่าโบสถ์หลังนี้ต้องมีคุณค่าความสำคัญอย่างเอกอุ
นอกเหนือจากจะเป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์หรือเป็นตำนานหน้าแรกแห่งการเผยแผ่คริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในเชียงราย โดยคณะมิชชันนารีนำโดยหมอบริกส์ ที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวไปถึงศาสนาจารย์แม็กกิลวารี หรือผู้วางรากฐานการพิมพ์คนแรกอย่างหมอแดนบีช บรัดเลย์แห่งกรุงสยามแล้ว
ตัวสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอกก็ยังมีคุณค่าอยู่ในตัวเอง เพราะมันสะท้อนถึงคติปรัชญาหรือหัวใจของความเป็น "โปรเตสแตนต์"
โบสถ์คริสต์ที่เชียงรายและโบสถ์คริสต์ในนิกายโปรเตสแตนต์ทุกแห่งทั่วภูมิภาค อาทิ โบสถ์คริสต์ที่สำเหร่ โบสถ์เชียงใหม่คริสเตียนริมน้ำแม่ปิง เชิงสะพานนวรัตน์ ล้วนมีรูปแบบที่เรียบง่าย ไม่หรูหราอลังการ สร้างบนผังรูปตัว T หรือที่เรียกว่าผังแบบ "Latin Cross"
ภายในมีเครื่องประดับเพียงแค่ไม้กางเขน หาได้มีประติมากรรมตกแต่งอย่างมากมายเหมือนกับโบสถ์คริสต์ในนิกายคาทอลิกไม่
ดังที่รู้กันอยู่ว่านิกายโปรเตสแตนต์นั้นเป็นนิกายปฏิรูปที่เน้นเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้คนมากกว่าการทุ่มเทในรายละเอียดของศิลปกรรม
นอกจากไม้กางเขนแล้วยังมีแค่นาฬิกาไม้โบราณจำหลักลวดลายแบบอาร์ตนูโว ยืนพิงผนังอย่างเงียบสงบ
เนื่องจากยุคสมัยที่กำลังก่อสร้างโบสถ์เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หมอบริกส์บันทึกไว้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างหอระฆังของโบสถ์คริสต์และโรงพยาบาลให้สูงชะลูดมากเป็นพิเศษ เพื่อใช้เป็นจุดสังเกตมองเห็นแต่ระยะไกล จะได้ปลอดภัยจากการทิ้งระเบิดไม่ว่าของฝ่ายใดๆ
หอระฆังโปร่งหลังนี้มีการตีระฆังทุกวัน เป็นสัญญาณบอกเวลาให้ทราบ ในยุคนั้นประชาชนยังไม่มีนาฬิกาใช้ จะมีก็แต่มิชชันนารีหรือชาวต่างชาติเท่านั้น โดยเสียงระฆังจะดังก้องกังวานไปไกลทั่วเมือง
ต่อมาเมื่อสิบปีก่อนเมื่อมีการซ่อมโบสถ์ครั้งใหญ่จำเป็นต้องยกระฆังลงมาไว้ข้างล่าง เนื่องจากหอระฆังเริ่มเก่าทรุดโทรมแบกรับน้ำหนักระฆังใหญ่ไม่ไหว
ถามว่าหน่วยงานองค์กรต่างๆ นอกเหนือจากกรมศิลปากรแล้ว มีใครเคลื่อนไหวอย่างไรกันบ้างในช่วงสองปีที่ผ่านมา เท่าที่ทราบฝ่ายสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบรางวัลประกาศให้โบสถ์คริสต์เชียงรายเป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นอย่างไม่รั้งรอ
นอกจากผู้บริหารโบสถ์คริสต์จะไม่เข้าไปรับรางวัลแล้ว ยังปิดข่าวนี้ไม่ให้ชาวคริสเตียนเชียงรายรับรู้
ในขณะที่ฝ่ายเทศบาลนครเชียงรายเองก็ได้จัดให้โบสถ์หลังนี้เป็น 1 ในโบราณสถาน 13 แห่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยกำหนดห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 1 ชั้นหรือเกิน 6 เมตรภายในระยะรัศมี 30 เมตรจากแนวเขตโบราณสถานเหล่านั้น
การประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากรหรือไม่จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับการที่ทางจังหวัดเชียงราย อบจ.เชียงราย เทศบาลนครเชียงราย สภาวัฒนธรรมจังหวัด กรมศิลปากร สำนักโยธาธิการและผังเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย กรรมการโบสถ์ มวลชนผู้รับใช้พระเจ้าแห่งคริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย ต้องเกิดการตื่นตัวหันมาทบทวนกันอย่างถ่องแท้ว่า
การฉลอง 100 ปี คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงรายในอีกสามปีข้างหน้าด้วยการสถาปนาโบสถ์หลังใหม่นั้น เป็นการทำลายรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญหรือไม่ อาคารโบสถ์ไม่ใช่แค่อิฐแค่ปูน แต่มันมีหัวใจของผู้สร้างอยู่ในนั้นด้วย ไม่ใช่แค่หัวใจของหมอบริกส์พ่อเลี้ยงตาดุ กับนายช่างฮิมกี่ หากมันคือหัวใจของปู่ย่าตายายชาวเชียงรายที่ร่วมกันสร้างสถานที่แห่งนี้เมื่อ 100 ปีก่อนนั่นไง
อย่าให้ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญฉากหนึ่งของเมืองเชียงรายต้องถูกทำลาย
อย่าให้อำนาจตัดสินใจของชนชั้นนำส่วนน้อยคอยควบคุมชะตากรรมของสมบัติส่วนรวม
อย่าให้ไพร่รากหญ้าต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำซ้ำซาก กับโศกนาฏกรรมที่อำพรางนั้น!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย